สิ่งหนึ่งที่คนถิ่นอื่นมักพูดถึงคนอีสาน คือ คนอีสานเป็นคนสนุก

เอนเตอร์เทนเมนต์คือวัฒนธรรมส่งออกจากท้องถิ่นที่ทำให้คนทั่วประเทศ (ไปจนถึงทั่วโลก) รู้จักแดนอีสานผ่านการร้อง ฟ้อน เต้นระบำ ในรูปแบบต่าง ๆ

แต่แค่ความสนุกของคนอีสานอย่างเดียว คงไม่ทำให้ชื่อเสียงโด่งดังไปไกลถึงขนาดนั้น ความภาคภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรมของตัวเองต่างหากที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ และที่สำคัญยิ่งกว่า คือใจที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามโลกใหม่ โดยไม่ยึดติดกับวิถีเดิม ๆ เพียงอย่างเดียว

เราจึงได้เห็นการโซโล่แคนของวง The Paradise Bangkok Molam International Band บนเวทีระดับโลก เห็นพลังของผู้หญิงในชื่อ Rasamee Isan Soul ที่ต่างชาติจับตามอง เห็นคณะหมอลำบนเวทีประกวดนางงาม เห็นคำอีสานในเพลงป๊อปยุคใหม่

เที่ยงนี้เราต่อสายถึงขอนแก่นเพื่อคุยกับ เดียร์-ไพจิตร​ ศรีม่วงอ่อน หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘อีสานเขียว’ ผู้จัดงานเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคชื่อ E-san Music Festival Thailand ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ไม่เพียงขับเคลื่อนวัฒนธรรมในดินแดนแห่งนี้ แต่กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในระดับร้อยล้าน ด้วยงานแสดงดนตรีที่ครั้งแรกมีคนมาแค่ไม่เกิน 500 คน

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน

01

“คนที่มาส่วนใหญ่เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงกันทั้งนั้น” เดียร์เล่าย้อนไปถึงงานครั้งแรกพร้อมเสียงหัวเราะ

ก่อนนั้นเขาเคยเป็นจิตอาสา ทำงานเรื่องเด็ก เยาวชน การศึกษา และสิ่งแวดล้อม เป็นหลัก มีทั้งงานประเภทออกค่าย งานเล่นดนตรี แล้วก็มีวงดนตรีของตัวเองด้วย

ชายคนนี้สนใจเกี่ยวกับเทศกาลดนตรีมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ใช่ในเชิงการบริหารจัดการงาน

“เราสนใจคำว่า Festival ในมุมที่จะได้ไปเที่ยว ได้ไปแคมป์ ได้ไปเรียนรู้ ได้เดินทางไปที่ต่าง ๆ เป็นการสนใจในมุมของคนไปมากกว่ามุมของคนจัด”

ย้อนไปตอนนั้น ในบ้านเรายังมีงานเทศกาลดนตรีไม่มาก เดียร์กับเพื่อนอีก 2 คน คัตเตอร์-จิตรกร ศรีธนะกูล และ กุ๊กไก่-ปฤษฏี นะที่ราบสูง แบกเป้เที่ยวในหลายจังหวัด จนได้ไปเทศกาล Pai Reggae Festival ก็เกิดไอเดียขึ้นมา

“เรากลับมาทำอะไรที่บ้านเราไหมเพื่อน” ทั้งสามคุยกันแบบนั้น “เป็นช่วงเดียวกับที่กุ๊กไก่กับคัตเตอร์ไปเจอนิตยสาร บันเทิงคดี เขาพูดถึง Woodstock ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีระดับโลก นั่นเป็นอีกแรงบันดาลใจที่เราคิดว่าน่าจะทำให้งานแบบนี้เกิดในขอนแก่นบ้านเราได้”

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน

02

ครั้งแรกเป็นการลองผิดลองถูก เทศกาลแบบนี้ไม่เคยมีใครจัดในขอนแก่น และตัวนักจัดเองก็ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจงาน Festival อย่างถ่องแท้ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนัก

ในปี 2012 หากลองไปถามคนขอนแก่นจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมืองนี้คือศูนย์รวมทางเศรษฐกิจของภาคอีสานก็จริง แต่ถ้าถามว่ามาขอนแก่นต้องไปเที่ยวไหน คงมีคนน้อยคนที่ตอบได้

คุณเห็นโอกาสอะไรในจังหวัดนี้ – เราจึงถาม

“เราตั้งใจชูเรื่องความแตกต่าง มันแตกต่างตั้งแต่บุคลิกและแนวคิดของพวกเราแล้ว ผมเผ้ายาวรุงรัง เป็นฮิปปี้แบบที่คนเขามองเลย ส่วนหนึ่งเป็นการท้าทายตัวเองว่าจะทำได้ไหม งานปีแรก ๆ เรายังไม่ได้คิดเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือผลที่จะส่งถึงจังหวัด ดัชนีชี้วัดความสำเร็จในตอนนั้นคือความสุขอย่างเดียว”

งานปีแรกและปีที่สองเป็นงานแบบเฉพาะกลุ่มในชื่อ อีสานเรกเก้ จัดที่สวนสาธารณะเวที 200 ปี บึงแก่นนคร ในตัวเมือง ไม่มีสปอนเซอร์ เพราะพวกเขาลงขันกันเองตามความสมัครใจ ส่วนเรื่องกำไรที่ได้ไม่ต้องถามถึง เดียร์บอกว่าถ้าวัดเป็นมูลค่าตัวเงินนี่แทบไม่ได้เลย

“บางคนเอากล้องไปจำนำ เอารถไปจำนำ ขายของระดมทุน หยิบยืมของตามห้างร้าน ตอนนั้นเครดิตพวกเราก็ยังไม่มี แล้วนึกดูว่าเราผมยาว ๆ ฮิปปี้กันแบบนี้ ยิ่งยากขึ้นไปอีก สิ่งที่เราได้คือมิตรภาพ มีเครือข่ายใหม่ มีเพื่อนของเพื่อนที่ชักชวนกันมา ได้รู้จักคนใหม่ ๆ เขามีไลฟ์สไตล์แบบนี้ มันคือความสุขและคุณค่าทางใจ”

แม้ไม่ได้กำไรเป็นเม็ดเงิน กลุ่มอีสานเขียวก็ยังเดินหน้าต่อ

“หลังจบงานเรามานั่งถอดบทเรียนกันทีละข้อ ทั้งข้อดีข้อเสีย แล้วตัดสินใจว่าจะไปกันต่อไหม เสียงของคนที่มางานและเสียงของพวกเราด้วยกันเอง ทำให้ตัดสินใจจัดครั้งต่อมา ครั้งที่สองเริ่มชักชวนเครือข่ายต่าง ๆ และเพื่อน ๆ มาเข้าร่วมเพื่อสร้างสีสันในงาน”

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน
Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน

03

งานครั้งที่สามคือจุดเปลี่ยนของเทศกาลดนตรีนี้ และเป็นต้นกำเนิดของงานในปัจจุบันด้วยเช่นกัน

หนึ่ง พวกเขามีเป้าหมายชัดเจนว่าตั้งใจให้งานนี้ทำให้ทุกคนออกไปเรียนรู้การใช้ชีวิต และทุกคนในที่นี้หมายถึงทุกคนจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ครอบครัว ไปจนถึงเด็กเล็กที่ยังต้องนั่งรถเข็น คำว่า ‘เขียว’ ก็ไม่ใช่ความหมายเกี่ยวข้องกับสมุนไพรควบคุมเหมือนที่หลายคนคิด แต่คือความตั้งใจอยากทำให้อีสานแห้งแล้งเขียวอุดมสมบูรณ์ มีความสุขครบทุกด้าน ภายในงานจึงสอดแทรกมิติของสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และวิถีท้องถิ่นเข้าไปด้วย

เมื่ออยากให้คนออกไปใช้ชีวิต บวกกับจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้นทุกปี กลุ่มอีสานเขียวจึงต้องโยกย้ายสถานที่จัดงานใหม่ จากในตัวเมืองออกไปในชนบท แต่พวกเขาไม่เคยคิดออกไปจากจังหวัดขอนแก่น 

จนมาถึงจุดเปลี่ยนข้อสอง คือสถานที่จัดงานบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ละแวกเดียวกับปัจจุบัน

เมื่อดึงคนเข้ามาได้มากขึ้น ก็เริ่มเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เริ่มมีรายได้เข้ามาในท้องถิ่น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การคมนาคมในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถไฟ รถทัวร์ หรือการท่องเที่ยวทั้งที่พักและกิจการร้านค้าในจังหวัดก็คึกคักครึกครื้น

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน
Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน

04

จากงานครั้งแรกที่มีคนเข้าร่วมไม่ถึง 500 คน จนครั้งที่ 7 มียอดสูงสุดเกือบ 200,000 คน และล่าสุด แม้จะเป็นช่วงโควิด-19 ก็ยังมีคนมาเยี่ยมเยียนร่วมแสน

จากทีมงานแค่กลุ่มเพื่อน ก็เริ่มมีการประสานงานกับเครือข่าย หน่วยงานรัฐ และเอกชนต่าง ๆ

จากการลงมือทำงานกันเอง ก็ได้น้ำพักน้ำแรงจากคนท้องถิ่นคอยดูแลความเรียบร้อยให้งานเดินไปอย่างราบรื่น

‘สำนึกรักบ้านเกิด ตอบแทนคุณแผ่นดิน’ คือวลีที่เราได้ยินบ่อยจากแคมเปญรณรงค์ให้คนหันกลับมาดูแลท้องถิ่น และเป็นคำตอบของกลุ่มอีสานเขียวในการทำสิ่งนี้

“มันคือคำถามว่าเราจะทำอะไรเพื่อบ้านของเราได้บ้าง นี่คือเครื่องมือที่เราถนัดที่สุด อย่างน้อยก็ ณ เวลานี้ จากที่ปีแรกเราทำเพื่อความสุขตัวเอง ตอนนี้งานมันใหญ่พอที่จะช่วยขับเคลื่อนขอนแก่นให้เป็น City of Art ในทุกแขนง ไม่ใช่เฉพาะดนตรี ในงานเรามีเครือข่ายด้านศิลปะมาแสดงผลงาน มีการจัดประมูล มีกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ชวนเด็ก ๆ มาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ ปลูกฝังเรื่องพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากชาวอีสานในหลายจังหวัดในน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์”

ขณะเดียวกัน งานนี้ก็สร้างรายได้ให้กับคนท้องที่ เริ่มตั้งแต่กระบวนการลงพื้นที่ ซึ่งได้ชาวบ้านมาเป็นกำลังสำคัญ การคมนาคมอำนวยความสะดวกในงานก็เป็นความรับผิดชอบของพวกเขา สินค้าและอาหารที่วางจำหน่ายก็ไม่วายเป็นของดีประจำถิ่น อย่างปลาแห้ง ส้มตำ หรือสินค้า OTOP ประจำตำบลต่าง ๆ หลังจบงานก็ได้แรงกายจากชุมชนช่วยกัน เพื่อดูแลรักษาความเรียบร้อยของพื้นที่ให้กลับเป็นดังเดิมอีกครั้ง

“เราให้สิทธิ์ชาวบ้านทั้งตำบลเข้างานได้ฟรี มีประมาณ 12 หมู่บ้าน เหมือนเขาเป็นทีมงานส่วนหนึ่งของเรา เป็นหูเป็นตาคอยดูแลนักท่องเที่ยวที่มาด้วยกัน”

รายได้ในการทำงานมอบให้ชาวบ้าน รายได้ส่วนหนึ่งหลังจบงานมอบให้วัดให้โรงเรียน รวมถึงกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ 

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน
Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน

05

ใครจะคิดว่างานมิวสิกเฟสติวัลเล็ก ๆ ที่จัดให้คนเฉพาะกลุ่มในสวนสาธารณะใจกลางเมืองขอนแก่น วันหนึ่งจะกลายเป็นงานของจังหวัด รวมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชน และคนในพื้นที่ จนสร้างมูลค่าให้จังหวัดได้เกือบ 200 ล้านบาท

ใช่แล้วค่ะ คุณอ่านไม่ผิด

เดียร์เองก็คิดไม่ถึงว่าอิมแพคของงานจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้

ทุกครั้งที่มีการจัดงาน นักท่องเที่ยวไม่ได้แค่มางาน E-san Music Festival แต่เตรียมตัวไปแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในและนอกเมือง กิน ดื่ม ใช้ จับจ่ายซื้อของ งานนี้เลยไม่ได้เป็นแค่เทศกาลดนตรีที่มาแล้วจบไป แต่เป็นเหมือนมหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดที่มีขึ้นทุกปี

กลุ่มอีสานเขียวและเครือข่ายจึงตั้งใจประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในจังหวัดพร้อม ๆ กับโปรโมตงานของตัวเอง 

“เรามีพาร์ตเนอร์หลายแบบ แบบแรกคือกลุ่มคนอย่างพวกเรา มีหมดเลยครับ ทั้งกลุ่มคนชอบรถคลาสสิก ฮาร์เลย์ เวสป้า พาหนะเกือบทุกแขนง เป็นเพื่อน ๆ ของเราเอง มาช่วยกันทำให้งานคึกคักมากขึ้น

“แบบสองคือภาครัฐ ทั้งส่วนกลางประจำจังหวัดและในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงกระทรวงการท่องเที่ยว ล่าสุด เราเพิ่งไปคุยกับการรถไฟขอนแก่น เวลาเพื่อน ๆ จากต่างจังหวัดไกล ๆ มางานเรา ก็นิยมแบกเป้ขึ้นรถไฟกันเสียส่วนใหญ่ ทางการรถไฟก็เลยเสนอให้มีขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ หัวลำโพง-อีสานเขียว เดินทางตรงมาถึงงานเลย ครั้งแรกประสบความสำเร็จมาก นอกจากนี้ก็ยังทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด ทำดีลโปรโมชันกับร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต ใครมีบัตรเฟสติวัลจะได้รับส่วนลดเพิ่มเติม

“แบบที่สามคือภาคเอกชน นอกจากรายได้จากค่าบัตรและของที่ระลึก เราก็มีสปอนเซอร์งานในแต่ละปีเป็นแบรนด์ต่าง ๆ

“แบบที่สี่คือคนท้องที่ เหมือนที่เล่าไปก่อนนี้ว่าเรามองเขาเหมือนเป็นทีมงานอีกคน ช่วยกันอำนวยความสะดวกให้ผู้มาร่วมงาน อย่างให้บริการวิ่งรถ โดยเราเข้าไปช่วยกำหนดราคามาตรฐานเพื่อไม่ให้เอาเปรียบนักท่องเที่ยว เช่น พ่อครับแม่ครับ มอเตอร์ไซค์ขอ 20 บาท รถยนต์ 40 บาท รายได้ที่ได้ทั้งหมดเป็นของชาวบ้านในพื้นที่ และเราพยายามทำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของงาน เป็นเจ้าภาพ ส่วนใครขายดีจะร่วมทำบุญกับเราหลังงานเลิกก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริจาคหน้ากากช่วงโควิด-19 สนับสนุนกิจกรรมเด็ก ๆ หรือปลูกป่า”

แม้เครือข่ายจะขยายขึ้นทุกปี แต่แนวคิดหลักของงานนี้ยังอยู่ที่กลุ่มอีสานเขียวเหมือนเดิมตั้งแต่วันแรกที่จัดงานนี้ และยังอยากพัฒนาให้ดีขึ้นอีก

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน

06

E-san Music Festival เปลี่ยนบทบาทไปมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จากงานเฉพาะกลุ่มมาเป็นงานของจังหวัดที่ได้รับความร่วมมือมากมาย เหมือนงานบุญเดือน 10 อย่างที่เดียร์เปรียบเปรย

“ถ้านึกถึงเทศกาลดนตรีต้องนึกถึงขอนแก่น” เขาว่า “เป็นเหมือนสัญญาใจว่าหน้าหนาวปลายปี เราต้องมาเจอกันที่นี่ เป็นสัญญาใจเหมือนงานบุญเดือนสิบที่ทำให้ญาติพี่น้องได้มาเจอกัน”

ผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นคนในจังหวัดและภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีคนจากเหนือสุด ใต้สุด และต่างประเทศทั้งในและนอกทวีปเอเชียบินเข้ามาทุกปี ซึ่งสร้างรายได้ไม่ใช่แค่เฉพาะกับคนในพื้นที่ แต่รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศที่เป็นปลายทางนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อถามถึงบทเรียนในการทำธุรกิจของเขา ซึ่งจะเรียกว่าธุรกิจก็ไม่เชิง แต่เป็นการลงมือทำบางอย่างโดยไม่ได้สร้างกำไรให้แค่กลุ่มของตัวเองเพียงอย่างเดียว เดียร์ตอบเราว่า

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีโดยคนขอนแก่น สร้างมูลค่าเศรษฐกิจจังหวัดปีละ 200 ล้าน

“เราเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการคิด กระบวนการพูด เรียงลำดับความสำคัญ และมองภาพรวม ถ้างานเป็นถังสีแล้วเราเอาตัวเองไปจุ่ม สุดท้ายต้องถอยออกมาเพื่อดูบริบทรอบ ๆ ด้วย ไม่ใช่เป็นกระทิงเป็นหมีดุดัน เอะอะชนอย่างเดียวไม่สนใจอะไรเหมือนปีแรก ๆ” เขาหัวเราะ “วันนี้อุดมการณ์เรายังเหมือนเดิม แต่นอกจากทำเพื่อคุณค่าความสุข เรามองเรื่องมูลค่าไปด้วยพร้อมกัน รายได้มาจากทางไหนได้บ้าง และชาวบ้านจะสร้างรายได้ได้ยังไงบ้าง”

เขาและทีมงานกว่าอีก 20 ชีวิต มีกำลังใจและกำไรในการทำงานเป็นฟีดแบ็กเล็ก ๆ น้อย ๆ จากคนในท้องที่

‘อีสานเขียวจะจัดอีกไหมปีนี้’ 

‘แล้วจะจัดเมื่อไหร่’ 

‘จัดแล้วอย่าลืมแม่นะ ชวนพ่อด้วยนะ’

“ครั้งหนึ่งเคยมีคุณยายถือดอกไม้มามอบให้เรา บอกว่าเราทำให้คุณตาปลดหนี้เงินแสนได้ เขารับจ้างเป็นรถซาเล้งบริการนักท่องเที่ยว หรืออย่างร้านอาหาร ปากทางเข้างานมีไก่ย่างหลายร้าน วันปกติขายไม่ค่อยดี แต่วันจัดงานเขาขายดีมาก เขาดีใจแทบจะขอให้ไปเป็นลูกเป็นหลาน มันเลยเป็นพลังให้เราอยากตั้งใจจัดงานให้ดีขึ้นไปทุกปี”

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีจังหวัดขอนแก่น โดยคนขอนแก่น เพื่อคนขอนแก่น ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 200 ล้าน

07

อีสานเขียวไม่ได้อยากทำแค่ในจังหวัดขอนแก่น แต่อยากโตขึ้นทุกปี

“สเต็ปแรกต้องไปถึงระดับเอเชียก่อน เราใช้ดนตรีเชื่อมในเกิดภาคีเครือข่าย เช่น เราไปเล่นดนตรีที่ลาวหรือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ก็ตกลงกันว่า ถ้างานเธอ ฉันจะไปเล่น ถ้างานฉัน เธอก็มาเล่น แลกเปลี่ยนกัน แล้วเดี๋ยวเราจะมี Kong Music Festival เทศกาลดนตรีของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง มีศิลปินต่าง ๆ เราอยากชวนวงจากต่างประเทศมาร่วมด้วย”

เรามีโอกาสได้คุยกับคนขอนแก่นหลายคน ตั้งแต่นักธุรกิจใหญ่ประจำจังหวัด ผู้ประกอบการกิจการเก่าแก่ ไปจนถึงคนรุ่นใหม่กลับบ้าน สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ เขาเหล่านั้นล้วนมีใจรักเมืองนี้และอยากพัฒนาให้ดีขึ้น 

คนจังหวัดนี้เอาไฟมากมายมาจากไหนกัน – เราถามเขา

“คนขอนแก่นก็เหมือนคนจังหวัดอื่นแหละครับ” เดียร์ยิ้ม “เพียงแต่แรกเริ่ม เราอาจจะขาดเครื่องมือในการเข้ามาช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ การรวบรวมกลุ่มระดมสมองไอเดียก็เลยเป็นวิธีการขับเคลื่อนเมืองของเรา อย่างวันเสาร์ที่จะถึงนี้ กลุ่มพี่ ๆ ที่สุพรรณบุรีชวนผมไปจังหวัดเขา เขาก็กำลังผลักดันให้สุพรรณฯ เป็น City of Music หรือ City of Art เพื่อรองรับการเป็นมรดกโลกจาก Unesco ที่โรงละครแห่งชาติสุพรรณบุรี

“ส่วนงานของผม เราเริ่มจากความสุข ก่อนจะขยายแตกฟองส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้คนอื่น ๆ”

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีจังหวัดขอนแก่น โดยคนขอนแก่น เพื่อคนขอนแก่น ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 200 ล้าน

กลุ่มอีสานเขียวกำลังเตรียมตัวสำหรับงาน E-san Music Festival ประจำปีนี้ หลังจากเดินทางเวียนไปเยี่ยมงานเพื่อน ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ พวกเขากลับมาใช้เวลาเตรียมงานร่วม 6 เดือน ร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยมีผลลัพธ์เป็นงานเทศกาลดนตรีระหว่างวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2022 ที่กำลังจะถึง

ไม่มีใครเคยคิดว่างานเล็ก ๆ ที่ลงขันกันเอง และมีผู้ชมเป็นผองเพื่อน จะเดินทางมาไกลเกือบทศวรรษ และกลายเป็นงานที่ผู้คนในจังหวัดต่างเข้ามามีส่วนร่วม

การสร้างรายได้ให้ผู้จัดทำให้เทศกาลดนตรีนี้กลายเป็นธุรกิจอย่างสมบูรณ์ และพวกเขาสามารถเลิกจัดได้ทันทีในวันที่มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ

แต่พวกเขาไม่คิดทำแบบนั้น 

เพราะโมเดลธุรกิจนี้ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แค่ผู้ก่อตั้ง หากรวมถึงพี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ตา ยาย ในพื้นที่ ที่มารวมตัวกันทุกสิ้นปี

“ถ้าเดือนพฤศจิกาฯ นี้ไม่ได้ไปไหน ลองแวะมาเที่ยวที่งานนะครับ” เดียร์ชวนเราและผู้อ่านทุกคน

Esan Music Festival เทศกาลดนตรีจังหวัดขอนแก่น โดยคนขอนแก่น เพื่อคนขอนแก่น ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ 200 ล้าน

Lessons Learned

  • ธุรกิจที่ตอบโจทย์ทั้งฝั่งเจ้าของและคอมมูนิตี้โดยรอบได้ จะเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
  • มองความสำเร็จระยะไกลมากกว่ากำไรระยะใกล้
  • สร้างเครือข่ายในทุกภาคส่วนเพื่อความร่วมมือและความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่ออิมแพคที่ใหญ่ขึ้น

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

นักเรียนวารสารศาสตร์จากมอน้ำชี ที่เชื่อว่าชีวิตต้องผ่านน้ำ เบื่อการเรียนออนไลน์ อยากเรียนจบแล้ว รักใครรักจริง