The Cloud X ไทยประกันชีวิต

น้าเมศ-ราเมศวร์ เลขยันต์ บอกว่า เขาเป็นเพียงเกษตรกรชาวบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี แต่สำหรับเรา เขาเป็นหนึ่งในนักการสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรมได้อย่างมีสุนทรียะที่สุดคนหนึ่ง 

ชายคนนี้เป็นนักพัฒนาการเกษตรหลากหลายมิติ เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของกลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมบ้านไร่ ที่ตั้งใจสื่อสารเรื่องการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชพรรณ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปยังคงมีความหลากหลายทางอาหาร 

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

เข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เจอข้าวไม่กี่สายพันธุ์กับพืชผักเศรษฐกิจไม่กี่ชนิด แล้วเราก็กินวนซ้ำอยู่อย่างนั้น ทั้งที่จริงประเทศไทยมีข้าวหลายหมื่นสายพันธุ์ ผลไม้พื้นฐานอย่างกล้วย ยังมีอีกนับสิบชนิด นั่นล่ะคือการกินแบบขาดความหลากหลาย 

ที่ใหญ่กว่าเรื่องการกิน คือเมื่อพืชพรรณบางชนิดสูญหายไปจากโลก สัตว์ที่เคยพึ่งพาพืชนั้นๆ ย่อมได้รับผลกระทบตามกันเป็นทอดๆ นำไปสู่การขาดสมดุลในระบบนิเวศ ตอนนี้เราอาจคิดว่าเป็นเรื่องแสนไกลตัว แต่เชื่อเถอะว่าเรื่องนี้ใกล้ตัวและน่าวิตกกังวลกว่าที่คิด 

ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา น้าเมศขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ด้วยวิธีที่ไม่ธรรมดา เราขอใช้คำว่าแนบเนียน เพราะมันช่างกลมกลืนไปกับวิถีวัฒนธรรมร่วมสมัย

ทั้งวงดนตรีโฟล์กกลิ่นอายถิ่นตะวันตก ‘ซุ้มข้าวแลง’ ที่เขาก่อตั้งกับพรรคพวก ตระเวนร้องเล่นเพื่อสื่อสารเรื่องอาหารพื้นบ้าน ความมั่นคงทางอาหาร วัฒนธรรม และความดีงามในอดีต ผ่านเนื้อเพลงที่แต่งขึ้นเอง บอกเลยว่าเพราะบาดใจ เกษตรกรร้องตามและซึมซับนัยที่แฝงมาในบทเพลง แบบนี้ไม่เรียกว่าแนบเนียนแล้วจะให้เรียกว่าอะไร

น้าเมศและเพื่อนๆ ยังก่อตั้งตลาดอินทรีย์ซาวไฮ่ ด้วยความตั้งใจจะสร้างพื้นที่ให้เกษตรคนเพาะปลูก ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน นำผลผลิตมาจำหน่ายมีรายได้จากการพืชผลไปจนถึงผลิตภัณฑ์อินทรีย์ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่ที่แสดงให้เห็นว่าเกษตรอินทรีย์สร้างทั้งมูลค่าและคุณค่าไปพร้อมกันได้ ที่ที่ทุกคนต่างมีทางเลือกในการบริโภค เพราะทางเลือกคือหนึ่งในเส้นทางไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร

ตลาดซาวไฮ่ฮิปเก๋เหมาะกับการเดินทอดน่องและหย่อนกายตลอดทั้งวัน ร้านรวงแต่ละร้านมีเรื่องราวและสารที่ตั้งใจบอกเล่าซึ่งครอบไว้ด้วยคำว่า ‘ยั่งยืน’ ในตลาดมีพื้นที่ให้เกษตรกรและคนทำงานฝีมือ ไปจนถึงพี่น้องชาติพันธุ์ในพื้นที่ 

ทั้งเรื่องอาหารท้องถิ่น ผักผลไม้อินทรีย์ การปลูกกาแฟรักษาป่า วิถีวัฒนธรรมผ่านงานหัตถกรรมพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธรรมชาติ ซุ้มบทกวี งานศิลปะ และวงซุ้มข้าวแลงที่มาเปิดคอนเสิร์ตที่นี่เป็นประจำ

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่
ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

ทุกวันนี้เกษตรกรชาวบ้านไร่และเครือข่ายภาคกลางจำนวนไม่น้อย เปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นเกษตรแบบดั้งเดิมที่มีพืชพรรณหลายชนิดเติบโตผสมผสานกัน กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ง่าย น้าเมศเล่าอย่างติดตลกว่า คนหาว่าเขาบ้าทั้งนั้น ตอนที่เริ่มปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และผักพื้นบ้านในไร่ตัวเอง เสียงหัวเราะจางหาย ก็ตอนที่ทุกคนเห็นผลผลิตผลิออกดอกผลงดงาม ซึ่งใช้เวลาและความตั้งใจนานนับสิบปี 

ถ้าพร้อมแล้ว ขับรถมุ่งหน้าสู่ป่าตะวันตก เพื่อไปคุยกับน้าเมศถึง 30 ปีแห่งการขับเคลื่อน (แบบสายเย็น) ที่บ้านไร่กัน 

01

ชีวิตเด็กซาวไฮ่

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

“ผมเติบโตแบบเด็กชนบททั่วไป พ่อรับราชการครู เลยเป็นเด็กบ้านนอกที่ได้เรียนหนังสือในระบบ แต่ถึงอย่างนั้นชีวิตชาวบ้านไร่ก็ไม่ได้แตกต่างจากชาวบ้านคนอื่น พ่อแม่ผมทำไร่นาอย่างจริงจัง เสาร์-อาทิตย์เลยได้ช่วยทำงาน เรียนรู้จากการละเล่นในห้องเรียนใหญ่ห้องนี้ 

“สมัยนั้นชาวบ้านเริ่มทำไร่ข้าวโพด และปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอย่างอ้อยและมันสำปะหลัง เดิมบ้านไร่เป็นถิ่นสวนหมาก พืชพรรณธัญญาหารในสวนหมากคล้ายสวนสมรมทางภาคใต้ ผสมผสานและอุดมสมบูรณ์ ผมเติบโตมากับการค่อยๆ เห็นความเปลี่ยนแปลง เมื่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยวแพร่หลาย สวนหมากที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของดินของน้ำก็ค่อยๆ หายไป” น้าเมศย้อนความทรงจำถึงชีวิตสมัยเด็ก

“บ้านไร่ติดห้วยขาแข้ง ช่วงที่พี่สืบ (สืบ นาคะเสถียร) ยังมีชีวิต บรรยากาศงานอนุรักษ์ของบ้านไร่ตอนนั้นมันน่าตื่นเต้นมาก เขาเคยมาบรรยายเรื่องงานอนุรักษ์ป่าไม้ที่โรงเรียนบ้านไร่วิทยา ซึ่งผมเรียนอยู่ตอนนั้น ด้วยความที่อินกับเรื่องธรรมชาติรอบตัวอยู่แล้ว การบรรยายในวันนั้น ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจอย่างมาก อยากเรียนวนศาสตร์ อยากทำงานกรมป่าไม้ อยากทำงานอนุรักษ์

“จนเข้ากรุงเทพฯ ไปเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้จะไม่ได้เรียนวนศาสตร์อย่างที่เคยหวังไว้ แต่ก็คิดอยู่ตลอดว่าจะทำยังไงให้เราได้เข้าใกล้ความฝันตั้งแต่เด็ก จนได้ไปเดินป่าที่ภูกระดึงและได้พบพี่ๆ หลายคนที่ทำงานอนุรักษ์และขับเคลื่อนเรื่องเยาวชนที่มูลนิธิโกมลคีมทอง จึงเกาะกลุ่มและทำงานอยู่กับเขา อาศัยว่ารักดนตรีเลยได้เป็นนักดนตรีประจำค่ายของมูลนิธิ อย่างเรื่องสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อการพึ่งพาตัวเอง ไปจนถึงการสร้างกลุ่มอาสาสมัครเยาวชนพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ผมซึมซับและเก็บไว้กับตัวโดยอัตโนมัติ

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

“ตอนนั้นเดินทางขึ้นเหนือลงใต้ ได้รู้จักกับคนทำงานเพื่อสังคมหลายคน จากนั้นไปทำงานกับ พี่เตือนใจ (เตือนใจ ดีเทศ) ซึ่งทำงานขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของพี่น้องชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ์ที่ดินเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชนชาติพันธุ์ ยิ่งตอกย้ำให้ผมซึมซับเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านพืชพรรณธัญญาหาร 

“ที่สนุกคือ ในกระบวนการเหล่านั้นเรามีดนตรีเป็นตัวขับเคลื่อน ได้รู้จักคนเยอะขึ้นจากดนตรี มันเหมือนบูรณาการโดยเราไม่รู้ตัว เพราะดนตรีทำงานเชื่อมคนองค์กรนั้นองค์กรนี้เข้าหากัน 

“ในเขต ส.ป.ก. (การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ผมได้คลุกคลีกับกลุ่มคนที่ทำงานเบื้องหลังการขับเคลื่อนอะไรหลายๆ อย่างในประเทศไทย โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร ผมเรียกว่าการทำงานขับเคลื่อนแบบสายเย็น คือเน้นสร้างให้ดู ทำให้เห็น ผมบังเอิญได้ไปอยู่ในวงการนั้น เลยได้เรียนรู้วิถีชีวิตพึ่งพาตัวเอง เกษตรพอเพียง การทำไร่นาสวนผสมอย่างเกษตรสมรมแบบที่เคยเห็นตอนเด็กๆ ได้ก็เรียนรู้แนวคิดในมิติอื่นๆ ผ่านการทำงานกับพี่น้องเกษตรกรสี่ภาค”

02

กลับบ้านมาเปลี่ยนโลก

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

“ช่วงที่ทำงานกับกลุ่มเกษตรกรหลายๆ ภาค ผมเห็นการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเกษตร อย่างเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว เกษตรกรกลุ่มหนึ่งแปรรูปผลผลิตพื้นบ้านอย่างหมากเม่าให้เป็นไวน์รสชาติกลมกล่อม โอ้โฮ หมากเม่าเนี่ย บ้านเรามีเยอะแยะ ทรัพยากรของบ้านไร่เราเห็นมาตั้งแต่เด็ก เรารู้ว่ามันอุดมสมบูรณ์แค่ไหน บ้านเราไม่ได้ด้อยกว่าใครเลย เลยเกิดความคิดที่จะกลับมาสร้างอนาคตที่ยั่งยืนทางการเกษตรให้บ้านและตัวเราเอง

“กลับบ้านมาเพราะอยากพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน อยากเปลี่ยนแปลงโลก ทำให้สังคมดีงาม โดยเฉพาะเรื่องอนุรักษ์พันธุกรรมพืชผล เมล็ดพันธุ์เล็กๆ คือจุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่ง ที่ดินทำกินของครอบครัว เดิมทำไร่แบบผสมผสาน เป็นที่โล่งกว้างมองไปรอบๆ เห็นทิวเขาโอบล้อม

“ผมจึงเริ่มปลูกพืชยืนต้นหลากหลายชนิด เกือบสามสิบปีผ่านไป ตอนนี้ต้นไม้ใหญ่เติบโตจนแน่นขนัด แม้จะบดบังวิวทิวทัศน์ไปบ้าง แต่ได้ความชอุ่มร่มเย็นเป็นแหล่งเก็บความชุ่มชื้นมาแทนที่ พร้อมพืชผลในสวนป่าอีกมากมายให้เก็บกิน” น้าเมศชี้ให้ดูต้นหมาก พร้อมอธิบายว่า มันคือดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ 

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

จากนั้นก็ถึงคราวปลูกข้าวไร่ บ้านน้าเมศกินข้าวที่ปลูกเองเก็บเกี่ยวกันเอง ด้วยพื้นที่ขนาดแค่ 1 ไร่ก็เพียงพอสำหรับกินในครัวเรือน รวมถึงเอาไปฝากตามประเพณีให้ญาติผู้ใหญ่ตลอดทั้งปี 

“ไร่ข้าวไม่ได้มีแค่ต้นข้าว มันมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากมายที่เจริญเติบโตเกื้อกูลอยู่ด้วยกัน” น้าเมศชี้ให้ดูผักกาดดอยและมันแกว ที่ขึ้นแซมอยู่ตามแนวต้นข้าว

ทุกปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว เกษตรกรต้องเก็บและคัดเมล็ดพันธุ์ ข้าวที่ปลูกมีการกลายพันธุ์ทุกปี หากไม่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีไว้ปลูกต่อ ข้าวรุ่นใหม่จะมีลักษณะห่างไกลจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปเรื่อยๆ

ทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากรู้จักข้าวที่กินอยู่เพียงไม่กี่สายพันธุ์ ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ คิดเป็นไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ข้าวไทยที่มีอยู่ในธนาคารข้าวกว่า 2 หมื่นสายพันธุ์ หรือไปตลาดก็เจอผักขายอยู่ไม่กี่ชนิด นี่คือการกินแบบขาดความหลากหลาย ถ้าเราไม่อนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชพรรณ จะนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางอาหาร และลุกลามไปถึงการทำลายวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม

“ภาคเกษตรกรรมบ้านเรามันมีภูมิปัญญา มีอะไรที่เป็นรากเหง้าฝังอยู่ อย่างการวิถีทำนาประณีตที่ต้องมีการคัดพันธุ์ข้าว เพื่อรักษาพันธุ์ให้ได้คุณภาพ ก็เป็นหนึ่งในต้นทุนความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมจึงเป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้งและเกี่ยวข้องกับวิถีวัฒนธรรม เราต้องสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกไป เลยเกิดเป็นกลุ่มอนุรักษ์พันธุกรรมบ้านไร่ เครือข่ายภาคกลาง ที่ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ” 

เครือข่ายของน้าเมศ ประกอบไปด้วยเพื่อนพ้องเครือข่ายเกษตรกรที่มีเจตนารมณ์เดียวกันจากหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท กำแพงเพชร กาญจนบุรี นอกจากเรื่องอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและพาความมั่นคงทางอาหารกลับคืนมาแล้ว พวกเขาตั้งใจขับเคลื่อนเรื่องเกษตรกรรุ่นใหม่ ผ่านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ งานศิลปะ และดนตรี 

“ผมเรียนรู้เรื่องพวกนี้จากตอนทำพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ ว่าถ้าอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและอยากรักษาวิถีเกษตรแบบดั้งเดิม เราต้องทำให้เกษตรเป็นเรื่องสนุก ไม่ล้าสมัย ผมกลับบ้านมาไม่ได้กะจะมาแค่ทำไร่ทำสวน แต่พยายามเชื่อมองค์ความรู้ของกลุ่มนักวิจัย นักสังคมในเมืองเข้ากับบริบทบ้านเรา เพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่จริงๆ”

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

03

ทำไมเมล็ดพันธุ์จึงสำคัญ

“บ้านไร่เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ดินดำน้ำชุ่ม เมื่อก่อนตอนเด็กๆ วิ่งลงจากบ้านปีนขึ้นต้นไม้ ก็มีอะไรให้เก็บกินแล้ว อยู่บ้านนอกอย่างบ้านไร่ไม่ต้องใช้เงินแยะ เพราะทรัพยากรบ้านเรามันเยอะ แค่ในไร่ข้าวก็มีเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านหลายสิบชนิดให้อนุรักษ์และขยายพันธุ์เพื่อไม่ให้สูญหายไป

“เมล็ดพันธุ์มีความสำคัญมาก และต้องใช้วินัยอย่างมากในการรักษา ถ้าเราลืมเก็บมันแค่ปีหรือสองปี มันหายสาบสูญไปได้เลยนะ และถ้าหากมันหายไปจากโลก ก็เท่ากับระบบนิเวศขาดสมดุล เพราะการกิน การอยู่ของสัตว์บางชนิด ต้องพึ่งพิงพืชชนิดนั้น พอพืชหาย สัตว์ก็ล้มตาย ระบบนิเวศสั่นคลอน 

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

“เราไม่ได้สนใจที่มาของอาหาร ไม่พยายามเชื่อมโยงว่าการกินแต่ละครั้งสร้างผลกระทบอะไรบ้าง กินแบบนี้ทำให้ภูเขาหัวโล้นไหม น้ำเสียหรือเปล่า มีปลาหรือสัตว์สูญพันธุ์ไปเท่าไหร่ หรือแม้แต่การกินโดยไม่รู้ที่มา ชาวกะเหรี่ยงที่เคยหากินในป่า วิถีชีวิตที่พึ่งพิงอนุรักษ์ป่าหายไป เพราะป่าถูกถางให้โล่งเตียนเพื่อปลูกข้าวโพด เมื่อกินโดยไม่มีส่วนไปเกื้อกูลผู้ผลิต ผลเสียคือความไม่ยั่งยืนโดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต

“สมัยนี้ตามท้องตลาดมีพืชผักขายกันอยู่ไม่กี่อย่าง ความหลากหลายทางพืชพรรณลดลง นี่ยังไม่นับถึงการพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบริษัทหรือโรงสีขนาดใหญ่ ปลูกพืชผักที่มีการจดสิทธิบัตรไม่ได้ ขยายพันธุ์พืชไม่ได้ จำกัดเสรีภาพในการปลูก ที่นำไปสู่การจำกัดเสรีภาพในการกินด้วยเช่นกัน เอาใกล้ๆ ตัวเลย เกษตรกรบางคนอาชีพปลูกแตงไทย เขายังต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านค้ามาปลูกเลย”

น้าเมศเลยเก็บเมล็ดพันธุ์ นำมาขยายพันธุ์และส่งต่อ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการเกษตรตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

“เริ่มจากเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านพื้นถิ่น จากนั้นเวลาไปไหนที่ไม่เหมือนบ้านเรา เจอพืชพรรณอะไรใหม่ๆ ผมก็หอบกลับมาที่ไร่หมดเลย อย่างพันธุ์ข้าวไร่ เคยครั้งหนึ่งไปชัยภูมิ ผมหอบกลับมาสามสิบกว่าสายพันธุ์ หรือเวลาขึ้นเหนือไปแหล่งปลูกข้าวดอย ผมก็นำพันธุ์ข้าวดอยมาลองขยายพันธุ์ด้วยเช่นกัน”

รอบบ้านน้าเมศแบ่งที่ดินออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคือ สวนป่าที่หนาแน่นไปด้วยพืชยืนต้นอายุ 30 ปี ที่เพิ่งเริ่มปลูกตอนน้าเมศตัดสินใจกลับบ้านมาเป็นเกษตรกรที่ขับเคลื่อนผลักดันเรื่องการเกษตร ส่วนที่สองคือ สวนผลไม้อย่างทางใต้ เรียกว่าสวนสมรม ปลูกไม้ผลคละกันไปหลากหลายชนิด และสุดท้ายคือ ไร่ข้าว ที่มีพืชผักพื้นบ้านนับสิบชนิดเติบโตเกื้อหนุนไปพร้อมๆ กับข้าวไร่ที่กำลังออกรวง

ทั้งหมดนี้คือทางเลือกที่หลากหลายในการกินที่ปรากฏให้เห็นชัดในพื้นที่ดินขนาดไม่กี่สิบไร่ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างแท้จริง 

04

การเดินทางของใบไม้และวงซุ้มข้าวแลง

น้าเมศบอกว่า แรกๆ ชาวบ้านที่ปกติปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวล้วนหาว่าเขาบ้ากันทั้งนั้น จนเมื่อความสำเร็จงอกเงยเป็นผลผลิตให้เก็บกินตลอดทั้งปี พวกเขาจึงเข้าใจและเปิดใจมากขึ้น แต่น้าเมศและเครือข่ายไม่หยุดเพียงแค่นั้น 

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

วารสารราย 3 เดือนชื่อ การเดินทางของใบไม้ ถือกำเนิดขึ้น เพื่อสื่อสารกันระหว่างเกษตรกรในเครือข่าย และเพื่อสื่อสารเรื่องการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชไร่ออกไปในวงกว้าง สมาชิกคนไหนอยากแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ก็แนบไปพร้อมกับวารสาร เป็นการสื่อสารแบบคลาสสิกที่ฟังน้าเมศเล่าแล้วอดยิ้มตามไม่ได้

ในวารสารยังมีเรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วยนวัตกรรม จดหมายข่าวจากเพื่อนพ้อง ภาพวาด ไปจนถึงบทกวี 

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่
ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

“ไม่ใช่ว่าจะตั้งหน้าตั้งตาทำไร่ทำสวนอย่างเดียวนะ การใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติมีความโรแมนติกของมันอยู่ ผมเป็นคนอ่านหนังสือคนหนึ่ง ก็จะมีภาพหนังสือเรื่อง บ้านเล็กในป่าใหญ่ หนังสือ เสเพลบอยชาวไร่ ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

“ดังนั้น แม้จะเป็นการทำงานขับเคลื่อนเรื่องอนุรักษ์พันธุกรรม แต่ผมไม่ใช่สายฮาร์ดคอร์ เลยเลือกที่จะสื่อสารสิ่งเหล่านั้นด้วยศิลปะและดนตรี อย่างภาพสเก็ตช์พันธุกรรมในไร่ข้าวที่ผมวาด เป็นคล้ายๆ สารบัญของพันธุกรรมมากมายหลายชนิดในไร่ข้าว ที่ผมสังเกตและสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ วาดเสร็จก็เผยแผ่สื่อสารออกไป เพื่อสร้างความตระหนักให้เกษตรกรทั่วไปรับรู้ถึงความสลักสำคัญ”

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

น้าเมศมีวงดนตรีชื่อ ‘ซุมข้าวแลง’ ซุมคือการมารวมกัน ข้าวแลงคือข้าวเย็น เพราะวิถีคนบ้านไร่ ผ่านไปบ้านไหน ก็จะวัฒนธรรมแลกอาหารกัน นัยแฝงคือการสื่อสารเรื่องอาหารพื้นบ้าน ความมั่นคงทางอาหาร วัฒนธรรมและความดีงามในอดีต ตลาดจนงานอนุรักษ์ป่า ผ่านเนื้อเพลงที่เราแต่งกันขึ้นมาเอง วงซุมข้าวแลงดำเนินการมากว่า 20 ปีแล้ว เสียงเพลงกลายเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ ในการขับเคลื่อนการทำงานของน้าเมศและเครือข่ายเกษตรกร

น้าเมศเล่าต่อว่า “เมื่อก่อนตอนที่เราทำงานเรื่องนี้กันใหม่ๆ พี่ๆ เพื่อนๆ ในเครือข่ายจะไปล้อมวงทำงานกันที่ไร่ของผม คุยไปคุยมา จึงเกิดเป็นคำถามว่า ถ้าเราอยากสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ที่ที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน คนเล็กคนน้อย ต่างมีทางเลือกในการบริโภค ที่ที่แสดงให้เห็นว่าเกษตรอินทรีย์สร้างทั้งมูลค่าและคุณค่า จะต้องทำอย่างไร 

“คำตอบคือ เราต้องทำตลาดซาวไฮ่”

05

ตลาดซาวไฮ่

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่
ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

ทุกวันนี้ ตลาดซาวไฮ่เปิดกิจการย่างเข้าปีที่ 5 แล้ว แต่ก่อนจะกลายเป็นศูนย์รวมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อย่างทุกวันนี้ ที่นี่เคยเป็นตลาดขนาดไม่ถึง 10 ร้านรวงมาก่อน

“ชาวบ้านแถวนี้จากที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมี เขาก็เริ่มเปลี่ยนมาดูวิธีการปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี แต่สิ่งเหล่านี้ผมเข้าใจว่าต้องใช้เวลา ค่อยๆ แนะนำให้ชาวบ้านรู้จักกับการทำเกษตรอินทรีย์ ถ้าคุณฉีดยา เวลามีเจ้าหน้าที่มาตรวจแปลงเจอสารพิษ ผลผลิตคุณไม่นับเป็นอินทรีย์ คุณก็ขายไม่ได้ 

“ยิ่งเราทำตลาด มันยิ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่าของที่ขายได้ จับตลาดได้ สร้างมูลค่าจริงๆ คือของอินทรีย์ เพราะใครๆ ก็อยากกินของดี มีมูลค่าและคุณค่า ชาวบ้านก็เข้าใจมากขึ้น เครือข่ายก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ ตลาดนี้เกิดจากเครือข่าย ทั้งส่วนงานคิดและงานทำ แม้แต่ละคนจะถนัดไม่เหมือนกัน แต่เกื้อกูลกันได้พอดี”

ที่ตลาดซาวไฮ่มีการจัดเวิร์กช็อปอยู่ตลอด ทั้งศิลปะ ดนตรี ไปจนถึงนวัตกรรมเกษตรและภูมิปัญญา “วันนี้ก็เพิ่งมีเวิร์กช็อปหน่อไม้ดอง ทำแกงหน่อไม้ดองใส่มะเขือไร่หลายชนิด เราพูดเรื่องการแปรรูปวัตถุดิบท้องถิ่นและนวัตกรรมเกษตร มาตั้งแต่ตอนทำวารสาร การเดินทางของใบไม้ เพราะเกษตรกรรมมีหลายมิติ ถ้าเราสักแต่ปลูกอย่างเดียว เราก็อยู่รอดไม่ได้ เราต้องยั่งยืนและพร้อมเติบโตไปกับความเปลี่ยนแปลง”

น้าเมศพูดทิ้งท้ายว่า “ผมอยากให้มีพื้นที่แบบนี้เยอะๆ นะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต้องใช้เวลาพอสมควร (ยิ้ม) มันเป็นพื้นที่ของกัลยาณมิตรให้ได้มาใช้ความสามารถพัฒนาสังคมบ้านเกิดด้วยกัน ที่สำคัญคือสนุก อย่างที่ผมบอกไปว่าต้องทำให้เกษตรเป็นเรื่องสนุก แล้วใครๆ ก็จะอยากมาร่วมด้วยช่วยทำ”

ราเมศวร์ เลขยันต์ ผู้ขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารและทำตลาดอินทรีย์ที่ฮิปสุดในอุทัยธานี, ตลาดซาวไฮ่

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล