วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคมนี้ จะมีงาน ‘มิตรรัก นักหมัก’ ที่ Whispering Land เป็นเทศกาลที่รวมสารพัดการหมักให้เลือกซื้อ และสารพันความรู้เรื่องเรื่องการหมักให้เลือกฟัง เหมาะกับทั้งนักหมัก นักซื้อ ทั้งมือใหม่ มือเก่า

แต่ก่อนจะไปถึงรายละเอียดในวันงาน เรามาทำความรู้จักเรื่อง ‘การหมัก’ กันก่อนดีกว่า
หากตอนนี้คุณอยู่ที่บ้าน อยากให้ลองก้าวเท้าเข้าครัวสักประเดี๋ยว ไปสำรวจงานคราฟต์มรดกตกทอดหลายพันปีจากฝีมือมนุษย์ที่อยู่ในบ้านกัน

เข้าครัวไปสิ่งแรกที่เจอคือน้ำปลา ขวดต่อมาคงเป็นซีอิ๊ว บางบ้านอาจเจอปลาร้า กะปิ เต้าหู้ยี้ หรือมิโซะ เหล่าวัตถุดิบในครัวที่ว่ามาล้วนเป็นงานคราฟต์ที่ถ่ายทอดไอเดียการถนอมอาหารจากรุ่นสู่รุ่น การถนอมอาหารที่ว่านั้นคือ การหมักดอง

หันซ้ายมองขวา ไม่ว่าที่ไหนเรามักเห็นคนหยิบอาหารในบ้านมาหมักดองกันอยู่ตลอด บางบ้านหมักน้ำเชื่อมกล้วยและทำน้ำส้มสายชูจากกล้วยที่กินไม่หมด บ้างก็มี Natural Soda ที่ทำเองจากการหมักด้วยขิงกับน้ำตาล บางบ้านก็เอาทั้งผักทั้งปลามาหมักมาดองกัน

แต่รู้ไหมว่า การหมักนั่นหมักนี่ที่ต่างกันไป กลับมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ และสิ่งเหล่านั้นกลายเป็นเวทมนตร์มัดใจนักหมัก ที่ถ้าได้ลองเข้าวงการหมักอาหารแล้วมักจะออกไม่ได้เลยทีเดียว

เรามีโอกาสคุยกับนักหมักผู้มากความรู้อย่าง อาจารย์ต้น-อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนและนักแปลหนังสือทั้งนวนิยายและเรื่องสั้นที่หันมาสนใจวงการอาหาร และกลายเป็นนักขับเคลื่อนวงการอาหารจนเกิด My Chef หนังสือสารคดีอาหารที่บันทึกการเดินทาง ความทรงจำ และความหลงใหลในอาหารของเขา 

เราจึงอยากพาไขข้อสงสัยว่า เวทมนตร์อะไรที่ทำให้งานคราฟต์ชิ้นนี้เป็นงานที่ต้องมีกันแทบทุกบ้าน ควบคู่ไปกับมองวัฒนธรรมการหมักดองผ่านเลนส์นักหมักกัน

เพราะหมักจึงมี – รสอูมามิ

เราเชื่อว่าสิ่งแรกที่ทำให้นักหมักต้องมนตร์กับอาหารหมักคือความอร่อย แน่นอนว่าการกินอาหารไม่ใช่เพียงแค่กินเพื่อให้อิ่ม แต่เรากินเพื่อลิ้มรสแห่งความสุขจากอาหารด้วย ซึ่งอาหารหมักดองคือยอดอาหารชั้นดีที่มอบรสชาติแห่งความสุขออกมาได้

“กระบวนการหมักที่ต้องใช้เหล่าจุลินทรีย์ จะมีรสชาติที่เราได้แน่ ๆ จากการหมักดองคือ รสอูมามิ เป็นรสชาติประเภทนัว ทำให้คนรู้สึกเสพติดกับการหมักดอง”

รสชาติอูมามิที่อาจารย์ต้นกล่าวถึง เป็นคำศัพท์ที่ใช้กันในวงการอาหารมานาน เอาไว้ใช้อธิบายถึงความอร่อยที่ไม่ใช่แค่รสหวาน ขม เค็ม หรือเปรี้ยว แต่อูมามิเป็นรสสัมผัสที่ 5 เรียกง่าย ๆ ว่ารสนัวก็ย่อมได้

แน่นอนว่าเมื่อได้ลิ้มรสอาหารอร่อยนัวหนึ่งครั้งแล้ว ครั้งต่อไปย่อมตามมา บางคนถึงกับเปลี่ยนสถานะจากที่เคยเป็นนักชิม กลายมาเป็นนักหมักดองเองเสียแล้ว แต่นอกจากรสอูมามิที่ได้จากอาหารหมักดองแล้ว ยังมีสิ่งที่ทำให้เหล่านักหมักตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้น เพราะ…

อาหารหมักดอง หมัก 100 ครั้ง รสชาติไม่เหมือนกันสักครั้ง

ความสนุกของการหมักดองอยู่ตรงนี้ นักหมักทั้งหลายรู้ว่าของที่ตัวเองทำอยู่อร่อยแน่ ๆ แต่จะอร่อยแบบไหนก็ต้องมีลุ้นกันทุกที เพราะเพียงแค่อุณหภูมิแต่ละครั้งต่างกัน วัตถุดิบอย่างสายพันธุ์ของผักผลไม้ที่เอามาหมักต่างกัน รสชาติที่ออกมาก็ไม่เหมือนกันแล้ว

“การได้เจอรสชาติใหม่ ๆ มันน่าสนใจ คือเราได้เจอรสชาติแปลก ๆ อย่างผมกำลังทำน้ำส้มสายชูจากมะม่วง หมักมะม่วงทุกชนิดที่เราเจอ เพื่อเปรียบเทียบว่า น้ำส้มสายชูจากมะม่วงแต่ละชนิดมีรสชาติยังไง มันเป็นความรู้สึกสนุกเหมือนคุณสะสมหนังสือ แต่ผมสะสมของหมักดองเท่านั้นเอง”

เพราะหมักจึงพบ – เพื่อนตัวจิ๋ว

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าอาหารหมักดองมีคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ปรับสมดุลร่างกาย ให้วิตามินหลายตัวที่ช่วยชะลอความแก่ สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคได้มากมาย แต่ผลพวงประโยชน์เหล่านั้นเกิดจากการเติบโตของสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋ว ผู้เป็นเพื่อนร่วมทางนักหมักที่มีชื่อว่าเจ้าจุลินทรีย์

“ผมได้ดูสารคดีเรื่อง Kiss the Ground ในสารคดีเขาพูดชัดเจนว่า ปริมาณจุลินทรีย์ในร่างกายเรามีมากกว่าปริมาณเซลล์เสียอีก การรักษาสมดุลของกระบวนเติบโตของจุลินทรีย์ถึงสำคัญ การเติมจุลินทรีย์ให้ร่างกาย ทำให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ในอาหารหมักดองกับจุลินทรีย์ในร่างกาย ร่างกายมนุษย์จริง ๆ ก็เป็นระบบนิเวศหนึ่ง ถ้ามันสมดุล ก็เหมือนระบบนิเวศที่สมดุลดี”

อาจารย์ต้นเล่าว่า ถ้าวันไหนเราท้องผูก แปลว่าช่วงนั้นเรากำลังขาดจุลินทรีย์ตัวดีในร่างกายที่ช่วยเรื่องการขับถ่าย แต่ก็มีหนทางแก้ได้ โดยการเติมจุลินทรีย์ดีจากอาหารหมักดองอร่อย ๆ ที่ทำกินเองได้

จุลินทรีย์ตัวน้อยไม่ได้แค่ทำให้อาหารหมักเปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการ แต่ทำให้นักหมักตื่นเต้นไปกับรสชาติที่แตกต่างกันไปตามการเติบโตของสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ด้วย 

บางคนอาจจะขยาดกับราสีขาวที่ขึ้นอยู่บนอาหาร แต่สำหรับนักหมักแล้ว นั่นคือก้าวแรกแห่งความสำเร็จเลยทีเดียว

อย่างการทำน้ำเชื่อมหวาน ๆ จากกล้วย กล้วยที่เรากินกันไม่หมดหรือกินไม่ทัน นำมาปอกเปลือกออก ใส่เนื้อลงในขวดโหลตามใจชอบ หลังจากนั้นใส่น้ำตาลที่มีอยู่ในครัวลงไป ปิดฝารอเวลาสัก 2 – 3 วันก็ลองกลับไปสอดส่องที่ขวดโหลดู เราจะตาเป็นประกายทันทีเมื่อเห็นว่ามีสิ่งมีชีวิตสีขาวเล็ก ๆ เกาะอยู่บนผิวกล้วย พร้อมกับน้ำเชื่อมกล้วยที่ออกมานิดหน่อย พอให้ได้ผสมโซดาเอามาดื่มให้สดชื่นกันสองสามแก้ว

หรือการทำคอมบูชา น้ำชาหมักชั้นดีที่ถูกขนานนามให้เป็นชาอมตะ เกิดจากการหมัก 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ Scoby (สโกบี้) ส่วนที่สองคือส่วนผสมน้ำชา ทั้งสองส่วนเราทำเองได้ที่บ้านง่าย ๆ ส่วนของสโกบี้บางบ้านอาจเพียงแค่เดินเข้าสวนก็ได้ผลไม้เปรี้ยวมาใช้หมักได้แล้ว หรือผลไม้เปรี้ยวที่เรากินไม่หมดก็นำมาทำเป็นสโกบี้ได้ แค่หมักผลไม้เปรี้ยวกับน้ำตาลแล้วผสมน้ำลงไป ระยะเวลา 3 – 6 เป็นช่วงของการเฝ้ายามสังเกตการณ์ว่าจุลินทรีย์ที่หมักกำลังเติบโตยังไง เราเฝ้ามองตั้งแต่มันค่อย ๆ ก่อตัวเป็นวุ้น จนกระทั่งการเติบโตที่สมบูรณ์ของจุลินทรีย์ จนได้เป็นแผ่นสโกบี้ที่เอามาใช้หมักกับน้ำชาได้อีกหลาย ๆ รอบ

ย้อนกลับไปถึงคำพูดที่อาจารย์ต้นกล่าวว่า “ร่างกายมนุษย์จริง ๆ ก็เป็นระบบนิเวศหนึ่ง ถ้ามันสมดุล ก็เหมือนระบบนิเวศที่สมดุลดี” มองกลับกัน ถ้าเราลองเติมจุลินทรีย์ให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่ร่างกายเราบ้างจะเป็นยังไง

เราลองเติมจุลินทรีย์ให้ต้นไม้กันดู มนุษย์เติมจุลินทรีย์ด้วยการกินอาหาร แต่ต้นไม้คงต้องเติมจุลินทรีย์ด้วยสิ่งที่เรียกว่าปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยที่ทำได้โดยวิธีธรรมชาติก็ยังคงต้องอาศัยกระบวนการหมักเช่นกัน อาหารของต้นไม้ที่ว่าคือปุ๋ยหมัก เราหมักปุ๋ยจากอะไรก็ได้ หมักปุ๋ยจากเศษอาหารในบ้าน หมักจากมูลสัตว์ หรือหมักจากใบไม้ที่ร่วงอยู่ในสวนก็ทำได้ หมักแล้วก็รอชื่นชมการเติบโตของใบบนต้นที่สดขึ้นจนออกดอกออกผลดี

สิ่งหนึ่งที่นักหมักได้รับจากการทำงานกับเพื่อนตัวจิ๋วเสมอ คือ การรู้จักรอคอยและรู้จักสังเกต แน่นอนว่าเราต้องตื่นเต้นกับสิ่งที่ลงมือทำด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ตามมาคือ ความสุขจากการได้คอยเฝ้ามองการเติบโตของสโกบี้ เราตื่นเต้นเมื่อเห็นว่ามีราขาวฟูขึ้นบนดินของต้นไม้ที่ใส่ปุ๋ยหมักลงไป เรามีความละเมียดละไมขึ้นเมื่อได้ลองลิ้มรสชาติของการหมักแต่ละครั้ง และพยายามปรับสูตรเพื่อหารสชาติที่ถูกใจด้วยมือตัวเอง เราได้แต่งแต้มความสนุกด้วยการหาของใหม่ ๆ มาหมักที่ไม่ซ้ำกัน เพลิดเพลินที่ได้สร้างงานคราฟต์ผ่านอาหารที่มีเอกลักษณ์

สิ่งเหล่านี้คงเป็นเหตุผลที่เพียงพอว่า ทำไมวงการหมักอาหาร เข้าแล้วออกไม่ได้กันเลยสักบ้าน

เพราะหมักจึงรู้จัก – ถนอมอาหาร

มรดกทางความคิดของบรรพบุรุษเราที่ค้นพบการหมักอาหาร ทำให้เกิดภูมิปัญญาถนอมอาหารถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น เพราะคนสมัยก่อนต้องเอาตัวรอดจากอากาศที่หนาวเหน็บ เอาตัวรอดจากฤดูกาลที่อาหารขาดแคลน การกักตุนอาหารเพื่อให้อยู่ได้นานจนถึงช่วงที่อาหารขาด จึงจำเป็นต้องมีวิธีถนอมอาหารเพื่อยืดอายุให้เก็บรักษาได้นานขึ้น กระบวนการหมักจึงมีมานาน และกลายเป็นวิธีการถนอมอาหารคู่ครัวทั่วโลกเลยก็ว่าได้

การถนอมอาหารไม่ใช่แค่ยืดอายุการเก็บรักษาเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดของเสียที่เกิดจากอาหารเหลือหรืออาหารที่กินไม่ทันได้ด้วย แถมยังทำให้เราใช้ประโยชน์จากอาหารผ่านการหมักได้อย่างคุ้มค่าจนถึงหยดสุดท้ายเลยทีเดียว เป็นวิธีการโบร่ำโบราณที่ทำด้วยวิธีการธรรมชาติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้เพียงแค่ใจและใช้เวลากับสิ่งที่หมักตรงหน้าเพียงเท่านั้น

แต่มากกว่านั้น อาหารหมักยังทำลายพรมแดนวัฒนธรรมได้ด้วย เพราะปัจจุบันความรู้เรื่องอาหารหมักดองแพร่กระจายแลกเปลี่ยนกันไปทั่วโลก อย่างคอมบูชาที่ต้นกำเนิดเป็นน้ำชาหมักของจีน ตอนนี้กลายเป็นของที่ทำดื่มกันเองได้ที่บ้านสบาย ๆ หรือเทมเป้ภูมิปัญญาจากอินโดนีเซีย เป็นถั่วเหลืองหมักที่สายมังสวิรัติน้ำมาใช้ทำอาหารแทนเนื้อสัตว์ได้โดยไม่เสียรสชาติ กิมจิจากเกาหลีที่หยิบกะหล่ำและผักกาดมาดองกินกันได้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกส่งทอดกันมาเรื่อย ๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลจนเรียกได้ว่าอาหารหมักดองไร้ซึ่งพรมแดนวัฒนธรรมเลยก็ได้

เมื่อใดที่เราลงมือหมักหรือกินของดองจากสูตรของเพื่อนบ้าน ประเทศอื่น หรือจากภูมิภาคอื่น เราได้ลิ้มรสถึงวัตถุดิบที่ใช้ วิธีการและระยะเวลที่ใช้หมัก สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเหมือนได้ท่องไปในวัฒนธรรมเพื่อนบ้าน แม้ไม่ได้ตีตั๋วบินไกลไปถึงประเทศนั้น ๆ เรารับรู้เรื่องราว วิถีชีวิตและประสบการณ์ของเจ้าของภูมิปัญญาเหล่านั้นผ่านลงมือทำและกินอาหารหมักดอง

คุยกันถึงตรงนี้ เราคิดว่ามนตร์เสน่ห์ของอาหารหมักดองนั้นมีมากพอที่จะชวนให้เหล่านักหมักและผู้ที่สนใจการหมัก มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสน่ห์ของสิ่งนี้ไปด้วยกันในงาน ‘มิตรรัก นักหมัก’ ตลาดนัดของหมักเล็ก ๆ ที่เราอยากพาผู้ที่รักในงานหมักมารวมตัวกันพูดคุย เอาผลงานแสนรักจากที่บ้านมากาง และแบ่งปันความสุขกันในงานนี้

‘มิตรรัก นักหมัก’ เทศกาลรวมทุกอย่างเกี่ยวกับการหมัก สวรรค์ของคนรักความนัว

เราชวนนักหมักที่พร้อมมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ผ่านกิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟ เริ่มด้วยวงสนทนา Talk : Wild Yeast Bread จากร้านนักทำขนมปังโฮมเมดอย่าง Flower Flour, Younglek, Sloafbake และ Sunday 

‘มิตรรัก นักหมัก’ เทศกาลรวมทุกอย่างเกี่ยวกับการหมัก สวรรค์ของคนรักความนัว

แล้วมาล้อมวงฟัง Talk สนุก ๆ เรื่องราวต้นชาอัสสัมอายุเกือบพันปีจนถึงการเป็นชาผู่เอ๋อจากไร่ชาวาวี โดย อาเปา-ศิริพันธุ์ และ ไหม-ยุรมาศ พิทักษ์วาวี 

‘มิตรรัก นักหมัก’ เทศกาลรวมทุกอย่างเกี่ยวกับการหมัก สวรรค์ของคนรักความนัว

ตามมาด้วยกิจกรรมตั้งวงสนทนา Talk เรื่อง Kombucha (คอมบูชา) กับนักหมักตัวยงอย่าง ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน, โน้ต-อธิป สโมสร, Sho Oga และ ท้อ-จุฑามาส บูรณะเจตน์ 

เข้าใจเสน่ห์การหมักดองอาหารทำเองในบ้าน และเตรียมเยี่ยมเยียนเทศกาล ‘มิตรรัก นักหมัก’ ที่ Whispering Cafe

ต่อด้วย Talk : Why Ferment? จากผู้เปี่ยมประสบการณ์การหมักที่เคยทำอาหารหมักหลายชนิดทั่วไทยอย่างอาจารย์ต้น-อนุสรณ์ ติปยานนท์

เข้าใจเสน่ห์การหมักดองอาหารทำเองในบ้าน และเตรียมเยี่ยมเยียนเทศกาล ‘มิตรรัก นักหมัก’ ที่ Whispering Cafe

ไม่หมดเพียงเท่านั้น งานนี้ยังมีเวิร์กชอปสนุก ๆ มาให้ทุกคนได้ลงมีคราฟต์อาหารหมักกันอย่างเต็มอิ่ม กับ 4 กิจกรรมที่จะพาคุณไปเรียนรู้ย้อมครามผ้าและหม้อด้วยน้ำหมักย้อมคราม โดยแบรนด์ Fulame’, Craftroom, Sati และ Escape Issue 

เข้าใจเสน่ห์การหมักดองอาหารทำเองในบ้าน และเตรียมเยี่ยมเยียนเทศกาล ‘มิตรรัก นักหมัก’ ที่ Whispering Cafe

ชวนไปทำเทมเป้สุดยอดวัตถุดิบเปี่ยมโปรตีนขวัญใจสายมังสวิรัติ จาก ท้อ-จุฑามาส บูรณะเจตน์ 

เข้าใจเสน่ห์การหมักดองอาหารทำเองในบ้าน และเตรียมเยี่ยมเยียนเทศกาล ‘มิตรรัก นักหมัก’ ที่ Whispering Cafe

และเตรียมกระเป๋าเก็บขวดโหลหมักกลับบ้านกับ Workshop : Cider vinegar จากปูเป้ทำเองที่จะพาไปหมักมะพร้าวน้ำหอมกับน้ำผึ้งป่า ด้วยหัวเชื้อที่ปูเป้พกมาให้ทุกคนได้กลับเอาไปดูแลต่อที่บ้าน 

เข้าใจเสน่ห์การหมักดองอาหารทำเองในบ้าน และเตรียมเยี่ยมเยียนเทศกาล ‘มิตรรัก นักหมัก’ ที่ Whispering Cafe

อีกกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือเวิร์กชอป ส้มหยวกกล้วย จาก จ๋า-ยุพิน ผูกพานิช ที่นำเอาภูมิปัญญาเดิมของที่บ้านมาเล่าต่อ และพาเหล่านักหมักทำส้มหยวกกล้วยจากสวนกันสด ๆ ในงาน

เข้าใจเสน่ห์การหมักดองอาหารทำเองในบ้าน และเตรียมเยี่ยมเยียนเทศกาล ‘มิตรรัก นักหมัก’ ที่ Whispering Cafe

ยิ่งไปกว่านั้น เราชวนเหล่านักหมักที่เตรียมหมักสิ่งที่รักกันมาอย่างดีกว่า 30 ร้านในงานนี้ เตรียมขวดโหล พกกระเป๋าสตางค์ มาเวิร์กชอปและจับจ่ายของหมักพร้อมหิ้วความสุขกลับบ้านกัน 

เข้าใจเสน่ห์การหมักดองอาหารทำเองในบ้าน และเตรียมเยี่ยมเยียนเทศกาล ‘มิตรรัก นักหมัก’ ที่ Whispering Cafe

รับรองความอิ่มเอมและความสนุกแก่ผู้มีใจรักในการหมักทั้งหลาย สำหรับใครที่มางาน หลังจากชิม ช้อป และใช้ฝีมือจากงานนี้ อย่าลืมทำ Challenge สังเกตร่างกายตัวเอง และเตรียมพร้อมสู้รบกับข้าศึกในห้องน้ำไว้ได้เลย

Whispering Cafe

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565 

เวลา 10.00 – 18.00 น.

ที่ตั้ง : 43 บ้านใหม่ อำเภอสามพราน นครปฐม (แผนที่)

โทรศัพท์ : 09 2429 4229

Writer

Avatar

นกอินทรีย์

เรื่องกินเรื่องใหญ่ ถ้าเลือกได้ขอปลอดภัยไว้ก่อน อยากรู้จักกัน แค่แบ่งของกินให้ อะไรก็ยอมได้ทุกอย่าง