จากช่างภาพและเจ้าของโปรดักชันเฮาส์ผู้มีพื้นฐานมาจากฝั่งงานโฆษณา ต้องมาดำเนินธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ชื่อดังอย่างแบรนด์ Saiyart Collection ดุสิต เสมาเงิน ต้องเรียนรู้และค้นหาแก่นแท้ที่ซ่อนอยู่ในงานศิลปะกับชีวิตของผู้คนอย่างไรบ้าง

งานทุกชิ้นของ Saiyart Collection ไม่ใช่การนำไม้เก่ามารีไซเคิลเท่านั้น แต่ใส่ศิลปะลงไป มีเรื่องราว มีคอนเซปต์ ของงานแต่ละชิ้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้งานของ Saiyart Collection มีจุดเด่นแตกต่างจากงานเฟอร์นิเจอร์ไม้อื่นๆ

“ทำไมคนเราต้องมีเฟอร์นิเจอร์ไม้ดีๆ สักชิ้น” เราถาม

“ผมเชื่อว่าบางอย่างคนเราก็ต้องการเปลี่ยนแปลงตลอด และก็มีบางอย่างที่คุณอยากให้อยู่คงทนคลาสสิกเป็นมรดกต่อไป และโต๊ะไม้ของไสยาสน์ก็ไม่ได้อยู่ทนแค่ยุคคุณ แต่จะอยู่คู่ไปถึงลูกหลาน ที่แปลกคือลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ด้วยตัวงานเราไม่ใช่ของที่จะใช้ไป 3 – 4 ปีแล้วสึกหรอ เขาซื้อเพราะเขาต้องการเสพงานศิลปะ บางคนยังพูดติดตลกว่าอยากสร้างบ้านใหม่เพื่อซื้องานของไสยาสน์เพิ่ม”

ถ้าใครที่รักงานไม้และเข้ามาดูกระบวนการทำงานทั้งหมด จะเห็นว่าแต่ละชิ้นไม่ธรรมดา มันเต็มไปด้วยความใส่ใจ การใช้เวลาและฝีมือ ที่มาที่ไปของวัสดุและเรื่องราวที่อยู่ในนั้น

Saiyart Collection, ดุสิต เสมาเงิน

เหตุผลที่เราไม่คุยกับดุสิตในคอลัมน์ทายาทรุ่นสอง เพราะเราพบว่าแก่นแท้ของการตั้งใจรักษาคุณค่าของแบรนด์ Saiyart Collection นี้ไปไกลกว่าการรับสืบทอดกิจการ ในวันที่ไม่มีเสาหลักเขาดึงศักยภาพทีมงานและความเชื่อความศรัทธาให้แบรนด์นี้ไม่ได้ฟื้นคืนชีวิตแค่ไม้เก่า แต่คืนชีวิตและเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งไว้อย่างครบถ้วน ทำให้เรามองเฟอร์นิเจอร์ไม้โต๊ะใหญ่เบื้องหน้าเรานี้ต่างไปจากเดิม

“ผมรู้ตัวว่าไม่เก่งมากเรื่องธุรกิจ แต่ผมก็รู้ตัวอีกเหมือนกันว่าถ้ารักจะเป็นศิลปินหรือทำงานศิลปะก็ต้องทำให้อยู่รอด สิ่งที่ทำได้คือพยายามตามให้ทันโลก ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ต้องยอมรับว่าโลกทุกวันนี้มันหมุนเร็วมาก ผมคงไม่สามารถก้าวนำหน้ามันได้ แต่อย่างน้อยก็ขอก้าวไปกับมัน ไม่หยุดหรือฝืนกับกระแส เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำและหากทำได้ให้อธิบายเรื่องราวให้คนเข้าใจ ให้คนรู้ว่าเราสามารถทำอะไรกับไม้ได้บ้างจากเครื่องมือและและทักษะพื้นฐาน

“ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้มองว่าตัวเองจะชอบงานไม้ ตอนที่ผมแต่งคอนโดตัวเองผมก็ซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ดูทันสมัย จนกระทั้งวันหนึ่งผมพบว่างานโมเดิร์นมันไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว มันอยู่กับเราแค่ปี สองปี เราก็เบื่อก็ต้องเปลี่ยน แต่โต๊ะบางตัวของคุณพ่อที่อยู่บ้าน มันตั้งอยู่ตรงนี้ที่เดิมมา 7 – 8 ปีแล้ว มันไม่โดดเด่นจากเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ในบ้าน แต่ขณะเดียวกันผมไม่เคยรู้สึกว่ามันน่าเบื่อหรือแปลกแยกเลย”

Saiyart Collection
Saiyart Collection
Saiyart Collection

The Beginning

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Saiyart Collection มาจากอาจารย์ไสยาสน์ เสมาเงิน ศิลปินศิลปาธรกิตติคุณ สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2551 ผู้เชี่ยวชาญด้านเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ผสมผสานการออกแบบและแนวคิดที่ร่วมสมัย จนทำให้ Saiyart Collection เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้สัญชาติไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เริ่มจากอาจารย์ไสยาสน์ทำงานเป็นพนักงานธนาคารในส่วนงานสำรวจสถานที่เพื่อก่อสร้างธนาคารสาขา แล้วย้ายไปทำงานเป็นหัวหน้าคนงานของบริษัทรับติดตั้งเฟอร์นิเจอร์จากอิตาลีที่ประเทศซาอุดีอาระเบียและบาห์เรน จึงได้เรียนรู้เรื่องเฟอร์นิเจอร์สำหรับการทำงานในปัจจุบันแม้ว่าจะไม่ใช่งานไม้ แต่ก็เป็นงานถอดประกอบเหล็กและอะลูมิเนียม

ก่อนจะกลับมาทำร้านรับซื้อของเก่ามาซ่อมชื่อร้านร้อยแปดพันเก้าที่ตลาดนัดสวนจตุจักร มีที่มาจากการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และพื้นที่ชนบท ทำให้อาจารย์ไสยาสน์พบเจอล้อเกวียน รางข้าวหมู อุปกรณ์เครื่องใช้ที่ทำจากไม้ ถูกทิ้งอยู่ตามใต้ถุนบ้าน ด้วยความเสียดายคุณภาพและรูปทรงของไม้เก่าจึงตัดสินใจซื้อไม้เก่าเหล่านี้กลับมาที่ร้าน แล้วลองสร้างงานขึ้นมา เป็นการสร้างงานครั้งแรกของไสยาสน์ด้วยวิธีการประกอบล้อเกวียนเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ศาลาบ้าน เรียกว่างาน Folk Art หรือแนวคันทรี่ ความสำเร็จของงานชิ้นนั้นวัดได้จากการมีงานลักษณะนี้วางขายอยู่ในทุกที่ แต่เป็นงานที่นำแนวคิดนี้ไปเลียนแบบ

ในความตึงเครียดจากการเลียนแบบครั้งนั้น อาจารย์ไสยาสน์แปลงเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนางาน จนกลายเป็นแบรนด์ Saiyart Collection ที่บอกเล่าตัวตนในแนวทางที่ร่วมสมัยมากขึ้นและเข้ากันดีกับวัสดุที่ยังมีเรื่องราวอย่างไม้ อย่างงานโต๊ะที่เป็นลายเซ็นของ Saiyart Collection ทำมาจากไม้จากเรือเอี้ยมจุ๊นเก่าที่เคยเป็นพาหนะลำเลียงขนส่งสำคัญก่อนถูกทิ้งร้างเพราะกาลเวลา นอกจากความแข็งแรงและความสวยงามของไม้สัก ไม้ตะเคียน ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เต่ง ยังเต็มไปด้วยร่องรอยการใช้งานและเรื่องราวของชีวิตที่ผูกพันกับเรือ เช่นรูที่เกิดจากแผ่นไม้เจาะเชื่อมกับกระดูกงู จนเกิดเป็นลวดลายเฉพาะ

Saiyart Collection ,ไสยาสน์ เสมาเงิน

เดิมลูกค้าจะชินกับการเห็นโต๊ะที่เป็นไม้เรียบๆ ก็จะมีความรู้สึกว่าทำไมงานของไสยาสน์มีตำหนิ แต่เมื่อบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปลูกค้าก็เข้าใจและเห็นคุณค่าสิ่งนี้

“มีเรื่องตลกคือบางครั้งที่โต๊ะออกมาเรียบร้อยสวยงามมากไป ลูกค้าบอกกับเราว่า ‘ขอโทษนะครับอาจารย์ ช่วยเจาะให้มันเป็นรูปและอุดรูให้มีลายหน่อยได้ไหมครับ’ กลายเป็นแบบนั้นเลย”

ดุสิตเล่าว่า สมัยก่อนวงการเฟอร์นิเจอร์ไม้จะนิยมทายูนิเทนให้เกิดความเงา ซึ่งสำหรับ Saiyart Collection เชื่อเรื่อง finishing หรือพื้นผิวสัมผัสในงานที่เสร็จแล้วก็ต้องให้ความรู้สึกว่านี่คือไม้ มีความนุ่มและพื้นผิวที่แสดงธรรมชาติที่สุด

ตลอดเวลาเราได้ยินดุสิตพูดถึงความเป็นไสยาสน์อยู่เสมอ แล้วความเป็นไสยาสน์เป็นอย่างไร เราถาม

Life is Calling

“ความเป็นไสยาสน์ของ Saiyart Collection ลำดับแรกคือการต่อชีวิตไม้

“เราเชื่อว่าชีวิตของไม้อยู่คู่กับชีวิตของผู้คน เริ่มตั้งแต่เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน ให้ร่มเงาเมื่อยามมีชีวิต เป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ ที่พักและยานพาหนะ โต๊ะตัวนี้อาจจะเคยเป็นเรือที่วิ่งมาแล้วกว่า 30 ปี เราอาจไม่รู้ว่าเรือลำนี้ผ่านการบรรทุกและลำเลียงสิ่งใดมาบ้าง แต่อย่างน้อยมีคนที่อยู่อาศัยกับเรือลำนี้มาช่วงชีวิตหนึ่งก่อนจะกลายเป็นโต๊ะตัวหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราว”

Saiyart Collection
Saiyart Collection
Saiyart Collection
Saiyart Collection

Saiyart Artist Carpenter

ความเป็นไสยาสน์ลำดับที่สองคือ ความประณีตที่สืบทอดภูมิปัญญาช่างไม้ไทยผสมกับการพัฒนางานในแบบของไสยาสน์เอง

“ไม่ใช่แค่ตัวคุณพ่อ แต่เป็นสิ่งที่เราอยากให้ช่างไม้ทุกคนก้าวข้ามจากช่างไม้มาเป็นศิลปินสร้างสรรค์ เพราะภูมิปัญญาของช่างไม้ไทยมีมากกว่าการทำแค่วงกบประตู”

ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ขององจารย์ไสยาสน์ผสมผสานเข้ากับเทคนิคและภูมิปัญญาของช่างไม้โบราณทำให้ Saiyart Collection แตกต่างจากแบรนด์เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เช่น การเข้าไม้หรือการเชื่อมต่อชิ้นไม้อย่างพอดีและแน่นหนา การเพาะไม้หรือการต่อขนาดความกว้างของไม้ให้ได้ขนาดที่ต้องการ แต่ปัจจุบันอาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักของไม้เราจริงใช้วิธีเจาะขันเพื่ออัดไม้เข้าหากัน

“สำหรับผมแล้วไม้เป็นสิ่งมีชีวิต คำว่ามีชีวิตหมายถึงมีการยืดหดขยายตัวอยู่ตลอดตามอุณหภูมิรอบตัว และข้อดีของไม้เก่าคือไม้ค่อนข้างอยู่ตัวแล้วขณะที่ไม้ใหม่ๆ จะมียางอยู่ในตัว มีความชื้น”

All You Need is Art

ลำดับที่สามคือ การสร้างศิลปะรับใช้สังคม

“คุณพ่อเป็นคนที่มีทั้งภูมิปัญญาเดิมและลองผิดลองถูก นอกจากเรื่องการต่อชีวิตไม้ คุณพ่อเป็นคนชอบงานศิลปะมาก เวลาเดินทางท่านจะชอบดูงานประติมากรรมต่างประเทศมาก และยังรู้สึกอิจฉาทุกครั้งที่เห็นงานศิลปะมากมายในที่ต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ท่านเชื่อเสมอคือ ศิลปะควรจะอยู่คู่กับคน เพราะนอกจากจะจรรโลงใจยังสะท้อนสังคมได้อีกรูปแบบหนึ่ง”

เดิมทีอาจารย์ไสยาสน์อยากทำงานศิลปะล้วนๆ เลย แต่ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นศิลปินก็ต้องอยู่รอดให้ได้และต้องทำให้เข้าถึงคนให้ได้ หากคนเราเสพศิลปะด้วยการมองและคิดเองเพียงอย่างเดียวซึ่งคนจะเข้าถึงยาก วิธีการทำให้งานศิลปะเข้าถึงคนของอาจารย์ไสยาสน์ก็คือการทำงานศิลปะให้มีฟังก์ชัน หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีศิลปะผสมผสานเข้าไป แทนที่จะเป็นประติมากรรมเฉยๆ ก็สามารถใช้งานได้ โดยให้ความสำคัญกับพื้นฐานการออกแบบ

“สิ่งหนึ่งที่นักออกแบบมักจะลืมคือเรื่องพื้นฐานของการใช้งานที่ควรจะเป็น ความสูงของโต๊ะ เก้าอี้ มุมองศาพนักพิง เป็นตัวเลขพื้นฐานที่นักออกแบบรุ่นใหม่มักจะมองข้ามโดยมุ่งสนใจแต่หน้าตาและความสวยงาม”

รวมไปถึงงานประติมากกรรมขนาดเล็กอย่าง table top ที่มีที่มาจากความที่ประติมากรรมทั่วไปมีขนาดใหญ่มาก ลูกค้าที่จะเข้าถึงได้จำกัดอยู่เพียงบ้านหรือองค์กรขนาดใหญ่ อาจารย์ไสยาสน์จึงเริ่มทำงานชิ้นขนาดเล็กลงมา

“คุณพ่อเก่งเรื่องจัดวางองค์ประกอบมาก วิธีการคือขึ้นกับวัตถุดิบที่มี บ้างเป็นลูกเปตอง เครื่องมือช่าง ท่านจะเอาสิ่งเหล่านั้นมาสเกตช์ในหัวก่อนทำขึ้นมา จัดแสดงและจำหน่ายไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในปัจจุบันทีมงานยอมรับว่าจะยังไม่ผลงานทำใหม่ๆ ขึ้นมาจนกว่าจะไปให้ถึงแก่นแท้ของความเป็นไสยาสน์ เสมาเงิน”

Saiyart Collection
Saiyart Collection
Saiyart Collection

Bound to Be

ความไสยาสน์ลำดับที่สี่คือ ความผูกพันระหว่างผลงานและศิลปินช่างไม้ผู้สร้าง

ช่วงที่อาจารย์ไสยาสน์เสียชีวิต ดุสิตบอกเราว่าเขาไม่มั่นใจเลยว่าพวกเขาทีมงานทุกคนจะก้าวต่อไปได้ไหม

“พวกเราไม่ต้องการได้รับคำชมเพียงแค่งานดีงานสวย แต่แค่บอกว่า ‘นี่แหละ งานไสยาสน์’ และเราก็ได้รับคำนั้นมาจริงๆ จึงมั่นใจว่าความเป็นไสยาสน์ที่คุณพ่อหล่อหลอมพวกเรานั้นอยู่ในตัวทีมงานทุกคนจริงๆ เราเรียกคอนเซปต์ของงานช่วงหลังที่พวกเราก้าวข้ามความเสียใจนี้ว่า ผลิใบ แสดงถึงเรากำลังจะเดินต่อ เช่นเดียวกับในอนาคตที่เราต้องคิดต่อไปว่าเราจะไปในทิศทางไหน”

งานของ Saiyart Collection มีสองรูปแบบ หนึ่งคือ งานที่มาจากความต้องการของลูกค้า และสองคือ งานที่ช่างจะทำกันอยู่ตลอดเมื่อมีเวลา โดยดุสิตเป็นคนคิดคอนเซปต์รวมและคิดภาพคร่าวๆ ก่อนตกผลึกร่วมกันกับช่างโด่งผู้ทำงานใกล้ชิดอาจารย์ไสยาสน์และเข้าใจความเป็นไสยาสน์ไม่น้อยกว่าใคร โดยร่างบนกระดาษจะเปิดโอกาสให้ช่างที่รับผิดชอบมีส่วนร่วมในการคิด และพัฒนาแบบอยู่เรื่อยๆ ในกระบวนการผลิตจนออกมาเป็นงานที่สมบูรณ์

ดุสิตยังบอกอีกว่า เหตุผลที่ทำให้งานแต่ละชิ้นของ Saiyart Collection มีเอกลักษณ์และมีคุณค่าในตัวเองเป็นเพราะงานเหล่านี้ไม่ใช่งานอุตสาหกรรม ช่างทุกคนของไสยาสน์ฯ (ยกเว้นช่างสี) จะได้รับการมอบหมายงานเป็นชิ้นงานไม่ใช่งานเป็นชิ้นส่วน เช่น คนนี้ทำเก้าอี้แตงโม ก็ต้องทำทั้งตัว ไม่ใช่คนนั้นทำส่วนขา คนนั้นทำประกอบ เพราะฉะนั้นช่างทุกคนจะใส่ใจและใส่ตัวตนลงไปในงานตัวเอง ทุกคนรู้สึกว่างานนี้เป็นงานของฉัน งานที่ออกมาจึงมีความผูกพันกับตัวผู้สร้าง โดย Saiyart Collection จะออกแสดงงานปีละหนึ่งครั้งที่งานสถาปนิก เหล่าทีมช่างก็จะคอยถามว่าเก้าอี้ตัวนี้ของผมเป็นยังไงบ้าง มีคนสนใจไหม ซื้อไปหรือยัง

Saiyart Collection
Saiyart Collection

We Just Want the World Dance, Forget About the Price Tag

ดุสิตเล่าว่า สิ่งหนึ่งที่ลูกค้าต้องยอมรับคือราคาที่สูง ส่วนหนึ่งเพราะไม้จริงที่ทั้งทำงานยากจำเป็นต้องใช้เวลากว่าปกติ แต่ถึงแม้ราคาสูงแต่มั่นใจได้เลยว่างานของ Saiyart Collection ไม่ใช้งานราคาแพง

ราคาแพงคือราคาของสิ่งที่ลูกค้าได้รับไม่คุ้มค่ากับที่ต้องจ่าย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนหรือวัสดุที่จำกัดการทำงาน ดุสิตมองเป็นความท้าทายและโจทย์ที่ต้องแก้ไขต่อไป

“วัสดุนับวันจะหายากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ปฏิเสธว่ามีบ้างที่เราจำเป็นต้องใช้ไม้ใหม่ในการทำงาน แต่ยังคงพยายามใช้ไม้เก่าให้มากที่สุด จากที่เคยหาไม้เก่าขนาดยาวมากก็ต้องคิดหาวิธีต่อไม้ หรือขึ้นโครงสร้างไม้ก่อนด้วยไม้ใหม่ผสมกับการแปะไม้เก่าซึ่งใช้เวลามากกว่าเดิมหลายเท่า เราเรียกงานลักษณะนี้ว่า new bound เล่นคำกับคำว่า new born เกิดใหม่ กับ bond ให้ความหมายเรื่องการเชื่อมสัมพันธ์ประสานกัน

“เรื่องบุคลากรก็เป็นเรื่องสำคัญมากนะ คนไทยไม่อยากทำงานใช้แรงเราจึงมักจะเห็นแรงงานต่างด้าวทำงานเหล่านี้ แต่สำหรับที่นี่เราไม่มีแรงงานต่างด้าวเพราะที่นี่ไม่ใช่งานใช้แรง แต่เป็นงานใช้ทักษะ”

ดุสิตเล่าเพิ่มเติมว่า มีกราฟิกดีไซเนอร์จากนิวยอร์กมาขอฝึกงานไม้กับ Saiyart Collection หลายเดือนแล้ว ออกแบบสร้างทำโต๊ะขึ้นมาหนึ่งตัว นอกจากเขาเรียนรู้จาก Saiyart Collection ดุสิตและทีมช่างเองก็ได้เรียนรู้จากนักศึกษาฝึกงานด้วย ทั้งยังรู้สึกดีที่ยังมีคนรุ่นใหม่สนใจงานไม้อยู่

ถ้าไม้ไม่เป็นงานศิลปะกับเฟอร์นิเจอร์ มีวิธีคืนชีวิตให้ไม้อย่างไรได้อีกบ้าง

“ใช้งานให้คุ้มค่า ทุกวันนี้คนเราใช้ทรัพยากรต่างๆ ฟุ่มเฟือยเกินไป เราไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของมัน จริงๆ มันสะท้อนถึงตั้งแต่การเริ่มต้นตัดสินใจซื้อหรือเลือกเสพสิ่งใดเข้ามาในชีวิตแล้ว ในยุคนี้ที่มีข้อมูลให้เลือกมากมาย คนก็ต้องการอะไรที่สะดวกได้มาง่าย ย่อยมาแล้ว ในทางตรงกันข้ามคือของเหล่านี้ก็หมดคุณค่าเร็วเช่นกัน เมื่อหมดคุณค่ามันก็อยู่กับเราได้ไม่นาน ใช้มันไม่คุ้มค่าทำให้มันเป็นขยะ

“ไม่ใช่แค่สิ่งของหรอก แม้กระทั้งความคิดกับทุกเรื่องรอบตัวในยุคนี้เลย หากเป็นของที่คนทำตั้งใจทำมากๆ สิ่งนั้นก็จะมีคุณค่าในตัวเองจนเป็นที่ต้องการ”

เราทิ้งท้ายคำถามสุดท้ายกับดุสิตถึงการนำพาแบรนด์ Saiyart Collection นี้ว่าจะไปถึงจุดไหน

“สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ของผมตอนนี้คือจะต้องไม่ทำให้เสียชื่อไสยาสน์ รักษาคุณภาพ การออกแบบ พัฒนาแบรนด์และสินค้าต้องไม่อยู่กับที่ ที่สำคัญ เราอยากเป็นแหล่งความรู้ ส่งเสริมอาชีพช่างไม้ ใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นเรื่องงานไม้ เรายินดีต้อนรับเสมอ เพราะผมอยากให้มันไม่จบอยู่ในยุคของผม”

Saiyart Collection
ภาพ:  Saiyart Collection

Save

Save

Save

Rules

  1. ทำในสิ่งที่ชอบ
  2. จริงจังและทำสิ่งนั้นให้ดีมากพอจนทำให้คนอื่นชอบในสิ่งที่คุณทำ
  3. ก้าวให้ทันโลก อย่ายึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ หรือความสำเร็จเก่าๆ
Facebook | Saiyart Collection

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan