The Cloud x ททท.

ไม่บ่ายวันเสาร์ ก็สายวันอาทิตย์ หลังจากเดินเข้าศาลเจ้าสีแดงสด เขย่าเซียมซีทายใจเสร็จสรรพ เราจะแวะตามตรอกซอกซอยของตลาดกลางเมืองเก่า ตรอกนู้นมีอาหารเหนือท้องถิ่น ตรอกนั้นถูกใจเป็นพิเศษ เพราะมีม้วนผ้าสีน้ำเงินเข้มเขียนเทียนดั้งเดิมของชนเผ่าม้ง หลายคนคงเดาออกว่าเรากำลังพูดถึง ‘ตรอกเล่าโจ๊ว’ ตรอกผ้าม้งของเชียงใหม่

เปล่า เราไม่ได้จะเขียนเชิญชวนไปช้อปกระจายกับบรรดาผ้าลายสวย

ผ้าเขียนเทียนต่างหากสำคัญ

ขอชวนคนพิเศษมาเล่าให้ฟัง ชง-อรทัย อินรัง เจ้าของแบรนด์ฝ้ายเงินฝ้ายทอง เธอผู้พลิกฟื้นผ้าเขียนเทียน จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวเขาเผ่าม้ง บ้านป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน ให้กลับมาหายใจอีกครั้งท่ามกลางความหวัง

หากบอกว่าเธอเป็นความหวังหมู่บ้านคงไม่ผิดนัก เพราะอรทัยพาแบรนด์ฝ้ายเงินฝ้ายทองและชาวบ้านบ้านป่ากลางไปไกลเกินหันหลังกลับ เราได้ยินแต่เสียงเฮให้เดินต่อไปข้างหน้า เดินไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แม้แต่คนเดียว

ฝ้ายเงินฝ้ายทอง: แบรนด์ผ้าเขียนเทียนของชาวม้งที่พาดีไซน์บรรพบุรุษไปไกลกว่าจ.น่าน

1

คนบ้านป่ากลางเป็นชาวเขาเผ่าม้ง เดิมทีปักผ้าขายเป็นอาชีพ พอมีการส่งเสริมปลูกข้าวโพด-เลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านชวนกันไปทำเกษตรกรรมเสียหมด งานปักผ้าจากเคยหลักกลับเป็นรอง หัตถกรรมแทบสูญหายไปกับการทำไร่เลื่อนลอย

แต่แล้ววิกฤตต้มยำกุ้งเข้าจู่โจม ไม่เพียงคนเมืองได้รับผลกระทบ ชาวเขาเผ่าม้งบนบ้านป่ากลางก็โดนเหมือนกัน 

เศรษฐกิจไม่ดี แล้วจะทำอะไรได้? 

ณ ตอนนั้น คงเป็นคำถามในใจใครหลายคน และเป็นหนึ่งคำถามในใจอรทัยด้วย 

คุณพ่อของเธอเป็นทหาร พร้อมรบและพบรักกับคุณแม่ที่เป็นคนบ้านป่ากลาง ครอบครัวของอรทัยกลับมาอยู่บ้านป่ากลางหลังจากคุณพ่อเกษียณจากการเป็นรั้วของชาติ ส่วนคุณแม่กลับบ้านมาเปิดร้านขายอุปกรณ์ตัดเย็บ แถมมีพื้นฐานซ่อม-เย็บเสื้อผ้าเป็นทุนเดิม อรทัยไม่ต้องพูดถึง ฝีมือตัดขี้ด้ายเธอไม่เป็นสองรองใคร

บ้านเธอผ้าเยอะ เพราะคุณแม่ใจดี ยามเพื่อนบ้านเดือนร้อนเงินทอง คุณแม่มักรับซื้อผ้าของพวกเขาเอาไว้

เศรษฐกิจไม่ดี แล้วจะทำอะไรได้ ? 

  “เรามองดูรอบตัวว่าบ้านเรามีอะไร หมู่บ้านเรามีอะไร” 

บ้านเธอมีผ้ากองเป็นภูเขา หมู่บ้านเธอมีหญิงสาวเก่งหัตถกรรม 

แบรนด์ฝ้ายเงินฝ้ายทอง จึงเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน ด้วยการขายผ้าเขียนเทียนยกผืนที่คุณแม่รับซื้อจากเพื่อนบ้าน ก่อนจะถูกพัฒนาเป็นเสื้อคลุมอย่างญี่ปุ่นสุดเท่ เดรสทรงสวยมีฮู้ดด้านหลังเพิ่มความเก๋ และสารพัดเสื้อผ้าแฟชั่นที่ตัดเย็บจากผ้าพิมพ์เทียน

ฝ้ายเงินฝ้ายทอง: แบรนด์ผ้าเขียนเทียนของชาวม้งที่พาดีไซน์บรรพบุรุษไปไกลกว่าจ.น่าน

2

สมัยบุกเบิก อรทัยต้องหอบผ้าเขียนเทียนจากหมู่บ้านขึ้นรถทัวร์ไปขายยังโครงการสนับสนุนการสร้างอาชีพของธนาคารออมสิน ภายหลังมีโอทอป เธอส่งผ้าเขียนเทียนที่ผ่านการตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเรียบร้อยแล้วไปขาย ทำให้คนน่านและคนต่างจังหวัดรู้จักผ้าเขียนเทียนจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวเขาเผ่าม้งมากขึ้น และเป็นการกระจายต่อให้คนเข้าใจว่า ‘ผ้าน่าน’ ไม่ได้มีเพียงแค่ผ้าซิ่นทอมือสุดแสนประณีต แต่ผ้าเขียนเทียนย้อมครามก็มีคุณค่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ปกติแล้วชาวเขาเผ่าม้งบ้านป่ากลางจะใส่เสื้อผ้าจากผ้าเขียนเทียนเฉพาะวันขึ้นปีใหม่และงานแต่งงานเท่านั้น ทุกปีอรทัยเฝ้ารอวันอวดชุดสวยของหญิงสาวในหมู่บ้าน แต่ละปีแพตเทิร์นชุดไม่เหมือนกัน เทรนด์สีประจำปีไม่เหมือนกัน บอกเลยว่าอินแฟชั่นคู่สียิ่งกว่าบริษัทสีแพนโทน แค่ได้ฟังก็สนุกจนอยากเห็นด้วยสองตา 

แต่สีหลักสำหรับผ้าเขียนเทียนยังคงเป็นสีน้ำเงินเข้ม ย้ำ! ยิ่งสีน้ำเงินเข้มมากเท่าไหร่ ยิ่งสวยมากเท่านั้น ปัญหาตามมาของความเข้ม คือสีตก เพราะการย้อมสีมี 2 แบบ ดั้งเดิมแท้สีย้อมจะออกม่วง ปัจจุบันเน้นย้อมสีครามเข้ม ยืนยันจากปากอรทัยว่าสีตกทั้งสองแบบ ส่วนครามเข้มได้จากสีย้อมครามเคมี ด้วยค่าใช้จ่ายของครามแท้ราคาสูง ประกอบกับคนในหมู่บ้านทำผ้าม้วนส่งขายในปริมาณมาก สำคัญเลย สีต้องเข้มตามแบบฉบับดั้งเดิม ครามเคมีจึงตอบโจทย์มากกว่า

“คนทำขายในหมู่บ้านเขาไม่ค่อยซัก สีผ้าเลยตก เขาทำแบบนั้นขายได้อยู่แล้ว แต่เราไปขายคนอีกกลุ่มหนึ่ง ต้องดัดแปลงให้เข้ากับสังคมเมือง เราพัฒนาของเราไป ดีเสียอีก ถ้าเราไปทำเหมือนเขาหมดทุกอย่าง เขาจะไปขายใครที่ไหน เราแตกต่างเพื่อไม่แย่งอาชีพคนในหมู่บ้าน เราช่วยเขาและเราช่วยชุมชนด้วย” เจ้าของแบรนด์บอกกับเราด้วยรอยยิ้ม

เอกลักษณ์ของผ้าพิมพ์เทียนย้อมสีครามของฝ้ายเงินฝ้ายทองสีจะซีดกว่าท้องตลาดทั่วไป เพราะอรทัยแก้ปัญหาสีผ้าตกด้วยการซักผ้ามาให้แล้ว 5 รอบ เรียกว่าพร้อมใช้งานทันที แถมสีน้ำเงินซีดยังไปโดนใจลูกค้าชาวญี่ปุ่นเข้าเต็มเปา

3

“เราต้องรู้ว่าชุมชนมีอะไร บ้านนี้เย็บกระเป๋าเก่ง เอาผ้ามาให้เขาเย็บกระเป๋า บ้านนี้เย็บเสื้อเก่ง เอาผ้ามาให้เขาเย็บเสื้อ บางทีขับรถผ่านเรารู้แล้วว่าบ้านนี้จิกมือเก่ง เราเลยหางานมาให้เขาตลอด เขาแทบไม่ต้องออกไปไหนเลย”

คนในหมู่บ้านบ้านป่ากลางจะทำผ้าพิมพ์เทียนย้อมครามขายเองและทำส่งให้กับอรทัย เป็นเครือข่ายสัญญาใจ อย่างบ้านวิชัย เขียนเทียน เธอมอบตำแหน่งพิมพ์เทียน ย้อมครามให้รับผิดชอบ การออกแบบเธออาสารับเอง ส่วนญาติคนสนิทดูแลการตัดเย็บเสื้อผ้าทั้งหมดของฝ้ายเงินฝ้ายทอง เน้นเสื้อผ้าโคร่งโอเวอร์ไซส์ ใส่ได้ในชีวิตประจำวันทั้งหญิงและชาย

ฝ้ายเงินฝ้ายทอง: แบรนด์ผ้าเขียนเทียนของชาวม้งที่พาดีไซน์บรรพบุรุษไปไกลกว่าจ.น่าน

การเขียนเทียนแบบดั้งเดิมใช้ปากกาด้ามไม้หัวทองเหลืองจุ่มลงหม้อต้มเทียน เพียงอึดใจ สะบัดปากกาเล็กน้อยก่อนจะขีดลงบนเนื้อผ้า ขีดจนได้ลายตามชอบใจก็นำผ้าไปแช่น้ำสะอาดหนึ่งคืนเพื่อให้สีย้อมติดดี หลังจากแช่ผ้าครบหนึ่งคืนเอาผ้าไปจุ่มถังคราม ยิ่งจุ่มถังครามหลายรอบ สีผ้ายิ่งเข้ม จากนั้นเอาไปตากแห้งก่อนต้มเพื่อลอกเทียนออก

ฝ้ายเงินฝ้ายทอง: แบรนด์ผ้าเขียนเทียนของชาวม้งที่พาดีไซน์บรรพบุรุษไปไกลกว่าจ.น่าน

ปัจจุบันคนในหมู่บ้านไม่นิยมเขียนเทียนกันแล้ว เพราะมีช่างฝีมือดัดแปลงสารพัดเทคนิคจากการทำเครื่องเงินมาประยุกต์ทำบล็อกไม้สำหรับพิมพ์เทียน ลายดั้งเดิมอย่างลาย ‘เหง้าฟัง’ ก็ถูกลดทอนจนเกิดเป็นลวดลายใหม่ บางทีแม่ค้าหัวดี เอาลายกระโปรงเขียนเทียนสมัยพ่อแม่มาให้ช่างทำบล็อกไม้แกะลายให้ก็มี ส่วนอรทัยขอเก๋ด้วยบล็อกลายดอกไม้

4

เส้นทางสายผ้าเขียนเทียนไม่ราบรื่นเหมือนขีดเขียนตามใจ กว่าเธอจะเรียกความมั่นใจจากคนในชุมชนว่าผ้าเขียนเทียนมีโอกาสไปได้ ไปได้ไกลกว่าบ้านป่ากลาง ไปได้ไกลกว่าอำเภอปัว ไปได้ไกลกว่าจังหวัดน่าน ทำเอาเธอเสียเหงื่อและเสียน้ำตาไม่น้อย

“เราสู้หลายอย่าง เราสู้ให้ผ้าเขียนเทียนเป็นที่รู้จัก เราเข้าโครงการประกวดเกี่ยวกับผ้าพื้นบ้านแทบทุกรายการ เพราะกรรมการตัดสินจากแรงบันดาลใจ เรามีแรงบันดาลใจ เรามีทุกอย่างอยู่ในหมู่บ้าน มันง่ายต่อการสื่อสารให้เขาเข้าใจ 

ฝ้ายเงินฝ้ายทอง: แบรนด์ผ้าเขียนเทียนของชาวม้งที่พาดีไซน์บรรพบุรุษไปไกลกว่าจ.น่าน

“เรามาจากหมู่บ้านชาวเขา เราเกิดมาจากเขียนเทียน ถ้าเราไม่สานต่อภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ เขาไปถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยกันหมดแล้ว เราอยากรักษาภูมิปัญญาชาวเขาเผ่าม้งให้คงอยู่และคนข้างนอกให้การยอมรับ”

รางวัลจากการประกวดพิสูจน์ตัวเธอเองให้คนบ้านป่ากลางเห็นว่า ‘ผ้าเขียนเทียน’ ของพวกเขา มีคนมองเห็นความสวยงามและหัตถกรรมทำด้วยสองมือมีคุณค่า เฉกเช่นเดียวกับผ้าทอมือลายดั้งเดิมจากบรรพบุรุษเมืองนันทบุรี

ก่อนนั่งสนทนากับอรทัย เธอบอกว่าไปประกวดมาหนึ่งรายการ กรรมการแจกหัวข้อ ‘ความเป็นน่าน’

เธอได้รับแรงบันดาลใจจากทหารสวมเสื้อม่อฮ่อมบนจิตรกรรมฝาผนัง วัดหนองบัว

ฝ้ายเงินฝ้ายทอง: แบรนด์ผ้าเขียนเทียนของชาวม้งที่พาดีไซน์บรรพบุรุษไปไกลกว่าจ.น่าน

เราเห็นชุดแล้วเท่มาก สมแล้วเธอตั้งชื่อว่า Tiger Blue อรทัยผสานความเป็นน่านด้วยผ้าทอมือลายไทลื้อ ไม่ลืมความเป็นตัวตนด้วยการตัด-ต่อกับผ้าเขียนเทียนย้อมคราม พ่วงสีส้มด้วยอีกนิด เพื่อสื่อถึงเสือสาวได้อย่างตรงไปตรงมา

  ตอนทำเธอตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ว่า ชุดแบบนี้ต้องขายวัยรุ่นเท่านั้น โดยเฉพาะลิซ่า ศิลปินวง BLACKPINK!

5

ตั้งแต่วันแรก เป็นระยะเวลา 15 ปี ฝ้ายเงินฝ้ายทองเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง แม้เป็นคำถามธรรมดาแต่เราสงสัย

“สิบห้าปีก่อน ถ้าทำเสร็จเราต้องเหมารถไปขาย ทุกวันนี้คนมาซื้อถึงในหมู่บ้าน ทุกบ้านเริ่มกลับมาทำผ้าเขียนเทียน จากไปปลูกข้าวโพดก็ไม่ไปแล้ว บางคนบอกเศรษฐกิจไม่ดี แต่ถ้าสร้างงานจากฝีมือของเราเอง คำว่าอดตายไม่มี 

“เมื่อก่อนคนทิ้งหมู่บ้านไปเหลือแต่คนแก่ เดี๋ยวนี้เขากลับมาบ้าน กลับมาพิมพ์ผ้าขาย กลับมาปักผ้าขาย วัยรุ่นก็อยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น แสดงว่าเขาเห็นงานของเขามีคุณค่า เราคิดแล้วว่าเขาไปอยู่ที่อื่นคงไม่มีความสุขเท่ากับอยู่ที่บ้าน 

“อยู่กับภูมิปัญญาได้อะไรมากกว่าแน่นอน ถ้าเข้ากรุงเทพฯ ต้องใช้แรงงานอย่างเดียว ถ้าอยู่บ้าน เขายังได้ดูแลพ่อแม่ พิมพ์ผ้าด้วย ปักผ้าด้วย เราว่าผ้าเขียนเทียนทำให้คนไกลบ้านกลับมาใกล้บ้านนะ” 

อรทัยเล่าด้วยแววตาสดใส ราวกับเรื่องราวเหล่านั้นเป็นสายน้ำคอยรดให้หัวใจของเธอชุ่มฉ่ำครั้งแล้ว ครั้งเล่า

ฝ้ายเงินฝ้ายทอง: แบรนด์ผ้าเขียนเทียนของชาวม้งที่พาดีไซน์บรรพบุรุษไปไกลกว่าจ.น่าน

6

เป้าหมายสูงสุดของอรทัยในการทำแบรนด์ฝ้ายเงินฝ้ายทองคือการเข้าไปขายใน KING POWER เธอพยายามมาหลายต่อหลายครั้ง ในที่สุดเราและคุณก็ได้ยินข่าวดีจากเธอ อรทัยทำสำเร็จ! เราขอให้เธอเล่าให้คุณฟังด้วยตัวเอง

“เราใฝ่ฝันมานานว่าอยากให้แบรนด์เข้าคิงพาวเวอร์ ให้ผ้าเขียนเทียนเข้าไปขายในคิง เพาเวอร์ เราเจรจาหลายครั้ง เพราะปัญหาสีตก แต่เราทดลองย้อมผ้าเขียนเทียนด้วยน้ำครามน้ำแรกของบ่อ สีไม่ตกอีกแล้ว เราเลยเข้าไปเสนอ สุดท้ายผ่านการคัดเลือก ตอนนี้กำลังเริ่มทำคอลเล็กชันเพื่อนำสินค้าไปให้คิง เพาเวอร์ พิจารณา

“เราว่าจะเอาผ้าคลุมไหล่ กระโปรงชาวเขาของบ้านวิชัย เขียนเทียน ไปเสนอด้วย มีงานของช่างเย็บกระเป๋า ช่างเย็บพวงกุญแจ เราไปทีพาไปทั้งหมู่บ้าน ไม่ใช่แค่เราคนเดียว แต่คนข้างหลังเรายังมีอีกหลายคน เมื่อก่อนเราไม่เคยได้รับโอกาส พอเขาให้โอกาสเราแล้ว เราต้องส่งต่อโอกาสนั้นในคนอื่นด้วย เราภูมิใจมากนะที่ผ้าเขียนเทียนได้รับการยอมรับ

“เรากำลังพัฒนาไปข้างหน้าเรื่อยๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมไม่ได้คือภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ” 

มากกว่าการยอมรับ เธอทำให้ผ้าเขียนเทียนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง 

ชาวเขาเผ่าม้งบนบ้านป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ฝ้ายเงินฝ้ายทอง: แบรนด์ผ้าเขียนเทียนของชาวม้งที่พาดีไซน์บรรพบุรุษไปไกลกว่าจ.น่าน

ฝ้ายเงินฝ้ายทอง

205 หมู่1 ตำบลสถาน อำเภอปัว จังหวัดน่าน 55120

ติดต่อ 09 3967 1969

Facebook: ฝ้ายเงินฝ้ายทอง

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย