The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจฟังดูยิ่งใหญ่และไกลตัว เมื่อรู้ว่าเป็นเป้าหมายที่ตั้งขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในโลก

แต่จริงๆ แล้ว เป้าหมายทั้ง 17 ข้อนี้ ไม่ได้ไกลตัวอย่างที่หลายคนคิด คนทั่วไปและคนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา ก็สามารถร่วมผลักดันให้เกิดขึ้นได้ จากอาชีพ ความชอบ กิจกรรมและการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างชายหนุ่มที่เราจะพาคุณไปทำความรู้จักในคอลัมน์ Sustainable Development Goals ผู้ผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการทำฟาร์มโคนมเล็กๆ ของตัวเอง

ปฏิวัติ อินทร์แปลง หรือ เบสท์ คือชายวัย 27 ปีที่เรากำลังพูดถึง เขาคือผู้สร้างฟาร์มโคนมแห่งจังหวัดชุมพรที่ชื่อ ‘ฟาร์มอินทร์แปลง’ ด้วยแรงกายและแรงสมองของตัวเอง และเรื่องราวของเขาก็น่าสนใจมาก

 เราอยากให้คุณลบภาพเด็กเลี้ยงวัวบ้านๆ เนื้อตัวมอมแมมไปก่อน เพราะเราตั้งใจเหลือเกินที่จะพาทุกคนไปรู้จักชายเลี้ยงวัวที่ไม่มีแม้แต่ใบปริญญา แต่ก็พัฒนาฟาร์มวัวของตัวเองให้เทียบเท่ามาตรฐานโลกและเป็นฟาร์มZero-waste หนึ่งเดียวในไทยได้

ปฏิวัติ อินทร์แปลง หรือ เบสท์

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 7 Affordable and Clean Energy มุ่งเน้นเรื่องพลังงานสะอาดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยยกระดับเทคโนโลยีเพื่อจัดหาการบริการด้านพลังงานที่ทันสมัยและยั่งยืน โดยเพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนในสมดุลการใช้พลังงานของโลก 

ฟาร์มของเบสท์เอาขี้วัวไปแยกกาก จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการผลิตเป็นไบโอแก๊ส ใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในฟาร์ม

พลังงานขี้วัวถือเป็นพลังงานสะอาด (Green energy) ซึ่งหมายถึงพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาใช้ไม่มีวันหมด และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษอื่นๆ

เบสท์ค่อยๆ เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์เรื่องพลังงานสะอาด และนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตัวเอง ทำให้ในฟาร์มอินทร์แปลงขนาด 1 ไร่ 3 งานแห่งนี้ ไม่มีของเสียเหลือทิ้ง แถมยังกลายเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มฟรีๆ เอาไว้ใช้ในฟาร์มอีกด้วย 

เห็นไหมว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย

บนหน้าจอต่อไปนี้คือเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจของเบสท์ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ในวันที่เบสท์ยังเป็นเพียงเด็กมัธยมต้นผู้มุ่งมั่นอยากเป็นเกษตรเลี้ยงวัว มาจนถึงทุกวันนี้ที่ฟาร์มอินทร์แปลงขยับขยายกิจการจนมีมูลค่า 8 หลัก พร้อมกับดำเนินธุรกิจอย่างใส่ใจผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

01

เด็กเลี้ยงวัว

พื้นเพชีวิตของเบสท์ เขาเกิดและโตที่ชุมพรในครอบครัวธรรมดา อาศัยอยู่ในบ้านที่รายล้อมซ้ายขวาด้วยสวนยางและสวนปาล์ม  

เขาคือเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่มีความสุขกับการใช้ชีวิต ในช่วงวัยมัธยมต้น หลังจากพ่อผู้เป็นกำลังหลักของบ้านเสียชีวิตไป เบสท์กับแม่มีรายได้หลักเพียงวันละ 160 บาท จากการทำงานของแม่ในโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จากใยมะพร้าวใกล้บ้าน 

เบสท์อยากให้ครอบครัวมีรายได้มากกว่านั้น และคนแรกที่เขานึกถึงคือ คุณตา 

ตั้งแต่จำความได้ เขาก็เห็นคุณตาทำฟาร์มโคนม ขายน้ำนมวัวในจังหวัด แต่หลังจากโดนพิษเศรษฐกิจปี 40 ฟาร์มวัวของตาก็ปิดตัวลง สิ่งที่ยังพอมีเหลืออยู่คือแม่วัวที่ตาเคยเลี้ยง เครื่องไม้เครื่องมือเก่าๆ ที่เบสท์พอจะขอมาทำมาหากินได้บ้าง เขาเดินทางจากบ้านไปอำเภอท่าแซะที่ห่างออกไปเกือบร้อยกิโลเมตร เพื่อให้ตาสอนรีดนมวัว 

เบสท์ฝึกรีดนมวัวครั้งแรกในเช้าวันที่ 14 สิงหาคม 2548 โดยมีคุณตาเป็นผู้สอนให้เองกับมือ   

ปฏิวัติ อินทร์แปลง หรือ เบสท์

เขาตัดสินใจนำแม่วัวนมมาอยู่ที่บ้านตัวเอง ค่อยๆ เรียนรู้การรีดนมวัว การเก็บรักษานมวัวหลังรีดมาแล้ว ใส่ใจดูแลแม่วัวตัวเดียวของเขาให้สุขภาพดี เบสท์ค่อยๆ สะสมประสบการณ์วันแล้ววันเล่า พร้อมกับการที่ทุกเช้าเขาจะต้องหิ้วนม 10 ขวด ไปขายเพื่อนที่โรงเรียนในราคาขวดละ 10 บาท เด็กชายคนนี้หาเงินได้วันละ 100 บาทถ้วน

“พื้นที่ตรงนี้แต่ก่อนมันมีแค่คอกวัวสังกะสีเก่าๆ เราอยู่กับแม่สองคน ก็รีดนมวัวขายไปเรื่อยๆ จนเดือนพฤศจิกายน ปี 48 เราเขียนจดหมายฉบับหนึ่งไปที่โรงโคนมสวนจิตรลดา ขอพระราชทานโคนมจาก ร.9 ถามว่าใครใช้ให้เขียน ไม่มีหรอก รู้แค่ว่าสมัยตาทำฟาร์มปี 35 ตาเคยได้โคนมพ่อพันธุ์พระราชทานมา เราก็อยากมีโอกาสแบบนั้นบ้าง แต่เราไม่อยากได้พ่อพันธุ์นะ เรามีวัวตัวเดียว เราก็เลยเขียนไปว่าอยากได้ลูกวัวตัวเมีย 

“จดหมายฉบับนั้นหายไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 48 สมัยนั้นไม่มี Tracking Number ไม่รู้จะไป Track ที่ไหน จดหมายไปถึงหรือเปล่าก็ไม่รู้เพราะหย่อนตู้ไปรษณีย์หน้าโรงเรียนไป ติดแสตมป์สามบาท แล้วก็เขียนด้วยลายมือบนหน้ากระดาษเอสี่ จนเดือนมีนาคม ปี 49 เราก็ได้รับการติดต่อกลับมาที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชุมพร ว่าได้รับโคนมพระราชทานจาก ร.9 กลายเป็นว่าเราได้วัวตัวที่สองมาแล้ว เป็นโคนมพระราชทานจากวังสวนจิตรลดา ทำให้แม่ยอมลาออกจากงานที่โรงงานเพื่อมาทำฟาร์มโคนมเต็มตัว” เบสท์เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงปลื้มปริ่ม  

02

โคนมพระราชทาน

วันนี้ที่ฟาร์มอินทร์แปลงมีฝนตกลงมาไม่ขาดสาย เรื่องราวของเขาถูกเล่าเคล้าเสียงฝนและสายลมที่พัดแรงเป็นบางช่วง เขาดูมีความสุขกับการได้นั่งย้อนความทรงจำของตัวเองในโรงเก็บเครื่องมือข้างคอกเลี้ยงวัว

“ตอนนั้นก็อยากจะซื้อวัวเพิ่มให้ได้น้ำนมเยอะๆ แต่วัวราคาตั้งสองสามหมื่นบาท ตอนคุณพ่อเสียเราได้เงินประกันชีวิตมาสามแสนบาท ซึ่งมันเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่ครอบครัวเรามีอยู่ ถ้าเกิดว่าเงินตรงนั้นหมดลงคือจบเลย เราก็อาจไม่ได้เรียนต่อ 

ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว

“แต่พอได้โคนมพระราชทานมามันก็กลายเป็นกำลังใจของครอบครัว เรากับแม่เอาเงินสามแสนที่เหลืออยู่ไปสร้างคอกใหม่แล้วซื้อวัวจากบางสะพานมาหกตัว พันธุ์โฮลส์ไตน์ฟรีเชี่ยนสีขาวดำ เป็นพันธุ์ที่ให้น้ำนมเยอะที่สุด”

เบสท์กับแม่เริ่มหาลู่ทางค้าขายนมมากขึ้น ด้วยการสมัครสมาชิกสหกรณ์โคนมชุมพรที่อยู่ห่างจากฟาร์มไปประมาณ 35 กิโลเมตร ต้องขับรถมอเตอร์ไซค์ส่งนมรวมระยะทางไปกลับ 70 กิโลเมตร ทุกๆ วัน วันละ 2 รอบ เขาและแม่ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่เขาต้องพบจุดพลิกผันครั้งใหญ่ของชีวิต

ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว
ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว

“เราจบ ม.6 ปี 53 ได้โควตาเป็นหนึ่งในสามสิบคนที่ไปเรียนสัตวแพทย์ที่ ม.เกษตรฯ อนาคตสวยหรูมาก เราวางแผนเลยว่าขอไปเรียนหกปี จบสัตวแพทย์แล้วกลับมาทำฟาร์ม แต่ไม่ถึงสองอาทิตย์ก่อนไปรายงานตัว แม่รถล้มกระดูกขาขวาแตก เราเลยต้องสละสิทธิ์รายงานตัวเพราะอยากดูแลแม่ เขาต้องใส่เฝือกอยู่หกเดือน ทำงานไม่ได้ นอนร้องไห้ทุกวันว่าเป็นสาเหตุให้ลูกไม่ได้ไปเรียนต่อ ปัจจุบันเราเรียนจบแค่ ม.6 นะ เรียนได้เท่านี้ด้วยความที่จำเป็น

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราอ่านหนังสือเยอะมาก อยู่กับตัวเองเยอะเพราะเพื่อนไปเรียนต่อกันหมดแล้ว เรากลายเป็นหนอนหนังสือที่เสพวรรณกรรมและหนังสือต่างๆ เยอะมาก จนเกิดไอเดียมาต่อยอดฟาร์ม”

03

24 ชั่วโมงในฟาร์มวัว

“ก้าวผ่านช่วงนั้นมาได้ยังไง เป็นเด็กคนอื่นถ้าต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้คงท้อใจในชีวิตไปแล้ว” เราถามขึ้นอย่างสนใจเป็นพิเศษ เพราะนี่คือการหักเหของชีวิตที่ไม่มีแม้แต่หนทางย้อนกลับ

“มันเป็นความชอบที่เราทำได้ไม่เบื่อ แล้วหนังสือช่วยไว้เยอะมาก เราก็เห็นอะไรบางอย่างว่า ถ้าเราไปเรียนต่อแล้วทิ้งแม่ไปมันไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น อยู่กับความเป็นจริงที่ต้องเจอดีกว่า ไม่ใช่ต้องมานั่งเสียใจ เรายังมีวัวอยู่ตั้งสิบสี่ตัว เราทำงานอยู่กับวัวในฟาร์มแทบจะยี่สิบสี่ชั่วโมงเลย ระหว่างขับรถไปส่งนมเราก็คิดขึ้นมาว่า ทำไมเราต้องทำอยู่แบบนี้ ทำไมต้องขับรถไปกลับเจ็ดสิบกิโลทุกวัน ศูนย์นมก็อยู่ไกล ทำยังไงถึงจะได้มีเวลาอยู่ที่ฟาร์มบ้าง

“เราเข้าตัวเมืองชุมพรไปเสนอขายนมร้านชากาแฟ ร้านเบเกอรี่ ร้านนมร้อน ที่เขารับนมทุกวันจากบางสะพานกับปะทิว แต่เราเสนอว่าเดี๋ยวผมส่งให้ถึงร้านเลย ตอนนั้นได้ลูกค้ามายี่สิบร้าน เราขายได้ราคาแพงขึ้น รายได้มันเพิ่มขึ้น เลยมีความรู้สึกว่าเราควรจะต่อยอดจากน้ำนมดิบไปเป็นผลิตภัณฑ์แบบอื่นมั้ย เป็นนมพาสเจอร์ไรซ์ นมรสชาติต่างๆ โยเกิร์ต หรือเป็นชีสดีไหม 

“เราเข้ากูเกิลก่อนเลย หาวิธีพาสเจอร์ไรซ์นมและโยเกิร์ต สุดท้ายเราก็ทำเป็นนมขวดออกมา 5 – 6 รสชาติ มีนมจืด นมช็อกโกแลต ชาเขียว ชาไทย สตรอว์เบอร์รี่ กาแฟ กาแฟก็จะเป็นกาแฟโรบัสต้าชุมพรซึ่งมันเป็นสินค้า GI อยู่แล้ว

“แล้วก็เริ่มไปขายเปิดท้ายตามตลาดนัด สวนสาธารณะชุมพร ขายจนเรามีรายได้เพิ่มขึ้นมาก จนมีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เรากระโดดข้ามมาเป็นแบบปัจจุบัน”

เบสท์พูดจบ เขาก็สั่งให้เด็กฝึกงานเริ่มเตรียมอาหารมื้อบ่ายให้วัว เสียงเครื่องจักรเริ่มทำงาน ทวีคูณด้วยเสียงฝนที่ซัดมาอย่างแรงจนต้นยางสูงหน้าสวนโอนเอนไปมา สมกับเป็นดินแดนฝนแปดแดดสี่

04

แก้ปัญหาขี้วัว

เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ฟาร์มอินทร์แปลงก็มีระบบการจัดการเหมือนฟาร์มอื่นๆ ทั่วไป 

ขี้ของวัว 20 ตัว จะถูกตักใส่รถเพื่อเอาไปตากแดดให้แห้ง และขายในช่วงหน้าร้อนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายนเท่านั้น เพราะมีแสงอาทิตย์เพียงพอ ส่วนขี้วัวในช่วง 8 เดือน ที่เหลือจะถูกกองทิ้งไว้จนสูงแทบเท่าภูเขาเนินทราย แค่คิดภาพตามก็เหม็นจนเวียนหัวแล้ว

เบสท์ในวัย 20 ต้นๆ ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าต้องแก้ปัญหาขี้ๆ ด้วยความรู้ที่มีให้ได้ 

เขาเพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเองวันแล้ววันเล่า จากการอ่านหนังสือ อ่านงานวิจัยเมืองนอก และดูคลิปในยูทูบจนตกผลึกเป็นแผนฟาร์มโคนมที่ว่า กองขี้วัวของฟาร์มอินทร์แปลงจะต้องสูงไม่เกินตาตุ่ม ขี้วัวต้องส่งขายได้ 365 วัน ของเสียทั้งหมดในฟาร์มจะต้องถูกเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด 

ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว
ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว

“ตอนนั้นยังไม่มีเทรนด์ Zero-waste ในไทยเลย เราเห็นว่าอิสราเอลเป็นประเทศแห้งแล้งแล้วเขาเอาน้ำกลับมาล้างคอกวัวใหม่ เขาทำได้ยังไง เราก็ไล่ดูคลิปฟาร์มเลี้ยงวัวในยูทูบและอ่านเปเปอร์เยอะมาก เห็นเมืองนอกเขาทำระบบแยกกาก ทำขี้เปียกๆ ให้แห้งได้เลย ไม่ต้องเอาไปตากแดด ถ้าจะพัฒนาฟาร์มตัวเองจริงๆ เราต้องเดินไปในแนวทางนี้แล้วแหละ” ชายผู้มีจินตนาการพร้อมความรู้กล่าว

แต่ชายขายนมคนธรรมดาคนนี้รู้ดีว่าจะสร้างภาพฝันให้เป็นจริงได้นั้นต้องมีเงิน ของแบบนี้มีแค่ใจอย่างเดียวมันไม่พอ 

เขาเขียนแผนธุรกิจส่งเข้าประกวดโครงการต่างๆ พูดคุยเรื่องธุรกิจกับหลายธนาคาร ค่อยๆ ทำไปอย่างช้าๆ แต่ว่าไม่หยุด จนได้เงินหลายล้านบาทมาสานฝันตัวเอง

“แผนธุรกิจของเรามีอยู่สามเรื่อง เรื่องแรกคือ คุณภาพน้ำนมต้องเทียบเท่าต่างประเทศ เราพัฒนาคุณภาพน้ำนมด้วยคุณภาพของอาหาร เรื่องที่สองของเราจึงเป็นเรื่องอาหาร อาหารที่แม่วัวกินเราคิดสูตรเอง หยุดใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีราคาแพง และเรื่องที่สามคือ จัดการของเสีย เราต้องจัดการให้ได้หมดเลยตั้งแต่กินทางปากจนไปออกทางตูด ฟาร์มโคนมทั่วโลกมีแค่สามหัวข้อเท่านั้นแหละครับที่เป็นปัญหาจริงๆ” เขาเล่าให้ฟังพร้อมชี้ให้ดูเครื่องจักรเตรียมอาหารสีฟ้าด้านหลัง

05

ฟาร์ม Zero-waste

ฟาร์มโคมนมแบบใหม่ของเบสท์เริ่มขึ้น เขาสร้างโรงเลี้ยงวัวใหม่ โรงเก็บอาหารวัวและเครื่องจักร ห้องทำงานที่มีเครื่องมือแปรรูปผลิตภัณฑ์ของตัวเอง มีระบบทำไบโอแก๊สที่เปลี่ยนขี้วัวให้เป็นพลังงานสะอาดหมุนเวียนมาใช้ในฟาร์ม ทุกวันนี้ เขาทำนมพาสเจอร์ไรซ์จากพลังงานขี้วัว

“เราทำฟาร์มโคนมเล็กๆ ที่แปรรูปนมเอง และของเสียในฟาร์มก็กลายเป็นของมีค่า เราอยากให้วัวมันอึออกมาเยอะๆ เพราะยิ่งวัวอึออกมามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีรายได้และมีพลังงานใช้มากขึ้นเท่านั้น เราจบแค่ ม.6 ก็เลยต้องศึกษาเรียนรู้เอาเอง แล้วก็ได้โอกาสไปดูงานฟาร์มโคนมที่เมืองนอกมาเจ็ดประเทศ สิ่งที่เราคิดมันไม่ใช่เรื่องแปลก แค่ยังไม่มีใครทำในประเทศไทย

ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว

“เรื่องอึวัวเป็นปัญหา น้ำนมวัวจะออกหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่ขี้เนี่ยออกทุกวัน วัวตัวหนึ่งอึออกมาให้เราหกสิบกิโลกรัมต่อวัน กินอาหารเข้าไปเท่าไหร่มันก็ขี้ออกมา เพราะฉะนั้น มันเป็นปัญหาใหญ่ เราเลยหาเครื่องจัดการของเสียก่อน

“เทคโนโลยีเครื่องแรกในฟาร์มเราเลยเป็นเครื่อง Separator ทำให้ขี้วัวแห้งโดยไม่ต้องตากแดด น้ำที่ได้หลังจากแยกกากออกไปแล้วก็เอามาผลิตเป็นไบโอแก๊ส ใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มในฟาร์ม เราเอาระบบไบโอแก๊สมาเสริมใช้กับพัดลมในคอก ระบบปั่นไฟ ระบบผสมอาหาร ใช้แก๊สนี้มาทำกับข้าว ปิกนิก ย่างบาร์บีคิว ในหมู่เด็กฝึกงาน”

บ่อไบโอแก๊สขนาด 100 และ 400 คิว ถูกติดตั้งไว้บนพื้นที่เนินสูงข้างโรงเลี้ยงวัว ระบบท่อใต้ดินจะลำเลียงน้ำหลังแยกกากไปบำบัดให้สะอาด ก่อนจะเดินทางตามท่ออีกครั้งเพื่อไปล้างคอก ขี้วัวล็อตใหม่ก็จะถูกดูดขึ้นมาบีบแยกกากกับน้ำอีกครั้ง วนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  

ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว

ส่วนชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ถ้าใครอยากมาเอาน้ำไปใส่ในต้นไม้ นาข้าว หรือสวนมะนาว ไว้เป็นปุ๋ยเหลวธรรมชาติ ก็มาขอไปใช้ได้ฟรีๆ ฟาร์มอินทร์แปลงขนาด 1 ไร่ 3 งาน แห่งนี้จึงไม่มีของเสียกองทิ้งไว้ในฟาร์มเลย

ความใจดีของเบสท์ยังไม่หมดแค่นั้น

เขาตั้งใจเปิดที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ให้คนเข้ามาดูงานได้ตลอด แถมยินดีรับนักศึกษาฝึกงานที่ฟาร์มตลอดทั้งปี ด้วยเหตุผลเพียงข้อเดียว 

“ที่เรารับนักศึกษาฝึกงานเพราะเราไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ ป.ตรี ถ้าให้เราไปเรียนตอนนี้มันก็ไม่ทันแล้ว เราไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้ใส่ชุดนักศึกษา ตอนนี้มีนักศึกษาฝึกงานอยู่กับเราทั้งหมดเก้ามหาวิทยาลัย เป็นนักศึกษาสัตวแพทย์และสัตวบาล เวลามองเด็กฝึกงานปีสามปีสี่ที่มาเราก็รู้สึกว่าอย่างน้อยเขาก็จะได้แรงบันดาลใจกลับไป ว่าความจริงคุณต้องมองอะไรที่มันมากกว่าใบปริญญานะ 

“เราไม่เสียใจเลยนะที่ไม่จบ ป.ตรี กล้าบอกเลยว่าผมจบ ม.6 ผมเป็นเกษตรกร ผมทำฟาร์มโคนมอยู่ที่ชุมพร เมื่อก่อนไม่กล้าบอกหรอก ตอนนี้เราคิดใหม่และมีความสุขทุกครั้งที่เห็นน้องๆ มาฝึกงานที่ฟาร์มของเรา พอพวกเขากลับไปพรีเซนต์ฝึกงานแล้วได้เอเราภูมิใจมากเลยนะ เพราะมันคือการส่งต่อความรู้เรื่องเทคโนโลยีและการทำฟาร์มที่เราดั้นด้นไปศึกษามาเจ็ดประเทศ หมดค่าเครื่องบินไปไม่รู้เท่าไหร่ เราถือว่าถ้ามีความรู้ไหนที่เราให้ได้ เราก็จะให้” เขาว่า

ไม่ใช่ทุกคนจะสำเร็จได้แบบเขา และไม่ใช่ทุกคนด้วยที่จะมีใจเป็นผู้ให้ได้อย่างที่เขาเป็น

06

วัวใครวัวมัน

วัวที่ได้กินอาหารดีๆ ย่อมมอบน้ำนมที่มีคุณภาพ  

ฟางข้าวอินทรีย์จากเพชรบุรีและสุพรรณบุรีเดินทางด้วยรถบรรทุกมาถึงฟาร์มวัวแดนใต้แห่งนี้อยู่เป็นประจำ

จากที่เล่าไปข้างต้น เบสท์ตั้งใจคิดสูตรอาหารของวัวด้วยตัวเอง เขาร่วมทำงานวิจัยร่วมกับ ศ. ดร.วิโรจน์ ภัทรจินดา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) จนได้สูตรอาหารวัวที่เหมาะกับฟาร์มตัวเอง เป็นฟาร์มแรกที่ใช้เทคโนโลยีอาหาร TMR คือเอาหญ้า อาหาร ธัญพืช มาผสมรวมกันในสัดส่วนที่เหมาะสมกับวัวของตัวเอง เป็นการลดมีเทนในกระเพาะวัวเพราะถูกย่อยโดยสมบูรณ์

และล่าสุด เขาก็เผื่อแผ่อาหารสูตรเฉพาะให้ฟาร์มอื่นๆ ด้วย

วัวใครก็วัวมัน ต่างกินอาหารไม่เหมือนกัน  

ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว
ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว

“ถ้าจะทำโคนมให้รอด ต้องให้วัวกินอาหารแบบ Complete Feed กิน TMR ใช้คอมพิวเตอร์คำนวณทั้งหมดว่ากินหนึ่งคำได้โปรตีน พลังงานเท่าไหร่ วัวหนึ่งตัวกินอาหารสิบเปอร์เซ็นต์ เราต้องจ่ายอาหารกี่กิโลกรัมเขาถึงจะอิ่มพอดี แล้วก็ต้องมีข้อมูลเรื่องน้ำนม คุณภาพนม น้ำหนักตัว ต้องทำเกษตรแม่นยำ ดังนั้น วัวแต่ละตัวของเราจะมีต้นทุนค่าอาหารวันละหนึ่งร้อยยี่สิบบาท องค์ความรู้ตรงนี้กว่าจะได้มามันต้องมาจากการสะสมประสบการณ์ รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่มีคุณภาพด้วย

“ทุกคนจะมองว่าเราบ้า ทำไมต้องทำอะไรขนาดนี้ ไม่มีใครเชื่อองค์ความรู้ที่เราสั่งสมมา เพราะเขาเลี้ยงกันแบบเดิมๆ คือตื่นเช้ามาต้องไปตัดหญ้าให้วัวกิน อาชีพในฟาร์มโคนมมันเลยเหนื่อย มันทำงานสามร้อยหกสิบห้าวันไม่ได้หยุด เด็กรุ่นๆ เราจึงไม่มีใครมาทำฟาร์มโคนมเลย ทุกคนหนีเข้ากรุงเทพฯ หมด แต่ตอนนี้เราส่งอาหารวัวคุณภาพไปเกือบยี่สิบฟาร์มแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาไปตัดหญ้าทุกวันแล้ว

ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว

“เราขายอาหารวัวให้กับป้าคนหนึ่ง เขาทำฟาร์มขนาดสามสิบตัว เราให้นักศึกษาฝึกงานลงเก็บข้อมูลวัวของป้าเลย น้ำหนัก น้ำนม จำนวนตัว จำนวนวันรีดนม เสร็จแล้ว Formulate ออกสูตรอาหารเป็นสูตรเฉพาะฟาร์มป้าเลย แกบอกว่าเลี้ยงวัวมายี่สิบปีไม่เคยได้นมสิบเจ็ดลิตร แต่พอกินอาหารเราแล้วได้นมสิบเจ็ดลิตร ซึ่งต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ แต่บ้านเราเป็นเรื่องที่ยังทำไม่ได้ 

“แกพูดกับเราว่า ป้าทำฟาร์มมายี่สิบปีนะ ป้าไม่เคยมีโอกาสได้ไปยืดผมเลย ตั้งแต่วัวป้ามากินอาหารเรา ป้ามีเวลาเข้าร้านเสริมสวย เราฟังแล้วแบบ เฮ้ย นี่เรามาถูกทางแล้วนะ สิ่งที่เราทำมันไม่ได้ขาดทุนเลย มันแก้ปัญหาเรื่องเวลาให้เขาได้ เท่ากับว่าเรามีส่วนทำให้เกษตรกรเขาแฮปปี้ เราเห็นป้าได้ยืดผม ได้ทำเล็บ มันเป็นรื่องเล็กๆ ที่ดูแล้วมีความสุข เป็นเรื่องที่เงินซื้อไม่ได้ เราทำแบบนี้แล้วรู้สึกดี ซึ่งต่อไปเราจะเอาฟาร์มกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบเพื่อจะทำโรงงานนมพาสเจอร์ไรซ์ในอีกสามปีข้างหน้าด้วย” จากรอยยิ้มที่มั่นใจ เราเชื่อว่าเขาทำได้จริง 

07

วัวแฮปปี้ คนก็แฮปปี้

“ฟาร์มตอนนี้เป็นเหมือนภาพฝันแรกของเรามั้ย” เราถามขึ้นระหว่างที่เขาพาเราเดินดูคอกวัว เข็มนาฬิกาเวลาบ่ายสอง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก แม่วัวหลายตัวเอนนอนหลังกินหญ้าเสร็จ

“ไกลเกิน วันนั้นไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมาไกลถึงจุดจุดนี้นะ เวลาเราอ่านหนังสือก็จะจินตนาการกับตัวเองว่า ถ้าวันหนึ่งเราได้ไปเป็นเจ้าของฟาร์มโคนมหนึ่งร้อยตัวเราจะอยู่ยังไง เราต้องมีผลงานเยอะๆ หรือยังไงดี เป็นคนจินตนาการเพ้อฝัน ชอบคิด ซึ่งไม่รู้เป็นไปได้หรือเปล่า แต่ก็คิดไปก่อน หลายอย่างมันมาเกินครึ่งทางแล้ว

“มีแต่คนพูดว่าถ้าจะโตในอาชีพเลี้ยงโคนมนะ ไปทำฟาร์มที่สระบุรีดีกว่า แต่ทุกคนไม่ได้คิดถึง Market Opportunity เลยว่าตลาดมันอยู่ภาคใต้ ลูกค้าที่เป็นโรงแรมใหญ่ๆ โรงแรมห้าดาวที่ต้องการชีส ต้องการเนย ที่มีคุณภาพ เราคือผู้ผลิตที่ต้นทุนต่ำที่สุดเพราะอยู่ตรงประตูภาคใต้ แล้วผมจะย้ายไปทำไม

 “ฟาร์มเราจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่งั้นจะเหม็นขี้วัว เหม็นน้ำเสีย ทั้งๆ ที่บ้านเรามีองค์ความรู้เรื่องการจัดการ Waste เยอะ แต่ในภาคการเกษตรไม่ค่อยมีใครเอามาใช้เท่าไหร่ ทุกคนก็ปล่อยน้ำเสียของตัวเอง แต่สำหรับเราไม่ใช่” เขาพูดจบพร้อมเดินไปยังห้องแปรรูปนม 

ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว

ชายเจ้าของฟาร์มยื่นนมพาสเจอร์ไรซ์ที่เพิ่งทำเสร็จให้ลองดื่ม น้ำนมหอมละมุนและมีเนื้อสัมผัสเข้มข้นมาก คำเดียวที่เหมาะสมคือ อร่อยจนตาลุกวาว 

ปัจจุบันเขาเปิดร้านขายอยู่ในเมืองชุมพร มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 5 อย่าง ได้แก่ น้ำนมดิบ นมพาสเจอไรซ์ โยเกิร์ต ชีส และเจลาโตไอศครีม คุณไม่ต้องรักการดื่มนม ก็หลงรักน้ำนมของที่นี่ได้ไม่ยาก

ไม่ใช่แค่อร่อย แต่กินแล้วมีความสุข 

“ผมไม่โทษตัวเอง ไม่โทษแม่ ไม่โทษโชคชะตว่าไม่จบ ป.ตรี แล้วตัวเองไม่มีที่ยืนในสังคม เราต้องไม่เสียใจกับเรื่องที่เราทำมันพลาด หรือเรื่องที่เรากำหนดมันไม่ได้ เราควรดีใจกับสิ่งที่มันเป็นอยู่ แล้วก็หาคุณค่าของมัน มันเลยกลายมาเป็น Small, but beautiful ถึงจะเล็กๆ แต่สวยงาม เราก็แฮปปี้ละ”

ปฏิวัติ อินทร์แปลง หรือ เบสท์ ฟาร์มอินทร์แปลง ฟาร์มโคนม Zero-waste หนึ่งเดียวในไทยที่ผลิตนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยพลังงานขี้วัว

แม้ฟาร์มอินทร์แปลงจะเป็นเพียงฟาร์มโคนมเล็กๆ แต่ก็สามารถผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 7 Affordable and Clean Energy ได้ จากอดีตถึงปัจจุบัน มนุษย์ถลุงใช้ทรัพยากรธรรมชาติมานานหลายร้อยปี เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันทำให้เราสามารถเปลี่ยนของเสียเป็นพลังงานสะอาด มาหมุนเวียนใช้แทนได้ 

เบสท์คือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเรียนรู้ พัฒนา เทคโนโลยีเหล่านั้นและนำมาปรับใช้กับงานที่ตัวเองรัก เพราะเขาเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมได้ เช่นเดียวกับพวกเราทุกคน

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล