ธุรกิจ : ร้านบุญชัยการแว่น และ ร้านแว่นตาอายโฮม (EyeHome)

ประเภทธุรกิจ : ร้านแว่นตา

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ 2506

อายุ : 58 ปี

ผู้ก่อตั้ง : คุณบุญชัย ผดุงเกียรติสกุล, คุณเด่นชัย ผดุงเกียรติสกุล

ทายาทรุ่นสอง : คุณธรรมจิตต์ ผดุงเกียรติสกุล

ทายาทรุ่นสาม : คุณธนิดา ผดุงเกียรติสกุล ร้านแว่นตาอายโฮม (พ.ศ.​ 2562) 

ในร้านแว่นตาที่ทุกคนคุ้นเคย นอกจากตู้บรรจุแว่นตานับร้อยอัน มีหนึ่งอาชีพของคนในร้านแว่นที่เราเรียกจนชินปากว่า ‘ช่างตัดแว่น’ 

ชื่อจริงของอาชีพช่างตัดแว่น (ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ) คือ นักทัศนมาตร (Optometrist) ผู้ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาของระบบการมองเห็น รวมถึงดูแล ฟื้นฟู ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพตา ไปจนการเลือกแว่นตาและคอนแทคเลนส์

คอลัมน์ทายาทรุ่นสองจะพาไปรู้จักร้านแว่นที่เปิดให้บริการโดยนักทัศนมาตร ลัดเลาะเข้าไปสำรวจร้านแว่นตาย่านอุดมสุขของ ชิง-ธนิดา ผดุงเกียรติสกุล ผู้อยากมอบการมองเห็นที่ดีที่สุดให้ทุกคน 

EyeHome ทายาทร้านแว่นตาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง และรับเพียงวันละ 5 คิว

เธอเกิดและโตมาในร้านแว่นตาของครอบครัวที่สามย่าน เรียนจบสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนตัดสินใจเรียนต่อด้านทัศนมาตรศาสตร์ถึง 6 ปี เพื่อทำในสิ่งที่รักและผูกพัน หลังจากเรียนจบเฉพาะทาง เธอเข้ามาดูแลร้านแว่นตาของคุณพ่อ จึงได้เห็นข้อจำกัดหลายอย่าง และตัดสินใจไม่ทำตามวิถีเดิมของร้านแว่นเพราะเห็นโอกาสที่ดีกว่า และเลือกตั้งต้นธุรกิจร้านแว่นตาในแบบที่ต้องการในบ้านของตัวเอง ปรับกลยุทธ์ร้านแว่นทั่วไปให้กลายเป็นร้านแว่นตาที่สามารถรองรับลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจสายตาโดยละเอียด เริ่มตั้งแต่การซักประวัติ เช็กค่าสายคา ตรวจสุขภาพตา ไปจนถึงส่งต่อเคสที่รุนแรงให้กับจักษุแพทย์

ร้านใหม่ของชิงใช้เทคนิคใหม่ๆ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ความใส่ใจในการบริการก็ยังคงเหมือนกับร้านในรุ่นอากง เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถส่งต่อความดีงามของธุรกิจร้านแว่นตาของอากงและคุณพ่อด้วย Vision ที่ว่า “ลูกค้าต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด”

EyeHome ทายาทร้านแว่นตาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง และรับเพียงวันละ 5 คิว

ภาพจำร้านแว่น

ก่อนจะมาเป็นร้านแว่นตาอายโฮมในย่านอุดมสุข ชิงมีพื้นที่เรียนรู้และทดลองเป็นร้านแว่นตาของครอบครัว ซึ่งให้บริการผู้คนในละแวกสามย่านมากว่า 50 ปี เธอเดินเข้าออกร้านแว่นตั้งแต่รุ่นอากง จนร้านถูกส่งต่อมาถึงมือคุณพ่อ 

“เราอยู่กับร้านแว่นตามาตั้งแต่เกิด เห็นเวลาคุณพ่อวัดสายตา เขาละเอียดในการวัด มีการพูดคุยมากกว่าแค่วัดสายตา เราเลยซึมซับมาตั้งแต่เด็ก เห็นคนได้แว่นแล้วมันดีแบบนี้ แล้วเราเป็นคนใส่แว่น เราเข้าใจดีว่าเวลาเด็กๆ มองไม่เห็นมันลำบากแค่ไหน”

ร้านแว่นครอบครัวเต็มไปด้วยตู้โชว์แว่นหลากประเภท ตั้งแต่ราคาหลักร้อยไปจนถึงหลักพัน หลักหมื่น เปิด-ปิดตามเวลาห้าง และมักเจอปัญหาลูกค้าเข้ามาพร้อมกันช่วงใกล้ปิด เพราะกว่าจะเลิกงานฝ่าการเดินทางที่ติดขัดในกรุงเทพฯ การบริการในเวลากระชั้นชิดจึงทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

“พอเป็นคนวัดเอง เราเห็น Pain Point ชัดเจนเลย มันจะมีช่วงจังหวะที่หน้าร้านบอกว่าเร็วขึ้นหน่อยได้ไหมคะ ข้างนอกรอนานแล้ว ต่อคิวยาว ลูกค้าจะกลับแล้วนะ ข้างนอกไม่รอแล้วนะ”

ชิงได้เห็นความรุ่งเรืองพร้อมๆ กับจุดอ่อนของร้านแว่นตาที่น้อยคนจะรู้

EyeHome ทายาทร้านแว่นตาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง และรับเพียงวันละ 5 คิว

ยอมรับและยอมแลก

จากความคุ้นเคยเป็นความผูกผัน ทำให้การเข้าร้านและบริการลูกค้าในทุกๆ ครั้งกลายเป็นความสุข ชิงเริ่มรู้ว่าตัวเองรักการทำงานในร้านแว่นตามากกว่า นิติศาสตรบัณฑิตคนนี้จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อในด้านที่เธอร่ำเรียนมา แล้วคว้าโอกาสจากประสบการณ์ที่เธอได้รับจากร้านแว่นของครอบครัว กลับไปเรียนปริญญาตรีทางด้านทัศนมาตรศาสตร์ (Doctor of Optometry) อีกครั้ง

“ตอนเรียนนิติศาสตร์เราไม่ชอบที่ต้องอ่านหนังสือเยอะๆ ตอนฝึกงานเกี่ยวกับกฎหมาย เจอเอกสารทั้งวัน เสาร์-อาทิตย์เราจะเข้าไปช่วยเฝ้าร้าน ทำงานหน้าร้าน พอทำตรงนี้แล้วรู้สึกมีความสุขกว่า สนุกกว่าที่ได้เจอลูกค้า ได้พูดคุย ได้แก้ปัญหาให้เขา”

ชิงต้องยอมรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากการทำสิ่งที่ต่างจากร้านแว่นธรรมดา  ขณะเดียวกันก็ต้องคิดวิธีการแก้ปัญหาเพื่อบริหารความเสี่ยงเหล่านั้น 

“พอเรารับคิวนัดอย่างเดียว ก็ต้องยอมเสียลูกค้า Walk-in ไป 

“มีกรณีที่ลูกค้าอยากได้แว่นด่วน เขาโทรมาแต่คิววันนั้นเต็มไปแล้ว เราก็รับคิวซ้อนก็ไม่ได้ ไม่อยากแทรกคิวลูกค้าท่านอื่น ถ้าปฏิเสธลูกค้า เราก็เสียใจที่ไม่สามารถให้บริการในตอนนั้นได้จริงๆ แต่ทั้งหมดก็แลกเพื่อบริการที่ดีและเป็นร้านแว่นแบบที่เราต้องการ”

EyeHome ทายาทร้านแว่นตาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง และรับเพียงวันละ 5 คิว
EyeHome ทายาทร้านแว่นตาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง และรับเพียงวันละ 5 คิว

ร้านแว่นตาอายโฮม

โจทย์แรกของร้านเก่าคือ บริการลูกค้าอย่างเต็มที่ในชั่วโมงเร่งด่วนไม่ได้ ดังนั้น หากต้องขยายเวลาตรวจให้นานขึ้นเพื่อการบริการที่ละเอียด ร้านจึงต้องเปิดให้นานขึ้น นั่นหมายถึงร้านต้องไม่อยู่บนห้าง เธอพลิกภาพจำเดิมของร้านแว่นตาที่เคยเปิดเช้า ปิดเย็น มาเป็นการเปิด 24 ชั่วโมง รองรับลูกค้าจากทุกสาขาอาชีพ

อีกจุดหนึ่งคือ ชิงอยากตรวจลูกค้าทุกคนอย่างเต็มศักยภาพ จึงต้องขยายเวลาตรวจวัดลูกค้าแต่ละคนให้นานขึ้น เปลี่ยนจากการรับลูกค้าแบบ Walk-in มาเป็นการรับคิว แปลว่าร้านจะรับลูกค้าได้น้อยลงเหลือเพียงวันละ 5 คนเท่านั้น 

“ลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน เราซักประวัติว่าใช้งานอะไรเยอะที่สุด เน้นการพูดคุย แล้วออกแบบการบริการ การพูดคุย เป็นการเช็กที่ละเอียดขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น”

EyeHome ทายาทร้านแว่นตาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง และรับเพียงวันละ 5 คิว
EyeHome ทายาทร้านแว่นตาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง และรับเพียงวันละ 5 คิว

เมื่อตรวจเช็กตามขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ถัดมาคือการลองใส่และใช้งานจริง และกลายเป็นขั้นตอนที่ชิงให้ความสำคัญไม่แพ้การตรวจวัดสุขภาพตา

“เราให้ลองเดิน ลองใส่ จริงๆ ขั้นตอนการลองสำคัญมาก เพราะว่าความชัด ความสบาย สำคัญ และความสบายแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความเซนซิทีฟแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความชัดแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เราก็จะให้ลองใส่เลย ให้เดินในร้านจริง สมมติว่าลูกค้าใช้คอมพิวเตอร์เยอะ ลองใช้คอมพิวเตอร์ดูเลยว่าเป็นยังไง ลองเดิน ลองขึ้น-ลงบันได ลองดูโทรทัศน์ว่าตอบโจทย์ไหม ประมาณนี้โอเครึเปล่า”

หากตรวจพบว่าลูกค้าที่มารับบริการมีภาวะเสี่ยงเกี่ยวกับดวงตา หรืออาการรุนแรงเกินขอบเขตที่นักทัศนมาตรดูแลได้ ทางร้านจะส่งต่อให้กับจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

“พอเรามาทำร้านนี้ก็ได้รู้ว่า มีหลายคนที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อตาหรือเรื่องสุขภาพตา แต่ไม่รู้ตัว ก็ใส่แว่นมาอย่างนั้นโดยไม่รู้มาก่อนว่ามีเรื่องนี้ด้วย ถ้าไม่ได้เช็กก็คงไม่รู้ว่ามีแบบนี้อยู่

“เราจะพยายามให้ละเอียดที่สุดเท่าที่ร้านแว่นจะทำได้ เพราะถ้าเกินจากนี้อย่างเรื่องให้ยา การขยายม่านตา จะเป็นการรักษาของโรงพยาบาลแล้ว ร้านแว่นทำไม่ได้”

EyeHome ทายาทร้านแว่นตาที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง และรับเพียงวันละ 5 คิว
ร้านแว่นหนึ่งเดียวที่พร้อมให้บริการ 24 ชม. และรับเพียงวัน 5 คิว โดยทายาทร้านแว่นตาที่เรียนจบด้านทัศนมาตรศาสตร์มาโดยตรง

ใส่ใจบริการ

“เราอยากทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด นอกจากการมองเห็นที่ดีแล้ว ประสบการณ์ในการมาวัดสายตาก็เป็นอย่างหนึ่งที่เขาจะได้รับกลับไป ไม่ว่าจะเป็นคนนัดหรือคนรอ พอเราอยากให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดี ลูกค้าน่าจะรู้สึกได้ แล้วเขาก็ได้รับสิ่งดีๆ กลับไป”

ความตั้งใจของชิงและร้านแว่นตาอายโฮมนอกจากสะท้อนผ่านการให้บริการภายในร้าน ยังหมายถึงบริการหลังจากนั้น เพื่อย้ำว่าการบริการของร้านแว่นตาอายโฮม ไม่ใช่เพียงแค่ตรวจวัดสายตา ตัดแว่นแล้วจบไป

“นอกจากการวัด ความใส่ใจ การบริการ อีกอย่างคือเรื่องการบริการหลังการขาย ลูกค้าใช้ไปแล้วมีปัญหาอะไร ติดต่อเราได้ตลอด มีตรงนี้ช่วยซ่อมได้ไหม ทำอะไรได้ไหม ดัดได้รึเปล่า มีรถทับแว่นมาทำอะไรได้ไหม เราดูแลตลอดอยู่แล้ว”

ในขณะที่ชิงและพนักงานทุกคนในร้านแว่นตาอายโฮมตั้งใจให้บริการลูกค้าที่มาวัดสายตา คนอีกหนึ่งกลุ่มที่ร้านแว่นตานี้ให้ความสำคัญคือ คนที่มารอคนทำแว่น 

ร้านแว่นหนึ่งเดียวที่พร้อมให้บริการ 24 ชม. และรับเพียงวัน 5 คิว โดยทายาทร้านแว่นตาที่เรียนจบด้านทัศนมาตรศาสตร์มาโดยตรง

“คนที่มารอคนวัดสายตาซึ่งค่อนข้างนาน สามารถดูโทรทัศน์  YouTube, Netflix, Disney+ Hotstar นั่งดูได้เลย มีขนม มีน้ำ มีกาแฟ ไว้รอ เพราะคนที่มารอก็เป็นเหมือนลูกค้าท่านหนึ่งของเรา เป็นครอบครัวของลูกค้า เราก็อยากจะดูแลให้เหมือนเขาอยู่บ้าน ให้เขาสบายใจที่สุดเวลามาใช้บริการ”

ผลของการบริการที่พร้อมสรรพและความใส่ใจที่มีอยู่ในทุกๆ ขั้นตอนของร้านแว่นตาอายโฮม กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ลูกค้าพูดถึงและบอกต่อปากต่อปาก ถึง Vision หรือความดีงามที่ถูกส่งต่อ จากรุ่นอากง สู่รุ่นคุณพ่อ เรื่อยมาจนมาถึงรุ่นของชิง

บทพิสูจน์

ร้านแว่นตาอายโฮมเปิดให้บริการลูกค้าจากหลากหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดมาแล้วกว่า 2 ปี 

“ช่วงแรกที่บ้านไม่เห็นด้วยเลย ไม่เห็นด้วยในแง่ที่ว่ามาเปิดในตึกแถว ไม่เปิดในห้าง เพราะช่วงก่อนยุคโควิด-19 ทุกคนเข้าใจว่าร้านแว่นต้องก็เปิดในห้างสิ เพราะคนมาเดินห้าง เดี๋ยวนี้ไม่มีใครไปร้านข้างนอกกันแล้ว 

“ถ้าอยากทำเองจริงๆ หาร้านในห้างไหม หาโลเคชันในห้างไหม หาที่เช่าไหม ซึ่งเราก็มีไปดูนะ แต่มันไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่เราอยากแก้อยู่ดี สุดท้ายถ้าทำตรงนั้น Pain Point เดิมๆ ก็จะกลับมา”

ความกังวลของครอบครัว ไม่ใช่ความกังวลว่าชิงจะตรวจค่าสายตาได้ หรือจะให้บริการลูกค้าไม่ได้ แต่คือความแตกต่างของร้านกับร้านอื่นๆ ในท้องตลาด สิ่งเดียวที่ชิงทำได้เพื่อคลายความกังวลนี้ คือพิสูจน์ว่าร้านแว่นตาในอุดมคติของเธอนั้นเป็นจริงได้

“มันค่อนข้างแหวกขนบธรรมเนียมเดิมของร้านแว่น กว่าจะพิสูจน์ได้ก็ตอนที่ร้านเปิดแล้ว มีลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ เริ่มมีการบอกต่อ มีการรีวิว ที่บ้านค่อยเริ่มสบายใจหน่อยว่าแบบนี้ทำได้นะ เพราะจริงๆ ร้านเราไม่ได้อยู่ในโลเคชันที่คนจะมาง่ายเหมือนในห้าง แต่ก็ยังมีลูกค้ามาอยู่

“เราค่อยๆ ทำให้เขาเชื่อ และบอกว่าถ้าแบบนี้ไม่เวิร์กจริงๆ เราจะยอมปรับให้เป็นแบบที่เขาทำก็ได้ แต่ตอนนี้ขอทำแบบนี้ก่อน”

ร้านแว่นหนึ่งเดียวที่พร้อมให้บริการ 24 ชม. และรับเพียงวัน 5 คิว โดยทายาทร้านแว่นตาที่เรียนจบด้านทัศนมาตรศาสตร์มาโดยตรง
ร้านแว่นหนึ่งเดียวที่พร้อมให้บริการ 24 ชม. และรับเพียงวัน 5 คิว โดยทายาทร้านแว่นตาที่เรียนจบด้านทัศนมาตรศาสตร์มาโดยตรง

ปัจจุบันและอนาคต

ร้านแว่นตาอายโฮมยังคงเปิดประตูต้อนรับลูกค้าเป็นประจำทุกวันในช่วงวิกฤต พร้อมการดูแลความสะอาดที่เข้มงวดขึ้น เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน การบริการยังเป็นการนัดตามคิว นั่นหมายถึงการเว้นระยะห่างลูกค้าแต่ละคน และทางร้านได้ขยายร้านเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าที่มารับแว่นและลูกค้าที่มารับบริการแยกพื้นที่กันอย่างชัดเจน 

“ธุรกิจที่ดีสำหรับชิงคือ การได้ทำในสิ่งที่ชอบในทุกๆ วัน แล้วการทำสิ่งนั้นทำให้เราเลี้ยงดูตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ แล้วก็ส่งออกไปถึงสังคมได้ด้วย การมองเห็นของลูกค้าดีขึ้นได้ หรือมาตรฐานการวัดสายตาของเราดีขึ้นกว่านี้ได้ พัฒนาขึ้นไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ลูกค้าที่มาใช้บริการได้รับสิ่งดีๆ กลับไป”

ชิงทิ้งท้ายถึงความตั้งใจที่อยากให้ร้านแว่นตาอายโฮมเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อดูแลดวงตาอีกหลายๆ คู่ให้สดใส

ร้านแว่นหนึ่งเดียวที่พร้อมให้บริการ 24 ชม. และรับเพียงวัน 5 คิว โดยทายาทร้านแว่นตาที่เรียนจบด้านทัศนมาตรศาสตร์มาโดยตรง

Facebook : EyeHome ร้านแว่นตาอายโฮม

Writer

Avatar

แคทรียา มาลาศรี

คนทักผิดตลอดชีวิตว่าเป็นนักร้องดัง รักการกินผักและรักเนื้อพอๆ กับผัก เกิดที่อีสาน เรียนที่ภาคกลางและหลงทางที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน