ก่อนหน้านี้ เราคิดมาตลอดว่ารสนิยมที่สะท้อนความเป็นตัวตนนั้นเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เราเลือกหยิบและอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในชีวิต สถานที่ที่ชอบไป เสื้อผ้าที่ชอบใส่ เพลงที่ฟัง หนังที่ดู หนุ่มที่แอบเหล่มอง

รสนิยมที่แตกต่างกันทำให้คนเราแตกต่างกัน

“มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าความแตกต่าง นั่นคือการยอมรับในความแตกต่างของคนอื่น เรายอมรับในความต่างนั้นไหม”

อ๊อฟ-พงศ์ศักดิ์ กอบรัตนสุข ดีไซเนอร์และหนึ่งในผู้ก่อตั้งแบรนด์ Rotsaniyom (รสนิยม) นิยามคำนิยมนี้ให้เราฟัง เช่นเดียวกับสิ่งที่ Rotsaniyom พยายามทำมาตลอดใน 9 ปีที่ผ่านมา

รสนิยม

สำหรับเรา Rotsaniyom เป็นแบรนด์ไทยมีสไตล์ที่น่าจับตามอง เพราะไม่เพียงได้รับการยอมรับในวงการแฟชั่น อย่างการเป็น 1 ใน 200 Best Emerging Designers 2016 ใน Vogue Italia แล้ว Rotsaniyom ยังเป็นตัวอย่างของแบรนด์เสื้อผ้าที่มีเส้นทางการเติบโตในอุดมคติ

จากจุดเริ่มต้นของที่ อ๊อฟ-พงศ์ศักดิ์ กอบรัตนสุข และ กิ๊ฟ-ฐิตา กมลเนตรสวัสดิ์ ทำแบรนด์เสื้อยืดขายในงานเทศกาลดนตรี ก่อนจะมีหน้าร้านเล็กๆ ในตลาดนัดสวนจตุจักร ไปสู่การพัฒนาแบรนด์ที่ชัดเจนในตัวตนจนได้รับการยอมรับและเปิดร้านในสยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ และห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ตามความฝัน ก่อนจะเดินทางเข้าสู่ร้าน multistore ดังๆ ทั่วโลกผ่าน showroom ชื่อดังใน Paris Fashion Week ที่เป็นจุดเปลี่ยนให้กับ Rotsaniyom ในวันนี้และต่อไปในอนาคต

นอกจากจะเปิดห้องเรียนวิชา Fashion Business สำหรับชีวิตจริงแล้ว เรื่องราวของ Rotsaniyom ในวันที่เติบโตเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับทุกคนที่มีความฝันอยากจะทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองสักแบรนด์

Rotsaniyom

ลูกไม้มวยไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ลูกไม้เป็นผ้าชนชั้นที่ถูกจัดให้อยู่เพื่อแสดงความเป็นผู้สูงวัย

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เราจึงขอให้อ๊อฟเปิดบรรยายวิชาประวัติศาสตร์ลูกไม้และการแต่งกาย 101 ใน 3 ย่อหน้าดังนี้

ยุคหนึ่งที่สยามเริ่มนำการแต่งกายแบบวิกตอเรียนมาผสมผสาน เกิดเป็นภาพจำว่าลูกไม้เป็นของไทย ซึ่งจริงๆ แล้วเสื้อผ้าสไตล์นั้นมีที่มาจากยุควิกตอเรียน

ลูกไม้เป็นที่นิยมในสตรีชั้นสูง เราจะไม่ค่อยเห็นคนธรรมดาใส่ผ้าลูกไม้มากนัก ภาพจำต่อมาก็คือผ้าลูกไม้กลายเป็นผ้าที่สำหรับใส่ไปงานพิธี ไม่มีภาพจำของคนทั่วไปใส่เดินบนถนนทำให้จำกัดการรับรู้และการยอมรับของคนไม่น้อย

ลูกไม้เป็นเรื่องของสไตล์ สาวๆ ชาติอื่นๆ จะทำให้มีความร่วมสมัยมากกว่าด้วยการหยิบเอาบรรยากาศแบบวิกตอเรียนมาผสมผสานกับยีนส์ให้ดูสตรีทขึ้น ขณะที่คนไทยมักจะเพียงว่าลูกไม้คือความอ่อนหวานและเรียบร้อย

“คนไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสไตล์ แต่จะให้ความสำคัญกับสิ่งที่สังคมกำหนดมา เช่น ใส่ลูกไม้แล้วจะดูเป็นสาวหวาน ซึ่งหากคุณเป็นสาวเท่ที่บังเอิญวันนี้มีอารมณ์อยากเป็นสาววิกตอเรียน ลองหยิบไอเทมลูกไม้สักชิ้นมาแต่งตัวจะเป็นไรไป มันเป็นเรื่องของสไตล์มากกว่า” ได้ยินประโยคนี้จากอ๊อฟแล้ว ทำให้คิดถึงเสื้อลูกไม้แขนยาวติดระบายที่เจอในร้านเสื้อผ้ามือสองวันก่อนขึ้นมาทันที ก่อนจะเกิดไอเดียปิ๊งปั๊งในหัวว่าจะใส่คู่กับกางเกงยีนส์ทรงคุณแม่และส้นสูงสักสองนิ้วให้ดูกระฉับกระเฉง

Rotsaniyom Rotsaniyom

Beauty and the Laces

เมื่อไม่ใช่การนำเสนอความสวยหวาน นอกจากสีที่ใช้แล้ววัตถุดิบสำคัญอย่างลูกไม้ ลักษณะเฉพาะของ Rotsaniyom จะมีความขบถๆ เล็ก อย่างเสื้อผ้าจะมีความสนุกอยู่นิดๆ แม้เป็นลูกไม้ แต่ไม่ได้เป็นลูกไม้หวานอย่างที่คนเข้าใจกัน อ๊อฟเสริมว่าเหล่านี้ทำให้คนจดจำงานของ Rotsaniyom ได้เพราะถ้าเป็นคนอื่นคนไม่เอาลูกไม้มาทำแบบนี้ เช่นเดียวกับความเชื่อของแบรนด์ที่ว่า

“An individual imperfect beauty ideal”

Rotsaniyom เชื่อในเรื่องความงามเฉพาะตัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ เชื่อว่าในแต่ละอย่างมีบางอย่างที่สวยงามอยู่แล้ว อย่างที่เรารู้ว่าไม้เป็นไม้เพราะมันผุได้ เรารู้ว่ามันเป็นเหล็กเพราะว่ามันขึ้นสนิมได้ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ Rotsaniyom พยายามนำเสนอให้คนเห็นว่าในความไม่สมบูรณ์แบบของแต่ละอย่างก็คือความเฉพาะตัวของคนคนนั้น

“เราเจอคำถามตลอดว่าทำไม Rotsaniyom ต้องมีสีขาว ทำไมต้องเป็นลูกไม้ ซึ่งจริงๆ เราไม่ได้ตีกรอบว่าจะต้องเป็นอะไร ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว สีขาวกับลูกไม้ไม่ได้รับการยอมรับอย่างปัจจุบัน สีขาวในยุคนั้นคือ ไปวัดหรือเปล่า ชุดนอนหรือเปล่า ลูกไม้ก็ต้องตีความว่าสูงวัย ช่วงแรกที่เปิดร้านเราก็ได้ยินคำแบบนี้บ่อย แต่พอมาถึงวันนี้ วันที่สีขาวได้รับการยอมรับเป็นสีหนึ่งในแฟชั่น ลูกไม้เป็นส่วนประกอบที่ทุกๆ แบรนด์ต้องมี ตอนนั้นเป็นความท้าทายของเรา เราทำให้สิ่งที่คล้ายจะเปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ ของคนว่าสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งนั้นหรือมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง เราทำมาตลอด เรายืนกรานว่าจะทำแบบนี้”

Rotsaniyom Rotsaniyom

“เคยมีคนถามว่าแล้ววันหนึ่งจะมีการเปลี่ยนไปไหม เรารู้สึกว่ามันไม่แน่ถ้าในวันหนึ่งเราพบว่าอะไรบางอย่างที่เราชอบมากๆ แต่สังคมพยายามใส่กรอบนิยามมันเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราจะพยายามพิสูจน์ทางเลือกหรือความน่าจะเป็นในแนวทางอื่น เราไม่ได้ต้องการขวางโลก เราแค่อยากสร้างทางเลือกให้กับคนเฉยๆ เพราะฉะนั้นเราจะไม่คิดแย้งกับทุกเรื่อง แต่เสนอมุมมองใหม่ๆ ให้เห็นไม่ว่าจะความเป็นไทย ความเป็นลูกไม้”

ปัจุบันภายใต้ Rotsaniyom ประกอบด้วยแบรนด์ Rotsaniyom เป็น lifestyle wear เน้นเรื่องสไตล์เป็นหลัก และการแต่งกายในชีวิตประจำวัน แบรนด์ Rotsaniyom White Label เป็นงานที่เน้นศิลปะและการออกแบบ มีคอนเซปต์ มีเรื่องราว และการตีความ มีเนื้อหาของคอลเลกชันที่จริงจังกว่า Rotsaniyom และแบรนด์ Ceremony เป็นชุดพิธีอย่างชุดแต่งงานหรืออื่นๆ

“โดยปกติเราหลีกเลี่ยงการทำชุดแต่งงานมาตลอด เพราะเราเชื่อว่าการแต่งงานเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากและเราไม่อยากแบกรับความรู้สึกของคนอื่น เพราะเราไม่รู้ว่าคนมองเราแบบไหน เขาคาดหวังว่า Rotsaniyom จะหวานซึ่งเราไม่ได้หวาน ชุดแต่งงานเราจะไม่ออกแนวหวานอย่างที่ลูกค้าคิดแล้วเราจะทำอย่างไร ซึ่งเราไม่อยากขัดกับตัวเองและไม่อยากทำให้ลูกค้าเสียความรู้สึกในวันสำคัญหนึ่งในชีวิตจึงมาลงตัวด้วยวิธีทำให้ในทุกคอลเลกชันจะมีการทำชุด 1 – 2 ชุดที่โดดเด่นมีความเป็น Ceremony อยู่ หมายความว่าใส่ไปแต่งงานได้หรืออาจจะใส่ไปงานพิธีทางการได้ เป็นการทำให้ลูกค้าเห็นสิ่งที่เราทำก่อนแล้วค่อยมาคุยเรื่องรายละเอียดกันต่อไป”

Rotsaniyom Rotsaniyom

จุดทศนิยม

อ๊อฟเล่าย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้นทำร้านให้ฟังว่า เขาเป็นคนที่หากชอบอะไรจะเริ่มลงมือไม่พูดบ่นมาก่อนว่าอยากจะมีร้าน และเลือกที่จะลงมือทำเลยหลังจากที่เคยชิมลางทำเสื้อยืดขายที่งาน Fat T-Shirt เมื่อ 9 ปีก่อน

“เมื่อก่อนถ้าเราฝันอะไร เรามักจะฝันใหญ่เสมอและเราจะไม่ค่อยกลัวเพราะมันมีตัวเลือกเดียวคือต้องทำเลย แต่ปัจจุบันเราจะคิดว่าเป้าหมายของเด็กสมัยนี้ค่อยๆ เล็กลง ขอทำแค่นี้ก่อนเป็นขั้นเป็นตอนไป ด้วยอาจจะเพราะรับรู้ข้อมูลข่าวสารเยอะ จึงมีความกลัวปนๆ อยู่กับความกล้า แต่ยุคของผมในตอนนั้นมันไม่มีข้อมูลข่าวสารเข้ามามาก ดังนั้นกลัวไหมก็กลัว ไม่มีอะไรมาบอกเตือนให้เราระมัดระวังเรื่องอะไรมากมาย แค่ทำออกมาเลย แล้วยิ่งเมื่อก่อนไม่ได้มีหน้าร้านออนไลน์ขายง่ายดายแบบปัจจุบันนี้ ทุกอย่างอยู่บนโลกความเป็นจริง คนจับต้องได้ทันที เรารู้สึกสนุกมาก เราเต็มที่กับมัน ลงแรงกับมันเต็มๆ ไม่กั๊ก”

การย้ายจากร้านที่ตลาดนัดสวนจัตุจักรมาที่สยามเซ็นเตอร์ทำให้ Rotsaniyom เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง อ๊อฟเล่าให้เราฟังว่า

“สิ่งที่ยากคือระบบหลังบ้านที่ต้องรื้อใหม่ ด้วยความที่เราไม่ได้เน้นเรื่องธุรกิจมาก่อน แต่จะเน้นไปที่ศิลปะและการออกแบบมากกว่า เราก็จะทำอะไรตามใจ ทำร้านเสื้อผ้าเราอยากใส่อะไรเราก็ทำสิ่งนั้นออกมาขาย วันไหนขยันก็ทำมากหน่อย วันไหนขี้เกียจก็ค่อยมาทำ ซึ่งเมื่อมีระบบของห้างสรรพสินค้าเราก็ต้องเรียนรู้ระบบหลังบ้านและการคิดทำธุรกิจมากขึ้น แต่เป็นเรื่องที่ดีกว่าการไม่มีนะ เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้ในวันนั้นแบรนด์ก็คงไม่โตอย่างทุกวันนี้”

เป็นธรรมดาของการเติบโตที่จะถูกมองว่าบางสิ่งเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับสายตาของคนที่มองมายัง Rotsaniyom

“เรื่องการเปลี่ยนแปลงไปบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัวนะว่าเราเปลี่ยนแปลง เพราะเรามองว่าตัวเองธรรมดามากไม่พิเศษไปกว่าใคร แต่คนที่มองเรา เขาจะเห็นว่าเราพิเศษและคาดหวังกับเราเยอะกว่านั้น เขามองว่าเราเป็นแบรนด์ Thai designer เราต้องทำแบบนั้น คุณภาพเราต้องดีแบบนี้ นอกจากนี้ก็คือความใกล้ชิดระหว่างเรากับลูกค้าที่พอมีหน้าร้านในห้าง มันก็เหมือนไม่ใกล้ชิดกันเช่นเดิม เขาก็จะรู้สึกห่างเหินกับเราเหมือนมองคนที่โตกว่า เราไม่ได้อยากให้มันเข้าถึงยาก เราอยากให้ลูกค้าโดยเฉพาะคนที่โตมากับเรา มองเราเป็นเพื่อน เราเองก็ไม่ใช่แบรนด์ที่ยิ่งใหญ่”

Rotsaniyom Rotsaniyom

The Show Must Go Inter

สารภาพว่าเหตุผลทีเราอยากคุยกับ Rotsaniyom คือเรื่องการไปเติบโตในตลาดแฟชั่นต่างประเทศจากแหล่งข่าวใจดีที่แอบมาเล่า เพราะ Rotsaniyom เองแทบไม่บอกสื่อไหนในเรื่องนี้

“เราไปตลาดต่างประเทศด้วยระบบธุรกิจแฟชั่น (Fashion Business) ในรูปแบบ showroom ซึ่งจะมี buyer จากทั่วโลกมาเลือกซื้อสินค้าไปขายตาม multistore ประเทศต่างๆ”

ได้ยินแค่นั้น เราก็เผลอทำหน้าตาสงสัยใส่คำศัพท์คำว่า showroom ซึ่งเรามั่นใจว่ามีนัยความหมายมากกว่าที่เคยรู้จักแน่นอน

“ระบบ showroom อาจจะใหม่สำหรับประเทศไทย แต่จะเป็นที่รู้จักในกลุ่มวัยรุ่นเพราะมีแบรนด์คนรุ่นใหม่แบบเราไปขายในต่างประเทศด้วยระบบนี้ไม่น้อย”

showroom คือพื้นที่พื้นที่หนึ่งที่จัดแสดงและจำหน่ายคอลเลกชันแบรนด์ที่ showroom คัดเลือกมา โดยมีระยะทำการในช่วงเวลาหนึ่งๆ อย่างงานแฟชั่นวีก

“อย่าง Paris Fashion Week ที่ทั้งเมืองจะมีงานเกี่ยวกับแฟชั่นตลอดทั้งสัปดาห์ นอกจากแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ดังแล้ว จะมี showroom ลักษณะนี้กระจายตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ของเมือง เป็นช่วงเวลาที่ buyer จากทั่วโลกตามหา showroom ที่เขาสนใจ โดยแต่ละ showroom ประกอบด้วยนักออกแบบที่เลือกมาซึ่งจะมีการซื้อขายเกิดขึ้นที่นั่น เป็นระบบขายส่งที่มีระเบียบกว่าทั่วไป  showroom ที่เปิดต้องมีคุณภาพและความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง ซึ่งลูกค้าจะเป็น buyer จาก multistore ตามหัวเมืองใหญ่ๆ โดย showroom เองจะมีระบบตรวจเช็กประวัติและความน่าเชื่อถือของ buyer ด้วย”

ถึงอย่างนั้นการจะตั้งตัวเองเป็น showroom นิรนามไก่กาก็ย่อมทำได้ เพียงแต่หากทำไปเพื่อหวังเพียงชื่อเสียงและการยอมรับ อ๊อฟบอกเราว่าผลที่ได้คงไม่เป็นอย่างที่คาดคิดหรือไม่คุ้มการลงทุน

กระแสตอบรับจากการออก showroom เป็นอย่างไร เราถามเพราะสนใจใคร่รู้พฤติกรรมของแฟชั่นนิสต้าในตลาดต่างประเทศ

Rotsaniyom Rotsaniyom

“ว่ากันตามตรง ตั้งแต่ทำแบรนด์มา บางครั้งเราก็ไม่รู้หรอกว่าลูกค้าชอบอะไรในเรา เราแค่ทำในสิ่งที่เราเป็นออกมาเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับอะไรบางอย่างในลูกค้าทำให้เขาชอบผลงานของพวกเรา เป็นความรู้สึกที่ดีนะเพราะโดยส่วนตัวเราไม่ได้ทำแบรนด์เพื่อเอาใจใครสักคน”

“เราภูมิใจที่ทุกการเติบโตของแบรนด์จนมาถึงทุกวันนี้เกิดขึ้นจากความสามารถของเราจริงๆ ไม่ว่าจะลูกค้าคนธรรมดา ดารา เซเลบ ห้างร้าน สื่อต่างๆ ทุกคนวิ่งมาหาเราด้วยความชอบในตัวตนของเราจริงๆ ช่วยให้เราค่อยๆ เติบโตขึ้นมา และทุกงานที่เราไปต่างประเทศเกิดขึ้นจากคำเชิญทั้งหมดเลย เราไม่เคยเรียกร้องและพยายามแสดงตัวว่าอยากจะไป แต่เป็นเพราะเขาให้โอกาสและเราก็ให้เกียรติเขา ไม่ปฏิเสธในโอกาสเหล่านั้น”

showroom จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Rotsaniyom ปรับตัวเป็น Inter Brand ที่มีศักยภาพมากขึ้นทั้งเรื่องการออกแบบและคุณภาพของสินค้า เพราะทุกอย่างในจุดนั้นต้องเป๊ะมาก

“เจ้าของ showroom ที่ชวนเราไปร่วมนั้น จริงๆ เขาเป็นเซเลบในวงการแฟชั่นระดับโลกเหมือนกัน ช่วงแฟชั่นวีกเขาส่งข้อความมาในอินสตาแกรมว่าชอบเสื้อผ้าเรามาก อยากมีโอกาสเจอพวกเรา ซึ่งช่วงนั้นพวกเราอยู่ปารีสพอดี ตัวอ๊อฟดีใจมากแต่กิ๊ฟดีใจมากกว่า เพราะกิ๊ฟรู้ว่าเขาเป็นใคร เป็นที่รู้จักในวงการอย่างไร เราก็รีบไปพบเขาเลย เขาเล่าว่าเขาเห็น buyer คนหนึ่งใส่เสื้อผ้าของเราที่ซื้อจากร้านสาขาสยามเซ็นเตอร์ไปซื้อของที่ showroom และเขารู้สึกชอบมาก ขอพลิกป้ายดูชื่อแบรนด์จนเจออินสตาแกรมของเรา สมัยก่อนเราเคยได้ยินเสมอว่างานหรือเสื้อผ้าสักชิ้นบ่งบอกความเป็นเราได้ ซึ่งวันนี้มันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ เสื้อตัวเดียวนำพาเราไปไกลมากนะ เขาเห็นแค่เสื้อตัวนั้นตัวเดียว แทนนามบัตรหรือพรีเซนต์ทั้งหมดที่มี”

อ๊อฟบอกว่าเมื่อก้าวเข้ามาสู่ fashion business แล้ว มันมีรายละเอียดมากมายที่สำคัญพอกัน ถ้าไม่ค้นหาหรือปรับตัวเราก็จะไม่สามารถไปต่อได้

“showroom ทำให้เราต้องทำงานล่วงหน้า สมัยที่ขายที่ประเทศไทยอย่างเดียว ตอนไหนเราขาย AW เราก็ทำ AW ออกมาขาย แต่พอเป็นระบบ showroom เราก็ต้องเตรียมทำ Spring / Summer ของปีหน้าแล้ว บ่อยครั้งก็สร้างความสับสนเล็กๆ ให้กับลูกค้าเพราะเขาจะมาถามกันว่าชิ้นนี้มีขายแล้วหรือยัง”

“เวลาไปต่างประเทศโหดร้ายกว่าตรงที่เรามีโอกาสครั้งเดียวในช่วงออก showroom สั้นๆ นั้น ถ้าคอลเลกชันนี้ทำไม่ดี แป้กปุ๊บ ก็ถือว่าขาดทุน หรือว่าถ้าคอลเลกชันนี้ทำดียอดสั่งซื้อก็จะมากมาย ดูกันที่ยอดขายซึ่งไม่เหมือนกับการขายหน้าร้าน ที่จะปรับแผนรับมือกับยอดขายได้ตลอด แต่การไปกับ showroom เราจะไม่มีเวลาปรับรับมือมันคือการทำให้ดีที่สุด แล้ววัดผลกันเลยว่าเป็นอย่างไร”

Rotsaniyom

Rotsaniyom

Present Perfect Contineo(US)

จากความเชื่อของแบรนด์เรื่องการยอมรับความแตกต่าง สู่การพาตัวแบรนด์ให้ได้รับการยอมรับและอยู่ต่อไปได้เพื่อพิสูจน์ว่าแนวทางความเชื่อนี้เป็นจริงได้เป็นอีกโจทย์ที่สำคัญของ Rotsaniyom

“อีกโจทย์ที่สำคัญสำหรับเราคือเราต้องอยู่รอดให้ได้ เพื่อยืนยันว่าแนวทางที่เรามุ่งมั่นทำมันเป็นจริงได้ ทุกวันนี้ Rotsaniyom เป็นจุดเริ่มต้นเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่ฝันอยากมีแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งเราเริ่มมาจากเงิน 7,000 บาทซื้อผ้าตัดเสื้อยืดขายงาน Fat ทำมาจนถึงตอนนี้ ไม่เคยเข้าระบบธุรกิจ ไม่เคยกู้ เราพยายามบอกกับกิ๊ฟ บอกกับทีมงานทุกคนว่าเราต้องทำให้ได้เพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อพิสูจน์ว่ามันทำได้ มันไปได้จริง ถ้าวันหนึ่งที่แบรนด์เราตายหายไปจริง คนก็จะบอกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่เวิร์ก ต้องทำแบบนี้แบบนั้นสิซึ่งเราจะไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น เราเป็นคนที่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่ดีเราจะทำในสิ่งที่ดีกว่าให้เขาเห็นมากกว่าจะพูดโต้แย้ง เราพยายามปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นแบบนี้”

“อย่างเรื่องเด็กฝึกงาน เราไม่ได้รับเด็กฝึกงานที่เก่งที่สุด เรารับคนที่อยากมาอยู่กับเรา สิ่งที่เราสอนเสมอว่าเวลาเราทำ มันไม่ใช่เรื่องความสวยงามหรืองานฝีมือเพราะความสวยงามเป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่สำคัญคือการสร้างทางเลือกให้สังคม เราอยู่ในฝั่งการออกแบบเราต้องสร้างทางเลือกให้สังคมเสมอ มันอาจจะไม่ใช่ทางเลือกสำหรับคนหมู่มาก แต่มันก็ไม่แน่ว่าวันหนึ่งคนหมู่มากอาจหันมาสนใจก็ได้เหมือนที่เราเป็น”

เช่นเดียวกับการไปสู่ตลาดต่างประเทศที่เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าการทำอะไรอย่างจริงจังก็พาเราไปถึงจุดนี้ได้

“ที่ผ่านมาเราไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นยากหรือยิ่งใหญ่กว่าอะไรนะ เราแค่ทำอย่างตั้งใจ สิ่งหนึ่งที่อ๊อฟกับกิ๊ฟคุยกันเสมอในช่วงเริ่มทำแบรนด์นี้มาด้วยกัน เราจะไม่ยกตัวเราเพื่อไปเล่นในเวทีเขา แต่เราจะทำงานอย่างเต็มที่ให้เขาเห็นเราในที่ของเรา ถ้าเราตั้งเป้าเพื่อให้ใครสักคนมาเห็น หรือใครมายอมรับเราเกี่ยวกับแฟชั่น มันจะเหนื่อยและยากเพราะเป็นการก้าวกระโดดสุดๆ เกินไป ที่ผ่านมาเราทำในส่วนของเราไปเรื่อยๆ ให้คนที่ต้องการเห็นได้เห็นเรา ทำไปเถอะมันมีคนเห็น เหมือนอย่างที่ Vogue Italia เห็นเรา”

Rotsaniyom

“เราเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศครั้งหนึ่งว่า โลกในบางมุมมันเล็กมากจนมีคนเห็นในสิ่งที่เราทำจริงๆ และในบางมุมก็กว้างมากจนเราสามารถหาคนที่ชอบเราเจอ เหมือนอย่างตอนเราอยู่ตลาดนัดจัตุจักรครั้งแรก โลกทั้งใบของเราคือจัตุจักรแต่จริงๆ โลกทั้งใบมันไม่ใช่แค่นี้ พอเราก้าวออกมาจากที่ที่หนึ่งเราจะพบว่าโลกทั้งใบไม่ใช่แค่ที่ๆ เรายืนอยู่ สอนให้เรารู้ว่าชีวิตมีทางออกเสมอ มันไปต่อได้เสมอ เช่นกันกับตอนนี้ถ้าเศรษฐกิจบ้านเมืองเราไม่ได้เราจะมองว่าโลกทั้งใบคือประเทศเรา เรารู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องรับรู้เรื่องนี้ไว้เยอะๆ เราเคยเป็นเด็กมาก่อน เรารู้ว่าบางครั้งการที่เราให้ความสำคัญกับอะไรก็ตามเราจะคิดว่าสิ่งนั้นคือทั้งหมดของชีวิตที่มี และพอผ่านมาได้เราจะรู้ว่าสิ่งนั้นก็อยู่แค่ช่วงเวลาหนึ่ง”

“เรื่อง showroom ที่ปารีสฟังดูยิ่งใหญ่แต่จริงๆ ไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้นหรอก โลกนี้มันกว้างมากจนสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น multistore เหล่านี้เป็น multistore ที่ดีจริงๆ เป็นกำลังใจให้กับเราที่จะพัฒนาคุณภาพและรักษาสิ่งที่เราทำเราเชื่อ และเรื่องคุณภาพเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับพวกเรามาก เพราะยังมีอีกหลาย multistore ดีๆ ทั้งโลกที่เขายังไม่เลือกซื้อของเราไปเพราะโจทย์นี้เหมือนกัน เราก็ต้องปรับไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนเด็กที่เราเคยโดยว่าเรื่องคุณภาพเหมือนกัน ตอนนั้นเราตอบแค่ว่าเราไม่สนใจเราขายสไตล์เราไม่ได้ขายคุณภาพ แต่พอมาตอนนี้ จะคิดแบบนั้นไม่ได้แล้ว ความจริงสอนเราว่าไม่ดีกว่าหรอถ้าเสื้อผ้ามาสไตล์และมีคุณภาพไปพร้อมกัน ถ้าตอบโจทย์ง่ายๆ นี้ไม่ได้ก็ไม่ต่อที่ไหนแล้ว เราบอกตัวเองแบบนี้อยู่”

Rotsaniyom

ภาพ: Rotsaniyom

Rules

  1. ตื่นเช้าต้องกินกาแฟ ตกบ่ายก็ยังต้องกินกาแฟอีก
  2. ต้องรู้จักแบ่งเวลาพักเบรกระหว่างงานและครอบครัว
  3. การบ้างานสำหรับเรามันเป็นเรื่องความรับผิดชอบมากกว่า เราได้รับมอบหมายสิ่งไหนมาเราก็เพียงทำให้ดี

rotsaniyom.com
Facebook | therotsaniyom

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท