เกือบ 10 ปีที่แล้ว มีคนพูดถึงฟินแลนด์ในฐานะประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุดในโลกและการศึกษาอันยอดเยี่ยม ฉันเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ยินชื่อเสียงนี้ จะต่างไปก็ตรงที่ฉันรับผิดชอบงานสื่อสารการตลาดให้กับสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารกำลังมีดำริให้สร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้น
วิสัยทัศน์ที่ส่งลงมายังผู้ปฏิบัติงานฝ่ายสื่อสารอย่างฉัน คือเราอยากทำโรงเรียนที่สร้างเยาวชนให้เป็นคนธรรมดาที่มีความสุขและมีชีวิตเป็นประโยชน์ ขณะที่ฉันทำงานของฉัน ฉันก็ได้เห็นส่วนงานอื่น ๆ ทำงานหนักของตัวเอง เราทุ่มสรรพกำลังลงไปเพื่อวางรากฐานให้กับโรงเรียนมัธยมหน้าใหม่แห่งนี้ เราสำรวจจุดแข็ง ความน่าสนใจ ข้อจำกัด และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการศึกษาของประเทศผู้นำด้านการศึกษาจากทั่วโลก แน่นอนว่าเราไม่พลาดการศึกษาฟินแลนด์
หลังการหารือและสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูเก่าแก่ของฟินแลนด์จึงได้รับเชิญให้มาจัดการอบรมให้กับผู้บริหารและครูกลุ่มแรก ไปพร้อมกับการเริ่มต้นก่อสร้างอาคารเรียน และในที่สุด โรงเรียนของเราก็เปิดการเรียนการสอนชั้นเรียนจริงขึ้นสำเร็จในอีก 2 ปีถัดมา
ฉันเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของโรงเรียนด้วยความตื่นเต้น ชื่นชมกิจกรรมต่าง ๆ ที่สดใหม่และความมีชีวิตชีวาของทั้งครูและนักเรียนเมื่อเข้าไปเก็บข้อมูลมาสร้างสื่อ เป็นครั้งที่ 2 ที่ฉันพบว่าการศึกษาบ้านเรายังไม่สิ้นหวัง (ครั้งแรกคือเมื่อได้รู้จักกับ Work-based Education หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานจริง) เมื่อเริ่มอินกับวงการนี้มากขึ้น ฉันตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกด้านการศึกษา แต่ก็ต้องผิดหวังครั้งใหญ่ คำถามมากมายผุดขึ้นในความคิดโดยไม่มีคำตอบ แต่เหตุการณ์นั้นกลับกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อรวมเข้ากับปัญหาสุขภาพครั้งใหญ่ของฉัน

ก่อนสถานการณ์โรคระบาดเริ่มต้นขึ้น กลางปี 2019 ฉันเดินทางคนเดียวมาถึงกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ พร้อมวิกผมและแฮร์พีซรวม 3 ชิ้น หมวก 7 ใบ ยาเต็มกระเป๋า กับภาษาอังกฤษที่พอสื่อสารได้ และใบตอบรับเข้าเรียนหลักสูตรภาคค่ำใน Open University ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่เปิดโอกาสให้คนทุกวัย ทุกระดับการศึกษาและความสนใจ เข้าไปศึกษาเพื่อค้นหาตัวเอง ต่อยอดความเชี่ยวชาญ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนสายอาชีพ แทบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศฟินแลนด์มีโปรแกรมนี้ให้เลือกเรียนได้ตลอดทั้งปี ซึ่งฉันเลือกเข้าเรียนที่ Aalto University มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเดียวกับ Alvar Aalto สถาปนิกชาวฟินนิช

Aalto University เป็นมหาวิทยาลัยใหม่ในเก่า คือการรวมตัวกันของ 3 มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของฟินแลนด์ ได้แก่ Helsinki School of Economics (1911) Helsinki University of Technology (1849) และ University of Art and Design Helsinki (1871) ก่อตั้งเป็น Aalto University เพื่อเป็นเกียรติแก่สถาปนิกนักออกแบบชาวฟินนิชผู้มีชื่อเสียง ทั้งยังเป็นศิษย์เก่าของ Helsinki University of Technology และมีส่วนสำคัญในการออกแบบพื้นที่ส่วนใหญ่ของแคมปัสหลักของมหาวิทยาลัยด้วย
ฉันเองเป็นนักเรียนไทยโดยแท้ การพาตัวเองที่อยู่ในระหว่างพักฟื้นจากการเจ็บป่วย ยื่นใบลางาน 2 เดือน และเดินทางมาลองเป็นนักเรียนนอกครั้งแรกจึงนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แต่เหตุผลในการเลือกของฉันนั้นก็แสนง่าย
- ค่าลงทะเบียนถูกจัง 75 ยูโร หรือไม่ถึง 3,000 บาท ฉันจ่ายไหว
- หลักสูตรการคิดสร้างสรรค์ 7 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน เรียนภาคค่ำ กลางวันได้เที่ยว อันนี้ดี
- เน้นการปฏิบัติ เลกเชอร์ส่วนน้อย ภาษาอังกฤษน่าจะรอด
- เขาว่ากันว่าประเทศแถบนี้ปลอดภัย ฉันก็เชื่อ
- อากาศดี ประชากรมีความสุข หมอบอกว่าเหมาะแก่การพักฟื้น
- หายหัวไป 2 เดือน กลับไปมีอะไรที่เกี่ยวกับงานติดมือไปฝากเจ้านายบ้างก็สวย ๆ นะ
เหตุผลแรกที่เอามาไว้สุดท้าย ก็นี่ฟินแลนด์ไง
ถ้าอกหักจากการศึกษา เราก็แค่ต้องหาแฟนใหม่โปรไฟล์ดี ๆ



7 สัปดาห์ในฟินแลนด์ เรียกได้ว่าเป็นชั้นเรียนที่ดีที่สุดที่ฉันเคยได้เข้าร่วมมา ทุกสิ่งที่ฉันเคยคิดว่าเป็นข้อจำกัด เช่น ภาษา ฝีมือ รสนิยม หรือแม้กระทั่งการไม่มีผมบนหัว ถูกลืมไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อหลักสูตรระยะสั้นสิ้นสุดลง ฉันกลับมาทำงานด้วยความสดชื่น เล่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นให้กับทุกคนที่ยินดีฟังอย่างมีความสุข ฉันได้รับโอกาสให้ขยับไปทำงานร่วมกับโรงเรียนอย่างใกล้ชิด ร่วมออกแบบการจัดการเรียนรู้และพัฒนาให้เราเป็นโรงเรียนไทยสไตล์ฟินแลนด์อย่างเต็มตัว


เราจะข้ามจุดขายของโรงเรียนไปก่อน แต่ฉันอยากวกกลับไปที่ดำริเริ่มต้นเมื่อแรกก่อตั้ง “เราจะสร้างเยาวชนให้เป็นคนธรรมดาที่มีความสุขและมีชีวิตเป็นประโยชน์” มีคนให้คำนิยามการศึกษาฟินแลนด์ไว้หลายแบบ แต่ละแบบล้วนต้องอธิบาย
สำหรับตัวฉันเอง จากหนังสือหลายเล่ม ฟังคนหลายคน และประสบการณ์ตรงที่อาจน้อยนิดเมื่อเทียบกับนักการศึกษาอื่น ๆ ฉันสรุปเอาเองว่า การศึกษาฟินแลนด์คือการรู้จักตัวเองว่าเราเป็นใคร มีรากเหง้าแบบไหน อยู่กับใครอย่างไร และกำลังจะไปไหน แล้วจึงเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดมาออกแบบการเรียนรู้แบบฉบับเฉพาะของเราเอง
ฟินแลนด์รู้จักตัวเอง และตัดสินใจเลือกแล้ว… โรงเรียนของฉันก็เช่นกัน
“รูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ไม่จำเป็นต้องใหม่ล่าสุด และรูปแบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ก็ใช่ว่าทั้งหมดจะดีที่สุดสำหรับบ้านเรา”
ฉันจะไม่บอกต่อหรอกว่านั่นเป็นเหตุผลให้เราต้องมีวิจัยในชั้นเรียน
ในฐานะคนเคยอยู่การตลาด ฉันชอบประโยคนี้จากแคมเปญโฆษณาผงซักฟอกชื่อดังมากกว่า ‘กล้าเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์’ เมื่อเราเลือกรูปแบบที่น่าจะดีที่สุดหรับตัวเราเองแล้ว ที่เหลือก็คือการลงมือทำ
ทำไป เรียนรู้ไป ปรับแก้ไขไป
เราต่างรู้กันว่ารูปแบบที่ดีที่สุดไม่อาจดีที่สุดได้ตลอดกาล เพราะเหตุนี้ การศึกษาจึงเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา และการศึกษาที่ดีย่อมไม่เปลี่ยนหลักการให้กลายมาเป็นพันธนาการข่มขืนใจใคร

หนังสือ Finding SISU เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว สำนักพิมพ์ Openbooks กล่าวถึงสำนวนฟินน์ ‘Köyhällä ei ole varaa ostaa halpaa’ ว่า คนจนไม่มีสตางค์พอที่จะซื้อของถูก เมื่อฉันมีโอกาสได้พาพี่สาวกลับไปเที่ยวที่ฟินแลนด์อีกครั้ง เราไปเดินร้านขายของในศูนย์รีไซเคิลของเมือง ฉันเล่าเรื่องนี้ให้เธอฟัง เราได้ของมือสองติดมือกลับมา 2 – 3 ชิ้นในคุณภาพและราคาที่เราพึงพอใจมาก เธอต่อประโยคจากหนังสือเพิ่มเติมให้ฉันว่า “เพราะเรายากจนเกินกว่าจะใช้ของไม่มีคุณภาพ และของที่มีคุณภาพ ไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่” ดึงมาเข้าเรื่องการศึกษาแบบดื้อ ๆ
สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากการศึกษาฟินแลนด์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ฉันคิดว่ามันมีคุณภาพ และการทำความรู้จักตัวเองก็เป็นสิ่งที่เราทำได้ สมฐานะคนไทยที่ไม่มั่งคั่งด้านการศึกษา

รู้สึกตัวอีกที ขณะนั่งพิมพ์ข้อเขียนนี้อยู่ ฉันกลับมาเยือนฟินแลนด์อีกเป็นครั้งที่ 4 แล้ว เส้นผมขึ้นเต็มหัว พ่วงตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไทยสไตล์ฟินแลนด์มาด้วย และแน่นอนว่าความหวังที่มีต่อพัฒนาการการศึกษาไทยกลับมาเปล่งประกายเรืองรองอีกครั้ง
อาจจะฟังดูน่าหมั่นไส้นิดหน่อย แต่ฉันต้องพูดแหละว่าฉันรู้สึกอุ่นใจเหมือนได้กลับมาบ้านหลังที่สอง
จากหิมะหนาเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน บัดนี้ยอดหญ้าเขียวเริ่มขยายพื้นที่ ดอกไม้จิ๋วหลากสีผุดขึ้นมาทักทายเสมือนว่ารอคอยที่จะได้พบกันมาตลอด ฟินแลนด์ครั้งนี้ต่างไปมากจากช่วงก่อนสถานการณ์โควิด ฉันมีผู้ร่วมทางเป็นเพื่อนครูคนหนึ่ง ผู้เอ็นจอยกับสรรพสิ่งที่เราได้พบเห็น การซื้อบัตร Museum Pass ราคา 75 ยูโรสำหรับการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปีกลายเป็นความคุ้มค่าอย่างที่สุด แม้เราจะได้ใช้มันเพียงระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเฮลซิงกิก็ตาม

อีกไม่กี่วันจะถึงกำหนดกลับ อุณหภูมิและการเปิดเทอมปีการศึกษา พ.ศ. 2566 กำลังอ้าแขนต้อนรับเรากลับบ้านอย่างอบอุ่นไปจนถึงเร่าร้อน ฉันหวังอย่างยิ่งว่ากลับไปครั้งนี้ สิ่งต่าง ๆ ที่ครูสองคนอย่างเราเก็บเกี่ยวมาได้ จะได้นำกลับไปหว่านต่อและเกิดผลบนพื้นดินไทย
ในทางใดทางหนึ่ง

Write on The Cloud
บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ