ความงามที่ซ่อนอยู่ภายในจะสำคัญอะไรถ้ามันสวยแต่ไม่สบาย

ผู้เขียนพยายามแล้วที่จะหาคำขึ้นต้นเท่ๆ แต่ใจร้อนค่ะ เรื่องราวด้านล่างสนุกเกินกว่าจะเกริ่นเล่า ชุดชั้นในที่มีจุดเริ่มต้นจากช่างตัดเสื้อที่แพ้ผ้าเส้นใยสังเคราะห์ บวกกับการตัดเย็บแบบโบราณ ทั้งแบบทรงน่ารักจนอยากจะใส่เป็นเสื้อด้านนอก

ออกจะเขินๆ ที่ The Entrepreneur จะพาคุณมารู้จักแบรนด์ชุดชั้นในแบรนด์ไทยน่ารักแบรนด์หนึ่ง ซึ่งต่อให้คุณเป็นผู้ชายที่แอบหลงหรือตั้งใจเข้ามาอ่าน เราก็ ‘ยังอยาก’ แนะนำให้คุณรู้จัก Younglek Under (ยังเล็ก) แบรนด์ชุดชั้นในสุดคราฟต์ของ เล็ก-ภัทรสิริ อภิชิต และคุณแม่ อยู่ดี ทั้งเรื่องราวแนวคิดการทำงานที่รักและความมุ่งมั่นสร้างสิ่งใหม่ๆ แบบที่ Younglek ตั้งใจ

และจะน่ารักมากหากคุณผู้ชายที่อ่านอยู่ ใช่ค่ะ คุณนั่นแหละจะหันไปทางไหน อ่านแล้วกดส่งลิงก์บทความนี้ให้แม่ น้องสาว หรือแฟนสาว ของคุณด้วย ซื้อไปเซอร์ไพรส์ก็ได้นะคะ เราไม่บอกใครหรอก

ยังเล็ก

ยังเล็ก

เริ่ม-ยังเล็ก

ด้วยพื้นฐานที่เป็นนักเรียนออกแบบและทำงานกองบรรณาธิการนิตยสารมากว่า 10 ปี ทำให้เล็กมีนิสัยชอบทำอะไรแปลกใหม่ไม่ซ้ำกับที่เคยมีในตลาด

จึงมาลงเอยที่ชุดชั้นใน เพราะเสื้อผ้าเป็นหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เธอสนใจตั้งแต่เด็กเพราะคุณแม่เป็นช่างตัดเสื้อ ซึ่งนอกจากเสื้อผ้าทั่วไปแล้วท่านยังเคยรับตัดเย็บชุดชั้นใน เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีชุดชั้นในสำเร็จรูปขายแบบในปัจจุบัน ประกอบกับเมื่ออายุมากขึ้นแม่พบว่ามีอาการแพ้ผ้าเส้นใยอีลาสติก (Elastic Fiber) เส้นใยไนลอน (Nylon) จึงเป็นที่มาของการตัดชุดชั้นในใส่เอง

“เริ่มจากเรารู้สึกว่าชุดชั้นในผ้าสังเคราะห์ที่ใช้อยู่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ยิ่งเราต้องทำงานอยู่บ้านเป็นหลัก ไม่ได้อยู่ในห้องแอร์เย็นสบาย จึงปรึกษาแม่และให้ท่านทำขึ้นมาให้เราลองใส่ก่อน

“แต่ไหนแต่ไรมาเราพบว่าเราไม่ค่อยเจอเสื้อชั้นในแบบที่ถูกใจในท้องตลาด เพราะมักจะมุ่งเน้นสัดส่วนหรือความสวยงามคนละแบบกับที่มองหา ส่วนตัวเราชอบสไตล์โบราณและเก็บสะสมภาพชุดชั้นในโบราณอยู่แล้ว พอมีโอกาสเราก็รู้สึกอยากทำสิ่งนี้ อาจจะมีคนที่ชอบสไตล์วินเทจโบราณ มีคนที่แพ้ผ้าเส้นใยพลาสติกเหมือนกัน หรือมองหาความสบายแบบที่เรามองหา”

เราถามเล็กถึงภาพชุดชั้นในโบราณแบบที่เธอชอบว่าใช่แบบลูกไม้ระบายอย่างที่เรานึกภาพอยู่ตอนนี้หรือเปล่า โชคดีที่เธอบรรยายแบบทรงฝรั่งเศสให้เราฟัง ก่อนจะแอบคิดตามแล้วยืดหลังตรงไหล่ตั้ง

“จะเป็นทรงแบบฝรั่งเศส ผ้าลินินสีขาวมีลูกไม้ประดับริมบ้าง ใช้เชือกรัดแทนยางยืด เป็นยุคที่ผู้หญิงยังใส่กระโปรงสุ่มและกางเกงชั้นในยังเป็นแบบยาว แต่ก็คิดแล้วว่าทำจริงคงจะยาก ในช่วงเริ่มต้นจึงคิดแบบทรงที่คนจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า เหมาะกับการใช้งานและรสนิยมที่พอจะเป็นปัจจุบัน”

Younglek เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเล็กกับแม่ โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่พบเห็นและสิ่งที่ชอบแล้วทดลองออกมาเป็นทรงแบบต่างๆ อย่างการใช้เทคนิคเย็บแบบสามมิติที่ใส่แล้วเข้ากับรูปร่างของคนมากกว่า

“ตอนแรกเราก็แอบคิดเหมือนกันว่าจะลงมือเย็บเองเลย แต่ความจริงมันยากมาก มันมีส่วนที่ต้องการความละเอียดในการตัดเย็บชุดชั้นใน จึงให้ช่างที่ทำงานเย็บเสื้อกับแม่อย่างยาวนานช่วยเรื่องเย็บให้ โดยกระบวนการเริ่มจากแม่เป็นคนทำแพตเทิร์นและตัด ก่อนจะส่งต่อให้ช่างเย็บซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้จักรเย็บปกติ ไม่ได้โบราณถึงขนาดใช้มือ”

อย่างที่เราคิดไว้ การเย็บเสื้อชั้นในเป็นงานละเอียด ใช้เวลานานกว่าเย็บเสื้อธรรมดาอีก

ยังเล็ก มาหลงรัก Younglek Under ชุดชั้นในคราฟต์และการตัดเย็บแบบวินเทจ

เล็ก-พิเศษ-ไม่ยำ-ไม่งอก

ความแตกต่างระหว่าง Younglek กับชุดชั้นในสำเร็จรูป คือการใช้เทคโนโลยีในการผลิตผ้า ซึ่งทำให้ผ้ายืดหยุ่นไปกับรูปร่างที่แตกต่างกัน

เมื่อ Younglek ตั้งโจทย์ว่าจะใช้ผ้าเส้นใยธรรมชาติแทนผ้าเส้นใยสังเคราะห์ เล็กและแม่จึงต้องย้อนกลับมาดูแพตเทิร์นและกระบวนการตัดเย็บว่าทำอย่างไรให้ผ้าที่ไม่ยืดใส่แล้วสบาย ซึ่งไม่ง่ายอย่างที่คิด ทั้งยังมีเรื่องขนาดของชุดชั้นในที่มีทั้ง S M L ต่างจากแต่ก่อนที่จะวัดตัวตัดให้พอดีกับแต่ละคน

“เราฝันอยากทำชุดชั้นในสำหรับผู้หญิงทุกคน เราเชื่อในการเคารพรูปร่างและส่วนโค้งเว้าของตัวเอง แต่พอมาทำจริงๆ แล้วถึงรู้ว่าชุดชั้นในมีรายละเอียดกว่าที่เราคิดเยอะมากๆ (เสียงไม้ยมกอีกประมาณ 6 ตัว) เพราะฉะนั้นเราคงต้องเริ่มไปทีละก้าวจริงๆ เราคงยังไม่สามารถไปถึงการเป็นชุดชั้นในสำหรับผู้หญิงทุกคนได้ในเร็ววัน

“แบบแรกๆ ที่เราทำออกมาอาจจะยังไม่ตอบโจทย์คนทุกรูปร่าง บางครั้งไม่ใช่เรื่องของรูปร่างด้วย เป็นเรื่องของทัศนคติ พอได้ทำเอง ไปขายเอง ไปเจอลูกค้า ทำให้เราเจอคนที่อาจจะไม่เหมือนเราเลยแต่ก็ชอบสิ่งที่เราทำ บางคนก็เข้ามาถามว่านี่ชุดว่ายน้ำหรือเปล่า เพราะคนจะไม่ชินกับชุดชั้นในที่มีลวดลายหรือรูปทรงแบบนี้”

นอกจากความสบาย เราถามเล็กถึงความรู้สึกของการลองใส่ชุดชั้นใน Younglek ในวันที่เธอค้นพบแบบทรงที่ใช่

“พอเราชอบอะไรที่วินเทจ เราก็จะรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นตัวเองในกระจกด้วยชุดแบบที่เราอยากใส่และยิ่งใส่สบาย ปกติกางเกงชั้นในสำเร็จรูปผ้ายืดมันก็จะแนบพอดี แต่ทรงของเราไม่ใช่แบบนั้น มันจะมีความพองๆ ซึ่งเราใส่แล้วเราชอบตัวเองในกระจกมากๆ มันน่ารัก”

สารภาพว่า จังหวะที่ได้ยินเล็กพูดถึงภาพในหัวตอนนี้ ทำเอาเรากรี๊ดตามในใจ ยากเหลือเกินค่ะที่จะถ่ายทอดออกมาให้คุณผู้อ่านเข้าใจได้ เพราะสำหรับสาวหัวใจวินเทจแล้ว เวลาเราเจอความวินเทจที่ตามหามานาน คำว่าน่ารักของเราที่ออกจากปากมันอธิบายยากเหลือเกิน แต่แน่ล่ะ มันไม่ใช่ความน่ารักที่แค่น่ารัก แต่เป็นน่ารักที่มีไม้ยมกในท่อนสร้อย (น่ารักมากๆ ว่างั้น) ใช่แล้ว น่ารักมากๆ

ยังเล็ก ยังเล็ก

Under and Easy Wear

พักชมสิ่งที่น่าสนใจสักครู่ ถึงเวลาขายของแล้วคุณผู้ชม

โดยสรุปแล้วสินค้าของ Younglek มีอะไรบ้าง

“เราเริ่มจากเอาตัวเองเป็นหลัก อย่างเราอยู่บ้านมากกว่าออกไปข้างนอก เราก็อยากที่จะอยู่บ้านอย่างสบายที่สุด และในความสบายนั้นเราก็อยากสวยงามน่าใช้ด้วย เลยกำหนดไว้คร่าวๆ ว่าเป็น under and easy wear นั่นคือมีทั้ง underwear เสื้อชั้นใน กางเกงชั้นใน และ easy wear ที่ทำเป็นกางเกงขาสั้นใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง”

สินค้าชุดแรกของ Younglek เป็นกางเกงชั้นในอย่างเดียว ซึ่งทำให้เล็กมีเวลาเตรียมตัวสต็อกสินค้าไว้ก่อนระยะหนึ่ง แต่พอเริ่มทำเสื้อชั้นในซึ่งเธอมีช่างเย็บคนเดียว เพราะฉะนั้นการทำสต็อกเป็นเรื่องไม่ง่าย จึงเป็นการสั่งล่วงหน้า แต่วิธีการนี้มีข้อดี คือลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าอยากได้ผ้าลายไหน แบบทรงไหน พร้อมขนาดของตัวเองซึ่ง Younglek เข้าใจดีถึงความหลากหลายระหว่างสัดส่วนของร่างกายด้านบนและล่าง คนที่ข้างบนไซส์ M ข้างล่างอาจจะเป็นไซส์ S ดังนั้นการผลิตตามลูกค้าสั่งจะช่วยจัดการเรื่องนี้เพียงแต่ต้องใช้เวลารอ

“เราไม่อยากสนับสนุนการผลิตเยอะๆ เพื่อเหลือออกมาเป็นเศษทิ้งขว้างไม่มีค่าและค่าแรงในโรงงานก็ถูกมาก แต่ของ Younglek นอกจากค่าแรงที่สมเหตุสมผลแล้ว เราเรียกช่างเย็บว่าพี่ทุกคน เพราะเห็นเขามาตั้งแต่เรายังเด็ก เราอยากให้ทุกคนรู้สึกดีกับการทำงานด้วยกัน พอเขารู้ว่าเราจะทำแบรนด์ชุดชั้นในเขาก็ตื่นเต้นไปด้วย สิ่งนี้เป็นเหมือนงานทดลองความฝันของการมีแบรนด์ของตัวเองแบบที่เราชอบ งานที่พัฒนาผลิตภัณฑ์เราจะทำได้หรือเปล่า ซึ่งเสียงตอบรับถือว่าโอเคทั้งๆ ที่มันอาจจะแปลกใหม่สำหรับคนทั่วไป”

ยังเล็ก ยังเล็ก

I’m Not A Girl, Not Yet A Women

เราถามเล็กว่า Younglek ของเธอจะเป็นอย่างไรเมื่อโตขึ้น

“เราทำแบรนด์นี้จากความสนใจส่วนตัว โดยที่ไม่ได้มองว่าแบรนด์ยังเล็กจะต้องความสำเร็จในเวลาอันสั้นนี้ เราทำเพราะเราอยู่กับมัน เราทำเพราะเราใช้เอง ไม่อยากจะเร่งว่าเราต้องเป็นที่รู้จักหรือคนต้องมาให้ความสนใจแบรนด์เรากันเยอะๆ เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เรารู้อยู่แล้วว่าคนที่ชอบแบบเรามีอยู่ไม่เยอะ”

สิ่งหนึ่งที่เล็กคิดถึงและให้ความสำคัญอยู่เสมอคือ เธอไม่สนับสนุนการซื้อและการบริโภคเกินความจำเป็น

“เพราะฉะนั้นเราไม่อยากให้ของของเราเป็นของตามแฟชั่นที่เห็นสวยแล้วก็ซื้อ เราจึงไม่ได้มีแผนการตลาด ไม่กดดันตัวเองว่าต้องมีสินค้าออกมาเยอะๆ ให้คนเลือก เราแค่อยากจะทำ ทำยังไงก็ได้ให้ตัวเองไม่เบื่อสิ่งนี้และทำมันต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่เราจะยังอยู่ตรงนี้ อยู่ในที่ที่หากเขาต้องการเขาจะมองเห็นเราเสมอ

“เราอยากจะค่อยๆ ทำ ค่อยๆ พัฒนา เพราะเป็นงานที่มีรายละเอียดเยอะมาก และถ้าหากเรากวาดไปกว้างๆ ก่อน เราก็อาจจะทำอะไรไม่ดีเลยสักอย่างเดียว”

เล็กบอกว่า ส่วนหนึ่งที่เธอเลือกจะทำ Younglek ด้วยแนวคิดแบบนี้ เป็นเพราะเธอมีพื้นฐานจากการเรียนออกแบบซึ่งสอนให้เธอตั้งโจทย์แล้วออกแบบสิ่งที่ไปตอบโจทย์นั้น สิ่งที่เล็กทำไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตามที่ผ่านมา ทำหนังสือหรือทำแบรนด์ Younglek ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการหาโจทย์ที่น่าสนใจจากช่องว่างที่พบ และมันไม่ได้แค่ที่การออกแบบเท่านั้น แต่ยังผสมผสานกับงาน craft หรืองานทำมือแบบที่เธอสนใจ

“เราเองสนใจงานทำมืออยู่แล้วและเราก็เป็นสื่อด้วย เมื่อมองภาพรวมของวงการในทุกวันนี้ เราพบว่าคนทำงาน craft เยอะขึ้น แต่ว่าทำไมสุดท้ายมันกลายเป็นงานคราฟต์ที่ออกมาเหมือนๆ กันไปหมด อาจเป็นเพราะไม่ได้มีโจทย์ที่แตกต่างแต่แรก พอไม่มีโจทย์ที่แตกต่างของมันก็ออกมาเหมือนกัน

“ในขณะที่เรามองว่าคำว่า craft จริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้น ถ้าเรานึกถึงคุณลุงหลายๆ บ้านที่สานตระกร้าหรือเครื่องจักสานสักอย่าง นอกจากขนบวิธีและขั้นตอน เสน่ห์ของงานฝีมือคือคนทำที่ใส่จริตของตัวเองลงไป เช่น ลุงคนนี้ขี้เกียจหน่อย ตัวหวายหรือเส้นตอกก็อาจจะเป็นเส้นใหญ่ๆ ไม่เนี้ยบมาก ออกมาเป็นตระกร้าแบบหนึ่ง ขณะที่ลุงอีกคนเป็นคนละเอียดมาก งานก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง มันไม่มีถูกหรือผิด จะว่าไปอาจเป็นเพราะระบบการศึกษาที่สอนให้เราเคยชินกับการทำให้เหมือนๆ กัน มันก็เลยกลายเป็นว่า ทำงาน craft ก็จริง แต่ไม่ต่างจากงานอุตสาหกรรม เพราะทำออกมาก็เหมือนกันไปหมด ไม่ได้ใส่จริตตัวเองลงไป”

ได้ยินได้ฟังแบบนี้แล้วใครจะทนไหว อยากจะซื้อแล้วใส่เสียตรงนั้น พูดไปก็ขนลุกค่ะ หลังจากตัดสินใจเลือกแบบทรงและสีอยู่เป็นเวลานาน (นานกว่าการพูดคุยเรื่องราวด้านบน) เราก็รับเสื้อและกางเกงชั้นในมาอุปการะ ระหว่างรีบเขียนบทความนี้อยู่ก็ใจอยู่ไม่สุขเลย ลังเลว่าจะถอดเทปหรือถอดเสื้อไปลองชุดชั้นในก่อนดี

ถ้าบทความนี้เป็นภาพยนตร์ ย่อหน้าก่อนก่อนสุดท้ายนี้คงเป็นเหมือนฉากเบื้องหลังผ้าหลุด เอ้ย ภาพหลุด ที่ไม่มีสาระใดๆ เมื่อเทียบกับเนื้อหาบทความทั้งหมด แต่ผู้เขียนก็ยืนยันจะปิดท้ายบรรยากาศไว้อย่างนี้ เพราะมีให้เลือกระหว่าง 4 บรรทัด กับการรีวิวพร้อมภาพ แน่นอนคุณผู้อ่านไม่อยากเห็นตัวเลือกหลังแน่ สวัสดีค่ะ
(จบจริงๆ แล้ว)

ยังเล็ก

ภาพ: Younglek

Rule

  1. รักษาสมดุลชีวิต ด้วยการหากิจกรรมที่พาตัวเองออกมาจากคอมพิวเตอร์ เช่น อบขนมบ้าง เย็บเสื้อตัดเสื้อบ้าง บ่อยครั้งที่กิจกรรมเหล่านี้สร้างสมาธิช่วยให้เราคิดงานออก
  2. ออกกำลังกาย ก่อนหน้านี้เราไม่ชอบทำอะไรเป็นกิจวัตร แต่การเล่นโยคะนี้นอกจากช่วยให้ร่างกายตื่นตัวแล้ว ยังสอนเรื่องการลดอัตตา จากที่เคยชินกับการเป็นคนเก่งทำทุกอย่าง ในห้องเรียนโยคะเราเป็นนักเรียนที่เรียนอ่อนที่สุด
  3. เวลาจะทำงานอะไรสักอย่าง เราไม่ค่อยคิดว่าทำแล้วจะได้อะไร แต่มักคิดว่าเราจะได้ทำอะไรมากกว่า

    Facebook | younglekUNDER
    Instagram | @younglek.co

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

มนูญ ทองนพรัตน์

ชอบไปบ้านคนอื่นแต่ชอบอยู่บ้านตัวเอง ตื่นเต้นกับความคิดของคนที่มีต่อที่อยู่อาศัย เพราะบ่อยครั้งที่เรื่องเล่าถึงเรื่องราวรอบๆ ตัวจะบอกถึงเรื่องจริงที่อยู่ข้างในตัวได้เสมอ