The Exclusive Cultural Trip for Members of Diplomatic Corps เป็นการเดินทางพิเศษที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้น เพื่อให้เหล่าทูตานุทูตที่อยู่ในประเทศไทยได้รู้จักกับวัฒนธรรมไทยตามภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงได้กระชับมิตรระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยกับสถานทูตในหลายประเทศด้วย

ทริปแบบนี้มีจัดอยู่เป็นประจำ แต่นี่คือการกลับมาจัดเป็นครั้งแรกหลังจากงดไปช่วงโควิด จึงมีทูตานุทูตมาร่วมถึง 47 คน จาก 24 ประเทศ พอรวมเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปด้วยแล้ว ทริปนี้จึงน่าจะมีสมาชิกอยู่เกือบ 100 ชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมคนหนึ่งถึงกับออกปากว่า เป็นทริปที่มีสมาชิกเยอะเป็นประวัติการณ์

เราเดินทางกันด้วยรถบัสใหญ่ 2 คันและรถตู้อีก 3 คัน ท่องเที่ยวลัดเลาะในจังหวัดอุดรธานี หัวเมืองใหญ่ของอีสานตอนบน แล้วก็เอื้อมไปเยือนหนองบัวลำภู จังหวัดเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกันด้วยอีกหน่อย อากาศช่วงที่เราไปเยือนกำลังสบาย แดดจ้าพอให้ถ่ายรูปสวย มีอากาศเย็นบาง ๆ ตามประสาปลายฤดูหนาว

ในทริปนี้เราไปดูพิพิธภัณฑ์ 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีและพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง ไปเยือนวิสาหกิจชุมชนอีก 2 แห่ง คือ บ้านโนนกอกและศูนย์การเรียนรู้ขวัญตา ไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่รัฐบาลไทยกำลังยื่นเสนอขึ้นบัญชีมรดกโลกด้วย 

เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ
เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ
เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ
เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ

การเดินทางพร้อมคณะทูตมีความพิเศษตรงที่จะมีผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเรื่องต่าง ๆ ในมุมมองที่เป็นสากลและได้เข้าชมสถานที่ที่ปกติไม่ได้เปิดสำหรับบุคคลทั่วไป แม้จะมีกำแพงด้านภาษาอยู่บ้าง แต่กระทรวงวัฒนธรรมก็สรรหาวิธีมาทำให้ท่านทูตรู้สึกแนบแน่นกับวัฒนธรรมอีสาน เพื่ออยากให้พวกเขาสนุกกับมัน และอาจจะเอากลับไปเล่าให้ผู้คนในประเทศฟังบ้างก็ได้

กิจกรรมกระชับมิตรพร้อม ๆ กับทำความรู้จักวัฒนธรรมอีสาน เช่น การทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ การคุยกับช่างทอผ้า พร้อมถามเคล็ดลับที่จะทำให้ไม่ปวดหลัง การเพนต์แจกันดินเผา การเด็ดดอกไม้มาทำ Eco-print ที่ท่านทูตบางคนถึงกับบอกว่า ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้มาทำอะไรแบบนี้ ไปจนถึงการชักชวนให้ช้อปปิ้งอุดหนุนชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คณะทูตานุทูตฝ่ายหญิงดูจะชื่นชอบกันเป็นพิเศษ จนตะกร้าสานที่ชาวบ้านใช้ใส่ของกลายเป็น It Bag สำหรับมาดาม รวมถึงชุดผ้าไหมดีไซน์ทันสมัยที่เรียกเสียงฮือฮาและสร้างความครึกครื้นจากการเดินเข้าเดินออกห้องลองได้ตลอด 3 วัน

เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ
เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ

และไฮไลต์ของทริปที่ทลายทุกกำแพงการบอกเล่าวัฒนธรรมอีสานในทริปนี้ ก็คือการเล่าผ่านมื้ออาหาร อีกหนึ่งภาษาสากลที่ให้ทั้งความเข้าใจและอิ่มอร่อยไปพร้อม ๆ กัน

เนื่องจากมีสมาชิกมาจากหลากหลายวัฒนธรรม ความเชื่อ และข้อจำกัดส่วนตัว ทำให้การจัดอาหารในทริปนี้ท้าทายมาก แต่ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดอย่างไร ความรุ่มรวยในวัตถุดิบและวัฒนธรรมด้านอาหารของชาวอีสานบ้านเราก็ทำให้ทุกมื้อออกมาลงตัวสำหรับทุกคน 

ในมื้อปกติ ทีมงานจัดอาหารไทยยอดฮิตเป็นไลน์บุฟเฟต์เอาไว้ให้เลือกรับประทาน แต่สำหรับมื้อพิเศษที่กระทรวงวัฒนธรรมตั้งใจนำเสนอความเป็นอีสานผ่านอาหาร ทางผู้จัดวางใจให้ เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ และ เชฟโจ้-วรวุฒิ ตริยเสนวรรธน์ จากร้านซาหมวย & ซันส์ เป็นผู้รับหน้าที่รังสรรค์แบบสุดฝีมือ

มื้อพิเศษนี้จัดที่ร้านซาหมวย & ซันส์ กลางเมืองอุดรธานี ในบรรยากาศเป็นกันเอง ในช่วงกล่าวต้อนรับ เชฟทั้งสองเล่าว่าพวกเขาเป็นคนอีสาน ตั้งใจทำอาหารมื้อนี้เพื่อเล่าเรื่องวัฒนธรรมผ่านวัตถุดิบที่มีตามฤดูกาล และใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทำยาให้เป็นอาหารเลิศรส เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ไปพร้อมกับรสชาติที่ทุกคนจะติดใจ

ก่อนอาหารจะเสิร์ฟ คณะทูตได้สนุกสนานกับดนตรีคลาสสิกอีสาน จากวงที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองกับเครื่องดนตรีสากลเล่นด้วยกัน ดนตรีเป็นภาษาสากลที่ใคร ๆ ก็สนุกตามได้ เข้าใจได้ง่าย แต่ที่ต้องอธิบายกันยาวคือชื่อวง ‘หมาเก้าหาง’ ที่ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรมอธิบายว่า มาจากนิทานพื้นบ้านที่เล่าว่าหมาเก้าหางเคยมีบุญคุณกับมนุษย์ เพราะทำให้มนุษย์รู้จักข้าว จึงถือว่าเป็นวงที่เหมาะเอามาเล่นในระหว่างมื้ออาหารด้วยประการฉะนี้

ระหว่างสนุกไปกับดนตรี เชฟก็เสิร์ฟเครื่องดื่มต้อนรับ เป็นน้ำจากฝางซึ่งมีสรรพคุณบำรุงเลือด ช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า สดชื่น เหมาะสำหรับดื่มหลังจากวันอันยาวนาน และเตรียมพร้อมสำหรับอาหารจานถัด ๆ ไป

เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ

พากินเล่น

คอร์สแรกในมื้อนี้เป็นเมนูของว่างที่เสิร์ฟมาเป็นแบบเมดเล่ เพื่อเล่าความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในอีสาน นำมาซึ่งความหลากหลายของอาหาร รวมไปถึงวัตถุดิบท้องถิ่นที่เอามาผสมผสาน เหมือนคนอีสานที่ผสมผสานกับกลุ่มชาติพันธุ์แนบแน่นอย่างแยกไม่ออก

 จานแรกคือ ‘เมี่ยงกุ้ง’ ซึ่งชาวภูไท กลุ่มชาติพันธุ์ในภาคอีสานมักใช้เป็นอาหารต้อนรับแขก ทั้งรสเปรี้ยวฝาด หวาน มัน จากมะขามป้อมและงา ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้ดีมาก สมกับเป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยอาหารการกิน ใครมาเยือนถึงบ้านจึงต้องเตรียมเปิดต่อมให้เขากินเยอะ ๆ 

เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ

แล้วก็มี ‘ยำตะไคร้ไก่บ้าน’ รวมฮิตสมุนไพรพื้นบ้านทั้งมะกรูด ตะไคร้ ข่า กินกับเนื้อไก่บ้านที่ฉีกมาคลุกกับสมุนไพรจนเข้าเนื้อ 

‘ข้าวจี่’ ของว่างอย่างง่ายของชาวอีสานที่หากินได้ทุกบ้าน เชฟเพิ่มความพิเศษด้วยการใช้ข้าวเหนียวที่เพิ่งเกี่ยว มาจี่กับข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองและน้ำจิ้มมันปูนา ให้รสชาติหอม มัน และยังคงความกินง่าย เข้าใจง่ายเอาไว้

คำสุดท้ายของจานนี้คือ ‘เปาะเปี๊ยะสด’ ที่ไส้เป็นปลายี่สก เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมเวียดนามที่ปะปนในอาหารอีสานเหนืออย่างแยกไม่ออก จิ้มกับน้ำจิ้มญวนซอสมิโซะจาก หมาน้อยฟู้ดแล็บ แล็บทดลองและพัฒนารสชาติของเชฟหนุ่มและ Kurtis Hetland เชฟชาวแคนาดา เพื่อแสดงการใช้วัตถุดิบและกรรมวิธีท้องถิ่นมาต่อยอดอาหารให้มีรสชาติแบบใหม่ ๆ 

พาแลง

จบจากของว่างที่เสิร์ฟมาถาดใหญ่แล้วก็เข้าสู่จานหลักกัน จานหลักเสิร์ฟมาในพาข้าว ซึ่งพอเป็นอาหารเย็นก็เลยเรียกว่า ‘พาแลง’ (แลง แปลว่า ตอนเย็น) ที่ครอบครัวจะได้ล้อมวงกินข้าวด้วยกัน

เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ

ในพาแลงนี้เต็มไปด้วยเมนูโชว์ของจากผืนดินและผืนน้ำของอีสาน ไม่ว่าจะเป็น ‘แกงอ่อมปลาคัง’ ที่หอมผักชีลาว และมีปลาคังชิ้นโต ต้มกับฟักทอง บวบ กะหล่ำปลี ที่ให้ความหวานจนต้องยกซด 

‘เนื้อแดดเดียว’ ที่ได้เนื้อมาจากฟาร์มวัวคุณภาพส่งออก จานนี้คณะทูตชาวตะวันตกต่างตื่นเต้นเพราะทำให้คิดถึง Beef Jerky ที่คุ้นเคย แต่พิเศษกว่าตรงที่มีเม็ดผักชีเป็นส่วนผสมที่ช่วยย่อย และได้กินกับเครื่องจิ้มอย่าง ‘น้ำพริกมะเขือเทศ’ ผักที่มีแหล่งปลูกหลักในภาคอีสาน เพิ่มความสดชื่นและมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์

‘แกงผักหวานใบมะขามอ่อน’ เสิร์ฟมาในโถกระเบื้องเคลือบก็เป็นเมนูที่ดูเรียบ ๆ แต่ลุ่มลึก ผักหวานเป็นผักที่เก็บได้ทั่วไปตามฤดูกาล และใบมะขามอ่อนเป็นพืชที่ให้รสชาติเป็นเอกลักษณ์ รู้รสได้แบบไม่ต้องเห็นตัว เสิร์ฟมาพร้อมข้าวเหนียว เมนูที่ขาดไม่ได้เมื่อมาเยือนอีสาน ครั้งนี้เชฟจัดมาให้ถึง 3 สี 

และจานสุดท้ายในพาแลงนี้เป็นจานที่พาคณะทูตานุทูตออกจากคอมฟอร์ตโซนเล็กน้อย ด้วยการเสิร์ฟ ‘หมกหน่อไม้ ไข่ผำ’ ซูเปอร์ฟู้ดสัญชาติไทย รสชาตินัวจริงแบบไม่ยั้งมือ

พาหวาน

สุดท้ายก็มาถึงเซตของหวานที่โชว์การนำข้าวมาทำเป็นอาหารรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเล่าว่าอีสานเป็นภูมิภาคที่ปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ มีทั้ง ‘สาโท’ เครื่องดื่มจากข้าว ‘ขนมเปียกปูนใบเตย’ ทำจากแป้งข้าว และ ‘ชาใบข้าว’ ให้จบมื้อแบบอุ่น ๆ สบายท้อง

เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ

ในวันสุดท้ายก่อนจะร่ำลา ท่านทูตต่างผลัดกันกล่าวขอบคุณและเล่าเรื่องที่พวกเขาสังเกตเห็นและประทับใจจากทริปสุดพิเศษนี้ ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เรามองข้ามไปเพราะความเคยชินหลายอย่าง เช่น ธุรกิจชุมชนที่ไปเยี่ยมเยียนล้วนบริหารจัดการด้วยผู้หญิง เสน่ห์ของความเป็นชนบทที่ผู้มาเยือนสัมผัสได้ คุณค่าของแหล่งประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกโลก และความพิเศษของรอยยิ้มของคนไทย ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีอยู่แบบไม่ขาดแคลน 

เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ

เราขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมที่ตั้งใจจัดทริปนี้ขึ้น เพื่อนำความเป็นอีสานมาแนะนำให้เหล่าคณะทูตานุทูตได้รู้จัก ทำให้ตัวแทนของหลาย ๆ ประเทศจากทุกทวีปทั่วโลกได้รู้จักวัฒนธรรมที่หลากหลายของชาวไทยผ่านประสบการณ์สุดพิเศษ ได้เห็นศักยภาพทั้งทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจฐานราก จากความแข็งแรงในสังคมชนบทที่ผู้คนร่วมมือกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จนยกระดับเป็นนวัตกรรมและสินค้าที่คุณภาพดีระดับโลกได้ 

เที่ยวอุดรธานี แวะหนองบัวลำภู และร่วมมื้อพิเศษกับคณะทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ

การท่องเที่ยวร่วมกับชาวต่างชาติในลักษณะที่เป็นทางการ อาจทำให้มิติท้องถิ่นบางอย่างไม่ถูกพูดถึง แต่ในฐานะคนไทยด้วยกัน ก่อนขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่สนามบินที่แวะมาส่งยังเชิญชวนว่า “แล้วกลับมาเที่ยวอุดรฯ อีกนะ คราวหน้าจะพาไปมูให้ครบเลย” 

จนกว่าจะพบกันใหม่ ขอบใจหลาย ๆ เด้อ

ภาพ : ฐิติศักดิ์ เกตุนาค

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น