17 กุมภาพันธ์ 2022
1 K

ผมได้รับโอกาสให้ได้อยู่ในช่วงเวลาที่นักล่าในป่าทำงานหลายครั้ง นอกจากจะได้เห็นทักษะ รวมทั้งร่างกายซึ่งได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมของเหล่านักล่าแล้ว ผมยังได้เห็นความสามารถในการหลบหลีกของสัตว์ที่อยู่ในสถานภาพความเป็นเหยื่อ พวกมันก็ได้รับการออกแบบมาอย่างดีเช่นกัน ในความเป็นเหยื่อ ใช่ว่าพวกมันจะยอมจำนนง่าย ๆ

แต่อีกนั่นแหละ ในขณะที่หลายตัวไม่เพียงหลบหนี แต่ใช้วิธีหันกลับมาสู้ มีบ้างบางตัวคล้ายกับการหนี หรือยอมจำนน คือสิ่งที่มันเลือก

วัวแดงโตเต็มวัยตัวหนึ่ง ทำให้ผมเห็นว่ามันเลือกที่จะยอม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดนี้ในยุคสมัยหนึ่งคือ ‘เป้าหมาย’ ของนักนิยมไพร ในการล่าเพื่อเอาเขาและหัวมาประดับฝาบ้านเช่นเดียวกับกระทิง ในช่วงเวลาที่มีประชากรวัวแดงมาก มีทั่วไปแทบทุกป่า คนจำนวนไม่น้อยมองเห็นพวกมันเป็น ‘โปรตีน’ เป็นอาหาร

แต่สำหรับบางคนซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ใช้ซากสัตว์เหล่านี้เป็นเครื่องหมายแสดงสถานะความเป็นนักผจญภัย

หากเทียบกับกระทิง คนในป่าส่วนใหญ่มีทรรศนะว่า 

“วัวแดงน่ะแหย เวลามีอะไรมันไม่สู้หรอก เอาแต่หนี ไม่เหมือนกระทิงที่จะหันกลับมาสู้”

ที่ผมเห็นวัวแดงเป็นเช่นนั้น

อาจไม่ใช่ทั้งสมองและหัวใจ ที่ทำให้สัตว์ป่าสักตัวเลือกเป็นนักสู้หรือนักยอมแพ้
หมาใน นักล่าที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เช้าวันนั้น หมาใน 2 ตัววิ่งไล่วัวแดงกระทั่งมาจนมุมริมลำห้วย วัวแดงกระโจนลงห้วย หมาในตาม มันกระชากไส้ และลูกนัยน์ตาวัวแดงออกมาตั้งแต่วัวแดงยังไม่ล้ม ก่อนหน้านี้ วัวแดงวิ่งผ่านกระทิง 4 – 5 ตัวที่กำลังพักผ่อนอยู่ริมฝั่ง

กระทิงตัวไม่โตนักลุกขึ้นยืนจังก้า ยกตีนหน้าเตะใส่หมาใน จนหมาใน 2 ตัวนั้นต้องวิ่งอ้อมหลบเพื่อไล่วัวแดงต่อ

เสียงโหยหวนสลับเสียงกระชากเนื้อ เลือดแดงสาดกระจาย ที่จริงหากวัวแดงหันกลับมาสู้บ้าง สู้แบบที่กระทิงทำ การล่าอาจล้มเหลวก็ได้

แต่คราวนี้ภารกิจของนักล่าสำเร็จ

อาจไม่ใช่ทั้งสมองและหัวใจ ที่ทำให้สัตว์ป่าสักตัวเลือกเป็นนักสู้หรือนักยอมแพ้
นกเงือกหัวแรด

การกระทำของกระทิงวันนั้น ทำให้ผมนึกถึงผู้ชายคนหนึ่งที่รู้จักเป็นเพื่อน มีโอกาสทำงานด้วยกันระยะเวลาหนึ่ง 

เขาเป็นชายหนุ่มผิวคล้ำล่ำสันวัยเบญจเพส ชื่อว่า ฮาบิ ผมเคยนำเรื่องราวฮาบิมาเขียนหลายครั้ง ความเป็นคน แบบฮาบินั้น ผมจำได้ไม่ลืม

ผมรู้จักฮาบิครั้งตามทีมสำรวจประชากรนกเงือกเข้าไปสำรวจพื้นที่แถบทิวเขาไอร์กือเนาะ เป็นพื้นที่เตรียมประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ รวมทั้งอยู่ในพื้นที่อันเรียกว่าสีแดงเข้มของเหตุการณ์ความไม่สงบ

ที่นี่ ทีมพบนกเงือก 6 ชนิด เรามีฮาบิช่วยนำทางและพาไปหาโพรงนก เขาชำนาญพื้นที่และรู้จักต้นไม้ที่นกเงือกใช้ทำโพรงเป็นอย่างดี

ช่วงนั้นฮาบิและเพื่อนมีอาชีพหลักคือ ปีนโพรงนก ล้วงเอาลูกนกเงือกไปขาย นอกจากงานเลื่อยไม้บนเขา

การขึ้นต้นไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่าเมตรครึ่ง สูงกว่า 20 เมตรของฮาบิ คล้ายเป็นเรื่องง่าย ๆ เพียงใช้ตะปู 5 นิ้ว ตอกเป็นระยะปีนขึ้นไป ใช้นิ้วแค่ 3 นิ้วจับตะปู ตะแคงเท้าขึ้นไปเรื่อย ๆ

“ไม่ยากหรอก แค่ใช้ใจกล้า ๆ เท่านั้น” ฮาบิพูดไทยชัด แม้ปกติเขาจะใช้ภาษาถิ่น

อาจไม่ใช่ทั้งสมองและหัวใจ ที่ทำให้สัตว์ป่าสักตัวเลือกเป็นนักสู้หรือนักยอมแพ้
นกกก นกเงือกขนาดใหญ่ที่สุด การเข้ามาที่ต้นไทรเพื่อนำพาเมล็ดไปแพร่กระจายคืองานที่ทำอย่างได้ผล

ที่จริง การปีนต้นไม้เพื่อล้วงลูกนกเงือกในโพรงนี้ เป็นทักษะอันถ่ายทอดกันมาหลายรุ่น พ่อจะสอนลูกใช้ไม้และเถาวัลย์มัดเป็นขั้นบันได

ในรุ่นฮาบิ การล้วงลูกนกไปขายมีความหมายเพียงเงินเพื่อการเที่ยวเตร่ และไม่ใช้วิธีการซับซ้อนอะไร

หลังร่วมทำงานกันระยะหนึ่ง ฮาบิเริ่มคุ้นเคยและสนุก

“ปีนี้เราจะไม่เอาลูกนกแล้วล่ะ เราจะช่วยพวกพี่ทำงาน” เขาบอกเสียงดัง

ดูเหมือนว่าเมื่อฮาบิประกาศหยุด การล้วงลูกนกจากโพรงในบริเวณทิวเขาไอร์กือเนาะปีนั้นก็ยุติลง

อาจไม่ใช่ทั้งสมองและหัวใจ ที่ทำให้สัตว์ป่าสักตัวเลือกเป็นนักสู้หรือนักยอมแพ้
ในช่วงฤดูแห่งความรัก นกเงือกหัวแรดได้มีวิถีของพวกมันอย่างที่ควรเป็น

เราใช้กระท่อมริมน้ำในสวนที่เจ้าของหลบความไม่สงบไปอยู่ข้างนอก ฮาบิพาเพื่อนมาช่วยงานหลายคน ทุกคนเคยล้วงลูกนกไปขาย 

“ไม่มีใครเอาลูกนกแล้ว พวกเขาฟังเรา คนโต ๆ ก็ฟัง” ฮาบิพูดเรียบ ๆ

วันหนึ่ง ในซุ้มบังไพรที่ผมใช้ถ่ายรูปนกเงือกหัวแรด ฮาบินั่งอยู่ด้วย

“เสร็จงานแล้ว เราจะกลับมาช่วยพี่นะ เราอยากอนุรักษ์” ผมมองหน้าเขา เห็นแววตาจริงจังขณะจับมือลา นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่พบกับฮาบิ

ลูกนกเงือกหลายตัวมีโอกาสออกจากโพรง มาโบยบิน เติบโต ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควร

ส่วนฮาบิ จากไปไม่หวนคืน

อาจไม่ใช่ทั้งสมองและหัวใจ ที่ทำให้สัตว์ป่าสักตัวเลือกเป็นนักสู้หรือนักยอมแพ้
เรื่องราวเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ผมจำได้ดีราวกับเกิดขึันเมื่อวาน

“บิโดนอาร์ก้ายิงจนพรุน เมื่อวานตอนบ่าย” เซ ลูกพี่ลูกน้องฮาบิที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์ฮาบิเข้าเมืองกลับมาบอก

บนทางเปลี่ยว มีรถกระบะขับตาม

“บิล้มมอเตอร์ไซค์ขวางถนน หันกลับมายิงใส่คนขับฟุบ แต่คนข้างหลังสองคนลุกขึ้นยิง มันเลยไม่รอด” เซหลบหนีมาได้

ผมหลับตาฟังเซถ่ายทอดเหตุการณ์ นึกถึงกระทิงที่ลุกขึ้นยืนจังก้า พร้อมโจมตีผู้ล่า

กระท่อมริมน้ำถูกห้อมล้อมด้วยต้นลองกอง เงาะ มังคุด ชานบ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในค่ำคืนข้างขึ้น ดวงจันทร์กลมโตโผล่พ้นสันเขา ที่นี่เราใช้เป็นที่ผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากงานบนภูเขา

ผมมองไปที่ดวงจันทร์กลมโต เมื่อจากโลกนี้ไป ที่ใดเป็นจุดหมายต่อไป บางทีอาจเป็นในกลุ่มดาวอันไกลโพ้น

หากอยู่บนดวงจันทร์ เวลาที่มองกลับมายังโลก ใครก็ตามที่อยู่บนนั้นจะเห็นโลกอันสวยงาม เหมือนอย่างที่เห็นดวงจันทร์กลมโต

เป็นความงดงามซึ่งอยู่ใกล้ ๆ มักมองไม่เห็น

ดูเหมือนว่าจะมีการจัดสรรและจัดการมาแล้วอย่างเหมาะสม

วัวแดงยอมจำนนกับคมเขี้ยวหมาในอย่างง่าย ๆ

กระทิงและฮาบิหันกลับมาสู้

วัวแดง กระทิง รวมทั้งฮาบิ สอนให้ผมรู้อย่างหนึ่ง

ชีวิตในธรรมชาติต่างล้วนผ่านการจัดการไว้แล้ว 

ดังนั้น การหันกลับมาสู้หรือยอม ‘จำนน’

บางทีมันก็ไม่ได้เป็นไปตามคำสั่งของสมองหรือหัวใจ

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน