หลายคนรู้จัก ฟาโรส ในฐานะยูทูเบอร์อารมณ์ดี เจ้าของรายการ ไกลบ้าน ที่พาเราไปท่องโลกผ่านการพบปะคนไทยในต่างแดน พร้อมตะลอนทัวร์แบบตามใจฉัน แทรกด้วยเกร็ดความรู้และมุมมองแสบๆ คันๆ ตามสไตล์ของคนที่จากบ้านมาไกล

ยังไม่นับอีกหลายรายการที่คลอดตามมา ทั้ง ช่างเชื่อม ฟังให้ ไล่มาถึงรายการล่าสุดอย่าง People You May Know

หากสังเกตให้ดี จะพบว่าทุกรายการที่ฟาโรสทำ มีแก่นสำคัญคือการเอาความรู้มาย่อยให้สนุกและเข้าถึงง่าย

สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ คือฟาโรสมีอาชีพหลักเป็นครูสอนภาษา

หลังเรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เธอค้นหาตัวเองด้วยการลองทำทุกอย่างที่ขวางหน้า ตั้งแต่การเป็นไกด์นำเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เป็นล่ามแปลภาษา ไปจนถึงการเป็นผู้ช่วยจิตรกร ก่อนจะพบว่าสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขมากที่สุด คือการสอนหนังสือ

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

เมื่อตกผลึกแล้วว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการคืออะไร ฟาโรสตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทสาขา Linguistics and English Language Teaching ที่ University of Leeds แล้วกลับมาทำตามความฝันที่ตั้งใจไว้

ย้อนไปในวันที่ยังไม่มีใครรู้จักในฐานะยูทูเบอร์ เธอคือ ‘พี่ฟา’ แห่ง Farose Academy โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่ฟาโรสเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้สอน ภายใต้สโลแกนว่า “คิด เข้าใจ ไม่ท่องจำ” ซึ่งถือว่าล้ำยุคพอสมควรเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

ในบทสนทนาต่อไปนี้ เราชวนฟาโรสย้อนไปในวันที่เริ่มหลงใหลมนต์เสน่ห์ของภาษา เรื่อยมาถึงช่วงเวลาที่ทุ่มเทชีวิตกับการสอน หลายสิ่งที่เธอเล่าล้วนสะท้อนมุมมองที่แหลมคม โดยเฉพาะประเด็นการศึกษา ขณะเดียวกันก็เปิดเปลือยให้เห็นว่าเธอกลายมาเป็น ‘ฟาโรส ไกลบ้าน’ ได้อย่างไร ผ่านความเนิร์ด ความกลัว และตัวตนลึกๆ ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน 

ดิสนีย์ที่รัก

ย้อนไปตอนเด็กๆ อะไรที่ทำให้คุณหลงใหลหรือชื่นชอบในการเรียนภาษา

เมื่อก่อนเรายังไม่รู้ตัวว่าชอบภาษา รู้แค่ว่าชอบดูการ์ตูนดิสนีย์ค่ะ (หัวเราะ)

ด้วยความเป็นเด็ก เราไม่ได้สนใจหรอกว่าชอบเรียนวิชาอะไร เราสนใจแค่สิ่งที่มันสนุก มันบันเทิง เหมือนเด็กทุกคนแหละ แต่เราเพิ่งมารู้เมื่อตอนโตแล้วว่า สิ่งที่ดิสนีย์ทิ้งไว้ให้คือทักษะด้านภาษา

เวลาดูการ์ตูนดิสนีย์ เราดูทั้งสองภาษา พอถึงเวลาเรียน โดยเฉพาะช่วงมัธยม เรากลายเป็นคนแรกๆ ที่เข้าใจสิ่งที่ครูสอน ทั้งที่เราก็เรียนมาเท่าๆ กับคนอื่น เพื่อนก็งงว่าเราไปรู้มาจากไหน มองย้อนไปถึงรู้ว่า อ๋อ เพราะเราเคยมี Input มาก่อน ตั้งแต่ตอนที่ชอบดูหนังดิสนีย์ ถึงเวลาที่อาจารย์สอนปุ๊บ รูปประโยคแบบนี้ แกรมมาร์แบบนี้ เราเก็ตทันที เช่น “It looks like…” พอได้ยินประโยคขึ้นต้นแบบนี้ สมองเราจะจำว่า look ต้องมี s โดยอัตโนมัติ เพราะเคยได้ยินจากในเพลงมาแบบนี้ ตัวละครมันพูดแบบนี้ จำได้โดยที่ไม่ต้องท่อง

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

พอเรียนภาษาอังกฤษแล้วเข้าใจมากกว่าคนอื่น ทำให้รู้ว่าฉันน่าจะมาทางนี้แล้วแหละ แล้วไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว เราเริ่มสนใจใคร่รู้ในภาษาอื่นๆ ด้วย ซึ่งมาจากการ์ตูนอีกแล้ว เช่น ทำไมตัวละครตัวนี้ถึงชื่อ Belle แล้วทำไมมันไม่เขียนว่า Bel หรือ Bell ทำไมต้องมีตัว e เพิ่มเข้ามา ก็ได้คำตอบว่ามันคือภาษาฝรั่งเศส ทำให้ยิ่งอยากรู้ต่อไปอีกว่าภาษาฝรั่งเศสคืออะไร พอขึ้นมอปลายเลยเลือกเรียนศิลป์-ฝรั่งเศส

นอกจากการ์ตูนดิสนีย์ที่ช่วยจุดประกาย มีปัจจัยอื่นอีกไหม

สิ่งที่จุดประกายเราคือ Entertainment ตอนเด็กเราดูดิสนีย์ พอโตขึ้นก็เริ่มสนใจฮอลลีวูด ยุคนั้นยังมีแฮนด์บิล เป็นโปสเตอร์ใบเล็กๆ ที่แจกหน้าโรงหนัง เราตามเก็บหมดเลยนะ สะสมจริงจัง ทุกวันนี้ยังเก็บไว้อยู่เลย ช่วงมอสองถึงมอสามเริ่มสนใจหนังฝรั่ง เริ่มรู้จักว่าออสการ์คืออะไร ต่อยอดสั่งสมเรื่องภาษามาเรื่อยๆ 

แล้วอาจารย์ที่สอนในโรงเรียนล่ะ มีส่วนช่วยแค่ไหน

มีค่ะ ที่จำได้ดีคืออาจารย์สอนฝรั่งเศสช่วงมอปลาย อาจารย์ทุ่มกับเรามากๆ ตอนนั้นเราอยากไปฝรั่งเศสมาก ปรึกษาอาจารย์ว่าอยากไป แต่ไม่มีเงิน ทำยังไงได้บ้าง อาจารย์บอกว่ามีทุนอยู่ เป็นทุนที่รัฐบาลฝรั่งเศสให้เด็กไทยไปเที่ยวฝรั่งเศสหนึ่งเดือน ลองดูมั้ย

พอเห็นว่าเราสนใจ อาจารย์ก็หอบหนังสือมาให้หนึ่งถุงใหญ่ๆ เป็นถุงโรบินสันสีเขียวๆ ในนั้นคือแบบฝึกหัดภาษาฝรั่งเศสห้าสิบกว่าเล่ม อาจารย์บอกให้ลองเอาไปฝึกทำดู แล้วค่อยมาว่ากัน

ตอนนั้นเราเพิ่งเรียนมอสี่ สายศิลป์-ฝรั่งเศส มาแค่หนึ่งเทอม แต่ด้วยความที่อยากไปมาก เราก็ฝึกทำ ทำอยู่ประมาณสองสัปดาห์จนครบทุกเล่ม ถึงเวลาก็ไปบอกอาจารย์ว่าเสร็จแล้วค่ะ อาจารย์ไม่เชื่อ เลยให้เราลองทำข้อสอบดู ปรากฏว่าเราทำได้ ผ่าน พออาจารย์เห็นว่าเราตั้งใจจริงๆ ก็เลยสอนให้ฟรี สอนนอกเวลาช่วงปิดเทอม นั่งติวตั้งแต่เช้าถึงเย็น ติวอยู่เป็นเดือน จนถึงเวลาสอบก็ไปสอบ ปรากฏว่าได้ที่สามของประเทศ

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

ก็คือได้ไปฝรั่งเศส

ไม่ได้ไป เพราะเขาให้แค่สองทุน (หัวเราะ)

ทุกวันนี้ยังเป็นโจ๊กที่เอามาแซวกันอยู่ว่าดวงมันจะไม่ได้ไป แล้วมันเหมือนเป็นปมสืบเนื่องมาว่าทำไมเราถึงไปฝรั่งเศสบ่อยที่สุด นี่คือคำตอบ มันคือการเติมเต็มความอยากในวัยเด็ก ครั้งหนึ่งตอนฉันยังไม่มีเงิน ฉันเคยพยายามแล้วแต่มันไม่ได้ พอวันหนึ่งฉันไปเองได้แล้ว ฉันไปไม่หยุดเลย เคยลองนับอยู่ว่ากี่ครั้งแล้ว แรกๆ ก็นับได้ สักพักเริ่มนับไม่ไหวแล้วค่ะ

ตอนนั้นพอรู้ผลว่าได้ที่สาม อดได้ทุน คุณรู้สึกยังไง

ความรู้สึกแรกคือสงสารอาจารย์ ไม่ได้นึกถึงตัวเองเลย สงสารอาจารย์มากๆ เพราะเขาทุ่มเทกับเรามาก เราเรียนอยู่ที่ราชบุรี ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นไม่มีคนฝรั่งเศสที่เป็น Native เลย สิ่งที่อาจารย์ทำคือขับรถพาเราไปหาอาจารย์ของอาจารย์อีกที เป็นอาจารย์ฝรั่งเศส สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ เพื่อขอให้ช่วยติวให้เรา เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาสอนมันไม่พอ

พอผลออกมาได้ที่สาม เรานึกถึงอาจารย์ก่อนเลย กลัวอาจารย์เสียใจ แต่เขาบอกว่าไม่เป็นไร เพราะยังไงความรู้ก็ติดตัวไปกับเรา เราติวตอนมอสี่ พอเรียนจบปีนั้นเราเก่งกว่าเพื่อนในห้องแล้ว ความรู้ฝรั่งเศสเทียบเท่ามอหกโดยปริยาย สิ่งที่เราพยายามทำหลังจากนั้นคือช่วยติวให้เพื่อน เหมือนเรานำหน้าไปก่อนแล้ว เราช่วยเขาได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้ตัวว่าชอบสอนหนังสือ 

กำเนิด Farose Academy 

คนส่วนใหญ่รู้จักคุณในฐานะยูทูเบอร์จากรายการ ไกลบ้าน แต่อีกด้านหนึ่งคุณก็มีงานหลักคือการเป็นติวเตอร์ ควบคู่กับการเป็นผู้บริหาร Farose Academy อยากทราบว่าคุณเริ่มสนใจอาชีพนี้อย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่

เราเรียนจบคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ พอจบปุ๊บก็อยากหางานทำ ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากทำอะไร แต่ด้วยความที่ไม่รู้และความอยากรู้ ทำให้เราลองทำทุกอย่าง เป็นไกด์พาเที่ยวก็เคยลองมาแล้ว แล้วก็พบว่าไม่ชอบเท่าไหร่ จากนั้นก็เคยเป็นล่ามอยู่ช่วงหนึ่ง ชอบนะ แต่มันเป็นจ๊อบ ไม่ได้มีมาประจำ งานแปลก็เคยทำบ้าง เคยเป็นแม้กระทั่งผู้ช่วยศิลปิน ไปช่วยเขานั่งทาสี (หัวเราะ)

พอได้ลองทำหลายอย่าง แล้วทบทวนว่าตกลงเราชอบอะไรมากที่สุด พบว่าจริงๆ แล้วเราชอบการสอนหนังสือ เราชอบแววตาท่าทางของคนที่เราสอน แล้วเขาเข้าใจ ก็เลยเริ่มสอนหนังสือแบบจริงจังมากขึ้น จุดเริ่มต้นเหมือนติวเตอร์ทั่วไปเลย คือเริ่มจากหาโต๊ะนั่ง แล้วก็ติวกัน สักพักเริ่มเข้าห้องใหญ่ ไปคุยกับทางโรงเรียนที่เขามีห้องอยู่แล้ว ติวไปติวมา คนเริ่มเยอะขึ้นๆ จนขยายไปถึงห้องขนาดร้อยยี่สิบคนในช่วงเวลาไม่นาน

แล้ว Farose Academy เกิดขึ้นตอนไหน

ช่วงที่สอนไปได้สักระยะ เรามีโจทย์ในใจว่าอยากเรียนต่อปริญญาโท ตอนแรกอยากเรียนประวัติศาสตร์ อยากลงลึกในเรื่องที่เราสนใจ แต่พอเริ่มทำงานไปสักพัก รู้สึกว่าสายการสอนก็น่าสนใจ ทั้งที่ไม่เคยอยู่ในหัวมาก่อน ประสบการณ์จากการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ทำให้เกิดคำถามบางอย่างขึ้นมา คือเราสัมผัสได้ว่าเด็กไทยเก่ง แต่ส่วนใหญ่มักไปไม่สุด โดยเฉพาะในสายภาษา สุดท้ายเลยเลือกเรียนต่อด้านการสอนภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ ที่ University of Leeds

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

เรามีความตั้งใจตั้งแต่ก่อนไปเรียนแล้วว่า เดี๋ยวกลับมาแล้วเราจะเปิดโรงเรียนสอนเอง เพราะเราต้องการพื้นที่ที่เราสามารถดีไซน์ทุกอย่างได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ พอเรียนจบกลับมา ปรากฏว่าวิธีคิดเกี่ยวกับการสอน รวมถึงการวางหลักสูตรต่างๆ มันเปลี่ยนหมดเลย

เปลี่ยนยังไง

ถ้าย้อนไปตอนเรียนจบปริญญาตรี เราซึมซับความเป็นเด็กอักษรฯ มาเยอะ คืออยากพูดทุกอย่างที่ฉันรู้ ฉันจะโชว์ว่าฉันรู้อะไร ฉันอยากให้เด็กรู้สึก ว้าว! ว่าฉันรู้สิ่งนี้ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่เคยสัมผัสมา ก็มักชื่นชอบหรือตื่นเต้นเมื่อเจออาจารย์ที่เก่งๆ รู้นั่นรู้นี่เยอะ ฉะนั้น การสอนหลังจากช่วงที่เรียนจบปริญญาตรีมาจะเป็นการสอนแบบพ่นไฟ พูดๆๆ เล่าให้ฟังว่าอันนี้มันเป็นแบบนี้นะ เธอรู้ไหมว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น คิดว่าการสอนที่ดีคือการพยายามบอกหรือถ่ายทอดทุกอย่างที่เรารู้

แต่การไปเรียนต่อด้านนี้ ทำให้เข้าใจว่าการสอนไม่ใช่การบอกทุกอย่างที่เรารู้ และผู้สอนก็ไม่ใช่คนที่เอาความรู้มาขาย เพราะคุณไม่ได้รู้ทุกอย่าง หน้าที่คุณคือการช่วยจุดประกายให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้ แล้วตั้งคำถามกับความรู้นั้นต่างหาก

จากที่เคยเป็นสายพ่น ฉันจะโชว์ภูมิว่าฉันรู้เรื่องนี้ ก็เปลี่ยนใหม่เป็นการถามกลับ พยายามตั้งคำถามให้เขาคิด ช่วงปีแรกที่เพิ่งเปิดสอนแล้วใช้วิธีแบบนี้ มีความเหนื่อยเหมือนกัน เราจะไม่เข้าใจว่าทำไมถามแล้วเด็กไม่ตอบ ชวนคุยแล้วไม่มีใครตอบสนองเท่าไหร่ เด็กจะเคยชินกับวิธีคิดที่ว่า เขาห้องมาปุ๊บ ฟัง จด เธอพูดให้ฉันฟังสิ เธอเป็นติวเตอร์นะ จะถามอะไรเยอะแยะ เฉลยมาเลย ฉันอยากจด ผ่านไปสักพักถึงเริ่มจูนกันได้ ทำต่อเนื่องถึงปีที่สามจึงเริ่มเข้าที่

การสอนของฟาโรสต่างจากที่อื่นยังไง

สโลแกนของฟาโรสคือ “คิด เข้าใจ ไม่ท่องจำ” ทุกคอร์สของ Farose Academy ต้องเรียนแบบ In Context หรืออิงกับบริบททั้งหมด เราไม่มีการสอนให้ท่องศัพท์เป็นคำๆ เพราะเราเชื่อว่าเวลาคนรับคำศัพท์เข้ามาในหัว ถ้าเขาท่องจำเป็นคำๆ เขาอาจจำได้เป็นร้อยคำพันคำก็จริง แต่พอถึงเวลาที่ต้องเอาไปใช้ เขาจะงง ใช้ไม่เป็น เพราะไม่เห็นบริบท

ยกตัวอย่างง่ายๆ เคยไหม เวลามีคนถามว่าคำนี้แปลว่าอะไร เราตอบได้ รู้ความหมาย แต่พอให้เขียนเป็นประโยคปุ๊บ เริ่มไม่แน่ใจว่าเขียนยังไง ปัญหาคือการเรียนการสอนภาษาแบบเดิม มาจากความเชื่อที่ว่าถ้ารู้คำศัพท์เยอะๆ แล้วภาษาเราจะดี แง่หนึ่งก็ใช่ การรู้ศัพท์เยอะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าให้ดีกว่านั้น มันต้องรู้บริบทด้วย ถึงจะเอาไปสื่อสารหรือใช้งานได้จริง 

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

คอร์ส Vocaburary ที่ฟาโรสตั้งชื่อคอร์สว่า News feed วิธีคือให้เด็กอ่านข่าว เราแบ่งข่าวเป็นหมวดๆ เช่น หมวด Accident ก็ให้อ่านตั้งแต่ข่าวเจ้าหญิงไดอาน่า จนถึงข่าวผับซานติกาไฟไหม้ เพื่อที่เขาจะได้เห็นชุดคำในหมวดนี้ เช่น เสียชีวิต นำส่งโรงพยาบาล ผู้บาดเจ็บ อ่านบ่อยๆ จนเห็นว่ามันใช้ยังไง สอนแบบนี้โดยเปลี่ยนหมวดไปเรื่อยๆ เช่น Disaster, Technology, Environment เป็นต้น

วิธีแบบนี้มีประโยชน์ยังไง

ต้องเข้าใจก่อนว่าเราไม่มีทางสอนให้ทุกคนรู้คำศัพท์ทุกคำบนโลกนี้ได้ ฉะนั้น สิ่งที่เขาควรมีคือชุดเครื่องมือบางอย่างในการรับมือกับศัพท์ที่เขาไม่รู้ นั่นคือการเดา ซึ่งการจะเดาได้ หมายความว่าเขาต้องอ่านบริบทเป็น นี่คือวิธีการของฟาโรส คือให้เครื่องมือบางอย่างกับเขา เพื่อให้เขาเอาไปต่อยอดได้

มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า เด็กไทยเรียนวิชาภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ประถมจนจบมัธยมรวม 12 ปี แต่ยังใช้งานหรือสื่อสารไม่ได้ คุณมองว่าปัญหาเกิดจากอะไร

ส่วนตัวคิดว่าโจทย์ของการเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียน ถ้าวัดจากช่วงเวลาที่เราเติบโตมา เป้าหมายของมันคือการสอบ ไม่ใช่การนำไปใช้ เราไม่ได้มีความรู้สึกว่าฉันเรียนภาษาอังกฤษเพื่อจะได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ฉันเรียนเพื่อสอบ นี่คือปัญหาสำคัญ พอเรียนเพื่อสอบ การสอนก็จะเป็นไปเพื่อให้เด็กสอบได้ ไม่ใช่สอนเพื่อให้เด็กใช้งานเป็น

ประเด็นต่อมา ถามว่าข้อสอบของเราเป็นยังไง ข้อสังเกตที่ชัดสุดคือไม่มี Speaking ไม่มีการสอบพูด พอไม่มีสอบ เด็กก็ไม่ได้ฝึก ง่ายๆ แค่นี้เลย ถ้าคุณถามว่าทำไมเด็กเรียนแล้วพูดไม่ได้ เพราะโจทย์ในข้อสอบมันไม่มีให้พูด ในขณะที่ข้อสอบระดับสากล เช่น IELTS จะมีฟัง พูด อ่าน เขียน สมมติคุณเรียนอังกฤษมาทั้งชีวิต แต่ยังพูดไม่ได้ ถึงเวลาถ้าคุณอยากสอบ IELTS ได้ คุณก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้คุณพูดได้ ถูกไหม ถ้ามองในแง่การออกข้อสอบ จะเห็นภาพแบบนี้

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

ถามต่อไปอีกว่า แล้วทำไมข้อสอบของไทยถึงทำไม่ได้ ก็เพราะการสอบ Speaking มันใช้ทรัพยากรเยอะ คนสอบเป็นแสน แล้วไม่สามารถใช้การสอบแบบ Paper-based แทนได้

ข้อต่อมา สังเกตว่าข้อสอบของเราจะเน้น Reading ค่อนข้างเยอะ ในมุมคนสอนก็ต้องคิดแล้วว่า ทำยังไงให้เด็กอ่านได้ วิธีก็คือให้ท่องศัพท์ กับท่องแกรมมาร์ ดังนั้นการสอนภาษาอังกฤษของบ้านเราจึงเน้นแค่สองอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่รับประกันว่าคุณจะพูดได้ สื่อสารได้ นี่คือภาพรวมที่เราเห็น โจทย์มันผิดตั้งแต่แรก

การฝึกทักษะภาษา คุณต้องเริ่มจากการฟังก่อน ถ้าฟังแล้วเข้าใจ คุณถึงจะพูดออกมาได้ ต่อมาคืออ่าน ถ้าคุณอ่านแล้วเข้าใจ คุณถึงจะเขียนออกมาได้ การฟังช่วยให้พูดเก่ง การอ่านช่วยให้เขียนเก่ง แต่ระบบการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย มาถึงก็สอนเขียน สอนท่องศัพท์ สอนแกรมมาร์ กลับหัวกลับหางไปหมด

ฟาโรสไม่ใช่คน แต่คือคอมมูนิตี้ 

สังเกตว่าช่วงหลายปีมานี้ เด็กรุ่นใหม่ๆ มีความตื่นตัวมากขึ้น กล้าแสดงออกและตั้งคำถามกับทุกสิ่งรอบตัวมากขึ้น ในฐานะผู้สอนคุณพบความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม

ปีนี้เป็นปีที่แปดเข้าปีที่เก้าของ Farose Academy แน่นอนว่าธรรมชาติของเด็กเปลี่ยนไป ทำให้เราเจอปัญหาเหมือนกัน 

ส่วนตัวเราเชื่อว่างานทุกงาน อาชีพทุกอาชีพ มีอายุของมัน เราเตรียมใจไว้แต่เนิ่นๆ แล้วว่า เราคงสอนหนังสือตลอดไปไม่ได้ เพราะเคยเห็นตัวอย่างว่าอาจารย์บางคนที่เก่งมากๆ พอสอนไปนานๆ มันเริ่มมีช่องว่างบางอย่าง ไม่ใช่เขาไม่เก่ง แต่เขาอาจไม่เหมาะแล้ว ไม่ทันยุคสมัยแล้ว

ช่วงหลังมานี้ เราคุยกับตัวเองบ่อยมากว่า อาจได้เวลาที่ต้องเปลี่ยนงานใหม่แล้ว ช่วงนี้แหละคือช่วงเปลี่ยนผ่าน งานของ Farose Academy เราเริ่มถอยมาเป็นคนดูภาพรวม แล้วฝึกน้องรุ่นใหม่ๆ ให้มาทำหน้าที่สอนแทนมากขึ้น

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

เหตุผลที่ถอยออกมาคืออะไร

เรายอมรับอย่างหนึ่งว่า เวลาคุยกับเด็กรุ่นใหม่ๆ เรารู้สึกว่าจูนไม่ค่อยติดแล้ว เริ่มคุยกับเขาไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องเศร้าอะไร สิ่งที่สังเกตเห็นคือเราถอดรหัสบางอย่างไม่เหมือนกับที่น้องเขาถอดแล้ว เรามีแว่นตาคนละอัน ใช้เลนส์คนละชุดกัน ดังนั้นวิธีการของเราคือเทรนคนอายุใกล้ๆ เด็กให้มาสอนแทนเรา ทดลองมาสักระยะแล้ว ปรากฏว่าผลตอบรับดี เป็นไปอย่างที่เราตั้งใจไว้

อีกด้านหนึ่งคือเราเริ่มเบื่อ เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นเครื่องจักร ในการสอนคอร์สสดหนึ่งรอบ เราจะรันทุกอย่างตามที่เราเซ็ตเอาไว้ เช่น ในหกชั่วโมง ต้องสอนได้ตามนี้ เปิดคอร์สมาเด็กจะงง จบคอร์สไปเด็กจะแฮปปี้ ตอนที่ทำก็มีความสุขนะ แต่พอถึงจุดหนึ่ง เรารู้สึกว่าฉันเหมือนนางโชว์ ถึงเวลาก็ออกมาเพอร์ฟอร์มซ้ำๆ ฉันไม่อยากปล่อยให้ตัวเองเป็นแบบนี้แล้ว ฉันเชื่อว่าในหัวฉันยังมีความสร้างสรรค์บางอย่างที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านี้

ที่บอกว่ามีเริ่มมีช่องว่างกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ลองยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหม

ยกตัวอย่างง่ายสุด คือเราไม่อินกับทวิตเตอร์ รู้สึกว่าไม่ใช่แนว ขณะที่เด็กทั้งห้องเล่นทวิตเตอร์กันหมด แค่นี้คุณก็ไม่ควรสอนหนังสือแล้วนะ นี่คือสิ่งที่เราบอกตัวเอง

ข้อแรกคือเราจะมี Reference ไม่เหมือนกันแล้ว วิธีสื่อสาร การตัดคำ หรือการรวบใจความให้เหลือประโยคสั้นๆ มันไม่เหมือนกันแล้ว ให้คนที่อายุไล่ๆ กัน สื่อสารแบบเดียวกัน เป็นคนสอนดีกว่า ปีที่แล้วเราสอนสดด้วยตัวเองแค่สองรอบเท่านั้น จากเมื่อก่อนที่สอนเองเกือบตลอดเวลา

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’
‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

เพราะอะไรคุณถึงไม่อินกับทวิตเตอร์

โดยส่วนตัวเราไม่ได้เชื่อถือในแพลตฟอร์มนี้เท่าไหร่ รู้สึกว่าเป็นที่ที่ใครจะพูดอะไรก็ได้ แต่เด็กเขาเชื่อถือ พอเขาเชื่อถือ แปลว่าอะไรก็ตามที่โผล่มาในนั้น เขามีแนวโน้มจะเชื่อว่าจริงก่อนเลย เคยพยายามฝึกเล่นอยู่พักใหญ่ ไม่ใช่ไม่เคยลอง อย่างอินสตาแกรมก็เหมือนกัน เมื่อก่อนเราก็ไม่เล่น แต่หัดเล่นเพราะอยากรู้จักน้องๆ เล่นไปเล่นมา ปรากฏว่าสนุก ชอบ แต่ทวิตเตอร์นี่ไม่รอดจริงๆ

อาจเพราะเราเคยโดนโจมตี โดนดิสเครดิตในทวิตเตอร์ เราเคยโดนเอารูปวันที่จัดงานคริสต์มาสให้เด็กๆ เป็นช็อตที่เราเอาสติกเกอร์ไปแปะใกล้ๆ บริเวณเป้ากางเกงของน้องคนหนึ่งบนเวที ช็อตนั้นเป็นช็อตที่เราเล่นกัน น้องที่อยู่ในงานวันนั้นก็รู้ ทุกคนรู้ รูปนั้นเป็นรูปที่เราลงไอจีเองด้วยซ้ำ ลงโดยที่ไม่ได้คิดอะไร ปรากฏว่าสี่ปีต่อมา มันถูกใครก็ไม่รู้ขุดมาโพสต์ในทวิตเตอร์ว่านี่คือ Sexual Harassment ซึ่งไม่ใช่การตั้งคำถามด้วย แต่คือการ Attack เลย แปะป้ายเลย เหมือนมีผู้ไม่หวังดีตั้งใจมาโจมตีเรา

ตอนแรกที่เห็นโพสต์นี้ เราคิดว่าเดี๋ยวคงมีคนมาช่วยอธิบายแหละมั้ง สามร้อยกว่าคนที่อยู่ตรงนั้น จะไม่มีใครช่วยอธิบายอะไรเลยเหรอว่านั่นคืองานเลี้ยง นั่นคือหน้าเวที นั่นคือกิจกรรมที่ทุกคนกำลังจอยกัน มันไม่มีทางกลายเป็นเรื่องอนาจารได้ ปรากฏว่าไม่มี นั่นคือจุดสำคัญที่อาจทำให้เรารู้สึกว่า ฉันคงเล่นทวิตเตอร์ต่อไม่ได้แล้ว มันคือโลกที่ทุกคนปิดหน้าแล้วพร้อมจะด่าสาดใส่กัน มีแต่พลังลบออกมา มันคือช่องทางที่เด็กรู้สึกสบายใจที่สุด แต่เรากลับรู้สึกไม่สบายใจที่สุด

พอเลิกเล่นปุ๊บ เหมือนเราตัดขาดการสื่อสารกับเด็กรุ่นนี้ซึ่งส่วนใหญ่เล่นทวิตเตอร์ไปโดยปริยาย เริ่มรู้สึกชัดขึ้นว่า เรากับเด็กอาจคุยกันคนละภาษาแล้ว

แล้วเวลาที่คุณสอนคอร์สสดกับเด็กรุ่นใหม่ๆ มีความรู้สึกแบบเดียวกันไหม

โหย ถามดีมากเลย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ที่บอกว่าทั้งปีเราสอนสดแค่สองรอบเท่านั้น ต้นตอมันมาจากจุดนี้แหละ พอเจอเหตุการณ์ในทวิตเตอร์ปุ๊บ ถึงเวลาสอนเราก็เริ่มเกร็ง ไม่ค่อยเล่นอะไรเยอะเหมือนแต่ก่อน เด็กก็จะเงียบๆ กันทั้งห้อง จนกระทั่งสอนไปประมาณครึ่งคอร์ส เราเปิดอกคุยกันเลยว่า พี่ยอมรับเลยนะว่านี่ไม่ใช่ฟาโรสในแบบที่ควรจะเป็น สารภาพว่าเราไม่กล้าเล่นอะไรแล้ว เพราะไม่รู้ว่ามันจะทำให้ใครอึดอัดหรือไม่โอเคหรือมั้ย ถ้าเล่นแล้วมันดันไป Offend ใครคนใดคนหนึ่ง ในทางใดทางหนึ่ง เดี๋ยวคุณก็เอาไปโพสต์ในทวิตเตอร์อีก

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

หลังจากเปิดใจกัน ก็รู้สึกดีขึ้นมานิดหน่อย น้องๆ ก็เข้าใจว่าทำไมเราถึงเลือกที่จะไม่ทำให้คลาสมันมีสีสันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว พอจบคลาสวันนั้น น้องหลายคนก็เดินเข้ามาหาเรา บอกว่าพี่เล่นกับหนูได้นะ ไม่ต้องคิดมาก เราบอกว่าพี่ก็อยากเล่นนะ แต่พี่กลัว ร้อยคนก็ร้อยความคิด เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วใครคิดอะไรอยู่

อีกด้านหนึ่ง พอเราขยับมาทำยูทูบมากขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้น เหมือนมีหมวกอยู่สองใบ ยิ่งต้องระวัง เราไม่รู้ว่าถ้าเผลอพูดหรือทำอะไรไม่ดี มันจะนำไปสู่อะไรอีกหรือเปล่า

พอคุณเริ่มถอยออกมาจากการสอน แล้วปั้นน้องรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน มีปัญหาอะไรไหม ผลตอบรับเป็นยังไง

ช่วงแรกๆ ก็มีปัญหากับทีมงานเหมือนกัน เพราะเขาจะมองว่า พี่ไม่สอนไม่ได้นะ ชื่อนี้มันคือพี่ แต่เราไม่เชื่อแบบนั้น เราเชื่อว่าถึงเวลานี้ ชื่อนี้มันคือสถานที่ คือคอมมูนิตี้ที่แยกออกมาจากตัวเรา โจทย์ของเราจึงเป็นการหาคนรุ่นใหม่ๆ มาสอนแทน

ความโชคดีคือเราสามารถหาคนที่เก่งมากๆ มาสอนได้ เราให้โจทย์เขาไปว่า อย่าพยายามเป็นฉัน ขอให้เป็นตัวเอง เราเชื่อว่าทุกคนมีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน แค่ยึดหลักการร่วมกันบางอย่างไว้ แค่นั้นพอ

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

หลังจากผ่านช่วงหนึ่งปีแรก ตอนสรุปงานประจำปีเราบอกทุกคนเลยว่า พวกเราทำได้แล้วนะ เราเปลี่ยนฟาโรสให้ไม่ยึดกับบุคคลคนเดียวได้แล้ว ตอนนี้มันกลายเป็นคอมมูนิตี้อย่างแท้จริงแล้ว

ตัวชี้วัดที่บอกว่าสำเร็จแล้ว เปลี่ยนผ่านได้แล้ว คืออะไร

เราจะมีเซอร์เวย์ที่รวบรวมคำถามตอนที่น้องๆ สมัครเรียนเข้ามา พอครบปีก็มาไล่ดูว่ามีคำถามอะไรบ้าง เราพบว่าช่วงแรกๆ ยังมีคนถามอยู่พอสมควรว่าพี่ฟาไม่สอนแล้วเหรอคะ ทำไมถึงเป็นพี่คนนี้มาสอน แต่พอเวลาผ่านไป คำถามแบบนี้ไม่มีแล้ว แสดงว่ามันเกิดความเข้าใจใหม่แล้ว คนรับรู้แล้วว่าพี่ฟาสอนแค่ในออนไลน์เป็นหลัก

มุ่งสู่พรมแดนใหม่ 

ขยับมาเรื่องการทำยูทูบกับพอดแคสต์บ้าง รู้สึกยังไงตอนตัดสินใจว่าจะหันมาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง

ไม่รู้คนอื่นเป็นกันไหม เวลาเปลี่ยนงานใหม่ มันเหมือนเรากลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เพราะมันบังคับให้ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ พาร์ทนี้คือพาร์ตที่ชอบที่สุด

เราเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรแบบเดิมๆ อยู่แล้ว พอได้ลองอะไรใหม่ๆ มันตื่นเต้น เฮ้ย อันนี้คืออะไร เขาทำกันยังไง อย่างการทำยูทูบ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราตื่นมาแล้วอยากทำเลย แต่เริ่มจากการที่เราสนใจเรื่องการตัดต่อ อยากรู้ว่าเขาทำกันยังไง ก็เลยให้น้องคนหนึ่งมาช่วยสอน แล้วเอาฟุตเทจที่เคยถ่ายเก็บไว้มาลองทำดู สุดท้ายก็กลายเป็นรายการขึ้นมาได้

ล่าสุดเราทำพอดแคสต์ ยิ่งรู้สึกว่ามีอะไรอีกเยอะที่ยังไม่รู้ ยกตัวอย่างอันหนึ่ง ตลกดี ช่วงแรกๆ เราไปอัดที่สตูดิโอของเพื่อน อัดเสร็จก็ตัดต่อนิดหน่อย แล้วเอาไปปล่อยเลย ปรากฏว่ามีคนคอมเมนต์ว่าเสียงไม่ดัง ทั้งที่เราก็เช็กแล้วว่ามันดัง ได้ยินปกติ เป็นแบบนี้อยู่สามสี่คลิป มีคนเข้ามาคอมเมนต์ว่าเสียงไม่ดังทุกคลิปเลย

พอไปเช็กว่าเป็นเพราะอะไร เราถึงรู้ว่าเวลาอัดเสร็จ ต้องส่งไฟล์ให้ Sound Engineer ทำ Master ก่อน คุณภาพถึงจะออกมาดี นี่คือเรื่องเบสิกที่เราไม่รู้จริงๆ คิดว่าอัดเสร็จปุ๊บใช้ได้เลย คนอื่นอาจมองว่าเป็นความรู้ที่เล็กน้อย แต่สำหรับเรานี่คือความรู้ที่ยิ่งใหญ่มาก (หัวเราะ)

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’
‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

เวลาเจอคอมเมนต์ เช่น มีคนมาเสนอให้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ คุณแคร์แค่ไหน ตามใจตัวเองหรือตามใจคนดูมากกว่ากัน

เราไม่ค่อยชอบทำตามใคร เวลามีคนรีเควสต์อะไรมา เราจะเฉยๆ คอนเทนต์ส่วนใหญ่จะมาจากตัวเราเป็นหลัก ฉันคิดของฉันเอง ฉันอยากทำแบบนี้ แล้วมันก็จะแป้ก เพราะคนไม่อยากดู (หัวเราะ)

แต่จะบอกว่าไม่ฟังคนอื่นเลยก็ไม่ใช่ เรามีแนวทางของเรา ส่วนคนดูก็มีสิทธิ์เสนอสิ่งที่เขาอยากเห็น มาเจอกันคนละครึ่งทาง การหาจุดกึ่งกลางระหว่างเรากับคนดูถือเป็นความท้าทายเหมือนกัน

เป้าหมายหรือตัวชี้วัดในการทำคอนเทนต์ของคุณคืออะไร

เรามีเป้าหมายส่วนตัวที่ตั้งไว้ ถ้าย้อนไปตอนสอนหนังสือ มันเป็นความตั้งใจที่จะช่วยจุดประกายให้คนด้วยความรู้รูปแบบใหม่ๆ การทำคอนเทนต์ลงยูทูบหรือพอดแคสต์ก็เช่นกัน

สำหรับเราความรู้ไม่มีคำว่าตายตัว ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่คนนั้นคนนี้พูดแล้วถูกเสมอ เรามักเห็นความรู้บางชุด จากคนบางคน ที่พูดปุ๊บถูกปั๊บ ซึ่งเราไม่เห็นด้วย เรารู้สึกว่าความรู้เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ ปรับเปลี่ยนลื่นไหลได้ตลอดเวลา แล้วสิ่งที่ว่ามานี้มันเคยถูกถ่ายทอดผ่านห้องเรียนที่เราสร้างขึ้นมา พอวันหนึ่งเราถอยออกมา ภารกิจเดิมยังอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนมาสู่การทำช่องของเรา เป็น Edutainment ที่ได้ความรู้แต่ก็ไม่เครียดจนเกินไป เบาสมองแต่ก็ไม่ตลกจนเกินไป พยายามบาลานซ์ทั้งสองด้านให้พอดี

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เรากลับไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเลิกสอนหนังสือ ตรงกันข้าม เรายังคงทำงานแบบเดิม เพียงแต่เปลี่ยนช่องทาง เปลี่ยนรูปแบบใหม่ หันมาคุยกับคนกลุ่มใหม่ๆ บ้าง

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

ถามว่าท้าทายไหม ท้าทายมาก เพราะถ้าย้อนกลับไปมองตัวเองสักแปดปีที่แล้ว เราเป็นคนที่ไม่ชอบออกสื่อเลย แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าเราต้องเปิดเผยตัวเอง ต้องมีคนรู้จัก ต้องสูญเสีย Privacy บางอย่างไป จริงๆ เรามีมุมที่หวงแหน Privacy พอสมควร สังเกตว่าเราจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องตัวเองเท่าไหร่

แต่สิ่งที่ทำให้เราอยากทำต่อ คือฟีดแบ็กที่ได้รับกลับมา เคยมีน้องคนหนึ่งส่งข้อความมาหา บอกว่าเป็นโรคซึมเศร้า ไปหาหมอ หมอแนะนำว่าให้ลองหาสิ่งที่ชอบ สิ่งที่สนใจ แล้วเผอิญได้มาดูช่องเรา ทำให้สนใจประวัติศาสตร์ ไปหาซื้อหนังสือมาอ่านตามที่เราบอก สุดท้ายมันช่วยให้เขาดีขึ้นได้

คุณเชื่อไหม มีคนส่งข้อความมาหาเรา บอกว่ารายการเราช่วยให้เขาดีขึ้นจากอาการซึมเศร้าแบบกรณีนี้ไม่ต่ำกว่าสี่ถึงห้าคน นี่คือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่างานของเรามันมีคุณค่านี่หว่า ขนาดทำแบบกากๆ ตัดต่อโง่ๆ แต่มันมีประโยชน์สำหรับบางคน ฉะนั้น คนที่ไม่ชอบ คนที่โจมตี ไม่เป็นไร อย่างน้อยมันยังมีประโยชน์กับคนกลุ่มหนึ่ง เราจะทำต่อไป นี่คือความสุขแบบเดียวกันกับตอนเราสอนน้องๆ แล้วเห็นเขาเก่งขึ้น

คุณหาวัตถุดิบหรือไอเดียในการทำคอนเทนต์จากไหน

มาจากความเนิร์ดส่วนตัวล้วนๆ เลย ซึ่งเราไม่ได้เนิร์ดแบบนักวิชาการจ๋าๆ เรามีความเป็นลูกผสม พูดเล่นพูดจริงได้ รู้นั่นนิด รู้นี่หน่อย อาศัยว่ามีเพื่อนเก่งๆ เยอะ แล้วใช้ประโยชน์จากเพื่อนอีกที (หัวเราะ) ซึ่งทุกคนก็แฮปปี้นะ เขารู้สึกว่า Farose Channel เป็นเหมือนที่รวมพล เป็นพื้นที่ที่เขาจะได้นำเสนออะไรบางอย่าง บางคนไม่มีโอกาสได้พูดหรือออกสื่อเท่าไหร่ ทั้งที่เป็นคนเก่งมาก มีความรู้เยอะมาก ความสนุกเลยอยู่ที่ว่า ถ้าคนนี้เก่งเรื่องนี้ งั้นชวนมาทำอันนี้ดีกว่า

อย่างรายการพอดแคสต์ People You May Know ก็มาจากตอนที่นั่งกินข้าวกับเพื่อน แล้วมันชวนคุยแต่เรื่องนี้ คุยจนเรารู้สึกว่าทำไมมึงเนิร์ดจังวะ มา มาจัดรายการคุยกันเลยดีกว่า (หัวเราะ) คนไหนชอบคุยเรื่องอะไร จัดเลย ตามเรื่องที่เขาสนใจ

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

มีคนชอบถามว่า ทำไมพี่ฟามีคนมาชวนคุยเยอะจังเลยคะ ไม่จบไม่สิ้นสักที นี่ก็เพิ่งรู้ตัวเหมือนกันว่าในชีวิตเรา มีคนที่เป็นเนิร์ดในแต่ละด้านเยอะมาก ทุกวันนี้ในลิสต์ก็ยังไม่หมด ยังเชิญมาคุยได้เรื่อยๆ

ถ้าให้นึกย้อนไป คอนเนกชันกับคนเหล่านี้มาจากไหน

อาจเพราะเราเป็นคนชอบคุย เจอใครคุยได้หมด แต่ถามว่าเจ๊าะแจ๊ะไหม ก็ไม่นะ บางมุมเหมือนจะหยิ่งด้วยซ้ำ แต่เราชอบคุย ชอบศึกษา เราสนใจในความแตกต่าง อยากรู้ว่าเขาเป็นใคร ทำอะไร เรียนอะไรมา

ถามว่าทำไมถึงรู้จักคนเยอะ คิดว่าตอนเรียนก็มีส่วน เราเป็นสายกิจกรรม พอทำกิจกรรมเยอะ เราเลยไม่ได้รู้จักแค่เพื่อน แต่รู้จักไปถึงรุ่นพี่รุ่นน้องที่ห่างกันหลายปี อาจารย์ที่คณะอักษรฯ เคยบอกเราว่า เธอรู้ตัวไหมว่าเธอเป็นคนที่รู้จักคนในคณะกว้างที่สุดแล้ว นับตั้งแต่รุ่นแก่กว่าเธอขึ้นไป จนถึงรุ่นถัดลงไปข้างล่าง บางคนห่างกันสิบปียังรู้จักเลย

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

ห่างกันสิบปี ตอนเรียนไม่น่าจะทันกัน แล้วไปรู้จักกันทางไหน

อ๋อ เรานึกคำตอบออกแล้ว เราเป็นคนแก่แดดมาตั้งแต่เด็ก (หัวเราะ) ชอบคุยกับรุ่นพี่ อยู่มอสามแต่ชอบคุยกับมอหก พออยู่ปีหนึ่ง ก็อยากคุยกับปีสี่ พอรู้จักพี่ๆ เขาก็แนะนำคนนั้นคนนี้ต่อไปเป็นทอดๆ

สมัยนั้นยังไม่ได้คิดหรอกว่าวันหนึ่งจะได้มาทำ Farose Channel อย่างตอนไปเรียนที่อังกฤษ แล้วเราจะไปเที่ยวปารีส ก็ถามไปในกลุ่มของคณะว่ามีใครอยู่ปารีสไหมคะ รุ่นพี่ก็ช่วยกันชี้เป้า นี่ไง เจ๊คนนี้อยู่ปารีส เดี๋ยวไปรับน้องหน่อย พอไปถึงก็เจอเจ๊ป้อง (หนึ่งในตัวละครสำคัญของรายการ ไกลบ้าน) มารอรับที่ลูฟว์ เพื่อจะพาเราไปกินข้าว ทั้งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน

บ้านไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน

ในฐานะที่ทำรายการ ไกลบ้าน คุณนิยามคำว่า ‘บ้าน’ ว่ายังไง

ถ้าเอาความรู้สึกจริงๆ คำว่าบ้านสำหรับเรา ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างเลย แต่คือการได้อยู่กับผู้คนที่เข้าใจ จะเป็นที่ไหนก็ได้ ถ้าตอนนี้ก็คือที่กรุงเทพฯ เรามีเพื่อนพี่น้องที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เรารู้สึกว่านี่คือบ้าน

ส่วนอนาคต ถ้ามีโอกาสได้ไปอยู่ต่างแดน เราคงต้องการเงื่อนไขข้อนี้ข้อเดียว ขอแค่มีคนที่เข้าใจแล้วอยู่ด้วยกันได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเวลาเราไปปารีสหรือไปซานฟรานซิสโก เราถึงไปอยู่นานมาก

หลักๆ คือเรื่องคน ต่อให้ที่ที่เราไปจะสวยแค่ไหน แต่ไม่มีคนที่อยู่ด้วยกันแล้วเข้ากันได้ ความสวยมันก็แค่นั้น

อย่างปารีสที่ไปบ่อย เพราะมีพี่น้องที่ถูกคอกันรักใคร่กันมา อาศัยอยู่ที่นั่นกันหลายคน ซานฟรานฯ ก็เหมือนกัน ถามว่าบ้านสำหรับเราคืออะไร บ้านคือผู้คน ผู้คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

 เวลามีคนถามว่าฟาโรสเป็นคนที่ไหน คุณจะตอบว่า…

(นิ่งคิด) ราชบุรี

เราเกิดที่หาดใหญ่ เรียนประถมที่สุไหงโกลก มัธยมย้ายไปราชบุรี พอปีหนึ่งก็ขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ จนถึงทุกวันนี้

แม้ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด เราจะอยู่กรุงเทพฯ นานที่สุด แต่ช่วงเวลาที่ราชบุรีคือช่วงที่เราเปลี่ยนจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเคลียร์ตัวเองในหลายๆ เรื่อง เราเป็นใคร เราชอบอะไร ทุกอย่างมันชัดเจนที่นั่น แล้วเวลาคุยกับเพื่อนบนโต๊ะอาหาร เหตุการณ์ที่ราชบุรีจะถูกยกมาพูดถึงมากที่สุด ช่วงที่เรียน รด. ก็ราชบุรี ช่วงที่อ่านหนังสือหนักๆ เพื่อจะสอบให้ติด ก็ราชบุรี ช่วงเวลาของความล้มเหลวพ่ายแพ้ ก็ราชบุรี เพื่อนฝูงบริวารก็อยู่ราชบุรี ทุกอย่างมันรวมอยู่ที่นั่น

ถ้าจะมีอีกที่ที่เป็นบ้าน ก็คือคณะอักษรฯ ตอนสอบเข้ามา เราติดคณะนี้คนเดียว เป็นเด็กเนิร์ดๆ คนหนึ่งจากต่างจังหวัด ส่วนเพื่อนๆ ก็กระจัดกระจายกันไป ด้วยความที่เข้ามาคนเดียว แอบกลัวเหมือนกันว่าจะอยู่ไม่รอด ทำให้เราต้องพยายามผูกมิตรกับคนจำนวนมาก แล้วเพื่อนที่เราเจอส่วนใหญ่ในคณะอักษรฯ ก็น่ารักมาก

กลุ่มเพื่อนฝูงที่เราคบหา ดูง่ายๆ จากคนที่เห็นในช่องฟาโรสแปดสิบถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเด็กอักษรฯ ทั้งนั้น เวลาเจอคนกลุ่มนี้ แม้จะนั่งอยู่ที่ปารีสหรือที่ไหน แต่ Vibe จะเหมือนเรากลับไปอยู่ที่คณะ

‘ฟาโรส’ จากเด็กราชบุรีที่ฝันอยากไปเมืองนอก สู่การเป็นติวเตอร์และยูทูเบอร์ ‘ไกลบ้าน’

เหมือนจะได้คำตอบชัดขึ้นแล้วว่าทำไมคุณถึงรู้จักคนเยอะ

ใช่ แง่หนึ่งมันคือความกลัวด้วย กลัวว่าถ้าฉันอยู่คนเดียวคงไม่รอด ฉันต้องอยู่กับเพื่อน ฉันต้องผูกมิตรกับทุกคน

คำถามสุดท้าย แอบสงสัยมานานแล้วว่า ชื่อ ‘ฟาโรส’ มาจากไหน

มาจากค่าย รด. ตอนมอหก (หัวเราะ) มีช่วงที่ครูฝึกเรียกให้นักศึกษาหญิงออกไปข้างหน้า แล้วให้แนะนำตัวเป็นมิส… มาจากประเทศอะไรก็ว่าไป เราเป็นคนสุดท้าย แทบไม่เหลือประเทศอะไรให้เล่นแล้ว ก็เลยนึกถึงอียิปต์ “มิสฟาโรส จากประเทศอียิปต์ค่ะ” ครูฝึกก็งงว่าฟาโรสคืออะไร เราอธิบายว่า ฟาโรส คือฟาโรห์เพศเมียค่ะ คิดขึ้นมาสดๆ ตอนนั้น เฮฮากันไป

พอเข้าปีหนึ่งที่จุฬาฯ มีงานรับน้องก้าวใหม่ ต้องเขียนป้ายชื่อ ตอนแรกจะใช้ชื่อ ณัฏฐ์ แต่รุ่นพี่ถามว่ามีชื่ออื่นไหม ชื่อที่มันไม่ซ้ำกับใคร เราเลยบอกไปว่า “ฟาโรสค่ะ” อย่างไม่ได้ตั้งใจ จากนั้นก็ใช้ชื่อนี้มาตลอด

Writer

Avatar

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล

อดีตกองบรรณาธิการนิตยสาร WRITER และ The101.world ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการฝึกหัด ถนัดในการเรียบเรียงน้ำเสียงและความคิดของผู้คนออกมาเป็นงานเขียนที่น่าสนใจ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล