18 พฤศจิกายน 2021
3 K

หลังฤดูเก็บเกี่ยวผันผ่าน เมล็ดข้าวจะออกเดินทางจากทุ่งนาไปยังโรงสี ขณะที่ฟางข้าวส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือใช้สำหรับเพาะเห็ด แต่ยังคงเหลือฟางข้าวกองโตที่ถูกวางทิ้งไว้ราวกับนักเดินทางหมดไฟไร้จุดหมาย ก่อนจะลงเอยด้วยการถูกเผาทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย พ่วงมาด้วยปัญหามลพิษทั้งในพื้นที่แห่งนั้นและพื้นที่อื่น ๆ ตามแต่ลมจะพัดพาไป

นุ๊ก-จารุวรรณ คำเมือง คือหนึ่งในคนที่มองเห็นปัญหานี้ เธอจึงตัดสินใจนำฟางข้าวในบ้านเกิดที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง มาแปลงโฉมให้เป็นสินค้าที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า แถมยังใจดีต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ‘ฟางไทย’ เมื่อประมาณ 7 – 8 ปีที่แล้ว โดยที่นุ๊กไม่เคยทำธุรกิจและไม่ได้เป็นนักวิจัย เธอมีเพียงความตั้งใจอยากกลับมาลงหลักปักฐานที่บ้านเกิดอย่างยั่งยืน

ฟางไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน Social Enterprise Thailand Forum 2021 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2564 นี้ แต่ก่อนจะถึงวันงาน เราขอชวนคุณทำความรู้จักธุรกิจนี้ ผ่านมุมมองของผู้ก่อตั้งที่เชื่อว่าธุรกิจที่ดีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ฟางไทย : ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างมูลค่าให้เศษฟางข้าวลำปาง และใจดีต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยรักและคิดถึง (บ้าน)

หลังเก็บกระเป๋าแล้วเดินทางมาร่ำเรียนที่กรุงเทพฯ จนจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นุ๊กเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เธอต้องการอย่างแท้จริง คือการกลับมาอยู่บ้านที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง แต่การกลับมาครั้งนี้ทำให้เธอพบว่า ที่นี่ไม่ได้มีอาชีพรองรับคนรุ่นใหม่มากนัก เพราะส่วนมากผู้คนในท้องถิ่นจะทำอาชีพเกษตรกรรม นุ๊กจึงเริ่มคิดว่าเธอจะต่อยอดการเกษตรได้อย่างไรบ้าง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการค้นพบทั้งปัญหาและทางออกที่น่าจะเป็นไปได้

“คนในพื้นที่ทำอาชีพหลักคือการเกษตร แต่สิ่งที่ตามมาคือปัญหาจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่าง ‘ฟางข้าว’ ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะใช้วิธีเผากัน หลังฤดูทำนา เราจะเห็นข่าวทางภาคเหนือที่เกิดปัญหา PM 2.5 ขึ้นมา ซึ่งเรามองว่าปัญหานี้ ไม่ได้เป็นปัญหาที่แก้ไขเฉพาะในพื้นที่อย่างเดียว แต่สามารถแก้ไขปัญหาระดับโลกหรือช่วยประเทศได้เยอะ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ภาคเหนือ เลยเป็นโจทย์ให้เรามีแนวคิดว่าอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับฟางข้าว”

นุ๊กเกริ่นถึงที่มาของแบรนด์ ซึ่งเริ่มต้นจากการนำฟางข้าวมาแปรรูปเป็นกระดาษ

“เราไม่ได้เป็นนักวิจัยหรืออะไร แต่เป็นความตั้งใจที่อยากทำ อยากพัฒนา อยากแก้ปัญหาที่เห็น เราคิดว่าตัวเองโชคดีที่เกิดในยุคที่มีเทคโนโลยี มีอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย แต่เทคโนโลยีก็ช่วยให้เราเข้าถึง 

“พอเกิดโจทย์ เรามีแพสชันอยากจะทำ ก็ทำให้กระตือรือร้นอยากจะขวนขวาย ทั้งหาผู้รู้มาให้คำแนะนำ แล้วก็ไปศึกษา อย่างเช่น ตั้งใจว่าจะเอาฟางข้าวมาทำเป็นกระดาษ เราก็ไปศึกษาการทำกระดาษสา แล้วดูว่าจะเอามาปรับใช้หรือเป็นวัสดุทดแทนกันได้ไหม แล้วประเมินความเป็นไปได้”

ฟางไทย : ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างมูลค่าให้เศษฟางข้าวลำปาง และใจดีต่อสิ่งแวดล้อม
ฟางไทย : ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างมูลค่าให้เศษฟางข้าวลำปาง และใจดีต่อสิ่งแวดล้อม

คิด – ริเริ่ม – สร้างสรรค์

แม้ไอเดียแรกเริ่มของนุ๊กดูเหมือนจะ ‘เป็นไปได้’ แต่ภาพจริงที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นอย่างที่ฝันเสมอไป

“ตอนนั้นเราไม่มีพื้นฐานด้านธุรกิจหรือด้านผลิตภัณฑ์เลย เพราะฉะนั้น ความคิดเกี่ยวกับการออกแบบยังติดอยู่ในกรอบ เช่น มองว่าฟางข้าวจะทำเป็นกระดาษ มองทื่อๆ ว่ากระดาษก็ต้องเอามาใช้พิมพ์ ใช้เขียน เมื่อได้กระดาษมาหนึ่งแผ่น เลยเอามาทำเป็นพวงกุญแจ แล้วลองเอาไปขาย 

“แต่พอเอาไปขาย ทุกคนกลับคิดว่าเอามาแจกฟรี เราเลยมองว่าในแง่มูลค่า มันยังไม่มากพอ เพราะฉะนั้น ควรมีแนวทางการพัฒนาเป็นอย่างอื่นที่จะเพิ่มมูลค่าได้มากกว่านี้ พอไปงาน Exhibition เราเริ่มได้คีย์เวิร์ด ได้คำถามจากลูกค้า ได้โจทย์จากลูกค้า ซึ่งเป็นโจทย์ใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยทำ หรือวัสดุตัวนี้ยังไม่มีใครเคยทดลอง เราก็นำมาประเมินความเป็นไปได้ แล้วทดลองทำจนเกิดการต่อยอดไปเรื่อยๆ 

“เรามองว่าลูกค้าเป็นเหมือนครู เหมือนว่าเขาคิดโจทย์ให้เรา ตั้งคำถามให้ คีย์เวิร์ดจากลูกค้าคือสิ่งที่ทำให้ฟางไทยพัฒนาได้มาจนถึงทุกวันนี้”

หลังจากลองผิดลองถูกมาพักใหญ่ สินค้าของฟางไทยเริ่มมีทั้งงานแฮนด์คราฟต์ และงานด้านอุตสาหกรรมที่ผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า หัวใจของการทำฟางไทย คือความคิดริเริ่มและความสร้างสรรค์

“หัวใจของการทำธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่ กว่าจะทำให้คนยอมรับได้ ต้องคิด ริเริ่ม สร้างสรรค์ ซึ่งทุกอย่างต้องมาพร้อมกันจริงๆ เพราะลำพังถ้าเกิดความคิดเฉยๆ แล้วไม่ริเริ่ม มันก็จะเป็นแค่ความคิด พอลงมือทำ ถึงจะเห็นปัญหาว่าเหมือนกับที่คิดไว้ก่อนหน้านั้นไหม แล้วปัญหานี้มันควรไปต่อยังไง 

“ส่วนความสร้างสรรค์ ก็คือแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งบางทีไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ เราอาจจะปรับเอา Solution จากอินเทอร์เน็ต จากคนรู้จัก สิ่งที่ได้แลกเปลี่ยน จากตรรกะความคิดที่ประเมิน มาผสมปนกัน เลยเกิดเป็น Solution ใหม่ ซึ่งเรามองว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ”

ฟางไทย : ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างมูลค่าให้เศษฟางข้าวลำปาง และใจดีต่อสิ่งแวดล้อม

เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

แม้ปัจจุบันฟางไทยจะขยับขยายจากงานฝีมือของคนในชุมชน สู่ระดับอุตสาหกรรมที่ผลิตเยื่อกระดาษส่งต่อเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงาน แต่ไม่ว่าสินค้าจะผลิตด้วยวิธีไหน สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป คงเป็นความตั้งใจแรกที่อยากลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

“เราตั้งใจใช้วัสดุจากฟางข้าว เพราะอยากจะลดการเผาและช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเรามองว่าวิธีนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในส่วนต้นน้ำและกลางน้ำ สิ่งที่พยายามมาตลอดสามถึงสี่ปี คือการไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษในกระบวนการผลิต เพราะไม่ต้องการสร้างมลพิษทางน้ำจากการผลิตสินค้า และปลายน้ำคือ เมื่อลูกค้านำสินค้าไปใช้ สินค้าก็ปลอดภัย ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย เพราะวัตถุดิบที่ใช้อยู่เป็นฟางข้าว พอย่อยสลายเสร็จ ฟางข้าวก็ไม่ได้เป็นขยะหรือเป็นภาระที่ต้องไปฝังกลบ แต่ย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้เลย นี่คือวงจรที่เรามอง”

แม้จะเป็นสินค้าที่ดีต่อโลกและดีต่อใจ แต่นุ๊กเล่าว่าสินค้าของแบรนด์ยังคงฮิตในตลาดต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย

 “ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าต่างประเทศมากกว่า ทั้งงาน Handicraft และงาน Industrial Scale ที่เป็น Raw Material เพราะต้องยอมรับว่าต่างประเทศให้ความสนใจและตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมาก เขาเห็นถึงที่มาของวัสดุว่าท้ายที่สุดแล้ว จะช่วยสร้างอิมแพคให้ใครได้บ้าง ทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น เขาจึงมองวัสดุที่เรากำลังพยายามพัฒนาอยู่ว่าเป็นวัสดุแบบยั่งยืน ส่วนที่ไทยลูกค้าอาจจะไม่ได้มากนัก แต่ปีนี้เริ่มมองเห็นหลายองค์กรใหญ่ที่เริ่มตื่นตัว และติดต่อมาว่าสนใจร่วมงานด้วย”

ฟางไทย : ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างมูลค่าให้เศษฟางข้าวลำปาง และใจดีต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะเดินทางอย่างไม่เดียวดาย

การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม บวกกับความตั้งใจจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาสากลของคนทั่วโลก ทำให้ฟางไทยค่อยๆ เติบโตขึ้นท่ามกลางแรงสนับสนุนจากหลากหลายองค์กร และเริ่มมีชื่อเสียงจากการคว้ารางวัลบนเวทีประกวดก่อนหน้านี้ 

ไม่ว่าจะเป็นรางวัลชนะเลิศ SEED Low Carbon Award 2019 ด้านบรรจุภัณฑ์จากเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน โดย SEED เป็นโครงการที่มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก ทำให้นุ๊กได้รับความรู้ด้านแผนธุรกิจและกลยุทธ์การขยายตลาดจากโครงการนี้ 

รวมทั้งการประกวดโครงการ GEF UNIDO Cleantech Programme for SMEs Thailand ประจำปี 2016 – 2017 ซึ่งเป็นโครงการขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติและกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก โดยฟางไทยได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศ ก่อนจะก้าวไปสู่ระดับโลก จนชื่อแบรนด์ ‘ฟางไทย’ เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนและองค์กรต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ TCDC (Thailand Creative & Design Center) ที่เข้ามาร่วมสนับสนุน ด้วยการนำเยื่อฟางข้าวของแบรนด์ไปจัดแสดงในต่างประเทศ

เบื้องหลังธุรกิจเพื่อสังคมที่เปลี่ยนเศษฟางข้าวเหลือทิ้งในลำปาง เป็นสินค้าวัสดุยั่งยืนที่รักสิ่งแวดล้อม

“พอมีโอกาสได้ร่วมงานกับหลายองค์กรที่มีโครงการ เช่น มีดีไซเนอร์ที่เชี่ยวชาญมาช่วยพัฒนา ก็ทำให้ได้คิดนอกกรอบมากขึ้น เลยได้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ”

นุ๊กเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ ฟางไทยยังเป็นสมาชิกของสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม และได้รับทุนสนับสนุนจากหลากหลายโครงการเพื่อพัฒนาวัสดุจากฟางข้าว เช่น โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม เพื่อความยั่งยืน โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กองทุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (NSTDA) ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เป็นต้น 

มูลค่าฟางไทยที่มาพร้อมคุณค่าทางใจ

การตั้งต้นจากปัญหาและความตั้งใจผลิตสินค้าด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ฟางไทย เป็นมากกว่าเยื่อกระดาษ พวงกุญแจ หรือภาชนะ แต่เป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางใจจนลูกค้ายอมควักกระเป๋าตังค์จ่าย

“สามถึงสี่ปีแรก คนไม่ได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของเราในชื่อนี้เลย เราใช้เวลาจนกระทั่งปีนี้ซึ่งเป็นปีที่เจ็ดย่างเข้าปีที่แปด คนถึงจะรู้จักว่าถ้านึกถึงผลิตภัณฑ์จากฟางข้าวต้องนึกถึงฟางไทย ซึ่งสิ่งที่ทำให้คนรู้จักคือ หนึ่ง เราไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ แต่ขายคุณค่าของผลิตภัณฑ์และความตระหนัก ทั้งความตระหนักของบริษัท และความตระหนักของผู้ที่มาซื้อสินค้า 

“ถ้าเราขายสินค้าเพียงแค่ให้คนซื้อตัดสินใจจากมูลค่าว่ามันจะถูกหรือแพง ยุคนี้มันไม่เพียงพอ เพราะทุกคนก็อยากได้สินค้าที่ราคาถูกอยู่แล้ว แต่ต้องหาคุณค่าของมันให้เจอ”

นอกจากมุมของคนซื้อแล้ว ฟางไทยยังมีความหมายกับผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นนุ๊กหรือผู้คนในชุมชนที่ร่วมกันปลุกปั้นแบรนด์นี้มาจนถึงปัจจุบัน

“เป้าหมายที่คิดเอาไว้ตอนแรกคือ หนึ่ง เราอยากสร้างงานในชุมชน สอง เรามองว่าถ้าสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชนได้ มันคือการพึ่งพาตนเองแบบยั่งยืน และก็จะช่วยเหลือคนอื่นได้ สาม เราอยากช่วยภาคการเกษตร ช่วยลดการเผา และมองว่าภาคการเกษตรส่วนมากเป็นคนอีกเจเนอเรชันหนึ่ง อย่างคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นป้า รุ่นลุง ซึ่งหากใช้วัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรที่ทำอยู่แล้ว บวกกับเราเป็นคนรุ่นใหม่ คงเหมือนกับสองเจเนอเรชันมาทำงานร่วมกัน และสามารถอยู่ร่วมกันได้ อันนี้คือความตั้งใจของเรา”

และแล้วความพยายามของนุ๊กก็ผลิดอกออกผลอย่างงดงาม เมื่อสิ่งที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป คือความร่วมมือและทัศนคติของผู้คนในท้องถิ่น

“แต่ก่อนชาวบ้านมักไม่มั่นใจในตัวเอง คิดว่าตัวเองมีศักยภาพน้อย ไม่ได้เรียนจบสูง และทำการเกษตรมาตลอดชีวิต ไม่มีทางที่จะทำงานใหม่ๆ หรือทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้ พอเราสร้างอาชีพใหม่ มีพื้นที่ มีโอกาสให้เขากล้าคิด กล้าทำ และมีความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง จากแต่ก่อนที่ทำไม่ได้ แต่ปัจจุบันกล้าจะลองทำ และเชื่อว่าจะทำได้ 

“พอทัศนคติของรุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นตา รุ่นยาย เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อลูกหลานของเขา เขาจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากขึ้น 

“ส่วนหนึ่งเพราะงานของเราตั้งแต่แรกเป็นงาน Made to Order เลยทำให้ทุกคนกล้าเปลี่ยน เพราะกระบวนการทำงานจะปรับเปลี่ยนไปตามโจทย์ของลูกค้า คนที่มาทำงานด้วยกันจึงมีความกระตือรือร้น พยายามช่วยคิดแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา เหมือนเรียนรู้ไปด้วยกัน พอครั้งแรกเขาคิด เขาทำ เขาตัดสินใจ แล้วทำสำเร็จ ครั้งต่อไปพอเขาเจออะไรใหม่ๆ เขาก็จะตัดสินใจได้ และมีความมั่นใจมากขึ้น”

นอกจากเป้าหมายในระดับชุมชนแล้ว แน่นอนว่านุ๊กมองธุรกิจเพื่อสังคมของตัวเองไกลไปจนถึงการขยับขยายสู่ต่างประเทศในสเกลที่ใหญ่ขึ้น แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายขั้นตอนล่าช้ากว่าสิ่งที่วางแผนไว้ ถึงอย่างนั้น อุปสรรคทั้งหมดก็ไม่อาจลบความตั้งใจของเธอที่จะสานต่อ ‘ฟางไทย’ ให้เป็นสินค้าที่ผลิตด้วยหัวใจ และคิดถึงผู้คนรอบข้างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค คนในชุมชน หรือแม้แต่เพื่อนร่วมโลก ที่จะได้สูดบริกาศบริสุทธิ์โดยไม่ต้องกังวลใจ

ภาพ : ฟางไทย

Social Enterprise Thailand Forum 2021 คือฟอรั่มสำหรับทุกคนที่เชื่อว่าธุรกิจสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งยังเป็นพื้นที่รวบรวมหน่วยงานสนับสนุนมากมายเพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจ งานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2564 ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนได้ที่ https://goodsociety.network/goodsociety/Forum_SEThailand

Writer

Avatar

ธัญญารัตน์ โคตรวันทา

มนุษย์ที่กำลังเติบโตในทุกๆ ด้าน ยกเว้นความสูง ชอบเดินเป็นงานอดิเรก หลงรักเสียงเพลงและเป็นแฟนหนังสือมูราคามิ