ลินดา เจริญลาภ นักออกแบบแฟชั่น เจ้าของแบรนด์ LaLaLove กับ นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา ช่างภาพแฟชั่น ชวนกันทำโครงการ Recycle Rising ว่าด้วยการ Recycle และ Upcycle ในวงการแฟชั่น 

โดยมี แม่แต๋ว-อัจฉรา นรินทรกุล คุณแม่ของนินทร์ แฟชั่นนิสต้าวัย 70 เจ้าของอินสตาแกรม 70YoungTeaw มาเป็นนางแบบและช่วยทำโปรเจกต์

แฟชั่น Upcycle ของ LaLaLove ที่รักษาโลกและโรคอัลไซเมอร์ให้แม่แต๋ว #70YoungTeaw

 ทีแรกโครงการนี้เริ่มต้นจากแนวคิดในการรักษาโลก แต่ทำไปทำมากลับพบว่า โปรเจกต์ที่หยิบเอาผ้าเก่าในตู้ของคุณแม่มา Upcycing ตัดเป็นชุดใหม่ (ซึ่งสวยจนได้ลง VOGUE Thailand) มีฤทธิ์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้คุณแม่แต๋วให้ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ

มาทำความรู้จักพลังของแฟชั่นบำบัด แล้วไปชมนิทรรศการนี้ด้วยกัน จัดแสดงถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ ART 4C พื้นที่สาธารณะเพื่อศิลปะของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ติดกับสามย่านมิตรทาวน์ 

 รักษาโลก

ลินดาเริ่มต้นแบรนด์แฟชั่น LaLaLove ที่มีจุดเด่นคือการพิมพ์ลายเปรี้ยวซ่าลงบนผ้ายืดเมื่อ ค.ศ. 2008 ที่ลอนดอน พร้อมกับความสนใจเรื่องการลดขยะในงานแฟชั่นลงให้ได้มากที่สุด ผ้าทุกชิ้นที่ลินดาใช้ต้องมีใบรับรอง และเธอจะไปดูกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนด้วยตัวเองถึงโรงงานทุกครั้ง พอเธอกลับมาเมืองไทย เธอก็หันมาใช้ผ้าที่ทอจากขวดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งผลิตได้เองภายในประเทศ

แฟชั่น Upcycle ของ LaLaLove ที่รักษาโลกและโรคอัลไซเมอร์ให้แม่แต๋ว #70YoungTeaw

อีกมุมหนึ่ง เธอสนใจผ้าไทย เริ่มจากเมื่อ ค.ศ. 2017 เธอได้รับการติดต่อจากบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (​ประเทศไทย) จำกัด ให้ช่วยทำแฟชั่นผ้าขาวม้า เธอเอาชนะความท้าทายนี้ด้วยการนำความซุกซนมาผสมกับธีมการละเล่นของไทย จนงานนี้ไปได้ไกลถึง Tokyo Fashion Week, Vienna Fashion Week และลอสแอนเจลิส 

เมื่อได้รับการติดต่อจาก ART 4C ให้มาแสดงนิทรรศการร่วมกันในคอนเซปต์ขยะและการรีไซเคิล ลินดาจึงแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เรื่อง Recycle ผ่านการพูดคุยถึงชุดว่ายน้ำเปรี้ยวซ่าที่ทำจากผ้ารีไซเคิลของแบรนด์ LaLaLove โดยมีเหล่านายแบบนางแบบมาสวมชุดว่ายน้ำเดินโชว์ภายในงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ชุดว่ายน้ำรักษ์โลกก็ยังเปรี้ยวได้

แฟชั่น Upcycle ของ LaLaLove ที่รักษาโลกและโรคอัลไซเมอร์ให้แม่แต๋ว #70YoungTeaw
แฟชั่น Upcycle ของ LaLaLove ที่รักษาโลกและโรคอัลไซเมอร์ให้แม่แต๋ว #70YoungTeaw

รักษาของ

ส่วนที่ 2 เรื่อง Upcycling หรือการเปลี่ยนชิ้นงานหนึ่งไปสู่ชิ้นงานใหม่ เช่น เย็บเสื้อยืดตัวเก่าให้กลายเป็นถุงผ้า ลินดาเล่าผ่านงานที่ชื่อ ‘Every year is a golden year’ นิทรรศการภาพถ่ายแฟชั่นที่เล่าเรื่องความชอบผ้าไทยของคน 2 รุ่น โดยนินทร์ ช่างภาพฝีมือดีที่เคยฝากผลงานไว้ใน The Cloud มากมาย และเจ้าของอินสตาแกรม 70YoungTeaw พื้นที่เก็บความทรงจำของนินทร์และแม่แต๋ว ผ่านสีสันและความฉูดฉาดของเสื้อผ้าที่คุณแม่ซึ่งป่วยเป็นอัลไซเมอร์สวมใส่ 

โปรเจกต์ Upcycle ผ้าไทยเก่า ของ LaLaLove ที่พบว่าแฟชั่นช่วยเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

ลินดาและนินทร์หยิบผ้าเก่าของแม่แต๋วมาออกแบบและตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าลีลาจัดจ้าน ให้แม่แต๋วใส่มาวันเปิดงาน และใส่ไปถ่ายแฟชั่นร่วมกับนางแบบสาวผู้รักผ้าไทยอย่าง คารีสา สปริงเก็ตต์ 

“เราสนิทกับนินทร์ เจอกันบ่อย ทำให้ได้เจอแม่นินทร์ด้วย เราเรียกแม่นินทร์ว่า พี่แต๋ว จะได้ดูสาวหน่อย เขาเป็นอัลไซเมอร์อ่อนๆ เราก็มานั่งคิดกันว่า จะทำยังไงให้แม่นินทร์ไม่นอนทั้งวัน เขาก็ปิ๊งขึ้นมาว่า แม่มีผ้าไทยเก็บไว้ในตู้เยอะมาก ลองเอามาทำอะไรสนุกๆ กันไหม คือคนแก่เขาหวงผ้านะ แต่เก็บไว้ก็โดนแมลงกินไปเรื่อยๆ นินทร์บอกว่าเดี๋ยวผมจะไปขโมยมา ได้มาตั้งใหญ่เลย เอามารวมกับผ้าที่เรามี ก็คิดว่า ทำชุดให้แม่ดีกว่า” ลินดาเล่าที่มาของการหยิบผ้าเก่ามาเล่าเรื่องใหม่

“เหมือนเป็นโครงการหยิบผ้าที่ทิ้งไว้เฉยๆ มาแปรรูป หรือผู้สูงอายุคิดอยากเปลี่ยนผ้าของตัวเองก็ได้ เป็นกิจกรรมที่พาคนหลายรุ่นมาเจอกัน” นินทร์เสริม

โปรเจกต์ Upcycle ผ้าไทยเก่า ของ LaLaLove ที่พบว่าแฟชั่นช่วยเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

แม่แต๋วประเดิมสวมชุดแรกที่ลินดาตัดให้ไปงานแต่งลูกชายคนรอง เมื่อเห็นว่าเธอกลายเป็นดาวเด่นประจำงาน ลินดาก็เลยชวนแม่แต๋วมาเป็นนางแบบในงานต่อไปของ LaLaLove ทันที

“เรามีถ่ายงานกับพี่ลินดาเรื่อยๆ มีงานหนึ่งเป็นคอนเซปต์ Every year is golden year ทุกปีควรเป็นปีที่ดี ไม่ว่าจะเจออะไรมาหนักหนาแค่ไหนก็ตาม แล้วปีที่ดีของเราคืออะไร คือการที่คนแต่ละรุ่นบ้าผ้าไทย แล้วมีความสุขกับผ้าไทยในปีนี้

“แม่แต๋วเป็นตัวแทนของรุ่นใหญ่วัย Baby Boomer ส่วนคารีสาเป็นนางแบบรุ่นเล็ก Gen Z ทั้งสองคนมีช่วงวัยและชีวิตที่ต่างกัน แต่ผ้าไทยทำให้พวกเธอได้มาเจอกัน งานนี้เคยลงใน VOGUE Thailand ทางจุฬาฯ เห็นก็ถามมาว่าอยากเอามาทำเป็นนิทรรศการไหม ก็ได้พี่ลินดามาช่วยเติมเต็มในเนื้อหาเกี่ยวกับ Recycle และ Upcycling ตรงกับธีมงานมาก

“งานนี้เราใช้ชื่อใหญ่ว่า Recycle Rising แต่ด้านหน้าโปสการ์ดเขียนชื่อคอลเลกชันว่า แรดรักษ์โลก” ลินดาหัวเราะ “ตอนแรกเขียนว่า RAD แปลว่า เท่ แต่เด็กๆ ในออฟฟิศบอกว่ามันไม่แซ่บ เอาแรดไปเลย เราก็เลยเอาวะ แรดก็แรด

โปรเจกต์ Upcycle ผ้าไทยเก่า ของ LaLaLove ที่พบว่าแฟชั่นช่วยเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

“เราเชิญแม่แต๋วมาเป็นไฮไลต์ส่วน Upcycling แล้วก็จะทำโปรเจกต์นี้ต่อไปเรื่อยๆ ให้คนรู้ว่ามีอะไรแบบนี้ด้วย เธอลองไปดูตู้เสื้อผ้าของเธอสิ อยากเอาผ้ามาทำอะไรไหม อยากได้ชุดใหม่ไหม ส่งผ้ามา แล้วมาคุยกันว่าชอบแบบไหน เดี๋ยวฉันสเก็ตช์แล้วตัดเย็บให้” ลินดาเล่าต่อว่า ถ้าใครชอบแพตเทิร์นสำเร็จรูปที่เธอเตรียมไว้ให้ ก็พร้อมปรับขนาดและตัดเย็บใหม่ให้ทันที

นินทร์เล่าถึงภาพถ่ายทั้งหมดที่ปรากฏในงาน เขาบอกว่า ชอบภาพบนโต๊ะอาหารที่สุด 

“เราชอบรูปนี้เพราะคารีสาทำให้แม่ถ่ายรูปได้จนจบงาน แม่อยากกลับบ้านแล้ว ไม่อยากเปลี่ยนชุดแล้ว ไม่อยากทำอะไรแล้ว แต่คารีสาคุยเล่นกับแม่ตลอด คุณแม่นั่งก่อน นั่งกินขนมกัน ก็เลยเกิดช็อตที่ทำให้เห็นว่าคนสองรุ่นอยู่ด้วยกันได้จริงๆ”

รักษากาย

การร่วมงานกับแม่แต๋ว ได้ผลลัพธ์ที่มากไปกว่าแฟชั่น

“แฟชั่นช่วยให้แม่ไม่ได้นั่งอยู่บ้านเฉยๆ ทำให้เขาตื่นตัวขึ้น จำชื่อเราได้ด้วย เราเคยขอยืมชุดแม่มาโชว์ โห ตอนนั้นโดนแม่นินทร์ด่ายับเลย แม่โวยวายว่าชุดฉันหายไปไหน ใครเอาไป กลายเป็นจำได้ สิ่งนี้เลยกลายเป็น Fashion Healing” ลินดาเล่าถึงผลพลอยได้ที่เธอไม่เคยคาด

“ผู้สูงอายุจะมีอะไรบางอย่างพัง คนนี้เข่าพัง คนนี้ฟันฟัง แม่เราทุกอย่างดีหมด พังแค่ความทรงจำ ซึ่งได้แฟชั่นเข้ามาช่วย ความรักสวยรักงามทำให้เขาดีขึ้นได้จริงๆ เขาเริ่มมีคำถามกลับมานิดๆ หน่อยๆ ทำให้เห็นว่าเขาดีขึ้น โฟกัสกับตัวเองมากขึ้น” นินทร์มองว่าแฟชั่นเป็นเหมือนอาหารเสริมลับสมองให้แม่แต๋วกลับมาจำเรื่องราวต่างๆ ได้มากขึ้น

การรักษาทั่วไปต้องใช้ยา แต่นินทร์คิดว่า ถ้าไม่ใช้ยาล่ะ ถ้าเราอยู่กับเขาแล้วกระตุ้นด้วยพลังมหาศาลของเรา จะช่วยให้ดีขึ้นได้ไหม ความทรงจำที่เริ่มแข็งแรงและความสดใสของแม่แต๋วในวัย 70 ปี ยืนยันว่าเป็นไปได้

โปรเจกต์ Upcycle ผ้าไทยเก่า ของ LaLaLove ที่พบว่าแฟชั่นช่วยเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

“แม่ยังบอกอยู่เลยว่า อย่าลืมมาทำผมสีนี้ให้ด้วยนะ” ลินดาชี้ไปที่ผมสีรุ้งของเธอ ซึ่งคำทักทายที่แม่จะพูดกับลินดาทุกครั้งที่เจอกัน

“ตอนเที่ยงคืน แม่ลุกมาทาปากแดงแจ๋เลย เราถามว่าทาปากทำไม เขาบอกว่า ก็ทาแค่นิดหน่อยเอง มันทำให้เห็นว่าเขาดูแลตัวเองดีขึ้น จากการทาลิปสติก ลามไปถึงการอาบน้ำ ถูสบู่ให้สะอาด” นินทร์เสริม

“ถ้าเราพาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไปหาหมอ คำถามแรกของหมอคือ เขาเริ่มสกปรกขึ้นใช่ไหม เพราะอาการแรกคือ ลืมว่าต้องอาบน้ำ เสื้อผ้าไม่ดูแล แม่เราก็เป็นแบบนั้น พอวันหนึ่งที่เขาลุกขึ้นมาทาปาก พกลิปสติกติดตัว ดูกระจกแล้วบอกว่าทำไมผมยุ่งจัง หวีผมหน่อยดีกว่า ไม่น่าเชื่อเลยว่าแม่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปีด้วยซ้ำ

“แฟชั่นอยู่ในตัวเขาเลย แค่เขาเปิดกระโปรงขึ้นมา แล้วเห็นตะเข็บที่เย็บเนี้ยบๆ เขาจะถามเลยว่าทำกี่วันเนี่ย คือเขาไม่ควรจะสนใจเรื่องพวกนี้แล้ว กลายเป็นว่าแฟชั่นมันกลับไปอยู่ในตัวเขา ทำให้เขาสนุกกับชีวิตอีกครั้ง งานนี้เลยเป็นโอกาสพิเศษ ที่แม่จะได้ลุกขึ้นมาทำอะไรที่เขาชอบ ได้แต่งตัวสวยๆ มีคนมาดูชุดที่แม่ใส่ ได้เห็นรูปของตัวเองบนผนัง” นินทร์เล่าด้วยรอยยิ้ม

รักษาใจ

ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด การได้มีโอกาสพิเศษแต่งตัวสวยๆ ออกไปเจอคนบ้าง ถือเป็นสิ่งที่ช่วยคุณแม่แต๋วได้มาก

“ถ้าแม่ไม่ออกจากบ้านสองวัน เขาจะสั่งเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ได้แล้ว นึกเส้นใหญ่ เส้นเล็ก ช่วงนี้เราเป็นห่วงเรื่องโรค แต่ก็เป็นห่วงสมองที่อ่อนแรงของแม่ด้วย” นินทร์พูดถึงผลของการกักตัวอยู่บ้าน

ลินดาเสริมว่า “กลุ่มผู้สูงอายุในเมืองค่อนข้างขาดโอกาสปฏิสัมพันธ์กัน คนต่างจังหวัดยังได้ไปวัด ไปตลาด ได้คุยกัน มีสามล้อก็ไปได้แล้ว แต่อยู่นี่ต้องให้ลูกหลานพาไป ถ้าเขาไม่ได้ออกไปไหน เขาแก่ลงเยอะนะ”

ลินดาเล่าถึงคุณยายลักษณ์ วัย 82 ปี น้องสาวคุณพ่อของลินดาที่ร่างกายเริ่มโทรมจากการอยู่เฉยๆ เมื่อก่อนเธอรับหน้าที่ขับรถไปรับหลาน ระหว่างทางก็แวะเม้ามอยกับเพื่อน มีเรื่องสนุกๆ กลับมาเล่าให้ลินดาฟังเสมอ แต่พอไม่ได้ออกไปไหน เธอก็เริ่มเดินช้าลง หยิบจับอะไรช้าลง 

โปรเจกต์ Upcycle ผ้าไทยเก่า ของ LaLaLove ที่พบว่าแฟชั่นช่วยเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้
โปรเจกต์ Upcycle ผ้าไทยเก่า ของ LaLaLove ที่พบว่าแฟชั่นช่วยเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

“เราก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรดี ตอนนั้นแบรนด์เราทำหน้ากากผ้าไหม เราให้คุณยาย ยายชอบมาก ส่งรูปไปอวดเพื่อนๆ ใหญ่เลย บอกว่าเดี๋ยวฉันจะส่งไปให้ใช้นะ พอเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง

นินทร์เปรียบว่า ถ้าสมองคือร่างกาย แฟชั่นก็คือการยกเวท

“การดูแลคนป่วยก็เหมือนออกกำลัง สมองมีกล้ามเนื้อ ถ้าเราไม่ได้ใช้ มันก็ไม่ฟิต มันก็จะฟีบลง แฟชั่นทำให้เราต้องคิดว่า อะไรคู่กับอะไร รองเท้า เสื้อผ้า หน้า ผม มันก็ช่วยให้ทั้งตัวเราและคนป่วยมีแรงขึ้นมาบ้าง แม้แค่เพียงนิดเดียว คนที่ดูแลก็ดีใจแล้ว

“พอเขาแต่งตัวมีสีสัน คนในซอยก็กล้าเข้ามาคุย มากกว่าวันที่เขาแต่งตัวซ่อมซ่อ หรือแต่งตัวแบบเดิมๆ ใครๆ ก็มองว่าน่ารัก ใครก็อยากเข้ามาคุยด้วย มันมีช่วงที่เขาใส่แต่เสื้อตัวเดิม เราดูแล้วก็รู้สึกว่า เขาแก่เนอะ แต่พอเปลี่ยนมาใส่ชุดลายนกยูงสีม่วง เหมือนเขาไม่ได้แก่ลง เรามองแล้วก็มีความสุข ก็สวยดีนะ ไปกินข้าวกัน บางครั้งก็ลืมเรื่องป่วยไปได้” นินทร์ทิ้งท้ายถึงพลังของแฟชั่นที่ช่วยรักษาความทรงจำของแม่แต๋วไปพร้อมๆ กับหัวใจของเขา

โปรเจกต์ Upcycle ผ้าไทยเก่า ของ LaLaLove ที่พบว่าแฟชั่นช่วยเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้

นิทรรศการ Every year is a golden year

NIN NARINT X LaLaLove

จัดแสดง ณ CU ART 4C

ระยะเวลาการจัดแสดง 3 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Writer

Avatar

ณัฐชา เกิดพงษ์

นักฝึกเขียน ผู้มีกาแฟและหมาปั๊กเป็นปัจจัยที่ 5 และเพิ่งค้นพบว่าการอยู่เฉยๆ ยากพอๆ กับการนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)