ในคอลัมน์ Design Challenges ตอนนี้ ฉันอยากชวนคุณมาดูงานศิลปะค่ะ

แต่งานศิลปะชุดนี้ไม่ได้อยู่ในแกลเลอรี่ มันตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และหลายครั้งก็อยู่ริมทางที่คุณอาจเดินหรือขับรถผ่าน 

ที่สำคัญ งานศิลปะเหล่านี้ ‘กินได้’ เพราะมันไม่ใช่ภาพวาด แต่คือไม้ผลที่ออกลูกมาให้ผู้ชมเก็บกินกันจริง ๆ

และนี่คือ Fallen Fruit โปรเจกต์ศิลปะซึ่งออกแบบโดยกลุ่มศิลปินร่วมสมัยสัญชาติอเมริกัน

พวกเขาชวนคนมาลงมือปลูกและเก็บกินผลไม้กันกลางเมือง เพื่อปลูกความหมายใหม่ของเมืองและสังคมในใจประชาชน

Fallen Fruit เกิดขึ้นได้อย่างไร สร้างสรรค์ผลงานสนุกและสื่อสารเอาไว้ขนาดไหน

มาสัมผัสพลังของงานศิลปะกินได้ไปด้วยกันค่ะ

Fallen Fruit งานศิลปะสร้าง ‘เมืองกินได้’ ด้วยการชวนคนปลูกและเก็บกินผลไม้ในเมือง

งานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากกฎหมาย

คุณอาจเคยได้ยินเรื่องกฎหมายของบางประเทศที่อนุญาตให้ให้คนเก็บกินพืชพรรณในพื้นที่สาธารณะมาบ้าง

Fallen Fruit เกิดขึ้นในปี 2004 ด้วยแรงบันดาลใจจากกฎหมายรูปแบบเดียวกันนี้

เรื่องมีอยู่ว่า ผู้ก่อตั้งที่ประกอบด้วย David Burns, Austin Young และMatias Viegener (ในปัจจุบันเหลือแค่ 2 คนแรก) กำลังจะสร้างสรรค์ผลงาน และไปรู้มาว่ากฎหมายของเมืองลอสแอนเจลิสอนุญาตให้ประชาชนเก็บกินผลไม้ริมทางและในพื้นที่สาธารณะได้ 

Fallen Fruit งานศิลปะสร้าง ‘เมืองกินได้’ ด้วยการชวนคนปลูกและเก็บกินผลไม้ในเมือง

พวกเขาเลยคิดสร้างงานศิลปะชั่วคราว โดยทำแผนที่ระบุตำแหน่งไม้ผลในพื้นที่สาธารณะของแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ให้คนในพื้นที่และคนไร้บ้าน 

แผนที่นี้ถูกเรียกว่า Fallen Fruit มาจากท่อนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิลที่กล่าวไว้ว่า เราควรปล่อยผลไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ในพื้นที่ของเราไว้ให้กับคนแปลกหน้า คนยากจน และคนที่ผ่านทางมา 

“คนในลอสแอนเจลิสแปลกแยกต่อกันมาก เราคิดว่างานนี้จะช่วยสานสายสัมพันธ์ในสังคม เราอยากให้คุณลงจากรถ ปิดมือถือ แล้วไปพบปะเพื่อนบ้าน เรายังตระหนักด้วยว่า เราทำให้พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่แบ่งปันทรัพยากรได้ เหมือนต้นไม้ที่ให้ผล”

Fallen Fruit เริ่มต้นจากการออกแบบแผนที่ 1 แผ่นซึ่งเปี่ยมด้วยความหมาย อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างไม่ได้จบลงแค่นั้น

ผลไม้ลูกนี้เติบโต ขยับขยายกลายเป็นงานศิลปะขับเคลื่อนสังคมอีกหลากหลายรูปแบบ ที่ชวนผู้คนมามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ไปด้วยกัน

Fallen Fruit งานศิลปะสร้าง ‘เมืองกินได้’ ด้วยการชวนคนปลูกและเก็บกินผลไม้ในเมือง
 โปรเจกต์จากศิลปินอเมริกันที่ออกแบบงานศิลปะกินได้ เพื่อชวนคนคิดถึงความหมายของเมือง พลเมือง และชุมชน
 โปรเจกต์จากศิลปินอเมริกันที่ออกแบบงานศิลปะกินได้ เพื่อชวนคนคิดถึงความหมายของเมือง พลเมือง และชุมชน

งานศิลปะที่อยากชวนคนแปลงร่างเมืองเป็น Fruitful Place 

Fallen Fruit สร้างพื้นที่หาคำตอบเรื่องเมืองและสังคมผ่านงานศิลปะ ที่แน่นอนว่าเต็มไปด้วยผลไม้สดใสน่ากิน นอกจากแผนที่ พวกเขาริเริ่มจัดทริป Fruit Foraging ชวนคนไปร่วมเก็บกินผลไม้

มากกว่านั้น ยังมีงานสนุกอย่าง Public Fruit Jams ชวนคนเมืองนำผลไม้ที่ปลูกหรือเก็บมาจากริมทางมาทำแยมด้วยกัน แล้วก็ยังมีกิจกรรมรับอุปการะไม้ผล ชวนคนรับไม้ผลไปปลูกโดยอยากให้ต้นไม้เหล่านี้งอกงามในพื้นที่ส่วนตัว แต่เปิดให้คนที่ผ่านมาเก็บกินได้ 

และไม่ใช่แค่สารพัดกิจกรรม ศิลปะของ Fallen Fruit ยังมีเป็นชิ้นผลงานอย่าง Monument of Sharing ที่หยิบไม้ผลมาทำเป็นงานศิลปะสาธารณะ ให้คนเดินมาชื่นชมแถมเก็บกินได้ รวมถึงยังมี Public Fruit Park หรือสวนผลไม้กลางเมืองที่ชวนคนมาปลูกไม้ผล และแน่นอน รอเก็บผลไม้กินกันต่อไป

ที่สำคัญ ในปี 2017 Fallen Fruit ได้ขยับขยายพื้นที่จากระดับเมืองไปสู่ระดับโลก ด้วย The Endless Orchard โปรเจกต์แผนที่ออนไลน์ ชวนคนทั่วโลกมาร่วมสร้างงานศิลปะสาธารณะใหญ่ที่สุดในโลก หรือพูดอีกอย่างคือสวนผลไม้ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการลงมือปลูกและปักหมุดตำแหน่งไม้ผล

ปลูกไม้ผลที่หน้าบ้าน หน้าออฟฟิศ หน้าโรงเรียน หรือหน้าศูนย์ชุมชนของคุณ ดูแลแล้วแบ่งปันมันผ่านการปักหมุดบนแผนที่ใน endlessorchard.com ตามคำอธิบาย The Endless Orchard บอกไว้ 

ทีละนิดแบบ One fruit tree at a time การออกแบบและสร้างงานศิลปะของ Fallen Fruit ช่วยให้ผู้คนพบเจอความหมายใหม่ ๆ ของพื้นที่สาธารณะ รู้ว่าตัวเองมีส่วนร่วมสร้างเมืองได้ และได้สัมผัสความเป็นชุมชนในสังคมร่วมสมัยที่เราเริ่มห่างไกลกันทุกที

แล้วจากแผนที่ 1 แผ่นในปี 2004 โปรเจกต์ที่ทั้งสนุกและสร้างสรรค์นี้ก็อยู่ยาวมาจนถึงปี 2022 แล้ว

Fallen Fruit งานศิลปะสร้าง ‘เมืองกินได้’ ด้วยการชวนคนปลูกและเก็บกินผลไม้ในเมือง
 โปรเจกต์จากศิลปินอเมริกันที่ออกแบบงานศิลปะกินได้ เพื่อชวนคนคิดถึงความหมายของเมือง พลเมือง และชุมชน

งานศิลปะที่ยังคงให้ผลงดงาม

ถ้ามีโอกาสแวะเวียนเข้าไปในเว็บไซต์ของ Fallen Fruit จะเห็นได้ว่าโปรเจกต์นี้ยังคงมุ่งมั่นสร้างผลงานศิลปะทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ตัวอย่างเช่น ในปี 2018 ชาว Fallen Fruit เขียนลงบล็อกไว้ว่า จากความร่วมมือของทุกคน เราปลูกไม้ผลไปได้มากกว่า 400 ต้น รวมถึงสร้าง Public Fruit Park ได้ 6 แห่ง 

วาร์ปข้ามมาในปี 2022 พวกเขาสร้าง Public Fruit Park อีกแห่งในแคลิฟอร์เนีย แถมยังมีสร้าง NFT ที่มีไม้ผลซึ่งปลูกไว้แล้วจริงๆ แถมให้คนซื้อด้วย

การปลูกต้นไม้ 1 ต้นอาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ Fallen Fruit คือสิ่งที่พิสูจน์ว่า เมื่อปลูกต่อไปเรื่อย ๆ ปลูกกันคนละไม้คนละมือ จากไม้ผล 1 ต้นก็กลายเป็น Endless Orchard ของจริงได้

และเพราะการปลูกต้นไม้ 1 ต้นไม่ได้ยากเกินไป คงดีไม่น้อย ถ้าสวนผลไม้ที่ทั้งสนุก สร้างสรรค์ และกินได้จริงนี้ขยายพื้นที่ต่อไป

สู่เมืองอื่น ๆ ในโลก เกาะกลางถนนของกรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งหน้าบ้านคุณ

 โปรเจกต์จากศิลปินอเมริกันที่ออกแบบงานศิลปะกินได้ เพื่อชวนคนคิดถึงความหมายของเมือง พลเมือง และชุมชน

ข้อมูลอ้างอิง 

fallenfruit.org

endlessorchard.com

currystonefoundation.org

www.huffpost.com

www.sustainablepractice.org

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN