The Cloud x British Council

แขกไปใครมา ถ้าได้ยินชื่อ Chiang Mai Design Week ก็เป็นอันรู้กันว่านี่คือเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ที่รวบรวมความสร้างสรรค์ของทั้งนักออกแบบ ช่างฝีมือ ศิลปิน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เอาไว้เป็นประจำทุกปี และใน ค.ศ. 2020 งานจัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ ‘Stay Safe Stay Alive อยู่ดีมีสุข’ และเราก็ได้โอกาสไปเยี่ยมเยือนเทศกาลสุดสร้างสรรค์นี้ด้วย

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

พอสำรวจไปสักพัก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีนิทรรศการที่ดึงดูดความสนใจและกระตุกจิตเราเอาไว้ได้ด้วยกระจกที่ตั้งอยู่ตรงทางเข้าของงาน

นิทรรศการที่น่าสนใจนี้เกิดจากการร่วมมือของ British Council และ Fashion Revolution องค์กรที่สนใจเรื่องงานคราฟต์และเมืองสร้างสรรค์ ร่วมมือกับเครือข่ายปฏิวัติวงการแฟชั่นให้เป็นเรื่องยั่งยืน ที่ต้องการบอกทุกคนว่าเสื้อผ้า ภาวะโลกร้อน สังคม และเศรษฐกิจคือเรื่องเดียวกัน 

ปฏิวัติแนวคิดเรื่องเสื้อผ้าให้กลายเป็นคำว่าหมุนเวียนมากกว่าใช้แล้วทิ้ง ผ่านมุมมอง เจ-พัชรวีร์ ตันประวัติ จาก British Council และ อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี จาก Fashion Revolution กับนิทรรศการและกิจกรรมในเทศกาลงานออกแบบแห่งเชียงใหม่
ปฏิวัติแนวคิดเรื่องเสื้อผ้าให้กลายเป็นคำว่าหมุนเวียนมากกว่าใช้แล้วทิ้ง ผ่านมุมมอง เจ-พัชรวีร์ ตันประวัติ จาก British Council และ อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี จาก Fashion Revolution กับนิทรรศการและกิจกรรมในเทศกาลงานออกแบบแห่งเชียงใหม่

เราเลยขอดึงตัว เจ-ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ ตัวแทนจาก British Council และ อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี ตัวแทนจาก Fashion Revolution มาพูดคุยกันถึงสิ่งที่พวกเขาทำ ทั้งนิทรรศการ Homegrown และกิจกรรม Circular Design Lab: Closing the Loops ที่จัดขึ้นเพื่อสื่อสารเรื่อง Circular Design ทางออกของโลกร้อนแก้ได้ด้วยการออกแบบหมุนเวียน 

01

โลกร้อน VS แฟชั่น

ตอบรับปีแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม British Council ร่วมมือกับ Fashion Revolutionในงาน Chiang Mai Design Week เพื่อรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านแฟชั่น 

“British Council ทำงานด้านงานหัตถกรรมกับเครือข่ายช่างฝีมือและผู้ประกอบการมาตลอด โดยใน ค.ศ. 2021 ทางสหราชอาณาจักรและอิตาลีจะร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม The 26th session of the Conference of the Parties (COP26) ซึ่งเป็นการประชุมภาคีของประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาด้านการเปลี่ยนสภาพทางภูมิอากาศที่กลาสโกว์ สกอตแลนด์ เราเลยอยากสื่อสารว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำ” เจกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของงาน

ส่วนทางอุ้ง ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายประจำประเทศไทย ก็เริ่มแนะนำตัวว่า Fashion Revolution เป็นเครือข่ายนักออกแบบที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศอังกฤษ ซึ่งตระหนักถึงผลกระทบของแฟชั่นที่มีต่อสิ่งแวดล้อมกับสังคม เรื่องแรงงาน รวมถึงเรื่องความเป็นธรรมในห่วงโซ่การผลิต ทำให้โครงการนี้ค่อยๆ ขยายไปเป็นกลุ่มอาสาสมัครทั่วโลก สิ่งที่กลุ่มนี้ทำคือสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ ผู้บริโภค และทุกคนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเรื่องแฟชั่นยั่งยืน ตัวอย่างคือกิจกรรมอย่างนิทรรศการและเวิร์กช็อปในงาน Chiang Mai Design Week 

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก
Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

ความร่วมมือระหว่าง British Council และ Fashion Revolution เกิดขึ้นในระดับสากลมาโดยตลอด ทำให้ทั้งสององค์กรในประเทศไทยอยากมาร่วมมือกันสื่อสารกับคนไทยรุ่นใหม่ เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผ่าน Circular Design หรือการออกแบบหมุนเวียน

ก่อนพูดถึงการแก้ปัญหา เราควรเข้าใจปัญหาเรื่องโลกร้อนกันก่อน ว่าทำไมการออกแบบ แฟชั่น หรือแม้กระทั่งเสื้อผ้า ถึงมีผลกระทบต่อสภาพอากาศมากมายขนาดที่เราต้องหยิบยกขึ้นมา 

“ในไทยตอนนี้ เวลาเราพูดถึงโลกร้อน เราก็จะนึกถึงแต่หลอดพลาสติก ถุงพลาสติก เพราะมันง่ายและเห็นชัดเจนว่าคือขยะ แต่สิ่งที่เราทุกคนไม่ได้มองว่ามันเป็นขยะ แท้จริงมันเป็นขยะปริมาณมหาศาลบนโลกก็คือเสื้อผ้า” อุ้งเอ่ย

“จริงๆ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่า เราทุกคนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ทั้งวิธีการที่เราแต่งตัว หรือของที่เราใช้ในแต่ละวัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย เมื่อวานนี้มีคนมายืนดูนิทรรศเราแล้วบอกว่า อ้าว ไม่เห็นรู้เลยว่าการซื้อกางเกงยีนส์ตัวหนึ่งใช้น้ำตั้งสามพันเจ็ดร้อยกว่าลิตรเลยเหรอ อุตสาหกรรมแฟชั่นจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ส่งผลเสียต่อโลกในเชิงสิ่งแวดล้อมมากที่สุด” เจกล่าวเสริม

ทั้ง British Council และ Fashion Revolution จึงพยายามสร้างความตระหนักรู้ว่า เราทุกคนควรหันกลับมามองว่าเราบริโภคเสื้อผ้าได้อย่างไรบ้าง 

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

02

Circular Design 

จากสถิติ คนเราใส่เสื้อผ้าแค่ 1 ใน 4 ของบรรดาเสื้อผ้าที่เราครอบครองอยู่ ของที่เราเก็บไว้แม้ไม่สปาร์กจอยมีปริมาณมากเกินไป

อุ้งบอกความจริงอันน่าตกใจกับเราต่อไปอีกว่า “แค่ในตู้เสื้อผ้าเรา เสื้อที่เราไม่ได้ใส่ก็เยอะมากแล้ว และในองค์รวมของอุตสาหกรรมแฟชั่นเองก็มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบรวมกันทั้งโลกมากกว่าสายการบินทุกประเทศรวมกันอีกนะ เพราะเดี๋ยวนี้อุตสาหกรรมแฟชั่นมันผลิตข้ามโลกแล้ว ทำให้เราศูนย์เสียคาร์บอนเยอะมาก ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตและการขนส่งไปก็เยอะ แล้วอย่างการปลูกฝ้ายก็ใช้สารเคมีมหาศาล ไหนจะการฟอกย้อมอีกที่ทำให้เกิดน้ำเสียลงสู่ธรรมชาติอีก”

เมื่อลองคิดภาพตามแล้ว วงการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าทำให้เกิดน้ำเสียถึง 1 ใน 5 ปริมาณน้ำเสียในโลกเลยทีเดียว แค่กางเกงยีนส์หนึ่งตัว ต้องใช้น้ำในการผลิตเท่ากับปริมาณที่คนใช้ดื่มกินถึง 3 ปี 

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก
Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

“สุดท้ายเป็นเรื่องของพลาสติกด้วย เพราะนอกจากฝ้ายแล้ว เส้นใยที่เป็นที่นิยมคือโพลีเอสเตอร์ใยสังเคราะห์ โดยหกสิบเปอร์เซ็นต์ของเสื้อผ้าบนโลกเป็นโพลีเอสเตอร์ ซึ่งทุกครั้งที่เราซักผ้า จะมีไมโครไฟเบอร์หรือเส้นใยพลาสติกเล็กๆ ที่เรามองไม่เห็น ไหลจากท่อระบายน้ำลงไปสู่ทะเล และมันก็จะวนกลับมาหาเราในจานข้าว”

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องไมโครพลาสติกในปลาทูหรือในสัตว์น้ำกันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยที่หารู้ไม่ว่าส่วนหนึ่งของไมโครพลาสติกเหล่านั้นมาจากเสื้อผ้าของเราเอง

“มีแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของเสื้อผ้าเก่าที่ได้รับการรีไซเคิล ที่เหลือกลายเป็นขยะหมดเลย พอมันถูกฝังกลบอยู่ที่บ่อขยะ หมักหมมไปก็เกิดแอโรบิกแบคทีเรีย (Aerobic Bacteria) ซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน ทุกอย่างในระบบอุตสาหกรรมแฟชั่นทำให้เกิดผลกระทบต่อโลกจริงๆ” 

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมทางเข้าของนิทรรศการถึงมีกระจกตั้งไว้ เพราะทางผู้จัดงานต้องการให้เหล่าคนบนโลกอย่างเรา ลองสำรวจตัวเองดูว่าเสื้อผ้าของเราฝากอะไรไว้กับโลกบ้าง 

แล้วทางออกสำหรับปัญหาเรื่องเสื้อผ้าที่มีต่อโลกร้อนคืออะไร 

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

เจตอบว่า “งานคราฟต์นี่แหละที่เป็นทางออกของปัญหา เพราะงานคราฟต์ล้วนแต่มาจากธรรมชาติ ทั้งฝ้ายหรือเส้นใยจากธรรมชาติ สีจากธรรมชาติ ใช้แล้วอยู่ในระบบได้นาน แต่หลายคนยังไม่รู้ เพราะคนรุ่นใหม่อาจยังไม่ได้เชื่อมไปถึงงานคราฟต์ ไม่รู้จะไปหาซื้อจากที่ไหน จะเข้าถึงได้ยังไง หรืออาจจะยังมีภาพจำของงานคราฟต์ที่ดูเชย มันก็เลยเป็นเป้าหมายร่วมกัน ว่าเราอยากนำเสนอให้คนเมืองหรือคนรุ่นใหม่ได้รู้จักแล้วก็เข้าใจงานหัตถกรรมดีไซน์ทันสมัยมากขึ้น

“รวมถึงการนำเสนอเรื่อง Circular Design หรือการออกแบบที่เลียนแบบวงจรชีวิตของธรรมชาติ ปกติแล้วเส้นทางของเสื้อผ้ามักถูกมองเป็นเส้นตรง เริ่มต้นจากผลิต ใช้ แล้วก็ทิ้ง แต่แนวคิด Circular คือความพยายามที่พอใช้เสร็จ มันกลับเข้ามาสู่ดินหรือย่อยสลายได้มากที่สุด นำกลับมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด

“การคิดแบบครบวงจรมาจากแนวคิดเรื่อง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ถ้าต้องการทรัพยากรที่เพียงพอต่อความต้องการคนบนโลก เราต้องใช้โลกถึงสองใบด้วยระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่เป็นเส้นตรง แต่ Circular Design สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ แค่เราเปลี่ยนวิธีการบริโภคให้มันหมุนเวียน ก็มีส่วนช่วยในแนวทางที่ดีกับโลกได้” อุ้งกล่าวเสริม

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

03

Homegrown 

“เราตั้งชื่อนิทรรศการว่า Homegrown เพราะเรานึกถึงคำว่า Eco ซึ่งรากศัพท์มาจากคำว่า Home ที่แปลว่าบ้าน ดังนั้น เลยเลือกคำนี้มาใช้เป็นคอนเซปต์ของงานว่า ถ้าเราได้กลับมาเชื่อมโยงกับบ้าน กับชุมชน และกับธรรมชาติ อีกครั้ง ก็จะตอบโจทย์เรื่องโลกร้อนได้ ไอเดียหลักก็คือการออกแบบหมุนเวียน โดยเริ่มจากที่บ้าน ปลูกใกล้บ้าน พอย่อยสลายก็กลับเข้ามาในระบบได้อีกครั้ง” อุ้งบอกกับเราเช่นนั้น

นิทรรศการนี้บอกเล่าตั้งแต่ผลกระทบของแฟชั่นที่มีผลต่อสภาวะโลกร้อน ทั้งปัญหาจากการบริโภค Fast Fashion รวมถึงเสนอทางแก้ไข ว่าการออกแบบอย่างยั่งยืนจะช่วยให้เราไม่ฝากภาระไว้กับโลกในภายหลัง

“อุ้งได้ทุนของ British Council ไปเรียนที่อังกฤษเรื่องการออกแบบหมุนเวียนประมาณหนึ่งสัปดาห์กับเพื่อนๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกหกประเทศ พอเราคนเอเชียเข้าไปดู งานคราฟต์ที่เขามองว่าเป็นทางออก มันเหมือนภูมิปัญญาที่เราทำอยู่แล้วนี่ (หัวเราะ) เพราะมันเป็นสิ่งดั้งเดิมที่เราทำอยู่ มันมีความเป็นพุทธมากเลยนะ วัฏจักรของชีวิตที่ไม่มีอะไรอยู่ยงคงกระพัน วันหนึ่งมันต้องย่อยสลายกลับไปสู่ดิน แล้วเป็นประโยชน์ต่อชีวิตใหม่ๆ ต่อไป แล้วตอนนี้มันกลายเป็นอนาคตของวงการออกแบบ ที่นักออกแบบทั่วโลกกำลังหันกลับมามองวิถีของงานคราฟต์กัน” 

การคิดแบบ Circular Design แตกต่างจาก Eco-design ที่เราเคยได้ยิน ตรงที่เป็นกระบวนการคิดให้ครบลูป ตั้งแต่เริ่มออกแบบจนจบ ว่าเมื่อหมดอายุขัยของสิ่งของชิ้นนี้แล้ว มันจะกลับไปเป็นอะไรได้ 

“ถ้าเกิดระบบ Circular หลายๆ ที่ในเมืองไทย ก็จะเกิดความยั่งยืนของชุมชนของแต่ละเมือง จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่ต้อง นำเข้าผ้า แต่ถ้าชุมชนปลูกได้เอง ช่างฝีมือและช่างเย็บตัดเย็บได้เอง ความเข้มแข็งของชุมชนจะเกิดตามมา” 

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก
Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

อุ้งเล่าว่า เกือบทุกแบรนด์เสื้อผ้าในนิทรรศการเป็นแบรนด์ที่ทำงานกับชุมชนจริงๆ ไม่ได้เป็นนักออกแบบที่ทำแล้วก็จบ แต่เป็นนักออกแบบที่เข้าไปทำงานกับชุมชนหรืออยู่ในชุมชนอยู่แล้ว เช่น กลุ่มไทลื้อ วานีตา ภูคราม FolkCharm เพื่อเป็นตัวอย่างว่า นี่แหละคือตัวอย่างแฟชั่นที่รักษ์โลกที่เราควรสนับสนุน

เจผู้ลงไปสัมผัสกลุ่มนักออกแบบในโครงการนี้เล่าสิ่งที่น่าสนใจของแต่ละแบรนด์ให้ฟังว่า 

FolkCharm ทำงานกับชุมชนที่ปลูกฝ้ายออร์แกนิกที่จังหวัดเลย ตั้งแต่ปลูก ทอเป็นผืน จนตัดเย็บ ซึ่งทำให้เกิด Local Impact ในแต่ละที่ที่เขาไปทำงานด้วย เราเลยอยากให้เป็นตัวอย่างสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องนี้ ส่วนกลุ่มไทลื้อ นักออกแบบที่มาทำงานกับช่างทอเขาก็อยากให้เกิดขยะน้อยที่สุดในกระบวนการผลิต ปกติเวลาเราจะตัดชุดหนึ่งชุด ถ้าวางแพตเทิร์นตามปกติแล้วมันก็จะมีขยะที่เหลือ เขาเลยออกแบบแพตเทิร์นแบบที่ชาวบ้านนำมาขายได้ ทำให้ไม่มีเศษผ้าเหลือทิ้งเลย ไปจนถึงคิดวิธีการทอให้ทำออกมาแล้วเป็นแพตเทิร์นได้เลย ตรงนี้จะเป็นนวัตกรรมเชิงความคิดต่อไป เพราะฉะนั้น งานคราฟต์ท้องถิ่น งานที่ชาวบ้านทำมันปลอดภัย ไม่มีอะไรร้ายแรงสำหรับโลกนี้”

สุดท้ายปลายทางของงานนิทรรศการ เราจะพบโต๊ะที่จะให้ผู้ร่วมงานสามารถมานั่งใช้เวลาออกแบบเสื้อผ้าให้กับตุ๊กตา หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นเรื่องเด็กๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้ คืออีกก้าวของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ใส่ใจโลก

“อุ้งตั้งโจทย์ Design Your Future Dress ให้คนที่พอเขาชมนิทรรศการจบแล้ว ถ้าเขาอยากได้โลกแบบไหน ก็อยากให้เขาออกแบบเสื้อผ้าแบบนั้น เรามีทั้งดอกไม้ใบไม้มาให้ลองสร้างสรรค์เป็นชุดดู พอคนได้มาลองทำงานศิลปะ เขาก็จะมาคุยกัน สุดท้ายแล้วเขาก็จะเข้าใจว่าเรื่องโลกร้อนและเรื่องสังคมเป็นเรื่องเดียวกัน” 

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

04

Circular Design Labs 

นอกจากนิทรรศการที่คนทั่วไปอย่างเราจะเข้าถึงและเข้าใจเรื่องแฟชั่นยั่งยืนได้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรม คือเวิร์กช็อปสำหรับเหล่าช่างฝีมือและนักออกแบบ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อุ้งพัฒนามาจากการไปค่ายนักออกแบบกับ British Council เมื่อค.ศ. 2018

“เป็นเวิร์กช็อปเรื่อง Circular Design นี่แหละ แต่เราจะเน้นที่การแชร์กระบวนการคิดเพื่อความยั่งยืนกันมากกว่า เป็นค่ายที่อุ้งได้องค์ความรู้ที่ได้มาจากค่าย Circular Futures Lab ที่อังกฤษ ซึ่งตอนนั้นร่วมมือกับ Ellen MacArthur Foundation เป็นองค์กรที่ทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลกจริงๆ ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

“เขาตั้งโจทย์ให้นักออกแบบเลยว่า ทำยังไงให้ตอบสนองความต้องการผู้ใช้งานได้โดยไม่ทำร้ายโลก ปกติเราจะคิดว่าถ้าจะตอบสนองความต้องการมนุษย์ เราก็ต้องทำร้ายโลกใช่ไหม แต่สำหรับหลักการ Circular Design มันมาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ เราก็ได้เรียนรู้กระบวนการคิดว่ามีหลักการอะไรบ้างตั้งแต่ต้นจนออกมา ซึ่งจะเหมือน Design Thinking แล้วผนวกหลักการความยั่งยืนเสริมเข้าไป”

ในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางและทำเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย อาจรู้สึกว่า Design Thinking เป็นคำสามัญประจำกาย แต่สำหรับนักออกแบบยั่งยืน คำคำนี้อาจต่างออกไป

“จริงๆ Design Thinking ฮิตมากนะ คือการคิดโดยให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง คิดว่าจะทำยังไงให้ตอบสนองความต้องการได้แล้วก็จบ มันแค่ตอบโจทย์สำหรับมนุษย์ แต่ Circular Design จะชวนให้เราคิดว่าจะตอบสนองความต้องการมนุษย์ยังไงโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น เสื้อหนึ่งตัวมีหลายวัตถุดิบที่มาประกอบกัน มีปัญหามากเวลารีไซเคิล เพราะว่าวัสดุทั้งธรรมชาติและสิ่งที่มนุษย์ทำ เช่น ซิป กระดุม ปนกัน แต่ปัญหานี้แก้ได้โดยการใช้ Circular Design เพราะมันคือการคิดตั้งแต่ต้นว่าทำยังไงให้สิ่งเหล่านี้ให้ถอดประกอบ แยกออกจากกัน รวมถึงแยกลงถังได้ คิดตั้งแต่เริ่มเลยว่าต้องไม่มีของเสียให้มากที่สุด รวมถึงคิดวัสดุใหม่ๆ เราเลยอยากมาแชร์ใน Chiang Mai Design Week ครั้งนี้ อยากจะแลกเปลี่ยนความรู้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ดู” 

Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก
Homegrown นิทรรศการจาก Fashion Revolution ที่รันวงการแฟชั่นใหม่ด้วยการไม่ทำร้ายโลก

05

ความร่วมมือของคนต่อแฟชั่น

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ความตระหนักรู้ที่เรามีคือขั้นแรก สิ่งที่เราควรทำในลำดับถัดไป คือการร่วมด้วยช่วยโลกผ่านเรื่องง่ายๆ อย่างแฟชั่น

 “อุ้งว่าการสนับสนุนแฟชั่นยั่งยืน คือการเลือกแบรนด์ที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมในทางบวก อย่างแบรนด์ที่เรานำเสนอซึ่งช่วยสนับสนุนชุมชน เพราะนักออกแบบขายความคิดสร้างสรรค์ได้ เหมือนเราซื้องานศิลปะ มันจะเก๋และแตกต่างนะ เพราะเสื้อผ้าที่เราซื้อเล่าเรื่องได้ คนเดี๋ยวนี้อาจรู้สึกว่าใส่แบรนด์เนมไม่เก๋เท่าใส่งานคราฟต์อีกแล้ว” 

“ผู้บริโภคก็ค่อยๆ ลดการซื้อและใช้ซ้ำได้มากขึ้น เพราะเสื้อตัวหนึ่งมีอายุอยู่ได้ยี่สิบห้าปีขึ้นไป อย่างช่างฝีมือท้องถิ่น เขาก็ใส่เสื้อที่เขาทอเมื่อยี่สิบปีที่แล้วนะ คนละแนวความคิดกับ Fast Fashion เลย เพราะงานคราฟต์ ยิ่งเก่ายิ่งสวย ยิ่งใช้ยิ่งนุ่ม คุณค่าจะมากขึ้นตามเวลา มันวาบิซาบิ มันเก๋

“ประเทศอื่นๆ มองงานคราฟต์ว่าเป็นงานศิลปะที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถูกสั่งสมมาหลายชั่วอายุคน แต่ของไทย เรามักเข้าใจว่างานคราฟต์เป็นงานชาวบ้าน เลยชอบต่อราคากัน ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดการลดทอนคุณค่าของงาน ตัวช่างเองก็รู้สึกไม่อยากทำ เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคสามารถกำหนดทิศทางการผลิต ให้เขามีกำลังใจในการทำ และทำให้เขามีความภาคภูมิใจในการสร้างชิ้นงานมากขึ้นด้วย” เจเอ่ยเสริม

ปฏิวัติแนวคิดเรื่องเสื้อผ้าให้กลายเป็นคำว่าหมุนเวียนมากกว่าใช้แล้วทิ้ง ผ่านมุมมอง เจ-พัชรวีร์ ตันประวัติ จาก British Council และ อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี จาก Fashion Revolution กับนิทรรศการและกิจกรรมในเทศกาลงานออกแบบแห่งเชียงใหม่

นอกจากการอุดหนุนเหล่าช่างฝีมือชุมชนแล้ว อุ้งเสนอว่า ยังมีอีกหลากหลายทางเลือกที่เราในฐานะผู้บริโภคปัจจัย 4 อย่างเสื้อผ้าทำได้ทันที

“การคิดเรื่องเสื้อผ้ายั่งยืน ไม่ใช่แค่ว่าเราต้องซื้อเสื้อผ้าจากแบรนด์ยั่งยืนเท่านั้น จริงๆ แล้วมีทางเลือกมากกว่านั้น สเต็ปที่ง่ายที่สุด คือการกลับมาดูว่าตู้เสื้อผ้าของเรามีอะไรอยู่บ้าง และคิดว่าเราจะนำมา Mix and Match ใหม่ๆ ได้ยังไง

“เสื้อผ้าที่เราไม่ได้ใส่แต่เก็บไว้มากมาย ก็เพราะเราเบื่อแล้วหรือหาวิธีแมตช์ใหม่ๆ ไม่ได้แล้วนั่นเอง สาเหตุก็คือเราซื้อเสื้อผ้าตามเทรนด์มันก็เลยจะเก่าเร็ว ถ้าเราสามารถแมตช์ลุคใหม่ๆ ได้ก็ช่วยให้เราไม่ต้องซื้อเพิ่มอีก ซึ่งสิ่งนี้ในต่างประเทศเขาเรียกกันว่า Capsule Wardrobe เหมือนเป็นชาเลนจ์ว่าในหนึ่งเดือนเราจะแต่งตัวให้ได้สามสิบวัน สามสิบลุค ด้วยเสื้อผ้าแค่สิบสองชิ้น ซึ่งเป็นไอเดียสนุกๆ ที่ผู้หญิงทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ

“หรือถ้าใครเราอยากได้เสื้อใหม่ ก็อาจจะไม่ต้องซื้อเพิ่ม แต่มาแลกกันดูไหม ซึ่งอันนี้ก็เป็นกิจกรรมที่ Fashion Revolution กำลังทำ คือเราจะชวนคนเอาเสื้อผ้าในตู้มาแลกกัน”

นอกจากการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า ยังมีการเช่ายืมซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของวงการแฟชั่นที่กำลังเกิดขึ้นด้วย ส่วนเสื้อผ้าเก่าๆ ก็น่าลองซ่อมแซมและดัดแปลงก่อนต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

เอาล่ะ เมื่อได้ไอเดียดีๆ ในการเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นยั่งยืน คุณก็เข้าร่วมได้ง่ายๆ อย่ามัวรอช้าอยู่เลย มาเริ่มปฏิบัติการรันวงการแฟชั่นพร้อมการรักษาโลกใบนี้ไปพร้อมกันกันเถอะ

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'