สารภาพตามตรงว่านอกจากลายผ้าและสีสันที่เข้ากันดีกับผู้สวมใส่ เราไม่อาจแยกรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในเสื้อผ้าสวยงามตรงหน้าได้ในเพียงพริบตาเดียว

ทรงที่รับกันพอดีของไหล่ อก เอว ช่วงแขน ความยาวของชายเสื้อ กระเป๋าข้างลำตัว กระดุม และอื่นๆ บ่งบอกว่าผู้สวมใส่มีรสนิยม ความชอบ ความสนใจ และไลฟ์สไตล์ แบบไหน รายละเอียดที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยช่วยสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสริมบุคลิกและความมั่นใจ

เราจึงได้แต่คิดและก็สงสัยว่าการทำงานเบื้องหลังของคนที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดต่างๆ การออกแบบและตัดเย็บที่คิดถึงการกลบข้อด้อยและส่งเสริมข้อดีของผู้สวมใส่นั้นจะเป็นอย่างไร

Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน ที่เข้าใจการสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่

ในยุคที่ร้านสูทตัดเฉพาะเกิดขึ้นมากมายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่เป็นตัวของตัวเองกันมากขึ้น เราสนใจวิธีคิดของ เจย์-จิรัฏฐ์ วีรวัชร์ภูวกุล เจ้าของแบรนด์และไดเรกเตอร์ผู้ดูแลทุกส่วนของ Azzurro (อัซซูโร่) ร้านตัดสูทคุณภาพสูงของอดีตวิศวกรไฟฟ้าที่มารับช่วงต่อกิจการร้านสูทของครอบครัวด้วยการสืบทอดศาสตร์การตัดเย็บจากอิตาลี ซึ่งมีหน้าร้านตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าอโศกและสุขุมวิทซอย 18

มาฟังแนวคิดและความตั้งใจที่จะรักษาคุณค่างานฝีมือเก่าแก่ ด้วยการสร้างสรรค์สูทตัวเก่งที่ตัดเย็บเฉพาะบุคคลในแบบฉบับ Master Craftsmanship ของ Azzurro แล้วคิดภาพตามไปด้วยว่าหากต้องมีสูทตัวเก่งสักตัว จะอยากให้ออกมาเป็นสูทที่มีหน้าตาแบบไหน

 

สุภาพบุรุษในชุดสูท

Azzurro (อัซซูโร่) เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า สีฟ้า

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ชายแบบ Azzurro จึงมักทำให้คนรอบตัวรู้สึกปลอดโปร่ง โล่งสบาย ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ภายใต้ท่าทีสุขุมของ Azzurro มีความลับที่ทำให้ลูกค้านักธุรกิจและบุคคลที่มีชื่อเสียงจากหลายประเทศในโลกแวะเวียนมาไม่ขาดสาย

ต้องขออภัยล่วงหน้าที่เนื้อหาบางส่วนอาจจะเป็นความลับทางการค้า เราจึงเปิดเผยได้แค่บางส่วน

ความลับสำคัญของสูทจาก Azzurro คือ ผ้าหางม้าทอชนิดต่างๆ ที่ช่างฝีมือเลือกใช้ประกอบกันอยู่ด้านในของเสื้อสูทระหว่างผ้าชั้นนอกและผ้าซับใน ตรงบริเวณช่วงหน้าอกและปกเสื้อ และเมื่อรวมกับความชำนาญพิเศษของช่างฝีมือในการเย็บขึ้นรูปหรือการใช้มือรองไว้ให้เป็นทรงขณะที่เย็บ ทำให้ส่วนอกของเสื้อสูทดูมีมิติ ซึ่งเป็นวิธีการทำสูทแบบดั้งเดิมของอิตาลีที่ถ่ายทอดกันเฉพาะในกลุ่มห้องเสื้อชั้นนำ และต้องเป็นช่างที่มีประสบการณ์สูงระดับ IL MAESTRO หรือ The Master ในภาษาอังกฤษ เท่านั้น

ขณะที่หัวใจสำคัญของปกเสื้อคือ การทำให้เสื้อมีชีวิต หรือที่ภาษาช่างเย็บจะเรียกว่า การทำให้ปกไม่ตาย หรือปกเสื้อดูสปริงตัว ทั้งหมดนี้จะเสริมให้บริเวณช่วงลำตัวและหลังโค้งรับพอดีกับรูปร่างผู้สวมใส่ ราวกับเป็น Second Skin หรือผิวหนังอีกชั้น ที่ไม่เล็กหรือโคร่งเกินไป และให้น้ำหนักที่เบากว่า

ในกระบวนการตัดเย็บเฉพาะด้วยมือประกอบด้วยวัตถุดิบคุณภาพสูงและความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือเป็นสำคัญ ช่างฝีมือ 1 คนจะรับผิดชอบทำเสื้อสูท 1 ตัว ขณะที่ส่วนแขนจะแยกทำโดยช่างแขนโดยเฉพาะ เพราะอาศัยความชำนาญที่ต่างกัน

ฟังขั้นตอนที่ซับซ้อนนี้แล้ว เราก็พอจะนึกภาพตามออกว่าการตัดเย็บลักษณะนี้หายากขึ้นทุกวันๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฝรั่งเศส หรือแม้แต่อิตาลี คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) ดีไซเนอร์และแฟชั่นไอคอนคนดังของยุคยังเคยกล่าวว่า “ช่างฝีมือถือเป็นสมบัติของชาติ”

Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน ที่เข้าใจการสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่

เรียบร้อยโรงเรียนอิตาลี

เดิมที วิธีการทำสูทแบบดั้งเดิมของอิตาลีเป็นเทคนิคชั้นสูงที่ถ่ายทอดกันเฉพาะกลุ่มช่างฝีมือของห้องเสื้อชั้นนำในอิตาลีเท่านั้น

เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนช่างฝีมือในอนาคต อิตาลีจึงก่อตั้ง L’Accademai Nazionale dei Sartori โรงเรียนสอนตัดสูทของสมาคมช่างตัดเสื้ออิตาลีขึ้นที่โรม เพื่อสร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่ และด้วยสายสัมพันธ์อันดีระหว่างร้านสูทของครอบครัวกับร้านตัดเย็บสูทเก่าแก่ในอิตาลีมากมาย ครอบครัวจึงส่งน้องสาวของเจย์ ซึ่งขณะนั้นกำลังเรียนแฟชั่นดีไซน์ที่ Istituto Marangoni ในมิลาน ไปเรียนที่นั่น เป็นคนไทยคนแรกและเป็นร้านสูทจากไทยเจ้าเดียวที่มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการทำสูทแบบอิตาเลียนอย่างจริงจัง ก่อนที่เจย์จะตามไปเรียนหลักสูตรสั้นๆ ในเวลาต่อมา

“คนอิตาลีเขาก็ไม่อยากให้เราเรียน เพราะเป็นความลับของชาติ เราจึงมีสัญญาใจว่าจะไม่เผยแพร่สิ่งที่ได้เรียนรู้แก่คนนอกร้าน” เจย์เล่า

นอกจากเทคนิคการตัดเย็บขั้นสูงแล้ว สิ่งที่เจย์และน้องสาวเรียนรู้จากอิตาลีคือ ทัศนคติเรื่องความรักต่องานที่ทำ

“สมมติเรากำลังลองตัวให้ลูกค้า ลูกค้าอาจจะมองไม่เห็นว่ามีตรงไหนที่ไม่สวย แต่ช่างอิตาเลียนจะมองเห็นและแก้ไขมันทันทีโดยที่ไม่ต้องร้องขอ เพราะต้องการให้เสื้อตัวนี้สวยแบบ 100% เขามองสิ่งที่ทำเป็นงานศิลปะชิ้นเยี่ยมที่ตั้งใจทำมันอย่างดีในทุกครั้ง” คำบอกเล่าของเจย์ทำให้เราหันมาคิดถึงงานที่ทำอยู่

Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน ที่เข้าใจการสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่

Tailor-made Suits

ทุกวันนี้ การตัดสูทไม่ใช่เรื่องของคนมีอายุเท่านั้น แม้แต่คนอิตาลีเองพอเริ่มทำงาน มีเงินเก็บ ก็จะเริ่มอยากมีสูทเป็นของตัวเองสักชุด เพราะใส่แล้วมั่นใจกว่า ขณะที่ลูกค้าคนไทยจะเลือกตัดสูทจากโอกาสและงานสำคัญ

นอกจากความไว้วางใจในกรรมวิธีการตัดเย็บ คุณภาพของผ้าที่ทางร้านใช้ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่คนรักสูทให้การยอมรับ โดยเฉพาะแบรนด์จากอิตาลีและอังกฤษ เช่น Loro Piana ของอิตาลี และ Holland & Sherry ของอังกฤษ ซึ่งข้อดีของผ้าจากอิตาลีคือตัดออกมาแล้วเข้ารูปสวยงาม ขณะที่ผ้าจากอังกฤษจะทนทานกว่า เพราะขั้นตอนการผลิตผ้านั้นคำนึงถึงการทนต่อสภาพอากาศเป็นสำคัญ

“ส่วนตัวแล้วผมชอบผ้าของ Loro Piana ที่สุด และกว่าจะได้ผ้าแบรนด์นี้มาที่ร้าน ทางอิตาลีต้องเข้ามาตรวจว่าช่างฝีมือของเราเย็บผ้าเขาได้มั้ย เขาถึงส่งตัวอย่างผ้ามาให้ร้านเรา” เจย์เล่าพร้อมเปิดตัวอย่างผ้าคอลเลกชันใหม่ล่าสุดที่ทำให้ตาของเราลุกวาวตาม

Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน ที่เข้าใจการสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่

“นอกจากเหตุผลเรื่องโอกาสในการใช้งาน ทำไมเราควรจะต้องมีสูทตัวเก่งที่ตัดเฉพาะเราสักตัว” เราถาม

“สูทคุณภาพดี 1 ตัวสามารถใช้งานได้ 5 – 10 ปี แม้มีราคาสูง แต่เมื่อหารราคาต่อครั้งที่ใช้ ผมว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับราคาเสื้อผ้าสำเร็จ เพราะคุณจะเลือกหยิบมาใช้บ่อย ขณะที่เสื้อผ้าที่ซื้อมาแล้วไม่ชอบใส่ต้องเก็บไว้ในตู้ ต่อให้ราคาถูก ผมก็มองเป็นเสื้อราคาแพงอยู่ดี ผมมองเรื่องนี้เป็นความคุ้มค่ามากกว่า

“หน้าที่เราคือทำเสื้อตัวเก่งให้ลูกค้า ไม่ใช่แค่สวยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเสื้อที่เราจะหยิบมาใส่ทุกครั้ง บางทีเขาอาจจะไม่ได้เข้าใจกรรมวิธีการตัดเย็บต่างๆ อย่างลึกซึ้งว่าเป็นอย่างไร แต่เขาใส่แล้วสวยและมั่นใจเท่านั้นพอ” เจย์เล่าความตั้งใจของแบรนด์ Azzurro

กระบวนการของ Azzurro ในการออกแบบเสื้อสูทตัวเก่งนั้นแสนเรียบง่าย เจย์ผู้รับหน้าที่หลักในการแปลงสารสำคัญผ่านบทสทนาอย่างเป็นธรรมชาติระหว่างวัดตัว ลองตัว ชวนพูดคุยเรื่องทั่วไป จนทำให้เจย์ค่อยๆ ทำความเข้าใจตัวตนและไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคลนั้น ทั้งจากแนวเพลงที่ฟัง อาหารที่ชอบ การเดินทางครั้งล่าสุด งานอดิเรก ครอบครัว ไปจนถึงกลุ่มเพื่อนที่สนิท

“นอกจากการพูดคุยจะทำให้เรารู้จักและเข้าใจตัวตนของเขาแล้ว ก็ยังทำให้เขาเริ่มรู้สึกถึงสิ่งที่ต้องการ ตอนแรกเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เราก็จะค่อยๆ เสนอแนวทางที่เหมาะสม เช่น ผู้ใหญ่มักจะเข้าใจว่ากางเกงตัวเล็กทำให้รู้สึกอึดอัด เราก็ค่อยๆ อธิบายว่าต่อให้แบบทรงจะดูแนบติดตัวแค่ไหน แต่ผ้าที่ดีจะช่วยทำให้รู้สึกสบาย หัวใจสำคัญของ Azzurro คือการทำเสื้อตัวเก่งให้เขา เสื้อแบบไหนที่จะแสดงตัวตนของเขาออกมา ไม่ใช่เสื้อทั่วไป แต่เป็นเสื้อของเขาจริงๆ” เจย์เล่า

Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน ที่เข้าใจการสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่

Story-tailor (made)

“การตัดสูท สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าสูทที่ดีเป็นยังไง เขาก็ไม่รู้ว่าเสื้อที่ได้มาดีหรือไม่ดี มันเหมือนการกินอาหาร ถ้ายังไม่เจอจานที่อร่อยจริงๆ เขาก็จะคิดว่าจานตรงหน้าอร่อยแล้ว แต่ถ้าได้ลองอาหารที่อร่อยกว่านั้นจริงๆ เขาก็จะรู้” เจย์เล่าเปรียบเทียบ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจและหลงใหลการตัดเสื้อสูทที่ทำขึ้นเฉพาะบุคคล

Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน ที่เข้าใจการสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่

สิ่งที่น่าสนใจของตลาดและการทำแบรนด์ร้านสูท Azzurro ก็คือ การแนะนำต่อๆ กันของลูกค้าเดิมเป็นสำคัญ ซึ่งเจย์เล่าว่าเขาเคยลองทำการตลาดด้วยการโฆษณาในนิตยสารหรือใช้โซเชียลมีเดียแล้ว จึงได้รู้ว่าเป็นวิธีที่ไม่เหมาะกับแบรนด์เท่าไหร่ เพราะความคาดหวังที่มีของกลุ่มคนที่สื่อสารแตกต่างกัน เช่น งบประมาณของสูท หรือความเข้าใจในคุณค่าของการตัดเย็บอย่างมีคุณภาพ

“ธรรมชาติของผู้ชายซึ่งเชื่อในสิ่งที่เพื่อนแนะนำต่อๆ กันมาเป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจนี้หรือเปล่า” เราถาม

แม้การแนะนำบอกต่อระหว่างเพื่อนจะดูเป็นข้อดี เจย์บอกว่าจริงๆ แล้วมีข้อเสียที่คนอาจจะคิดไม่ถึง นั่นคือ ถ้าหากแบรนด์นั้นๆ ทำงานพลาดจนเปิดความรู้สึกที่ไม่ดี ก็จะเป็นที่พูดถึงต่อๆ กันเร็วและไปไกลมาก

“ในกลุ่มเพื่อนกัน สมมติถ้ามีคนหนึ่งที่ Geek เรื่องสูทมาก เป็นกูรูเรื่องแต่งตัว ถ้าอยากตัดสูทต้องถามคนนี้ ซึ่งถ้าเขาเจอประสบการณ์ไม่ดีก็จะไม่แนะนำให้กัน” เจย์เล่า

นอกจากการรับงานสั่งตัดที่หน้าร้านแล้ว Azzurro ยังมีบริการ Trunk Show หรือนัดหมายพิเศษเพื่อวัดตัว เลือกตัวอย่างผ้าเตรียมตัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่มีแผนจะเดินทางมาประเทศไทย เป็นการลดขั้นตอนให้ลูกค้าสามารถลองเสื้อทันทีที่เมื่อถึงกำหนดเดินทางมากรุงเทพฯ

“มีลูกค้าจากต่างประเทศขอให้ผมบินไปวัดตัวเขาและเพื่อนๆ 50 คน นั่นแปลว่าถ้าทุกคนสั่งเสื้อคนละ 2 ตัว เราจะต้องทำเสื้อร้อยตัวในเวลา 3 เดือน ซึ่งเราจำเป็นต้องปฏิเสธเพราะเราอยากทำงานทุกชิ้นอย่างดีที่สุดในจำนวนที่เรารับได้ เราคิดว่าสิ่งที่ท้าทาย Azzurro คือการเพิ่มช่างฝีมือมากกว่าที่จะสนใจยอดขาย เมื่อเราทำงานอย่างตั้งใจจริง การขายก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เพราะมีคนที่ต้องการสูทที่ตัดเฉพาะ เพียงแต่เราไม่สามารถรับงานในปริมาณที่มากกว่าจำนวนที่เราทำได้” เจย์อธิบายเหตุผลของการทำธุรกิจอย่างพอประมาณ

 

Master Craftsmanship

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Azzurro เป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในไทยและต่างประเทศจนกลับมาใช้บริการอยู่เสมอคือ การไม่ประนีประนอมต่อคุณภาพ ซึ่งมาจากทัศนคติหรือชุดความคิดเดียวกันของทีมงานทุกคนที่จะไม่ยอมปล่อยผ่านให้งานที่ไม่ได้มาตรฐานไปถึงมือลูกค้า โดยมีที่มาจากความรู้สึกรักในงานที่ทำ ภูมิใจเมื่อลูกค้าเลือกใส่ชุดของเราในงานสำคัญ รวมถึงการยอมเปิดรับอะไรใหม่ๆ พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

“ที่นี่ เราจะเชิญช่างจากอิตาลีเข้ามาสอนที่ร้านอยู่เสมอ จริงๆ ไม่เชิงสอน แต่คือการตรวจทานสิ่งที่เคยสอนไป นอกจากช่างฝีมือเก่าแก่ของเราจะได้โอกาสเรียนรู้แล้ว หากช่างใหม่ที่ร้านอยากมีโอกาสเข้าเรียนก็ต้องพยายามพัฒนาและพิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถเพียงพอ” เจย์เล่าบรรยากาศการเรียนรู้ภายใน ก่อนจะเสริมว่าที่ Azzurro มีช่างฝีมืออายุต่ำสุด 55 ปี สูงสุด 70 ปี ขณะที่ช่างฝึกหัดอายุน้อยที่สุดมีอายุ 35 ปี และทั้งๆ ที่อายุมากแล้ว แต่ด้วยความชำนาญทำให้สามารถร้อยด้ายเข้ารูเข็มเล็กๆ ภายในครั้งเดียว

“เมื่อทำในสิ่งที่ให้ความสุขแก่คนอื่น คุณจะได้รับมากกว่าธุรกิจ คุณจะได้เพื่อน คุณจะได้พลังกลับมาเพื่อดำเนินชีวิตของคุณต่อ” เจย์เล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำแบรนด์ Azzurro

Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน ที่เข้าใจการสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่

“ผมเคยถามเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจว่าเขาสามารถตัดสูทที่ไหนก็ได้ในโลก ทำไมถึงเลือก Azzurro และแนะนำเพื่อนๆ ให้มาตัดที่นี่อยู่เสมอ เขาตอบผมว่าการตัดสูทที่ร้านอื่นเขาได้เสื้อสูท แต่การมาตัดที่นี่ เขาเหมือนได้มาเจอเพื่อน ที่สำคัญ เพราะว่าเราไม่ประนีประนอมเรื่องคุณภาพ เขาจึงกล้าแนะนำเพื่อนมา เพราะเขารู้ว่าเขาไม่เสียแน่นอน” เจย์กล่าว ก่อนจะทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจจากความรัก

“ผมว่าแพสชันมันมีวันหมดอายุนะ ถ้าคุณไม่ตั้งใจต่อสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง และการมีแพสชันอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะถึงวันหนึ่งที่คุณพบว่าไม่มีใครชอบงานคุณเลยจริงๆ มันจะอยู่ไม่ได้ หัวใจของการทำแบรนด์คือการปักเสาเข็มที่แข็งแรงและลึกเพียงพอ คุณต้องมีความรู้และเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำจริงๆ อยากเป็นดีไซเนอร์อย่างน้อยๆ ก็ต้องรู้ว่าจะตัดเย็บเสื้อผ้าหรือทำแพตเทิร์นอย่างไร ไม่ใช่ออกแบบแล้วส่งให้ช่างฝีมือเย็บต่อ คุณต้องลงไปทำมันเอง

“ที่ Azzurro มาได้ถึงวันนี้เพราะกิริยาตอบรับจากลูกค้าในทุกครั้งที่เขามารับเสื้อ ซึ่งช่วยเติมพลังงานให้เรา แม้จะเป็นประกายเล็กๆ แต่เมื่อเติมเข้าทุกๆ วันก็ทำให้ร้านเราดำเนินอยู่ได้ ผมไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยนะ อยากตื่นมาทำงานทุกวัน”

Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน ที่เข้าใจการสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่

จากวิธีคิดแบบ Master Craftsmanship ของช่างฝีมือชาวอิตาเลียนอย่างการสร้างสัดส่วนที่เหมาะสมกับผู้สวมใส่ การเข้าใจรูปร่างของคนที่อาจจะไม่ได้เหมือนกัน การออกแบบและตัดเย็บที่กลบข้อด้อยและส่งเสริมข้อดีของเขา

ไม่เพียงส่งเสริมบุคลิกภาพ สูทที่ดียังสะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่ออกมาผ่านรายละเอียดที่ออกแบบพิเศษแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความเฉพาะตัวไม่มีใครเหมือน เป็นความอิ่มเอมที่เกิดขึ้นทั้งเจ้าของเสื้อตัวเก่งและช่างฝีมือผู้อยู่เบื้องหลัง

Azzurro แบรนด์ร้านสูททำมือดั้งเดิมแบบอิตาเลียน ที่เข้าใจการสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับผู้สวมใส่

The Rule : Azzurro

1 ตั้งเป้าหมายชัดเจน ว่าเราอยากให้สูทจาก Azzurro ทุกตัวเป็นสูทตัวเก่ง เราจะไม่ทำเสื้อที่ลูกค้ารับกลับไปบ้านแล้วแขวนเก็บไว้ในตู้

2 เข้าใจลูกค้าและดึงเอกลักษณ์ออกมาให้มากที่สุด

3 รักษาความรู้สึกกระตือรือร้นให้เหมือนทำงานวันแรกอยู่ตลอดเวลา


www.azzurrotailor.com
Instagram | azzurrotailor
Facebook | azzurrotailor

ความหมายที่อยู่ในรายละเอียด

เช่นเดียวกับการเลือกใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อเรา

จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถเลือกสรรสิ่งที่เหมาะกับเราได้เอง

เพราะเข้าใจเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ไม่เพียงตอบโจทย์ในความต่างนั้น พื้นที่ในอุดมคติจะพาเราไปสู่การคิดถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการเลือกสรรอย่าง Master Craftsmanship ที่พิถีพิถัน ทั้งการใช้ศิลปะและสถาปัตยกรรมร่วมสมัย มาออกแบบร่วมกับธรรมชาติของผู้อยู่อาศัยอย่างปราณีตและตั้งใจ

ในยุคที่คนให้คุณค่ากับการนิยามความเป็นตัวตน มากกว่าความสวยงามของเปลือกนอก โจทย์สำคัญของการใช้ชีวิต คือการมองหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับตัวตนจริงๆ ของเรา

และไม่ต่างจากสูทตัวเก่งคุณภาพดีที่มองด้วยตาเราอาจจะไม่เห็นคุณค่าในเรื่องราวและกรรมวิธีกว่าจะได้มา แต่เมื่อดูให้ลึก คุณจะพบรายละเอียดที่มีความหมายต่อชีวิตซ่อนอยู่

พบความหมายในทุกรายละเอียดชีวิต ที่งาน MAESTRO : MASTERFUL LIVING 21 – 24 มิ.ย. นี้ ชั้น 1 เซ็นทรัลเวิลด์

สัมผัสแนวคิด การสร้างสรรค์ และการพัฒนาคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ MAESTRO RESIDENCES (มาเอสโตร เรสซิเด้นซ์) ผ่านการจัดแสดงในรูปแบบ Art Exhibition

พร้อมการเปิดตัว 3 คอนโดพร้อมอยู่ MAESTRO 01 สาทร-เย็นอากาศ พื้นที่ย่านธุรกิจที่สะท้อนชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่ยังเปี่ยมไปด้วยความสงบ มีเสน่ห์ และเรียบง่ายแบบดั้งเดิม ให้คุณเป็นตัวของตัวเองในแบบที่ต้องการ, MAESTRO 03 รัชดา-พระราม 9 การบรรจบกันอย่างลงตัวของศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่และชีวิตคนเมือง การนำเสนอรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทันสมัยแต่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเจ้าบ้านอย่างมีสไตล์ และ MAESTRO 14 สยาม-ราชเทวี พื้นที่ศูนย์กลางความทันสมัยและความมีชีวิตชีวาของกรุงเทพ ที่ต่อเติมพลังและความฝัน ให้คุณได้เริ่มต้นชีวิตที่ดีในอุดมคติ ในราคาเริ่มต้น 3.8 ล้านบาท*

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02 116 1111 หรือ ลงทะเบียนเพื่อรับส่วนลดสูงสุด 200,000 บาท ที่นี่

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล