สิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทำให้เราเชื่อขึ้นมาว่า ผ้าไทยก็เป็นของโมเดิร์นได้

เสื้อผ้าเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘กลีบใบ เฮือไฟ สายน้ำ’ คอลเลกชันที่นำผ้าไทยสวยๆ มาออกแบบเป็นสากลจนขับความสวยให้โดดเด่นขึ้นอีก

ยิ่งดูไปๆ เราก็ยิ่งสงสัยว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือใคร และมีวิธีคิดอะไรในการก่อร่างสร้างคอลเลกชันนี้ขึ้นมา เราตามรอยผ้าไปจนเจอเจ้าของแบรนด์ Nadyn Jadyn นั่นคือ อ้อ-ณัฏฐิญาณ์ สุขสถาน สาวเปรี้ยวไฟแรงผู้ทำงานในบริษัทภูมิสถาปัตยกรรมควบคู่ไปกับการบินเดี่ยวทำแบรนด์แฟชั่น เธอยิ้มรับเราท่ามกลางสวนของบ้านเพื่อนที่เธอเป็นคนจัดให้ ข้างกายมีสุนัขบีเกิลใจดีแต่ขี้อายตัวหนึ่ง

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

เมื่อได้นั่งลงคุยกัน อ้อรีบดักคอบอกเราว่า วิธีการคิดของเธอกลับด้านกับผู้อื่น นั่นคือเธอจะตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ด้วยสัญชาตญาณก่อน แล้วค่อยมานั่งทำความเข้าใจทีหลังถึงสาเหตุการตัดสินใจ บทสนทนาในวันนี้จึงเป็นการร่วมถอดรหัสความคิดไปพร้อมกับเธอ ว่าเพราะเหตุอันใดธุรกิจเธอถึงได้ดำเนินมาในทิศทางนี้

ชื่อแบรนด์ Nadyn Jadyn อาจฟังดูไฮโซ แต่แท้จริงมาจากคำว่า นา ดิน และ Jardin ที่แปลว่า สวน ในภาษาฝรั่งเศส แค่ชื่อก็มีความย้อนแย้งในตัวเองแล้ว

ระหว่างการสนทนาเราก็ได้พบว่า ธุรกิจของเธอช่างเต็มไปด้วยคู่ตรงข้าม ดูเผินๆ แล้วต่างกันสุดขั้ว แต่กลับอยู่ด้วยกันได้อย่างลงตัว เราจึงขอหยิบยกบางคู่ที่เราว่าน่าสนใจมาเล่าต่อให้ฟัง

เผื่อจะช่วยให้เข้าใจว่าธุรกิจที่เกิดจากความขัดแย้งอย่างลงตัว เป็นไปได้อย่างไร

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

ภูมิสถาปัตยกรรม-การออกแบบแฟชั่น

อ้อเป็นทั้งภูมิสถาปนิกและนักออกแบบแฟชั่น ถึงจะดูเป็นสองเรื่องที่ต่างกันมาก แต่อ้อมองว่างานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมกับงานออกแบบแฟชั่นมีจุดเหมือนกันอยู่ตรงที่ ‘ทำให้คนที่อยู่ข้างในมีความสุข’ ไม่ว่าจะเป็นอยู่ท่ามกลางการวางผังและการทำสวนสวยๆ หรืออยู่ในเสื้อผ้าที่ใส่สบายและช่วยให้มั่นใจก็ตาม หากอยากทำให้คนมีความสุข ทำไมจะทำสองอย่างนี้ไปพร้อมกันไม่ได้

เหตุผล 2 ข้อที่ทำให้อ้อเปิดธุรกิจของตัวเอง แม้ทำงานบริษัทภูมิสถาปัตยกรรมอย่างเดียวก็หนักอยู่แล้ว หนึ่ง เป็นเพราะว่าเธออยากทำอะไรที่ตัวเองเป็นเจ้าของ ควบคุมได้เองทั้งหมด ส่วนสองคือ แฟชั่นสร้างจุดสนใจได้ดีกว่า ความโดดเด่นจะช่วยให้คนหันมาสนใจประเด็นที่เธออยากสื่อสารได้มากขึ้น

“เราอยากใช้แฟชั่นที่โดดเด่น เป็นตัวดึงความสนใจคนมาหาธรรมชาติที่เงียบ”

เมื่อเรามองเห็นสายตาที่เธอมองเสื้อผ้าคอลเลกชันล่าสุดของตัวเอง และสายตาที่เธอมองไปยังสวนรอบบ้านที่เธอจัดเอง ก็พอเข้าใจถึงความรักในงานทั้งสองของผู้หญิงคนนี้

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

ธรรมชาติไทย-กระแสสากล

เป้าหมายของเธอคือการทำสิ่งที่มีค่าต่อธรรมชาติใช่ไหม

เธอพยักหน้าตอบ ก่อนเล่าว่า ครอบครัวปลูกฝังให้เธอเป็นคนใส่ใจธรรมชาติมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว หนึ่งในสาเหตุที่เธอเลือกเรียนและทำงานด้านภูมิสถาปัตยกรรม ก็เพราะความชอบในธรรมชาตินี่เอง

“พอมาทำแบรนด์แฟชั่น เราคิดว่าทำไมคนที่รักธรรมชาติจะแต่งตัวจัดไม่ได้ เราจะเห็นแต่คนรักธรรมชาติแต่งม่อฮ่อม ใส่เสื้อผ้าที่ตัดง่ายๆ สีเรียบๆ เลยอยากจะลองหาวิธีให้คนแต่งเวอร์ๆ แฟชั่นวีก โดยที่ยังรักธรรมชาติได้”

ความรักธรรมชาติของอ้ออยู่ในการใส่ใจที่มาของผ้าให้ลึกไปถึงกระบวนการผลิต ความสำคัญคือผู้ซื้อควรรู้ว่าเสื้อผ้าทุกชิ้นผลิตที่ไหน โดยใคร ประจวบเหมาะกับการติดต่อเข้ามาของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผ้าไทยจำนวนหนึ่งรอให้นำไปใช้งาน

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

ผ้าเหล่านี้มาจากปรมาจารย์ในภาคอีสาน จากนครพนม สกลนคร มุกดาหาร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ถึงสุรินทร์ รวมทั้งหมด 20 บ้าน คัดเลือกภายใต้เงื่อนไขว่าผ้าทั้งหมดจะต้องทอมือและย้อมโดยสีธรรมชาติ 100% เพื่อโปรโมตเรื่องสิ่งแวดล้อม และเสนอภาพใหม่ให้คนในวงการแฟชั่นได้เห็นว่าผ้าไทยไม่จำเป็นต้องเชย

“พอได้ผ้าไทยมาก็ตรงกับที่เราต้องการเลย เพราะผ้าไทยมันรักธรรมชาติ ต่อให้ทิ้งสีย้อมผ้าลงน้ำก็ได้เลย ทุกขั้นตอนกระบวนการก็สะอาดหมด แต่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านขายผ้าไม่ได้เพราะต้นทุนมันแพง เราเลยอยากเป็นอีกแรงหนึ่งที่ผลักดันทางอ้อมด้วยการหาตลาดและออกแบบให้” อ้ออธิบาย

ข้อดีของผ้าที่ตั้งใจผลิตด้วยมือและธรรมชาติ คือจะได้สินค้าคุณภาพ ที่ไม่ค่อยยับ ดูแลง่าย คงทนสภาพนาน แถมยังดูสวยไม่เหมือนใคร ทำให้ไม่ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยๆ สอดคล้องกับเรื่องความใส่ใจธรรมชาติไปอีกต่อหนึ่ง

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

Geometric-Organic

แรงบันดาลใจที่แบรนด์ Nadyn Jadyn ได้จากความรู้ด้านสถาปัตยกรรมของอ้อ คือความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเรขาคณิต (Geometric) และความเป็นธรรมชาติ (Organic)

ในงานภูมิสถาปัตยกรรมของเธอ อาคารที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสวนสร้างภาพขัดแย้งกัน เพราะอาคารเป็นรูปทรงเรขาคณิต มีเหลี่ยมมุมและเส้นตรงเส้นโค้งชัดเจน ตัดกับเหล่าแมกไม้สีเขียวชอุ่มที่งอกเงยอย่างเป็นอิสระ ไม่มีรูปทรงชัดเจนแน่นอน

“ฟอร์มของอาคารที่ตัดกับฟอร์มของใบไม้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน สิ่งที่เรียบจะทำให้เราเห็นธรรมชาติเด่นขึ้น และธรรมชาติก็จะทำให้เราเห็นความเรียบเด่นขึ้นเหมือนกัน”

เธออธิบายการนำคู่ตรงข้ามนี้มาใช้กับการออกแบบเสื้อผ้า

“โจทย์ของผ้าไทยทุกอันที่มา คือลุคมันดูหนัก ใส่แล้วจะดูเชยได้ง่าย เราเลยเอามาจับกับฟอร์มที่มินิมอลเพื่อให้ดูโมเดิร์นขึ้น แล้วก็ให้รายละเอียดอยู่ที่เนื้อผ้าแทน รวมถึงจับคู่กับสิ่งที่เบา เช่นฝ้าย ให้มันตัดทอนกัน เกิดความแตกต่าง”

รูปทรงเสื้อผ้าเรียบๆ เค้าโครงไม่ซับซ้อน แต่ในขณะเดียวกันก็มีรายละเอียดสอดแซมไว้ให้ไม่น่าเบื่อ แม้จะมีรูปทรง แต่ก็เป็นอิสระด้วย นี่เองคือคู่ตรงข้ามที่ก่อให้เกิดความงดงามในคอลเลกชันกลีบใบ เฮือไฟ สายน้ำ

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย Nadyn Jadyn, ผ้าไทย Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

ความเร็ว-ความช้า

แฟชั่นเป็นของมาไวไปเร็ว รู้ตัวอีกทีก็เปลี่ยนคอลเลกชันใหม่แล้ว ในขณะที่ผ้าทอมือไทยเป็นของช้ามากๆ กว่าจะได้ออกมาสักผืนหนึ่งบางทีต้องใช้เวลาเป็นเดือน หากนับรวมช่วงเวลารอวัตถุดิบเติบโตด้วยก็คงร่วมปี

อ้อมองคู่ตรงข้ามนี้ว่าจะช่วยเหลือกันมากกว่าขัดแย้ง เธออยากให้ผ้าไทยช่วยดึงความเร็วของแฟชั่นให้ช้าลง

“แฟชั่นของโลกสมัยก่อนมันไม่ใช่อย่างนี้ เดี๋ยวนี้มันเร็วเพราะคนอยากให้มันเร็ว พอเราขี้เบื่อ วงการเสื้อผ้าก็มาตอบโจทย์ตรงนี้ เลยทำให้เกิดปัญหาขยะจำนวนมากที่ไม่มีใครรับผิดชอบ เราเลยอยากจะค่อยๆ ปลูกฝังความช้าในชีวิตให้ผู้คนทีละนิด”

แนวคิดนี้ของเธอสะท้อนออกมาในวิธีการตั้งชื่อคอลเลกชันที่ออกมาช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยทั่วไปตามงานแฟชั่นวีกจะเรียกว่าคอลเลกชันนี้เป็นของปี 2019 แต่เธอกลับมองว่ายังต้องเรียกว่า 2018 เพราะผ้าไทยเป็นผ้าที่ขึ้นอยู่กับธรรมชาติมาก สีที่ใช้ย้อมจะเป็นเฉดไหน ต้องขึ้นอยู่กับน้ำ ดิน และแดด ในปีนั้นๆ ดังนั้น ผ้าผืนนั้นจึงเป็นผลผลิตของปีนั้นๆ ไม่ใช่ของปีถัดไป

นอกจากนั้น เธอยังทำวิดีโอเล่าเรื่องที่มาของผ้าแต่ละผืน เพื่อนำเสนอความสวยงามอันเชื่องช้าของธรรมชาติและชุมชน เป็นลิงก์ QR Code ผูกติดกับเสื้อผ้าแต่ละตัว ด้วยความหวังว่าคนที่ได้ดูจะเข้าใจว่าความช้าดีงามอย่างไร

https://www.youtube.com/watch?v=t6gULzoyHEo

ส่วนทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ก็ช่วยแก้ปัญหาโดยเน้นปัญหาเดียว คือเวลานักออกแบบจะเลือกซื้อผ้า เฉดสีของผ้าเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผ้าไทยกลับมีเฉดสีไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบสำหรับย้อมในรอบนั้นๆ กระทรวงฯ จึงทำแอพ Color ID labelling คือนำผ้าไทยมาลงทะเบียนเป็นเฉดสีที่ชัดเจนแน่นอน รวมถึงบอกที่มาที่ไปของสีด้วยว่าใช้วัตถุดิบอะไรทำ อ้อหวังว่าแอพนี้จะช่วยให้นักออกแบบเลือกใช้ผ้าไทยได้ง่ายขึ้น เพื่อพาความช้ากลับมาสู่แฟชั่นอีกครั้ง

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย Nadyn Jadyn, ผ้าไทย Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

ตัวเอง-ผู้อื่น

ดูเผินๆ แล้ว อาจเหมือนว่า Nadyn Jadyn เป็นแบรนด์ของคนคนเดียว เพราะอ้อทำทุกอย่างตั้งแต่เลือกผ้า ออกแบบ ประสานงาน จนถึงออกกองถ่ายภาพ แต่เธอไม่คิดเช่นนั้น อ้อมองว่ามีคนอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์

“ที่จริงแล้ว เรามีชื่อเต็มว่า Nadyn Jadyn Artisans คือตั้งใจรวมศิลปินหลายคนไว้ด้วยกัน เราอยากให้แบรนด์เรามีเวทีให้ศิลปินคนอื่นด้วย ผลิตภัณฑ์ของเราหลายชิ้นก็ร่วมมือกับศิลปินคนอื่นๆ อย่างเช่นผ้าทอพวกนี้ กลุ่มทอผ้าต่างๆ ก็นับว่าเป็นศิลปินคนอื่นเหมือนกัน”

อ้ออธิบายเพิ่มเติมว่า ผ้าแต่ละผืน เธออาจขอหรือกำหนดลวดลายไปได้บางส่วน แต่สุดท้ายแล้วงานที่ออกมาก็คือผลงานการสร้างสรรค์ออกแบบของคุณลุง คุณป้า ศิลปินที่เป็นผู้ผลิตผ้าออกมา

ต่อจากนี้ อ้อวางแผนว่าอยากร่วมงานกับศิลปินในประเภทอื่นๆ ต่อไปมากกว่านี้อีก อาจจะเป็นช่างเป่าแก้ว ช่างทำเฟอร์นิเจอร์ หรือของแต่งบ้าน เธอยังเปิดรับความเป็นไปได้อยู่ ขอแค่ที่สำคัญคือให้แบรนด์ของเธอสร้างสิ่งดีๆ ให้เพื่อนพ้องในวงการ ผู้ใส่ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จะมากหรือจะน้อยก็ดีทั้งนั้น

แม้จะดูเหมือนเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง แต่หลังจากการสนทนากึ่งถอดรหัสของเราจบลง ก็พบว่าหากในความย้อนแย้งนั้นมีเหตุผลอยู่ ก็อาจกลายเป็นความกลมกลืนได้

ธุรกิจไม่ได้ต้องมีแก่นเดียวเสมอไป การรู้ใจตัวเองอย่างชัดเจนต่างหากที่สำคัญ

Nadyn Jadyn, ผ้าไทย

ขอบคุณสถานที่ Caramel Studio

Her Rules

1 เวลาทำอะไรต้องคอยนึกถึงสิ่งอื่นๆ อยู่ตลอด ทั้งนึกถึงผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ว่าจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากสิ่งที่เราทำ

2 อย่าติดอยู่แค่ในกรอบของสาขาวิชาที่ตัวเองถนัด ให้ลองทำ ลองเข้าใจ ศาสตร์อื่นๆ ด้วยว่ามีคุณค่า มีสเน่ห์ อย่างไร

3 การเลี้ยงสัตว์จะช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นง่ายขึ้น และบางทีก็เป็นตัวช่วยหาความคิดใหม่ๆ ด้วย

 

Website : www.nadynjadyn.com

Facebook : nadyn jadyn

instagram : @_nadyn_jadyn_

หากอยากลองจับสินค้าจริง ติดต่อเข้าไปที่ LINE @nadyn_jadyn ได้เลย

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล