10 กุมภาพันธ์ 2020
40 K

The Cloud x Museum Siam

หลังจากย้ายราชธานีมายังเกาะรัตนโกสินทร์ ส่วนประกอบสำคัญต่างๆ ของบ้านเมืองได้รับการสร้างขึ้นใหม่ อิทธิพลจากประเทศอื่นๆ และยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงก็ส่งผลต่อการเกิดใหม่ของหลายสรรพสิ่งในสยาม โดยเฉพาะในเกาะรัตนโกสินทร์ หัวใจของกรุงเทพมหานคร 

ในเมืองเก่าอายุมากกว่า 200 ปี สิ่งก่อสร้างแรกที่เกิดขึ้นในไทยหลายแห่งยังยืนหยัดผ่านยุคสมัย บ้างทรุดโทรมไปหรืออาจเคยถูกทุบทำลาย แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมหรือจำลองขึ้นใหม่ ให้ไปชมร่องรอยความหลังและความเก๋ากันได้ถึงทุกวันนี้

โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์ 

สถาบันแพทย์แผนไทยรุ่นบุกเบิก

โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์

ย้อนกลับไปยุคแรกเริ่มของกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2331 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยเอาไว้ ตั้งแต่ตำรายาสมุนไพร ตำราเกี่ยวกับการนวด เพื่อนำไปจารึกลงบนแผ่นศิลา และปั้นรูปฤๅษีดัดตนประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 การแพทย์ทางตะวันตกแพร่เข้ามามากขึ้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต เพื่อค้นคว้า รวบรวม ตรวจสอบตำราวิชาการให้ถูกต้อง และทรงจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์เป็นโรงเรียนแพทย์แผนไทยแห่งแรก ทำให้ภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา 

นอกจากนี้วัดโพธิ์ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สรรพวิชาต่างๆ อีกมาก จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของไทย’ อ่านเรื่องราวของวัดโพธิ์แบบเต็มๆ ได้ที่นี่

ที่อยู่ : 2 ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 18.00 น.

มัสยิดจักรพงษ์

มัสยิดแห่งแรกในเขตพระนคร

มัสยิดจักรพงษ์

มัสยิดจักรพงษ์ มัสยิดแห่งแรกในเขตพระนคร สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งทรงพระราชทานที่ดินให้กับพี่น้องมุสลิมในเขตพระนครชั้นในทางทิศเหนือ จึงมีการลงหลักปักฐานของชุมชนที่ถูกกวาดต้อนมาจากสงครามปัตตานี-สยามยุทธ พ.ศ. 2329 ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาชาวมุสลิม (แขกตานี) บริเวณนี้ได้รวมตัวกันก่อสร้างอาคารเพื่อประกอบศาสนกิจ รวมถึงเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงโครงสร้างเรื่อยมา ส่วนที่มาของชื่อมาจากการที่มัสยิดอยู่ติดกับ ถนนจักรพงษ์ ซึ่งตั้งชื่อตามสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 จึงได้ตั้งชื่อมัสยิดนี้ว่า มัสยิดจักรพงษ์

ที่อยู่ : แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

โลหะปราสาท 

ปราสาทโลหะองค์แรก องค์เดียว องค์สุดท้าย

โลหะปราสาท

โลหะปราสาทองค์แรก องค์เดียว ในประเทศไทยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 3 ของโลก และเป็นองค์สุดท้ายที่หลงเหลืออยู่จากทั้งหมด 3 องค์ แห่งแรกอยู่ในประเทศอินเดีย แห่งที่ 2 อยู่ในประเทศศรีลังกา ซึ่งทั้งสองแห่งได้ถูกทำลายไปแล้ว ปราสาทนี้สร้างโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้จำลองแผนผังปราสาทรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมาจากประเทศศรีลังกา ส่วนลักษณะสถาปัตยกรรมสร้างตามแบบศิลปกรรมไทย มีลักษณะเป็นปราสาท 3 ชั้น มียอด 37 ยอด ลดหลั่นกันอย่างสวยงาม ส่วนวิธีการขึ้นสู่ปราสาทแต่ละชั้นนั้น มีบันไดวนตั้งอยู่ตรงกลางโลหะปราสาท โดยใช้ซุงขนาดใหญ่ยึดเป็นแม่บันไดตั้งแต่พื้นล่างตลอดจนถึงชั้นบน หากนับแต่ขั้นบันไดจนรอบต้นซุงนับได้ 67 ขั้น โดยชั้นบนสุดเป็นยอดปราสาทจตุรมุขสำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุ แถมยังมีจุดชมวิวชั้นดี มองเห็นทัศนียภาพของกรุงเทพฯ ได้อย่างกว้างไกลอีกด้วย 

ที่อยู่ : 2 ถนนมหาไชย แขวงวัดบวรนิเวศ                                                                                                           

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น. ติดต่อ : 0 2224 8807

ศาลาสหทัยสมาคม

พิพิธภัณฑสถานแห่งแรกในสยาม

ศาลาสหทัยสมาคม

รู้หรือไม่ว่า อาคารหน้าตาฝรั่งที่อยู่ทางซ้ายมือของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมหาราชวัง คือมิวเซียมแห่งแรกของไทย เดิมชื่อ ‘หอคองคอเดีย’ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นสโมสรสำหรับทหารมหาดเล็กและการประชุมงานต่างๆ เมื่อ พ.ศ. 2417

หอคองคอเดียกลายเป็นมิวเซียมจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่เป็นฝีมือจากช่างชั้นดีของชาวสยาม ทั้งสิ่งของหลวง ของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และราษฎร ให้ประชาชนได้เชยชมในวโรกาสงานเฉลิมพระชนมพรรษา 21 พรรษา เรียกว่างานเอกซฮิบิเชน ต่อมามีปัญหาด้านโครงสร้างอาคาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปยังพระราชวังบวรสถานมงคลแทน ปัจจุบันศาลาสหทัยสมาคมเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะที่เสด็จฯ หรือเดินทางมาเยือนประเทศไทย 

ที่อยู่ : 2 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 08.30 น. – 15.30 น.

ไปรษณียาคาร

ที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย

ไปรษณียาคาร

ใกล้สะพานพระปกเกล้ามีอาคารนีโอคลาสสิกที่เป็นจุดเริ่มต้นแรกของยุคส่งจดหมาย ‘ไปรษณียาคาร’ (เดิมใช้ชื่อว่า ไปรสะนียาคาร) เป็นที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย อดีตเคยเป็นบ้านของพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) อดีตเจ้าเมืองปราจีนบุรี สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2414 และตกเป็นทรัพย์สมบัติของแผ่นดินในภายหลัง 12 ปีต่อมา ที่นี่จึงได้รับการจัดตั้งกิจการไปรษณีย์ และเป็นสถานที่แห่งแรกที่คณะราษฎรบุกยึดเพื่อตัดการสื่อสารทั้งทางโทรเลขและโทรศัพท์ใน พ.ศ. 2475 

อาคารเดิมได้ถูกทุบทิ้งเพื่อเปิดทางให้สร้างสะพานพระปกเกล้า และต่อมาสร้างใหม่โดยคัดลอกรูปแบบเดิมเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์กิจการไปรษณีย์ไทย แม้ปัจจุบันที่ทำการไปรษณีย์กลางย้ายไปที่เขตบางรักแล้ว แต่เรายังคงชื่นชมความงดงามของสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์อาคารริมน้ำนี้ได้เสมอ

ที่อยู่ : ถนนสะพานพุทธ แขวงวังบูรพาภิรมย์

เวลาทำการ : ปิดทำการ สามารถดูสถาปัตยกรรมภายนอกได้

คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา 

ศาสนสถานแห่งแรกของชาวซิกข์ในประเทศไทย 

คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา

ศาสนสถานอันวิจิตรนี้เกิดขึ้นเพราะชาวซิกข์รวบรวมเงินซื้อที่ดินผืนหนึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ เพื่อก่อสร้างเป็นศาสนสถานถาวร และอัญเชิญพระมหาคัมภีร์ศรีคุรุครันถ์ซาฮิบมาประดิษฐาน เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของชาวซิกข์ และเปิดประตูต้อนรับคนทุกศาสนา แต่ก่อนจะเดินชมในแต่ละชั้นต้องแต่งกายให้มิดชิด คลุมศีรษะด้วยผ้าที่ทางวัดจัดเตรียมให้เรียบร้อย และห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด หากมาถูกจังหวะอาจจะได้เห็นบรรยากาศของงานมงคลกลิ่นอายภารตะที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนในชุดกูรตะ ส่าหรี ที่ไม่ได้พบเห็นง่ายๆ

ที่อยู่ : 571 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์

เวลาทำการ : 05.00 – 19.00 น.

โรงละครแห่งชาติ

โรงมหรสพระดับชาติแห่งแรกของยุครัตนโกสินทร์

โรงละครแห่งชาติ

แต่เดิมที่นี่คือโรงแสดงของกรมศิลปากร ถือเป็นโรงละครแห่งชาติชั่วคราว ซึ่งเกิดจากแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ว่า ศิลปินโขน ละคร ฟ้อนรำ และนักดนตรี จะต้องแสดงออกซึ่งศิลปะให้เข้าถึงผู้ดูและผู้ฟัง ศิลปินจึงจำเป็นต้องมีสถานที่แสดงหรือโรงมหรสพ ใน พ.ศ.2504 จึงได้รับการปรับปรุงก่อสร้างให้เป็นโรงละครถาวร และมีการบริหารงานแบบไม่หวังผลกำไร เพราะต้องการให้คนทั่วไปเข้าถึงศิลปะการแสดง การเข้าชมส่วนมากจึงไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเสียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการซ่อมแซมทำนุบำรุงโรงละคร ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งชมนาฏศิลป์และศิลปะการแสดงต่างๆ ที่หาชมได้ยาก

ที่อยู่ : 4 ซอยราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง

Facebook : โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพ Nationaltheatre

ติดต่อ : 0 2221 0171

หอกลอง

หอส่งสัญญาณหอแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

หอกลอง

ก่อนจะมีหอนาฬิกา คนรัตนโกสินทร์รู้เวลาได้อย่างไร คำตอบคือหอกลองสูง 3 ชั้นที่ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอกลองขึ้นตอนสถาปนากรุง ภายในหอคอยเคยตั้งกลองไว้ 3 ใบ กลองชั้นล่างหรือกลองย่ำพระสุริย์ศรี ใช้ตีเพื่อบอกเวลาให้ราษฎรทราบเวลา กลองชั้นกลางหรือกลองอัคคีพินาศ ใช้ตีเป็นสัญญาณเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้

กองชั้นบนหรือกลองพิฆาตไพรี ใช้ตีเมื่อข้าศึกมาประชิดพระนคร ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีระบบส่งสัญญาณที่ดีกว่า หอกลองจึงถูกรื้อ และสร้างใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสการจัดงานเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ส่วนกลองเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ที่อยู่ : ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : ทุกวัน

หอนาฬิกาหลวงจำลอง 

ตัวแทนหอนาฬิกาแห่งแรก

หอนาฬิกาหลวงจำลอง

หอนาฬิกาแห่งแรกของไทยสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นนาฬิกาหลวงบอกเวลาแก่สาธารณชนและผู้คนที่ล่องเรือผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้รู้โมงยามกันถ้วนหน้า ก่อนจะถูกรื้อถอนทั้งหมดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยตัวนาฬิกาถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงกลาโหม ต่อมาในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงได้มีการนำนาฬิกาเดิมมาสร้างเป็นหอนาฬิกาประวัติศาสตร์ให้ได้รำลึกหวนคืนอดีตอีกครั้ง

ที่อยู่ : ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : ทุกวัน 


อ่านเรื่องราวของ 200 ที่เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน