ทางเข้าหมู่บ้านถูกปิดเป็นคำรบสาม ชาวบ้านผลัดเปลี่ยนเวรยามกันไปเฝ้าตรวจตราคนเข้าออกเพื่อความปลอดภัยของชีวิต หลายคนกำลังกักตัวที่บ้านหรือในสวน ถ้าโลกต้องการให้เราพบกันน้อยลง นี่คงเป็นโอกาสที่เราจะได้พบกับธรรมชาติให้มากขึ้น

ผมนัดกับ แทะ-นิรักษ์พัน แปรดำรงค์กุล คุณพ่อลูกสองผู้ที่หลงใหลในเฟิร์นมาหลายปีแล้ว แทะน่าจะเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่บนดอยที่รู้จักเฟิร์นดีมากคนหนึ่ง ทั้งในตำราและภูมิปัญญาแบบผู้เฒ่าสมัยก่อน เขาสารภาพว่าเขาห่างเหินกับเฟิร์นมาสักพักแล้ว ด้วยเหตุผลหลายประการ การมาพักช่วงสั้นๆ ในสวนใกล้กับป่า น่าจะทำให้ความรักที่มีต่อเฟิร์นของเขาผลิบานอีกครั้ง

สวนและนาที่ห่างออกจากหมู่บ้านไปไกลจึงสงบเงียบ เสียงรถบนถนนดังไกลๆ ให้ได้ยินแต่ไม่รบกวนอะไร กระท่อมหลังเดิมของพ่อตาของแทะยังคงแข็งแรง หญ้าและต้นไม้กลับมาเขียวอีกครั้งหลังจากฝนหลงฤดูร้อนพัดกระหน่ำไปเมื่อไม่นาน

เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอเรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า
เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอเรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า

เราเดินทางไปถึงที่พักก็เย็นพอดี หลังจากปลดกระเป๋าและนั่งพักผ่อนบนแคร่ใต้ถุนกระท่อมพอหอมปากหอมคอ แทะก่อฟืนหุงข้าว น้ำซุปมันฝรั่งกับไข่เจียวและข้าวดอยร้อนๆ เป็นมื้อเย็นที่พอเหมาะพอดีสำหรับเรา

เมื่อถึงฤดูเพาะปลูก กระท่อมกลางนาเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองสำหรับการมาพักชั่วคราว โดยเฉพาะคนที่นาอยู่ไกลบ้าน การมีกระท่อมไว้นอนพักค้างคืน มีเตาไฟสำหรับทำอาหาร ช่วยประหยัดเวลาได้มากพอสมควร 

กระท่อมไม่มีไฟฟ้า นอกจากไฟจากกองฟืนและแสงจันทร์ลางๆ หิ่งห้อยบรรทุกตะเกียงเรืองแสงพากันไปฟังจิ้งหรีดที่กำลังร้องเพลงลูกทุ่งประสานเสียงกับเหล่าเขียดในท้องนา ฟังไกลๆ ก็เพราะดี ลมพัดเย็นสบาย เสียงกล่อมนอนจากธรรมชาติทำให้รู้สึกผ่อนคลายจนหลับไป

เฟิร์น สิ่งมีชีวิตที่เป็นมากกว่าความสวยงามในราวป่า

เช้าแล้ว ตื่นมาเตรียมมื้อเช้ากินกันก่อนเดินเท้าเข้าป่า ก้าวเท้าออกไปไม่ทันไร แทะชี้ให้ดู ‘กิ๊โข่ดอ’ หรือย่านลิเภา เฟิร์นเถาที่คนปกาเกอะญอนำมาใช้ประกอบพิธีกินข้าวใหม่หลังเก็บเกี่ยว การนำเถาของย่านลิเภามาพันหม้อหุงข้าว ครกกระเดื่อง เสาเตาไฟ หรือ ‘เส่อกิ๊เต่อ’ ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงการสำนึกรู้คุณต่อสิ่งของที่ช่วยให้การดำรงชีวิตดำเนินไปอย่างสะดวกราบรื่น นอกจากนี้ เถาของย่านลิเภาที่พันรอบข้าวสิ่งของต่างๆ นั้น เป็นการบอกกล่าวให้เราดูแลข้าวของให้ดี เพื่อที่เราจะมีกินมีใช้ไม่ขาดมือ 

เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอเรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า

เถาของย่านลิเภาเปรียบเสมือนเชือกที่พันและผูกเราไว้กับข้าว ให้เรายึดเหนี่ยวชีวิตไว้กับข้าวปลาอาหารให้มั่น เมื่อคนสมัยโบราณไม่มีภาษาเขียน การจดบันทึกความหมายของธรรมชาติจึงถูกเล่าผ่านพิธีกรรม เมื่อพิธีกรรมเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ผิดมากนักถ้าหากจะบอกว่าเฟิร์นคือพืชศักดิ์สิทธิ์ ชาวอินเดียนแดงเผ่าเชอโรกี เชื่อว่าเฟิร์นก้านดำมีพลังรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ

‘กิ๊โข่ดอ’ มีสรรพคุณทางยาที่ช่วยขับนิ่ว แก้เจ็บคอ ลดอาการปวดหลัง โดยนำเหง้า ราก และลำต้น มาต้มน้ำกิน ส่วนยอดอ่อนยังใช้ประกอบอาหารได้ เช่น ลวกจิ้มกินกับน้ำพริก เป็นต้น

เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอเรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า
เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญอเรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า

เดินขึ้นเขาใต้ร่มไม้ใหญ่ ลำธารสายเล็กมีน้ำไหลช้าๆ ครอบครัวเฟิร์นหลายชนิดกำลังรอให้เราไปทำความรู้จัก แทะ พลิกใบของต้น ‘โดะเก่โข่ง’ หรือเฟิร์นกีบแรด เพื่อดูสปอร์ที่เรียงชิดติดกันเป็นแนวยาวตามขอบใบด้านใน เมื่อจังหวะและเวลาพร้อม สปอร์เหล่านี้ก็จะออกเดินทางกลายเป็นต้นเฟิร์นต่อไปในอนาคต

เหง้าของกีบแรดเป็นยาสมานแผลที่ดีมากชนิดหนึ่ง หากเราโดนหนามเกี่ยวหรือของมีคมบาด ให้ใช้เหง้าของกีบแรดทา จะทำให้แผลหดตัว ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

มีเฟิร์นหลายชนิดที่หน้าตาคล้ายกันมากจนมือใหม่อย่างผมอาจแยกไม่ออก แต่ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้รักเฟิร์น แทะบอกได้ทันทีว่าต้นเฟิร์นที่ยืนสง่าบนหินที่มีเหล่ามอสปกคลุมใต้ต้นนั้นชื่อว่า ‘ต้นห่อทีหล่า’ เฟิร์นที่เป็นตัวชูรสในการทำอาหารของคนบนดอยมาช้านาน ซึ่งเด็กๆ รุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักแล้ว 

เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ ภูมิปัญญา ปกาเกอะญอ เรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า

‘โปล่ แปล ดอ’ หรือผักกูด น่าจะเป็นเฟิร์นที่ทุกคนรู้จักดี แต่ใครรู้ว่าเฟิร์นชนิดนี้มีธาตุเหล็กสูงช่วยบำรุงเลือดได้เป็นอย่างดี

เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ ภูมิปัญญา ปกาเกอะญอ เรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า

นอกจากนี้มีเฟิร์นชนิดหนึ่งที่ชอบชิมเหล้า ‘โท’ หรือ โชน ที่ชูใบเป็นตัว V ก้านยาวๆ ของโชนถูกนำมาใช้เป็นหลอดดูดสำหรับชิมเหล้าของเหล่าบรรดาแม่บ้าน โดยการริดใบออกให้เหลือแต่ลำต้นยาวประมาณหนึ่งศอก จากนั้นให้เอาไปซุกในผงขี้เถ้าที่ยังมีความร้อนอยู่ ความร้อนจากผงขี้เถ้าจะทำให้ไส้ข้างในหดตัว ทำให้เราดึงไส้ออกได้อย่างง่ายดาย เพียงเท่านี้ก็จะได้หลอดดูดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไว้ใช้งานต่อไป 

เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ ภูมิปัญญา ปกาเกอะญอ เรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า

ส่วน ‘ก่าบอชือ’ กูดเกี๊ยะ เป็นเฟิร์นที่แม่ไก่จะรู้จักดี ทุกครั้งที่แม่ไก่ออกไข่ เจ้าของไก่จะไปตักกูดเกี๊ยะมาใส่ในรังไก่เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่แตกและเป็นที่นอนนุ่มๆ ของแม่ไก่

เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ ภูมิปัญญา ปกาเกอะญอ เรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า

บ้านของเฟิร์น

แทะเล่าว่าเราพบเห็นเฟิร์นได้บนดิน บนหิน ในน้ำ และบนต้นไม้ เฟิร์นยังเป็นบ้านของสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างแมงมุม กิ้งก่า ตุ๊กแกหางเฟิร์น ตั๊กแตน หนอน และสัตว์ตัวอื่นๆ ที่พรางตัวเพื่อหลบภัย เช่นเดียวกับพวกเราทุกคนที่พึ่งพาพืชชนิดนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

เฟิร์นเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของระบบนิเวศ เช่นเดียวกับสัตว์อย่างเสือ ลิง กระทิง นกหัวขวาน ที่ไหนยังมีเฟิร์น อย่างน้อยๆ เราก็พอคาดเดาได้ว่าป่าแห่งนั้นยังคงเป็นป่าที่มีชีวิต มีน้ำมีลำธารที่สะอาด และมีสิ่งมีชีวิตอื่นอาศัยอยู่ในนั้น ซึ่งเท่ากับว่าเราจะยังมีชีวิตที่ดี เพราะ ‘ขวัญ’ ยังอยู่กับเรา ผมเพิ่งเข้าใจว่าการที่เราซื้อต้นไม้มาไว้ที่บ้านคือการเรียกขวัญกลับมานี่เอง

เฟิร์นช่วยรักษาความชุมชื้นให้หน้าดิน ช่วยยืดหน้าดินไม่ให้พังทลายยามฝนหลาก ไม่เพียงแค่ร่างกายของเราที่ต้องการต้นไม้ หากแต่จิตใจของเราก็ต้องการพลังจากต้นไม่ไม้น้อยไปกว่ากัน ทุกครั้งที่เข้าป่าหรือได้นั่งใต้ร่มไม้เราจึงรู้สึกร่มเย็น เฟิร์นจึงทำหน้าที่เป็นสมุนไพรที่รักษาทั้งร่างกายและเยียวยาจิตใจของเราได้เป็นอย่างดี

หลังจากเดินป่าเรียนรู้เรื่องเฟิร์นกับแทะทั้งวัน มุมมองที่มีต่อเฟิร์นของผมเปลี่ยนไป เราอาจจะเคยรู้สึกกับต้นไม้ใบหญ้าว่าเป็นเพียงวัชพืช จนกระทั่งเราได้พาตัวเองไปสัมผัสกับต้นไม้ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน สิ่งเราคิดว่าไกลตัวกลับมีความสำคัญมากกว่าที่เราคิด สิ่งที่แวดล้อมล้วนเกี่ยวข้องกับสุขทุกข์ของเรา คนสมัยก่อนเชื่อว่าขวัญของเราเดินทางมากับต้นไม้ ขวัญและกำลังใจจึงเติบโตขึ้นในป่าและกลับคืนสู่ป่าเช่นเดียวกัน 

เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ ภูมิปัญญา ปกาเกอะญอ เรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า
เดินป่ากับคนรักเฟิร์น เรียนรู้ ภูมิปัญญา ปกาเกอะญอ เรื่องพืชที่บอกความสมบูรณ์ของป่า

แทะตั้งใจสร้างพื้นที่เรียนรู้เกี่ยวกับเฟิร์น เขาอยากถ่ายทอดเรื่องราวให้เด็กๆ และผู้ที่สนใจ เขากำลังลงมืออย่างช้าๆ แต่มีความหวังว่า สักวันหนึ่งพื้นที่เล็กๆ ที่เขาสร้างขึ้นมา จะทำให้เราได้กลับมาสนใจเรื่องราวของเฟิร์นและความเกี่ยวข้องของเรากับธรรมชาติ

จริงทีเดียวที่มีคนกล่าวไว้ว่าสุขภาพที่ดีคือความมั่งคั่ง ถ้าโลกของเรามีสุขภาพที่ดี นั่นแสดงว่ามนุษย์ทุกคนบนโลกล้วนคือผู้ที่มั่งมี อาจไม่ใช่เรื่องทรัพย์สินเงินทอง แต่ความรุ่มรวยที่เต็มไปด้วยความร่มเย็น สันติสุข ที่เราได้มีโอกาสแบ่งปันซึ่งกัน แบ่งปันพื้นที่ให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมถึงบ้านของต้นเฟิร์นด้วย 

ถึงตอนนี้ใครที่กำลังมองหาต้นไม้สักต้นมาไว้ที่บ้าน คงไม่ลืมหยิบเฟิร์นกลับมาด้วยสักต้น เพื่อที่ขวัญและกำลังใจจะกลับมา ในวันที่พวกเราหลายๆ คนต้องกักตัวที่บ้าน ไม่ได้เดินทางเหมือนเช่นเคย

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง