คุณโครงกระดูกยืนรับแขกอยู่หน้าห้อง ที่แขนข้างขวาและไหปลาร้าซ้ายมีไทเทเนียมสีเงินทำเป็นรูปทรงกระดูกปลอมและที่ดามกระดูกเสียบแทรกอยู่ ดูๆ ไปแล้วก็เท่ไม่เบา

ชิ้นส่วนสุดคูลเหล่านี้คือผลงานของ Meticuly ธุรกิจทำเครื่องมือแพทย์ขนาดเล็กที่มีค่ากว่าตาเห็นมากนัก

Meticuly, กระดูกเทียม Meticuly, กระดูกเทียม

แนวคิดเรื่องกระดูกเทียมก่อกำเนิดขึ้นในแล็บ 3D Printing ของ ผศ. ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน อาจารย์ภาควิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อมีแพทย์ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือจากแล็บมากขึ้น ทำให้เขาเล็งเห็นโจทย์ใหม่ทางวิศวกรรม ก่อนต่อยอดไปเป็นช่องว่างทางธุรกิจ และทำให้เกิดบริษัท Meticuly ขึ้นมา

แม้จะเปิดมาได้เพียงปีเดียว แต่กระดูกเทียมจากไทเทเนียม เหล็กสำหรับดามกระดูก และเครื่องมือช่วยผ่าตัด ที่ทีมผลิตออกมา ก็ช่วยเหลือให้แพทย์ทำงานสะดวกขึ้น และคนไข้มีชีวิตดีขึ้นได้มาแล้วกว่า 50 เคส รวมถึงภายในปลายปีนี้ พวกเขายังวางแผนที่จะบริจาคกระดูกเทียม 100 ชิ้นให้ผู้ป่วยทั่วประเทศได้ใช้ฟรีอีกด้วย

Meticuly, กระดูกเทียม

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าโลกของธุรกิจเครื่องมือแพทย์เป็นอย่างไร เราเลยขอเข้ามาคุยกับผู้คนในบริษัทเล็กๆ แห่งนี้ คนที่ ดร.บุญรัตน์ ส่งมาเป็นตัวแทนในการพูดคุยคือ บูม-เตชวิทย์ หิริสัจจะ Project Manager และ มิก-อิทธิกร ชิณกธรรม Production Engineer ของทีม การสนทนากับทั้งคู่พาเราไปเห็นทั้งความยาก ความสนุก และคุณค่าของธุรกิจประเภทนี้ จนอยากมาเล่าต่อให้ทุกคนได้ฟัง

Meticuly, กระดูกเทียม

ไม่ใช่แค่สินค้า แต่คือบริการ

แม้ดูเผินๆ Meticuly จะคล้ายเป็นธุรกิจจำหน่ายกระดูกเทียมและเครื่องมือทางการแพทย์ แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่พวกเขาทำนั้นยิ่งใหญ่กว่าแค่สินค้าที่มองเห็นเป็นชิ้นๆ มากนัก

การซ่อมแซมผ่าตัดให้อวัยวะหนึ่งกลับมาได้เป็นปกติ ไม่ได้ยุ่งกับแค่กระดูก แต่ยังมีเส้นเอ็น เส้นประสาท เส้นเลือด และอีกหลายเส้น การทำแค่กระดูกเทียมอย่างเดียวจึงไม่อาจทำให้การผ่าตัดซ่อมแซมกระดูกง่ายขึ้น หากอยากสร้างธุรกิจที่มีประสิทธิภาพจริง เลยต้องมองให้ครอบคลุมถึงการออกแบบกระบวนการผ่าตัดทั้งกระบวนการด้วย

Meticuly, กระดูกเทียม

“หน้าที่ของเราคือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนกับเครื่องมือ หมอคือลูกค้าที่มีโจทย์อยากให้ออกแบบ เราก็ร่วมออกแบบกับหมอ ช่วยเขียนแบบ และเป็นผู้รับเหมาผลิตให้นั่นแหละ” บูมเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

ในการรักษาคนไข้เคสหนึ่งจะเริ่มต้นที่การปรึกษากันระหว่างแพทย์เจ้าของไข้กับ Meticuly ว่าต้องการการรักษาในรูปแบบใด ก่อนทางบริษัทจะนำ CT Scan ของคนไข้มาขึ้นเป็นรูปสามมิติในคอมพิวเตอร์ แล้วช่วยออกแบบวิธีผ่าตัดไปพร้อมกับแพทย์ เช่น ควรผ่าตรงไหน ผ่ากว้างแค่ไหน เป็นมุมเท่าไร ติดเครื่องมือเข้าไปที่ไหน มีจุดยึดตามกี่จุด ฯลฯ

Meticuly, กระดูกเทียม Meticuly, กระดูกเทียม

ชิ้นผลงานสุดท้ายอาจดูเป็นแค่ก้อนไทเทเนียมเล็กๆ ขนาดเท่าฝ่ามือ และเรซิ่นหน้าตาแปลกๆ สำหรับเป็น Cutting Guide และ Drilling Guide ให้ลงมีด เลื่อย หรือเจาะตามช่อง แต่ทุกชิ้นต่างผ่านการคิดวางแผนมาอย่างดี เพื่อลดความยุ่งยากในการผ่าตัดให้เหลือน้อยที่สุด

การคิดออกแบบกระบวนการผ่าตัดดังกล่าว เป็นเรื่องซับซ้อนที่ต้องการความร่วมมือจากทั้งฝ่ายแพทย์และฝ่ายผลิตผสมกัน กว่าจะได้ออกมาเป็นเคสที่สำเร็จเคสหนึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน แต่หลังจากกระดูกเทียมชิ้นแรกสำเร็จแล้ว หากมีโจทย์ใหม่ๆ ที่คล้ายกัน เช่น กระดูกชิ้นเดิม ต้องผ่าตัดแบบเดิม เวลาในการผลิตเครื่องมือก็จะลดลงเหลือเพียง 2 – 3 วันเท่านั้น

ช่องว่างระหว่างกระดูก

มนุษย์ผู้ใหญ่โดยทั่วไปมีกระดูกประมาณ 200 กว่าชิ้น แต่ละชิ้นมีรูปร่างลักษณะไม่ซ้ำกันเลย บอกแค่นี้ก็น่าจะรู้ว่าธุรกิจเกี่ยวกับกระดูกมนุษย์ จะต้องทั้งซับซ้อนและละเอียดอ่อนแค่ไหน นั่นคือสาเหตุที่ทุกคนใน Meticuly ต้องมุ่งมั่นศึกษาอย่างหนักให้มีองค์ความรู้เพียงพอทำงาน

Meticuly, กระดูกเทียม

ในช่วงแรกของงานคือการพูดคุยกับแพทย์ อ่านวิจัยเกี่ยวกับกระดูกเทียมจากทั่วโลก อ่านหนังสือแพทย์เล่มหนาๆ และแม้แต่เข้าไปสังเกตการณ์ในห้องผ่าตัด “หมอเขาจะมีความรู้เรื่องการผ่าตัดกระดูกอยู่แล้ว เวลาเราคุยกับเขาก็ต้องพยายามจับคีย์เวิร์ด จดมาให้ได้มากที่สุด แล้วค่อยมาแกะทีหลังว่าคำศัพท์เฉพาะนี้แปลว่าอะไร ค่อยๆ ฝึกใช้ภาษาแบบเดียวกับเขา” บูมยกตัวอย่างความยากที่ต้องก้าวข้ามให้เราฟัง

ส่วนขั้นตอนการผลิตกระดูกเทียมก็ยังต้องพัฒนาอยู่ตลอด จากวันแรกที่ใช้วิธีปรินท์แบบจำลองเป็นเรซิน แล้วนำเรซินไปสร้างแม่พิมพ์ปูน แล้วค่อยหล่อไทเทเนียมจากแม่พิมพ์อีกทีหนึ่ง มาวันนี้ จากไฟล์ในคอมพิวเตอร์ ปรินท์ออกมาเป็นกระดูกไทเทเนียมได้โดยตรง แต่ก็ยังต้องขัดเกลากลึงให้เหมาะสมอยู่ดี

Meticuly, กระดูกเทียม Meticuly, กระดูกเทียม

แม้จะต้องทำงานหนัก แต่ผลดีคือ Meticuly จะมั่นใจได้ว่างานที่ทำอยู่ไม่ซ้ำใครแน่นอน “เรามองว่าจุดแข็งของเราไม่ใช่การทำงานชิ้นใหญ่ๆ ไปสู้กับคนอื่น อย่างพวกข้อเข่ากับสะโพก ถ้าทำงานแบบเดียวกัน คงยากกว่าเราจะไปถึงระดับนั้น เราเลยเน้นทำกระดูกชิ้นเล็ก และเป็นส่วนที่ปกติเขาทำไม่ได้ เช่น เหล็กดามไหปลาร้า หลายยี่ห้อจะทำให้ดัดง่าย แต่เราทำให้เข้ารูปกระดูกได้เลยโดยไม่ต้องดัด

“งานเกือบครึ่งหนึ่งของเรา เป็นงานที่หมอบอกว่าน่าจะมีแค่ชิ้นเดียวในโลก เพราะเราเลือกทำสิ่งที่ไม่เหมือนใคร”

เครื่องมือแพทย์ชั้นดีมีมาตรฐาน

ไม่ต้องบอกก็คงจะเดาได้ว่า หนึ่งในเรื่องยากของการทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ คือการทำให้ธุรกิจและผลิตภัณฑ์ผ่านมาตรฐานต่างๆ นับร้อยพัน

แน่นอนว่ามาตรฐานไม่ใช่เรื่องที่จะได้มาแค่ในวันสองวัน บูมซึ่งอยู่กับบริษัทมาตั้งแต่ต้นเล่าประสบการณ์ในช่วงนั้นให้ฟังว่า “ตอนแรกเราไม่รู้อะไรเลย รู้แค่อยากทำให้หมอ สุดท้ายเราเห็นงานของเราทำให้ คนไข้ขยับได้จริง เราก็ดีใจ แต่ความจริงคือ ก่อนจะใช้ได้ คุณหมอต้องคุยกับคณะกรรมการจริยธรรมของโรงพยาบาล ต้องขับรถเอาชิ้นงานไปส่งทดสอบเอง พอเรารู้อย่างนั้น ก็เลยต้องทำทุกวิถีทางให้งานคุณหมอง่ายขึ้น

Meticuly, กระดูกเทียม

“เราขับรถไปคุยกับทุกที่ ทั้ง อย. สมอ. NIA เพื่อเก็บความรู้ แต่ละที่จะรู้แต่ละส่วนต่างกัน เวลาเข้าไปในตึกจะเจอโต๊ะเรียงเต็มไปหมด แต่ละโต๊ะมีหนังสือกองๆ เราก็ต้องไปหาว่าจะคุยเรื่องนี้กับใครได้ เดินวนไปสามสี่ชั้น กว่าจะเจอคนที่ใช่ แล้วให้เขานั่งคุยให้ฟัง ทำแบบนี้อยู่เป็นปี นี่ยังไม่นับมาตรฐานระดับสากลนะ แล้วเราจะขายต่างประเทศด้วย ก็ต้องทำเพิ่มอีก ใช้ทั้งเงินและเวลาอีกเยอะ”

ผลงานเชิงรูปธรรมของการทำตามมาตรฐาน คือห้องผลิตที่อยู่ถัดไปจากห้องทำงานซึ่งเรานั่งคุยกันอยู่ ห้องนั้นไม่อนุญาตให้ย่างกรายเข้าไปโดยไม่ใส่ชุดป้องกันเชื้อโรค เพราะต้องดูแลเรื่องความสะอาดอย่างสูงสุด

ฟังแล้วอาจดูเหมือนเป็นเรื่องน่าเบื่อวุ่นวาย แต่ความจริงคือแม้ไม่มีการกดดันทางกฎหมาย การทำให้ได้ตามมาตรฐานก็ยังสำคัญ อย่าลืมว่าทุกครั้งที่นำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้ นั่นหมายถึงความเป็นความตายของมนุษย์ การผ่านมาตรฐานจึงเป็นตัวช่วยยืนยันว่าปลอดภัยไปในระดับหนึ่ง

กระดูกปลอม แต่ช่วยชีวิตคนได้จริง

ช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา Meticuly ทำกระดูกเทียมช่วยเหลือคนไปได้ 50 กว่าเคส ต้องขอบคุณเครือข่ายแพทย์ศัลยกรรมกระดูกที่ช่วยกันบอกต่อเรื่องงานของพวกเขา จึงยังมีปัญหาประเภทใหม่เข้ามาให้ที่นี่ช่วยแก้อยู่เสมอๆ

สิ่งที่น่าชื่นใจยิ่งกว่าธุรกิจซึ่งดำรงอยู่ได้ คือเสียงตอบรับจากคนไข้โดยตรง ทั้งบูมและมิกเอ่ยยกตัวอย่างเคสต่างๆ ออกมาตลอดการสนทนา พวกเขารู้ดีถึงปัญหาที่คนไข้ต้องเผชิญ เวลาเราคุยกันถึงกระดูกเทียมชิ้นหนึ่ง ภาพที่เห็นจึงไม่ได้เป็นแค่แท่งไทเทเนียม แต่คือชีวิตจริงยิ่งกว่านิยายของคนหนึ่งคน

หนึ่งในเคสที่ฟังแล้วประทับใจที่สุด คืออาจารย์สอนคณิตศาสตร์คนหนึ่งที่เพชรบูรณ์ เขาขึ้นต้นมะม่วงแล้วตกลงมาข้อมือแตก ตอนแรกใส่เฝือกธรรมดา พอเปิดเฝือกมากลับพบว่าเขียนหนังสือไม่ได้ “เขาพยายามยอมรับสภาพ บอกเราว่าไม่เป็นไร แก่แล้วเดี๋ยวก็ตาย แต่เราเชื่อว่าจริงๆ เราทำให้คุณค่าชีวิตเขากลับมาได้ แล้วก็ร่วมหาทางออกแบบการผ่าตัดกับคุณหมอจนทำได้ สุดท้ายเขาก็กลับมาเขียนหนังสือได้เหมือนเดิม” อ.บุญรัตน์เล่า

Meticuly, กระดูกเทียม

นักออกแบบในทีม Meticuly บอกเราว่า กรณีแบบนี้เกิดจากกระดูกที่เชื่อมกันผิดปกติ ทางการแพทย์เรียกว่า Malunion ซึ่งต้องแก้ไขโดยการตัดกระดูกใหม่ แล้วบิดปรับต่อเติมให้ถูกรูปทรง เคสประเภทนี้ถือว่าทำยากที่สุด แต่ถ้าเพื่อคนไข้ ทุกคนก็พร้อมจะทำ

อีกเคสหนึ่งคือการผ่าตัดปิดกะโหลก เนื่องจากรัฐมองว่าการเปิดกะโหลกเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จึงทำให้เบิกได้แทบทั้งหมด ในขณะที่การปิดกะโหลกไม่จำเป็นเท่า จึงแทบเบิกไม่ได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีคนไข้หลายรายที่ต้องใช้ชีวิตโดยมีกะโหลกไม่ครบ รายหนึ่งที่มาถึง Meticuly คือคุณน้าที่เส้นเลือดในสมองแตก เมื่อผ่าตัดจนหายแล้ว กลับไม่มีเงินพอปิดกะโหลก ความไม่ปลอดภัยจากการมีกะโหลกไม่ครบทำให้เธอไม่กล้าออกไปข้างนอก ชีวิตที่เคยได้ส่งลูกไปเรียนหนังสือและไปไหนมาไหนกับสามีจึงขาดหาย

ระหว่างที่พวกเขาเล่าเรื่องการช่วยเหลือคุณป้าจนกลับมามีกะโหลกครบถ้วน ใบหน้าของทั้งคู่เต็มไปด้วยความห่วงใย รอยยิ้ม และความภาคภูมิ ที่ทำให้ครอบครัวธรรมดาๆ กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง

Meticuly, กระดูกเทียม Meticuly, กระดูกเทียม

อยากให้คนไทยได้ใช้ของดี

แม้ไทยจะมีวงการแพทย์คุณภาพเยี่ยมในราคาถูก แต่ยังมีเครื่องมือทางการแพทย์แสนแพงอีกหลายชิ้นที่เราต้องนำเข้า

เราถามทั้งคู่ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และได้รับรู้ความจริงว่าไทยก็ผลิตและส่งออกเครื่องมือทางการแพทย์ไม่น้อยไปกว่าที่อื่นๆ แต่สิ่งที่ผลิตมักเป็นเครื่องมือกลุ่มความเสี่ยงต่ำ เช่น ถุงมือยาง ถุงยาง คอนแทคเลนส์ ฯลฯ ส่วนเครื่องมือกลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น อุปกรณ์ที่ต้องฝังลงไปในร่างกายแบบอวัยวะเทียมยังผลิตได้เองไม่มากเท่าไรนัก

บูมคิดว่าอาจเป็นเพราะไทยให้ความสำคัญกับการผลิตมากกว่าการวิจัยและพัฒนา ต่อให้มีกำลังผลิตมาก หากไม่มีฝ่ายคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ผลิตได้จำกัดอยู่ดี “การทำเครื่องมือแพทย์กลุ่มความเสี่ยงสูงได้เนี่ย ภาคการวิจัยและพัฒนาจะต้องเข้มแข็งมาก บางทีลงทุนไปหลายสิบล้าน ได้ผลิตภัณฑ์มาชิ้นเดียว ถ้าเราทำไม่ได้เท่าบริษัทเมืองนอกที่เร็วกว่า ก็ไม่มีความหมายอะไร”

ข้อดีของ Meticuly คือการมีรากมาจากแล็บที่เต็มไปด้วยนักวิจัย ทำให้อยู่ในระบบนิเวศที่มีมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและต่างประเทศ ช่วยให้งานเข้มแข็งได้มากขึ้น

หนทางต่อจากนี้ของธุรกิจจึงเป็นการมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น โดยพวกเขาตั้งใจว่าจะพยายามทำ Mass Customization นั่นคือการผลิตในปริมาณมากขึ้น เพื่อให้ต้นทุนต่ำลง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นกระดูกที่เข้ากับร่างกายคนไข้เฉพาะราย ซึ่งอาจทำได้โดยการนำ AI เข้ามาช่วยลดเวลาออกแบบไปได้อีก

“ตอนนี้กระดูกเทียมบางชิ้นเบิกได้ไม่ครอบคลุมราคาที่นำเข้ามา การผ่าตัดบางชิ้น แค่ค่ากระดูกที่นำเข้ามาก็เกือบแสนแล้ว เรามีความหวังว่าเราจะผลิตได้เยอะจนคนไทยเบิกจากประกันสังคมได้ เพื่อที่ให้คนไทยได้ใช้ของดีโดยไม่ต้องนำเข้า” บูมบอกด้วยความหวัง

Meticuly, กระดูกเทียม Meticuly, กระดูกเทียม

Rules

  1. การค้นคว้าหาข้อมูลก่อนลงมือทำเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ทั้งการอ่านงานวิจัยและการหาสิทธิบัตร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราไม่ซ้ำกับของใคร ถ้าไม่มองคู่แข่ง เราจะไปต่อไม่ได้
  2. อย่าต่อต้านการทำตามมาตรฐาน ให้มองมาตรฐานเหล่านี้เป็นเพื่อนที่จะช่วยพัฒนาเราให้ดีขึ้น
  3. นำตัวเองเข้าไปศึกษาเรียนรู้โลกของแพทย์ ทั้งคำศัพท์ที่ใช้ เครื่องมือที่มีอยู่ และวิธีการเสนอให้แพทย์รู้ว่ามีงานประเภทนี้อยู่พร้อมให้ใช้งาน
www.meticuly.com
Facebook  |   meticuly  
Facebook ของโครงการบริจาคกระดูกเทียม   |     โครงการกระดูกเทียมและอุปกรณ์ไทเทเนียม 100 ชิ้นเพื่อคนไทย โดย วิศวฯ จุฬา

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ