การวางแผนส่งต่อกิจการให้ทายาทรุ่นถัดไปเป็นความท้าทายของธุรกิจครอบครัว ธุรกิจจำนวนมากขาดการวางแผนเตรียมการล่วงหน้า จนทายาทไม่พร้อมเมื่อถึงเวลาที่ต้องรับช่วงธุรกิจ หรือบางธุรกิจไม่ได้วางตัวทายาทเอาไว้เลยทีเดียว

ในทางกลับกัน ธุรกิจบางแห่งกลับวางแผนมากจนเกินควร ระบุไว้ในพินัยกรรมถึงการจัดการธุรกิจครอบครัวภายหลังจากที่ตนเสียชีวิตไปแล้วโดยไม่ให้ทายาทรุ่นถัดไปตัดสินใจกันเอง บ่อยครั้งพินัยกรรมเหล่านี้สร้างความขัดแย้งต่าง ๆ ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และยังส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

ตัวอย่างหนึ่งก็คือพินัยกรรมของ Chang Yung-fa ผู้ก่อตั้งและผู้นำของกลุ่มธุรกิจ Evergreen เจ้าของบริษัทขนส่งทางเรือชั้นนำของโลกและเจ้าของสายการบิน EVA Air

การส่งต่อธุรกิจครอบครัวของ EVA Air ที่วุ่นวายทุกด้านด้วยพินัยกรรมฉบับเดียว
ภาพ : english.cw.com.tw/article/article.action?id=2916#

Chairman Chang

Chang Yung-fa เกิดที่ไต้หวันในปี 1927 ช่วงที่ญี่ปุ่นยังปกครองไต้หวันอยู่ เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมฯ เขาเริ่มทำงานในบริษัทขนส่งทางเรือของญี่ปุ่น และเรียนต่ออาชีวศึกษาภาคค่ำควบคู่ไปด้วย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ทำงานในบริษัทขนส่งทางเรือของไต้หวันหลายแห่ง และเติบโตในอาชีพการงาน จนในที่สุดได้เลื่อนตำแหน่งเป็นกัปตันเรือ

ธุรกิจครอบครัวของ Chang Yung-fu เริ่มขึ้นในปี 1968 เมื่อเขาก่อตั้งบริษัทขนส่งทางเรือของตัวเองที่มีชื่อว่าบริษัท Evergreen Marine โดยแรกเริ่มนั้นบริษัทมีเรือขนส่งอยู่เพียงลำเดียว แต่ Chang Yung-fu ได้บริหารธุรกิจจนเติบโต เมื่อเขาเสียชีวิต Evergreen Marine เป็นบริษัทขนส่งทางเรือที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก บริการขนส่งสินค้าไป 315 ท่าเรือใน 114 ประเทศ และมีเรือถึง 192 ลำ

การส่งต่อธุรกิจครอบครัวของ EVA Air ที่วุ่นวายทุกด้านด้วยพินัยกรรมฉบับเดียว
การส่งต่อธุรกิจครอบครัวของ EVA Air ที่วุ่นวายทุกด้านด้วยพินัยกรรมฉบับเดียว
ภาพ : english.cw.com.tw/article/article.action?id=2916#

ในปี 1989 Chang Yung-fa ได้ขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมการบินโดยก่อตั้งบริษัท EVA Airways ซึ่งชื่อ EVA นี้ก็มาจากคำว่า Evergreen Airways นั่นเอง ปัจจุบันนี้ EVA Air เป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไต้หวัน และถือเป็นสายการบินชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก

นอกจาก Evergreen Marine และ EVA Airways ที่เป็นธุรกิจหลักแล้ว กลุ่มธุรกิจ Evergreen ภายใต้การนำของ Chang Yung-fa ยังประกอบกิจการอื่น ๆ อีกมาก ทั้งธุรกิจโรงแรม ประกันภัย พลังงาน และเทคโนโลยี รวมแล้วหลายสิบบริษัททั่วโลก และมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทเปถึง 5 บริษัท

การส่งต่อธุรกิจครอบครัวของ EVA Air ที่วุ่นวายทุกด้านด้วยพินัยกรรมฉบับเดียว
ภาพ : www.bizjournals.com

5 พี่น้องจาก 2 แม่

Chang Yung-fa แต่งงาน 2 ครั้ง มีลูกกับภรรยาคนแรก 4 คน ลูกสาวคนโตชื่อ Chang Su-hua ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และลูกชายอีก 3 คน คือ Chang Kuo-hua (KH), Chang Kuo-ming (KM) และ Chang Kuo-cheng (KC)

เขามีลูกกับภรรยาคนที่ 2 เพียงคนเดียว เป็นลูกชายคนสุดท้องชื่อ Chang Kuo-wei (KW)

ถึงแม้ว่า Chang Yung-fa จะประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ แต่เขาเป็นคนที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่กับคนในครอบครัว เขาจึงมีปัญหากับลูกชายทั้ง 4 คนรวมถึงลูกเขยด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูกที่ไม่ราบรื่นนี้ ทำให้ลูกแต่ละคนต่างแยกทางไปจากธุรกิจครอบครัว

พินัยกรรม

Chang Yung-fa เสียชีวิตในปี 2016 ด้วยวัย 89 ปี ขณะรั้งตำแหน่งบุคคลที่รวยเป็นอันดับที่ 17 ในไต้หวันของนิตยสาร Forbes

ทันทีที่การไว้ทุกข์สิ้นสุดลง ความขัดแย้งในครอบครัว Chang ก็เริ่มเผยออกมาสู่สาธารณะ เมื่อพินัยกรรมที่เขียนด้วยลายมือของ Chang Yung-fa ถูกตีพิมพ์ออกสื่อโดย KW ลูกชายคนสุดท้อง

เนื้อหาในพินัยกรรมนั้นระบุว่า Chang Yung-fa มอบให้ KW เป็นทายาทผู้รับมรดกของเขาแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งรวมถึงหุ้นทั้งหมดที่เขาถืออยู่ นอกจากนี้เขายังตั้งให้ KW เป็น Chairman คนต่อไปของกลุ่มบริษัท Evergreen อีกด้วย

ถึงแม้พินัยกรรมจะทำไว้ตั้งแต่ปี 2014 ในขณะที่ Chang Yung-fa มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และลงชื่อถูกต้อง แต่ลูก ๆ 3 คนจากภรรยาคนแรกเห็นว่าพินัยกรรมไม่น่าจะบังคับใช้ตามกฎหมายได้ เพราะการแต่งตั้ง Chairman ของบริษัทต้องมาจากการออกเสียงของผู้ถือหุ้นไม่ใช่มาจากพินัยกรรม

ซึ่งโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทในกลุ่ม Evergreen ขณะนั้น กลุ่มพี่ชายทั้ง 3 คนมีหุ้นรวมกันมากกว่า 30% ในบริษัท EVA Airways และเกือบ 40% ในบริษัท Evergreen Marine ในขณะที่ KW มีหุ้นใน 2 บริษัทนี้แค่ 11% และ 4% เท่านั้น 

นอกจากนี้ พี่ชายทั้ง 3 คนยังเป็นกรรมการของ Chang Yung-fa Foundation และถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Evergreen International ซึ่งมูลนิธิและบริษัทนี้ถือหุ้นของ Evergreen Marine และ EVA Airways อีกต่อหนึ่งด้วย 

ดังนั้น หากดูตามการถือหุ้นแล้ว กลุ่มพี่ชาย 3 คนถือไพ่เหนือกว่า KW แม้ว่าพินัยกรรมของ Chang Yung-fa จะระบุให้ KW เป็น Chairman ของกลุ่มบริษัท Evergreen แทนเขาก็ตาม

การส่งต่อธุรกิจครอบครัวของ EVA Air ที่วุ่นวายทุกด้านด้วยพินัยกรรมฉบับเดียว
ภาพ : english.cw.com.tw/article/article.action?id=2916#

ทายาทที่พ่อเลือก

Chang Kuo-wei หรือ KW นั้นเริ่มทำงานเป็นช่างเทคนิคที่สายการบิน EVA Air ตั้งแต่ปี 1996 ขณะที่อายุ 25 ปี ตัวเขาอยากเป็นนักบิน แต่พ่อของเขาไม่อนุญาตเพราะเป็นห่วงลูกคนนี้มาก KW จึงลาออกจากบริษัท ย้ายไปสหรัฐอเมริกา และเรียนขับเครื่องบินโบอิ้ง 777 จนได้เป็นนักบินสมใจ

ต่อมา KW คืนดีกับพ่อและย้ายกลับมาทำงานกับสายการบิน EVA Air อีกครั้ง จนในที่สุดได้เป็น Chairman ของบริษัทในปี 2013 และยังได้เป็น Vice Chairman ของกลุ่มบริษัท Evergreen ในปีถัดมาอีกด้วย

เบื้องหลังพินัยกรรมเจ้าปัญหาของ Chang Yung-fa เจ้าของธุรกิจสายการบินผู้ไม่ยอมปล่อยวางต่อความตาย
ภาพ : www.taipeitimes.com

ในฐานะผู้นำของ EVA Airways KW ได้ขยายฝูงบินและเพิ่มรายได้ให้บริษัท รวมถึงสร้างพันธมิตรกับบริษัทซานริโอของญี่ปุ่น จน EVA Air ได้สิทธิ์ตกแต่งเครื่องบินเป็นลวดลาย Hello Kitty ทำให้สายการบิน EVA Air เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม พี่ชายทั้ง 3 คนไม่พอใจกับกลยุทธ์การตลาดราคาแพงที่น้องชายคนสุดท้องนำมาใช้กับ EVA Air การที่ KW ถูกวางตัวให้เป็นทายาททางธุรกิจของพ่อ ยิ่งทำให้พี่ชายต่างแม่ทั้ง 3 คนไม่ถูกกับเขามากขึ้นไปอีก

เบื้องหลังพินัยกรรมเจ้าปัญหาของ Chang Yung-fa เจ้าของธุรกิจสายการบินผู้ไม่ยอมปล่อยวางต่อความตาย
ภาพ : www.bordersofadventure.com

ปลดกลางอากาศ

ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องตระกูล Chang ปะทุอย่างรุนแรงในวันที่ 11 มีนาคม 2016 โดยกลุ่มพี่ชาย 3 คนได้เรียกประชุมกรรมการของกลุ่มบริษัท Evergreen อย่างกะทันหัน ซึ่งกรรมการ 7 ใน 9 คนลงมติให้ปลด KW ออกจากตำแหน่ง Chairman ของบริษัท EVA Airways พนักงานที่เป็นพวกของ KW ก็ถูกให้ออกหรือโดนย้ายตำแหน่ง

การประชุมในวันนั้นถูกวางแผนมาเป็นอย่างดี เพราะเป็นวันที่ KW ขับเครื่องบินโดยสารของสายการบิน EVA Air เที่ยวบินที่ BR 225 จากไทเปไปสิงคโปร์พอดี เขาไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนว่าจะมีการประชุม กว่าที่จะทราบเขาก็อยู่ที่สิงคโปร์แล้ว จึงไม่สามารถเข้าร่วมประชุมหรือขัดขวางอะไรได้

จะเรียกว่าเป็นยุทธการปลด Chairman ของบริษัทสายการบินกันกลางอากาศเลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ พี่ชาย 3 คนยังเปลี่ยนโครงสร้างบริหารของกลุ่มบริษัท Evergreen และยกเลิกตำแหน่ง Chairman ที่ Chang Yung-fa วางตัว KW ให้สืบทอดไว้ในพินัยกรรมอีกด้วย

สำหรับหุ้นมรดกที่ KW ได้รับจากพ่อตามพินัยกรรมนั้น พี่ชาย 3 คนยื่นข้อเสนอให้ KW โอนหุ้นเหล่านั้นไปให้มูลนิธิ Chang Yung-fa Foundation เพื่อแลกกับการได้ตำแหน่ง Chairman ของบริษัท EVA Airways คืน แต่ KW ปฏิเสธข้อเสนอนี้และแยกตัวออกไปตั้งสายการบินใหม่ของตัวเอง ชื่อ StarLux Airlines โดยเขาเป็น Chairman ของสายการบินนี้เอง

ปรองดองหรือเปลี่ยนด้าน

ความขัดแย้งในตระกูล Chang ยืดเยื้อมาหลายปี จนในที่สุดกลุ่มลูกชาย 3 คนแตกคอกันเอง โดย Chang Kuo-ming และ Chang Kuo-cheng น้องชาย 2 คนเล็กเริ่มไม่เห็นด้วยกับ Chang Kuo-hua พี่ชายคนโต และอยากยุติข้อพิพาทในครอบครัว จึงเจรจากับ KW โดยมี Cheng Shen-chih ผู้เป็นพี่เขยช่วยเป็นตัวกลาง

การเปลี่ยนข้างในหมู่พี่น้องตระกูล Chang นี้ปรากฏออกสู่สาธารณชนในปี 2022 เมื่อ Evergreen ตั้งให้ KW เป็น Chairman ของบริษัท UNI Airways ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท EVA Airways ที่บินเส้นทางในประเทศ นอกจากนี้ Chang Kuo-ming พี่ชายคนที่ 2 และ Cheng Shen-chih พี่เขย ยังลงทุนด้วยเงินส่วนตัวในสายการบิน StarLux ของ KW อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม KW ลาออกจากตำแหน่ง Chairman ของบริษัท UNI Airways ภายหลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่า เขาจัดการปัญหาในสายการบิน UNI Air จนเรียบร้อยแล้ว ความขัดแย้งในครอบครัวก็จบสิ้น และเขาต้องการกลับไปโฟกัสกับสายการบิน StarLux ที่กำลังเริ่มต้น

เราไม่อาจทราบได้ว่าปัญหาในครอบครัว Chang จบลงแล้วหรือยัง เพราะในปี 2022 เดียวกันนี้เอง Chang Kuo-ming และ Chang Kuo-cheng น้องชาย 2 คนก็ได้จัดการปลด Chang Kuo-hau พี่ชายคนโต ออกจากกรรมการบริษัท Evergreen Steel และ EVA Airways รวมถึงรวมกลุ่มกันคัดค้านการลดทุนของบริษัท Evergreen Marine ที่พี่ชายคนโตยังกุมอำนาจอยู่อีกด้วย

เบื้องหลังพินัยกรรมเจ้าปัญหาของ Chang Yung-fa เจ้าของธุรกิจสายการบินผู้ไม่ยอมปล่อยวางต่อความตาย
ภาพ : www.businesstraveller.com

ควบคุมจากหลุมศพ

ผู้นำธุรกิจครอบครัวหลายคนมีความผูกพันกับกิจการ หรือกังวลว่าทายาทจะบริหารธุรกิจไม่ได้ดั่งที่ตนต้องการ จนรู้สึกว่าตนไม่อาจปล่อยวางจากธุรกิจได้แม้ในยามที่สิ้นชีวิตไปแล้ว 

ผู้นำเหล่านี้จึงพยายามควบคุมการบริหารธุรกิจในอนาคตผ่านข้อความในพินัยกรรม ซึ่งสำนวนภาษาอังกฤษเรียกว่า “Ruling from the Grave” หรือแปลเป็นภาษาไทยง่าย ๆ ว่า การควบคุมจากหลุมศพ

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำธุรกิจครอบครัวหลายคนยังหลงคิดว่า บริษัทเป็นสมบัติส่วนตัวที่ตนสั่งการต่าง ๆ ได้แม้ในยามที่เสียชีวิตไปแล้ว เช่น พยายามแต่งตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งบริหารในบริษัท ทั้งที่อำนาจในการแต่งตั้งนั้นอาจเป็นของผู้ถือหุ้นหรือคณะกรรมการบริษัท ไม่ใช่ของผู้นำบริษัทคนปัจจุบันแต่เพียงผู้เดียว

การเขียนพินัยกรรมเพื่อควบคุมการดำเนินกิจการภายหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น หลายกรณีจึงไม่อาจเกิดผลตามที่ต้องการได้ และซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างลูกหลาน และส่งผลเสียต่อการดำเนินงานของธุรกิจอีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.taipeitimes.com/News/front/archives/2016/02/20/2003639770
  • www.taipeitimes.com/News/front/archives/2016/02/23/2003640006
  • asia.nikkei.com/Business/The-succession-battle-at-Evergreen-Group-bodes-ill-for-the-Taiwanese-giant
  • www.tradewindsnews.com/containerships/evergreen-board-wins-the-day-in-battle-with-rebel-shareholders/2-1-1227931
  • www.evergreen-marine.com/tbi1/jsp/TBI1_CorporateProfile.jsp
    Morten Bennedsen, Hsi Mei Chung, Yi-Chun Lu, and Brian Henry, “Ruling from the Grave: A Family Succession Controversy at the Taiwanese Evergreen Group”, INSEAD, 2022.

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต