สิ่งหนึ่งที่คนถิ่นอื่นมักพูดถึงคนอีสาน คือ คนอีสานเป็นคนสนุก
เอนเตอร์เทนเมนต์คือวัฒนธรรมส่งออกจากท้องถิ่นที่ทำให้คนทั่วประเทศ (ไปจนถึงทั่วโลก) รู้จักแดนอีสานผ่านการร้อง ฟ้อน เต้นระบำ ในรูปแบบต่าง ๆ
แต่แค่ความสนุกของคนอีสานอย่างเดียว คงไม่ทำให้ชื่อเสียงโด่งดังไปไกลถึงขนาดนั้น ความภาคภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรมของตัวเองต่างหากที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญ และที่สำคัญยิ่งกว่า คือใจที่เปิดรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามโลกใหม่ โดยไม่ยึดติดกับวิถีเดิม ๆ เพียงอย่างเดียว
เราจึงได้เห็นการโซโล่แคนของวง The Paradise Bangkok Molam International Band บนเวทีระดับโลก เห็นพลังของผู้หญิงในชื่อ Rasamee Isan Soul ที่ต่างชาติจับตามอง เห็นคณะหมอลำบนเวทีประกวดนางงาม เห็นคำอีสานในเพลงป๊อปยุคใหม่
เที่ยงนี้เราต่อสายถึงขอนแก่นเพื่อคุยกับ เดียร์-ไพจิตร ศรีม่วงอ่อน หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘อีสานเขียว’ ผู้จัดงานเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคชื่อ E-san Music Festival Thailand ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ไม่เพียงขับเคลื่อนวัฒนธรรมในดินแดนแห่งนี้ แต่กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในระดับร้อยล้าน ด้วยงานแสดงดนตรีที่ครั้งแรกมีคนมาแค่ไม่เกิน 500 คน

01
“คนที่มาส่วนใหญ่เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงกันทั้งนั้น” เดียร์เล่าย้อนไปถึงงานครั้งแรกพร้อมเสียงหัวเราะ
ก่อนนั้นเขาเคยเป็นจิตอาสา ทำงานเรื่องเด็ก เยาวชน การศึกษา และสิ่งแวดล้อม เป็นหลัก มีทั้งงานประเภทออกค่าย งานเล่นดนตรี แล้วก็มีวงดนตรีของตัวเองด้วย
ชายคนนี้สนใจเกี่ยวกับเทศกาลดนตรีมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ใช่ในเชิงการบริหารจัดการงาน
“เราสนใจคำว่า Festival ในมุมที่จะได้ไปเที่ยว ได้ไปแคมป์ ได้ไปเรียนรู้ ได้เดินทางไปที่ต่าง ๆ เป็นการสนใจในมุมของคนไปมากกว่ามุมของคนจัด”
ย้อนไปตอนนั้น ในบ้านเรายังมีงานเทศกาลดนตรีไม่มาก เดียร์กับเพื่อนอีก 2 คน คัตเตอร์-จิตรกร ศรีธนะกูล และ กุ๊กไก่-ปฤษฏี นะที่ราบสูง แบกเป้เที่ยวในหลายจังหวัด จนได้ไปเทศกาล Pai Reggae Festival ก็เกิดไอเดียขึ้นมา
“เรากลับมาทำอะไรที่บ้านเราไหมเพื่อน” ทั้งสามคุยกันแบบนั้น “เป็นช่วงเดียวกับที่กุ๊กไก่กับคัตเตอร์ไปเจอนิตยสาร บันเทิงคดี เขาพูดถึง Woodstock ซึ่งเป็นเทศกาลดนตรีระดับโลก นั่นเป็นอีกแรงบันดาลใจที่เราคิดว่าน่าจะทำให้งานแบบนี้เกิดในขอนแก่นบ้านเราได้”

02
ครั้งแรกเป็นการลองผิดลองถูก เทศกาลแบบนี้ไม่เคยมีใครจัดในขอนแก่น และตัวนักจัดเองก็ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจงาน Festival อย่างถ่องแท้ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนัก
ในปี 2012 หากลองไปถามคนขอนแก่นจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมืองนี้คือศูนย์รวมทางเศรษฐกิจของภาคอีสานก็จริง แต่ถ้าถามว่ามาขอนแก่นต้องไปเที่ยวไหน คงมีคนน้อยคนที่ตอบได้
คุณเห็นโอกาสอะไรในจังหวัดนี้ – เราจึงถาม
“เราตั้งใจชูเรื่องความแตกต่าง มันแตกต่างตั้งแต่บุคลิกและแนวคิดของพวกเราแล้ว ผมเผ้ายาวรุงรัง เป็นฮิปปี้แบบที่คนเขามองเลย ส่วนหนึ่งเป็นการท้าทายตัวเองว่าจะทำได้ไหม งานปีแรก ๆ เรายังไม่ได้คิดเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือผลที่จะส่งถึงจังหวัด ดัชนีชี้วัดความสำเร็จในตอนนั้นคือความสุขอย่างเดียว”
งานปีแรกและปีที่สองเป็นงานแบบเฉพาะกลุ่มในชื่อ อีสานเรกเก้ จัดที่สวนสาธารณะเวที 200 ปี บึงแก่นนคร ในตัวเมือง ไม่มีสปอนเซอร์ เพราะพวกเขาลงขันกันเองตามความสมัครใจ ส่วนเรื่องกำไรที่ได้ไม่ต้องถามถึง เดียร์บอกว่าถ้าวัดเป็นมูลค่าตัวเงินนี่แทบไม่ได้เลย
“บางคนเอากล้องไปจำนำ เอารถไปจำนำ ขายของระดมทุน หยิบยืมของตามห้างร้าน ตอนนั้นเครดิตพวกเราก็ยังไม่มี แล้วนึกดูว่าเราผมยาว ๆ ฮิปปี้กันแบบนี้ ยิ่งยากขึ้นไปอีก สิ่งที่เราได้คือมิตรภาพ มีเครือข่ายใหม่ มีเพื่อนของเพื่อนที่ชักชวนกันมา ได้รู้จักคนใหม่ ๆ เขามีไลฟ์สไตล์แบบนี้ มันคือความสุขและคุณค่าทางใจ”
แม้ไม่ได้กำไรเป็นเม็ดเงิน กลุ่มอีสานเขียวก็ยังเดินหน้าต่อ
“หลังจบงานเรามานั่งถอดบทเรียนกันทีละข้อ ทั้งข้อดีข้อเสีย แล้วตัดสินใจว่าจะไปกันต่อไหม เสียงของคนที่มางานและเสียงของพวกเราด้วยกันเอง ทำให้ตัดสินใจจัดครั้งต่อมา ครั้งที่สองเริ่มชักชวนเครือข่ายต่าง ๆ และเพื่อน ๆ มาเข้าร่วมเพื่อสร้างสีสันในงาน”


03
งานครั้งที่สามคือจุดเปลี่ยนของเทศกาลดนตรีนี้ และเป็นต้นกำเนิดของงานในปัจจุบันด้วยเช่นกัน
หนึ่ง พวกเขามีเป้าหมายชัดเจนว่าตั้งใจให้งานนี้ทำให้ทุกคนออกไปเรียนรู้การใช้ชีวิต และทุกคนในที่นี้หมายถึงทุกคนจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ครอบครัว ไปจนถึงเด็กเล็กที่ยังต้องนั่งรถเข็น คำว่า ‘เขียว’ ก็ไม่ใช่ความหมายเกี่ยวข้องกับสมุนไพรควบคุมเหมือนที่หลายคนคิด แต่คือความตั้งใจอยากทำให้อีสานแห้งแล้งเขียวอุดมสมบูรณ์ มีความสุขครบทุกด้าน ภายในงานจึงสอดแทรกมิติของสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และวิถีท้องถิ่นเข้าไปด้วย
เมื่ออยากให้คนออกไปใช้ชีวิต บวกกับจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้นทุกปี กลุ่มอีสานเขียวจึงต้องโยกย้ายสถานที่จัดงานใหม่ จากในตัวเมืองออกไปในชนบท แต่พวกเขาไม่เคยคิดออกไปจากจังหวัดขอนแก่น
จนมาถึงจุดเปลี่ยนข้อสอง คือสถานที่จัดงานบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ละแวกเดียวกับปัจจุบัน
เมื่อดึงคนเข้ามาได้มากขึ้น ก็เริ่มเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เริ่มมีรายได้เข้ามาในท้องถิ่น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การคมนาคมในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน รถไฟ รถทัวร์ หรือการท่องเที่ยวทั้งที่พักและกิจการร้านค้าในจังหวัดก็คึกคักครึกครื้น


04
จากงานครั้งแรกที่มีคนเข้าร่วมไม่ถึง 500 คน จนครั้งที่ 7 มียอดสูงสุดเกือบ 200,000 คน และล่าสุด แม้จะเป็นช่วงโควิด-19 ก็ยังมีคนมาเยี่ยมเยียนร่วมแสน
จากทีมงานแค่กลุ่มเพื่อน ก็เริ่มมีการประสานงานกับเครือข่าย หน่วยงานรัฐ และเอกชนต่าง ๆ
จากการลงมือทำงานกันเอง ก็ได้น้ำพักน้ำแรงจากคนท้องถิ่นคอยดูแลความเรียบร้อยให้งานเดินไปอย่างราบรื่น
‘สำนึกรักบ้านเกิด ตอบแทนคุณแผ่นดิน’ คือวลีที่เราได้ยินบ่อยจากแคมเปญรณรงค์ให้คนหันกลับมาดูแลท้องถิ่น และเป็นคำตอบของกลุ่มอีสานเขียวในการทำสิ่งนี้
“มันคือคำถามว่าเราจะทำอะไรเพื่อบ้านของเราได้บ้าง นี่คือเครื่องมือที่เราถนัดที่สุด อย่างน้อยก็ ณ เวลานี้ จากที่ปีแรกเราทำเพื่อความสุขตัวเอง ตอนนี้งานมันใหญ่พอที่จะช่วยขับเคลื่อนขอนแก่นให้เป็น City of Art ในทุกแขนง ไม่ใช่เฉพาะดนตรี ในงานเรามีเครือข่ายด้านศิลปะมาแสดงผลงาน มีการจัดประมูล มีกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ชวนเด็ก ๆ มาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ ปลูกฝังเรื่องพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากชาวอีสานในหลายจังหวัดในน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์”
ขณะเดียวกัน งานนี้ก็สร้างรายได้ให้กับคนท้องที่ เริ่มตั้งแต่กระบวนการลงพื้นที่ ซึ่งได้ชาวบ้านมาเป็นกำลังสำคัญ การคมนาคมอำนวยความสะดวกในงานก็เป็นความรับผิดชอบของพวกเขา สินค้าและอาหารที่วางจำหน่ายก็ไม่วายเป็นของดีประจำถิ่น อย่างปลาแห้ง ส้มตำ หรือสินค้า OTOP ประจำตำบลต่าง ๆ หลังจบงานก็ได้แรงกายจากชุมชนช่วยกัน เพื่อดูแลรักษาความเรียบร้อยของพื้นที่ให้กลับเป็นดังเดิมอีกครั้ง
“เราให้สิทธิ์ชาวบ้านทั้งตำบลเข้างานได้ฟรี มีประมาณ 12 หมู่บ้าน เหมือนเขาเป็นทีมงานส่วนหนึ่งของเรา เป็นหูเป็นตาคอยดูแลนักท่องเที่ยวที่มาด้วยกัน”
รายได้ในการทำงานมอบให้ชาวบ้าน รายได้ส่วนหนึ่งหลังจบงานมอบให้วัดให้โรงเรียน รวมถึงกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่


05
ใครจะคิดว่างานมิวสิกเฟสติวัลเล็ก ๆ ที่จัดให้คนเฉพาะกลุ่มในสวนสาธารณะใจกลางเมืองขอนแก่น วันหนึ่งจะกลายเป็นงานของจังหวัด รวมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ เอกชน และคนในพื้นที่ จนสร้างมูลค่าให้จังหวัดได้เกือบ 200 ล้านบาท
ใช่แล้วค่ะ คุณอ่านไม่ผิด
เดียร์เองก็คิดไม่ถึงว่าอิมแพคของงานจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้
ทุกครั้งที่มีการจัดงาน นักท่องเที่ยวไม่ได้แค่มางาน E-san Music Festival แต่เตรียมตัวไปแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในและนอกเมือง กิน ดื่ม ใช้ จับจ่ายซื้อของ งานนี้เลยไม่ได้เป็นแค่เทศกาลดนตรีที่มาแล้วจบไป แต่เป็นเหมือนมหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดที่มีขึ้นทุกปี
กลุ่มอีสานเขียวและเครือข่ายจึงตั้งใจประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในจังหวัดพร้อม ๆ กับโปรโมตงานของตัวเอง
“เรามีพาร์ตเนอร์หลายแบบ แบบแรกคือกลุ่มคนอย่างพวกเรา มีหมดเลยครับ ทั้งกลุ่มคนชอบรถคลาสสิก ฮาร์เลย์ เวสป้า พาหนะเกือบทุกแขนง เป็นเพื่อน ๆ ของเราเอง มาช่วยกันทำให้งานคึกคักมากขึ้น
“แบบสองคือภาครัฐ ทั้งส่วนกลางประจำจังหวัดและในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงกระทรวงการท่องเที่ยว ล่าสุด เราเพิ่งไปคุยกับการรถไฟขอนแก่น เวลาเพื่อน ๆ จากต่างจังหวัดไกล ๆ มางานเรา ก็นิยมแบกเป้ขึ้นรถไฟกันเสียส่วนใหญ่ ทางการรถไฟก็เลยเสนอให้มีขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ หัวลำโพง-อีสานเขียว เดินทางตรงมาถึงงานเลย ครั้งแรกประสบความสำเร็จมาก นอกจากนี้ก็ยังทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัด ทำดีลโปรโมชันกับร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต ใครมีบัตรเฟสติวัลจะได้รับส่วนลดเพิ่มเติม
“แบบที่สามคือภาคเอกชน นอกจากรายได้จากค่าบัตรและของที่ระลึก เราก็มีสปอนเซอร์งานในแต่ละปีเป็นแบรนด์ต่าง ๆ
“แบบที่สี่คือคนท้องที่ เหมือนที่เล่าไปก่อนนี้ว่าเรามองเขาเหมือนเป็นทีมงานอีกคน ช่วยกันอำนวยความสะดวกให้ผู้มาร่วมงาน อย่างให้บริการวิ่งรถ โดยเราเข้าไปช่วยกำหนดราคามาตรฐานเพื่อไม่ให้เอาเปรียบนักท่องเที่ยว เช่น พ่อครับแม่ครับ มอเตอร์ไซค์ขอ 20 บาท รถยนต์ 40 บาท รายได้ที่ได้ทั้งหมดเป็นของชาวบ้านในพื้นที่ และเราพยายามทำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของงาน เป็นเจ้าภาพ ส่วนใครขายดีจะร่วมทำบุญกับเราหลังงานเลิกก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นบริจาคหน้ากากช่วงโควิด-19 สนับสนุนกิจกรรมเด็ก ๆ หรือปลูกป่า”
แม้เครือข่ายจะขยายขึ้นทุกปี แต่แนวคิดหลักของงานนี้ยังอยู่ที่กลุ่มอีสานเขียวเหมือนเดิมตั้งแต่วันแรกที่จัดงานนี้ และยังอยากพัฒนาให้ดีขึ้นอีก

06
E-san Music Festival เปลี่ยนบทบาทไปมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จากงานเฉพาะกลุ่มมาเป็นงานของจังหวัดที่ได้รับความร่วมมือมากมาย เหมือนงานบุญเดือน 10 อย่างที่เดียร์เปรียบเปรย
“ถ้านึกถึงเทศกาลดนตรีต้องนึกถึงขอนแก่น” เขาว่า “เป็นเหมือนสัญญาใจว่าหน้าหนาวปลายปี เราต้องมาเจอกันที่นี่ เป็นสัญญาใจเหมือนงานบุญเดือนสิบที่ทำให้ญาติพี่น้องได้มาเจอกัน”
ผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นคนในจังหวัดและภาคอีสาน นอกจากนี้ยังมีคนจากเหนือสุด ใต้สุด และต่างประเทศทั้งในและนอกทวีปเอเชียบินเข้ามาทุกปี ซึ่งสร้างรายได้ไม่ใช่แค่เฉพาะกับคนในพื้นที่ แต่รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศที่เป็นปลายทางนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เมื่อถามถึงบทเรียนในการทำธุรกิจของเขา ซึ่งจะเรียกว่าธุรกิจก็ไม่เชิง แต่เป็นการลงมือทำบางอย่างโดยไม่ได้สร้างกำไรให้แค่กลุ่มของตัวเองเพียงอย่างเดียว เดียร์ตอบเราว่า

“เราเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการคิด กระบวนการพูด เรียงลำดับความสำคัญ และมองภาพรวม ถ้างานเป็นถังสีแล้วเราเอาตัวเองไปจุ่ม สุดท้ายต้องถอยออกมาเพื่อดูบริบทรอบ ๆ ด้วย ไม่ใช่เป็นกระทิงเป็นหมีดุดัน เอะอะชนอย่างเดียวไม่สนใจอะไรเหมือนปีแรก ๆ” เขาหัวเราะ “วันนี้อุดมการณ์เรายังเหมือนเดิม แต่นอกจากทำเพื่อคุณค่าความสุข เรามองเรื่องมูลค่าไปด้วยพร้อมกัน รายได้มาจากทางไหนได้บ้าง และชาวบ้านจะสร้างรายได้ได้ยังไงบ้าง”
เขาและทีมงานกว่าอีก 20 ชีวิต มีกำลังใจและกำไรในการทำงานเป็นฟีดแบ็กเล็ก ๆ น้อย ๆ จากคนในท้องที่
‘อีสานเขียวจะจัดอีกไหมปีนี้’
‘แล้วจะจัดเมื่อไหร่’
‘จัดแล้วอย่าลืมแม่นะ ชวนพ่อด้วยนะ’
“ครั้งหนึ่งเคยมีคุณยายถือดอกไม้มามอบให้เรา บอกว่าเราทำให้คุณตาปลดหนี้เงินแสนได้ เขารับจ้างเป็นรถซาเล้งบริการนักท่องเที่ยว หรืออย่างร้านอาหาร ปากทางเข้างานมีไก่ย่างหลายร้าน วันปกติขายไม่ค่อยดี แต่วันจัดงานเขาขายดีมาก เขาดีใจแทบจะขอให้ไปเป็นลูกเป็นหลาน มันเลยเป็นพลังให้เราอยากตั้งใจจัดงานให้ดีขึ้นไปทุกปี”

07
อีสานเขียวไม่ได้อยากทำแค่ในจังหวัดขอนแก่น แต่อยากโตขึ้นทุกปี
“สเต็ปแรกต้องไปถึงระดับเอเชียก่อน เราใช้ดนตรีเชื่อมในเกิดภาคีเครือข่าย เช่น เราไปเล่นดนตรีที่ลาวหรือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ก็ตกลงกันว่า ถ้างานเธอ ฉันจะไปเล่น ถ้างานฉัน เธอก็มาเล่น แลกเปลี่ยนกัน แล้วเดี๋ยวเราจะมี Kong Music Festival เทศกาลดนตรีของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง มีศิลปินต่าง ๆ เราอยากชวนวงจากต่างประเทศมาร่วมด้วย”
เรามีโอกาสได้คุยกับคนขอนแก่นหลายคน ตั้งแต่นักธุรกิจใหญ่ประจำจังหวัด ผู้ประกอบการกิจการเก่าแก่ ไปจนถึงคนรุ่นใหม่กลับบ้าน สิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ เขาเหล่านั้นล้วนมีใจรักเมืองนี้และอยากพัฒนาให้ดีขึ้น
คนจังหวัดนี้เอาไฟมากมายมาจากไหนกัน – เราถามเขา
“คนขอนแก่นก็เหมือนคนจังหวัดอื่นแหละครับ” เดียร์ยิ้ม “เพียงแต่แรกเริ่ม เราอาจจะขาดเครื่องมือในการเข้ามาช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ การรวบรวมกลุ่มระดมสมองไอเดียก็เลยเป็นวิธีการขับเคลื่อนเมืองของเรา อย่างวันเสาร์ที่จะถึงนี้ กลุ่มพี่ ๆ ที่สุพรรณบุรีชวนผมไปจังหวัดเขา เขาก็กำลังผลักดันให้สุพรรณฯ เป็น City of Music หรือ City of Art เพื่อรองรับการเป็นมรดกโลกจาก Unesco ที่โรงละครแห่งชาติสุพรรณบุรี
“ส่วนงานของผม เราเริ่มจากความสุข ก่อนจะขยายแตกฟองส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้คนอื่น ๆ”

กลุ่มอีสานเขียวกำลังเตรียมตัวสำหรับงาน E-san Music Festival ประจำปีนี้ หลังจากเดินทางเวียนไปเยี่ยมงานเพื่อน ๆ ตามจังหวัดต่าง ๆ พวกเขากลับมาใช้เวลาเตรียมงานร่วม 6 เดือน ร่วมกับเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยมีผลลัพธ์เป็นงานเทศกาลดนตรีระหว่างวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2022 ที่กำลังจะถึง
ไม่มีใครเคยคิดว่างานเล็ก ๆ ที่ลงขันกันเอง และมีผู้ชมเป็นผองเพื่อน จะเดินทางมาไกลเกือบทศวรรษ และกลายเป็นงานที่ผู้คนในจังหวัดต่างเข้ามามีส่วนร่วม
การสร้างรายได้ให้ผู้จัดทำให้เทศกาลดนตรีนี้กลายเป็นธุรกิจอย่างสมบูรณ์ และพวกเขาสามารถเลิกจัดได้ทันทีในวันที่มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ
แต่พวกเขาไม่คิดทำแบบนั้น
เพราะโมเดลธุรกิจนี้ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แค่ผู้ก่อตั้ง หากรวมถึงพี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ตา ยาย ในพื้นที่ ที่มารวมตัวกันทุกสิ้นปี
“ถ้าเดือนพฤศจิกาฯ นี้ไม่ได้ไปไหน ลองแวะมาเที่ยวที่งานนะครับ” เดียร์ชวนเราและผู้อ่านทุกคน

Lessons Learned
- ธุรกิจที่ตอบโจทย์ทั้งฝั่งเจ้าของและคอมมูนิตี้โดยรอบได้ จะเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
- มองความสำเร็จระยะไกลมากกว่ากำไรระยะใกล้
- สร้างเครือข่ายในทุกภาคส่วนเพื่อความร่วมมือและความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่ออิมแพคที่ใหญ่ขึ้น