หลายคนอาจเคยได้ยินเสียง “ต๊ง ๆๆ” ดังมาจากต้นไม้ใหญ่ แต่ยังไม่เคยรู้จักว่าเจ้าของเสียงคือใคร

แมงมุมในห้องน้ำที่เคยเห็นแล้วกรี๊ดตกใจ จริง ๆ แล้วบางตัวอาจไม่อันตราย แถมยังช่วยกินแมลงสาบด้วย

บ่อน้ำเล็ก ๆ ที่เคยเดินผ่าน อาจมีแมลงน้ำที่มีเรื่องราวสนุก ๆ ซ่อนอยู่

ผีเสื้อบางชนิดมีหนวดปลอมอยู่ที่ก้น เพื่อหลอกให้ผู้ล่านึกว่าเป็นหัว

หนอนผีเสื้อบางชนิดก็มีตาปลอมอยู่ท้ายลำตัวด้วยเหตุผลเดียวกัน

นกบางชนิดนอนหลับกลางอากาศขณะบินได้

เหล่านี้เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความมหัศจรรย์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยร่วมเมืองกับเรา ยิ่งได้รู้จัก ก็จะยิ่งรู้สึกทึ่งและชื่นชมความสวยงามของความหลากหลายบนโลกใบนี้

“ความพิเศษของกิจกรรมวันนี้ คือเราเดินกันแค่ 4,000 ก้าว ต่างจากครั้งก่อน ๆ ที่เดินกัน 7,000 กว่าก้าว แต่การเดินน้อยช่วยให้มีสายตาที่ละเอียดขึ้น จากที่เคยเดินผ่าน ๆ วันนี้ก็ได้สังเกตว่า มดอยู่ตรงไหน แมลงอยู่ตรงไหน นกอยู่ตรงไหน ทำให้โลกที่เราอยู่ละเอียดขึ้น และสายตาที่มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป”

โตมร ศุขปรีชา Chief Creative Director สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD กล่าวสรุปถึงกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ที่ The Cloud ร่วมกับ OKMD ในการจัดกิจกรรมพิเศษ เพื่อชวนคนเมืองมาเรียนรู้ธรรมชาติในสวนเบญจกิติ

จากที่เราได้ไปเรียนรู้แนวคิดการออกแบบสวนและระบบนิเวศชุ่มน้ำในตอน Earth Appreciation 05 : Learning in The Park ต่อด้วยการเรียนรู้เรื่องพืชใน Earth Appreciation 06 : พืช สวน โลก กันแล้ว มาวันนี้ก็ถึงคราวที่จะมาเรียนรู้เรื่องสัตว์ในสวนกันบ้าง โดยมีนักธรรมชาติวิทยาอย่าง ทอม-อุเทน ภุมรินทร์ นักสื่อสารธรรมชาติและนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่ม Nature Play and Learn Club พร้อมด้วย แบงค์-วัทธิกร โสภณรัตน์ นักดูนกรุ่นใหม่ไฟแรง กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) และ เจท-อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ นักวิจัยมูลนิธิโลกสีเขียว ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงและแมงมุม เป็นผู้นำทาง

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ

เดินสวนนัดเดียว… เจอนกหลายตัว

ว่ากันว่าการดูนก เราไม่ได้เห็นแค่นก แต่ยังได้มองเห็นธรรมชาติและความเชื่อมโยงกับเราด้วย

นกชนิดแรกที่เป็นสีสันและดึงดูดความสนใจนักดูนกหน้าใหม่ได้เสมอ (ส่วนนักดูนกหน้าเก่าก็ไม่เคยเบื่อที่จะดูมัน) ก็คือเจ้าของเสียง “ต๊ง ๆๆ” ที่ดังมาจากต้นไม้ใหญ่ นั่นคือ นกตีทอง (Coppersmith Barbet) ซึ่งได้ชื่อจากเสียงร้องที่เหมือนช่างตีทอง จากที่หลายคนเคยได้ยินแต่เสียง วันนี้เราได้ส่องกล้องยลโฉมความสวยงามของน้องแบบชัด ๆ ด้วยสีสันที่โดดเด่น ทำให้นกตีทองได้รับฉายาว่า ‘ราชินีนกเมือง’ และขนสีแดงที่หน้าผากก็ทำให้เราเรียกกันว่า น้องเป็นราชินีที่ใส่มงกุฎสีแดง

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
นกตีทอง

“นกตีทองเป็นนกกินผลไม้ เช่น ลูกตะขบ ลูกไทร อยู่ในกลุ่มนกโพระดก นกกลุ่มนี้ทำรังในโพรงไม้ มีปากหนา ใช้เจาะโพรงได้” ทอมอธิบายชีวิตนกตีทอง ซึ่งหากใครชอบเดินดูนกในสวน อาจโชคดีเจอนกตีทองกำลังเจาะโพรงก็ได้

“เวลานกกลุ่มนี้กินผลไม้ เขาจะกลืนไปทั้งเมล็ด พอบินไปอีกที่และอึออกมา เมล็ดต้นไม้ก็ไปงอกในที่ใหม่ ๆ ไกลจากต้นแม่ ถ้าเป็นในป่า นกกลุ่มนี้คือกลุ่มสำคัญที่ช่วยให้ป่าสมบูรณ์ บางชนิดที่อาศัยริมขอบป่า ก็ช่วยฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมได้” หากสังเกตเห็นต้นโพธิ์เล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่ชิดขอบทางเดิน ก็เดาได้ว่า น่าจะเป็นต้นที่นกมาปลูกไว้แน่ ๆ

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
ทอม-อุเทน ภุมรินทร์

นอกจากนกตีทองที่เป็นนักกินผลไม้แล้ว กลุ่มนกปรอด (Bulbul) ก็ทำหน้าที่นี้เช่นกัน วันนี้เราได้เจอนกปรอด 2 ชนิด คือ ปรอดสวนที่ตัวสีน้ำตาล มีแถบลายจาง ๆ ข้างหู และปรอดหน้านวลที่ปีกสีน้ำตาลและมีสีเหลืองที่ก้น ซึ่งเราเรียกกันสนุก ๆ ว่า น้องใส่กางเกงในสีเหลือง

“บางครั้งเวลาเราเห็นต้นพริกเกิดขึ้นเองหลังบ้าน ก็เป็นผลงานของนกกลุ่มนี้” ทอมเล่า

หลังจากที่แนะนำให้รู้จักราชินีนกเมืองแล้ว วิทยากรของเราก็ไม่พลาดที่จะแนะนำ ‘เทพบุตรสายไฟฟ้า’ ซึ่งเจ้าของฉายานี้ก็คือ นกตะขาบทุ่ง (Indochinese Roller) นกตัวใหญ่ปีกสีฟ้าสด เวลาบินจะเห็นสีฟ้าที่ปีกสะท้อนแสงแดดเป็นประกาย ชอบเกาะอยู่ตามสายไฟหรือยอดไม้โล่ง ๆ เพื่อมองหาเหยื่อจำพวกสัตว์เล็ก ๆ เช่น แมลง กิ้งก่า หนู

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
นกตะขาบทุ่ง

“ชื่อ Indochinese Roller มาจากเวลาที่ตัวผู้จีบตัวเมีย มันจะบินฉวัดเฉวียน ตีลังกาเหมือนรถไฟเหาะ ส่วนชื่อภาษาไทย คำว่า ขาบ น่าจะมาจาก สีขาบ ที่แปลว่า สีฟ้า ส่วนตะขาบมันก็กินได้ แต่ไม่ใช่อาหารหลัก” แบงค์เล่า

ส่วนนกชนิดถัดมาเรียกว่าเป็นนกเซเลบ ที่โด่งดังมาจากไลฟ์ของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นักดูนกหลายคนบอกว่า ถ้ามาสวนนี้แล้วไม่ได้ดู จะถือว่ามาไม่ถึง ซึ่งวันนี้ได้เจอน้องถึง 2 ครอบครัวด้วยกัน โดยครอบครัวหนึ่งอยู่บนต้นหางนกยูง ส่วนอีกครอบครัวอยู่ที่ต้นโพธิ์

“นี่คือนกเค้าจุด สังเกตได้จากที่อกมีลายรูปหัวใจ เป็นนกที่ทำรังในโพรงไม้ กินแมลงปีกแข็ง เช่น ด้วง ซึ่งเป็นการช่วยกำจัดศัตรูพืชไปในตัวด้วย”

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
นกเค้าจุด

หลายคนอาจสับสนระหว่าง ‘นกเค้า’ กับ ‘นกฮูก’ ซึ่งวิทยากรก็สร้างความกระจ่างว่า คำว่า นกเค้า (Owl หรือ Owlet) คือชื่อเรียกรวม ๆ ของนกนักล่ากลุ่มนี้ที่มีอยู่หลายชนิด โดยชนิดที่พบบ่อยในเมือง เช่น นกเค้าแมวหรือนกเค้าโมง (Asian Barred Owlet) และนกเค้าจุด (Spotted Owlet)

ส่วน นกฮูกก็ถือเป็นนกเค้าชนิดหนึ่ง มีอีกชื่อว่านกเค้ากู่ (Collared Scops Owl) จุดเด่นคือมีขนข้างหัวชี้ขึ้นเหมือนหู และถ้าไปตามชานเมืองหรือทุ่งหญ้าก็อาจได้เจอนกแสก (Barn Owl) ที่เป็นนักกินหนูตัวฉกาจ กินหนูเฉลี่ยคืนละ 2 ตัว รวมปีหนึ่งประมาณ 700 กว่าตัว

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ

“นกในเมืองจะมีกลุ่มที่เป็น Generalist กับกลุ่มที่เป็น Specialist คำว่า Generalist คือพวกที่ปรับตัวเก่ง ไม่เรื่องมาก กินอาหารได้หลากหลายชนิด นกกลุ่มนี้ เช่น นกเอี้ยง นกพิราบ นกกระจอก อีกา ส่วนพวก Specialist คือพวกที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น ต้องการที่อยู่อาศัยเฉพาะหรืออาหารเฉพาะ เช่น นกเค้าจุด”

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
นกเอี้ยงด่าง
รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
นกกิ้งโครงคอดำ

การที่เมืองมีสัตว์กลุ่ม Specialist ถือเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ได้ในระดับหนึ่ง หมายความว่าต้องมีทรัพยากรเพียงพอให้สัตว์กลุ่มนี้ดำรงอยู่ เช่น มีต้นไม้ใหญ่ให้พวกเขาได้ทำรัง

“ความน่าสนใจของนกเค้าจุดก็คือ มันเป็นนักล่าที่ตัวค่อนข้างเล็ก ทำให้บางทีเกิดเหตุการณ์ที่นกชนิดอื่น ๆ รวมตัวกันก่อม็อบขับไล่” ทอมเล่าเกร็ดความรู้ที่ไม่ได้พาดพิงการเมืองแต่อย่างใด

ถัดจากนกเค้าขวัญใจมหาชน นกอีกชนิดที่ใครเห็นก็เป็นต้องหลงรัก ก็คือนกกินปลี (Sunbird) นกตัวเล็ก สีสวย ปากยาว กินน้ำหวานดอกไม้ ซึ่งวันนี้ได้เจอถึง 2 ชนิด คือนกกินปลีอกเหลือง และนกกินปลีคอสีน้ำตาล ตัวผู้จะมีสีสันสะท้อนแสงแวววาวสวยมาก เสียงร้องแหลมสูง “ชวิ๊ด ๆ”

“ในเมืองไทยไม่มีนกฮัมมิงเบิร์ด แต่มีนกกินปลีที่กินน้ำหวานเหมือนกัน ที่จริงทั้ง 2 ชนิดเป็นคนละกลุ่ม แต่วิวัฒนาการมาจนรูปร่างคล้ายกัน เพราะทำหน้าที่แบบเดียวกัน”

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
นกกินปลีอกเหลือง

ส่วนนกบางชนิด แม้สีสันจะไม่ดึงดูดใจนัก แต่ก็สำคัญกับเมืองไม่น้อย เพราะเป็นนกที่ช่วยกินแมลง เช่น กางเขนบ้าน (Oriental Magpie-robin) ที่ถือว่าเป็นนักร้องเสียงทองประจำเมือง ส่งเสียงได้หลากหลาย เวลาเกาะจะชอบกระดกหางขึ้นลง ตัวผู้คอสีดำสนิท ตัวเมียคอจะสีออกเทา ๆ ส่วนอีกชนิดที่มีสีดำขาวคล้าย ๆ กัน ก็คือนกอีแพรดแถบอกดำ (Malaysian Pied Fantail) ซึ่งจุดเด่นคือหางที่แพนออกเหมือนพัด ชอบส่งเสียงโวยวาย แต่ก็ช่วยกินยุงและแมลงรำคาญได้ไม่น้อย

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
กางเขนบ้าน

เมื่อเดินมาถึงพื้นที่ชุ่มน้ำ ก็เจอนกปากห่างขวัญใจชาวนา ที่ช่วยกำจัดสัตว์ต่างถิ่นรุกรานอย่างหอยเชอร์รี จุดเด่นของนกชนิดนี้คือไม่เคยหุบปากได้สนิท แต่นี่คือข้อดีที่ทำให้คาบหอยได้แน่น ไม่ลื่นหลุด รวมไปถึงกลุ่มนกยางอีก 3 ชนิด ส่วนในดงหญ้าข้างทางที่ดูรก ๆ ก็ได้เจอนกกระติ๊ดขี้หมู เจ้าของอกลาย ๆ ชอบกินเมล็ดหญ้า ไปจนถึงนกกระจิบหญ้าอีก 2 ชนิด ที่ซ่อนตัวในพงหญ้าคอยส่องหาแมลง

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
นกยางเปีย
รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
นกกระติ๊ดขี้หมู

ทอมและแบงค์ชวนให้เงยหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้าบ้าง เราก็ได้เห็นเหล่านกแอ่น (Swift หรือ Swiftlet) โชว์บินฉวัดเฉวียน มีทั้งแอ่นบ้าน แอ่นตาล แอ่นกินรัง ซึ่งชนิดหลังนี้ก็คือเจ้าของรังในซุปรังนก เป็นนกคนละกลุ่มกับนกนางแอ่น (Swallow) ที่ทำรังจากดิน

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
แบงค์-วัทธิกร โสภณรัตน์

“นกแอ่นพวกนี้จะใช้เกือบทั้งชีวิตบินอยู่บนอากาศ แทบไม่ลงเกาะพื้น ยกเว้นช่วงวางไข่ เวลาหลับก็หลับกลางอากาศ โดยสมองของมันจะหลับทีละซีกและบินแบบ Autopilot” แบงค์เล่าความสามารถพิเศษของนกกลุ่มนี้ เช่นเดียวกับนกอพยพอีกหลายชนิด

“เวลากินแมลง นกแอ่นจะอ้าปากกวาดต้อนแมลงที่บินอยู่กลางอากาศ เหมือนวาฬอ้าปากต้อนปลาในน้ำ ได้แมลงทีเป็นร้อยตัว แล้วก็จะปั้นเป็นก้อนที่เรียกว่า Food Ball ก่อนกลืนลงไป และถ้าไปตามบ่อน้ำใหญ่ ๆ ก็อาจเห็นนกแอ่นบินโฉบลงมากินน้ำ”

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
นกแอ่นบ้าน

ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงนิด ๆ ที่เดินกันวันนี้ เราได้เจอนกรวมแล้ว 33 ชนิด ซึ่งทอมบอกว่า ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีกลุ่มนกอพยพเข้ามา จะมีนักดูนกบันทึกไว้ว่าเคยเจอนกที่นี่รวมแล้วนับร้อยชนิด

นอกจากนกที่หลากหลายในเมืองจะเป็นความสวยงามและสร้างความชื่นใจให้ผู้คนแล้ว นกเหล่านี้ยังแอบช่วยเราโดยไม่รู้ตัวด้วย ไม่ว่าจะช่วยผสมเกสร ช่วยกินยุง ควบคุมแมลงศัตรูพืช บางชนิดอาจโฉบกินแมลงกลางอากาศ บางชนิดกินแมลงที่ซ่อนในพงหญ้า บางชนิดกินแมลงตามกิ่งไม้ ยิ่งมีนกหลากหลาย เมืองเราก็ยิ่งมีผู้ทำหน้าที่เหล่านี้ได้ครบถ้วน และนั่นคือความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงทุกวันนี้ ก็คือภัยคุกคามสัตว์ในเมือง ที่มีตั้งแต่กระจกอาคาร ซึ่งแต่ละปีมีนกตายเพราะบินชนกระจกนับล้านตัวทั่วโลก หรือแสงไฟกลางคืนที่ทำให้นกอพยพหลงทิศ และปัญหาที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือแมวจรหรือแมวที่เลี้ยงแบบปล่อย อันเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของนกทั่วโลก”

ทอมเล่าถึงปัญหาพร้อมแนะนำทางแก้ว่า หากใครเลี้ยงแมวก็ควรเลี้ยงในระบบปิด จะช่วยนกได้มาก หรือถ้าอาคารมีกระจก ก็อาจหาสติกเกอร์หรือม่านมาติด เพื่อป้องกันนกบินชน

แม่สื่อดอกไม้

หลังจากรู้จักนกกันแล้ว ก็มาทักทายแมลงกันบ้าง

เจท ผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงและแมงมุม พามาหยุดที่ต้นทองอุไร ดอกสีเหลืองรูปแตรริมทางเดิน เมื่อดูใกล้ ๆ ก็เห็นผึ้งมากมายกำลังมุดเข้ามุดออกจากดอกไม้อย่างขยันขันแข็ง ซึ่งหน้าที่การนำพาเกสรนี้ ก็คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ดอกไม้ติดเมล็ด และส่งต่อพันธุกรรมสู่รุ่นถัดไปได้

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
เจท-อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ

“ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าขาหลังของผึ้งใหญ่กว่าคู่อื่น เพราะมีคล้าย ๆ ตะกร้าไว้เก็บเกสร เวลามุดเข้าดอกไม้ มันจะหันก้นให้เกสร เอาขาหลังถู ๆ แล้วละอองเกสรตัวผู้ก็จะติดตามขา ตามขน ทำให้แมลงหลายกลุ่มมีขนตามตัวเต็มไปหมด”

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ

เจทชวนให้สังเกตสิ่งเล็ก ๆ ที่เราไม่เคยมองเห็น ซึ่งเพียงแค่ทองอุไรต้นเดียวนี้ ก็มีทั้งผึ้งหลวง ผึ้งโพรง ผึ้งมิ้ม ซึ่งการที่มีผึ้งหลวง ก็แปลว่าที่นี่มีต้นไม้ใหญ่ เพราะผึ้งชนิดนี้จะเลือกทำรังที่ต้นไม้สูง ๆ เท่านั้น

นอกจากผึ้งแล้ว แมลงผสมเกสรอื่น ๆ ที่เจอได้ในเมืองก็เช่น ชันโรง ผึ้งจิ๋วไม่มีเหล็กใน สร้างรังรูปปากแตร ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ไปจนถึงแมลงภู่ตัวใหญ่ ขนฟู ที่สำคัญต่อการผสมเกสรของพืชหลายชนิด

รู้จักนก 30 กว่าชนิด แมลงมากมาย เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสวนเบญจกิติ
ชันโรง

“หลายคนมองว่าผึ้งน่ากลัว เพราะมันต่อยได้ แต่จริง ๆ ผึ้งเขาก็ไม่ได้อยากต่อยเรา เพราะเหล็กในของผึ้งจะเชื่อมกับอวัยวะภายใน ถ้าผึ้งต่อย ผึ้งเองก็จะตาย ทำให้บ่อยครั้งเวลาผึ้งมาเกาะ มันจะเริ่มจากใช้ปากสะกิดผิวให้เจ็บก่อน เพื่อเป็นการเตือนว่าให้ออกไปนะ ยกเว้นถ้ารู้สึกจวนตัวจริง ๆ ถึงจะต่อยด้วยเหล็กใน ซึ่งเป็นการพลีชีพเพื่อปกป้องรังไว้”

แม้การถูกผึ้งต่อยจะน่ากลัว แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือการที่โลกนี้ไม่เหลือผึ้งให้มาต่อย เพราะทุกวันนี้ประชากรผึ้งทั่วโลกกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะด้วยปัญหาโลกร้อน สารเคมี ยาฆ่าแมลง สูญเสียที่อยู่อาศัย โรคผึ้งระบาด ไปจนถึงทัศนคติของผู้คนที่มองว่าผึ้งอันตราย เห็นรังผึ้งใกล้ที่อยู่อาศัยต้องรีบกำจัด

“ผึ้งกับต่อจะเป็นสัตว์กลุ่มแรก ๆ ที่ถูกตัดออกไปจากพื้นที่ นักกีฏวิทยาประเมินว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก 5 – 6 ปี ผึ้งอาจสูญพันธุ์ ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ จะไม่มีผู้ผสมเกสร ดอกไม้ก็ไม่ติดเมล็ด เราก็จะไม่มีเมล็ดพืช ไม่มีผลไม้ ไม่มีต้นไม้รุ่นใหม่เกิดขึ้น แล้วพืชอาหารของเราก็อาจหายไปด้วย”

ฟังแล้วก็รู้สึกได้ว่า โลกที่ไม่มีผึ้งน่ากลัวกว่าโลกที่มีผึ้งมากนัก

รอยแหว่งบนใบไม้

ถัดจากผึ้งและดอกไม้ ก็มาดูร่องรอยแมลงบนใบไม้กันบ้าง เจทชี้ให้ดูใบหนึ่งที่มีรอยกัดแหว่ง ๆ เต็มไปหมด พร้อมชวนให้ทายว่า เป็นฝีมือของสัตว์ชนิดไหน ซึ่งก็มีคนทายถูกว่าคือหนอน

“ถ้าสังเกตรอยกัดบนใบไม้ จะเห็นว่ามีหลายแบบ ถ้าเป็นหนอนผีเสื้อจะเห็นแหว่งจากขอบใบ แล้วอีกสักพักมันก็จะกินจนหมดทั้งใบ แต่ถ้าเป็นหนอนด้วง จะเห็นเป็นรู ๆ ตรงกลางใบแบบนี้” เขาเปิดหาตัวอย่างให้ดู

เดินถัดมาไม่ไกล ก็ได้เจอเจ้าตัวที่เราเพิ่งพูดถึงกัน มันคือผีเสื้อหนอนใบรักที่อยู่บนใบของต้นรัก เจทชวนให้เด็ก ๆ ดูใกล้ ๆ แล้วทายว่าด้านไหนหัว ด้านไหนก้น ผลก็คือหลายคนถูกหนอนหลอก

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ

“หนอนหลายชนิดจะมีตาหลอกอยู่ด้านหลัง เพื่อให้ผู้ล่านึกว่าด้านนั้นเป็นหัวแล้วโจมตีผิดทาง ถึงจะโดนกัดแต่มันก็จะมีชีวิตรอดได้” เจทเล่าถึงกลยุทธ์สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตของหนอน เช่นเดียวกับผีเสื้อสีม่วงชนิดหนึ่งที่มีผู้ร่วมทริปถ่ายภาพได้ เมื่อซูมดูก็จะเห็นว่า ตรงก้นของมันเหมือนมีหนวดยื่นออกมา ซึ่งเป็นหนวดปลอมที่หลอกให้ผู้ล่านึกว่าด้านนั้นคือหัว

เทคนิคการเอาชีวิตรอดของเหล่าหนอนและผีเสื้อยังไม่จบแค่นั้น ด้วยความที่หนอนชนิดนี้กินใบของต้นรักที่มียาง ทำให้ตัวมันมีพิษ นกหลายชนิดจึงไม่ชอบกิน ทีนี้ก็เลยมีหนอนผีเสื้ออีกชนิด ที่ชื่อหนอนผีเสื้อกะทกรก ซึ่งไม่มีพิษ แต่วิวัฒนาการมาให้มีสีสันเลียนแบบผีเสื้อหนอนใบรักที่มีพิษ แม้กระทั่งโตเต็มวัยเป็นผีเสื้อ สีสันก็ยังคล้ายกัน โดยมีปีกสีส้มลายดำขาวที่หลายคนน่าจะคุ้นตา

“ส่วนผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ที่บินอยู่ตรงนั้น คือผีเสื้อหนอนคูน วางไข่บนต้นคูน สีจะออกเหลืองอมเขียว แต่ถ้าเป็นสีเหลืองแบบไม่มีเขียวปน จะเป็นผีเสื้อเณร” เจทชวนให้รู้จักผีเสื้อบางชนิดที่พบได้บ่อย ๆ ซึ่งก็ได้เรียนรู้ว่า ผีเสื้อแต่ละชนิดจะวางไข่บนพืชเฉพาะ ที่เป็นอาหารของหนอนผีเสื้อชนิดนั้น ยิ่งมีพืชหลากหลาย ก็ยิ่งมีผีเสื้อหลากหลาย

แม้ว่าหนอนและด้วงจะเป็นตัวทำลายใบไม้ กัดกินต้นไม้ที่เรารัก แต่ถ้าเรารักษาธรรมชาติให้สมบูรณ์ ก็ไม่ต้องกังวลว่าต้นไม้จะไม่เหลือ เพราะในธรรมชาติจะมีผู้ล่า ที่ช่วยควบคุมศัตรูพืชเหล่านั้นไม่ให้มากเกินไป ซึ่งผู้ช่วยต้นไม้ก็มีหลากหลายชนิด ตั้งแต่ตัวใหญ่ ๆ อย่างนก กิ้งก่า กบ เขียด กระแต (กระแตเป็นสัตว์กลุ่มกินแมลง ต่างจากกระรอกซึ่งเป็นสัตว์ฟันแทะ จุดสังเกตคือกระแตมีหน้าแหลมยาว) ไปจนถึงเหล่าแมลงอีกมายมายที่เรียกว่า ตัวห้ำและตัวเบียน

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ
กระแต
บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ
กระรอกหลากสี

“ตัวห้ำคือตัวที่เป็นนักล่า เช่น มวนเพชฌฆาต แมงมุม แมลงปอ มันจะไปกินแมลงศัตรูพืชโดยตรง ส่วนตัวเบียน เช่น แตนเบียน ต่อบางชนิด มันจะไปวางไข่ในศัตรูพืช แล้วตัวอ่อนของมันก็จะกัดกินเจ้าของร่างจากภายใน”

เมื่อมองหาบนใบไม้ ไม่นานก็เจอหนึ่งในแมลงตัวห้ำ มันคือตั๊กแตนตำข้าว ตัวสีเขียว เกาะเนียนไปกับใบไม้ ขาคู่หน้าของมันยกขึ้น เหมือนเตรียมจะต่อยมวยตลอดเวลา ตัวนี้เป็นนักล่า ต่างจากตั๊กแตนชนิดอื่น ๆ ที่กินใบไม้

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ

เดินไปอีกไม่ไกล ก็ได้เจอแมงมุมตัวน้อย เจทชวนให้เด็ก ๆ ใช้แว่นขยายส่องดูและชี้ให้สังเกตว่า ตาคู่หนึ่งของมันเหมือนใส่แว่นอันใหญ่

“แมงมุมมี 6 – 8 ตา ตัวนี้ตาคู่หน้าของมันดูเหมือนใส่แว่นใหญ่ ๆ นี่คือลักษณะเด่นของแมงมุมกระโดด ตัวนี้น่าจะเป็นแมงมุมกระโดดหัวทับทิม กลุ่มนี้จะไม่สร้างใย และเคลื่อนที่ด้วยวิธีกระโดด” เจทเล่าถึงความพิเศษของแมงมุมที่ไม่ได้มีแต่ชนิดที่สร้างใย

เมื่อมองดูพุ่มไม้ใกล้พื้น ก็เจอแมงมุมอีกชนิด คราวนี้มีใยด้วย ซึ่งเขาก็อธิบายว่า ถ้าเห็นใยแมงมุมช่วงเช้าแบบนี้ แปลว่าที่นี่มีอาหารของแมงมุมอุดมสมบูรณ์ เพราะแมงมุมมักชักใยช่วงค่ำ ๆ ดักแมลงตอนกลางคืน แต่ถ้าคืนนั้นมันได้อาหารไม่เพียงพอ เช้ามามันจะกินใยของตัวเอง เพราะมีโปรตีนสูง

ส่วนอีกชนิดที่ขอยกตำแหน่งแมงมุมขวัญใจแม่บ้านให้ ก็คือ ‘แมงมุมพเนจร’ ที่เจอบ่อยในบ้าน โดยเฉพาะในห้องน้ำ ตัวค่อนข้างใหญ่ มีขนกำมะหยี่ปุกปุย ซึ่งหลายคนอาจเคยเห็นแล้วแต่ไม่รู้จัก ข้อดีของแมงมุมชนิดนี้คือไม่สร้างหยากไย่ให้บ้านรก แถมยังช่วยกินแมลงสาบได้ด้วย

“จริง ๆ แมงมุมมักหนีคนมากกว่าเข้ามาทำร้าย บางทีเวลาเจอ อาจเห็นมันทำท่าหดตัวเหมือนจะสู้ แต่จริง ๆ คือท่าป้องกันตัวเอง และบางทีมันก็จะวิ่งหนีมาทางเราให้เราตกใจ แต่ไม่ได้จงใจเข้ามาทำร้าย” เจทชวนให้ทุกคนเลิกกลัวและเกลียดแมงมุม

เดินต่อมาอีกหน่อย ก็ได้เจอวัตถุสีขาวแปะอยู่บนใบไม้ข้างทาง นี่คือถุงไข่ของแมงมุมพเนจร ซึ่งข้างในน่าจะมีไข่นับร้อยฟอง เจทเล่าว่าปกติจะไม่ได้เห็นถุงไข่อยู่เดี่ยว ๆ แบบนี้ เพราะแม่แมงมุมมักคาบถุงไข่ไว้ในปากจนฟัก และลูกก็จะอยู่บนหลังแม่จนอาหารในไข่แดงหมด แต่ที่เห็นถุงไข่ตรงนี้น่าจะเพราะตัวแม่ถูกรุกรานจนต้องคายไข่ออกมาแล้วหนีไป

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ

“เคยมีนักวิจัยศึกษาถุงไข่นี้ พบว่าอุณหภูมิภายในต่างจากข้างนอก 5 – 6 องศาเซลเซียส เพราะใยหนา แต่ถึงอย่างนั้น โอกาสรอดของไข่กลุ่มนี้ก็น่าจะน้อย”

แม้ว่าแมงมุมจะติดอันดับสัตว์ที่คนส่วนใหญ่กลัวมากที่สุด แต่วันนี้เมื่อได้ทำความรู้จักมันมากขึ้น ก็ได้เรียนรู้ว่าพวกมันไม่ได้น่ากลัวเลย เพราะส่วนใหญ่ไม่มีพิษ แถมยังช่วยกำจัดแมลง ทั้งศัตรูพืชและแมลงชวนรำคาญ แถมเมื่อได้ใช้แว่นขยายส่องดูใกล้ ๆ ก็เห็นถึงความสวยงาม ดวงตาแวววาว บางชนิดก็มีลวดลายและสีสันน่าสนใจ เช่น แมงมุมนุ่งซิ่น ที่เจทเล่าว่าตรงท้องของมันเหมือนใส่ผ้าถุงลายสวย ๆ แต่น่าเสียดายที่วันนี้เจอแค่ตัวเด็ก เลยยังเห็นลายไม่ชัดเจน

“ถ้าเข้าไปในป่า อาจจะเจอแมงมุมกินปลา ตัวนี้ดำน้ำจับปลาได้ ส่วนในเมืองก็จะมีแมงมุมหมาป่า ที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ คอยจับแมลงกิน แล้วก็มีแมงมุมเปลือกไม้ที่พรางตัวเนียนไปกับเปลือกไม้” เจทเล่าถึงความหลากหลายของโลกแมงมุม ที่ยังมีอีกมากที่ไม่ได้เจอในวันนี้

ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูแมลง

จากแมลงบก คราวนี้มาดูแมลงน้ำกันบ้าง ผู้นำของเราพาเดินมาที่บ่อน้ำของสวนโซนเก่า ที่เป็นบ่อตื้น ๆ พื้นเป็นหิน แม้ดูเผิน ๆ เหมือนไม่ค่อยมีอะไร แต่หากก้มลงมองใกล้ ๆ ก็จะเห็นว่ามีสิ่งมีชีวิตตัวเล็กมากมาย

เริ่มจากผิวน้ำ เราได้เห็นแมลงชนิดหนึ่งที่มีวิชาตัวเบาสไลด์ไปมาอยู่บนผิวน้ำ ใครที่เกิดทันยุคเพลง แมลง ของ ทาทา ยัง ก็อาจกำลังฮัมเพลงในใจว่า “จิงโจ้น้ำ จิงโจ้น้ำ จิงโจ้น้ำคือ เจอร์ริด” ส่วนอีกชนิดที่ตัวเล็กกว่าและมีท่าว่ายน้ำพิสดาร ก็คือมวนกรรเชียง จุดเด่นของมันคือนอนหงายท้องว่ายน้ำ ขาคู่กลางเป็นใบพาย เหมือนท่าว่ายกรรเชียง

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ
บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ
จิงโจ้น้ำ

“ลักษณะเด่นของสัตว์ในกลุ่มมวนคือ ปากจะคล้ายเข็มเป็นปากดูด แทงเหยื่อแล้วดูดของเหลวกิน”

เมื่อดูแมลงที่ผิวน้ำกันแล้ว คราวนี้เจทก็นำอุปกรณ์พิเศษออกมา นั่นคือสวิงที่จะพาไปสำรวจสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ใต้น้ำ แค่จ้วงลงไปครั้งเดียว ก็ได้เจอแมลงสุดพิเศษ

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ
ตัวอ่อนแมลงปอ

“นี่คือตัวอ่อนแมลงปอ ตัวนี้ถือเป็นหนึ่งในแมลงที่ชี้วัดคุณภาพน้ำได้ แปลว่าน้ำที่นี่มีออกซิเจนดีพอสมควร ถ้าสังเกตปากของมันจะเห็นว่าเหมือนใส่หน้ากากอยู่ เวลามันกินเหยื่อก็จะเปิดหน้ากากออกแล้วงับเหยื่อ พวกนี้หายใจด้วยระบบปั๊ม โดยจะปั๊มน้ำออก แล้วปั๊มอากาศเข้าไป”

แมลงทั้ง 3 ชนิดที่ว่ามานี้ล้วนเป็นนักล่า จับสัตว์เล็ก ๆ ในน้ำกิน รวมถึงลูกน้ำยุงลาย แม้ว่าจะมีแหล่งน้ำนิ่งแบบนี้ แต่ก็ทำให้ประชากรยุงไม่เยอะจนเกินไป เพราะมีผู้ล่าที่ควบคุมกันเอง

เมื่อมาดูที่ใบของต้นไม้เล็ก ๆ ริมขอบบ่อ เราก็ได้เจอดักแด้ของตัวอ่อนแมลงปอ ที่เตรียมพร้อมจะแปลงร่างเป็นตัวเต็มวัยในอีกไม่ช้า ส่วนพื้นบ่อก็มีหอยขมที่เป็นผู้ย่อยสลายเศษซากพืชใต้น้ำ

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ

เมื่อเดินต่อเข้ามาสู่โซนพื้นที่ชุ่มน้ำในสวนเฟสใหม่ ก็ได้เห็นแมลงปอหลากสีบินกันว่อน เจทแนะนำให้รู้จักชื่อแมลงปอบางชนิดที่จำง่าย ๆ เช่น แมลงปอบ้านบ่อ ที่มีลำตัวสีแดงสด แมลงปอบ้านสีตะกั่วทุ่งนา ที่มีลำตัวสีฟ้าและปลายก้นสีเงินเหมือนตะกั่ว และแมลงปอเสือลายประดับ ที่มีลำตัวสีดำสลับเหลืองเหมือนแถบเตือนภัย ซึ่งตัวนี้เป็นผู้ล่าแมลงปออื่นอีกที

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ
แมลงปอเสือลายประดับ
บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ
แมลงปอบ้านบ่อ

“ถ้าเป็นพวกแมลงปอบ้าน เวลาเกาะปีกจะกางออก แต่ถ้าเป็นแมลงปอเข็ม ปีกจะหุบขึ้นข้างบนขนานกับลำตัว ถามว่ามีแมลงปอดียังไง คำตอบคือมันกินยุงเก่งมาก แมลงปอ 1 ตัวกินยุงได้วันละ 300 ตัว ซึ่งการที่จะมีแมลงปอได้ ก็ต้องมีแหล่งน้ำสะอาดให้พวกมันวางไข่ด้วย”

แหวกพงหญ้า มองหาตัวกะปิ

แมลงคือสัตว์ที่มีความหลากหลายมากที่สุดในโลกและมีอยู่แทบทุกที่ แค่แหวกพงหญ้าที่โคนต้นไม้ ก็เจอแมลงที่มีเรื่องเล่ามากมาย ตัวแรกที่พบก็คือคราบจักจั่นที่มันลอกทิ้งไว้

“ตัวอ่อนของจักจั่นจะอยู่ใต้ดินเป็นปี ๆ พอถึงวัยมันก็จะขึ้นมาบนดิน ลอกคราบ และใช้ชีวิตบนดินประมาณ 1 ปี แล้วก็จะตาย”

เจทหยิบคราบจักจั่นมาให้ดูใกล้ ๆ พร้อมชวนให้สังเกตที่ปากว่า มันมีปากดูดเหมือนพวกมวน ไว้ดูดน้ำเลี้ยงพืชหรือสัตว์บางกลุ่ม นอกจากนั้น เขาก็ชี้ให้ดูจุดขาว ๆ ข้างลำตัวพร้อมบอกว่า นั่นคือรูหายใจ เพราะแมลงไม่ได้มีจมูกและปอดแบบมนุษย์ แต่ระบบหายใจของมันเป็นท่ออากาศ มีรูเปิดข้างลำตัว ทำให้แมลงไวต่อสารเคมีมาก

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ

“ถ้าใครเคยรู้จักว่านจักจั่น มันคือการที่ตัวอ่อนจักจั่นที่อยู่ใต้ดินติดเชื้อราในกลุ่มคอร์ดิเซ็ป แล้วเชื้อนี้ก็กินมันจากภายใน พอมันมุดจากดินขึ้นมา เชื้อราก็จะงอกเป็นเส้นออกจากตัวจักจั่นเพื่อกระจายสปอร์”

ถัดจากจักจั่น ก็ได้เจอมดและได้ความรู้ใหม่ว่า เหล่ามดดำที่ชอบขึ้นขนม ขึ้นข้าวสาร เดินกันเป็นแถวในบ้าน มันคือสัตว์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive Species) ที่มาจากต่างประเทศ โดยน่าจะติดมากับเรือส่งสินค้าและกระจายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

“ชื่อของมันคือมดดำทุ่ง พวกนี้เป็นนักล่า แล้วก็กินซากด้วย ปัญหาของสัตว์ต่างถิ่นรุกราน คือมันจะแพร่เร็วมาก และไปแย่งอาหารสัตว์ท้องถิ่น นำไปสู่การสูญพันธุ์ได้”

มีคนถามว่า การที่เราเห็นมดชอบเดินเป็นแถวเป็นเพราะอะไร ซึ่งคำตอบก็คือมดจะมีต่อมฮอร์โมนที่ก้น เวลาเดินมันจะเอาก้นแตะพื้นเป็นระยะและปล่อยฟีโรโมนบอกทาง ซึ่งเคยมีคลิปวิดีโอที่มีคนเอามดแดงมา แล้วลากก้นของมันไปตามพื้น ก็กลายเป็นว่ามดตัวอื่นก็เดินตามเส้นทางนั้น

เจทชวนให้สังเกตบนต้นไม้กันบ้าง ซึ่งมีต้นเดฟที่เป็นพืชเกาะขึ้นอยู่ เขาเล่าว่าหากเป็นในป่า ใบของต้นเดฟจะแนบไปกับลำต้น ซึ่งเก็บน้ำและความชื้นไว้ได้ดีมาก มดก็จะไปอาศัยในนั้น เหมือนเป็นห้องแอร์พรีเมียมที่เย็นสบายและมีเศษใบไม้เป็นอาหาร เช่นเดียวกับพืชเกาะอีกหลายชนิด เช่น กระเช้าสีดา

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ

เดินต่อมาจนถึงคูกลางถนนในแนวของต้นเฮลิโคเนีย ซึ่งที่พื้นมีเศษใบไม้ร่วงอยู่ เจทชวนนั่งลงและมองหานักรีไซเคิลที่ช่วยย่อยสลายเศษใบไม้เหล่านั้น พวกนี้ไม่ใช่แมลง แต่เป็นกลุ่มสัตว์ลำตัวข้อปล้อง เช่น กิ้งกือ ตะเข็บ และตัวกะปิ ที่ทั้ง 3 ชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แม้ว่าตัวตะเข็บจะหน้าตาคล้ายตะขาบ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นญาติกับกิ้งกือมากกว่า ส่วนตัวกะปิก็เช่นกัน แต่ตัวนี้มีขาน้อยกว่า ตัวสั้นกว่า

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ

“วิธีแยกระหว่างกลุ่มตะขาบและกิ้งกือ คือถ้าเป็นตะขาบ 1 ปล้องจะมีขา 1 คู่ ส่วนพวกตะเข็บ กิ้งกือ 1 ปล้องจะมีขา 2 คู่ พวกตะเข็บและกิ้งกือไม่มีพิษ แต่บางทีถ้าไปจับมัน มันจะปล่อยขี้ที่มีสารไซยาไนด์ออกมาทางก้น ถ้าคนที่แพ้ก็อาจผื่นขึ้นได้”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัตว์ที่อาศัยร่วมเมืองกับเรา บางชนิดอาจดูน่ารัก สวยงาม ในขณะที่บางชนิดอาจดูน่ากลัวหรือน่ารังเกียจ แต่ไม่ว่าหน้าตามันจะเป็นอย่างไร วันนี้ก็ได้เรียนรู้ว่า สัตว์ทุกชนิดล้วนมีความสำคัญ ทั้งในแง่ความสมดุลของระบบนิเวศ การช่วยผสมเกสร ช่วยควบคุมแมลงอื่น ๆ ไม่ให้มากเกินไป ช่วยกำจัดซาก ย่อยสลายเศษซากพืชซากสัตว์ กระจายเมล็ดพืช และทั้งหมดนี้ก็ล้วนเชื่อมโยงกับชีวิตของมนุษย์ ถ้าสัตว์บางชนิดหายไป พืชอาหารของเราก็อาจหายตาม ยุงก็อาจเพิ่มขึ้น ต้นไม้หน้าบ้านก็อาจถูกเพลี้ยกินเรียบ เป็นต้น

นอกเหนือจากประโยชน์ในแง่เหล่านั้นแล้ว จริง ๆ แค่ได้ลองเดินช้า ๆ แล้วสังเกตชีวิตพวกมัน ชื่นชมความสวยงาม เรียนรู้วิวัฒนาการที่พามันอยู่รอดมาถึงทุกวันนี้ นั่นก็เป็นความรู้ที่น่าทึ่ง และชวนให้มหัศจรรย์กับความหลากหลายของโลกนี้แล้ว

บันทึก Earth Appreciation 07 ไปรู้จักนกเค้าจุด กระรอกหลากสี แมงมุมพเนจร แมลงปอเสือ และสัตว์มากมายในสวนเบญจกิติ

ขอบคุณภาพถ่ายสัตว์จาก ทรงพล สังข์งาม

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ