ธุรกิจ : อีหล่า มาร์เก็ต

ประเภทธุรกิจ : ร้านสรรพสินค้า

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2559

อายุ : 5 ปี 

ผู้ก่อตั้ง : พร้อมพร มุกดาม่วง, อัญชลี แสงโต 

ทายาทรุ่นสอง : รักอิสระ มุกดาม่วง

อีหล่า เป็นคำสรรพนามสื่อถึงความเอ็นดู ที่ผู้ใหญ่ทางภาคอีสานใช้เรียกลูกสาว หลานสาว หรือเด็กผู้หญิง 

แต่สำหรับ พีเจี้ยน-รักอิสระ มุกดาม่วง อีหล่า คือชื่อขึ้นต้นร้านโชห่วยที่เขาและครอบครัว ร่วมกันรีแบรนด์ร้านชำบ้านๆ ของคุณยาย ให้กลายเป็นร้านค้าครบวงจร มีเอกลักษณ์ และที่สำคัญคือกลมกลืนกับชุมชน

อีหล่า มาร์เก็ต ทายาทรุ่น 2 โชห่วยในอุดรฯ กับมาตรฐานใหม่ที่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม

‘อีหล่า มาร์เก็ต’ ร้านโชห่วยดีไซน์แปลกตา ตั้งอยู่ที่บ้านหนองใส หมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลหนองนาคำ จังหวัดอุดรธานี ให้บริการจำหน่ายสินค้าทุกชนิดที่เป็นมิตรกับชุมชนและคนท้องถิ่น พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับบริบทชุมชนที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงดูแลใจลูกค้าด้วยหลักการง่ายๆ 

“ไม่ได้ขายเพียงแค่สินค้า แต่ขายความเชื่อใจ” 

คอลัมน์ทายาทรุ่นสอง พาไปคุยกับทายาทร้านชำหนึ่งเดียวในจังหวัดอุดรธานี หลานชายผู้หยิบเอาความสร้างสรรค์และประสบการณ์ ทั้งจากการเดินทางและความสนใจในการถ่ายภาพ มาพัฒนาร้านโชห่วยของคุณยาย ยกระดับร้านโชห่วยที่คุ้นตา เปลี่ยนร้านเพิงให้กลายเป็นร้านเพลิน (เดินกันง่าย ขายกันเพลิน) พัฒนาจุดเด่น ลบจุดด้อยของโชห่วย ปรับความคุ้นชินเดิมให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น จนมีคนแวะเวียนมาขอเคล็ดลับการทำร้านอย่างไม่ขาดสาย 

แต่ก่อนแต่ไร

ก่อนที่จะเป็นร้านสรรพสินค้า อีหล่า มาร์เก็ต อย่างทุกวันนี้ กิจการร้านขายของชำเป็นธุรกิจที่อยู่คู่ครอบครัวของพีเจี้ยนมาก่อน มีทั้งช่วงรุ่งเรือง ซบเซา และช่วงที่ต้องหยุดกิจการไป โดยในแต่ละยุค สินค้าที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาวางขายในร้านแตกต่างกันไป 

ร้านในรุ่นคุณปู่คือกิจการเดียวในตำบล มีลูกค้าเป็นชุมชนกว่า 20 ชุมชนในละแวกใกล้เคียง ขายตั้งแต่ของกิน ของใช้ อะไหล่รถจักรยาน ไปจนถึงปุ๋ย ในช่วงรุ่งเรืองที่สุด ถึงขนาดมีโกดังใหญ่ไว้เก็บปุ๋ยเพื่อขายคนในชุมชน 

เมื่อยุคสมัยและความต้องการบริโภคสินค้าเปลี่ยนไป ร้านขายของชำใหม่ๆ ถือกำเนิดขึ้น ชาวบ้านมีรถขับเข้าไปซื้อของในเมืองเองได้ คนทำนาน้อยลง ร้านจึงหันมาจับทางสินค้าอุปโภคบริโภค 

เมื่อราวๆ 5 ปีก่อน คุณยายชุบชีวิตให้ร้านกลับมาเปิดขายอีกครั้ง ปรับห้องแถวขนาดหน้ากว้าง 6 เมตรเป็นโชห่วยที่ชุมชนคุ้นเคย ขายเครื่องดื่ม ของใช้ รวมถึงมีแผงหมูและแผงผักเล็กๆ เป็นตัวเลือกเสริม

กิจการตกทอดมาสู่รุ่นพีเจี้ยน คุณแม่และคุณยายชักชวนให้มาช่วยทำร้านใหม่ จากที่ตั้งใจทำแค่ร้าน ชายคนนี้กลายเป็นเสาหลักในเรื่องการออกแบบดีไซน์ วางระบบการขายแบบใหม่ หันมาทำความเข้าใจชุมชน ขายของครบวงจรมากขึ้น ทำการตลาดจนพาร้านออกสื่อและถูกพูดถึงในทวิตเตอร์ และยังเป็นต้นแบบของความเป็นไปได้ ในการเปลี่ยนภาพจำร้านโชห่วยให้ดีกว่าเดิม 

อีหล่า มาร์เก็ต ทายาทรุ่น 2 โชห่วยในอุดรฯ กับมาตรฐานใหม่ที่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม

ปรับภาพจำ ทำแบบใหม่

โชห่วยในต่างจังหวัดที่ทุกคนคุ้นตา คือร้านขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน บางร้านมีถังน้ำแข็งสีฟ้าสดใสตั้งอยู่ด้านหน้า บางร้านมีแผงผัก บางร้านเน้นขายขนมหรือขายกับข้าวคละกับสินค้าประเภทอื่น 

พีเจี้ยนไม่ทำแบบนั้น เพราะเขาเชื่อว่าร้านโชห่วย ยกระดับให้ดีและสวยได้

“คนเขาพูดว่า ‘ทำดีเกินไป ร้านขายของไม่ต้องดีขนาดนี้ คนมันจะเข้าไหม’ เราก็บอกเขาว่าลองดู ลองมาดูมิติใหม่ๆ เราบอกลูกค้าเก่าที่เคยซื้อกับยายแบบนี้ เขาก็กล้าๆ กลัวๆ คิดว่าแค่ขายของเฉยๆ ไม่ต้องทำดีขนาดนั้นก็ได้

“เราชอบร้านกาแฟ ชอบดีไซน์ ก็น่าจะทำให้มันดีได้ สวยได้ ทำไมจะต้องไปทำเหมือนเดิม ขนาดบ้านยังออกแบบให้ไม่เหมือนกันได้เลย ร้านขายของก็ต้องแปลกๆ ได้ มันต้องสวยได้ ขายของได้ด้วย”

นอกจากปรับเลนส์การมองใหม่แล้ว ตัวเขาซึ่งคลุกคลีอยู่กับการท่องเที่ยว การถ่ายภาพ และยังเคยไปอยู่อเมริกามาก่อน เห็นตัวอย่างของความเป็นไปได้ และจากร้านชำของชาวเอเชียในอเมริกา เขาจึงค้นพบว่าร้านชำสามารถทำให้น่าสนใจขึ้นได้อีก ถ้ามีการจัดวางและวางระบบในร้านที่ดี

“ร้านขายของชำเขาเหมือน Tops เหมือน Villa Market บ้านเราเลย จากประสบการณ์ตรงนั้นเลยเป็นแรงให้เรากล้าลงมือทำ”

อีหล่า มาร์เก็ต ทายาทรุ่น 2 โชห่วยในอุดรฯ กับมาตรฐานใหม่ที่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม

เติมสิ่งที่ขาด

สิ่งที่พีเจี้ยนเริ่มทำเป็นอย่างแรกคือ การสำรวจข้อดีและจุดที่พัฒนาได้ของกิจการโชห่วย เขายังคงเชื่อว่าธุรกิจโชห่วยธรรมดาๆ อยู่คู่กับชุมชนได้ จึงชวนแม่มานั่งจับเข่าคุยถึงภาพที่อยากเห็นร่วมกัน มองหาจุดบอดและแก้ไขไปทีละข้อ

“ก่อนคิดว่าอีหล่าจะเป็นยังไง ผมต้องมองปัญหาและข้อดี ข้อดีของโชห่วยคืออะไร ข้อเสียหรือข้อด้อยต่างจากร้านค้า Modern Trade ยังไง แล้วกลับมารีเช็กกับคุณแม่ว่าร้านบกพร่องตรงไหน ไม่ใช่แค่ร้านตัวเอง เรามองภาพรวมด้วย เราเกิดมาพร้อมโชห่วย เราซื้อของในโชห่วยยังไง ทำไมเราไม่ประทับใจ เราชอบจุดไหนของโชห่วย มีเช็กลิสต์สองฝั่ง ฝั่งที่เราชอบ เราพัฒนา ฝั่งที่เราไม่ชอบ เราแก้ไข”

เมื่อภาพที่คุณแม่อยากได้และไอเดียของพีเจี้ยนมาบรรจบกัน จึงเกิดเป็นร้านโชห่วยที่ด้านนอกเป็นอาคารทรงหน้าจั่ว ก่อด้วยอิฐมอญแดง ด้านในตกแต่งให้มีเพดานสูง เน้นความโปร่งโล่ง ติดเครื่องปรับอากาศ และจัดโซนสินค้าแยกประเภทชัดเจน 

“โชห่วยเดิมทีขาดการจัดวาง ขาด Display ขาด Art Direction ขาดความสวยงาม จะทำร้านทั้งที ก็ทำให้ดีๆ เลย ยกจากห้องแถวให้เป็นมาร์เก็ตไปเลย เพราะเรามีประสิทธิภาพในเรื่องสินค้าอยู่แล้ว”

อีหล่า มาร์เก็ต ทายาทรุ่น 2 โชห่วยในอุดรฯ กับมาตรฐานใหม่ที่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม
อีหล่า มาร์เก็ต ทายาทรุ่น 2 โชห่วยในอุดรฯ กับมาตรฐานใหม่ที่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม

เวิร์ก / ไม่เวิร์ก

นอกจากแปลงโฉมร้านให้ดียิ่งขึ้น การจัดวางร้านแบบใหม่ก็เน้นให้โปร่งโล่ง เพื่อสุขอนามัยภายในร้าน จากระบบทอนเงินแบบควักในกระปุก เปลี่ยนมาเป็นระบบลิ้นชักเก็บเงิน (Cash Drawer) ที่ช่วยให้การคิดเงิน-ทอนเงิน ง่ายและรวดเร็วขึ้น

พีเจี้ยนทดลองนำสิ่งที่เขาคิดว่าดีมาทำให้ร้านมีระบบเข้าที่เข้าทางขึ้น เพิ่มความแปลกใหม่ แต่ไม่ใช่ทุกอย่างที่ไปได้สวยกับร้านโชห่วยของเขา 

“เราเคยเอาของที่ไม่เหมาะกับชุมชนมาขาย คิดแค่ว่าอยากให้ร้านดี มีครบทุกอย่าง หรือการใช้ถุงกระดาษ ถุง Eco เราว่ามันดี แต่การรักษ์โลกก็มีราคาที่ต้องจ่าย พอต้นทุนสูง มันไปกันไม่ได้ เลยกลายเป็นว่าเราไปทางรักษ์โลกจ๋าไม่ได้ อีกอย่างถ้าใส่ของแบบนี้ แล้วลูกค้าขับมอไซค์มาจะกลับได้ไหม ถุงแบบนี้ควรให้ลูกค้าที่ขับรถยนต์เหมือนเมืองนอก เราก็ต้องกลับมาบาลานซ์ใหม่

“เช่นเดียวกัน เราไม่เอาเนื้อหมูสดๆ ไปแพ็กขายเหมือนห้าง ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยลอง แต่ลองแล้วขายไม่ได้ เอาไปแพ็ก เอาไปสไลด์ เขาก็มาซื้อเนื้อหมูสดแบบที่เอามีดปาดที่ตลาดเหมือนเดิม”

‘อีหล่า มาร์เก็ต’ โชห่วยยุคใหม่ของทายาทรุ่นสอง ปรับโฉมร้านเพิงของยายให้ได้มาตรฐาน แต่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม

ก่อนกลับมารับช่วงต่อ ทั้งคุณแม่และลูกชายเห็นพ้องตรงกันว่า ทำร้านเป็นของตัวเองขึ้นมา สร้างแบรนด์ของตัวเองดีกว่าการซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ 

“ทีเแรกเขาชวนทำร้านสะดวกซื้อแบบแฟรนไชส์ หาอะไรทำที่เกี่ยวกับการขายของ เรามองว่าชุมชนไม่ต้องมากินของเวฟ สุดท้ายก็ไม่ตอบโจทย์เรา และยังไม่ตอบโจทย์ชุมชนอีก เลยคิดว่าทำร้านที่เหมือนอีหล่าในทุกวันนี้น่าจะตอบโจทย์มากกว่า”

อีหล่า มาร์เก็ต ทำความเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคของชุมชน จึงยึดคอนเซปต์เดิมเรื่อยมา ตั้งแต่วันแรกที่ขายจนถึงทุกวันนี้

 ‘ขายของตลาดสด แต่อยู่ในห้องแอร์ ระบบต้องเหมือนห้าง แต่การขายต้องเหมือนเดิม’

‘อีหล่า มาร์เก็ต’ โชห่วยยุคใหม่ของทายาทรุ่นสอง ปรับโฉมร้านเพิงของยายให้ได้มาตรฐาน แต่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม
‘อีหล่า มาร์เก็ต’ โชห่วยยุคใหม่ของทายาทรุ่นสอง ปรับโฉมร้านเพิงของยายให้ได้มาตรฐาน แต่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม

ไว้ใจได้

ในวันที่ร้านค้า ร้านโชห่วย ปรากฏอยู่ทุกซอกทุกมุม ห้างร้านขนาดใหญ่เริ่มขยายเข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น คนมีทางเลือกในการจับจ่ายใช้สอยและมีตัวเลือกใหม่ๆ สิ่งที่พีเจี้ยนทำเพื่อรักษาฐานลูกค้าให้กับร้าน คือการสร้างความเชื่อใจ 

“เราให้ความสำคัญกับความรู้สึกมากกว่าสินค้าและคุณภาพ อย่างที่บอกว่าเราขายความเชื่อใจ สินค้ากับคุณภาพมันซื้อที่ไหนก็ได้ แต่ความรู้สึกดีๆ ให้กันไม่ได้ทุกที่

“เราซื่อสัตย์ทั้งทางคำพูดและการกระทำ ของที่เอามา เอามาจากไหน เราก็ไม่ได้บ่ายเบี่ยง เราขายความเชื่อใจ เคยได้ยินคำว่าย้อมแมวขาย แต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในร้านเราเลย เราค่อนข้างซีเรียส แค่ผักเหลืองเราก็ไม่อยากขายแล้ว 

“จริงอยู่ที่ทุกวันนี้ร้านค้าเยอะ อย่างที่บอกเราโตมากับโชห่วย ความเป็นโชห่วยมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว คนนี้ซื้อร้านนี้ เขาก็จะซื้อร้านนี้ตลอด ลูกค้าประจำที่ซื้อน้ำแข็งห้าบาท ก็ซื้อน้ำแข็งห้าบาททุกวัน เลยกลายเป็นว่า เรายังรั้งลูกค้าประจำไว้ได้”

เมื่อร้านซื่อสัตย์ ลูกค้าจึงแวะเวียนกลับมาใช้บริการ เกิดการบอกต่อ ทำให้ร้านรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ได้ ร้านได้ลูกค้า ลูกค้าได้ความสบายใจ ผลคือได้ทั้งสองฝ่าย เกิดเป็นการซื้อขายที่มีความสุข

“บางทีเขาใช้ลูกมาซื้อ ลูกหยิบถั่วงอกไม่ดีมา เรายังไม่ได้เช็กของคัดของออก เราบอกว่าไม่ต้องเอาหรอก แต่มันเหลือห่อเดียวแม่ใช้มาซื้อ งั้นเราไม่เอาเงินนะถุงนี้ แต่บอกแม่ด้วยว่าเราไม่คิดตังค์ เราดูของทุกอย่างที่เขาถือมาว่ามันอยู่ในสภาพที่ถูกต้อง โอเคไหม ของชำรุดไหม เราเช็กให้เขาตลอด ไม่ได้สักแต่คิดเงินแล้วก็แค่คิดไป”

‘อีหล่า มาร์เก็ต’ โชห่วยยุคใหม่ของทายาทรุ่นสอง ปรับโฉมร้านเพิงของยายให้ได้มาตรฐาน แต่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม

เคียงข้างชุมชน

อีหล่า มาร์เก็ต คือร้านค้าในชุมชน ก่อตั้งโดยลูกหลานในชุมชน เพื่อคนในชุมชน นอกจากบริการสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนแล้ว ยังช่วยเหลือและดูแลชุมชนไปพร้อมๆ กัน

“เราอุดหนุนผักสวนครัว ตาๆ ยายๆ ปลูกข้างบ้าน เขาก็เอามาขายเรา มีกล้วยอยู่ข้างบ้านตัดมาขายให้เรา เรารับซื้อตลอด 

“ลูกค้าหลักของเราคือคนในชุมชน ซึ่งส่วนมากคนที่มาซื้อของเรารู้จักมักคุ้น รู้หน้าเกือบแปดสิบเปอร์เซ็นต์ สิ่งไหนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ เราทำอยู่ประจำ ลูกค้าประจำจัดงานศพแล้วเขามาซื้อของ เราจะฝากของไปทำบุญกับเขาตลอด สมมติเขาซื้อเนื้อหมูกับเราสองกิโล เราจะแถมเขาไปสองถึงสามกิโล เราทำบุญด้วยนะ ถ้าขึ้นบ้านใหม่เราก็จะฝากไปทำบุญด้วย” 

ที่นี่นอกจากการเป็นร้านโชห่วยของคนในชุมชน ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ธุรกิจ โดยเปิดพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ เข้ามาเรียนรู้การทำธุรกิจค้าขายและการขายสินค้าเกษตร ให้กับน้องๆ ตั้งแต่นักเรียนชั้นอนุบาลไปจนถึงนักศึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของกลุ่ม OTOP ของตำบลอีกด้วย 

และในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้ อีหล่า มาร์เก็ต เป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยเหลือคนในชุมชน ด้วยการร่วมบริจาควัตถุดิบในร้าน อาทิ หมูสด ร่วมกับร้านอาหารในชุมชน เพื่อทำอาหารกล่องช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ บริจาคสิ่งของที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลสนาม เพื่อช่วยให้ชุมชนผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน 

‘อีหล่า มาร์เก็ต’ โชห่วยยุคใหม่ของทายาทรุ่นสอง ปรับโฉมร้านเพิงของยายให้ได้มาตรฐาน แต่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม
‘อีหล่า มาร์เก็ต’ โชห่วยยุคใหม่ของทายาทรุ่นสอง ปรับโฉมร้านเพิงของยายให้ได้มาตรฐาน แต่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม

ความบ้า

อีหล่า มาร์เก็ต เปิดขายมาแล้วกว่า 5 ปี มีลูกค้าแวะเวียนมาอุดหนุนเสมอ และบางคนถึงกับตั้งใจมาขอคำแนะนำเรื่องการทำธุรกิจ เจ้าของร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์กว่า 4 สาขาก็เคยมาพูดคุยถึงแนวคิดในการทำร้านมาแล้ว

“คนสนใจในความบ้ามากกว่า ทำไมต้องทำร้านแบบนี้ ไม่ต้องคนอื่นหรอก แค่พ่อเรายังงงว่าทำไมต้องทำร้านขนาดนี้ แค่ร้านขายของเอง แต่มันต่อยอดได้ ตกแต่งได้ สวยได้ คนที่สนใจอาจยังไม่รู้ ไม่กล้า หรือไม่แน่ใจว่าจะเริ่มยังไงมากกว่า เราเป็น Case Study ของคนตัวเล็ก สิ่งที่เราทำมันการันตีได้ว่า คนธรรมดาก็เริ่มทำได้”

สิ่งที่คนมักเข้ามาถามเป็นเรื่องภายนอก การตกแต่ง การจัดวาง ชื่นชมในความน่าทึ่งของโชห่วยที่เริ่มโดยคนตัวเล็ก สร้างขึ้นด้วยความตั้งใจ แม้ไม่ใหญ่โตเหมือนห้างแต่ทุกอย่างเริ่มด้วยใจ และอยู่ได้เพราะคนทำมีความสุข

“ส่วนมากจะถามว่าต้องเริ่มยังไง มันไม่ได้เริ่มยากอะไร เราก็ขายของธรรมดานี่แหละ สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะบอกคือ การทำร้าน ทำให้มันดีๆ ไปเลย ทำให้คนขายประทับใจ พอคนขายประทับใจ คนซื้อเขาจะรับรู้ได้ว่าเรารังสรรค์สิ่งนี้ สร้างสรรค์สิ่งนี้สำหรับลูกค้า เขาจะเห็นความตั้งใจเอง”

ในอนาคตอันใกล้ เมื่อถึงจุดที่ทั้งเขาและร้านมีความพร้อม พีเจี้ยนยังมองไปถึงการขยับขยายกิจการ ต่อเติมร้านให้กว้างขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งคอนเซปต์และบริการที่ดีเช่นเดิม

“ที่คิดไว้ก็คือ ในเร็วๆ นี้จะมีสาขาในรูปแบบหนึ่ง หน้าตาอีกแบบหนึ่ง ไซส์เล็กลงแต่ยังคงคอนเซปต์เดิม ขายของประมาณนี้ คุณภาพประมาณนี้ อาจจะเลือกของที่ขายดีของร้านนี้ไปขาย ตัั้งเป็นช็อปหรือ Pop-up Store ขึ้นมา”

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่คือความตั้งใจ

พีเจี้ยนพูดถึงความภูมิใจหลังจากเข้ามารับช่วงต่ออย่างเต็มตัว เมื่อได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตัวเขาเริ่มผูกพัน และอยากเห็นกิจการที่ตัวเองลงมือลงแรงร่วมกับครอบครัวเติบโตไปเรื่อยๆ 

“เราทุ่มเทให้ตรงนี้มากตั้งแต่ยังไม่สร้าง ตอนก่อสร้างเราก็มาดูทุกวันกับช่าง ทุ่มพลังงานชีวิตให้กับตรงนี้ไปเยอะแล้ว เลยกลายเป็นว่าเราไม่เหลือแรงให้ไปที่อื่น ถึงตรงนี้ขาดทุนเราก็ต้องสู้

“อีกเหตุผลหนึ่ง คือทำแล้วมีคนสนใจ ลูกค้าสนใจ คนนอกพื้นที่สนใจ ว่าสิ่งที่เราทำเป็นมิติใหม่ๆ ทำให้ใจชื้นว่าที่ทำไปไม่เสียเปล่านะ เราทำแล้วมันสร้างแรงบันดาลใจให้ใครบางคน รู้สึกว่ามีคุณค่ากับเราและคนอื่น”

ในฐานะผู้ประกอบการและคนในชุมชน พีเจี้ยนเชื่อว่าร้านโชห่วยของเขาจะไปต่อได้ และอยู่คู่กับชุมชนได้ หากยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานและความตั้งใจดี จึงตั้งใจฟูมฟัก อีหล่า มาร์เก็ต ให้เป็นมากกว่าโชห่วย แต่เป็นพื้นที่ของทุกคนในชุมชน

‘อีหล่า มาร์เก็ต’ โชห่วยยุคใหม่ของทายาทรุ่นสอง ปรับโฉมร้านเพิงของยายให้ได้มาตรฐาน แต่เป็นมิตรกับชุมชนเหมือนเดิม

Writer

Avatar

แคทรียา มาลาศรี

คนทักผิดตลอดชีวิตว่าเป็นนักร้องดัง รักการกินผักและรักเนื้อพอๆ กับผัก เกิดที่อีสาน เรียนที่ภาคกลางและหลงทางที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

รักอิสระ มุกดาม่วง

เป็นคนจังหวัดอุดรธานี-ถิ่นภาคอีสาน โดยกำเนิด รักอิสระเคยดร็อปเรียนตอนมัธยมแล้วไปเป็นเด็กล้างจานที่ร้านอาหารไทยในอเมริกา 1 ปี ชอบเดินทางท่องเที่ยว ถ่ายรูป และสนใจภาพเชิงสารคดีเป็นพิเศษ