13 มิถุนายน 2022
9 K

The Cloud x สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ลุงอ้วน กินกะเที่ยว’ เพจรีวิวอาหารแบบธรรมดา ๆ ของคุณลุงวัย 66 ปีที่มีผู้ติดตามมากกว่า 8 แสนคน ใครจะเชื่อว่าความสำเร็จนี้เริ่มต้นจากโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าเพียงเครื่องเดียว และการลงมือทำอย่างต่อเนื่องแบบไม่ย่อท้อนานนับสิบ ๆ ปี เพราะนี่คือยุคทองของโซเชียลมีเดีย เราเห็นคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ รวมถึงคนเด่นคนดังจับจองเป็นผู้นำตามสื่อโซเชียล แต่นั่นไม่ใช่บทสรุปว่าโซเชียลมีเดียต้องเป็นของคนรุ่นใหม่เท่านั้น คนรุ่นเก่าหรือคนสูงวัยก็ทำสื่อโซเชียลให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน 

อนุสร ตันเจริญ วัย 66 ปี เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบ ‘ลุงอ้วน กินกะเที่ยว’ คือตัวอย่างของความสำเร็จ ลุงอ้วนมีผู้ติดตามมากกว่า 8 แสนคน มียอดวิวหลักหมื่น หลักแสน บางคลิปมียอดวิวทะลุล้าน เพจลุงอ้วนกินกะเที่ยว จึงไม่ธรรมดาแน่นอน ลุงอ้วนเป็นใคร? ทำไมลุงอ้วนชอบรีวิวอาหาร? ลุงอ้วนทำอย่างไรให้เพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบประสบความสำเร็จ? และอีกมากมายหลายคำถามชวนสงสัย

ทุกสิ่งที่เป็นคำถาม เราอาสาไปค้นหาคำตอบทั้งหมดจากชายสูงวัยนักรีวิวอาหารที่ต้องเรียกว่ามีความ ‘เก๋า’ ระดับตัวพ่อ ผู้มีตำนานชีวิตด้านการกินไม่น้อยหน้าใครแน่นอน 

ลุงอ้วน กินกะเที่ยว : นักรีวิวอาหารที่ใช้โนเกีย 3300 ทำรีวิวลง Pantip สู่ยูทูบเบอร์วัย 66

หนุ่มบางปะกง

“ผมเป็นคนบ้านนอกนะ เกิดริมแม่น้ำบางปะกง พ่อผมทำกิจการรถโดยสาร ผมอาศัยตามพ่อไปที่โน่นที่นี่ ได้กินอาหารตามท่ารถต่าง ๆ อาหารที่ผมชอบตอนเด็ก คือ เกี๊ยวน้ำ เคยกินแต่ก๋วยเตี๋ยว พอมากินเกี๊ยวน้ำ หมูเต็มคำมาก ความรู้สึกตอนนั้น โห สุดยอดมาก นี่คือของอร่อยที่จำได้”

ส่วนเรื่องขำ ๆ ของการกินอาหารอร่อยที่ลุงอ้วนจำได้ไม่เคยลืม คือ

“ย้อนไป 60 ปีเลยก่อน ครั้งหนึ่งมีญาติมาเยี่ยมที่บ้าน แล้วเขาเอาไส้กรอกมาให้กิน นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นไส้กรอก ผมอยากกินมาก พอเขาให้ก็กินเลย ตอนนั้นยังกินไม่เป็น แล้วมันมีพลาสติกหุ้ม ผมกัดปุ๊บ ยังคิดว่าทำไมมันเหนียวนะ แต่ผมก็ชอบนะ มันอร่อยดี” จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในวัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์กินของอร่อยทั่วสารทิศ 

“ผมเรียนไม่เก่งตั้งแต่เด็ก พ่อแม่เลยมาฝากคนรู้จักที่ทำงานด้านส่งออก ผมไม่ได้เรียนมาเลย เริ่มต้นจากเป็นแมสเซนเจอร์เงินเดือน 700 บาท แล้วก็หัดพิมพ์ตอบเทเล็กซ์ สมัยก่อนมีแค่ 2 บรรทัด ผมนั่งดู แล้วตอบเป็นภาษาอังกฤษ แค่ตอบ Yes, No, Ok แค่นั้นแหละ ทำงานมาเรื่อย ๆ จนถึงวัยหนุ่ม ชีวิตผกผันหลายอย่าง จนมาทำงานด้านแลกเปลี่ยนเงินตรา ผมเป็นลูกจ้างเขา และทำของตัวเองด้วย

“อาชีพนี้ไม่มีอะไรมาก ผมขี่มอเตอร์ไซค์ไปเจอเขา คุณแลกผม ผมแลกคุณ สมัยก่อนไม่มีเทคโนโลยีเลยไม่มีแบงก์ปลอม ไม่เหมือนสมัยนี้ แบงก์จริงหรือปลอมดูไม่ค่อยออก แต่สมัยนั้นก็ต้องมีเทคนิคการดูแบงก์บ้าง ก็พอรอดได้ ผมทำงานนี้จนเบื่อ ก่อนช่วงโควิด-19 จะมาอีกนะ 

“ผมเลิกทำทุกอย่างเลย และคิดว่าหลังจากนี้จะไปเที่ยว” 

นี่คือจุดเริ่มต้น

ยุทธการล่าร้านอร่อย

ย้อนกลับไปช่วงวัยหนุ่ม นอกจากเรื่องการทำงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ลุงอ้วนทำควบคู่ไปด้วย คือการเสาะแสวงหาของอร่อยกินเป็นประจำทุกวันหยุด 

“สมัยนั้นผมดูนิตยสาร ดูหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ มีคอลัมน์ แม่ช้อยนางรำ ลงวันอาทิตย์ สมมติเขาลงวันนี้ รุ่งขึ้นอีกวันร้านแตกเลย ผมติดตามอ่านตลอด ถ้าเขาแนะนำแล้วร้านนั้นอยู่ใกล้ ๆ อ่านจบผมขับรถไปกินเลย กลายเป็นว่าทุกวันอาทิตย์ผมไปกินร้านอร่อย แต่ถ้าร้านที่เขาแนะนำไกลหน่อย อยู่ต่างจังหวัด ผมจะจดลิสต์ไว้ บอกเลยว่าผมไปเกือบทุกร้านที่เขาลง” 

นอกจากตามรอยแม่ช้อยนางรำแล้ว ยังมีร้านที่คนอื่นแนะนำ และร้านที่ลุงอ้วนเสาะหาด้วยเองด้วย ทั้งหมดนี้ทำเป็นกิจวัตรต่อเนื่องยาวนานนับสิบ ๆ ปี ประสบการณ์การกินของอร่อยของลุงอ้วนต้องยกให้เป็นระดับ ‘มืออาชีพ’ โดยเฉพาะเคล็ดลับหาร้านอร่อยที่ไม่เหมือนใคร

“ผมชอบเลือกร้านเก่า ๆ ที่มีตู้ไม้ มีคนยืนมุงเยอะ ๆ ประมาณนี้น่าจะอร่อย แค่ป้ายร้านก็มีความขลังแล้ว อีกแหล่งข้อมูลร้านอร่อยตามต่างจังหวัดของผมก็คือ พวกเจ้าของปั๊มน้ำมัน เจ้าของร้านอะไหล่รถยนต์ตามหัวเมืองต่าง ๆ ผมก็ถามเขาเลย เขาจะบอกร้านที่เขากินทุกวัน เพราะคนกลุ่มนี้เขาจะแสวงหาร้านอร่อยเป็นประจำอยู่แล้ว พวกนี้คือแหล่งข้อมูลส่วนหนึ่งของผม” ลุงอ้วนเฉลยลายแทง

โนเกีย 3300 สร้างตำนานโซเชียลมีเดีย

ลุงอ้วนไม่ได้คาดคิดมาก่อนเลยว่า ข้อมูลรู้ลึกรู้จริงเรื่องร้านอร่อยที่สะสมมานานกว่า 40 ปี วันหนึ่งจะกลายเป็นขุมทรัพย์มีค่าในโลกโซเชียล และทำให้ ‘ลุงอ้วน’ กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะเจ้าของเพจเฟซบุ๊กและยูทูบช่อง ‘ลุงอ้วน กินกะเที่ยว’ ขวัญใจสายกินทั่วประเทศ 

“ก่อนมาทำเพจ ทำช่องยูทูบ ผมเริ่มต้นครั้งแรกที่เว็บพันทิปก่อนนะ ผมสมัครเป็นยูสเซอร์ แล้วก็อ่านกระทู้ คนชอบมาถามว่า ที่โน่นที่นี่ มีอะไรอร่อย มีคนถามหาว่าร้านอร่อยตรงนั้นย้ายไปไหนแล้ว ถ้าผมรู้ ผมก็ไปตอบคอมเมนต์ พอนาน ๆ เข้าก็เลยลองตั้งกระทู้เองบ้าง เพราะผมกินอยู่แล้วทุกวัน

“แต่ต้องหัดถ่ายภาพเอง สมัยนั้นยังไม่มีกล้องดิจิทัล กล้องคอมแพ็กผมก็ยังไม่มี ผมมีแต่มือถือโนเกียรุ่น 3300 ซิมการ์ดก็ไม่มี ภาพก็คุณภาพไม่ดี กล้องถ่ายได้ 2 – 3 หมื่นพิกเซลก็ถือว่าหรูแล้ว พอผมถ่ายเสร็จปุ๊บ ก็ต้องเสียบสายเข้าคอมฯ ลูกชาย ไปแอบใช้ของเขา แป๊บเดียวเองไวรัสเข้าทันที ต้องยกตู้คอมฯ ไปซ่อม ซ่อมกันทุกวัน วันหนึ่งลูกให้โน้ตบุ๊กเก่า ๆ ผมมา ก็เริ่มดีขึ้นเลย เสียปุ๊บก็ยกง่ายหน่อย”

คอมพิวเตอร์ยุคนั้นถือเป็นความรู้ใหม่มากสำหรับทุกคน คนสูงวัยหลายคนยอมถอดใจตั้งแต่ยังไม่เริ่มเรียนรู้ แต่นั่นไม่ใช่ลุงอ้วน ผู้ยอมสู้หัวชนฝาจนเอาชนะคอมพิวเตอร์ได้ในที่สุด 

“สมัยก่อนคอมพิวเตอร์ไม่มีภาษาไทย ถึงขนาดต้องมีโรงเรียนสอน ต้องเรียนศัพท์คอมพิวเตอร์กันเลย แค่ผมจะ Copy ไป Paste ยังทำไม่เป็น ผมเลยเลี้ยงกาแฟช่างคอม คอยถามเขาว่าทำอย่างไร เขาก็จะบอก” 

การใช้คอมพิวเตอร์ในยุคก่อนไม่ง่าย แต่ไม่ว่ายากแค่ไหนก็ต้องพ่ายแพ้ต่อความพยายามของลุงอ้วนผู้ไม่ยอมแพ้ต่อการเรียนรู้ ในที่สุดกระทู้แรกของลุงอ้วนก็โพสต์ลงเว็บบอร์ดพันทิปสำเร็จ

“ผมตั้งกระทู้เล่าว่า วันนี้ฉันไปกินอะไร ผมลงทุกวัน เพราะกินทุกวัน สมัยก่อนพันทิปต้องบีบภาพให้เล็ก ใช้เวลามาก พอมีกล้องดิจิทัลช่วยบีบภาพได้ คราวนี้ง่ายเลย ผมเริ่มคล่อง ทำไวขึ้น”

“รีวิวนี้ทำเพื่อให้ทราบว่า ร้านอยู่ไหน ขายอะไร สถานที่ บรรยากาศ ราคาเท่าไร และขอให้คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” – นี่คือประโยคเริ่มต้นของการรีวิวที่ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนของลุงอ้วน 

สไตล์การเขียนไม่เน้นพรรณนายืดยาว ถ้าเป็นนักมวยต้องเรียกว่าปล่อยเฉพาะหมัดตรงเข้าเป้าเท่านั้น กระทู้ไม่ยาวแต่ได้สาระครบถ้วนที่ทุกคนอยากรู้ นี่คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลุงอ้วน

ลุงอ้วน กินกะเที่ยว : นักรีวิวอาหารที่ใช้โนเกีย 3300 ทำรีวิวลง Pantip สู่ยูทูบเบอร์วัย 66
ลุงอ้วน กินกะเที่ยว : นักรีวิวอาหารที่ใช้โนเกีย 3300 ทำรีวิวลง Pantip สู่ยูทูบเบอร์วัย 66

เลือกแต่ร้านอร่อยที่ต้องกลับมากินซ้ำ

“การเลือกร้านรีวิว อย่างแรกต้องยูนีก เป็นร้านเก่าแก่ ถ้าเป็นร้านใหม่ ผมไม่เอา นอกจากว่าร้านนั้นมีเรื่องราว เช่น เจ้าของร้านมีประวัติ ไม่ก็ฉีกแนวไปเลย อย่างพิซซ่าทรัฟเฟิล แต่ปัญหาคือคนเข้าไม่ถึง ผมเคยลงนะ อย่างร้านระดับมิชลิน คิดว่าคนต้องดูมาก แต่กลับไม่มีคนดู ถ้าลงร้านลูกชิ้นปลาริมถนนอย่างเจ๊เฮียง เข้าไปคุยถึงครัว กลับมีคนดูมากมาย ผมเลยเลือกร้านที่คนเข้าถึงได้ ไม่ใช่แพงมาก ๆ” 

ยุคบุกเบิกของการรีวิว 

การรีวิวร้านอาหารในยุคแรกไม่ใช่เรื่องง่าย การยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพอาหาร ถ่ายภาพร้านค้า ถ่ายบรรยากาศในร้าน ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่และชวนสงสัยว่าลุงคนนี้ถ่ายไปทำอะไร

โดยเฉพาะเจ้าของร้านอาหารจะรู้สึกข้องใจมากเป็นพิเศษ 

“10 ปีที่แล้ว ผมไปกินที่ไหนก็ถ่ายรูป สมัยก่อนยังไม่มีคนถ่ายรูปรีวิวแบบนี้นะ เขามองว่าไอ้นี่ทำอะไร เขาถามว่าลื้อถ่ายไปทำไม ผมก็บอกว่าส่งให้ลูกดู ลูกอยากเห็น พอดีเขาอยู่อเมริกา ผมพูดแบบนี้

“ยิ่งไปร้านก๋วยเตี๋ยวนี่ถ่ายยากที่สุด ผมก็ถ่ายจานผม พอกินเสร็จ จ่ายเงิน รีบลุกขึ้นออกนอกร้านเลย ไม่กล้าไปยืนนาน ๆ ยุคแรก ๆ คนยังไม่รู้จักการรีวิว แต่เดี๋ยวนี้ผมไปกินเฉย ๆ ถ้าไม่ถ่ายรูป เจ้าของร้านจะมาบอก เฮียอ้วน ลื้อทำไมไม่เอากล้องมาถ่าย เดี๋ยวอั๊วจะขอแต่งหน้าหน่อย”

ลุงอ้วน เริ่มเป็นที่รู้จักของคนในเว็บไซต์พันทิป 

ใครอยากหาร้านอร่อย ๆ ก็ต้องอ่านรีวิวของลุงอ้วนที่มีข้อมูลครบจบในกระทู้เดียว 

“ผมเป็นหนึ่งในรุ่นนั้นที่ทุกคนรู้จักชื่อนะ แต่ถามว่าชื่อลุงอ้วนดังไหม ผมไม่รู้ ไม่มีอะไรวัด นอกจากลงในกลุ่มแล้วมีคนอ่าน ลงแล้วมีคนคอมเมนต์ พันทิปมีกดหัวใจกัน บางคนลงภาพแทบตาย คนกดถูกใจ 10 คน มันท้อ คนคอมเมนต์ 3 คน ก็ท้อนะ ส่วนตัวผมตั้งใจทำในระดับหนึ่ง กระทู้ผมถ้ามีคนมากดหัวใจ 100 – 200 มีคอมเมนต์ 20 – 30 คน นี่ถือว่าหรูแล้วล่ะ” ลุงอ้วนเล่าฟีดแบ็กของนักรีวิวยุคบุกเบิก

สิ่งที่คู่กับสังคมโซเชียลมีเดียคือ ‘ดราม่า’

ผู้คนในพันทิปเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการโต้เถียงทางความคิด ใครกินอะไรอร่อย เราอาจอ่านเจอว่าคนในพันทิปเห็นต่างจากนั้น การแนะนำร้านอาหารอร่อยของลุงอ้วนก็ไม่มีข้อยกเว้น กระแสดราม่าถาโถมเข้าใส่ลุงอ้วนเป็นประจำเช่นกัน แต่ที่ดุเดือดสุดน่าจะเป็นกระทู้ 4,000 คอมเมนต์ 

“ผมมีดราม่าเยอะเลย ไปหาอ่านกันเองเหอะ” ลุงอ้วนหัวเราะ

“พันทิปสมัยนั้นเขาเรียกดราม่า ว่า ‘มาม่า’ ผมไปรีวิวร้านอาหารร้านไหนก็ตาม ผมจ่ายเงินเองตลอด ไม่เคยไปขอกินฟรี ยกเว้นเจ้าของร้านคะยั้นคะยอจริง ๆ ผมระวังเรื่องนี้มาก เพราะผมเคยมีดราม่าครั้งใหญ่ มีคนมาเขียนด่าผม คนโต้กันไปโต้กันมาจนถึง 4,000 คอมเมนต์ เป็นเรื่องที่พวกเขาไปเจอผมในงานหนึ่งแล้วไม่เชื่อว่าผมจ่ายเงินเอง จนกระทั่งสุดท้ายต้องมาขอโทษผม เพราะผมจ่ายเองจริง ๆ 

“จากทัวร์ลงผม กลายเป็นไปลงคนพวกนั้น พอถึง 4,000 คอมเมนต์ ผมขอปิดกระทู้เอง สมัยนั้นเวลามีเรื่องโต้กัน วิธีประลองกำลังกันของพันทิปก็คือ ใครมีคนกดให้หัวใจมากกว่ากัน ถ้าเถียงกันแล้วพวกเรามีคนกดหัวใจมากกว่าเราก็ชนะ สมมติเราได้ 800 ดวง พวกนั้นได้ 200 ดวง ก็แสดงว่าเราชนะ” 

จากพันทิปก้าวสู่เฟซบุ๊กและยูทูบ ยอดผู้ติดตามพุ่งจนหยุดไม่อยู่

“ผมมาเปิดเพจเฟซบุ๊กเพราะลูกชาย” คุณพ่อเล่าจุดเริ่มต้น

 “แต่ก่อนผมคิดว่าลูกชายไม่รู้ว่าผมเล่นพันทิป เพราะลูกชายผมไปเรียนที่บอสตัน ประเทศอเมริกา แต่ตอนหลังเขามาบอกว่า ‘รู้นะ ป๊าน่ะเป็นลุงอ้วนในพันทิป’ ซึ่งผมไม่เคยบอกลูกเลยนะ ลูกชายบอกให้มาทำเพจในเฟซบุ๊ก ผมก็ยังไม่ทำ จนเขาตั้งเฟซบุ๊กให้ มีทั้งเพจส่วนตัวและเพจลุงอ้วน กินกะเที่ยว ตั้งห้องให้เรียบร้อย เขาบอกว่าป๊าลงตรงนี้เลย เราต้องมีบ้านของตัวเอง ตอนผมลงเฟซบุ๊กก็ยังพ่วงกับพันทิป ตอนนั้นคิดขึ้นเองนะ ว่าเราเอาลิงก์พันทิปมาลงในเฟซบุ๊กด้วย คนที่มาดูเฟซจะได้คลิกดูไปด้วย”

“ช่วงหนึ่งต้องเริ่มทำคลิป ผมก็ทำไม่เป็น ก็เรียนรู้จากกูเกิลนี่แหละ เรียนเอง ทำเอง ตัดเอง ใช้ของ Kinemaster ผมลงซาวนด์ก็ไม่เป็น เราไม่รู้ว่ามีลิขสิทธิ์ไหม เราอยากได้เพลงนี้ ผมก็เปิดจากมือถือ เอาผ้าคลุมมือถือแล้วอัดเสียง ทำเป็นแบกกร็าวนด์ ผมทำง่ายแบบนี้แหละตอนแรก ๆ”

ข้อดีของลุงอ้วนคือพร้อมเรียนรู้และพัฒนาทุกอย่างให้ดีขึ้นอยู่เสมอ โชคดีที่ลูกชายหาทีมงานมาช่วยดูแล ทำให้ลุงอ้วนเข้าใจวิธีทำคลิปอย่างมืออาชีพ ไม่นานนักคลิปลุงอ้วน กินกะเที่ยว ก็พัฒนาจนได้มาตรฐาน ที่เด็ดกว่าคือการพูดแนะนำร้านและถ่ายคลิป เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครจริง ๆ 

“ผมเป็นคนพูดไม่มีสคริปต์ ถ้ามีสคริปต์ผมตกม้าตาย นกแก้วน่าจะพูดคล่องกว่าผม ผมท่องไม่ได้ แนวผมคือพูดสั้น ๆ อย่าไปวิชาการเยอะ การเขียนคอนเทนต์ ใครมาเขียนแบบผมก็คงไม่ได้ เพราะผมเขียนแบบไม่มีหลักสูตร พูดจากที่ผมเห็น ไม่ต้องบรรยายอะไรมากมาย สั้น ๆ พูดตรง ๆ ไปเลย 

“ส่วนร้านที่ผมเลือกมาลง ถ้าไม่อร่อย ผมไม่เอามาลง แต่คนเราชอบไม่เหมือนกันนะ ผมกินอะไรแล้วรู้สึกว่าประมาณ 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ถือว่ากินได้ ก็ลงได้ ที่สำคัญต้องไปกินจริง ๆ และผมไม่เคยโทรไปนัดร้านก่อนเลยว่าผมจะไป แค่โทรถามว่าร้านเปิดไหม ผมไม่มี Fake แล้วร้านก็ไม่ต้อง Fake ไปถึงไม่เคยไปบอกว่าเชฟค่อย ๆ ทำแบบนี้นะ เดี๋ยวจะถ่ายนะ ไม่มีเลย ผมไปก็ถ่ายอย่างที่เห็น ภาพมันอาจโดดไปโดดมาบ้าง บางคนจะกินอะไร เขาจะต้องม้วนให้สวยก่อน ค่อย ๆ ง้างเข้าปาก แต่ผมไม่เลย”

อีกจุดเด่นของช่องยูทูบลุงอ้วน กินกะเที่ยว คือ ตามถ่ายถึงก้นครัวทุกร้าน 

ซึ่งส่วนใหญ่ร้านจะไม่อนุญาต แต่ลุงอ้วนทำได้!

“หลายร้านที่ผมไป เขาบอกเข้าไม่ได้ พอผมถามว่า ขอคุยด้วยได้ไหม เขาบอกไม่มีเวลา คุณมาปกติเถอะ แต่พอเห็นหน้าผม คุยกัน 2 นาที เขาชวนเลย ‘ลุงอ้วน กินข้าวด้วยกันนะ’ ก่อนหน้านี้ ไม่เอา ๆ ไม่ถ่าย ๆ พอเห็นหน้า โอเค จริง ๆ ผมไม่รู้จักเขา แต่บางร้านอาจรู้จักผม หลังจากผมลงแล้ว เขาก็รู้จักว่าผมคือใคร มันมีผลต่อร้านเขามาก เรียกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ผมลง ช่วยยอดขายเขามาก ถึงกับมีคนบอกว่า ‘ลุงอ้วนลงรีวิวร้านให้ทีไร เจ้าของโคตรเหนื่อยเลย’ ผมก็ภูมิใจที่ได้ช่วยเขา” ลุงอ้วนเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ร้านที่ยังไม่ดังหรือเพิ่งเปิดได้ไม่นาน มีโอกาสได้ลงเพจลุงอ้วน กินกะเที่ยว บ้างไหม 

“ถ้าใครบอกให้ช่วยแนะนำร้านให้หน่อย ผมจะลงเพจส่วนตัวให้ แต่ถ้าผมไปชิมแล้วอร่อยจริง ผมจะลงเพจลุงอ้วน กินกะเที่ยว ให้ ลงให้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าบางร้านผมไปกิน มันไม่อร่อย ผมจะบอกเขาว่า ทำให้อร่อยได้ไหม คือผมทำไม่ได้ แต่ผมแนะนำได้ เพราะผมกินมาเยอะ” 

รับมือเกรียนคีย์บอร์ดแบบสุขุมลุ่มลึก

ตลอดหลาย 10 ปีที่รีวิวร้านอาหาร ปัจจุบันมียอดแฟนเพจกว่า 8 แสนคน ยอดผู้ติดตามช่องยูทูบกว่า 180,000 คน และยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต 1 ล้านคนคงอยู่ไม่ไกล ยอดผู้ติดตามถือเป็นกำลังใจที่ทำให้ลุงอ้วนมีความสุขในการรีวิว อย่างที่รู้กัน โลกโซเชียลใช่จะมีแต่ด้านสวยงาม ด้านมืดที่โหดร้ายนั้นก็หนักหนาพอกัน ขนาดลุงอ้วนในวัย 66 ปี ถือเป็นผู้อาวุโส ก็ยังไม่ได้รับการยกเว้นเช่นกัน

“ผมเจอมาเยอะ มีเมนต์ ‘ไอ้แก่..แ-กอย่างนี้เดี๋ยวก็ตายห่-’ ผมมองไปนิดหนึ่ง แล้วกดบล็อก ลบ แค่นี้จบ ไม่ต้องตอบคอมเมนต์ ยิ่งตอบ ยิ่งยาว เขาเมนต์อะไรที่ไม่ดี เช่น ถ่ายเห็นแต่รูจมูก ถ่ายทำห่-อะไร ผมก็เขียนตอบว่า ขอโทษนะครับ ผมถ่ายเองคนเดียวครับ ผมต้องถือกล้องมือขวา ถือตะเกียบมือซ้าย มุมกล้องทะแยงเลยเห็นรูจมูก ขอโทษนะครับ เท่านั้นเอง เขาเขียน ขอโทษนะลุง พอเราเขียนดี เขาขอโทษทันที อย่าไปด่ากับเขา ผมต้องใช้วิธีพูดความจริง บางคนก็มาเมนต์ ‘ลุง รายการอะไรก็ไม่รู้ ราคาก็ไม่เขียน’ ผมก็ตอบไปว่า ขอโทษนะครับ คุณช่วยเอานิ้วสไลด์แล้วขึ้นไปดูข้างบนสิ ผมเขียนไว้ตัวเบ้อเริ่มเลย

“วิธีรับมือกับโซเชียลของผม คือ เวลาเขาด่า ต้องนิ่ง หรือไม่ก็บล็อกและลบไปเลย วิธีสุดท้ายคือปิดเครื่องแล้วนอนสัก 3 วัน สบายใจเลย ผมเจอทุกวันนะ ถ้าเขาไม่เบา เดี๋ยวแฟนคลับจัดการกันเอง”

ในฐานะหนึ่งในผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จในด้านการทำสื่อโซเชียล ลุงอ้วนมีคำแนะนำสำหรับคนสูงวัยท่านอื่นที่คิดอยากทำบ้าง แต่ยังกลัว ๆ กล้า ๆ ที่จะเริ่มต้นบ้างหรือเปล่า

“ผมแนะนำว่า ทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่เราชอบ ยกตัวอย่าง ถ้าคุณอยู่บ้านแล้วชอบปลูกต้นไม้ เริ่มต้นง่าย ๆ พอตื่นตอนเช้า ก็เอาเมล็ดต้นไม้มาเพาะ แล้วคุณก็ถ่ายภาพทุกวันเลยนะ เริ่มจากสิ่งใกล้ตัวที่คุณถนัดก่อน หลายคนอาจคิดว่าแล้วจะลงสตอรี่อะไรทุกวัน แค่ปลูกพืชเมล็ดเดียว มันก็ยังมีเรื่องซื้อกระถางอีก คุณก็ถ่ายรูปและบรรยายลงไปสิ พออีก 2 วันต้นไม้ใกล้จะงอกก็บรรยายต่อ วันที่ 3 ออกมาแล้วหนึ่งใบ คุณก็บรรยายต่อเรื่อย ๆ จนงอกมาหนึ่งต้น แต่มีแมลงกินต้นไม้ ฉันจะทำไงเนี่ย 

“ทุกอย่างเป็นคอนเทนต์ได้หมด ขอให้ทำเป็นกิจวัตร ที่สำคัญ ต้องทำในสิ่งที่รักและสิ่งที่รู้” 

คุยกับ ลุงอ้วน-อนุสร ตันเจริญ เจ้าของเพจ ลุงอ้วน กินกะเที่ยว ถึงเรื่องราวสูงวัยหัวใจโซเชียล รีวิวธรรมดาอย่างไรให้โลกจำ

ความสำเร็จที่ได้จากความไม่คาดหวัง

คำถามที่ทุกคนอยากรู้ คือ ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จเหมือนลุงอ้วน ที่มีทั้งผู้ติดตามมากมายและยังสร้างรายได้จากการทำสื่อด้วย

“ก่อนอื่นเลยนะ ทำแล้วอย่าหวัง ขอให้ทำเพื่อความสุข ผมทำมาไม่เคยคิด ไม่เคยหวังแม้แต่นิดเดียว ไม่มีเลย ทำด้วยความสนุก ไม่เคยคิดว่าจะมาถึงตรงนี้ เพื่อน ๆ ยังบอกว่า ‘เอ็งมาดังตอนแก่’ ตอนนี้ออกจากบ้านจะมีคนทัก ‘หวัดดีลุงอ้วน ผมเป็นแฟนเพจนะ’ เดินเยาวราช ร้านอาหารกว่า 90 เปอร์เซ็นต์รู้จักผม มาขอถ่ายรูป ผมเป็นคนง่าย ๆ ขอถ่ายรูปได้ ใครเจอทักได้หมด 

“ส่วนเรื่องรายได้มันก็มี แต่อย่าเอาเป็นอาชีพ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ให้คิดแบบนี้ บางทีเด็กรุ่นน้องทำได้ 3 เดือน มาถามว่า ลุงทำอย่างไรให้ได้เงิน ผมบอก ทำแบบผมสิ ทำมา 10 ปี ปีที่ 11 เพิ่งได้เงิน คุณทำ 3 เดือนจะเอาเงินตรงไหน ผมทำมาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่พันทิป ผมว่าอย่าไปหวัง แล้วทุกอย่างมันจะมาเอง ทำของเราให้มีความสุข ทุกวันนี้ผมคิดว่าจะทำคอนเทนต์ยังไงให้ปัง ๆ ให้คนดูเยอะ ๆ แต่ไม่ได้คำนึงถึงว่าทำอย่างไรให้ได้เงิน เพราะผมไม่ได้ทำเหมือนคนอื่นที่เขาทำเป็นอาชีพ”

ถ้าติดตามช่องยูทูบ จะเห็นลุงอ้วนกินอาหารได้อร่อยจริง ๆ ไม่มีอาหารชนิดไหนที่ไม่กล้ากิน จนผู้สูงวัยท่านอื่นอดสงสัยไม่ได้ว่ามีเคล็ดลับดูแลตัวเองอย่างไร ให้กินอาหารทุกอย่างอย่างมีความสุข

“ผมตรวจสุขภาพปีหนึ่ง 2 – 3 ครั้ง ตรวจหมดทุกโรค เป็นคนระวังสุขภาพมาก หมอจะดูว่าค่าตัวไหนสูง ผมก็ต้องระวังตัวเอง ผมถามหมอว่า ผมอยากกินหมูหัน กินเป็ดปักกิ่งได้ไหม หมอบอกกินได้ แต่อย่ากินเยอะ นาน ๆ ครั้งหนึ่ง ไม่ได้ห้าม แล้วผมกิน ผมก็รู้ลิมิตตัวเอง ถ้าใครเห็นผมในเฟซบุ๊กหรือในช่องยูทูบ เห็นสั่งมากินเยอะมาก คือผมสั่งมาเพื่อให้คุณเลือกว่าจะกินอะไร ผมน่ะกินคำเดียว ผมไม่ใช่สายกินจุ ผมอยู่สายกินอร่อย กินอย่างละคำ แล้วก็ห่อไปให้แม่บ้านกิน ให้เด็กกิน เก็บเข้าตู้เย็น”

แม้ลุงอ้วนทำสื่อโซเชียลมายาวนานมาก บางคนอาจจะเบื่อ บางคนอยากจะหยุด แต่สำหรับผู้ชายวัย 66 คนนี้ ความรักในสื่อโซเชียลกลับไม่เคยลดน้อยลงแม้แต่วันเดียว

“มันเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดแล้ว อยู่ในชีวิต เลิกไม่ได้ หลายคนถามว่า ลุงเมื่อไรจะเลิก อายุเยอะ เหนื่อยนะ ผมถามคุณกลับไป คุณปลดเกษียณ คุณมีตังค์ คุณตื่นขึ้นมาคุณจะทำอะไร 

“คุณก็ต้องไปข้างนอก ไปเที่ยว จริงไหม ผมจะทำไปเรื่อย ๆ ต่อให้นอนติดเตียงก็จะทำ”

เกษียณแสนเกษม

ลุงอ้วนคือตัวอย่างของสูงวัยหัวใจโซเชียลอย่างแท้จริง แม้จะอยู่ในวัยเกษียณ แต่ยังคงเปี่ยมล้นไปด้วยพลังกายและพลังใจที่จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ติดตามอยู่เสมอ 

ความลับหนึ่งที่แฟนคลับอาจยังไม่ทราบ คือ ลุงอ้วนชอบขับรถมาก เจ้าตัวสารภาพว่าสมัยหนุ่ม ๆ เคยเป็นทั้งนักแข่งและนักซิ่งมาก่อน ดังนั้นคอนเทนต์ใหม่ที่กำลังตามมา คือการขับรถเที่ยว 

“อย่าใช้คำว่านักแข่งรถเลย ให้ใช้คำว่า ‘วัยรุ่นชอบซิ่ง’ จะดีกว่า เป็นความชอบส่วนตัว ผมลงสนามบ้าง สมัยก่อนรถมันน้อย เกือบ 45 ปีแล้วนะ ผมนี่ใช้รถเก๋ง ล้อใหญ่เลย เรียกว่าออกรถล้อไม่ฟรีไม่ได้ แล้วก็มาอยู่วงการแข่ง แข่งสั้นแข่งยาว ลงสนามด้วย แต่ไม่ได้เป็นอาชีพ ที่ผมชอบจริง ๆ คือ การเดินทาง

“ผมเลยทำแคมเปอร์แวนมาคันหนึ่ง คลิปที่แนะนำมีคนดูเป็นล้านวิว คนอายุรุ่นเราหรือรุ่นลูก พอเห็นก็อยากให้พ่อทำบ้าง ทุกคนจะมาบอก ‘ลุง อยากซื้อให้พ่อบ้าง พ่ออายุน้อยกว่าลุงอีก’ หรือบางคนมาบอกว่า ‘ลุงทำให้มีกำลังใจ’ เพราะแคมเปอร์แวนเข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น ผมเอารถมือสองมาทำ ใช้งบประมาณ 6 – 7 แสนบาท ซึ่งมอเตอร์โฮมราคาประมาณ 2 – 3 ล้านบาท นั่นมันของเล่นเศรษฐี แต่แคมเปอร์แวนของผม ทำเสร็จแล้วมันกลายเป็นโอท็อปเลย ขับรถไปนอนที่ไหนก็ได้”

ใครยังไม่เคยชมคลิปนี้ แนะนำให้หาชมในช่องลุงอ้วน กินกะเที่ยว เป็นคลิปที่ให้ข้อมูลการทำรถบ้านชนิดข้อมูลครบถ้วนมาก และจากการขยายคอนเทนต์เรื่องขับรถแคมเปอร์แวนท่องเที่ยว ทำให้ลุงอ้วนได้กลุ่มผู้ติดตามกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย

ก่อนจบบทสนทนา เราขอวิธีปลุกพลังชีวิตของคนหลังเกษียณจากลุงอ้วนมาฝากทุกคน

“ไปเที่ยวสิ ตอนผมอยู่บ้านนะ จะขึ้นบันไดต้องโหนราว จะลงบันไดก็โอย ลุกก็โอย นั่งก็โอย แข้งขาไหล่เปลี้ยไปหมด แต่พอบอกว่าจะไปเที่ยวนะ ใส่รองเท้า เดินออกจากบ้าน ลากกระเป๋า 2 ใบ เรียกแท็กซี่ไปสนามบิน เครื่องไม่จอดงวงช้าง ต้องนั่งรถ หิ้วกระเป๋า ผมเดินไม่จับราวเลย ขึ้นเขา ลงเนิน ลงห้วย กระโดด ทำได้หมด พอวันสุดท้ายกลับบ้าน ค่อย ๆ หมดแรง รถจอดหน้าบ้านต้องเรียกเด็ก ๆ มาเอากระเป๋า

“สำหรับผมทุกวันนี้ไม่มีภาระ ไม่มีห่วง ห่วงอย่างเดียวคืออยากอยู่นาน ๆ เที่ยวนาน ๆ ชีวิตคนเราเหมือนสุภาษิตที่บอกว่า จงทำวันนี้ให้เหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต คติของผมคือทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองมีความสุข อย่าไปให้คนอื่นเดือดร้อน อย่าให้คนอื่นเสียหาย สมัยก่อนนะ ผมเห็นคนแก่ชอบสะพายกระเป๋า สวมหมวกใบหนึ่ง ขึ้นรถเมล์ ไปเที่ยว ผมเคยมอง ๆ จนทุกวันนี้ผมเริ่มสะพายกระเป๋าแล้วเว้ย ในกระเป๋ามีพาวเวอร์แบงก์ มีมือถือ โชคดีเรามีรถขับ เราก็ขับรถไป กินอะไรไปเรื่อย ๆ

“ผมสอนคนแก่หลาย ๆ คน ให้กดโลเคชันในไลน์ส่งให้ลูก ๆ มันง่ายมาก ลูกจะได้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน ผมในวันนี้ไม่ต้องทำงาน อยากนอนก็นอน อยากกินก็กิน แต่ข้อสำคัญต้องมีปัจจัยให้พร้อม ไม่ใช่วันนี้ไม่มีจะกินแล้วก็จะนอน ไม่มีจะกินแล้วก็จะเที่ยว ลูกเราอาจซัพพอร์ตได้ ถ้าซัพพอร์ตไม่ได้ อย่าไปเรียกร้องว่า เฮ้ย จะเอาแบบลุงอ้วน ลุงอ้วนบอกให้ไปเที่ยว ก็ไม่ใช่ ต้องบาลลานซ์สมดุลทั้งพ่อแม่ลูก”

อายุไม่ใช่อุปสรรค เทคโนโลยีไม่ใช่กำแพงกั้น แต่คือบันไดที่จะพาคนทุกเพศทุกวัยก้าวไปสู่การใช้ชีวิตที่ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น ลุงอ้วน-อนุสร ตันเจริญ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ในโลกยุคโซเชียล คนหลังเกษียณทำอะไรก็ได้ ขอเพียงกล้าที่จะเริ่มต้นความฝันของตัวเอง 

แม้ความฝันอาจไม่เป็นจริงเสมอ.. แต่ขอให้ฝันเสมอว่าจะเป็นจริง

คุยกับ ลุงอ้วน-อนุสร ตันเจริญ เจ้าของเพจ ลุงอ้วน กินกะเที่ยว ถึงเรื่องราวสูงวัยหัวใจโซเชียล รีวิวธรรมดาอย่างไรให้โลกจำ

กดติดตามลุงอ้วนได้ที่

Facebook : ลุงอ้วน กินกะเที่ยว

YouTube : ลุงอ้วน กินกะเที่ยว

The Cloud Golden Week คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ทีมงานก้อนเมฆขอประกาศลาพักร้อน 1 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสฉลอง The Cloud ครบ 5 ปี เราเลยเปิดรับวัยอิสระ อายุ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ เข้ามาประจำการแทนใน The Cloud Golden Week ขอเรียกว่าเป็นการรวมพลังวัยอิสระมา ‘เล่าเรื่อง’ ในฉบับของตนเองผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆ เพราะเราเชื่อว่า ‘ประสบการณ์’ ของวัยอิสระคือเรื่องราวอันมีค่า เราเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่ข้อจำกัดของการเรียนรู้

แคมเปญนี้เราร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้วัยอิสระกล้ากระโจนเข้าหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ออกมาพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน พร้อมแบ่งปันเรื่องราวอันเปี่ยมด้วยคุณค่า เพื่อเติมฟืนไฟให้กาย-ใจสดใสร่าเริง

นี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงาน The Cloud มีสมาชิกอายุรวมกันมากกว่า 1,300 ปี!

Writer

Avatar

กันทิมา ว่องเวียงจันทร์

อาชีพหลักคือนักเขียน อาชีพที่รักคือนักเลี้ยงแมว ทำงานสิ่งพิมพ์มาจนครบทุกประเภท ปัจจุบันอายุขึ้นเลข 5 แต่ชีวิตยังคงเริงร่าราวโลกนี้ไม่มีคำว่า ‘แก่’

Photographer

Avatar

ฤทธิไกร ตุลวรรธนะ

อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจสารพัดช่าง