“ช่วงกักตัวโควิดมันไม่มีอะไรทำ ผมก็เลยทำเพจครับ”

“ส่วนผมหมอเจตชวนมาทำครับ (หัวเราะ)”

ประโยคแรกเป็นของ หมอเจต-นพ.เจตพัฒน์ ทวีโภคา ส่วนประโยคที่สองเป็นของ หมอบี-นพ.อุดมศักดิ์ ตั้งชัยสุริยา ที่พูดกันอย่างติดตลกเมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของ ‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ เพจให้ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน ครอบคลุมตั้งแต่เคล็ดลับสามัญประจำบ้านที่คนทั่วไปนำไปใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ไปจนถึงความรู้ระดับเจาะลึก ซึ่งเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์

‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ เพจให้ความรู้ทางการแพทย์แบบฟรี ๆ ที่อยากให้ทุกชีวิตรอดตาย
‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ เพจให้ความรู้ทางการแพทย์แบบฟรี ๆ ที่อยากให้ทุกชีวิตรอดตาย

นอกจากร่ายยาวให้ข้อมูลครบถ้วนประหนึ่งนั่งฟังแพทย์ในห้องตรวจ อีกจุดน่าสนใจอยู่ตรงภาพประกอบ ซึ่งหมอเจตลงมือวาดด้วยตัวเองทั้งหมด และหลังจากบทสนทนายามดึกระหว่างเรากับนายแพทย์หนุ่มทั้งสองจบลง ก็พบอีกประเด็นสำคัญที่อยากชวนทุกท่านอ่าน

ทั้งหมอบีและหมอเจตเห็นตรงและยืนยันหนักแน่นว่า จุดประสงค์ในการจัดสรรเวลามารังสรรค์คอนเทนต์ให้แฟนเพจติดตาม ก้าวข้ามการให้ความรู้หรือให้ใคร ๆ มานับหน้าถือตาว่าเป็นนายแพทย์ผู้เสียสละ แต่พวกเขาอยากให้สิ่งนี้มีส่วนให้คนตระหนักและกล้าเข้าใกล้ศาสตร์การแพทย์ฉุกเฉิน มีมุมมองที่ดีต่อแผนก ER รวมถึงฝันที่ยิ่งใหญ่ ว่าคอนเทนต์กู้ชีพมากมายที่พวกเขาตั้งใจเผยแพร่ออกไป อาจมีส่วนช่วยรักษาชีวิตคนใกล้ตัวเอาไว้ได้ 

ซักประวัติ

“ประเทศเรามีชุดความคิดที่ว่า ต้องเป็นคนรวยเท่านั้นถึงจะได้เรียนหมอ” 

หมอเจตเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการพาเราย้อนไปถึงอุดมการณ์ในวันที่ตัดสินใจเปิดเพจ เพราะชุดความคิดของสังคมที่มองว่าหากอยากอยู่ในแวดวงการแพทย์ คุณต้องมีต้นทุนที่ดี ครอบครัวต้องพร้อมสนับสนุน หรือแม้แต่เรียนจบแล้ว อยากเข้าร่วมประชุมวิชาการเพื่อยกระดับความรู้ให้ตัวเองสักครั้ง พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายถูกสุดหลักพัน หรืออาจบานปลายไปถึงหลักหมื่น ซึ่งสำหรับหมอที่มีเงินเดือนหลักแสนอาจไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อลองนึกถึงพยาบาลหรือเหล่ากู้ภัย ซึ่งจำเป็นต้องเข้าถึงความรู้เหล่านี้ไม่แพ้กัน ก็ดูจะเหนือบ่ากว่าแรงใครหลายคนไม่อยู่ไม่น้อย

“มันถึงเวลาที่เราต้องคืนอะไรให้กับสังคมบ้าง” ซึ่งสิ่งนั้นปรากฏผลลัพธ์เป็นเพจห้องฉุกเฉินต้องรู้ รวบรวมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ทั้งหมอเจตและหมอบีสั่งสมมา เพื่อให้ ‘ทุกคน’ ไม่ว่าจะอยู่ในสายงานการแพทย์หรือบุคคลทั่วไปที่อาจต้องเผชิญเหตุไม่คาดฝัน เข้ามาเก็บเกี่ยวและนำไปปรับใช้ได้โดยไม่เสียสตางค์สักบาท 

นอกจากนี้ แนวทางในการตั้งชื่อเพจของพวกเขาก็น่าสนใจไม่แพ้อุดมการณ์ข้างต้น เพราะทั้งสองตั้งใจตั้งให้สั้น กระชับ ชัดเจน จนออกมาเป็น ‘ห้องฉุกเฉิน + ต้องรู้’ เพื่อกลับไปตอบโจทย์เดิมอีกว่า ทุกคนควรรู้สิ่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

พบแพทย์

ข้อมูล ณ วันที่ 26 มกราคม 2566 ห้องฉุกเฉินต้องรู้มีผู้ติดตาม 168,883 คน แต่ละโพสต์มีแฟนเพจมาแสดงความคิดเห็น ถกเถียง และรีเควสขอความรู้เรื่องอาการใหม่ ๆ แบบเรียกได้ว่าคึกคักไม่แพ้เพจให้ความบันเทิง ซึ่งผู้คนที่กดติดตามมีหลากหลาย ทั้งบุคลากรทางการแพทย์แทบทุกสาขาและคนทั่วไปหลายช่วงวัย 

หมอเจตเล่าว่าในช่วงเริ่มต้น พวกเขาไม่ได้วางกลุ่มเป้าหมายหลักไว้ให้เป็นเช่นนี้ แต่ตั้งใจให้นักศึกษาแพทย์ พยาบาล กู้ภัย และผู้คนในสายงานที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย มาติดตามไว้เพิ่มพูนความรู้ในการทำงาน เนื้อหาและภาษาในช่วงแรก ๆ จึงหนักหน่วงและเต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะที่คนในวงการเข้าใจร่วมกัน 

สำลักควันไฟ หมดสติ อย่าเชื่อเครื่องวัดออกซิเจน ระวังพิษก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ . ไฟไหม้โรงงาน คนไข้สำลักควันหมดสติ…

Posted by ห้องฉุกเฉินต้องรู้ on Wednesday, 10 August 2022

เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยเข้าปีที่ 3 กลับกลายเป็นว่ามีคนทั่วไปให้ความสนใจมากขึ้น ประกอบกับได้หมอบีผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความรู้สำหรับประชาชนเข้ามาร่วมแรงร่วมใจ เนื้อหาและภาษาในเพจจึงปรับให้เป็นเคสที่เข้าถึงคนทั่วไปมากขึ้น และมีการหยิบยกโรคภัยไข้เจ็บที่สังคมกำลังสนใจ บ้างก็เป็นเคสที่มีคนขอให้ช่วยอธิบายซ้ำอีกครั้ง คล้าย ๆ กับการส่งบ้าน

แล้วมีจุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่าการทำเพจนี้ประสบความสำเร็จแล้ว – เราถาม

“มีคนส่งข้อความมาว่า เขาเป็นคุณแม่ วันหนึ่งลูกเขาเกิดอาการชัก แล้วเขาเคยติดตามในเพจ เขาเลยปฐมพยาบาลให้ลูกก่อนนำส่งโรงพยาบาล แล้วลูกก็รอดชีวิต นั่นคือหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเราคิดว่า ประสบความสำเร็จในการทำเพจแล้วครับ”

‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ เพจให้ความรู้ทางการแพทย์แบบฟรี ๆ ที่อยากให้ทุกชีวิตรอดตาย

ณ นาทีแห่งความเป็นความตายของแม่ลูกคู่นั้นคงเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและตกใจ แต่โพสต์โพสต์หนึ่งจากเพจห้องฉุกเฉินต้องรู้กลับผุดขึ้นมา และพาให้เธอนำวิธีที่นำเสนอในเพจไปกู้ชีพ จนรักษาลูกชายเอาไว้ได้…

นอกจากเนื้อหาสดใหม่อิงกระแสกับโรคภัยไข้เจ็บที่สังคมกำลังสนใจ ภาพวาดประกอบสื่อความชัดเจน ภาษาในการนำเสนอที่อ่านง่าย เข้าถึงได้ทุกคน อีกสิ่งที่นายแพทย์ทั้งสองให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ความถูกต้องของข้อมูล นั่นก็เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นแค่ครีเอเตอร์ แต่ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์ผู้ตั้งใจส่งต่อองค์ความรู้ที่มีไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น ทุกข้อมูลที่เขาสื่อสารออกไปจึงต้องแม่นยำ ห้ามผิดพลาด 

“เพจที่เราทำเกี่ยวกับความเป็นความตาย ไม่ใช่ดูเพื่อความบันเทิง เพจนี้แหละจะป้องกันคุณในยามที่คุณเดือดร้อน” หมอเจตย้ำ

‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ เพจให้ความรู้ทางการแพทย์แบบฟรี ๆ ที่อยากให้ทุกชีวิตรอดตาย
‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ เพจให้ความรู้ทางการแพทย์แบบฟรี ๆ ที่อยากให้ทุกชีวิตรอดตาย

X-RAY

มาถึงหลายคนที่สงสัย หมอดูเป็นอาชีพที่ตารางงานรัดตัว แล้วหมอเจตกับหมอบีเอาเวลาไหนมาจัดสรรลงคอนเทนต์ได้ทุกวัน คุณหมอทั้งสองปรึกษากันสักครู่ แล้วให้คำตอบว่า “คำแรกคือแพสชัน คำที่สองคือการบริหารเวลา”

แพสชันที่ว่า มาจากอุดมการณ์ที่ไม่อยากให้ความรู้ถูกจำกัดด้วยทุนนิยม

และอีกคำหนึ่งคือ การบริหารเวลา หมอเจตบอกเราว่า คือสิ่งที่หมอฉุกเฉินเชี่ยวชาญเป็นอันดับต้น ๆ เพราะหากทำงานล่าช้าหรือจัดลำดับความสำคัญผิดพลาดเพียงนิด นั่นหมายถึงชีวิตของคนไข้ 

ทั้งสองแบ่งหน้าที่ในการดูแลเพจร่วมกัน โดยหมอบีดูแลเรื่องเนื้อหา ตั้งแต่คัดเลือก ค้นคว้าข้อมูล หาตัวอย่างประกอบ หรือติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อรีเช็กข้อมูลและชวนมาพูดคุยให้ได้องค์ความรู้ที่กว้างขวางขึ้น รวมถึงหมอบียังทำหน้าที่แอดมิน ตอบกลับความคิดเห็นและข้อความจากบรรดาแฟนเพจอีกด้วย 

เย็บปากยังไงไม่ให้เบี้ยว…หาขอบปากให้เจอครับ ตรงนั้นเรียกว่า “เวอ-มิ-เลี่ยน”…

Posted by ห้องฉุกเฉินต้องรู้ on Monday, 22 August 2022

ส่วนหมอเจต นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งศาสตร์และศิลป์ เขาตั้งใจวาดภาพประกอบโพสต์ทั้งหมดให้เป็นศิลปะแบบ Pop Art โดยยังคงเก็บรายละเอียดที่เทียบเคียงกับหลักกายวิภาคศาสตร์เอาไว้ถ้วน แต่ก็ลดทอนความรุนแรงของบาดแผลหรือความเหวอะหวะให้อยู่ในระดับที่คนทั่วไปรับชมได้โดยไม่ต้องปิดตาหนี 

‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ เพจให้ความรู้ทางการแพทย์แบบฟรี ๆ ที่อยากให้ทุกชีวิตรอดตาย

“วิธีการคือ เราจะคุยกันตลอดว่าตอนนี้มีเรื่องอะไรน่าสนใจ มีข่าวแบบนี้ คนน่าจะอยากรู้ข้อมูลการปฐมพยาบาลเคสนี้ หรือบางทีก็เริ่มจากหมอเจตส่งรูปที่วาดมาก่อน แล้วผมก็โอเค เข้าใจแล้วว่าเขาอยากสื่ออะไร มีเรื่องไหนที่ต้องเขียนชี้แจง ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องชวนใครมาคุยด้วยกัน จากนั้นก็ลุยเลย เพราะทั้งหมดเราทำอยู่ภายใต้กรอบเดียวกัน นั่นคือศาสตร์การแพทย์ฉุกเฉิน” หมอบี หมอสายวิชาการเล่าวิธีทำงานกับหมอสายติสต์อย่างหมอเจตให้ฟัง 

นอกจากทำหน้าที่แบ่งปันความรู้แบบอัดแน่นที่ย่อยให้เข้าถึงง่ายแล้ว ห้องฉุกเฉินต้องรู้ ยังเคยทำหน้าที่เป็นห้องฉุกเฉินยามจำเป็นให้กับผู้ป่วยและทีมกู้ภัยมาแล้ว คุณหมอทั้งสองยกตัวอย่างเหตุการณ์ให้เราฟังว่า มีคนส่งคลิปเข้ามาให้พวกเขาช่วยประเมินอาการเบื้องต้น ทั้งคนในบ้านหายใจผิดปกติ มีอาการชัก เพราะไม่รู้ว่าต้องรับมืออย่างไร ต้องไปโรงพยาบาลไหม หรือควรแจ้งหน่วยงานไหนต่อ หรือข้อความจากพนักงานกู้ภัย ที่ส่งเข้ามาถามว่า สิ่งที่พวกเขาปฐมพยาบาลให้ผู้ป่วยไปถูกต้องหรือเปล่า

คำถามจากแฟนเพจข้างต้น สะท้อนความเป็นจริงในสังคม 2 ประการ

หนึ่ง ความรู้เบื้องต้นในการปฐมพยาบาลยังคงห่างไกลจากความรู้ความเข้าใจของคนในสังคม พวกเรายังขาดแหล่งเข้าถึงข้อมูลอันเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นความตาย ทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง 

สอง โชคดีที่ห้องฉุกเฉินต้องรู้ มีอยู่เพื่อพยายามขจัดปัญหานั้น

‘ห้องฉุกเฉินต้องรู้’ เพจให้ความรู้ทางการแพทย์แบบฟรี ๆ ที่อยากให้ทุกชีวิตรอดตาย

วินิจฉัย 

ถึงแม้ว่าตอนนี้แพทย์ฉุกเฉินจะเป็นสาขาที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ มากขึ้น องค์ความรู้ด้านการปฐมพยาบาลได้รับการเผยแพร่มากขึ้น แต่จากมุมมองของหมอเจตและหมอบีผู้คลุกคลีอยู่ในวงการ พวกเขาบอกว่า คนทั่วไปยังเข้าใจและก้าวข้ามสถานการณ์ฉุกเฉินได้ไม่มากเท่าที่ควร 

ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองคนจึงตั้งใจใช้เพจห้องฉุกเฉินต้องรู้ เป็นประตูไปสู่ประชาชน เช่นเดียวกับที่แพทย์บางคนขึ้นเขาลงห้วย ขับรถขึ้นดอยด้วยงบของตัวเองไปสอนชาวบ้านเรื่องการปฐมพยาบาล สอนทำ CPR แก้อาการอาหารติดคอ ชัก แมลงสัตว์กัดต่อย ปั๊มหัวใจ ไฟฟ้าดูด จมน้ำ ฯลฯ 

“เพื่อนผมบอกว่า เพจของเราทำให้หมอฉุกเฉินมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้น อย่างตอนเหตุโศกนาฏกรรมที่อิแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ ถ้าเป็นในสมัยก่อน หลังเกิดเหตุการณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะออกมาให้ข้อมูล แต่ข้อมูลนั้นก็อาจจะออกแนววิเคราะห์เจาะลึก เป็นแนววิชาการหนัก ๆ เข้าถึงยาก แต่ตอนนี้เพจเราเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ออกมาพูดเรื่องนี้ได้ทันทีในฐานะหมอฉุกเฉินคนหนึ่ง รวมไปถึงในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน ที่สำคัญ เราสามารถย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น คนที่ติดตามนำไปใช้ได้จริงมากขึ้น 

ในคลิป #อิแทวอน…

Posted by ห้องฉุกเฉินต้องรู้ on Sunday, 30 October 2022

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมเคยไปออกหน่วยสอนคนไข้เรื่องการปั๊มหัวใจ คนไข้บอก ป้าไม่ปั๊มได้ไหม ป้าทำไม่เป็นหรอก แต่หลังจากเหตุการณ์ที่อิแทวอน ซึ่งเราออกมาเล่าวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไว้อย่างละเอียด ก็รู้สึกว่าคนตระหนักและให้ความสนใจกับสิ่งนี้มากขึ้น มีถามเข้ามาว่าให้ปั๊มมือเดียวหรือ 2 มือดี ต้องเป่าปากไหม ถ้าเป่าปากแล้วจะเป็นโควิดไหม คำถามเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ประชาชนมีความตระหนักระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจมาก ๆ” หมอเจตกล่าว

ใบรับรองแพทย์

เวลาล่วงเลยจบพลบค่ำ ก่อนจากกัน เราถามถึงเป้าหมายไกล ๆ ที่นายแพทย์ทั้งสองใฝ่ฝันจะไปให้ถึง หมอเจตจึงยกคำพูดของ แอนดี วอร์ฮอล ขึ้นว่า “Art is anything that you can take away with” หรือ ศิลปะคือสิ่งที่คุณสามารถเอาไปด้วยได้ – คุยกันเรื่องวิทย์อยู่ดี ๆ ไหงยกคำคมของศิลปินคนดังขึ้นมาซะได้ 

“ทุกอย่างคือศิลปะที่คุณถือเอาไปได้ครับ ทั้งภาพของเรา เนื้อหาในเพจเรา หรือทุก ๆ ข้อมูลที่เราตั้งใจถ่ายทอดเอาไว้ ไม่ว่าอะไรจากศิลปะ คุณพกพามันใส่สมองเอาไว้ได้ แล้วจะหยิบมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้เช่นกัน นั่นคือความตั้งใจของผม

“คุณอยากรู้ว่าเส้นเลือดในสมองแตกไหม คุณดูภาพศิลปะของผม ถ้าวันหนึ่งที่คุณปากเบี้ยว คุณจะนึกถึงศิลปะของผมที่คุณเอาไปด้วยผ่านการจดจำ” หมอหัวใจศิลป์กล่าว 

และสำหรับหมอบี ความคาดหวังของเขาไม่ได้อยู่ที่จำนวนผู้ติดตามที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง หากแต่เป็นการคงมาตรฐานในทุก ๆ คอนเทนต์ที่นำเสนอ ทั้งในด้านความถูกต้อง ครบถ้วน แม่นยำ เป็นประโยชน์ และเขายังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาเหล่านั้นจะช่วยชีวิตของใครสักคนได้ในที่สุด

ที่สำคัญ ทั้งสองยังยืนยันหนักแน่นว่า พวกเขาเชื่อมั่นว่าการเข้าถึงความรู้ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน และเพจห้องฉุกเฉินต้องรู้ของเขาจะยังคงยึดอุดมการณ์นี้ จนกว่าจะถึงวันที่แม้แต่เด็กอนุบาลก็ทำ CPR เป็น

Facebook : ห้องฉุกเฉินต้องรู้
YouTube : ห้องฉุกเฉิน ต้องรู้

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

ธนาธิป อดิเรกเกียรติ

ธนาธิป อดิเรกเกียรติ

ช่างภาพรักความสงบ กำลังพยายามค้นหาความสุขให้กับตัวเอง ผู้หลงใหลระหว่างบรรทัดของบทกวี