13 กุมภาพันธ์ 2021
6 K

“Bula! ท่านผู้โดยสาร อีกสักครู่เราจะลดระดับเพดานบินลงสู่ท่าอากาศยานเมืองนานดี สาธารณรัฐฟิจิครับ ทางด้านซ้ายและขวาของท่านคือหมู่เกาะที่งดงาม เกาะเหล่านี้คือเกาะที่เกิดจากการเย็นตัวของภูเขาไฟ 

“สำหรับชาวฟิจิ ยินดีต้อนรับกลับสู่บ้านของเรา และสำหรับทุกท่านที่มาพักผ่อน ขอให้ทุกท่านเพลิดเพลินไปกับหาดทราย หมู่เกาะ และผู้คนในประเทศของเรานะครับ Vinaka Vaka Levu!”

สิ้นเสียงกัปตัน ผมเปิดม่านหน้าต่างข้างที่นั่งขึ้น แสงแดดยามเที่ยงวันสาดส่องทำประกายระยิบระยับกับผืนน้ำสีน้ำเงินสด กลุ่มเกาะน้อยใหญ่ปรากฏแก่สายตาพร้อมกับหมู่ต้นไม้เขียวขจีที่แน่นขนัดอยู่บนเกาะ ตัดกับหาดทรายสีน้ำตาลอ่อน เมื่อเครื่องใกล้จะแตะพื้นเต็มที เสียงล้อเครื่องบินกางออก ปีกเครื่องบินของสายการบินฟิจิแอร์เวยส์ทำหน้าที่เป็นเส้นนำสายตาผมไปสู่ผืนแผ่นดินเบื้องล่าง ภาพที่เห็นบ่งบอกให้รู้ว่า ผมกำลังเดินทางมายังดินแดนแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ที่เคยเป็นโลกใบใหม่ของชาวยุโรปเมื่อไม่กี่ร้อยปีก่อน และกำลังจะได้เป็นโลกใบใหม่ของผมในวันนี้

“ยินดีต้อนรับสู่สาธารณรัฐฟิจิครับ” เสียงกัปตันประกาศ บอกให้รู้ว่าเรามาถึงฟิจิแล้ว

Bula Fiji!

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

“Bula” ผมเอ่ยทักทายเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองพร้อมกับส่งยิ้มให้ เจ้าหน้าที่ท่านนี้เป็นชาวเกาะฟิจิแท้ๆ ผิวเข้ม รูปร่างสูงใหญ่ ผมหยิก ตาโต และดูอารมณ์ดีตลอดเวลา

“ประเทศไทยเหรอ” เจ้าหน้าที่ทำตาโต “ไกลมากเลยนะ ทำไมคุณถึงมาฟิจิครับ”

“ผมเคยเห็นรูปฟิจิจากนิตยสารครับ ก็เลยอยากมา ผมชอบเที่ยวทะเลครับ” ผมตอบซื่อๆ พร้อมยิ้มสู้  “อ้อ แล้วผมเคยดูทีมรักบี้ของฟิจิด้วยนะครับ สุดยอดไปเลย”

เจ้าหน้าที่หัวเราะอย่างอารมณ์ดี แล้วประทับตราอนุญาตเข้าเมืองอย่างไม่รอช้า ผมนึกโล่งใจที่เขาไม่ได้ถามเรื่องรักบี้ต่อ ก็ผมดูรักบี้เป็นกับเขาเสียทีไหนเล่า ผมแค่จำมาจากรีวิวนักท่องเที่ยวเท่านั้นเอง ว่าถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองถามว่ารู้จักประเทศฟิจิได้อย่างไร ให้ตอบไปว่าเคยดูทีมรักบี้ของฟิจิ เพราะเป็นสิ่งที่ชาวฟิจิภูมิใจนักหนา

“Vinaka Vaka Levu” ผมตอบขอบคุณเป็นภาษาพื้นเมือง

เมื่อประตูสนามบินเปิดออก เสียงทักทาย “Bula” ดังกึกก้องไปทั่วบริเวณ คนฟิจิทักทายกันอย่างนี้และทักทายนักท่องเที่ยวเช่นนี้ด้วย ผมแทบไม่ได้ยินใครทักทายนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยภาษาอื่นเลยนอกจากภาษาฟิจิแท้ๆ และนั่นทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าคนประเทศนี้ภูมิใจในความเป็นชาวฟิจิของตนเองมาก ตั้งแต่กัปตันที่ภูมิใจนำเสนอประเทศฟิจิอย่างเต็มที่บนเครื่องบิน เสียงหัวเราะกึกก้องของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมื่อผมพูดเรื่องทีมรักบี้ จนถึงคำทักทายภาษาท้องถิ่น อันเป็นตัวแทนของมิตรไมตรีที่ชาวฟิจิหยิบยื่นให้กับนักท่องเที่ยวอย่างที่ผมกำลังได้ยินอยู่นี้

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ผมฝันอยากเดินทางมายังดินแดนแถบนี้มานาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้น ม.2 ผมจำได้ว่าคุณครูสอนวิชาภูมิศาสตร์มอบหมายให้ผมไปค้นคว้าเรื่องประเทศต่างๆ ในดินแดนที่เรียกขานกันว่า ‘โอเชียเนีย’ แล้วมานำเสนอหน้าห้อง พอลงมือค้นคว้า ผมก็พบความอัศจรรย์ใจ เพราะภาพที่ปรากฏจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เต็มไปด้วยผืนทราย ผืนน้ำ และผืนฟ้าที่ทอดยาวล้อกันอย่างน่าชม น้ำทะเลเป็นสีฟ้าสดพิเศษอย่างที่ผมไม่เคยพบเห็นในประเทศไทย เมื่อค้นคว้าเพิ่มเติมจึงได้ความว่า หมู่เกาะฟิจิเป็นหนึ่งในหลายสิบหมู่เกาะที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะกลางมหาสมุทร แตกต่างจากหมู่เกาะในประเทศไทยที่อยู่ใกล้ชายฝั่งจึงจัดเป็นเกาะริมทวีป

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

เกาะในประเทศฟิจิแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือเกาะที่เกิดจากการทับถมของปะการัง (Atoll) และเกาะที่เกิดจากการเย็นตัวของภูเขาไฟ (Volcanic Islands) เกาะที่มีคนอยู่อาศัยเป็นส่วนมากคือเกาะภูเขาไฟ เนื่องจากดินอุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตรได้ มีแหล่งน้ำใต้ดินที่ประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่มีประโยชน์ และเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศฟิจิคือเกาะวิติเลวู (Vitilevu) มีแหล่งน้ำแร่ธรรมชาติที่บริษัทเอกชนรายใหญ่ของประเทศผลิตขายจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก 

เกาะวิติเลวูยังเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง กรุงซูวา (Suva) และยังมีเมืองท่องเที่ยวสำคัญอีกหลายเมือง ส่วนเมืองที่เป็นที่ตั้งของสนามบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ คือเมืองนานดี (Nadi)

วิธีการเดินทางของผมคือการนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปต่อเครื่องที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อบินตรงมายังฟิจิ ผมสังเกตตลอดเที่ยวบินว่า มีผู้โดยสารเป็นคนเชื้อสายอินเดียในสัดส่วนที่มากกว่าปกติ และเมื่อพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเสิร์ฟอาหาร (ซึ่งเที่ยวบินยาวมากจนต้องเสิร์ฟอาหารถึง 2 มื้อ) ก็มีตัวเลือกเป็นอาหารอินเดียด้วย 

เทวาลัยประธาน Sri Siva Subrahmaniya Swami Temple ศิลปะอินเดียภาคใต้
เทวาลัยประธาน Sri Siva Subrahmaniya Swami Temple ศิลปะอินเดียภาคใต้
ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ผมเริ่มตั้งคำถามว่า ประเทศนี้ต้องมีบางสิ่งบางอย่างสัมพันธ์กับประเทศอินเดียแน่ แต่จะสัมพันธ์กันได้อย่างไร ในเมื่ออินเดียกับฟิจิห่างกันมากชนิดที่ตั้งอยู่บนคนละผืนมหาสมุทรกัน ผมยิ่งทวีความสงสัยมากขึ้นไปอีกเมื่อค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองนานดี และพบว่าสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองคือเทวาลัยในศาสนาฮินดูที่ชื่อว่า ศรีศิวสุพราหมณียสวามีวิหาร (Sri Shiva Subrahmaniya Swami Temple) 

และยิ่งรถยนต์ที่พาผมออกจากสนามบินวิ่งผ่านถนนสายต่างๆ ผมก็เห็นเทวาลัยขนาดเล็กมากมาย คนท้องถิ่นบูชาพระคเณศบ้าง พระวิษณุบ้าง พระศิวะบ้าง ตลอดทาง เหมือนกับที่ผมเคยเห็นในอินเดียไม่มีผิด ผมยิ่งรู้สึกว่าผมเจอเรื่องน่าสนใจที่ต้องค้นหาเข้าให้แล้ว

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ที่พักของผมเป็นโรงแรมริมทะเลอยู่ใกล้กับท่าเรือดีนาราอู (Port Denarau) โรงแรมห้าดาวชื่อดัง
แบรนด์ต่างๆ ของโลกล้วนเรียงรายอยู่ใกล้กับท่าเรือนี้ ผมจึงวางแผนใช้ชีวิตเป็นชาวโรงแรมห้าดาวสักหนึ่งวัน เพื่อปรับเวลาและปรับตัว ก่อนออกไปทำความรู้จักกับหมู่เกาะแห่งนี้ให้มากขึ้น และการปรับตัวนั้นก็ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเริ่มต้นทักทายกับพนักงานชาวท้องถิ่นในโรงแรมทุกคนที่ผมได้เจอ

“Bula” ผมส่งเสียงทักทายเต็มที่ พร้อมผิวปากโบกมือไปด้วย

ฉับพลันทันใดนั้นเสียง “Bula” ตอบกลับมาก็ดังกึกก้องทั่วบริเวณ พนักงานทุกคนโบกมือและยิ้มกว้างให้ผม

ผมชักจะสนุกกับประเทศนี้เสียแล้วครับ

เมื่อโลกรู้จักฟิจิ

ประเทศฟิจิเป็นหนึ่งในประเทศเอกราชของทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย มีความหมายครอบคลุมตั้งแต่ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะน้อยใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เราใช้หลักเกณฑ์ทางด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมในการแบ่งหมู่เกาะเหล่านี้ออกเป็น 3 กลุ่ม 

คือ ‘กลุ่มไมโครนีเซีย’ (Micronesia) มีผิวสีน้ำตาล ได้แก่ ประเทศไมโครนีเซียและหมู่เกาะใกล้เคียง ‘กลุ่มโพลีนีเซีย’ (Polynesia) มีผิวสีทองแดง ได้แก่ ประเทศตองกา ซามัว หมู่เกาะฮาวาย และหมู่เกาะใกล้เคียง และ ‘กลุ่มเมลานีเซีย’ (Melanesia) มีผิวสีเข้มจนถึงดำ ได้แก่ ประเทศปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และวานูอาตู ประเทศฟิจิตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมโพลีนีเซียและเมลานีเซีย เราจึงพบเห็นเชื้อชาติผสมผสานมากมายอยู่ในประเทศนี้

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

เช้าวันที่ 2 ของผมในประเทศฟิจิ ผมจับเที่ยวบินภายในประเทศเที่ยวเช้าที่สุดบินออกจากเมืองนานดี ไปยังกรุงซูวา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ เมืองนานดีและกรุงซูวาอยู่ห่างกันประมาณ 195 กิโลเมตร หากเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมงเศษ ผมจึงเลือกเดินทางด้วยการบิน เพราะใช้เวลาเพียง 22 นาทีเท่านั้น

คนขับรถของผมในวันนี้ชื่อว่าคุณคเณศ (Ganesh) ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเป็นคนเชื้อสายอินเดียเต็มขั้น พอผมถามว่าคุณเป็นลูกของพระศิวะหรือเปล่า (เพราะพระคเณศเป็นพระโอรสของพระศิวะกับพระอุมาตามคติฮินดู) เขาก็ตื่นเต้นดีใจใหญ่ที่ผมรู้จักพระคเณศด้วย หลังจากทำความรู้จักจนคุ้นเคยประมาณหนึ่ง ผมก็ขอให้คุณคเณศช่วยขับรถพาผมไปรับประทานอาหารเช้าที่อ่าวลามี (Lami Bay) ซึ่งเป็นอ่าวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงซูวา และมีทัศนียภาพคล้ายกับฮาลองเบย์ (Halong Bay) ในประเทศเวียดนาม

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

กรุงซูวาไม่มีหาดทรายสวยงามเหมือนเมืองนานดี แต่กลับมีอ่าวลมสงบ จอดเรือสินค้าได้ ประกอบกับทำเลที่ตั้งเหมาะแก่การเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและการค้า จึงทำให้กรุงซูวากลายเป็นเมืองหลวงของประเทศฟิจิ กรุงซูวาถือเป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่และเจริญที่สุดในบรรดาหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ทั้งหมด มีประชากรอาศัยอยู่ราว 9 หมื่นคน และประชากรครึ่งหนึ่งเป็นประชากรเชื้อสายอินเดีย เรียกว่าฟิจิเป็นประเทศที่มีชาวอินเดียอยู่ทุกที่จริงๆ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ไม่มีในหมู่เกาะอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

หลังจากอิ่มหนำสำราญดีแล้ว สถานที่แรกที่จะช่วยให้ผมรู้จักกับความเป็นมาของหมู่เกาะแห่งนี้ได้ดียิ่งขึ้นก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิจิ (Fiji Museum) ตั้งอยู่ติดกับสวนขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ Thurston Garden และ Albert Park พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงอย่างง่ายๆ ทว่ามีเรื่องราวน่าสนใจครบครัน ดินแดนหมู่เกาะแปซิฟิกใต้รวมถึงฟิจิถือเป็นดินแดนแห่งท้ายๆ ในโลกที่มีคนมาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง เมื่อราวประมาณ 3 – 4 พันปีมาแล้วเท่านั้นเอง โดยเดินทางมาด้วยเรือและแพ (ในขณะที่ที่อื่นๆ บนโลกนี้มีคนอาศัยอยู่มาเป็นหลักหมื่นถึงหลักล้านปี) นับได้ว่าชาวเกาะเหล่านี้มีพรสวรรค์ในการเดินสมุทรมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะเดินเรือรอนแรมหาที่อยู่อาศัยท่ามกลางผืนน้ำอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ได้ตั้งแต่เมื่อหลายพันปีมาแล้ว น่าอัศจรรย์ใจจริง ๆ

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ด้วยทำเลที่ตั้งของหมู่เกาะแถบนี้ที่ห่างไกลจากที่อื่นบนโลกมาก ทำให้ดินแดนบริเวณนี้กลายเป็นโลกที่ไม่มีใครรู้จัก รวมถึงผู้คนในแถบนี้ก็ไม่รู้จักโลกด้วย ทำให้ระหว่างที่ดินแดนส่วนอื่นๆ ของโลกก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เวลาในหมู่เกาะแถบนี้เสมือนว่าหยุดนิ่ง ทำให้ตอนที่ชาวตะวันตกเดินเรือผ่านเลยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มาค้นพบหมู่เกาะแถบนี้ ดินแดนแถบนี้ยังมีลักษณะเป็นสังคมของยุคหินใหม่ หรือสังคมเกษตรกรรมในระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยพืชที่นิยมปลูกกันมากคือพืชใช้หัว เช่น เผือกและมันฝรั่งหวาน

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

แม้ว่าจะเป็นสังคมแบบง่ายๆ ชาวฟิจิโบราณก็มีการจัดระบบชนเผ่าเป็นอย่างดี มีระบบป้องกันตนเองที่เข้มงวดและเข้มข้นมาก เป็นต้นว่า ชาวฟิจิโบราณประดิษฐ์เครื่องมือล่าสัตว์และประหารชีวิตผู้บุกรุกได้ด้วยการกระตุกคอให้กระดูกคอเคลื่อนเพียงครั้งเดียว และจบชีวิตเหยื่อรายนั้นทันที โหดร้ายเหมือนกัน แต่ก็เป็นธรรมดาของสังคมในสมัยก่อน เป็นประวัติศาสตร์ที่ชุมชนจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการดูแลตนเองและการเลี้ยงปากท้องของกลุ่มสังคมนั้น

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ก่อนการเข้ามาของชาติตะวันตก ชาวฟิจิล้วนมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ทำให้วันแรกที่ชาวตะวันตกเดินทางมาถึงฟิจิอย่างเป็นทางการ (ประวัติศาสตร์ฟิจินับว่าบุคคลทีค้นพบและสำรวจฟิจิอย่างเป็นทางการ คือ วิลเลียม บลาย (William Bligh) กัปตันชาวอังกฤษ) ดินแดนแถบนี้ยังบริสุทธิ์ อุดมสมบูรณ์ และน่าค้นหา รวมถึงเป็นแหล่งทรัพยากรชั้นดี ทำให้ฟิจิกลายเป็นที่หมายตาของนักล่าอาณานิคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อังกฤษและอินเดียในฟิจิ

ข้างๆ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติฟิจิเป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งหนึ่งชื่อว่า Thurston Garden ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1913 ในช่วงที่อังกฤษยึดครองฟิจิเป็นอาณานิคม

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

การค้นพบดินแดนใหม่ถือเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีของนานาประเทศมหาอำนาจแห่งยุโรปในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะยิ่งค้นพบดินแดนใหม่ๆ มาก เท่ากับว่ายุโรปมีโอกาสเจอแหล่งทรัพยากรได้มาก เนื่องจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ยุโรปปฏิวัติอุตสาหกรรม เปลี่ยนแปลงระบบอุตสาหกรรม จากเคยใช้แรงงานคนมาเป็นการใช้เครื่องจักร ด้วยกำลังการผลิตที่สูงขึ้นจากโรงงาน ทำให้ทรัพยากรที่ป้อนวัตถุดิบเข้าสู่สายพานการผลิตไม่เพียงพอ ชาวยุโรปต้องแสวงหาทรัพยากรจากดินแดนอื่น และคงไม่มีวิธีการใดที่จะทำให้ชาวยุโรปได้ทรัพยากรในดินแดนนั้นมาเป็นของตนง่ายไปกว่าการยึดครองดินแดนแถบนั้นให้เป็นสิทธิ์ขาดของตนเองทั้งหมด เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรเหล่านั้นได้ตามความต้องการ และนี่เป็นเหตุผลเดียวกันกับการที่อังกฤษพยายามขยายอำนาจของตนเองเหนือฟิจิ 

ชาวอังกฤษเริ่มซื้อขายชนพื้นเมืองไปเป็นแรงงานทาส และนำไปสู่การจัดตั้งสำนักข้าหลวงใหญ่ประจำแปซิฟิกภาคตะวันตก (The office of High Commissioner of Western Pacific) เมื่อ ค.ศ. 1877 ตรงกับตอนต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทย โดยมีอำนาจเหนือการกิจการสำคัญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ การถืออำนาจการปกครองผู้คนในบังคับอังกฤษทั้งหมดในหมู่เกาะฟิจิและดินแดนใกล้เคียง

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ผมเดินผ่านสวน Thurston Garden มาได้ครู่หนึ่ง ฟ้าเริ่มครึ้ม ฉับพลันทันใดฝนเม็ดใหญ่ๆ ก็โปรยปรายลงมา ผมจึงต้องเดินไปหาร้านกาแฟสักร้านหนึ่ง เพื่อรอเวลาที่สภาพอากาศจะอนุญาตให้ผมได้สำรวจเมืองหลวงแห่งนี้ต่อไป

ฝนที่โปรยปรายลงมาเป็นสิ่งที่พบเจอได้ทั่วในเขตประเทศหมู่เกาะ และสายฝนได้พาความอุดมสมบูรณ์มาสู่ดินแดนแถบนี้ด้วย พืชเศรษฐกิจสำคัญของฟิจิคืออ้อย ช่วงที่ฟิจิตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เป็นช่วงที่อังกฤษต้องหาแรงงานจำนวนมหาศาล เข้ามาตอบสนองต่อความต้องการผลิตน้ำตาลอ้อยบนพื้นที่เกษตรกรรม แต่แรงงานชนพื้นเมืองก็มีอย่างจำกัด เป็นเหตุให้อังกฤษต้องเล็งหาแรงงานจำนวนมากภายในระยะเวลาอันเร่งด่วน เพื่อก้าวผ่านข้อจำกัดนี้ไปให้ได้ อังกฤษจึงหันไปมองดินแดนอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดของตนเอง นั่นก็คืออินเดีย

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการทั้งเกณฑ์ทั้งรับสมัครคนอินเดียเข้ามาเป็นแรงงานในฟิจิจำนวนมหาศาล เมื่อเวลาผ่านไป ชาวอินเดียก็ไม่ได้กลับประเทศ กลายเป็นครอบครัวชาวอินเดียโพ้นทะเลอยู่ร่วมกับชาวฟิจิมาจนทุกวันนี้

จากหลักฐานทางเอกสารกล่าวว่า น้ำตาลอ้อยทำรายได้ให้กับฟิจิถึงร้อยละ 60 ของรายการสินค้าส่งออกทั้งหมด ทำให้แรงงานชาวอินเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตร แรงงานชาวอินเดียคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 – 90 ของแรงงานทั้งหมดในสมัยนั้น ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ประชากรในประเทศฟิจิจึงมีเชื้อสายอินเดียมากกว่าประชากรเชื้อสายฟิจิแท้ๆ และปรากฏวัฒนธรรมอินเดียอยู่ทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเทวาลัยขนาดใหญ่ ศาลเทพเจ้าขนาดเล็ก อาหารอินเดีย เสียงสนทนาภาษาฮินดีและภาษาทมิฬที่ได้ยินอยู่ทั่วไป

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ดินในฟิจิทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 3,776,000 เอเคอร์กลับถูกกำหนดโดยนโยบายการสงวนที่ดินให้กับชาวฟิจิ คณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (The Native Land Trust Board) ได้ควบคุมให้ที่ดินมากกว่าร้อยละ 90 ตกอยู่ในความครอบครองของคนเชื้อสายฟิจิ และดินแดนที่เหลืออยู่อีกประมาณร้อยละ 10 ตกอยู่ภายใต้การครอบครองโดยอิสระของนายทุนยุโรป ทำให้คนเชื้อสายอินเดียแทบจะไม่มีสิทธิ์เหนือที่ดินทำกินอันอุดมสมบูรณ์เลย การจัดสรรปันส่วนเช่นนี้นำไปสู่ภาวะตึงเครียดที่คนเชื้อสายอินเดียรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกเลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติและการเมือง กว่าจะผสานความขัดแย้งลงได้ก็ต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปี

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ทฤษฎีกล่าวว่าความขัดแย้งนี้ยุติลงใน ค.ศ. 1987 เมื่อนายทหารชื่อ สิติเวนี ราบูกา (Sitiveni Rabuka) ขึ้นมามีอำนาจในฟิจิ แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังคงเห็นความแตกต่างลึกๆ อยู่บ้างจากการพบปะของผู้คนในช่วงที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ แต่เนื่องจากคนอินเดียโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในฟิจินับเวลามาถึงปัจจุบันนี้ก็ 4 – 5 ชั่วคนแล้ว ความรู้สึกว่าตนเองเป็นอื่นในหมู่คนรุ่นใหม่ก็น้อยลง แม้ว่าจะยังสงวนรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้อย่างเข้มข้น แต่คนกลุ่มนี้ก็รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคำว่า ‘ฟิจิ’ มากกว่าคำว่า ‘อินเดีย’

ตอนเช้าระหว่างที่นั่งรถมาจากสนามบิน ผมบอกคุณคเณศว่าผมไปอินเดียมาแล้ว 3 ครั้ง คุณคเณศหัวเราะเสียงดังด้วยความตื่นเต้น พร้อมกับบอกผมว่าเขายังไม่เคยไปอินเดียเลย เพราะเขาไม่รู้จักญาติคนไหนเลยที่นั่น และเขารู้สึกว่าเขาเป็นคนฟิจิโดยสมบูรณ์ ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าผมไปพบคุณคเณศอีกครั้ง แล้วบอกกับเขาใหม่ว่าผมไปอินเดียมาแล้ว 9 ครั้ง เขาจะหัวเราะเสียงดังกว่าเดิมกี่เท่ากันนะ

มรดกจากอังกฤษ

ฝนขาดเม็ดแล้ว ผมสะพายเป้ออกสำรวจเมืองต่อ แดดยามบ่ายเริ่มแผดจ้าขึ้นแทนที่มวลเมฆฝน แม้ว่าช่วงเวลาที่อังกฤษยึดครองฟิจิเป็นอาณานิคม อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่สวยงามมากนักในทางประวัติศาสตร์ แต่กรุงซูวาก็ยังคงมีสถานที่สำคัญที่คงไว้ซึ่งกลิ่นอายของอังกฤษอยู่มากมาย

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ผมเดินเข้าไปในโรงแรม Grand Pacific Hotel (ปัจจุบันบริหารโดยโรงแรมเครือ Intercontinental) โรงแรมห้าดาวแห่งนี้คือตัวแทนที่บอกเล่าเรื่องราวความรุ่งเรืองของกรุงซูวาในยุคอาณานิคมได้ดี เนื่องจากโรงแรมแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นที่ริมชายฝั่งทะเลเมื่อ ค.ศ. 1914 เพื่อเป็นที่พักให้กับบรรดาพ่อค้าวาณิชและคหบดีที่เดินทางเข้ามาแสวงโชคและแสวงผลประโยชน์ทางการค้าในบริเวณนี้ 

อย่างที่ผมได้เล่าไปแล้วว่ากรุงซูวาไม่มีหาดทรายให้เล่นน้ำเหมือนกับเมืองตากอากาศอย่างนานดี แต่ก็มีสภาพชายฝั่งที่เหมาะสมแก่การจอดเรือสินค้า เพราะฉะนั้น เมื่อเรามองความยิ่งใหญ่หรูหราของโรงแรมแห่งนี้แล้ว จึงจินตนาการได้ว่า บรรดาพ่อค้ามหาเศรษฐีที่มั่งคั่งเมื่อ 200 กว่าปีก่อนในฟิจิจะมีมากมายเพียงใด

 แม้ว่ายุคแห่งการค้าและการล่าอาณานิคมจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ปัจจุบันฟิจิก็เป็นประเทศในเครือจักรภพ คือใช้ประมุขพระองค์เดียวกันกับสหราชอาณาจักร โรงแรมแห่งนี้จึงได้รับการเลือกให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร (Queen Elizabeth II) เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนฟิจิด้วย

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ตรงข้ามโรงแรม Grand Pacific Hotel เป็นอาคารที่ทำการของรัฐบาล (Government Buildings) สร้างขึ้น ค.ศ. 1930 โดยใช้ศิลปะแบบ Art Deco ถือเป็นอาคารที่สร้างในช่วงปลายสมัยอาณานิคมที่อังกฤษมีอำนาจเหนือหมู่เกาะฟิจิ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่ทำการของรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอาคารนี้เป็นที่ทำการของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) และฝ่ายตุลาการ (ศาล) ก็ได้ใช้พื้นที่ของหมู่อาคารแห่งนี้เป็นที่ทำการด้วย 

ผมเดินซึมซับบรรยากาศของเมืองหลวงที่ใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ไปเรื่อยๆ ท่ามกลางบรรยากาศเป็นมิตรของผู้คน ไม่บ่อยนักที่คนท้องที่จะเห็นนักท่องเที่ยวตาตี่ๆ เดินสะพายกล้อง ทุกคนส่งยิ้มให้ผมตลอดทาง และยิ่งเมื่อผมทักทายตอบกลับไปว่า “Bula” ก็ปรากฏเสียง Bula ดังย้อนกลับมาอย่างอบอุ่นไปตลอดเส้นทาง

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ผมเห็นนักศึกษากลุ่มหนึ่งจาก University of South Pacific เดินผ่านผมไป เราทักทายกันเล็กน้อย มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นหนึ่งในความพยายามพัฒนาการศึกษาของกลุ่มประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ โดยรัฐบาลจาก 12 ประเทศหมู่เกาะแถบนี้ร่วมมือกันจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมา โดยมีวิทยาเขตอยู่ในแต่ละหัวเมืองสำคัญของประเทศนั้นๆ คนท้องที่เล่าให้ผมฟังว่า แต่ละวิทยาเขตก็จะมีคณะชื่อดังแตกต่างกันออกไป 

เช่น ใครอยากเรียนเกี่ยวกับการสาธารณสุขจะนิยมไปเรียนที่หมู่เกาะโซโลมอน หากจะเรียนเกี่ยวกับนิติศาสตร์ต้องไปที่วานูอาตู หรืออยากเรียนเกี่ยวกับการเกษตรก็ต้องไปที่ซามัว แต่สำหรับวิทยาเขตฟิจินั้นมีชื่อเสียงด้านนิเทศศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ฟังดูแล้วคุ้นเคยดีครับ เหมือนสาขาที่ตัวผมเองเรียนจบมาอย่างไรก็ไม่รู้ หรือว่าตอนนั้นถ้าผมมาเรียนต่อที่ประเทศฟิจิ ก็อาจจะได้ลองใช้ชีวิตเป็นชาวเกาะกับเขาสักสามสี่ปีบ้าง อาจจะน่าสนุกก็ได้

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ผมนัดให้คุณคเณศมารับผมไปขึ้นเครื่องบินกลับนานดีตอน 5 โมงเย็น ระยะทางจากตัวเมืองไปยังสนามบินไกลพอสมควร จนทำให้ผมได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องต่างๆ กับคุณคเณศมากมาย ผมตั้งข้อสังเกตว่า การพัฒนาด้านต่างๆ ฟิจินับว่าพัฒนาไปได้รวดเร็วที่สุด ในบรรดาประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะด้วยกัน (ผมเคยเดินทางไปในประเทศอื่นๆ แถบนี้ที่นอกเหนือจากฟิจิประมาณ 2 – 3 ประเทศ) คุณคเณศพยักหน้าด้วยความภาคภูมิใจ แล้วบอกว่าสาเหตุที่ฟิจิก้าวหน้าไปมากกว่าที่อื่น เป็นเพราะฟิจิมีอัตราการคอร์รัปชันต่ำ หลายประเทศในภูมิภาคเดียวกันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรและพื้นที่สำหรับทำกินมากมาย แต่สังคมกลับพัฒนาไปได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็นเพราะมีอัตราการทุจริตสูง 

ผมฟังแล้วก็อดสะท้อนใจไม่ได้ ว่าการทุจริตคดโกงนั้นช่างเป็นเรื่องที่บั่นทอนความก้าวหน้าในทุกสังคมเสียจริงหนอ จริงอยู่ว่าฟิจิอาจจะไม่ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นมหานครที่สะดวกสบายใหญ่โตอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่ถ้าเทียบกับข้อจำกัดทั้งหมดที่มีอยู่ ผมว่าฟิจิทำได้ยอดเยี่ยมมากทีเดียวในฐานะประเทศที่เพิ่งครบรอบ 50 ปีของการได้รับเอกราชไปเมื่อปีก่อน (ค.ศ. 2020) 

ผมลาคุณคเณศที่สนามบินกรุงซูวา และใช้เวลาบนเที่ยวบิน 22 นาทีก็ถึงเมืองนานดีเหมือนกับขามา ผมทิ้งตัวลงบนเตียงนุ่มๆ ในโรงแรม และหลับไปพร้อมกับความรู้และมุมมองใหม่ๆ มากมายที่มีต่อหมู่เกาะแห่งนี้

เหตุผลสำหรับฟิจิ

ผมมีเวลาอยู่ในประเทศฟิจิอีก 2 วัน ผมใช้เวลาหนึ่งวันหมดไปกับการออกเรือขนาดใหญ่พร้อมกับนักท่องเที่ยวหลากหลายสัญชาติ ไปใช้ชีวิตช้าๆ ที่เกาะกลางทะเล และหมดเวลาอีกวันหนึ่งไปกับการนั่งอ่านหนังสือและเตรียมตัวกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ 

ก่อนไปขึ้นเครื่องบิน ผมนึกย้อนกลับไปถึงวันแรกของการเดินทางที่ผมกำลังเข้าแถวเพื่อเช็กอินที่สนามบินประเทศสิงคโปร์ มีสามีภรรยาชาวออสเตรเลียคู่หนึ่งถามผมว่าผมจะเดินทางไปฟิจิทำไม ในเมื่อประเทศไทยของผมมีเกาะสมุย ภูเก็ต และพัทยาอยู่แล้ว ในขณะที่ฟิจิเป็นประเทศที่ไม่มีอะไรเลย ผมยิ้มแล้วตอบแบบทีเล่นทีจริงว่า ก็เพราะผมไม่รู้ว่าฟิจิมีอะไรนั่นแหละครับ ผมจึงอยากจะไปรู้จักประเทศฟิจิสักครั้ง 

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ผมลองเอาคำถามของสามีภรรยาคู่นั้นกลับมาถามตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างที่เครื่องบินกำลังทะยานขึ้นฟ้าพาผมออกจากหมู่เกาะน้อยใหญ่และมหาสมุทรสีครามสดว่าผมเดินทางมาฟิจิทำไม และผมได้เรียนรู้อะไรจากหมู่เกาะแห่งนี้บ้าง 

คำตอบง่ายๆ คือ ผมเองก็แทบไม่ต่างจากคนบนแผ่นดินใหญ่เมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่รู้จักประเทศฟิจิเพียงแค่ชื่อ เพียงแต่เราอาจโชคดีกว่านิดหน่อยตรงที่เราสืบค้นภาพถ่ายได้ แต่นั่นคงจะไม่ดีเท่ากับการที่เราได้มาสัมผัสบรรยากาศของดินแดนที่อยู่ไกลตัวเราสักครั้ง 

เพื่อให้เรายืนยันได้ว่ามิตรไมตรีที่ตัวเราและคนท้องถิ่นหยิบยื่นให้แก่กันนั้น จะช่วยทำให้เราได้รู้สึกใกล้กันและคิดถึงกันมากกว่าที่เคย

ตามฝัน ม.2 บินเดี่ยวเที่ยวฟิจิ ไขคำตอบ ทำไมอังกฤษ-อินเดีย อยู่ที่หมู่เกาะทะเลตอนใต้

ในช่วงที่การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศทำไม่ได้ ผมหยิบแผนที่หมู่เกาะทั้งหลายในมหาสมุทรแปซิฟิกขึ้นมากางดู และวงกลมล้อมรอบฟิจิไว้เป็นสัญลักษณ์ ว่าผมจะกลับเยือนหมู่เกาะแห่งนี้อีก

เพราะผมหลงเสน่ห์ของหมู่เกาะแห่งนี้เข้าให้แล้วจริงๆ

ข้อมูลอ้างอิง

ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมฟิจิ

ธนู แก้วโอภาส. (2550). ประวัติศาสตร์โอเชียเนีย. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ. 

ผุสดี จันทวิมล. (2559). ประวัติศาสตร์ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ภูมิศาสตร์ฟิจิ

โครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิ สอวน. (2557). ภูมิศาสตร์กายภาพ. กรุงเทพฯ:

         ด่านสุทธาการพิมพ์.

โครงการตำราวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มูลนิธิ สอวน. (2557). ภูมิศาสตร์มนุษย์. กรุงเทพฯ:

         ด่านสุทธาการพิมพ์.

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐพงศ์​ ลาภบุญทรัพย์

วิทยากรและครูสอนวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาฯ ผู้รักการเดินทางเพื่อรู้จักตนเองและรู้จักโลกเป็นชีวิตจิตใจ เดินทางไปแล้วครบทุกจังหวัดในประเทศไทย และกว่า 50 ประเทศทั่วโลก