เหิร-ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ศิลปินหนุ่มเจ้าของแกลเลอรี่ Seescape แห่งเชียงใหม่ นัดพบเราที่บ้านหลังสวยของเขาซึ่งอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองนัก เมื่อก้าวเข้ารั้วบ้าน เราก็สะดุดตากับกรอบหน้าต่างโลหะสวยแปลกหลากรูปทรง ตั้งแต่วงกลมจนถึงก้อนเมฆแสนละมุน ซึ่งติดอยู่บนประตูและกำแพง

นี่คือ ‘ทวิภพ’ แบรนด์หน้าต่างทำมือที่ชื่อสื่อถึงการเป็นตัวกลางระหว่างภายในที่อยู่อาศัยและธรรมชาติภายนอก (ชาวทวิภพมักเรียกสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นว่า ‘ช่องเปิด’ แทน ‘หน้าต่าง’ เพื่อให้รู้ว่างานพวกเขามีความอิสระกว่าหน้าต่างทั่วไป) ทวิภพเป็นทั้งธุรกิจใหม่เอี่ยมอายุราวครึ่งปีของต่อลาภกับเพื่อนหุ้นส่วนอีก 3 คนคือ ฬุริยา สิงเห, ธารวิมล ขันสุธรรม และ ตฤณ พูลทรัพย์ รวมถึงเป็นสิ่งที่ต่อลาภพูดเต็มปากว่าคืองานศิลปะชิ้นใหม่

อะไรทำให้ศิลปินลงมือออกแบบกรอบหน้าต่าง อะไรทำให้ทวิภพกลายเป็นธุรกิจแทนการทำเป็นคอลเลกชันจัดแสดงในแกลเลอรี่

ต่อลาภและเพื่อนนั่งลงบนโซฟา ย้อนเล่าเรื่องธุรกิจที่เกาะเกี่ยวแนบแน่นกับคำว่าศิลปะให้เราฟัง

เหิร-ต่อลาภ ลาภเจริญสุข, Seescape

หน้าต่างที่อยากเห็นแต่ไม่เคยเห็น

ต่อลาภ: ผมเริ่มเข้าไปอยู่ในวงการก่อสร้างและการออกแบบพื้นที่ การตกแต่งภายใน ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซึ่งทวิภพก็เริ่มจากความบ้าของผมที่ชอบออกแบบสิ่งร่วมสมัย ดูพิเศษจากความธรรมดานิดหนึ่ง แล้วจุดที่จะมาติดขัดเสมอคือเรื่องช่องเปิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่าง ประตู มันหาสิ่งที่เข้ากับความคิดของเราไม่ได้ เวลาผมทำงานประเภทนั้น  ถ้าไม่ดัดเองก็ไปจ้างคนทำรูปทรงแปลกๆ บ้าง  แล้วก็เลยเห็นช่องว่างตรงนี้ว่า ถ้าเราทำมันขึ้นมาโดยที่ทุกคนเอาไปใช้ได้กึ่งสำเร็จรูปเลย ก็น่าจะสะดวกสบาย

หน้าต่างที่เพิ่มสุนทรีย์และเชื่อมต่อคนกับธรรมชาติ

ต่อลาภ: อีกเหตุผลที่ผมทำทวิภพคือ งานสถาปัตยกรรมมันเพิ่มความพิเศษโดยการเปลี่ยนแค่สิ่งเล็กๆ เอง สมมติว่าเรามีกำแพงสีขาวหนึ่งอัน การมีช่องเปิดที่เปลี่ยนไปจากความคุ้นชินแค่อันเดียวจะทำให้กำแพงเปลี่ยนไปทั้งอัน เปลี่ยนแปลงไปทั้งตึกเลย ผมก็มองว่า ถ้าจะเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความพิเศษในการอยู่อาศัย แบบที่เห็นความสำคัญของการอยู่อาศัย และเห็นความสำคัญของสุนทรียศาสตร์ ซึ่งผมเชื่อว่าการอยู่อาศัยต้องคำนวณเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่อยู่ในกล่องแล้วผ่อนไป 30 ปี เราก็มาเปลี่ยนที่สิ่งเล็กๆ นี้ก่อนก็ได้ เพราะยังไปเปลี่ยนทั้งอาคารไม่ได้ แรงยังไม่พอ และหน้าต่างนี้อาจเป็นตัวเปลี่ยนที่คนไม่ต้องใช้เงินเยอะมาก แค่ซื้อหน้าต่างของเราไปติดนิดหนึ่งก็เปลี่ยนมุมมองของคอนโดหรือที่อยู่ของเขาเองได้ ไม่ได้ยุ่งยากจนต้องจ้างดีไซเนอร์หรือเสียหลายแสน คุณทำเองได้ จ้างช่างมา 500 บาทก็ติดได้แล้ว

นอกจากนี้ แนวคิดของช่องเปิดคือการใช้ชีวิตอยู่ในที่อยู่อาศัยต้องอาศัยอยู่ภายใน โดยมีภายนอกที่มีสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ซึ่งช่องเปิดก็ทำหน้าที่เป็นตรงกลางระหว่างการเชื่อมต่อของชีวิตเรากับธรรมชาติ คือ แสง ลม ผู้คน ยุง หมา ทวิภพเป็นตรงกลางนั้น ที่เราตั้งชื่อแบรนด์ว่าเป็นทวิภพ ก็คือช่องเปิดนี้เป็นภพระหว่างภายในกับภายนอก

มองโลกด้วยสายตาใหม่ผ่าน ‘ทวิภพ’ แบรนด์หน้าต่างของ เหิร ต่อลาภ
มองโลกด้วยสายตาใหม่ผ่าน ‘ทวิภพ’ แบรนด์หน้าต่างของ เหิร ต่อลาภ

หน้าต่างที่เป็นงานศิลปะทำมือ

ต่อลาภ: ผมคิดว่าหน้าต่างของผมเป็นศิลปะ แต่จะทำยังไงให้ศิลปะเข้าไปอยู่ในการใช้ชีวิต ผมก็เลยเปลี่ยนมุมมองการอยู่อาศัยของทุกคนด้วยการเปลี่ยนหน้าตาช่องเปิดให้เปลี่ยนไป มันเข้าถึงผู้คนและคนมีความเข้าใจกับมันได้ง่ายกว่างานศิลปะชิ้นอื่นของผม ผมกำลังสนใจว่าศิลปะร่วมสมัยจะไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราเลยได้หรือเปล่า อันนี้มันฝังเข้าไปในอาคารที่คุณอยู่เลย ผมว่าประเด็นของหน้าที่ศิลปะที่ไปอยู่ตรงนั้นน่าสนใจ

ตอนนี้เรามีหน้าต่างประมาณ 6 แบบ บางรูปทรงได้มาจากการ์ตูน ดราก้อนบอล บ้าง บางอันได้มาจากประตูเรือบ้าง หนังอวกาศสมัยเด็กบ้าง ผมผสมผสานหมดเลย แต่ผสมด้วยแนวคิดที่ว่าหน้าต่างไม่หวือหวาจนอยู่ในอาคารปกติไม่ได้ แต่ก็พิเศษเพียงพอที่ทำให้มุมมองของการมองโลกเปลี่ยนได้ ยังไงก็ตาม ผมไม่อยากให้หน้าต่างหลากหลายมาก เพราะเราลองเอามาทำเอง เชื่อไหมว่านี่เป็นหน้าต่างแฮนด์เมด คือดัดด้วยมือ ซึ่งพอมาทำเองโดยโรงงานมีคนทำอยู่ 2 คนมันไม่รอดหรอกถ้ามีหลายแบบ แล้วคนทั่วไปส่วนใหญ่จะอยากให้ธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรม แต่วิธีการทำงานของผมไม่เคยไปสู่อุตสาหกรรมเลย เพราะผมเชื่อว่าความพิเศษน่าจะอยู่ที่ใครเป็นคนทำ ไม่รู้ผมเชื่อผิดหรือเปล่านะ ถ้าเชื่อถูกอาจจะรวยแล้วก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราให้คนที่สร้างสิ่งหนึ่งใกล้ชิดกับคนที่ใช้สิ่งหนึ่งมากที่สุด เขาจะเห็นคุณค่าของการปฏิสัมพันธ์นั้น

เหิร-ต่อลาภ ลาภเจริญสุข, Seescape

หน้าต่างเพื่อคนเห็นคุณค่างานศิลปะ

ฬุริยา: สำหรับเรื่องกลุ่มลูกค้า เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องมาอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้จริง เริ่มต้นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ทวิภพไม่ใช่สินค้าเชิงอุตสาหกรรม แต่มันคือชิ้นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในที่อาศัยได้ คราวนี้ก็ต้องมาคิดว่า คนที่จะใช้มันต้องเป็นกลุ่มลูกค้าประมาณไหน เขาต้องชื่นชมศิลปะในระดับหนึ่งก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายก็น่าจะเป็นคนอายุประมาณ 20 ปลายๆ ถึง 40 ต้นๆ ที่กำลังมองหาบ้าน กำลังจะสร้างบ้าน หรือสร้างมาแล้ว และมีรสนิยมในเชิงศิลปะในระดับหนึ่ง รวมถึงก็ต้องรู้จักพี่เหิรด้วย เพราะเขาจะรู้ว่าพี่เหิรมีสไตล์ในการทำงานแบบนี้ งานที่ออกมาจะเป็นแบบนี้ ถ้าเขาซื้อหน้าต่างบานนี้ก็เหมือนเขาซื้องานศิลปะของพี่เหิรกลายๆ

แต่ความยากของการทำแบรนด์นี้ก็คือ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เราเล็งไว้ เพราะว่าถ้าเกิดจะไป ตัวเราต้องวิ่งเร็วกว่านี้ ต้องเน้นการขายหน่อย ซึ่งมันก็ก้ำกึ่ง ถ้าเราเน้นขายขนาดนั้นก็ดูเป็นแมสไป เราไม่อยากดูแมส ก็เลยค่อยๆ ไป ก็ดูว่ามีโอกาสได้ไปร่วมงานๆ นี้เพื่อที่จะเปิดตัวแบรนด์ไหม แต่ก็ดูภาพลักษณ์ของงานด้วยว่าเป็นงานเฟอร์นิเจอร์แบบอุตสาหกรรมหรือเป็นงานทำมือ

ต่อลาภ: ส่วนเรื่องราคาก็ตั้งให้เหมาะสมกับคนที่ซื้อไปได้ โดยที่ไม่ได้ถูกไปและแพงไป ส่วนอะไรคือถูกไปหรือแพงไป อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมากเลย ถ้าเราอยู่ในเชียงใหม่ งานห้าหมื่นหรือแสนนึงอาจแพงไป แต่ถ้าเราย้ายไปสิงคโปร์ งานชิ้นเดียวอาจเป็นแค่งานตกแต่ง ราคาศิลปะเลยกำหนดไม่ได้ว่าแพงไปหรือถูกไปแบบตายตัวขนาดนั้น ซึ่งเรากำหนดราคาของทวิภพโดยคิดว่า ถ้าเป็นเรา เราซื้อเก้าอี้ได้ในราคาตัวละสามพันกว่า งั้นก็ซื้อหน้าต่างนี้ไหววะ

มองโลกด้วยสายตาใหม่ผ่าน ‘ทวิภพ’ แบรนด์หน้าต่างของ เหิร ต่อลาภ
ทวิภพ

หน้าต่างที่ยังคงพัฒนา  

ต่อลาภ: ช่องเปิดที่ดีสำหรับผม ถ้าในเชิงการใช้งานคือต้องเปิดดี อยู่ในตำแหน่งที่โอเค มองแล้วไม่ต้องก้ม แล้วก็อยู่ในจังหวะที่เรายืนผ่อนคลายดูข้างนอก อยู่ในทิศทางที่ดี เปิดดี กันน้ำได้บ้าง ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังไม่ 100% เราก็ต้องค่อยๆ ศึกษาและปรับเปลี่ยนกันไป

หน้าต่างในความหมายใหม่

ต่อลาภ: ส่วนใหญ่ผลตอบรับที่กลับมาจะมองว่าหน้าต่างเป็นรูปทรงนี้ได้ด้วยหรอ หรือใส่ตรงนี้ได้ด้วยหรอ เขาคิดว่ามันมีแค่ทรงกลมกับสี่เหลี่ยมเฉยๆ พอเห็นมันเป็นอย่างอื่นได้เขาก็มีคำถาม ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ผมต้องการที่สุด ทุกอย่างมันมีความเป็นไปได้ อย่ายอมจำนนว่ามันต้องเป็นแบบนี้ เราเห็นงานออกแบบดีมากเลย ดูเป็นแนวอวกาศมากเลย แต่หน้าต่างเป็นแบบธรรมดา บางทีมันก็ไม่เข้ากัน ซึ่งเราคิดว่ามันต้องเข้ากันหมด คิดว่าต้องคิดให้เสร็จทั้งกระบวนการ และเราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานออกแบบทำได้ครบวงจรจริงๆ

มองโลกด้วยสายตาใหม่ผ่าน ‘ทวิภพ’ แบรนด์หน้าต่างของ เหิร ต่อลาภ
ทวิภพ

หน้าต่างที่เป็นการทดลองเพื่อก้าวต่อไป

ต่อลาภ: ที่จริงผมกำลังวางโปรเจกต์อีกอันซึ่งใหญ่กว่าหน้าต่าง เป็นอาคารที่ทวิภพจะเป็นส่วนประกอบ แต่ผมเริ่มทำได้แค่หน้าต่างก่อน เพราะแบรนด์นี้เป็นจุดเริ่มที่ทำง่ายกว่า ใช้งบในการทดลองน้อยกว่า เป็นขั้นตอนตามกำลัง ผมไม่ได้เป็นลักษณะที่คิดโปรเจกต์ปุ๊บ เอาไปเสนอ ได้เงินก้อนใหญ่มา แล้วทำเลย ผมทำแบบนั้นไม่เป็นแล้วก็ไม่ใช่สไตล์ผมด้วย ผมอยากทดลองไปอย่างช้าๆ เชื่อในความช้า เหมือนแกลเลอรี่ Seescape กว่าคนจะยอมรับว่ามันเป็นพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยและมีชีวิตขนาดนี้ มันก็ใช้เวลาเป็นเก้าปีสิบปี ผมเชื่อในความหนืดเหนียวแบบจะทำวะ ไม่ยอมเลิกมากกว่า ผมจะชื่นชมคนแบบนั้นมากกว่า

สำหรับเรื่องอนาคตของแบรนด์ ผมมองว่าถ้าสิ่งที่เชื่อและทำไปอยู่ในความคิดของคนได้เยอะที่สุด ผมจะแฮปปี้ ส่วนเรื่องยอดขายอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญขนาดนั้น คือถ้าขายได้ดีก็ เย่! จะได้ไปสร้างอีกโปรเจกต์เร็วขึ้นหน่อย ที่จริงการทำทวิภพขึ้นมาก็คือความสำเร็จแล้ว แล้วผมว่ามันไม่มีทางล้มเหลวในเชิงตัวเงิน เพราะเราไม่ได้คิดในเชิงว่าลงทุนทีหลายล้าน เราได้ทำในสิ่งที่มันค่อยๆ ไป ถ้าจะมีสิ่งที่ดูเป็นความล้มเหลวก็คือเรื่องเวลาที่ลงไป แต่ถ้าเรามองเวลานั้นเหมือนการได้ทดลองความเชื่อบางอย่าง นั่นก็เป็นกำไรมากกว่า แต่ขายดีก็ดีนะ ถ้าโปรโมตได้ก็มาช่วยซื้อหน่อย (หัวเราะ)

ทวิภพ
Facebook l Tawipob window design
 

The Rules

  1. ตั้งคำถามกับเทรนด์ต่างๆ  แล้วสร้างสรรค์เทรนด์ของตัวเองขึ้นมาและส่งกลับไปสู่สังคม
  2. เอาความเป็นท้องถิ่นที่อยู่รอบตัวมาใช้
  3. ถ้าคิดอะไรไม่ออกให้ลงมือทำ เดี๋ยวงานจะตอบเราเอง แต่สำหรับงานออกแบบ ต้องรักษาสมดุลเรื่องนี้ให้ดีกว่างานศิลปะ เนื่องจากเราไม่ได้ทำงานคนเดียว จึงต้องคิดให้ชัดเจนในหัวมากกว่า 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ก่อนลงมือ อย่าแก้ไปเรื่อยๆ หลายรอบเหมือนเวลาทำงานศิลปะ

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล