โปรเจกต์ต่อยอด Factopia เกิดขึ้นราว 2 ปีก่อน หลังการสร้างสตูดิโอให้เช่าที่มีแนวคิดให้ศิลปินหรือคนทำงานออกแบบ-สร้างสรรค์ได้มาอยู่ร่วมกัน เป็นภาพชัดแจ้งที่มีมากว่า 5 ปี
‘Factopia Hamlet’ อยู่ลึกถัดเข้าไปจากอาคาร 2 ชั้นด้านหน้าในระยะเดินสบาย อาคารอิฐเปลือยและหมู่บ้านสีเข้มขรึมขนาด 4 หลังหลบตัวใต้ร่มไม้ใหญ่ยามกลางวัน กลางคืนโดดเด่นล้อแสงจากโคมไฟจันทราใบเขื่องกลางลาน พร้อมเปิดต้อนรับเพื่อนบ้านคอเดียวกันเพิ่ม โดยปรับปรุงจากอาคารจอดรถเก่าและบ้านพักพนักงานของร้านอาหารอายุ 30 ปี

ไม่เพียงแค่การเปลี่ยนอาคารชวนขนลุกให้สวยขึ้นกล้องเท่านั้นที่น่าสนใจ ดีเทลการออกแบบเล็กๆ น้อยๆ อย่างใส่ใจล้วนทำให้ที่แห่งนี้ธรรมดาเป็นพิเศษ
ฟิ่ว-ฐิติรัตน์ คัชมาตย์ นักออกแบบเครื่องประดับและผู้ก่อตั้ง Factopia และ บอล-ชัยสิทธิ์ ศรีตาลอ่อน แห่ง Funktion Studio สถาปนิกผู้ออกแบบ เดินนำเรามายังบ้านหลังในสุด ก่อนกดสวิตช์เปิดไฟที่ทำให้ช่างภาพชอบใจจนเอ่ยปากถาม เพราะเป็นแสงที่เสมอกันทั้งห้อง ไม่เกิดเงารบกวนสายตา แถมอุณหภูมิยังสีพอเหมาะพอดี จนรู้สึกได้ว่าคิดเผื่อคนทำงานด้านนี้มาแล้วเป็นแน่

สตูดิโอในป่า
เมื่อไม่ได้ใช้งาน บางส่วนของบ้านพักคนงานทั้ง 4 และอีก 1 โรงจอดรถ จึงผุพังไปบ้าง
ฟิ่วเล่าว่า ก่อนรีโนเวต ตัวสตูดิโอเคยเป็นโลเคชันถ่ายทำซีรีส์เรื่อง Turn Left Turn Right ที่ แดน-วรเวช ดานุวงศ์ เป็นผู้กำกับ ซึ่งบังเอิญมาเช่า Factopia ถ่ายงาน และเห็นว่าที่นี่เข้าตาอย่างจัง โดยไม่ต้องเซ็ตอัปอะไรเพิ่ม แต่ก็มีผู้กำกับไม่น้อย ไม่กล้าใช้งาน เพราะทั้งหยากไย่ กองไม้ เศษใบไม้แห้ง และเศษไข่ ทำให้สถานที่ดูจริงเกินไป คนจิตอ่อนเห็นแล้วเลยขอถอยดีกว่า
ความตั้งใจของเธอคือ การรีโนเวตโดยไม่ตัดต้นไม้สักต้นและเก็บบ้านเก่าไว้ทั้งหมด เช่นเดียวกับอาคาร Factopia หลังแรก

“ตอนแรกก็คุยกันว่าการรีโนเวตตึกเก่า บ้านคนงาน มันคุ้มเหรอ เพราะถ้าทุบทั้งหมด เราได้พื้นที่กว้าง ทำได้หลายอย่างมาก ขึ้นตึกยังได้เลย แต่สุดท้ายมาจบที่รีโนเวต เพราะอย่างน้อยเราเก็บต้นไม้ไว้ได้ทั้งหมด ที่เห็นห้าสิบ หกสิบต้นใหญ่คือต้นเดิม ถ้าไปล้อมมา มันก็ไม่เหมือนปลูกเอง เราต้องใส่ขาตั้งไปตลอด จริงๆ แล้วข้อดีที่ได้มาจากการรีโนเวต คือการอนุรักษ์ต้นไม้มากกว่าการอนุรักษ์อาคารด้วยซ้ำ ถ้าเรามีงบประมาณ เราสร้างตึกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ต้นไม้ให้ได้อย่างนี้ก็แปดสิบปี” เจ้าของพื้นที่กว่า 4 ไร่เริ่มต้นเล่า
“พื้นที่สีเขียวที่นี่ใหญ่กว่าพื้นที่ออฟฟิศ” สถาปนิกต่อบทสนทนา
Factopia อยู่ติดสถานีรถไฟฟ้าบางกระสอ ในระยะ 0 เมตร ด้วยทำเลที่ดิน หากจะลงทุนให้คุ้มค่ากับพื้นที่ที่สุด ต้องเป็นคอนโดมิเนียม แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายของเธอ ฟิ่วเลือกทำออฟฟิศของตัวเอง โดยมีส่วนให้เช่าเพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาเลี้ยงค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าคนดูแลสถานที่

“พื้นที่สีเขียวมันมีมูลค่าทางพื้นที่ เป็นคุณค่าของสเปซดี ถ้าลองไปขึ้นไปดูรถไฟฟ้า โซนตรงนี้เป็นก้อนสุดท้ายของที่นี่แล้ว ถ้าไม่เดือดร้อนเกินไป กำไรไม่เยอะแต่พอเลี้ยงค่าใช้จ่ายโดยรวม และยังเหลือสักที่หนึ่งให้ตัวเองได้ใช้งานในแบบที่อยาก คือมีเพื่อนนักออกแบบ มีชุมชนที่ทุกคนนั่งทำงานรู้สึกว่าสบายตา บรรยากาศโล่งโปร่ง หายใจสะดวก
“ถ้า Ecosystem รวมๆ มันทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีขึ้นได้บ้าง ในแง่การจับมือกันทำงาน หรือแค่เป็นห่วงออฟฟิศข้างๆ ผมว่าก็ลองสร้างด้วยไซส์พอเหมาะได้ ถ้าใหญ่กว่านี้ก็ต้องตัดต้นไม้หรือก็ต้องเตรียม Facility อื่นๆ เพื่อรองรับเพิ่มขึ้นอีก” บอลอธิบายเสริมถึงเสริมแนวคิดแรกเริ่มที่ส่งต่อมายัง Factopia Hamlet
บ้านพักคนงานเก่า สู่ออฟฟิศใหม่
เพราะไม่อยากให้ผู้เช่ารู้สึกว่าข้างหน้าเต็มหมดแล้ว เหลือแต่ข้างหลัง วิธีออกแบบที่นี่จึงละเอียดลออทุกจุด
“ขอใช้คำว่า Humble แต่คิดละเอียด และเรารู้พฤติกรรมของคนที่จะมาใช้ล่วงหน้า ตอนที่ทำ Factopia ทำเหมือนงานศิลปะ อาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องแสง การอยู่ เพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนจะมาไหม มันจะเป็นยังไง แต่ตอนที่เราทำ Factopia Hamlet ข้างหลัง เรารู้แล้วว่าคนที่มาต้องการอะไร ข้างหน้ามีปัญหาอะไร มันเป็นโจทย์และช่วงเวลาที่ต่างกัน” ฟิ่วเท้าความถึงการวางแผนออกแบบพื้นที่แห่งนี้

กระบวนการรีโนเวตหมู่บ้านนักสร้างสรรค์เป็นไปอย่างเรียบง่าย รบกวนโครงสร้างเดิมน้อยมาก เน้นเจาะช่องประตู และกันห้องให้เป็นสัดส่วน ส่วนความยากที่สุด บอลบอกว่าอยู่ที่กระบวนการทำงาน ซึ่งเขียนแบบออกมา 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะต้องดูเงื่อนไขหน้างาน
“บางมุมที่เราต้องการเจาะ ต้องดูว่ามันรบกวนต้นไม้ไหม ถ้าลงเข็มเยอะไป เจาะโดนต้นไม้ เดี๋ยวตาย รวมถึงบางจุดที่ต้องขุดก็ต้องระวังโครงสร้างอาคารเดิมไม่ให้เสียหาย เวลาเข้าทำงานก็ต้องเตรียมเครื่องมือว่าจะเจาะเล็กหรือเจาะใหญ่
“ก่อนรื้อเราเห็นว่าของเดิมทำมาค่อนข้างแข็งแรง ไม่มีรอยแตกรอยร้าวระหว่างมุมหน้าต่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเห็นเวลาใช้งานไปนานๆ เลยเก็บฟังก์ชันการใช้งานเดิม ไม่อยากทำให้มันเสียหาย ตอนเราทุบรื้อ เห็นว่าก่อนฉาบผนัง เขาใส่ตาข่ายกันราขึ้น ซึ่งบางที่ไม่ได้ใส่แล้วฉาบเลย มันเป็นลักษณะงานก่อสร้างที่ผู้รับเหมารุ่นก่อนเขาทำกัน รุ่นปัจจุบันก็จะมีอีกวิธีหนึ่ง ฉะนั้นเวลาต่อเติมหรือว่าเจาะช่องหน้าต่างต้องเกลี่ยดีๆ เพราะว่ามีตาข่ายรับอยู่ ถ้าทุบเลย ผนังจะล้ม แล้วก็ร้าว ส่วนการเอาโครงสร้างใหม่เข้ากับโครงสร้างเดิม ก็ต้องคิดถึงการยึดและถ่ายน้ำหนัก”


ปรับ เปลี่ยน แปลง
โชคดีที่โครงสร้างยังดีอยู่มาก สถาปนิกจึงรื้อบางส่วนอย่างฝ้า เพื่อยกขึ้นไปให้ติดกับหลังคา ใช้ความสูงช่วยให้ห้องโปร่งโล่ง และเปลี่ยนหลังคาที่รั่วซึมเป็นแบบลอนคู่สีซีเมนต์ซึ่งเหมือนอันเดิมเปี๊ยบ เขาว่าเมื่อปล่อยให้ใบไม้ทับถมกัน จะเปลี่ยนเป็นสีดำธรรมชาติกลมกลืนไปกับตัวอาคาร


ที่ทำเพิ่มเติมเข้าไปคือเจาะช่องประตู ปรับปรุงผนังบางส่วน กั้นห้อง ทาสีภายนอก และซ่อมแซมห้องน้ำ ทำระบบน้ำ-ไฟใหม่ อย่างบ้าน 2 หลังหน้าสุด ก็เลือกกรุกระจกใสที่เหมาะสำหรับการเป็น Exhibition Hall ให้เช่าใช้พื้นที่ รวมถึง Gallery Shop 1 ยูนิต และ Workshops 1 ยูนิต ส่วนอีก 2 หลังเป็น Workshops หรือออฟฟิศ พร้อมห้องน้ำในตัวทุกห้อง 4 ยูนิต โดยมีขนาดตั้งแต่ 28 – 69 ตารางเมตร ส่วนโรงจอดรถ ก็ปรับเป็น Brick House เปลือยอิฐสีแสดพร้อมหน้าต่างคดโค้งเดิม ซึ่งให้อารมณ์แตกต่างจาก 4 อาคารสิ้นเชิง

“สำหรับอาคารไซส์ใหญ่ ออกแบบให้เป็น Exhibition Hall เราทุบห้องน้ำออก แล้วรื้อผนังริมทางเดินออกใส่กระจกแทนเพื่อให้ห้องกว้างขึ้น เก็บโครงสร้าง วัสดุ คราบต่างๆ และร่องรอยเดิมเอาไว้ ไม่ได้ทาสีด้านใน ให้มันเป็นเรื่องราวของอาคาร ส่วนที่สร้างใหม่ก็ทำให้กลมกลืนไปกับโครงสร้างเดิม เช่น พวกแนวไฟ เพราะไม่อยากให้มันโดด เวลาเอาของไปติดตั้งจะได้ไม่รบกวนหรือตะโกนออกมามาก ส่วนที่เป็นหน้าต่างก็เก็บบานเกล็ดไว้ ช่องลมด้านบนใส่หน้าต่างกระจกเสริม เป็นแบบสั่งทำ เปิด-ปิดโดยใช้กลไกลหมุนมือ



“อาคาร 2 ที่เป็นกระจก เราทำให้เหมาะสำหรับการวางดิสเพลย์ เดิมมีระเบียงไม้และโครงสร้างปูน เราเก็บส่วนที่มันใช้ได้ แล้วเปลี่ยนตัวผนังเป็นผนังกระจกโครงเหล็ก ซึ่งพอมองจากด้านหน้าจะมีความเป็น Gallery Shop หรือถ้าพื้นที่ว่างก็จัดแสดงงานได้ด้วย


“ส่วนอาคาร 3 และ 4 เป็นไซส์ที่เหมาะกับงานช่างหรือสตูดิโอมากกว่า ห้องไซส์เล็ก ของเดิมมีห้องอาบน้ำและห้องน้ำ เราตัดออกหนึ่งห้อง เปลี่ยนเป็นห้องเก็บของ สำหรับห้องไซส์ใหญ่ กั้นแยกเป็นสองห้อง”


ดีเทลเล็กน้อย แต่คิดมากมาก
เมื่อถอยออกไปยังลานจอดรถด้านข้างแล้วมองเข้าไป เป็นซีนที่บอลออกแบบเรื่องลำดับการเห็นเอาไว้ มองจากด้านนอก มีแพลตฟอร์มที่พระจันทร์กลมโตลอยเด่นอยู่เหนือลานกองไฟราวกับอยู่ในป่า รอบๆ เป็นกำแพงขนาดเตี้ยที่เส้นวิ่งไหลมาต่อกับส่วนล่างอาคาร เพื่อบังสายตาให้เกิดความเป็นระเบียบ หากมองจากด้านในออกไป จะเห็นว่าแพลตฟอร์มกว้างมาก หลังกำแพงมีม้านั่งและรั้วทำหน้าที่เป็นพนักวางแขนอย่างพอดี ข้างหลังเว้นช่องให้น้ำไหลลงไปยังร่องระบายน้ำโดยไม่ย้อนกลับมาเลอะแพลตฟอร์ม และลานนี้เองคือสิ่งที่เชื่อมทั้ง 4 อาคารต่อกัน


“พอเริ่มรื้อจะเห็นมันมีพื้นที่ตรงกลางค่อนข้างใหญ่ ตอนออกแบบก็คิดว่าจะทำยังไงให้ตรงนี้ไม่กลายเป็นบ้านหลังเล็กๆ สี่หลังที่ทุกคนมีประตูทางเข้าบ้านของตัวเอง แล้วเดินเข้าคนละทาง ซึ่งไม่เกิดความเป็นคอมมูนิตี้เท่าไหร่ เราอยากให้ทั้งพื้นที่และผู้เช่ามีปฏิสัมพันธ์กัน ออกมานั่งพัก พูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกันได้”


ลานจอดรถของที่นี่ไม่ตีเส้น แต่ให้ช่างทำราวกันช่องขึ้นมาใหม่ เพราะในอนาคต ฟิ่ววางแผนไว้ว่าอยากใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเล็กๆ เช่น Flea Market จึงไม่อยากให้อะไรมารบกวนสายตา พวกเขาใส่ใจเรื่องการสร้างสัดส่วนการมองเห็น ซึ่งส่งผลกับความรู้สึกเป็นพิเศษ เช่น ซุ้มประตูขอบเหล็ก ก็ทำให้เล็กบางที่สุดเท่าที่ทำได้


และสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องแสงในห้องทำงาน
“ทุกคนต้องใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ แสงแบบไหนถึงจะเหมาะ เราเลยทดลองซื้อไฟมาสามสี ลองทั้งกลางวันกลางคืน มาจบที่สีคูลตรงกลางระหว่างวอร์มกับคูลขาว ก่อนหน้านี้เรามีให้บริษัทไลท์ติ้งจำลองแสงดูว่ามันได้ไหม แล้วลองติดตั้ง และดูประเภทหลอดมาตรฐานที่ผู้เช่าจะได้หาซื้อได้ง่าย” ฟิ่วเล่ากระบวนการที่เธอมาร่วมทำม็อกอัปพับกระดาษ ทดสอบแสงสว่างและระยะเงาตกกระทบ

“เราอยากให้ไฟอยู่ในแนวโครงสร้างเดิม ฉะนั้น สิ่งที่ต้องแก้คือความสูงและระยะและความสูงของปีกข้างไฟที่ 1.5 เมตร เพื่อที่ตรงกลางโต๊ะจะได้ไม่มืด และแสงกระจายเต็มห้อง ไม่เห็นว่ามันมีเงา ซึ่งถ้าใส่ Down Light จะเห็นเงาตกกระทบรอบๆ ตอนทำงานจะลายตา” บอลเสริม พลางชี้ให้มองเส้นไฟที่กลมกลืนไปกับโครงเหล็ก ก่อนพาเดินไปสำรวจแต่ละจุดที่เล่าถึง
ไม่นานไก่ที่เจ้าบ้านเลี้ยงโดยบังเอิญ ก็ปล่อยคิวออกมาอย่างรู้งาน แต่ไม่ต้องห่วงว่าพวกมันจะรบกวน เพราะมาเฉพาะยามเช้าและเย็นเท่านั้น ส่วนกลางวันจะหลบอยู่ตามต้นไม้ด้านหลังกำแพง

จากตอนแรกที่ฟิ่วตั้งใจสร้างที่ทำงานในอุดมคติ ระหว่างวันได้พักสายตาบนพื้นที่สีเขียวของตัวเอง ดังชื่อ Factopia ที่รวมคำว่า Factory กับ Utopia เอาไว้ เธอเปลี่ยนพื้นที่นับ 4 ไร่ เป็นคอมมูนิตี้ที่เอื้อต่อคนทำงานสร้างสรรค์ทั้งบรรยากาศและการเกื้อกูลกันเรื่องงาน โดยเก็บ Sense of Place ไว้ให้นึกถึงทุกส่วน
น่าเสียดายที่บริษัทเรายังไม่มีแผนจะย้ายออฟฟิศไปไหน ไม่อย่างนั้น จะขอเชียร์ให้เจ้านาย พิจารณา Factopia Hamlet ไว้เป็นลำดับต้นๆ
