22 กุมภาพันธ์ 2022
2 K

ในโลกของธุรกิจ นอกจากผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) แล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้นั่นก็คือ ‘ทุน’

ต้นทุนของธุรกิจอาจอยู่ได้ในหลายรูปแบบ แต่รูปแบบหนึ่งของทุนที่สำคัญที่สุดและขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ ‘เงินทุน’ และเป็นที่แน่นอนว่า เมื่อธุรกิจได้รับเงินจากนักลงทุน ความคาดหวังที่จะเห็นเงินก้อนนั้นผลิดอกออกผลเป็นผลตอบแทนก็ย่อมตามมาเป็นธรรมดา

ทว่าในปัจจุบัน เมื่อโลกของเราเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความผันผวน ความซับซ้อนคลุมเครือ รวมไปถึงประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของธุรกิจจึงไม่อาจประเมินได้จากผลกำไร (Profit) ของธุรกิจเป็นหลัก หากแต่ธุรกิจนั้นต้องสร้างความสมดุลของผลประกอบการ ต่อผู้คน (People) และโลกใบนี้ (Planet) ได้ด้วยเช่นกัน

และเมื่อผลประกอบการที่ดีเป็นมากกว่าแค่เงินกำไร แต่รวมไปถึงความยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ด้วยแล้ว การที่ธุรกิจจะได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนก็ย่อมยากขึ้นเช่นกัน 

หากธุรกิจนั้นไม่ใช่ธุรกิจที่ยั่งยืน

The Cloud มีนัดหมายพิเศษกับ คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อค้นหาว่ามีช่องทางและโอกาสอะไรบ้าง ที่จะช่วยให้ธุรกิจปรับตัวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน รวมถึงข้อดีของการนำเม็ดเงินของเราไปลงทุนในธุรกิจที่ดีและยั่งยืน 

มุมมองของนักลงทุนในวันที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ตัวเลือก แต่เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ

ความสำคัญของความยั่งยืน

ปัจจุบันความยั่งยืนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากธุรกิจนั้นอยากอยู่รอดและสร้างผลประกอบการที่ดี เพราะถ้าธุรกิจไม่มีการบริหารจัดการและรับมือกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง ความเสี่ยงเหล่านี้จะส่งผลต่อทั้งมูลค่าของบริษัท ไปจนถึงอาจสร้างกระแสต่อต้าน ซึ่งกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ตลอดจนผลการดำเนินงานของกิจการได้อย่างรวดเร็ว

มุมมองของนักลงทุนในวันที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ตัวเลือก แต่เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ

ที่ผ่านมา เราได้เห็นกรณีความผิดพลาดต่าง ๆ เมื่อบริษัทไม่ได้คำนึงถึง ESG จากในระดับประเทศไปจนถึงระดับโลก แม้ว่าความเสี่ยงด้าน ESG จะดูเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัว แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส หากธุรกิจสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในประเด็นข้างต้นได้ ก็จะทำให้มีโอกาสได้รับเงินลงทุนมากขึ้นเช่นกัน เพราะนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถาบันการลงทุนทั่วโลกที่มีการลงนาม นำหลักการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาประกอบการตัดสินใจ จนตอนนี้มีเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงกว่า 120 ล้านล้าน USD

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจของ Schroders Global Investor Study-Sustainability 2021 ระบุว่า นักลงทุนในประเทศไทยยังมีความรู้สึกเชิงบวกต่อการลงทุนอย่างยั่งยืนที่ 76 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าชาติอื่น ๆ 

“ในวันนี้เรามีหลักฐานต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า บริษัทที่ให้ความสำคัญกับ ESG มีผลตอบแทนสูงกว่าบริษัทอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิด-19 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเขามี Sustainable Index ที่ชื่อว่า THSI โดยบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ใน Index มีผลตอบแทนน้อยกว่าบริษัทที่ไม่ได้อยู่ใน Index นั้น โดยมีผลตอบแทน YTD อยู่ที่ 7.63 เปอร์เซ็ต์ กับ -2.71 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ”

และเมื่อธุรกิจผนวกประเด็นด้าน ESG เข้าไปในการดำเนินงานและเปิดเผยให้นักลงทุนรับรู้ได้ นอกจากจะเป็นการลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว ยังเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสที่มากมายด้วยเช่นกัน

ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนพร้อมกับการคุ้มครองนักลงทุน (Regulator) จึงมุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) สำหรับตลาดทุนที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ ตระหนักรู้ถึงประเด็นด้าน ESG และสามารถเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนอย่างเสมอมา

การสร้างระบบนิเวศยั่งยืน

ย้อนเวลากลับไปในช่วงก่อน พ.ศ. 2540 หรือก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง บทบาทหน้าที่ในระยะแรกของ ก.ล.ต. คือกำกับดูแลความเรียบร้อยของตลาดทุนและคุ้มครองนักลงทุน โดยใช้การออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือ

อย่างไรก็ตาม การออกกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เมื่อธุรกิจขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดี การทุจริตฉ้อฉลจึงเกิดขึ้น เป็นที่มาที่ทำให้ในระยะที่ 2 สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริหารบริษัท ให้บริหารเงินที่ได้รับจากการระดมทุนอย่างรับผิดชอบ เพื่อสร้างธรรมาภิบาลที่ดีและยกระดับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อคุ้มครองนักลงทุน “เพราะเป็นเงินของประชาชน ไม่ใช่เงินส่วนตัว” 

จนกระทั่งเข้าสู่ในระยะที่ 3 เมื่อบริษัทมีความตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของการมีธรรมาภิบาลที่ดีแล้ว ก้าวต่อไปของ ก.ล.ต. จึงเป็นการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบูรณาการปัจจัยสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ จนครบ 3 เสาหลักของ ESG และสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับตลาดทุนที่ยั่งยืน

“บริษัทจดทะเบียนชั้นนำของประเทศไทยเก่งมาก ๆ ได้รับรางวัลมากมาย ความท้าทายคือทำอย่างไรให้ทั้ง 700 กว่าบริษัททำเรื่อง ESG ได้ในมาตรฐานใกล้เคียงกัน ที่เราทำได้คือ การสร้างสภาพแวดล้อมและการสนับสนุนให้บริษัทที่ทำได้ดีและมีประสบการณ์มาเป็นพี่สอนน้อง เวลาเราจัดสัมมนาก็เป็นลักษณะ Case Study และ Trianing เชิญเขามาช่วยบรรยายว่าคุณทำสำเร็จได้อย่างไร เพราะเราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

มุมมองของนักลงทุนในวันที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ตัวเลือก แต่เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ

เสาหลักของความยั่งยืน

ถึงแม้ว่า ก.ล.ต. จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล และไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ โดยตรง แต่ก็เล็งเห็นถึงศักยภาพในการสร้างระบบนิเวศที่จะเกื้อหนุนให้เกิดการนำ ESG เข้าไปผนวกในทุกภาคส่วน ผ่านการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทำให้ ESG กลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือนักลงทุนเองก็ตาม

“ในส่วนของ ก.ล.ต. ประเทศไทย เราจะไม่ใช่ Doer หรือผู้ลงมือทำ แต่เราจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริม”

ระบบนิเวศของตลาดทุนที่ยั่งยืนซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่ ก.ล.ต. มุ่งมั่นพัฒนา ประกอบไปด้วย 6 องค์ประกอบหลัก คือ ผู้ออกหลักทรัพย์ (Issuer) นักลงทุน (Investor) ผลิตภัณฑ์การลงทุน (Product) ผู้ประเมิน (Reviewer หรือ Service Provider) โดยการสร้างแพลตฟอร์มที่สนับสนุนความร่วมมือจากพันธมิตรและผู้ที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) อีกด้วย

ขั้นตอนแรกในการสร้างระบบนิเวศนี้ คือการผลักดันให้เกิด Supply หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มี ESG ที่ดีต่าง ๆ

โดยในแง่ของผู้ออกหลักทรัพย์ ก.ล.ต. ผลักดันหลักปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code: CG Code) ไปจนถึงปรับเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลใหม่สำหรับบริษัทจดทะเบียน แบบ 56-1 One Report เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG

โดยเมื่อบริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับ ESG ก.ล.ต. ก็ยังส่งเสริมในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น Green Bond, Social Bond, Sustainability Bond ที่มีมากขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไปจนถึงการสนับสนุนกองทุนรวมธรรมาภิบาล ซึ่งจะนำค่าธรรมเนียม 40 เปอร์เซ็นต์ ไปบริจาคให้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมกิจกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันและการปฏิบัติตามธรรรมาภิบาลที่ดี

มุมมองของนักลงทุนในวันที่ความยั่งยืนไม่ใช่แค่ตัวเลือก แต่เป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ

ในส่วนของผู้ประเมิน ก.ล.ต. มีการสร้างผู้ประเมินตราสารหนี้ในประเทศ หรือ Local Reviewer เพื่อช่วยลดต้นทุนแก่กิจการ สนับสนุนให้มีผู้ที่ช่วยนำข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนมาวิเคราะห์และย่อยแก่นักลงทุน ทำให้ตัดสินใจลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

“ทุกคนจะทราบเลยว่านักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน เขายกให้ ESG เป็นดัชนีตัดสินใจในการลงทุน ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาไปลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ESG ก็จะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะฉะนั้น ทางด้าน Demand มีความสำคัญมาก แต่ที่เราต้องพูดเรื่อง Supply ก่อน เพราะถ้า Demand บอกว่าฉันอยากจะลงทุน แต่ Supply ไม่ได้ทำด้านนี้ ก็หาที่ไหนลงทุนไม่ได้”

ดังนั้น นอกเหนือจากการสร้างอุปทานสำหรับการลงทุนโดยคำนึงถึง ESG แล้ว ก.ล.ต. ยังสนับสนุนให้นักลงทุนเกิดความตระหนักใน ESG ผ่านการออกหลักการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code : I Code) สำหรับนักลงทุนสถาบัน ไปจนถึงการส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ ESG ให้แก่นักลงทุนรายบุคคล พร้อมกำหนด ESG เป็นหลักสูตรที่จำเป็น สำหรับผู้ที่จะมาทำหน้าที่แนะนำและวิเคราะห์การลงทุน

“ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ การลงทุนก็ต้องเป็นการลงทุนแบบมีความรับผิดชอบ เป็น Responsible Investment หน้าที่และความรับผิดชอบเป็นของคู่กันเสมอ จะทิ้งความรับผิดชอบให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ความยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม”

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต

ก้าวต่อไปของความยั่งยืน

เมื่อสร้างระบบนิเวศที่ทุกคนให้ความสำคัญกับ ESG ได้ ก้าวต่อไปของ ก.ล.ต. จึงเป็นการสนับสนุนให้การลงทุนด้าน ESG ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยร่วมกับสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จัดทำ Information Platform สำหรับตราสารเพื่อความยั่งยืน ทำให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG ของตราสารได้สะดวกขึ้น และยังทำให้ผู้ออกตราสารระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ก.ล.ต. และ 14 องค์กร ซึ่งรวมไปถึงบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ ก็ได้ร่วมกันนำเสนอ “แนวทางขับเคลื่อนธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน” ในงานเวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Governance for Sustainable Development Forum) ของภาคตลาดทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสังคมดี หรือ Good Society Summit เพื่อให้เกิดการรับรู้ว่าธรรมาภิบาลที่ดีและการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวของสังคมและประชาชน เพราะทุกคนต่างเป็นผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น นักลงทุนรายบุคคล พนักงาน ลูกค้า หรือคู่ค้า

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต

“อย่างที่เล่าให้ฟัง ตามที่กฎหมายกำหนดให้เราดูแลตลาดทุน เราจะทำเรื่องนี้โดยลำพังไม่ได้ เราก็ต้องทำร่วมกันกับภาคส่วนอื่น ๆ ในภาคการเงินด้วย จึงชักชวนให้ภาคประชาสังคมเข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน เราต้องทำงานไปด้วยกัน ตลาดทุนของประเทศเป็นของทุก ๆ คน ทุก ๆ คนสามารถเข้าถึงและให้ความคิดเห็นได้”

ด้วยระบบนิเวศเช่นนี้ การคำนึงถึงความยั่งยืนจึงไม่ใช่สิ่งที่ธุรกิจเลี่ยงได้อีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจและทุกภาคส่วนต้องคำนึงถึง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและการดำเนินงานที่ดียิ่งขึ้น โดยในวันนี้ บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีด้านความยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลสูงสุดในอาเซียนเป็นปีที่ 8 และยังเป็นเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และเป็นลำดับ 3 ในทวีปเอเชีย ในรายงานการจัดอันดับการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG Index

โดยในอนาคต ก.ล.ต. ยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้หลัก ESG ได้รับการตระหนักรู้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของนักลงทุนรายย่อย โดยมีแผนจะจัดทำแผนงานในการสร้างความตระหนักรู้ด้านการลงทุนโดยคำนึงถึง ESG ในปีนี้ เพื่อพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต

ภาพ : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา