#WhoMadeMyClothes เมื่อแฮชแท็กเล็กๆ กลายเป็นพลัง ที่คนพร้อมใจกันถามแบรนด์เสื้อผ้าทั่วโลก

#WhoMadeMyClothes เมื่อคนกว่าแสนทั่วโลกพร้อมใจกันตั้งคำถาม เพื่ออุตสาหกรรมแฟชั่นที่ดีกว่าเดิม

ทำไมสัปดาห์นี้จึงเห็นคนทั่วโลกพร้อมใจกันใส่เสื้อกลับด้าน แล้วติดแฮชแท็กถามคำถาม #WhoMadeMyClothes บนโลกโซเชียลมีเดีย

เวลาซื้อเสื้อผ้าเราอาจจะไม่เคยคิดถึงที่มาของมัน แต่คงต้องเปลี่ยนความคิดหากรู้ว่ากว่าจะมาถึงมือเราเสื้อผ้าต้องผ่านการเดินทางมากมาย ผ่านมือของคนหลายล้านคนทั่วโลก จากชาวนาผู้ปลูกฝ้าย ผู้ผลิต ถึงผู้ใช้ จนย้อนกลับไปแทบไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นของสินค้าที่เราซื้อมาจากไหน

แต่ด้วยเหตุการณ์ตึก Rana Plaza ถล่มในบังกลาเทศเมื่อปี 2013 ที่ทำให้สูญเสียพนักงานโรงงานเย็บเสื้อผ้ากว่า 1,100 ชีวิต และอีกกว่า 2,500 คนได้รับบาดเจ็บ ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมา จนเป็นจุดเปลี่ยนให้ดีไซเนอร์กลุ่มหนึ่งที่อังกฤษเห็นปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูง จึงใช้ความคิดสร้างสรรค์คิดแคมเปญ #WhoMadeMyClothes ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้เกิดความโปร่งใสและการเชื่อมโยงกันของผู้คนในห่วงโซ่ที่ซับซ้อนของอุตสาหกรรมแฟชั่น

เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่อุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องความเร็วในการผลิต ปริมาณ และราคาถูก ทำให้เกิดเสื้อผ้าข้าวของจำนวนมากที่หน้าตาเหมือนๆ กัน หลั่งไหลออกมาจากสายพานของโรงงาน แทนที่สิ่งของและเสื้อผ้าที่ครั้งหนึ่งเคยถูกให้คุณค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์หรือฝีมือการตัดเย็บของช่างตัดเสื้อ การลงแรงลงเวลาของช่างฝีมือกลับถูกมองข้ามไป ของที่ทำด้วยมือจึงหายากมากขึ้นเรื่อยๆ

Fast Fashion หรือสินค้าแฟชั่นที่เน้นความเร็วและกำไรจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักของหลายประเทศในแถบเอเชีย เช่น บังกลาเทศ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย มองผิวเผินแล้วโมเดลธุรกิจแนวนี้อาจสร้างงานในระบบอุตสาหกรรมจำนวนมากและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่มองไม่เห็นอย่างความปลอดภัยของแรงงาน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากความต้องการลดต้นทุนจากการผลิตให้ได้มากที่สุดทำให้การดูแลพนักงานหรือแรงงานตัดเย็บของพวกเขา และค่าใช้จ่ายในการรักษาสิ่งแวดล้อม ถูกมองเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ความละเลยนี้เป็นผลให้เกิดมลภาวะทางน้ำ อากาศ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ทำ ผู้ใช้ และโลก ไปพร้อมๆ กัน

The Pioneers ผู้จุดประกายการเคลื่อนไหว

Orsola de Castro และ Carry Somers ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอาสาสมัคร Fashion Revolution เพื่อสร้างกระเเสใหม่ด้วยแคมเปญ Who Made My Clothes? ที่ทำให้คนทั้งโลกหันมาสนใจในปี 2013 ที่ประเทศอังกฤษ เพราะพวกเธอเชื่อว่า ‘ความโปร่งใส’ หรือการที่ผู้บริโภคสามารถทราบที่มาที่ไปของวัตถุดิบและขั้นตอนการผลิต เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น

Orsola เองโด่งดังจากการเป็นผู้นำทางความคิดในด้าน Sustainable Fashion อยู่ก่อนเเล้ว โดยเธอเป็นนักออกแบบเเบรนด์ ‘From Somewhere’ ที่นำวัสดุเหลือใช้มาสร้างใหม่ นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Estethica โครงการเพื่อแฟชั่นที่ดำเนินการอย่างมีจริยธรรม โดยบริติช เคาน์ซิล ในลอนดอน ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2014

ส่วน Carry Somers หลังจากทราบข่าวการถล่มของโรงงาน Rana Plaza ก็เริ่มหันมาใส่ใจการทำธุรกิจแฟชั่นแบรนด์หมวก Pachachuti ของเธอให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Supply Chain ที่มีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อติดตามกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

6 ปีผ่านไป เกิดความคืบหน้าอะไรบ้าง

6 ปีหลังจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากแฮชแท็กที่มีผู้คนเข้าร่วมไม่กี่ร้อยคน กลายมาเป็นหลักแสนและมีคนให้ความสนใจในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงระดับฮอลลีวูดอย่าง Emma Watson หรือผู้นำทางด้านแฟชั่นแบบยั่งยืนตัวแม่อย่าง Stella McCartney และแบรนด์ Marimekko ที่คนทั่วโลกรัก

แต่ถึงแม้แบรนด์ใหญ่จำนวนมากยังลังเลที่จะเข้าร่วม แบรนด์เล็กๆและผู้ผลิตมากมายทั่วโลกก็ยินดีตอบคำถามที่สำคัญนี้ ซึ่งที่ไทยเองก็ไม่น้อยหน้า ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ FolkCharm, ภูคราม, Vanta ไปจนถึงผู้ผลิตรายเล็กอย่าง ทำ-มา-หา-กิน และโรงงานผู้ผลิตขนาดเล็กใหญ่ ก็พร้อมใจกันส่งภาพของ ‘ฝีมือ’ เบื้องหลังเสื้อผ้า เผยให้เราเห็นโฉมหน้าและรู้จักเรื่องราวของพวกเขามากขึ้น พร้อมกับติดแฮชแท็ก #IMadeYourClothes ทำให้เราเริ่มเห็นการเดินทางของเสื้อผ้าผ่านรอยยิ้มของชาวนาผู้ปลูกฝ้าย ช่างปั่น ช่างทอ มาจนถึงช่างเย็บผ้าในบ้านและโรงงานอุตสาหกรรม แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เรื่องราวของช่างฝีมือ และกระบวนการ กลับมาอยู่ในความสนใจของผู้คน และสร้างความภูมิใจให้ผู้ทำอีกครั้ง

ในฝั่งของผู้ผลิตแล้ว คำถามและคำตอบที่สำคัญนี้ ช่วยเสริมพลังให้ให้คนงานและช่างฝีมือต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่หาเลี้ยงชีวิตด้วยการทำงานเกี่ยวกับผ้า เมื่อพวกเขาได้รับความสำคัญมากขึ้น ทั้งผ่านการเพิ่มรายได้และความภาคภูมิใจ ก่อให้เกิดความยอมรับนับถือตนเองและเชื่อมั่นว่าทุกๆ อย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และนอกจากฝั่งแบรนด์ท้องถิ่นแล้ว แฮชแท็กนี้ก็ทำให้เกิดธุรกิจและสตาร์ทอัพที่มีโมเดลธุรกิจน่าสนใจมากมาย ไปจนถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงนโยบายในระดับทวีป

ในปี 2019 นี้ คำถาม Who Made My Clothes? ยิ่งกลายเป็นกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ แบรนด์จำนวนมากที่เริ่มเห็นความสำคัญก็ค่อยๆ เข้ามาร่วมออกโรงกันมากขึ้น โดยปีนี้ได้มีแบรนด์เข้าร่วมการวัดผล Fashion Transparency Index ที่จัดทำโดยสำนักงานใหญ่ของ Fashion Revolution กว่า 200 แบรนด์ และแบรนด์สปอร์ตแวร์ใหญ่ๆ อย่าง Adidas, Reebok และ Patagonia ก็เป็น 3 แบรนด์ต้นแบบของโลกที่ได้คะแนนด้านความโปร่งใสในการดำเนินงานมากที่สุด ในขณะที่แบรนด์แฟชั่นหรูอย่าง Chanel, Dior และ Sandro ได้เปิดเผยข้อมูลห่วงโซ่การผลิตของแบรนด์เป็นครั้งแรก ส่วนแบรนด์อื่นๆ ก็ทำคะแนนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี

แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างในฐานะผู้บริโภค?

หากเราอยากเห็นอุตสาหกรรมแฟชั่นที่สร้างสรรค์ ยั่งยืน และไม่เร่งทำลายโลกใบนี้ มีหลายวิธีที่เริ่มทำได้จากนิสัยการใช้จ่ายของเรา ก่อนที่จะซื้อของใหม่ทุกครั้ง ลองให้เวลาตัวเองดูก่อนจะซื้อให้นานพอ จนรู้ว่าชอบของชิ้นนั้นจริงๆ ไหม หรือเราสามารถแลกเปลี่ยน ซ่อม หรือนำสิ่งของเดิมมาแปลงร่างเป็นอะไรใหม่ๆ ได้บ้าง

บางคนอาจจะลองติดตามกระแสการใช้ชีวิตแบบมินิมอล หรือ Mindfulness จากแนวคิดพุทธแบบเซ็นที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการใช้ชีวิตด้วยแนวคิดแบบ ‘น้อยแต่ดี’ ช่วยให้เราได้ไตร่ตรองมากขึ้น มีเวลาทำสิ่งที่รัก และมีความสุขมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว การใช้จ่ายของเรานี่แหละที่มีพลังมากพอ ที่จะเป็นตัวกำหนดได้ ว่าเราต้องการเห็นโลกเติบโตไปในทิศทางใด กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนตลาดไปในทางนี้ จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจเรื่องที่มาของเสื้อผ้า กระบวนการผลิต และต้องการแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม

ในยุคการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  ท่ามกลางความไฮเทคของเครื่องจักรและสมองกล เราก็หวังว่าการนำความคิดสร้างสรรค์และฝีมืออันเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะของมนุษย์นี้ จะยั่งยืนอยู่ได้ด้วยการปรับตัวของทั้งผู้ผลิต ตั้งแต่การออกแบบของดีไซเนอร์ การฟอกย้อม ตัดเย็บ จนถึงการซื้อและการดูแลเสื้อผ้าของผู้บริโภค เพราะเราทุกคนล้วนเกี่ยวโยงกัน ในสายใยของปัจจัยสำคัญของชีวิตนี้

เป้าหมายสูงสุดของ Who Made My Clothes?

เป้าหมายสำคัญของแคมเปญคือ การส่งเสริมให้ทุกคนในวงการแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ผู้สร้างสรรค์ ช่างตัดเย็บ หรือแม้กระทั่งผู้บริโภคและผู้เขียนนโยบายเอง หันมาร่วมมือกัน ทำความเข้าใจในปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น และจับมือกันหาทางออก เพราะลำพังเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่สามารถไปแก้ไขทั้งหมดได้ การเริ่มต้นด้วยความโปร่งใสจึงเป็นก้าวแรกที่จะทำให้เรามองเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงจุดไหนบ้างและส่วนไหนที่ต้องทำ เพื่อให้การเปลี่ยนแนวทางอุตสาหกรรม Fasr Fashion เกิดขึ้นได้จริงในเชิงระบบที่มีการควบคุม ดูแล และบริหารจัดการเป็นอย่างดี

เราเชื่อว่าการร่วมมือกันของเสียงเล็กๆ ในห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำอย่างผู้ผลิตถึงปลายน้ำอย่างผู้ซื้อ เป็นวิธีเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและพามันไปในทางที่ถูกต้อง

Fashion Revolution Week

จาก Online สู่ Offline เครือข่าย Fashion Revolution มีกิจกรรมกว่า 1,000 กิจกรรมในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ในไทยเอง ปีนี้จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 ช่วงวันที่ 22 – 28 เมษายน ซึ่ง 3 วันที่ผ่านมาจัดฉายสารคดีเรื่อง River Blue และ The True Cost ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ พร้อมเสวนากับผู้เชี่ยวชาญจาก UN และองค์กรแฟร์เทรดโลก และยังมีกิจกรรมสนุกๆ อย่าง Clothing swap หรือการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

หากคุณมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเเละอยากจะมีส่วนช่วยทำให้การผลิตเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ขอเชิญชวนมาช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหานี้ผ่าน #WhoMadeMyClothes เพียงแค่ถ่ายรูป ติดแฮชแท็ก หรือแท็กแบรนด์นั้นๆ เพื่อตั้งคำถามถึงที่มาที่ไป การผลิตเสื้อผ้า ก็เป็นการช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับโลกแล้ว ส่วนแบรนด์และผู้ผลิตก็ใช้ #IMadeYourClothes ด้วยภาพผู้ที่ส่วนร่วมในการสร้างชิ้นงาน เพื่อสะท้อนถึงความโปร่งใส แล้วอย่าลืม แท็ก @fashrevthailand เพื่อแสดงพลังสนับสนุนการเคลื่อนไหวในประเทศไทย

สำหรับกิจกรรมต่างๆ ใน Fashion Revolution Week ประจำปี 2019 ช่วงวันที่ 22 – 28 เมษายนนี้ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเพจของ Fashion Revolution Thailand

Writer

Avatar

กมลนาถ องค์วรรณดี

ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย นักออกแบบสิ่งทอและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และความคิดสร้างสรรค์ที่ฝันอยากเห็นงานคราฟต์เปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคต โดยใช้งานออกแบบขับเคลื่อนความหลงใหลในการใช้ชีวิตแบบยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดี