Farm to You คือคำนิยามที่มาของผลิตภัณฑ์ L’Occitane

เราต่อสายทางไกลถึงนักพัฒนาผลิตภัณฑ์มือหนึ่งของแบรนด์นี้ เพราะอยากรู้ความลับที่ทำให้เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสัญชาติฝรั่งเศสเป็นที่นิยมและยอมรับจากทั่วโลก จนเกิดองค์ความรู้ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศสและมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น 

นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของ L'Occitane ผู้อยู่เบื้องหลังความงามแบบคนฝรั่งเศส

‘ธรรมชาติ’ คือคำตอบที่คนปลายสายให้กับเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ L’Occitane เองยึดถือมาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่ โอลิวิเยร์ โบซ์ซอง (Olivier Baussan) ก่อตั้งแบรนด์นี้ด้วยเครื่องกลั่นและรถตู้เล็กๆ หนึ่งคัน 

44 ปีให้หลัง L’Occitane ยังเชื่อในสิ่งนี้และปลูกฝังให้พนักงานทุกคนเชื่อในสิ่งเดียวกัน งานของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปไกลกว่าการหาวัตถุดิบ พัฒนาเป็นส่วนผสมที่มีประโยชน์ และผลิตออกมาเป็นสินค้าให้ซื้อขายแล้วจบ มันครอบคลุมไปถึงการสร้างเครือข่ายเกษตรกรท้องถิ่นที่ปัจจุบันมีมากกว่า 10,000 ราย ทำความรู้จัก เข้าใจ และเข้าไปพัฒนาแหล่งวัตถุดิบร่วมกับคนในท้องที่อย่างลาเวนเดอร์ เซดาร์ อิมมอคแตล และอัลมอนด์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแคว้นโพรวองซ์ (Provence) บ้านเกิดของแบรนด์ และเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายและยอดซื้อซ้ำอันดับ 1 ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของ L'Occitane ผู้อยู่เบื้องหลังความงามแบบคนฝรั่งเศส

นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ L’Occitane เชื่อว่า ผลิตภัณฑ์ที่ดีต้องดีกับทั้งคนทำและคนใช้ ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้ใช้ และพวกเขาไม่ได้พัฒนาแค่สินค้าที่วางขายบนชั้น หากเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตและสังคมของผู้ที่อยู่เบื้องหลังที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนคนตาบอดโดยการระดมทุนและใส่อักษรเบรลล์ลงในบรรจุภัณฑ์ สร้างงานให้ผู้หญิงที่ผลิตเชีย บัตเตอร์ ในประเทศบูร์กินาฟาโซ และเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแรกๆ ที่ตระหนักถึงการลดพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

และนี่คือเรื่องราวของทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

French Skincare

นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของ L'Occitane ผู้อยู่เบื้องหลังความงามแบบคนฝรั่งเศส

ซาราห์ ปริกาซ (Sarah Pricaz) เริ่มทำงานที่ L’Occitane เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน โดยเริ่มจากตำแหน่งดูแลยอดขายในส่วนของ Travel Retail แล้วค่อยเปลี่ยนมาทำแผนกการตลาดที่ต้องทำงานร่วมกับตลาดในหลายประเทศทั่วโลก จนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้เข้ามาดูแลทีมการพัฒนาแบรนด์และผลิตภัณฑ์ในตำแหน่ง International Marketing Vice President

ส่วน ปาสกาล ปอร์เตส (Pascal Portes) คือนักวิทยาศาสตร์ผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปีในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เขาเคยทำงานในบริษัทเครื่องสำอางในฝรั่งเศสมา 2 ที่ ก่อนจะย้ายมาทำงานกับ L’Occitane เมื่อ 7 ปีก่อนในตำแหน่ง Innovation & Sustainable Sourcing Director เพื่อสร้างทีมที่มีความเชี่ยวชาญในการหาส่วนผสมใหม่ๆ โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการต่างๆ

“หลังเรียนจบคณะบริหารธุรกิจ ฉันก็ตัดสินใจสมัครงานที่นี่ทันที” ซาราห์เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้น

เธอบอกว่า เหตุผลหลักเป็นเพราะบริษัทนี้ไม่ใช่บริษัทที่มุ่งเน้นเรื่องธุรกิจอย่างเดียว การกว้านซื้อไร่และสวนก็ไม่ใช่นโยบายที่บริษัทเลือกทำเมื่อต้องการวัตถุดิบจากธรรมชาติจำนวนมาก วิธีที่แบรนด์ทำ คือการร่วมทำงานกับเกษตรกรอิสระเพื่อพัฒนาวัตถุดิบต่างๆ โดยยังรักษาความสมดุลในระบบนิเวศไว้ให้ได้ดีที่สุด

เพราะให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ทำให้คนฝรั่งเศสขึ้นชื่อเรื่องการดูแลตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหน้า การแต่งตัว หรือการใช้ชีวิตที่ดูเป็นธรรมชาติ แบบที่เราเรียกกันว่า Effortless หรือการดูไม่พยายามมากเกินไป ด้วยความตั้งใจนี้ แบรนด์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสัญชาติฝรั่งเศสจึงโด่งดังไปทั่วโลก 

“ฉันอาจจะพูดแทนแบรนด์ฝรั่งเศสทั้งหมดไม่ได้ แต่สำหรับแบรนด์เรา แรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งต่างๆ มาจากธรรมชาติและพื้นที่ที่เราปลูกวัตถุดิบเหล่านั้น เราให้ความสำคัญกับคนโดยการแนะนำธรรมชาติให้คนรู้จัก ซึ่งทำให้เราแตกต่างจากคนอื่น” 

นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของ L'Occitane ผู้อยู่เบื้องหลังความงามแบบคนฝรั่งเศส

ปาสคาลเสริมต่อว่า สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ คือการค้นหาคุณสมบัติพิเศษของวัตถุดิบนั้น และหาให้ได้ว่ามันจะทำให้เครื่องสำอางหรือสกินแคร์ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งในโพรวองซ์มีพันธุ์ไม้ฝรั่งเศสถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด สำหรับพวกเขาเลยเป็นเหมือนสวนอัศจรรย์ที่ทำให้มีโอกาสในการค้นพบวัตถุดิบดีๆ มากขึ้น 

Farm to You

เมื่อทุกอย่างต้องมาจากธรรมชาติ ‘เวลา’ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด การพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบสามารถใช้เวลาสั้นเพียง 24 เดือน หรือต่อเนื่องยาวไปถึง 5 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบที่ใช้จะยังเหมือนเดิมเมื่อถึงฤดูกาลเก็บผลผลิตต่อไป

“ขั้นแรกของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือทดลองปลูกพืชพรรณ ดอกไม้ หรือผลไม้” ปาสคาลเริ่มเล่าให้ฟังถึงงานของเขา “จากนั้นใช้ความรู้และประสบการณ์หาความเป็นไปได้และประโยชน์ที่พืชหรือวัตถุดิบเหล่านั้นมีต่อผิว เมื่อได้ไอเดียตั้งต้นแล้ว เราจะดูประกอบกับความต้องการของตลาดในตอนนั้น โดยทำงานร่วมกับทีมการตลาดของซาราห์ แล้วจึงหาแหล่งปลูกพืชพรรณที่ยั่งยืนเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพตามต้องการ ต่อจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญจะทำหน้าที่พัฒนาวัตถุดิบนั้นให้เกิดเป็นส่วนผสมที่ใช้งานได้จริง แล้วค่อยนำไปใส่ในเครื่องสำอางต่างๆ

“ที่สำคัญคือ เรามีผู้เชี่ยวชาญเรื่องปฐพีวิทยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกนวัตกรรม ทำให้เราสร้างนวัตกรรมได้ตั้งแต่ระบบโครงสร้าง การปลูกพืช การพัฒนาส่วนผสม จนถึงผลิตภัณฑ์สุดท้ายที่ออกมา”

นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของ L'Occitane ผู้อยู่เบื้องหลังความงามแบบคนฝรั่งเศส

ฟังจากที่ปาสคาลเล่าแล้ว การทำงานของเขาก็เป็นลำดับขั้นตอนที่เข้าใจง่าย แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างคือความท้าทาย การทำงานกับธรรมชาติไม่เหมือนการทำงานกับเคมี เคมีแน่นอนเสมอ ในขณะที่ในธรรมชาติมักมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น 

“สภาพอากาศที่ควบคุมไม่ได้ แมลงศัตรูพืช ว่ากันตามตรงมันเป็นความท้าทายที่ต้องนั่งลุ้นในทุกๆ วัน” เขาว่าอย่างนั้น

ความท้าทายอย่างที่สองคือความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และเกษตรกร จริงอยู่ที่งานของทั้งคู่คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ออกสู่ท้องตลาด แต่แบรนด์ไม่ได้มองว่าเกษตรกรที่เข้าไปทำงานด้วยเป็นแค่ผู้ผลิต พวกเขาเป็นเหมือนหุ้นส่วน การรักษาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนระหว่างกันจึงเป็นอีกหน้าที่ที่ทั้งปาสคาลและซาราห์ตั้งใจทำเป็นอย่างมาก

“มันคือโลกสองโลกที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง โลกแรกคือโลกของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวสวน และอีกโลกหนึ่งเป็นของคนใส่เสื้อกาวน์สีขาวที่ทำงานในห้องแล็บ เราต้องหาวิธีการสื่อสารที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน เพื่อที่จะสร้างวัตถุดิบที่ดีที่นำไปพัฒนาได้จริง

“เรามีสัญญาธุรกิจระยะยาวระหว่างกัน และยังมีการให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ เช่น สภาพอากาศผันผวน เรื่องระบบนิเวศต่างๆ และยังมีการจัดตั้ง Fair Trade ในยุโรปอีกด้วย งานของเราจึงไม่ใช่การหาวัตถุดิบที่ดีหรือทำผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ออกมา แต่เราต้องพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน”

Almond Trees

วัตถุดิบที่ทีมของปาสคาลและซาราห์นำมาพัฒนาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส และมีแผนจะหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ จากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยตั้งใจว่าจะใช้วัตถุดิบที่มีความหมายต่อสังคม เศรษฐกิจ และผู้คนในท้องที่นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ในโพรวองซ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ นอกจากลาเวนเดอร์ที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมีอัลมอนด์เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น

ย้อนไปในยุค 1950 ที่เกิดวิกฤตอุณหภูมิลดลงครั้งใหญ่ อากาศหนาวทำให้ต้นไม้ส่วนใหญ่ในบริเวณนี้ล้มตายทั้งหมด ในตอนนั้นยังไม่มีนวัตกรรมหรืออุปกรณ์ที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น การเกษตรยังต้องทำด้วยมือ จนถึงหน้าหนาวใน ค.ศ. 1956 เกษตรกรส่วนใหญ่หันมาปลูกพืชที่ทนทานต่ออากาศและดูแลง่ายมากขึ้น ไร่อัลมอนด์ค่อยๆ หายไปจากโพรวองซ์ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ฌอง-ปิแอร์ จูแบรต์ (Jean-Pierre Jaubert) เกษตรกรที่เป็นพาร์ตเนอร์กับพวกเขาได้พยายามนำการปลูกอัลมอนด์กลับมา

นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของ L'Occitane ผู้อยู่เบื้องหลังความงามแบบคนฝรั่งเศส
นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของ L'Occitane ผู้อยู่เบื้องหลังความงามแบบคนฝรั่งเศส

“น้ำมันอัลมอนด์เป็นของขึ้นชื่อของโพรวองซ์ เราจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากของดีในท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง คุณสมบัติเด่นของมันคือความเข้มข้นของโอเมก้า 9 และกรดโอเลอิก ช่วยในเรื่องความชุ่มชื้น ยกตัวอย่างเช่น Almond Shower Oil ที่จะเปลี่ยนเป็นโฟมเมื่อเราผสมน้ำเข้าไป กลิ่นก็หอมมาก ถ้าได้ลองดมจะหยุดใช้ไม่ได้เลย สินค้าขายดีลำดับต่อมาคือ Almond Milk Concentrate เป็นครีมทาผิวเพิ่มความชุ่มชื่น เนื้อครีมบางเบา ไม่หนักผิว ซึ่งน้ำมันอัลมอนด์เราใช้ทำอาหารด้วย เพราะมีรสชาติหวาน และในยุโรปก็ใช้น้ำมันอัลมอนด์บำรุงผิวทารกด้วย”

และเมื่อ 2 ปีก่อน L’Occitane ปลูกต้นอัลมอนด์ให้แก่พนักงานที่ทำงานเกิน 3 ปี ไอเดียมาจากประเพณีดั้งเดิมของโพรวองซ์ ทุกครั้งที่มีเด็กเกิดใหม่ในครอบครัว เขาจะปลูกต้นไม้ใหม่เพื่อเฉลิมฉลองการมาถึงของทารกคนนั้น นโยบายนี้ทำให้มีต้นอัลมอนด์ใหม่เกิดขึ้นมากกว่า 4,000 ต้น และทำให้แบรนด์ได้รู้จักเกษตรกรที่ปลูกอัลมอนด์คนอื่นๆ มากขึ้นด้วย

“ฉันมีหนึ่งต้น”

“ผมด้วย”

The Best Part

เราถามถึงความสนุกในงานของพวกเขาก่อนกล่าวคำลาในค่ำวันนั้น แน่นอนว่ามันคือความท้าทายที่ต้องต่อสู้กับข้อจำกัดและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ โปรเจกต์ที่ซาราห์กำลังทำในตอนนี้ คือลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากที่สุด โดยเริ่มจากการใช้ Refill Package ที่ลดการใช้พลาสติกได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และทีมของเธอกำลังหาวิธียกเลิกการใช้พลาสติกโดยสิ้นเชิง

ส่วนทีมปาสคาลเองก็กำลังพยายามลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต ฟังดูแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะน้ำเป็นส่วนผสมที่สำคัญมากในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ความท้าทายคือทำยังไงให้ได้ผลิตภัณฑ์เดิม คุณสมบัติอย่างเดิม และประสิทธิภาพเหมือนเดิม โดยไม่ต้องใช้น้ำแม้แต่น้อย

นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติของ L'Occitane ผู้อยู่เบื้องหลังความงามแบบคนฝรั่งเศส

กลายเป็นว่า เป้าหมายของทั้งคู่และแบรนด์ไปไกลเกินกว่าการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ลูกค้า พวกเขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ใช้และผู้ผลิต เห็นนักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ และเกษตรกร ทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน อย่างสินค้ากลุ่มอัลมอนด์ที่เป็นการร่วมมือตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ครองใจผู้ใช้ของแบรนด์มาตลอด 10 ปี

แล้วรางวัลของการทำงานหนักของทั้งคู่คืออะไร

“รางวัลของการทำงานของผม คือทุกครั้งที่ได้รู้ว่าวัตถุดิบที่ผมเจอ ส่วนผสมที่พัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่เราทำขึ้น ส่งผลที่ดีต่อคนใช้และคุ้มค่า และทุกคนรู้ว่าผลิตภัณฑ์เราดีและมีที่มายังไง” ปาสคาลตอบด้วยรอยยิ้ม

ในขณะที่ซาราห์นิ่งคิดอยู่พักใหญ่ ก่อนจะเล่าให้เราฟังว่า เธอเองเป็นลูกเจ้าของสวนที่เลือกสมัครงานที่ L’Occitane ทันที่เมื่อเรียนจบเพราะเชื่อในเป้าหมายของบริษัทนี้ และเธอคิดถูก เพราะ 15 ปีต่อมาเธอก็ยังทำงานที่นี่

“ฌอง-ปิแอร์ จะเกษียณเร็วๆ นี้ และลูกสาวจะรับช่วงต่อไร่อัลมอนด์ของเขา”

นั่นคือคำตอบเธอ ที่เราไม่ต้องการการขยายความต่อ

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล