ถนนนิมมานเหมินท์ในวันที่แดดร้อนเปรี้ยง เรามีนัดกับ จ๊อบ-อัจชนะพงษ์ อัจชนะวราทา และ มิ้น-นัฐพงษ์ ม่วงแนม สองหนุ่มจากเมืองกรุงผู้หอบผ้าผ่อนขึ้นมาตั้งหลักปักฐานที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมความตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ที่ปลอดภัยต่อผู้สวมใส่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

หลังลองผิดลองถูกในการย้อมสีเส้นด้าย จากวัตถุดิบธรรมชาติรอบตัวที่หาในเชียงใหม่อย่างคราม ครั่ง ใบตะเคียน ในที่สุดพวกเขาก็สามารถสร้างโทนสีแบบไทยๆ ที่ทั้งสวยงามและทนทานออกมาได้หลากหลายเฉดสี

‘เส้นด้ายย้อมสีธรรมชาติสวยๆ พวกนี้สามารถพัฒนาเป็นโปรดักต์อะไรได้อีกไหม’ พวกเขาเริ่มตั้งคำถาม

ไม่รีรอที่จะหาคำตอบ ทั้งคู่เหลือบไปเห็นกางเกงยีนส์คู่ใจที่ใส่มานาน แล้วก็ตั้งคำถามที่สองตามมาติดๆ

‘เส้นด้ายย้อมครามธรรมชาติจะถูกทอออกมาเป็นผ้าเดนิม เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นกางเกงยีนส์ได้ไหม’

เรื่องราวต่อไปนี้ คือการค้นหาคำตอบจากทั้งสองคำถามตั้งต้นของสองหนุ่มในการก่อตั้งแบรนด์ DYE DEE แบรนด์ผ้าย้อมสัญชาติไทยที่ผลิตกางเกงยีนส์ด้วยกี่ทอผ้าโบราณและเทคนิคย้อมสีธรรมชาติที่คอยีนส์ต้องรู้จัก

DYE DEE

 

01 ย้อมดี

จุดเริ่มต้นของ DYE DEE เริ่มจากการที่จ๊อบและมิ้นย้ายขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ ทั้งคู่เป็นเพื่อนที่เรียนอินทีเรียดีไซน์ด้วยกันจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แม้จะเป็นเด็กสถาปัตย์ แต่ก็มีใจรักแฟชั่นมาตั้งแต่สมัยเรียน

“เมื่อก่อน เวลานั่งอยู่ใต้ถุนคณะจะมีนักศึกษาแฟชั่นเดินผ่านไปมา เราเห็นทุกวัน บ่อยเข้าก็คิดว่าเสื้อผ้านี่หลากหลายและดูเป็นศาสตร์ที่สนุกดีเหมือนกันนะ เป็นเหมือนอีกโลกที่เราไม่คุ้นเคย” มิ้นเริ่มเล่า

จ๊อบย้ายขึ้นมาอยู่เชียงใหม่ก่อนตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ส่วนมิ้นเพิ่งตามมาสมทบเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี่เอง “ผมรู้สึกว่าเชียงใหม่เป็นที่ๆ ซ่อนอะไรหลายสิ่งหลายอย่างไว้ในเมือง มีทั้งความเก่าแก่ที่คงอยู่และอะไรใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่นี่แล้วสนุก เพราะมีอะไรให้ค้นหาไม่รู้จบ วันธรรมดาผมอยู่ในเมือง พอเสาร์-อาทิตย์ขับรถไปเดี๋ยวเดียวก็อยู่บนดอยอินทนนท์แล้ว” จ๊อบเล่าต่อพร้อมรอยยิ้ม

ก้าวแรกๆ ของ DYE DEE คือการทำผ้ามัดย้อม สเวตเตอร์มัดย้อม ไปขายตามตลาดนัด หลังทำอยู่พักใหญ่ พวกเขาก็พยายามคุมโทนผ้ามัดย้อมที่สีสันฉูดฉาดให้อยู่ในโทนสีสีเดียว และเปลี่ยนมาลองใช้วัตถุดิบที่คนไม่ใช้กัน จ๊อบอธิบายว่า “ปกติเขาย้อมครามสีออกฟ้าน้ำเงินกัน เราก็ลองไปย้อมด้วยมะเกลือให้เป็นสีดำ เราลองผิดลองถูกใช้วัตถุดิบหลายชนิดมาย้อมจนเริ่มมีประสบการณ์

DYE DEE

“ผมสนใจเรื่องสีธรรมชาติ เพราะหลายๆ เฉดสีมันคือไทยโทน ซึ่งเป็นโทนที่ชาวต่างชาติเลียนแบบยากมาก เพราะมันสกัดมาจากพืชพรรณที่ขึ้นในประเทศไทย ช่วงแรกๆ ผมก็หาวัตถุดิบที่คิดว่าจะให้สีแปลกๆ ไปเรื่อย เย็นๆ หลังเลิกงานก็ไปเก็บใบหูกวางบ้าง ไปซื้อสมุนไพรตามกาดหลวงบ้าง มาลองต้มและดูว่ามันให้สีแบบไหน”

ภารกิจเสาะหาวัตถุดิบเพื่อสกัดเป็นสีธรรมชาติของทั้งคู่จึงเริ่มต้นขึ้น โดยใช้เวลาว่างนอกเหนือจากงานประจำ “มันไม่ได้มีแค่เรื่องวัตถุดิบนะ แต่มีหลายองค์ความรู้มากที่เราได้เรียนรู้ ทั้งระยะการติดสี การควบแน่นของสี เราพยายามหาและลองเทคนิคใหม่ๆ หลายอย่างที่มันจะเอามาเล่นกับสีธรรมชาติ”

ทั้งคู่เล่าให้ฟังว่า ช่วงเวลาที่ออกไปค้นหาแหล่งวัตถุดิบหรือไปเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการย้อมสีนั้นแสนสนุกจนแทบห้ามใจไม่อยู่ “มันเหมือนเวลาเราชอบเล่นกีฬาอะไรสักอย่างมากๆ พอมีเวลาว่างปุ๊บ เราก็อยากจะใช้เวลากับมันให้มากที่สุด อยากเก่งขึ้น อยากเชี่ยวชาญขึ้น เหนื่อยแต่ท้าทาย ช่วงแรกๆ หนักหน่วงมากครับ เพราะเรายังทดลองอยู่ ผลลัพธ์คาดเดาไม่ได้เลย บางวันเสร็จดึกๆ มา วันต่อมายังต้องไปทำงานประจำอีก เรื่องการแบ่งเวลาในแต่ละขั้นตอนของการย้อมจึงเป็นอีกอย่างที่เราได้เรียนรู้ด้วย” มิ้นเล่ายิ้มๆ

เทคนิคการย้อมที่ DYE DEE ใช้มีทั้งย้อมสีเส้นด้ายที่ปั่นออกมาแล้วและย้อมสีตั้งแต่เป็นดอกฝ้าย ทั้งสองวิธีเป็นการย้อมธรรมชาติโดยไม่ใช้สารเคมีเลย

สีน้ำเงินเข้ม ย้อมด้วยคราม

สีชมพูอมม่วง ย้อมด้วยครั่ง

สีเขียว เกิดจากการผสมสีกันของครามและครั่ง

สีเหลือง ย้อมด้วยใบตะเคียน

DYE DEE

มิ้นอธิบายเสริมว่า “ด้ายที่เหมาะกับการย้อมสีธรรมชาติต้องเป็นฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฝ้ายที่มีการผสมเส้นใยชนิดอื่นจะติดสีที่สกัดจากธรรมชาติได้ไม่ดีเท่า ที่สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ตรงนั้นเป็นจุดที่น้ำทะเลแย่ที่สุดในประเทศ เพราะว่าเป็นแหล่งโรงงานฟอกยีนส์ที่เขาปล่อยน้ำเสียอยู่แล้ว        

“แต่ของเราทั้งกระบวนการไม่มีสิ่งที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมเลย แล้วก็ยังส่งเสริมให้คนกลับมาปลูกคราม จากหมู่บ้านที่เขาไม่ปลูกกันแล้ว หรือตามหมู่บ้านที่เขามีกี่ทอผ้าเก่าๆ เก็บทิ้งไว้ เขาก็เขารื้อมาทำใหม่ เพราะเราคิดว่าสักวันหนึ่งถ้าออร์เดอร์หรือการเติบโตมีมากขึ้น การที่เราจะจ้างพวกเขาก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เหมือนเป็นการอนุรักษ์ไปในตัว”

 

02 ทอดี

จ๊อบเล่าต่อว่า “เราเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเราชอบการเสาะหาวัตถุดิบย้อมสีธรรมชาติ แต่การย้อมแบบนี้มันสามารถนำไปแปรรูปหรือผลิตเป็นโปรดักต์อื่นๆ ได้อีกไหม หันมาเจอกางเกงยีนส์ที่ใส่อยู่ทุกวัน เราก็ตั้งคำถามเลยว่าเส้นด้ายที่ย้อมสีธรรมชาติอย่างครามจะสามารถนำมาทอเป็นเดนิมได้ไหม”

ทั้งคู่ทำรีเสิร์ชมากมายเพื่อหาความเป็นไปได้ และค้นพบว่ากระบวนการผลิตเดนิมส่วนใหญ่ย้อมด้วยสีสังเคราะห์และทอในโรงงานขนาดใหญ่

ตอนแรกเราคิดว่าการทอผ้านั้นเหมือนกันหมด การทอเดนิมก็ไม่น่าจะแตกต่างจากผ้าทั่วไป แต่ว่าเอาจริงๆ แล้วโครงสร้างเดนิมด้านหน้าและด้านหลังจะไม่เหมือนกัน พับมาแล้วเจออีกสีหนึ่งซ่อนอยู่ เป็นเรื่องของการซ็อนเส้นพุ่ง เส้นตั้ง บนแคนวาส

ถ้าเราจะไปสั่งโรงงานทอ จะต้องสั่งอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าพันเมตร ซึ่งคนเพิ่งเริ่มต้นตัวเล็กๆ อย่างเราไม่มีเงินไปสั่งของขนาดนั้น เราก็เลยมามองบริบทรอบๆ ว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะสามารถทอเป็นเดนิมได้ และอะไรคือความใหม่ของกางเกงยีนส์ของเรา”

DYE DEE

คำตอบที่ DYE DEE ค้นหาคือโครงสร้างผ้ารูปแบบใหม่ที่ใช้กระบวนการทอพื้นบ้านแบบไทย นั่นคือกี่ทอผ้าโบราณด้วยแรงมือและเท้าแบบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันนั่นเอง

ความยากของการทอเดนิมด้วยกี่คือรูปแบบการทอแตกต่างจากผ้าไทยอย่างสิ้นเชิง ชาวบ้านที่ตกลงปลงใจร่วมทดลองการทอเดนิมกับ DYE DEE จะต้องปรับระยะของกี่ใหม่ทั้งหมดที่เคยเซ็ตไว้สำหรับทอผ้าทั่วไป

“การปรับกี่ทอผ้าแต่ละชนิดก็เหมือนการกดแป้นเปียโน ทั้งเราและชาวบ้านต้องทดลองและเรียนรู้ไปพร้อมกันใหม่ทั้งหมด ปรับระยะทุกอย่างใหม่ ซึ่งต่างจากที่เขาเคยทำมาทั้งชีวิต สเต็ปการเหยียบ จังหวะการเรียงเส้นด้ายบนหวี ถ้าทดลองแล้วไม่ได้คุณภาพแบบที่เราตั้งเป้าไว้ ก็ต้องรื้อเส้นด้ายพวกนั้นใหม่ทั้งหมด”

DYE DEE ทดลองทอเดนิมด้วยกี่อยู่ 1 ปีเต็ม ในที่สุดก็ได้โครงสร้างผ้าอย่างที่พวกเขาตั้งใจ

“เดนิมของเราทอด้วยแรงคน ซึ่งแน่นอนว่าความหนาแน่นของเส้นใยผ้าอาจจะสู้การตีด้วยเครื่องจักรในโรงงานไม่ได้ แต่มีจุดเด่นเรื่องการระบายอากาศมาแทน ทำให้เหมาะกับการใส่ในสภาพอากาศเมืองร้อน พวกเราก็บอกให้คุณยาย คุณป้า ตีเส้นใยให้แน่นที่สุดเท่าที่จะตีได้เลยนะครับ

DYE DEE

DYE DEE

“เรารู้ว่าเป็นเรื่องยากและใหม่สำหรับชาวบ้าน เราก็ให้ค่าจ้างตามสมควร เพราะในช่วงที่เขามาลองผิดลองถูกกับเรา เขาก็ต้องวางมือจากงานประจำของเขา เราพยายามจะยกระดับฝีมือของชาวบ้านและช่วยสร้างมูลค่าให้สิ่งที่เขาทำด้วย” มิ้นอธิบายให้ฟังพร้อมรอยยิ้ม

 

03 ใส่ดี

เมื่อได้ผ้าเดนิมจากการทอด้วยแรงมือ แรงเท้า ด้วยกี่โบราณของชาวบ้านแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตัดเย็บออกมาเป็นกางเกงยีนส์

“ตอนนี้โปรดักต์ของเราเป็น Custom-made เพราะพอเรามาจับกลุ่มคนที่เป็นสายยีนส์จริงๆ ส่วนใหญ่เขาจะต้องการกางเกงที่พอดีตัว บางคนมีทรงในใจอยู่แล้ว ขาต้องพับกี่ทบ บางคนชอบยาวพอดี บางคนขอติดตาตุ่มหน่อยหนึ่ง ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีตัวเลขในใจอยู่แล้ว

DYE DEE DYE DEE

“แต่ต่อไปในอนาคต เมื่อมองในแง่ธุรกิจและตลาดที่เราอยากขยายให้กว้างขึ้น Custom-made อาจไม่ใช่คำตอบ เราอาจจะต้องมี Mass Product ด้วย เพื่อให้กลุ่มลูกค้าและตลาดของเราใหญ่ขึ้น

“ทุกวันนี้ไลน์การผลิตผ้าเดนิมของเราอยู่ที่เชียงใหม่ แต่การตัดทำที่กรุงเทพฯ เราใช้ช่างทอเชียงใหม่ที่มีองค์ความรู้ในการทำผ้าอยู่แล้ว ส่วนเราทั้งคู่ก็นำเรื่องงานดีไซน์ แพตเทิร์น หลักทางวิทยาศาสตร์ ไปเสริม และคอยควบคุมการผลิตอีกที” จ๊อบอธิบาย

ด้วยความที่กางเกงยีนส์ DYE DEE มีโครงสร้างไม่เหมือนกับกางเกงยีนส์จากโรงงาน การตัดเย็บจึงต้องอาศัยสกิลล์และการปรับฝีเข็มเวลาเดินเส้นด้ายด้วย

“คุณยาย คุณป้า ต้องปรับกี่ทอผ้ายังไง พอส่งไม้ต่อมาให้ช่างตัด ก็ต้องปรับฝีเข็มและจักรเหมือนกันครับ” มิ้นเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

 

04 ด้ายดี

ทั้งคู่เล่าให้ฟังถึงการก่อร่างสร้างแบรนด์ DYE DEE ว่ากว่าจะมาเป็นที่รู้จักของเหล่าคนรักยีนส์อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ “เมื่อมีโปรดักต์ออกมาแล้ว ต้องขยันออกงานแฟร์และงานอีเวนต์ต่างๆ เพื่อแนะนำตัวให้คนทั่วไปรู้ว่ามีแบรนด์ของเราอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย” มิ้นเล่าต่อ

ปีที่แล้ว DYE DEE พากางเกงยีนส์ย้อมสีธรรมชาติคอลเลกชันแรกไปออกงาน Pop Market ทำให้กลุ่มคนเล่นยีนส์มาเห็นเข้า ด้วยคุณภาพของเนื้อผ้าจากเทคนิคการย้อมสีและการทอ จึงเกิดการบอกต่อออกไปในวงกว้าง

ปีนี้ DYE DEE จะนำเรื่องราวของกางเกงยีนส์คอลเลกชันแรกจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ที่มาที่ไปจนถึงกระบวนการและแนวคิดไปเล่าที่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ Chiang Mai Design Week 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 8 – 16 ธันวาคมที่จะถึงนี้

DYE DEEDYE DEE

นอกจาก DYE DEE ที่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ในปีนี้ ใต้คอนเซปต์งานเท่ๆ อย่าง Keep Refining ยิ่งขัดเกลา ยิ่งแหลมคม เราจะได้พบกับอีกหลากหลายแบรนด์และกิจกรรมมากมาย ทั้งนิทรรศการเวิร์กช็อป ตลาดนัด และงานเสวนา ที่บอกเล่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่การนำเสนอสิ่งใหม่และการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยเพื่อให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นเท่านั้น

แต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ความหมั่นเพียร ขัดเกลาและพัฒนากระบวนการ เทคนิคทักษะฝีมือ เทคโนโลยีการผลิต คุณภาพวัสดุ ซึ่งทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบที่จะช่วยรักษาและยกระดับงานสร้างสรรค์ให้มีความแหลมคม ประณีต ทันต่อเหตุการณ์ ตอบสนองความต้องการของชีวิตประจำวัน และเดินหน้าสู่อนาคต

DYE DEE

จ๊อบและมิ้นเล่าให้ฟังว่า สิ่งสำคัญที่ชุบชูจิตใจไม่น้อยไปกว่าการเห็นกางเกงยีนส์ของพวกเขาไปได้ไกลขึ้นเรื่อยๆ คือช่วงเวลาใต้ถุนบ้านกับคุณยาย คุณป้า และกี่ทอผ้าโบราณ

“ตอนแรกคุณป้าทอผ้าเดนิมโดยที่ไม่รู้ว่าปลายทางมันจะกลายไปเป็นอะไร จนเราเอาผ้าเหล่านั้นไปตัดเป็นกางเกงยีนส์คอลเลกชันแรก และนำไปให้คุณป้าดู เขาทึ่งมากเลยที่เห็นผลงานตัวเอง และภูมิใจมากเมื่อรู้ว่าผลงานของเขายังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

“ตอนนี้ออร์เดอร์เยอะขึ้น มันเหมือนเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนไปด้วยในตัว ชาวบ้านมีกี่ทอผ้าโบราณอยู่แล้ว มีภูมิปัญญาเก่าแก่ที่ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ขั้นตอนการทอทั้งหมดเกิดขึ้นที่ใต้ถุนบ้านเขาเอง ในหมู่บ้าน ในชุมชนที่เขารักและหวงแหน ไม่ต้องเข้าเมืองมาหางานทำในโรงงาน

“สิ่งเหล่านี้ทำให้เราชื่นใจหายเหนื่อย เพราะเราได้เป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองเล็กๆ ที่เข้าไปช่วยพัฒนาชุมชน สร้างงานสร้างรายได้ และเรียนรู้การปรับตัวของภูมิปัญญาท้องถิ่นไปพร้อมๆ กับชาวบ้าน”

DYE DEE

มิ้นอธิบายว่า คำว่าปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยสำคัญมาก เพราะชาวบ้าน คุณป้า คุณยาย เขาไม่รู้ว่าผลิตซ้ำๆ ไปโดยไม่ได้ประยุกต์เลย ทุกวันนี้หาตลาดยากมาก เพราะอุตสาหกรรมแฟชันมีส่วนแบ่งทางการตลาด แยกย่อยออกมาเป็นหลายประเภท ไหนจะ Fast Fashion ที่กลายเป็นเครื่องนุ่งห่มที่คนส่วนใหญ่นิยม

“ทำแบรนด์ DYE DEE เรารู้สึกเป็นบวกทุกประการ เราภูมิใจกับสิ่งที่ทำ และงานที่เราทำก็ส่งผลดีต่อคนอื่น ทั้งคุณยาย คุณป้า เพื่อนร่วมผลิตไปจนถึงลูกค้าที่ได้ใส่ของปลอดสารพิษจากธรรมชาติ”

DYE DEE หมายถึงกระบวนการย้อมที่ดี

ด้ายดี หมายถึงวัตถุดิบดีที่นำมาทอเป็นเนื้อผ้า

“ผมรู้สึกว่าถ้าเราทำสิ่งดีๆ ทั้งตัวเราเองและคนอื่นๆ รอบตัวเราก็จะ ‘ได้ดี’ ไปด้วย” จ๊อบกล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

DYE DEE

ภาพ: กฤษณะ วงค์คม
Facebook: DYE DEE
Instagram: dyedee_studio

เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Design Week คือเทศกาลที่เหล่านักสร้างสรรค์หลากสาขาอาชีพ แบะผู้ประกอบการธุรกิจในเมืองเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดขึ้นเป็นโอกาสพิเศษในรอบปี เพื่อนำเสนอนวัตกรรมงานออกแบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ตลอดจนเป็นพื้นที่สนทนาแลกเปลี่ยนมุมมองและแบ่งปันความรู้ด้านการออกแบบ

โดยงานนี้จัดขึ้นเลย สำนักนายกรัฐมนตรี Creative Economy Agency และ TCDC Chiang Mai ระหว่างวันที่ 8 – 16 ธันวาคม 2561 ทั่วตัวเมืองเชียงใหม่ในย่านต่างๆ ซึ่งมีองค์ประกอบพื้นที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ที่มั่งคั่งไปด้วยศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น ไปถึงย่านที่ตั้ง TCDC เชียงใหม่ แหล่งความรู้ด้านการออกแบบที่ทันสมัย และกระจายสู่พื้นที่สำคัญอื่นๆ ทั่วเมือง

Writer & Photographer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน