ก่อนสิเว้าเรื่องแรก ขอเว้าเรื่องสุดท้ายก่อนเด้อ 

“เที่ยงนี้พี่ต้องไปกินร้านลาบยายษรนะ” อีฟย้ำกับผมหลังสัมภาษณ์จบ เพราะเธอต้องรีบบึ่งไปสนามบินจึงไม่มีเวลาพาผมไปกินอาหารกลางวัน 

“ร้านนี้สุดมาก ทั้งร้านขายแต่ปลาปึ่ง ไม่มีเนื้อสัตว์อื่น จะให้เขาทำอะไรก็บอก เมื่อก่อนขายแค่วันละตัว หมดก็จบ เดี๋ยวนี้แล่มาหลายกิโล ยายษรทำให้เห็นว่าร้านอาหารอีสานเจ๋งว่ะ วัตถุดิบอย่างเดียวทำได้ทุกอย่าง ใช้ทุกส่วน Nose to Tail ของจริง ทำมาตั้งนานแล้วด้วย ยายษรอายุ 60 กว่า เปิดเป็นร้านเล็ก ๆ แค่พออยู่ได้ เป็นร้านที่คนท้องถิ่นกิน สามล้อขี่รถมาตะโกนสั่ง ยาย ลาบ 2 ถุง เดี๋ยวมาเอา ผักก็มาจากสวนแก เป็นร้านที่ได้เห็นรากของคนอีสานจริง ๆ แต่ไม่มีสื่อแนะนำ”

อีฟทิ้งท้ายก่อนจากไปว่า “ร้านนี้เขาหั่นปลากับพื้นนะ ไม่ได้หั่นบนโต๊ะ เขรอะหน่อย คนอีสานทำทุกอย่างบนพื้น ใช้เสื่อแทบจะทุกกิจกรรม อีฟถึงทำงานเสื่อไง เพราะเสื่อคือทุกอย่างของคนอีสาน”

อีฟเป็นไผ มาแต่ไส

อีฟนัดคุยกับผมในช่วงสายที่ร้านอินโดจีน ร้านอาหารเวียดนามชื่อดังกลางเมืองอุบลราชธานี ตรงหน้าของผมคือ อาหารเวียดนามแบบดั้งเดิมชุดใหญ่ซึ่งทุกจานไม่อยู่ในเมนูร้าน อีฟบอกว่า เธอเป็นคนปากสะมะแจะ (ถามไปเรื่อย) ไปกินร้านไหนก็ชอบชวนเจ้าของร้านคุย ถามถึงจานเด็ดที่เขากินกันในบ้าน แล้วก็อ้อนเจ้าของร้านทำให้ชิม อาหารมื้อนี้เป็นอาหารจานลับ ไม่ต่างจากร้านอาหารทั่วเมืองอุบลที่อีฟพาผมไปกินในรอบ 2 วันที่ผ่านมา 

อีฟ คือ ใคร

อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ คือแม่เมืองอุบล พวกเราชาว The Cloud และคนในวงการสร้างสรรค์เรียกเธออย่างนั้น ในเรื่องอาหาร งานคราฟต์ และงานสร้างสรรรค์ทั้งหลาย ถ้าใครอยากได้ความช่วยเหลืออะไรในจังหวัดอุบล อีฟจัดให้ได้ทุกเรื่อง

อีฟเป็นนักออกแบบแฟชั่น

อีฟเป็นนักธุรกิจ เคยขายรถไถนาและรถเกี่ยวข้าว

อีฟเป็นผู้ก่อตั้งและเคยเป็นเจ้าของร้านน้ำเต้าหู้เตาถ่าน

อีฟเป็นเจ้าของร้านอาหาร Zao อาหารอีสานรสดั้งเดิม ในรูปลักษณ์ใหม่ ซึ่งกำลังจะเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ

อีฟเป็นเจ้าของโครงการ Foundisan ชวนนักออกแบบเดินทางทั่วอีสานตามหาสุดยอดงานฝีมือมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่อวดชาวโลกได้แบบไม่อายใคร

อีฟเป็นคนอีสาน รักอีสาน และอยากสื่อสารเรื่องอีสาน เพื่อให้คนหลุดจากภาพจำเดิม ๆ ว่า อะไรที่เกี่ยวกับอีสานไม่น่าภูมิใจและราคาถูก

อีฟพยายามทำให้สิ่งที่เกี่ยวกับอีสานมีราคาแพง ซึ่งสะท้อนคุณค่าที่แท้จริง

ทุกช่วงชีวิตของอีฟพลิกผันเหนือการคาดเดา

อย่างเช่น เธอรักอีสานขนาดนี้ แต่ครั้งหนึ่งเธอก็เคยเกลียดความเป็นอีสาน อยากเป็นคนอื่น ไม่ต่างจากหลายคน

“อีฟเนี่ยตัวดีเลย อยากหนีความเป็นอีสานตั้งแต่เกิดเลย” อีฟแนะนำตัวแบบนั้น

กะอยากเป็นคนกรุงเทพฯ คือเค้า 

อีฟเติบโตมาในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่จังหวัดศรีสะเกษ ถิ่นของชาวส่วย แต่เธอมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เพราะตอนตั้งครรภ์แม่ฝันว่ามีเด็กฝรั่งมาเกิดในท้อง เด็กอีสานคนนี้เลยคิดมาตลอดว่าตัวเองเป็นเด็กฝรั่ง ชวนเพื่อน ๆ เอาไม้ไผ่มาเล่นเบสบอลตามกติกามั่ว ๆ ที่เธอเดาว่าคงเป็นแบบนี้ และบอกแม่ว่า จะไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็ก ๆ

พ่อและแม่ของเธอเป็นครูที่อำเภอน้ำเกลี้ยง แต่ก็เลือกส่งลูกสาวให้นั่งรถสองแถวคลุกฝุ่นบนทางลูกรัง 60 กิโลเมตร ไปเรียนในตัวเมืองศรีสะเกษ ออกจากบ้านตี 5 กลับมา 1 ทุ่มทุกวัน เพราะอยากให้ลูกพูดภาษากลางชัด ๆ ไม่ติดสำเนียงส่วย ไม่ต่างจากพ่อแม่จำนวนมากที่ไม่ยอมพูดอีสานกับลูก

“ตั้งใจเรียนให้เก่ง ไปหาเงิน แล้วส่งเงินมาเลี้ยงดูแม่นะ” อีฟโตมากับประโยคนี้ของแม่ ในหัวของเธอจึงมีแค่ 2 เรื่อง คือ เรียนให้เก่งและช่วยที่บ้านหาเงิน

อีฟเรียนเก่งมาก โดยเฉพาะวิชาเคมี แต่ก็ไม่ได้มีความฝันว่าอยากเรียนอะไร พอเพื่อนสนิทของเธอต้องเดินทางไปสอบตรงเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่กรุงเทพฯ เธอจึงอาสาไปเป็นเพื่อน เหตุผลเดียวที่จะขอเงินแม่ไปเที่ยวกรุงเทพฯ ได้คือ ต้องไปสอบด้วย เธอจึงเลือกคณะศิลปกรรม เพียงเพราะอยากสอบตึกเดียวกับเพื่อน และเลือกสาขาเซรามิก เพราะชื่อเท่ดี

แม่สนับสนุนอีฟเต็มที่ เพราะอยากให้ลูกเป็นครูศิลปะในมหาวิทยาลัยครูอันดับหนึ่งของประเทศ ส่วนอีฟรู้ตัวดีว่า แค่มาสอบเล่น ๆ วาดรูปยังไม่เป็นเลย จะสอบติดได้ยังไง

แต่อีฟดันสอบติด (แต่เพื่อนที่ชวนมาสอบไม่ติด)

หม่องนี่เป็นหม่องของเฮา 

“ห้างสวยมาก ฉันต้องอยู่ที่นี่ สุขุมวิทคือที่ของฉัน” อีฟพูดถึงความรู้สึกแรกที่มีต่อกรุงเทพฯ ด้วยตาเป็นประกาย ทุกอย่างที่นี่เจริญหูเจริญตาต่างจากบ้านของเธอ ตอนที่อีฟนั่งรถสองแถวไปเรียนในเมือง ยังมีคนมานั่งอึข้างทางอยู่เลย อีฟเลยมีความสามารถพิเศษ เข้าห้องน้ำโดยไม่ต้องมีห้องน้ำได้

สาวศรีสะเกษเริ่มชีวิตนักศึกษาปีหนึ่งด้วยบุคลิกแบบเด็กเนิร์ด ผมสั้น แต่งตัวเรียบร้อย ใส่สร้อยเชือกห้อยพระ ไม่แตกต่างจากเพื่อนร่วมรุ่นมากนัก สิ่งเดียวที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงก็คือ อีฟวาดรูปไม่เป็นเลย

“ตอนเรียนต้องให้เพื่อนช่วยวาดรูปให้ จนจะจบปีหนึ่งก็มาทบทวนกับตัวเองว่า จะเรียนจบไปทำอะไร ทีแรกว่าจะลาออกไปสอบใหม่ ไปเรียนด้านเคมี แต่เพื่อนบอกว่า ย้ายสาขาได้ ซึ่งไม่ค่อยมีคนรู้ ในบรรดาสาขาวิชาทั้งหมด แฟชั่นดูจะเป็นสาขาเดียวที่เรียนได้” อีฟเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอเข้าสู่วงการแฟชั่น

“แม่อีฟเป็นช่างตัดเสื้อด้วย ทำหลายอาชีพเพื่อส่งลูกเรียนในเมือง แม่นอนน้อยมาก สอนเสร็จก็กลับมากลิ้งเสื้อ ตัดชุดแต่งงาน แต่งหน้า จัดดอกไม้ ทำร้านโชห่วย ขายกวยจั๊บ ทำทุกอย่างที่ได้เงิน ถ้าอยากได้เสื้อผ้าใหม่ แม่จะทำชุดเอง ทำแพตเทิร์น เย็บให้ แฟชั่นเลยเป็นสาขาที่ใกล้ตัวที่สุด”

อีฟใช้เวลา 3 เดือน จ้างอาจารย์มาสอนสเก็ตช์แฟชั่นแบบตัวต่อตัว โดยมีเป้าหมายว่า ต้องวาดและทำพอร์ตฯ ให้ได้เหมือนคนที่ฝึกวาดมาตั้งแต่ประถม

แล้วเธอก็ย้ายไปเรียนภาคแฟชั่นสำเร็จ

หมู่แท้ในวงการแฟชั่น มีบ่น้อ 

วงการแฟชั่นตอนรับน้องใหม่อย่างดุเดือดตั้งแต่นาทีแรก

“อาจารย์ไม่ยอมรับ ไล่ออกจากห้องให้กลับไปที่เดิมของเรา เพราะเรามาทางลัดที่ไม่เคยมีใครใช้ เขาสอบแฟชั่นกันพันคนเอาสิบคน เราวาดรูปก็ไม่เป็น แต่งตัวมอซอ ไม่แฟชั่น แบรนด์อะไรก็ไม่รู้จัก เพื่อนร่วมรุ่นแต่ละคนก็เทพมาก ส่วนมากเป็นเด็กรวยแต่งตัวจัดกันทุกคน” อีฟเล่าถึงโลกใบใหม่ที่ไม่สดใสเท่าใดนัก

เด็กสาวจากอีสานคนนี้ตอบคำถามเรื่องแฟชั่นไม่ได้เลย วิจารณ์งานแฟชั่นในห้องก็ไม่เป็น ดูงานศิลปะในแกลอรี่ก็ไม่เข้าใจ จนต้องไปลงเรียนพิเศษเรื่องการวิจารณ์งานกับ อาจารย์ถนอม ชาภักดี แล้วทุ่มเททำงานให้หนักกว่าคนอื่น

“เราไม่เก่ง แต่เราอึด อาจารย์ให้สเก็ตช์ชุดส่งสัปดาห์ละห้าสิบชุด เราสเก็ตช์ร้อยชุดเลย เพื่อเอามาเลือกแบบที่ดีที่สุด แต่ทำคนเดียวไม่ทัน ต้องมอบหมายให้เพื่อนเซรามิกช่วยลงสีตัดเส้นให้” รวมถึงเพื่อนแฟชั่นหลายคนก็ยินดีช่วยเด็กใหม่ผู้ไม่รู้อะไรเลย

อีฟ สาวอุบลผู้เชื่อว่า เราต้องภูมิใจในความเป็นอีสาน และอีสานแพงได้ ไม่จำเป็นต้องถูก

“เราไม่ได้เก่งมาตั้งแต่แรก จะมานอนไม่ได้ อีฟนอนน้อยมาก วันละชั่วโมง บางทีเผลอหลับยังฝันว่าครูมาชี้หน้าด่าว่า เก่งแล้วเหรอถึงกล้านอน มันหลอนขนาดนั้น” ด้วยความพยายามสุดตัวทำให้อีฟค่อย ๆ ไต่อันดับจากที่โหล่ขึ้นมายืนแถวหน้าของรุ่น สวนทางกับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมรุ่นที่ค่อย ๆ หายไป

ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเพื่อนก็มีแต่จะแย่ลง

“มีอาจารย์ท่านหนึ่งจบแฟชั่นมาจากอเมริกา เนี้ยบมาก ดุมาก แล้วก็เหยียดอีฟมาก บอกว่า หน้าอย่างเธอเนี่ยนะจะเรียนแฟชั่น มีเงินเรียนเหรอ ที่บ้านทำอะไร แฟชั่นไม่มีเงินเรียนไม่ได้นะ”

อีฟยอมรับว่าสิ่งที่อาจารย์พูดจริงทุกอย่าง เธอต้องจ่ายค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างต่ำ ๆ สัปดาห์ละ 5,000 บาท แม่ของเธอต้องไปกู้มาบ้าง อีฟเองก็ต้องรับจ๊อบทำชุดเชียร์ลีดเดอร์ เป็นผู้ช่วยสไตลิสต์ และทำแพตเทิร์นเพื่อหาเงินเรียนด้วย

“เธอคิดว่าในวงการแฟชั่นมีเพื่อนแท้ไหม” อาจารย์สุดเนี้ยบถามอีฟ

“มีค่ะ” อีฟตอบตาใสตามที่คิด เพราะเพื่อนที่เรียนเซรามิกก็ช่วยเหลือเธอมาตลอด

“ชั้นว่าไม่มี เธอคอยดูก็แล้วกัน”

หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ อีฟก็ทำงานที่ต้องส่งในวิชาของอาจารย์คนนี้พลาด สีเน่าทั้งคอลเลกชัน แม้เธอจะถูกสอนมาว่า ไม่ว่างานจะแย่ยังไง นักออกแบบก็ต้องปกป้องงานตัวเอง แต่งานชิ้นนี้ห่วยเกินกว่าจะสู้ไหว เธอเลยออกตัวยอมรับความผิดพลาด เพื่อนทุกคนในห้องก็วิจารณ์งานอีฟไม่ยั้ง แต่ดูเหมือนอาจารย์จะไม่เห็นด้วย นักออกแบบสุดเก๋าโต้กลับทุกคำวิจารณ์ พูดจนงานเน่า ๆ ของอีฟเลิศเลอกว่างานของทุกคน

“หลังจากวันนั้น เพื่อนก็ไม่เข้าใจ หายไปหลายคน” อีฟหัวเราะกับโชคชะตา “เพื่อนบอกว่ามึงเป็นลูกเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ หลังจากนั้นก็โดนแกล้ง งานที่ส่งอาจารย์บนโต๊ะก็หายบ่อย”

ถึงเพื่อนจะไม่ชอบ แต่ความพยายามและความสามารถของอีฟก็ทำให้อาจารย์หลายคนเอ็นดูเธอเป็นพิเศษ หัวหน้าภาควิชาถึงกับเอ่ยปากว่า ปิดเทอมนี้ลูกของเธอจะกลับมาจากออสเตรเลีย อาจารย์อยากให้อีฟไปอยู่บ้านเธอ 3 เดือน เธอจะสอนแพตเทิร์นให้อีฟเอง เรื่องนี้ควรถือเป็นข่าวดี

ถ้าอาจารย์ไม่พูดเรื่องนี้กลางห้องต่อหน้าเพื่อนทั้งรุ่น

“ช่วงใกล้ปิดเทอม จะได้ไปอยู่บ้านอาจารย์แล้ว อยู่ดี ๆ ก็มีเพื่อนบอกว่ามือถือหายในห้องเรียน เพื่อนบอกว่า เราก็อยู่กันแค่ในห้องนี้ มาโหวตกันดีกว่าว่า ใครเป็นคนเอาไป เกือบทั้งห้องโหวตว่าอีฟเป็นโจร บ้านอาจารย์ก็ไม่ได้ไปแล้ว ใครจะกล้าให้โจรไปอยู่ที่บ้านล่ะ” อีฟบอกว่าตอนนั้นเธอโกรธมาก แต่ยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ

“เรารู้ว่าต้องเรียนให้เก่ง จบมาจะได้ทำงานบริษัทดี ๆ มีเงินเยอะ ๆ ส่งให้แม่ แล้วจะเอาอะไรไปแข่งกับคนอื่นล่ะ แค่วาดรูปเสื้อผ้าใครก็วาดได้ แต่อีฟทำแพตเทิร์นเป็นคนเดียวในห้อง คนอื่นต้องจ้างอีฟหมดเลย ยิ่งทำให้เราอยากเรียนแพตเทิร์น เราเก็บกดมากที่ไม่ได้เรียนแพตเทิร์นที่บ้านอาจารย์ ตอนนั้น อาจารย์ปกรณ์ วุฒิยางกูร สอนวาดแพตเทิร์นค่าเรียน 6 หมื่น เป็นหลักสูตรฝรั่งเศส เราอยากเรียนมากแต่ไม่มีเงิน เลยบอกให้เพื่อนไปเรียนแล้วมาสอนเราต่อ เดี๋ยวเราจะช่วยทำงานส่ง ปรากฏว่าพ่อเพื่อนออกเงินให้เราเรียนก่อน มีเงินแล้วค่อยผ่อนคืน ก็เลยยิ่งเก่งแพตเทิร์นขึ้นไปอีก”

อีฟ สาวอุบลผู้เชื่อว่า เราต้องภูมิใจในความเป็นอีสาน และอีสานแพงได้ ไม่จำเป็นต้องถูก

พอขึ้นปี 3 ถึงแม้อีฟจะพยายามพิสูจน์ตัวเองจนได้รางวัลจากการประกวดมากมาย แต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ๆ แฟชั่น

“เรามาถามตัวเองว่าเป็นเพราะอะไร สรุปว่าเป็นเพราะข้างนอกนี่แหละ เราได้เงินค่าทำชุดลีดมา 5 หมื่น ก็เอาไปซื้อแบรนด์ที่คนยอมรับในสมัยนั้นมาใส่เลย ซื้อชุดเกรย์ฮาวนด์หมดเลย ตัดผม แต่งหน้า เปลี่ยนลุคใหม่เลย นับจากวันนั้นเราก็เริ่มมีตัวตนในสายตาเพื่อน ๆ ” อีฟสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ว่า

“ถ้าอยากอยู่วงการนี้ ต้องแต่งตัว เก่งอย่างเดียวไม่พอ ลุคต้องได้ ต้องดูดี ไม่งั้นเก่งให้ตาย คนก็ไม่ยอมรับ”

ฟ่าวหาเงิน ส่งเมื่อเฮือน 

พอเรียนจบอีฟก็ได้ทำงานกับแบรนด์ Shaka London บริษัทร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่นซึ่งมีโรงงานอยู่ที่ไทยและมีนักออกแบบอยู่ที่ญี่ปุ่นและลอนดอน อีฟต้องบินไปเลือกผ้าที่ญี่ปุ่น แล้วมาทำงานร่วมกับนักออกแบบชาวญี่ปุ่นที่อยู่ลอนดอน

เหตุผลที่อีฟได้ทำงานในบริษัทอินเตอร์ ก็เพราะฝีไม้ลายมือที่โดดเด่นทั้งเรื่องการออกแบบและการทำแพตเทิร์น อีฟรับจ้างทำแพตเทิร์นให้นักออกแบบตั้งแต่สมัยเรียน บางเดือนเธอหาเงินได้ถึงแสนบาท เพราะคนทำแพตเทิร์นที่เข้าใจลายเส้นในสมัยนั้นมีน้อยมาก

อีกเหตุผลก็คือ อีฟเป็นคนพูดเก่ง นำเสนอตัวเองได้ดี ตอนสัมภาษณ์เธอตอบฉะฉานว่า พูดภาษาอังกฤษได้ จนลาออกก็ยังไม่มีใครรู้ว่า เธอพูดภาษาอังกฤษแทบจะไม่ได้เลย

“พอเรารู้ว่านักออกแบบชาวญี่ปุ่นจะมาเมืองไทย ก็ไปลงเรียนคอร์สพูดแบบเร่งด่วน จ้างครูฝรั่งมาสอนตัวต่อตัว เรารู้ว่าบทสนทนาจะเป็นประมาณไหน ก็บอกครู ขอแค่นี้ เรียนอยู่ 6 เดือนก็คุยได้สบาย เวลาเขาส่งอีเมลมายาวเต็มหน้าเอสี่ อีฟก็ฟอร์เวิร์ดไปให้เพื่อนเอกอังกฤษช่วยแปลให้ เราพิมพ์คำตอบไป เขาก็แปลให้อีกที อีฟใช้เพื่อนตลอด เจ้านายญี่ปุ่นไม่เคยรู้เลยว่าอีฟพูดอังกฤษไม่ได้ เจ้านายไทยก็ไม่รู้ รู้แต่อีฟเขียนเก่ง สื่อสารเข้าใจ แต่เขินไม่กล้าพูด เหมือนคนไทยทั่วไป”

ในระหว่างนั้นอีฟก็หุ้นกับเพื่อนทำแบรนด์เสื้อของตัวเอง เป็นเสื้อคาร์ดิแกนง่าย ๆ ตีเกล็ดนิดหน่อย เป็นแพตเทิร์นที่ไม่มีในตอนนั้น จ้างคนเย็บเป็นเสื้อโหลเป็นพัน ๆ ตัว เอามาขายที่ตลาดนัดจตุจักรตี 3 วันเสาร์ ขายตัวละ 250 บาท มีต่างชาติมาเหมาไป ตี 5 ก็ขายหมด ได้เงินวันละ 3 แสน ก็เอากลับไปลงของเพื่อผลิตรอบใหม่

นอกจากนั้น อีฟยังเป็นนักออกแบบรุ่นใหม่ที่รัฐบาลเลือกพาไปโปรโมตที่ต่างประเทศ รุ่นเดียวกับ กรกต อารมย์ดี เธอทำตัวอย่างไปโชว์ 20 ชิ้น รับออเดอร์กลับมาก็ผลิตแล้วส่งออก

อีฟ สาวอุบลผู้เชื่อว่า เราต้องภูมิใจในความเป็นอีสาน และอีสานแพงได้ ไม่จำเป็นต้องถูก

“งานประจำเงินก็ดี ช่วงนั้นหาเงินได้เดือนละแสนสองแสนสบาย ๆ แต่หมดไปกับเสื้อผ้า ต้องแบรนด์เนม ต้องแต่งตัว เป็นทาสแฟชั่น หาเท่าไหร่ก็ไม่พอ ต้องส่งให้ที่บ้านด้วย ตอนนั้นโหยเงินมาก กลับบ้านปีละครั้ง ไปแล้วก็คัน หายใจไม่ออก แค่ไปไหว้ กินข้าวหนึ่งมื้อ อีกวันก็กลับ อีฟเข้าใจว่า การส่งเงินคือการกลับบ้าน เราส่งเงินตลอด ไม่ต้องกลับบ้านก็ได้ คิดว่าแม่อยากได้เงิน ก็ตอนเด็ก ๆ แม่บอกว่าอย่างงั้น ก็เอาเงินไปสิ แล้วห้ามมายุ่งกับชีวิตอีฟนะ”

ชีวิตของอีฟยังรุ่งไม่หยุด จากนิสิตที่ถูกเฉดหัวออกจากภาค เธอได้รับเชิญให้กลับสอนที่คณะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเธอตัดสินใจเรียนต่อปริญญาต่อด้าน Fashion Promotion ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ที่อังกฤษ อีฟได้คอนเนกชันมากมาย ชีวิตในวัย 27 – 28 ปีของเธอมีทางให้เลือกหลายทาง ทั้งเป็นอาจารย์ ทำแบรนด์ของตัวเอง ไปจนถึงทำแบรนด์ของตัวเองแบบอินเตอร์

แต่จู่ ๆ กราฟชีวิตของเธอก็ถูกกระชากลงแบบไม่ทันให้ตั้งตัว

เมื่อเฮือน

ช่วงที่รอรับปริญญา อีฟได้รับโทรศัพท์ข้ามทวีปมาจากแม่

“กลับบ้านมากินข้าวกับแม่ได้ไหม” แม่ไม่อยากให้อีฟทำงานที่ไหนแล้ว อยากให้กลับมาอยู่ที่บ้านที่ศรีสะเกษ เพราะถ้าไม่ดึงอีฟกลับบ้านตอนนี้ แม่คงไม่มีทางได้ตัวอีฟกลับมาอีกแล้ว

“ไม่เอา ไม่เห็นมีอะไรอร่อยเลย ไม่ชอบ ไม่กลับ”

“อีฟรู้จักคำว่า บุญคุณต้องทดแทนไหม”

“อีฟก็โอนเงินให้แม่ตลอด ไม่ทดแทนยังไง ตั้งแต่เรียนอีฟให้แม่มาตลอด แม่อยากได้อะไรก็ซื้อให้หมด ไม่ทดแทนยังไง”

“แม่ไม่ได้อยากได้เงินอีฟนะ แม่อยากได้ตัวอีฟ แม่เลี้ยงอีฟมา แม่ไม่ได้ต้องการเงินขนาดนั้น แม่มีเงินของแม่ แม่ก็มีเงินเดือนนะ”

“แล้วแม่ต้องการอะไร”

“ต้องการให้อีฟมาอยู่บ้านด้วย”

“แม่จะบ้าเหรอ”

“อีฟใช้เงินเยอะที่สุดในบ้าน อยากเรียนอะไร อยากเรียนที่ไหน แม่หาเงินให้หมด ไม่เคยปฏิเสธ แค่มากินข้าวกับแม่ ทำไม่ได้เหรอ แม่ขอแค่นี้ กลับมาเลย ไม่ต้องรับปริญญา แม่จะซื้อตั๋วส่งไปให้ ถ้าไม่กลับ แม่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรแล้ว อีฟน่าจะรู้นะว่า ต้องตอบแทนบุญคุณแม่ยังไง”

ในที่สุด แม่ก็ได้ลูกสาวคนเดียวกลับมา แต่ดูเหมือนจะได้กลับมาแค่ร่าง เพราะอีฟที่แต่งตัวแฟชั่นจ๋าดูเป็นตัวประหลาดของคนทั้งจังหวัด ไม่คุยกับใคร เหมือนผีบ้าที่โกรธเกรี้ยวทุกอย่างรอบตัว ทุกเย็นทุกคนในครอบครัวจะพาอีฟไปกินข้าว แต่อีฟก็พร้อมจะด่ากราดใส่ทุกคนที่พูดจาไม่ถูกหู หรือไม่ก็นั่งร้องไห้กลางโต๊ะอาหาร

แม่ตัดสินใจเกษียณอายุก่อนกำหนดเพื่อมาอยู่เป็นเพื่อนลูกสาวที่บ้าน เพราะอีฟคุยกับใครไม่ได้เลย

“อีฟกินเหล้าทุกวัน กินเหล้าหนักมาก ที่เหี้ยกว่านั้นคือ จ้างพริตตี้ 2 คนมากินเหล้าด้วย เล่นเกมเป่ายิ้งฉุบกินเหล้า แค่อยากมีเพื่อนคุยเรื่องสนุก ๆ ได้หัวเราะบ้าง” อีฟเล่าถึงสิ่งเดียวที่ทำให้เธอได้ผ่อนคลายในช่วงเวลานั้น

เวลาผ่านไปหลายเดือน อีฟเริ่มหางานที่ชอบทำ เธออยากเปิดร้านส้มตำเก๋ ๆ แบบร้านเกรย์ฮาวนด์ เธอเดินแจกแบบสอบถามสำรวจตลาดด้วยตัวเอง จนไอเดียร้านเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แม่ก็ถามคำถามสำคัญที่ทำให้เธอถึงกับล้มโครงการ

“ใครจะตำให้อีฟ อีฟจะคุยกับลูกน้องรู้เรื่องเหรอ”

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ได้เริ่มงานใหม่ตามคำแนะนำของพ่อ

อีฟ สาวอุบลผู้เชื่อว่า เราต้องภูมิใจในความเป็นอีสาน และอีสานแพงได้ ไม่จำเป็นต้องถูก
อีฟ สาวอุบลผู้เชื่อว่า เราต้องภูมิใจในความเป็นอีสาน และอีสานแพงได้ ไม่จำเป็นต้องถูก

แม่ค้า

ครอบครัวของอีฟย้ายมาอยู่ที่อุบล พ่อของอีฟเพิ่งซื้อรถเกี่ยวข้าวมา 2 คัน แล้วเอาไปรับจ้างเกี่ยวข้าว ได้กำไรดีมาก เลยแนะนำให้ลูกสาวลองไปเอารถเกี่ยวข้าวของเพื่อนที่พิษณุโลกมาขาย เป็นรถที่ครอบครัวของเพื่อนอีฟผลิตเอง ราคาคันละประมาณ 2 ล้านบาท

อีฟตัดสินใจเป็นดีลเลอร์รถเกี่ยวข้าวในจังหวัดอุบล พ่อเพื่อนอีฟถามว่าอยากได้เงินใช้เดือนละเท่าไหร่ อีฟตอบว่า แสนห้า เขาก็สอนว่าต้องทำเรื่องไฟแนนซ์ยังไง ไปอบรมและเรียนรู้งานกันหนึ่งเดือน อีฟก็กลับมาเริ่มต้นกิจการแรกของตัวเองในอุบล

สิ่งที่ร้านอีฟต่างจากร้านคู่แข่งก็คือ เปิดร้านตลอด 24 ชั่วโมง เพราะช่วงเวลาเกี่ยวข้าวมีแค่ 20 วัน คนที่รับจ้างเกี่ยวข้าวจึงต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หลักการขายของอีฟคือ แทบไม่แนะนำว่ารถใช้งานยังไง เน้นสอนให้ดูตัวเลขว่า ผ่อนยังไงถึงจะหมด ไปรับจ้างเกี่ยวยังไงถึงจะคุ้ม แล้วก็มีการขายที่ไม่เหมือนใคร

“ถามเขาว่า พี่กินเบียร์ไหม กินข้าวไหม เราเลี้ยงเหล้าทุกคน อยากกิน มันทรมาน กินในโชว์รูม กินไปคุยไป วันแรกก็ขายได้เลย เขาก็บอกว่า พาพี่ไปกดเงินหน่อย เด็กยังงงเลยว่า ขายรถได้ยังไงวะ พอได้ลูกค้าคนแรก ก็เลี้ยงข้าวลูกค้าทุกคน ใครอยากกินเบียร์กินเลย เรากินด้วย” อีฟสรุปผลประกอบการปีแรกว่า ขายได้ 50 คัน ทำเงินได้เฉียดร้อยล้านบาท ขายดีจนบริษัทผลิตรถให้ไม่ทัน

“แต่ไม่มีความสุขนะ มีเงินก็ช่วยไม่ได้ เพราะอีฟไม่ได้อยากอยู่ที่นี่ บ้านฉันคือกรุงเทพฯ กูมาทำอะไรที่นี่วะ นอนน้ำตาไหลตลอด แล้วก็เหมือนเอาน้ำมันราดตัวเองตลอดเวลา เผาทุกคน อีฟไม่เห็นหัวใครเลย ไล่ลูกน้องออกทีละหกคน ทำผิดคนเดียวแต่ที่เหลือไม่ยอมบอกก็ถือว่าสมรู้ร่วมคิด เอาออกหมด เราหาเงินได้ขนาดนั้น พ่อแม่พูดอะไรก็ไม่เชื่อ ไม่มีใครเตือนได้ ตอนนั้นเกลียดตัวเองมาก”

ช่วงนั้นทุกคืนวันศุกร์อีฟจะบินไปกรุงเทพฯ เพื่อใช้เวลาสุดสัปดาห์กินเหล้ากับเพื่อน แต่แล้วคืนหนึ่งแม่ซึ่งนั่งรถไปส่งเธอที่สนามบินก็พูดขึ้นมาว่า

“แม่ตัดสินใจผิด แม่ไม่น่าดึงอีฟกลับมาเลย” แม่พูดไปร้องไห้ไป “อีฟทำให้ทุกคนที่อยู่รอบตัวทรมานหมดเลย ไม่มีใครมีความสุขเลย แม้แต่แม่เอง แม่ว่าอีฟกลับไปอยู่ในที่ที่อีฟมาเถอะ แม่เข้าใจผิดว่าอีฟเป็นคนที่นี่ แต่อีฟเปลี่ยนไปแล้ว แม่ทรมานมาก”

คืนนั้นอีฟกินเหล้ากับเพื่อนที่กรุงเทพฯ หนักหน่วงไม่ต่างจากสัปดาห์อื่น ๆ แต่ใจลึก ๆ เธอก็เริ่มคิดว่า จะหาทางออกกับปัญหานี้ยังไง

อีฟ สาวอุบลผู้เชื่อว่า เราต้องภูมิใจในความเป็นอีสาน และอีสานแพงได้ ไม่จำเป็นต้องถูก
อีฟ สาวอุบลผู้เชื่อว่า เราต้องภูมิใจในความเป็นอีสาน และอีสานแพงได้ ไม่จำเป็นต้องถูก

เงินหาหลายป่านได๋กะบ่พอ

ชีวิตที่ผ่านมาดูเหมือนอีฟเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ

แต่ถ้ามองอีกแง่ เธอก็เหมือนนักธุรกิจที่บริหารงานแบบมีศิลปะจนประสบความสำเร็จ

ครั้งหนึ่งอีฟไปสอนหนังสือที่ ม.อุบล แล้วพบว่า นักศึกษาไม่ภูมิใจในบ้านเกิด อยากจะไปทำงานกรุงเทพฯ ครูคนนี้เลยจะหาเคสธุรกิจมาสอนเด็ก ด้วยการใช้เงิน 5 หมื่นบาท ทำธุรกิจที่พิสูจน์ว่าอยู่อุบลได้ ทำให้เด็กเห็นว่า มีของดีอยู่รอบตัว แต่สายตาต้องคม

อีฟนึกถึงน้ำเต้าหู้อาแปะที่ต้มด้วยเตาถ่านซึ่งหอมมาก เป็นร้านรถเข็นที่ขายตอนเที่ยงคืนถึงตีสาม มีคนจากทั่วประเทศมาขอเรียน ขอซื้อสูตร แม้กระทั่งญาติของอาแปะเอง แต่แกก็ไม่เคยให้สูตรนี้กับใคร

ยกเว้นอีฟ

“คนอื่น ๆ เขาขอสูตรไปทำขายแบบเดียวกับแปะในจังหวัดอื่น ๆ แต่อีฟไปหาอาแปะพร้อมแผนธุรกิจ จะทำร้านเป็นห้องแอร์ ขายแก้วละ 50 บาท ทำตัวอย่างแก้วไปให้ดู มีถ้วยพลาสติกแบบซีลฝาเหมือนชานมไข่มุก มีท็อปปิ้ง ทุกอย่างใหม่หมด แปะก็สงสัยว่า มันจะขายได้เหรอ แต่ด้วยความที่เป็นคนที่คิดต่างเหมือนกันมั้ง เห็นว่าเราตั้งใจจริง แล้วก็อยากเห็นอะไรใหม่ ๆ แปะก็เลยสอนให้ เงินก็ไม่เอานะ อีฟต้องเอาเงินมายัดใส่มือแปะแล้ววิ่งหนี”

ร้านน้ำเต้าหู้เตาถ่านของอีฟประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ภาพในหัวของเธอไม่ได้อยู่แค่อุบล เธออยากเปิดร้านที่กรุงเทพฯ เพราะอยากหาเรื่องเข้ากรุงเทพฯ

อีฟหาทำเลแล้วเปิดร้านด้วยตัวเองทุกร้าน ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่สัก 3 เดือน จนระบบต่าง ๆ เข้าที่ถึงกลับอุบลมาบริหารร้านผ่านไลน์ ให้ลูกน้องดูแลร้านไป ยุครุ่งเรืองที่สุดของร้านน้ำเต้าหู้เตาถ่านในมืออีฟคือ มี 11 สาขา

อีฟมีเงิน แต่ไม่มีความสุข

เธอรู้ว่า เงินไม่ใช่คำตอบของชีวิต แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้าน Zao แบรนด์ Foundisan ผู้เล่าเรื่องของดีเมืองอุบล ที่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าอีสาน

เป็นหยังคือเกิดมา เกิดมาเฮ็ดหยัง

อีฟกลับมาอยู่บ้านที่อุบลได้ 3 ปี ความโกรธเกรี้ยวก็ค่อย ๆ ลดลง เหตุผลแรกคือ การเข้าวัด

“ในชีวิตอีฟ สิ่งที่ทำแล้วมีความสุขจริง ๆ คือ กินเหล้า กับ ปฏิบัติธรรม อีฟเป็นพวกวัดก็เข้า เหล้าก็กิน” เธอเข้าวัดมาตั้งแต่เด็ก ๆ และในยามที่มีชีวิตมีทุกข์ หรือมีปัญหา เธอก็ตระเวนหาพระเพื่อไขข้อสงสัย จนได้ไปบวชชีพราหมณ์ที่เชียงรายหนึ่งเดือนเต็ม ๆ กับแม่ และพี่ชายก็ไปบวชพระด้วยกัน

เมื่อไหร่ก็ตามที่อีฟอยากไปปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะนานแค่ไหน ทุกคนในครอบครัวก็พร้อมจะหยุดงานไปกับเธอเสมอ

รอบนี้อีฟพบความสงบจนไม่อยากสึก เพราะเธอไม่อยากเผาใครอีกแล้ว แต่แม่ให้สติว่า อีฟยังต้องดูแลธุรกิจ ดูแลครอบครัว ดูแลลูกน้อง และรับผิดชอบหนี้สิน ถ้าเลิกทำงานแล้วจะทำยังไง อีฟควรหาทางบาลานซ์ชีวิตให้ได้มากกว่า

หลังจากนั้นไม่นาน อีฟก็ค้นพบร่างใหม่ของตัวเอง จากนักออกแบบสู่แม่ค้าแล้วมาเป็นอาจารย์ และร่างนี้เธอเรียกว่า ‘ร่างผู้ให้’ ซึ่งทำให้เธอตอบคำถามตัวเองตั้งแต่เด็กได้ว่า เธอเกิดมาทำไม

“จุดเปลี่ยนคืออีฟได้รับเชิญไปเป็นกรรมการคัดเลือกงานคราฟต์ทั้งอีสานไปแสดงต่างประเทศ” อาจารย์แฟชั่นจาก ม.อุบล ผู้มีเครดิตในวงการแฟชั่นยาวเหยียดบอกว่า ไม่เคยเห็นผ้าไทยสวย ๆ ฝีมือชาวบ้านมาก่อน

“เห็นแล้วตาเหลือกเลย งานดีมาก” อีฟลากเสียง “จากนั้นเขาก็ชวนให้ไปช่วยพัฒนาให้ส่งออกให้ได้ ขับรถลงพื้นที่กับลูกศิษย์ ไปเรื่อย ๆ ได้เงินน้อยมาก แต่มีความสุขมาก ได้ไปกินอาหารตามชุมชน อร่อยมาก มันเติมเต็มชีวิตเรา ไปให้ ไปสอนเขาทำแพตเทิร์น ทำลายใหม่ ทำฟอร์มใหม่ ไม่เหนื่อยเลย น้ำมันหมดกลางทางก็ยังหัวเราะได้”

ตอนที่อีฟทำงานกับแบรนด์ใหญ่ เธอควบคุมทุกอย่างได้หมด แต่งานนี้กลับควบคุมอะไรไม่ได้เลย สั่งงานไปอย่าง ได้มาอีกอย่าง

“เห็นแล้วก็ตกใจ แม่ แบบผิด แต่พอถอยหลังมาดู มันก็ได้นี่หว่า คู่สีแบบนี้ใครเขาใช้กันวะ แต่แม่บอกว่า มีแต่คนว่างามนะลูก อีฟเลยมองเขาเป็นศิลปินที่มีความเก่งในแบบของตัวเอง มันคือการทำงานร่วมกัน Collab กัน จนได้งานศิลปะออกมาชิ้นหนึ่ง”

อีฟเดินทางลงพื้นที่ไปสอนชาวบ้านใน 20 จังหวัดทั่วภาคอีสานแบบไร้จุดหมาย รู้แค่ทำแล้วมีความสุข จนกระทั่งไปหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ อีฟให้บรรดาแม่ ๆ เอาผ้าที่เคยทอมาให้ดู มีคนหนึ่งมาพร้อมผ้าที่ทอเป็นคำว่า ‘รอคอยเธอเสมอ’ ซึ่งทอตอนอายุ 18 ปี รอแฟนไปทำงานต่างจังหวัด ทอได้ 3 ผืนก็เลิกทอ เพราะผู้ชายคนนั้นแต่งงานกับคนอื่นไปแล้ว เลยเก็บผ้านี้ไว้เป็นความทรงจำ

“เราฟังแล้วขนลุกเลย คำว่า รอคอยเธอเสมอ มันตรงกับตัวเราที่กำลังรอคอยอะไรสักอย่าง แม่ก็เหมือนรอให้เรามาเจอ อีฟขอซื้อผ้าผืนนี้ ทีแรกแม่ไม่ขาย เขาบอกว่ามีคนขอซื้อเยอะมาก เราบอกว่า ถ้าแม่เก็บผ้าผืนนี้ไว้ เรื่องจะถูกเล่าแค่นี้ แต่ถ้าให้อีฟไป จะมีคนได้ยินเรื่องนี้เป็นล้านคน เอาไปให้เด็กเรียน แม่เลยยอมขายผ้าอายุ 50 ปีผืนนั้นให้

“อีฟมีความรู้เรื่องแฟชั่นเยอะมาก แต่ไม่เคยเอามาใช้เลย มันคงรออะไรบางอย่างอยู่ เวลาไหว้พระอีฟก็ถามอยู่นั่นแหละว่า อีฟเกิดมาเพื่อทำอะไร ผ้าผืนนี้คือคำตอบ”

แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นมี Found Muji ที่คัดสรรผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ของญี่ปุ่นเอามาพัฒนาให้ร่วมสมัย เมื่ออีฟเห็นผ้าผืนนั้น เธอจึงชวนนักออกแบบที่รู้จักและลูกศิษย์มาร่วมกันทำ Foundisan เดินทางไปทั่วอีสานเพื่อค้นหางานคราฟต์ของดีอีสานเอามาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า ทั้งงานผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน และของใช้ในชีวิตประจำวัน

“อีฟอยากให้คนยอมรับวัฒนธรรมอีสาน อีฟจะเล่าเรื่องแบบใหม่เพื่อทำให้เป็นของมีค่า คนจะได้ซื้อในราคาใหม่ ราคาที่ควรจะต้องซื้อ ไม่ใช่ราคาถูกเหมือนเมื่อก่อน” อีฟเล่าถึงแนวคิดหลักของ Foundisan ซึ่งเธอใช้ทั้งเวลา พลังชีวิต และเงินลงทุนซื้ออุปกรณ์ให้ชาวบ้านพัฒนาสินค้าต้นแบบ

“วันหนึ่งลูกศิษย์ที่ขับรถไปด้วยกันบอกว่า อาจารย์ต้องหยุดแล้วค่ะ เลือดอาจารย์ไหลไม่หยุดแล้ว” อีฟทำงานนี้มาแล้ว 2 – 3 ปี เผาเงินไปแล้วหลายล้านบาท ลองผิดลองถูกหาวิธีทำงานร่วมกับชาวบ้านไปเรื่อย ๆ อีฟมั่นใจว่าสินค้าของ Foundisan ต้องไปงานแฟร์เมืองนอกได้ เพียงแต่ช่วงนี้มีโควิด ก็เลยมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับ

“ทำไปเรื่อย ๆ มันก็หมดพลัง อีฟจะเลิกอยู่แล้ว วันหนึ่ง The Cloud ติดต่อมาสัมภาษณ์เรื่องเสื่อที่อีฟทำ อีฟก็ไปค้นของที่เก็บไปหมดแล้วออกมาเซ็ตให้ถ่ายรูป พอบทความลง พี่กิ๊ฟ (ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์) ผู้อำนวยการ CEA ขอนแก่น ได้อ่าน เขาก็ติดต่อขอมาดูงาน แล้วก็ชวนอีฟไปเป็นศิลปินทำ Weaving Factory Exhibition เป็นหนึ่งในนิทรรศการหลักของเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 ก็เลยมีคนรู้จักงานเราเยอะขึ้นไปอีก”

ลองทำมาได้พักใหญ่ อีฟก็ยอมรับว่า การขายความเป็นอีสานในราคาแพงผ่านงานคราฟต์เป็นโจทย์ที่สื่อสารยาก เธอเลยอยากลองสื่อสารผ่านอาหารก่อน

อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้าน Zao แบรนด์ Foundisan ผู้เล่าเรื่องของดีเมืองอุบล ที่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าอีสาน
อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้าน Zao แบรนด์ Foundisan ผู้เล่าเรื่องของดีเมืองอุบล ที่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าอีสาน

รสชาติลาว ๆ แต่บ่ถึก

“เวลาเพื่อนไฮโซมาจากกรุงเทพฯ จะมาขอกินข้าวที่บ้านอีฟ มันไม่เหมือนที่อื่นเพราะอีฟมีจริตในการจัดจาน ยายจุยแม่นมอีฟเป็นคนทำ เราเก็บข้อมูลจากคนมากินเรื่อย ๆ ก็เห็นว่า อาหารเป็น Soft Power ที่ขายง่ายกว่าสินค้า เพราะมันสื่อสารง่ายกว่า” อีฟเล่าจุดเริ่มต้นของร้าน Zao

อีฟขายอาหารอีสานรสชาติดั้งเดิม ไม่บิดสูตร ไม่เปลี่ยนรสชาติ แค่ปรับหน้าตา เพราะอยากขายวัฒนธรรมแบบอีสานแท้ ๆ ในรูปลักษณ์และราคาใหม่ อยากให้ความเป็นอีสานได้รับการยอมรับแบบใหม่ ใช้วัตถุดิบตามฤดูกาล มีอะไรก็เอามาทำ เธอว่าทั้งอุบลไม่มีร้านอาหารแบบนี้ ร้านเดียวที่อีฟนึกออกคือ ร้านยายเพชร

“แกเจออะไรก็เอามาทำ สิ่งที่แกทำแทบจะไม่มีคนทำแล้ว เพราะมันต้องทำหลายอย่างมาก เชฟเทเบิ้ลมาก แต่ก็ออกมาเป็นร้านข้าวแกงถุง คนก็ยังมองว่า อาหารอีสานเป็นกับข้าวราคาถูก

“ร้านอาหารเชฟเทบิ้ลที่คนยอมจ่ายเงินแพง ๆ ไปกินวัตถุดิบตามฤดูกาล คนอีสานเขากินเชฟเทเบิ้ลทุกวันนะ เขากินปลาสดทุกวัน คุณเคยกินปลาดี ๆ เท่าคนอีสานไหม คุณเคยกินปลาขบไหม กิโลละ 400 บาทนะ เพราะต้องไปตกเบ็ดมาตามธรรมชาติ บางวันได้บางวันก็ไม่ได้ ถ้าคุณว่าคนอีสานจน คุณเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า”

ร้านซาวพยายามขายอาหารอีสานในจริตใหม่ ราคาใหม่ แต่คนท้องถิ่นบางคนดูจะไม่ค่อยเข้าใจ และมองว่าแพงเกินไป แล้วก็ดันไม่ใช่ร้านอาหารที่สวยแบบแมสที่ต้องไปเช็กอิน ลูกค้าราว 80 เปอร์เซ็นต์ก็เลยเป็นคนกรุงเทพฯ กับเหล่า Foodie ที่น่าประหลาดใจก็คือ คนกรุงเทพฯ สั่งส้มตำ ลาบปลาตอง และเมนูอื่น ๆ ในร้านไปกินกันเยอะมาก ช่วงแรกทางร้านจัดส่งผ่านเครื่องบินและมอเตอร์ไซค์ไปให้ถึงบ้าน ค่าส่งประมาณพันบาท เหมือนจะแพง แต่ก็มีลูกค้าสั่งแทบจะทุกวัน

นั่นแสดงว่า ถ้านำเสนออย่างถูกต้อง คนก็พร้อมจ่ายเงินให้กับความเป็นอีสาน

อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้าน Zao แบรนด์ Foundisan ผู้เล่าเรื่องของดีเมืองอุบล ที่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าอีสาน
อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้าน Zao แบรนด์ Foundisan ผู้เล่าเรื่องของดีเมืองอุบล ที่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าอีสาน

กลับมาหารากเหง้าของเฮา

อีฟคนที่อยากไปกรุงเทพฯ ทุกคืนวันศุกร์หายไปแล้ว เมื่อได้เจอผ้าผืนนั้น

ดูเหมือนชีวิตอีฟเริ่มจะถูกที่ถูกทาง จนน่าจะเรียกได้ว่าลงตัว แต่ก็ไม่ใช่ เพราะสาวอีสานคนนี้กำลังเข้าสู่ความท้าทายเรื่องใหม่ หลังจากตั้งใจว่าจะทุ่มเทชีวิตให้กับความเป็นอีสาน

“อีฟขายทุกอย่างที่กรุงเทพฯ ทิ้งหมดเลย บอกตัวเองว่าต้องกลับบ้าน ต้องเป็นคนอีสานให้ได้ ห้ามไปกรุงเทพฯ เลิกทำงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ เลิกรับงานฟรีแลนซ์แฟชั่น ขายกิจการน้ำเต้าหู้เตาถ่าน จะไม่ไปกรุงเทพฯ แล้ว ต้องเอาตัวเองมาอยู่อีสานให้ได้ก่อน”

ถ้ามองในแง่ธุรกิจ เหมือนเธอกำลังจะเชือดห่านทองคำที่กรุงเทพฯ ทีละตัว แต่ยังไม่ใช่แค่นั้น ห่านทองคำตัวใหญ่ที่อุบล เธอก็เชือด

“อีฟเลิกขายรถไถ รถเกี่ยวข้าว ไม่อยากเห็นมันอีกแล้ว อีฟเกลียดตัวเองตอนมีเงิน พอมีเงินเราก็ใช้เงินสบาย ทำโปรเจกต์แบบคนมีเงิน ลงทุนไปกี่ล้านก็ไม่รู้ ซื้อไหมซื้อกี่แจกไปไม่รู้กี่บ้าน ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ถ้าเราเข้าใจมันจริง ๆ เราควรใช้เงินน้อย ๆ แต่ใช้สมองกับแรงเยอะ ๆ อีฟไม่ได้อยากขายรถตั้งแต่แรก แค่ทำเพื่อให้ได้เงิน แต่เงินก็ทำให้เราเป็นคนแบบนี้ เราอยากเริ่มใหม่จากศูนย์ เราบอกทุกคนว่า จะเลิกขายรถ มาทำร้านซาว ทุกคนช็อกหมดเลย บ้าหรือเปล่า” วันนี้คนบ้าคนนี้เปลี่ยนร้านขายรถเป็นร้านอาหารเรียบร้อยแล้ว

“เราถามตัวเองว่า เลี้ยงชีพด้วยอย่างอื่นได้ไหม ทำร้านอาหารได้ไหม สอนหนังสือได้ไหม ก็พอได้ แต่ต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ใหม่ จะซื้อกระเป๋ารองเท้าแบบเดิมทุกเดือนไม่ได้ จะบินไปต่างประเทศแบบนึกจะไปก็ไปไม่ได้ กินแต่เหล้าซิงเกิลมอลต์ไม่ได้ ไปกินเหล้าที่ไหนก็ต้องเอาเหล้าไปเองเท่านั้น

“นี่ไม่ใช่การถอยหลัง แต่เป็นการเริ่มต้นใหม่ อีฟอยากทำสิ่งยาก ๆ ที่ไม่มีคนทำ คนบ้า ๆ ก็ต้องทำสิ่งบ้า ๆ อย่างขายอาหารอีสานโดยไม่ยอมทำรสคนกรุงเทพฯ ไม่เอาเงินเป็นที่ตั้ง”

“เงินหาเมื่อไหร่ก็ได้ เงินล้านสำหรับอีฟหาง่ายมากเลย” อีฟบอกว่างานทั้งชีวิตที่ผ่านมาพิสูจน์สิ่งนี้แล้ว เคยมีคนขอซื้อร้านซาวเยอะมาก ข้อเสนอดีมาก สบายกว่าขายรถไถอีก แต่เธอปฏิเสธเพื่อรอคอยจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่มันจะออกดอกออกผล ซึ่งเธอมองว่า การเปิดร้านซาวที่กรุงเทพฯ นี่แหละคือจุดเปลี่ยนสำคัญในการนำเสนอวัฒนธรรมอีสาน รวมไปถึงโปรเจกต์ลับอีกอย่างที่เธอทำร่วมกับ ศรัณย์ เย็นปัญญา ที่ฟังแล้วเห็นภาพเลยว่า มันน่าจะไปได้ไกลว่าน้ำเต้าหู้เตาถ่าน

อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้าน Zao แบรนด์ Foundisan ผู้เล่าเรื่องของดีเมืองอุบล ที่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าอีสาน
อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้าน Zao แบรนด์ Foundisan ผู้เล่าเรื่องของดีเมืองอุบล ที่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าอีสาน

เฮ็ดให้อีสานเฮาจงเจริญ

ทุกวันนี้อีฟก็ยังคงแต่งตัวจัดไปเดินตลาดถ่ายรูปทำคอนเทนต์สนุก ๆ เล่นกับแม่ค้า จนเพจประเทศอุบลทำวิดีโอเรื่องนี้ อีฟจึงกลายเป็นคนดังของประเทศในข้ามคืน เธอดังขนาดมีนักท่องเที่ยวมาอุบลแล้วขอให้เธอช่วยพาเดินตลาด ซึ่งเธอยินดีพาไป

นอกจากทำร้านซาว อีฟก็ยังไปเยี่ยมเยียนกิจการของน้อง ๆ ทั่วเมือง เธอใช้คำว่า

“ไปสร้างกองทัพ มันเดินคนเดียวไม่ได้ เขาอยากเปลี่ยนเมืองอยู่แล้ว แต่เราต้องใช้เวลาเข้าใจตัวเองก่อน พอเข้าใจชัด ๆ แล้ว ว่าเรามีประโยชน์ในเมืองนี้ตรงช่วยให้แรงบันดาลใจ ให้ตัวอย่าง เราเห็นมาเยอะ ก็มาเล่าให้น้องฟัง”

พอได้ทำ Foundisan อีฟก็พบว่า อุบลมีของดีเยอะ ทั้งอาหาร เพลง งานคราฟต์ แต่ขาดการบอกเล่า คนเลยรู้จักแค่สามพันโบก เธอจึงชวนน้อง ๆ ในจังหวัดมาทำด้วยกัน เริ่มง่าย ๆ จากการใส่ความเป็นอุบลลงไปในร้านกาแฟ

อีฟบอกว่า วันหนึ่งที่เธอรู้จักตัวเอง รู้ว่าเกิดมาทำไม เธออยู่ที่ไหนก็ได้ ความโกรธเกรี้ยวที่เคยเผาทุกคนรอบตัวก็หายไปหมดแล้ว

“อีฟเกิดมาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น” อีฟตอบคำถามที่เธอสงสัยมาทั้งชีวิต

“ต้องทำให้สำเร็จด้วยนะ เพราะแรงบันดาลใจที่ดีต้องสำเร็จ ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างทาง สิ่งที่ทำอยู่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอีสานเลย อีฟอยากให้คนจดจำอีฟว่า เป็นคนที่ทำให้วัฒนธรรมอีสานแข็งแรงเปลี่ยนวัฒนธรรมอีสานที่คนเคยไม่ให้ราคา เป็นสิ่งที่มีราคา เราจะขายทุกอย่างถูกไม่ได้ เพราะเป็นของที่มีราคา กว่าจะได้มาแต่ละอย่าง มันไม่ควรถูก เราแค่ทำให้ทุกคนเข้าใจสิ่งนี้เท่านั้นเอง”

อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เจ้าของร้าน Zao แบรนด์ Foundisan ผู้เล่าเรื่องของดีเมืองอุบล ที่อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าอีสาน

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปกรณ์ แก้ววงษา

การนอนกลางวัน คือความสุขของขีวิต