ไม่ต่างจากทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้

แม้ว่าหน้าตาจะได้อยู่และดูเหมือนผ่านไปไม่นาน แต่จำนวนนิ้วในมือมีไม่พอจะนับขวบปีล่าสุดที่ใส่เครื่องแบบนักเรียนเต็มยศ ไม่แปลกที่พวกเราจะสนุกเป็นพิเศษเมื่องานเลี้ยงปีใหม่ออฟฟิศ หรืองานแต่งเพื่อนกำหนดให้ใส่เครื่องแบบนักเรียนย้อนวัยหวาน

แต่ถึงจะไม่มีเหตุจำเป็นให้ใส่เครื่องแบบนักเรียน หรือซื้อหาให้บุตรหลานในเร็ววันนี้ เราก็ยังอยากแนะนำคุณให้รู้จัก Rompboy School เจ้าของเดียวกับ Rompboy แบรนด์สตรีทแวร์ชื่อดังอยู่ดี

ครั้งหนึ่ง The Cloud เคยคุยกับ บู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ มือเบสวง Slur และเจ้าของแบรนด์ Rompboy ถึงทุกเรื่องที่เกี่ยวกับแบรนด์แล้ว ในคอลัมน์ Street View ทั้งเรื่องความตั้งใจและสัญชาตญาณในการทำการตลาดที่ทำให้ทุกคนรักแบรนด์นี้

จากแบรนด์สตรีทแวร์ที่ประสบความสำเร็จในทุกโปรเจกต์ ที่ไม่ว่าจะออกสินค้าอะไรมาก็ขายหมดภายในเวลาสั้นๆ สู่แบรนด์รองเท้านักเรียน Rompboy School โปรเจกต์แรกของการเข้าสู่วงการชุดเครื่องแบบตามที่เคยฝันไว้ มีเรื่องราวเบื้องหลังการทำแบรนด์ที่สนุกกว่าที่คิด

ใครจะรู้ว่าสินค้าหน้าตาเรียบๆ อย่างรองเท้านักเรียนจะมีกระบวนการทำงานที่สุดเหวี่ยง ตั้งแต่ คุยกับกระทรวงศึกษาธิการ การออกแบบรองเท้านักเรียนในฝัน กระบวนการผลิตและโปรโมต รวมไปถึงความฝันอันสูงสุดที่ฟังแล้วทำให้อดเอาใจช่วยไม่ได้ อย่าง “ผมจะดีใจมากเลยถ้าวันหนึ่งผมเห็นเด็กๆ เพื่อนของลูกที่ใส่ Rompboy School เหยียบส้นถอดทิ้งไว้เต็มหน้าบ้านผม นี่คือเส้นชัยของผมเลย”

บู้ ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์

เรื่องหนึ่งที่มั่นใจแน่ๆ เมื่อคุณมาร่วมวงฟังบทสนทนาด้านล่างคือ สายตาที่คุณเคยมีต่อรองเท้านักเรียนจะเปลี่ยนไป

นั่นคือ ไม่ใช่แค่ภาพเด็กหนุ่มในชุดนักเรียนที่จะดึงดูดคุณ แต่เป็นรองเท้าทรงสวยที่ใส่กับชุดอะไรก็ดูจะเข้ากันไปต่างหาก ที่ทำให้ต้องหยุดอ่าน (และเขียน) บทความนี้กลางทาง เพื่อแวะไปโรบินสันที่ใกล้ที่สุด

ในวันที่แบรนด์ Rompboy เติบโตอย่างสดใส อะไรทำให้คุณตัดสินใจเริ่มต้นทำรองเท้านักเรียน

น้อยคนจะรู้ว่ารองเท้าผ้าใบ Rompboy เป็นไอเดียที่สองรองจากรองเท้านักเรียนที่ต้องพับเก็บไปก่อน

ผมโตในยุคที่รองเท้านักเรียนเราไม่มีทางเลือก มีแบรนด์ที่อยู่กระแสหลักไม่กี่แบรนด์ และผมในวันนั้นเป็นเด็กที่ชอบแต่งตัวมาก สัปดาห์หนึ่งมี 7 วัน เรามาโรงเรียนมากกว่าไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนๆ อีก เราก็อยากมีไอเทมที่แสดงความเป็นตัวเองออกมา นี่เป็นสิ่งที่ฝังในใจเราเล็กๆ ว่าวงการเครื่องแบบนักเรียนควรจะมีอะไรที่ตอบโจทย์กลุ่มพวกเราบ้าง กลุ่มที่ชอบอะไรที่แปลกแตกต่างจากชาวบ้าน

ยุคนั้นเด็กแนวจะใส่พวก Diadora พวก Nike สีดำ หรือพวก Converse แต่จะโดนริบเพราะดีไซน์ค่อนข้างหวือหวา ส่วนรองเท้าสีขาวล้วนหรือน้ำตาลล้วนก็ไม่ค่อยมีให้เห็น เราก็ได้แก่เก็บความอยากทำนี้ไว้ จนลืมไปเลย จนกระทั้งวันหนึ่งที่ผมเริ่มทำกางเกง เริ่มรู้ว่ามีคนชื่นชอบเหมือนกันกับเรา ผมรู้สึกว่าผมอยากทำให้มันเกิดขึ้นจริง เลยเอาไอเดียนี้ไปคุยกับพี่กระชาย (จตุรวิธ ฉัตตะละดา) นักร้องนำ Death of a Salesman ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์และกลยุทธ์อยู่แล้ว เขาให้คำแนะนำว่าทำได้ แต่ควรจะทำแบรนด์หลักเพื่อสื่อสารให้วัยรุ่นเข้าใจก่อน จึงเริ่มทำรองเท้าผ้าใบตั้งแต่วันนั้นมา

Rompboy School

Rompboy School

เราคิดว่าตลาดรองเท้านักเรียนค่อนข้างลึกลับ อะไรทำให้คุณมั่นใจว่า Rompboy School พร้อมเข้าสู่วงการ

ตามกฎระเบียบของเฟซบุ๊กทำให้เรารู้ข้อมูลแฟนเพจที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปได้เท่านั้น แต่นักเรียนมัธยมอายุ 12 – 18 ปี ซึ่งแม้จะไม่มีข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการเจาะตลาด แต่เราก็เชื่อลึกๆ ว่าต้องมีกลุ่มที่พร้อมไปกับเราอยู่ ตอนนั้นคิดแค่ว่าถึงเวลาของ Rompboy School แล้วลุยเลย มาทำรองเท้าแบบทรงที่เราคิดว่าสวยที่สุดในวงการเครื่องแบบนักเรียนกันเถอะ เท่านั้นเอง

คิดจะทำให้สวยที่สุด แต่หัวใจสำคัญที่สุดของรองเท้านักเรียนคือต้องถูกระเบียบ คุณจัดการเรื่องนี้อย่างไร

ตอนที่จะเข้าไปคุยกับกระทรวงศึกษาฯ ผมโทรไปสอบถาม จึงได้รู้ว่าไม่มีคนที่ทำงานดูแลเรื่องเครื่องแบบนักเรียนนานแล้ว เลยได้คุยกับศึกษาภัณฑ์ เขาบอกว่าหลักเกณฑ์จริงๆ นั้นง่ายมาก ต้องเป็นรองเท้าทรงแฟลต ห้ามเสริมส้นสูง สีล้วน ห้ามมีราคาแพง เพื่อที่เด็กและผู้ปกครองจะสามารถซื้อได้ ตอนนั้นตั้งใจจะขาย Rompboy School 1,500 บาทด้วยซ้ำ เขาก็บอกว่าราคาสูงนะ แต่ถ้ามั่นใจว่าขายได้ก็ขายได้แหละ

นอกจากนี้ ห้ามมีเลเยอร์หรืออัพเปอร์เยอะ นั่นคืออย่ามีรายละเอียดเยอะเกินไป แค่นี้ก็เป็นรองเท้านักเรียนได้แล้ว แต่ก็จะมีสีกำหนดอยู่ เช่น ห้ามสีขาวครีม ต้องเป็นขาวสว่างออกสีม่วงนิดๆ ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยชอบ เป็นต้น ทั้งหมดนี้คือข้อห้าม ถ้าทำนอกจากนี้จะเป็นรองเท้าผิดระเบียบ

บู้ Slur

Rompboy School

แล้วคุณทำให้ Rompboy School ทั้งถูกระเบียบและเท่ไปพร้อมกันได้ยังไง

ก่อนจะเข้ามาทำรองเท้านักเรียน ผมเริ่มจากมองว่าผมชอบอะไรในรองเท้านักเรียนบ้าง อย่างแรกสีของรองเท้าที่เป็นโมโนโครมสีเดียวกันทั้งหมด ซึ่งดีงามอยู่แล้ว ดังนั้น ในความถูกระเบียบเราแค่ทำให้มันลงตัว แค่นั้นเลย ถ้าทำความมินิมอลของสีที่มีอยู่ให้ลงตัวมันก็จะสวยงาม

สิ่งแรกที่ผมจะทำคือเปลี่ยนพื้นรองเท้าให้เป็นสีเดียวกันกับรองเท้า ส่วนนี้เป็นต้นทุนที่มหาศาลมาก แต่ผมอยากทำให้ดูเป็นโมโนโครมจริงๆ โดยที่เราก็ยังเก็บสีเขียวไว้ใช้กับพื้นรองเท้าด้านใน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรองเท้าผ้าใบยุคเก่าอยู่แล้ว และจากเดิมที่เราคิดว่าหัวรองเท้าใหญ่เกินไปเราก็ทำให้เรียวขึ้น รวมถึง Midsole กันกระแทกที่แทรกระหว่างพื้นรองเท้า ซึ่งผมเสริมเพิ่มอีกชั้นเป็นรายละเอียดที่ทำให้ดูสำอางขึ้น รูร้อยเชือกที่ลดทอนให้เหลือ 4 รูแบบรองเท้ายุค 60 รวมถึงเลือกใช้เชือกที่ใช้ทนทาน

เรื่องหนึ่งที่ภูมิใจมากๆ คือ ผมเป็นคนไม่ชอบโลโก้เท่าไหร่หรือถ้าจะมีก็ต้องมีให้น้อยที่สุด ดังนั้น คุณจะไม่เห็นโลโก้อยู่บน Rompboy School

การทำให้ถูกระเบียบ ทำให้รู้สึกขัดใจตัวเองบ้างมั้ย

ไม่เลย ผมว่าเรื่องนี้สนุกมากกว่าการตั้งใจขัดกฎระเบียบมากๆ เสียอีก

พอย้อนกลับไปช่วงที่เราเป็นเด็กมัธยม จำได้ว่าเป็นปมในใจเล็กๆ ว่าผมนั้นมันไม่มีอะไรดีไปกว่าเพื่อนๆ เลย ผมเตะบอลห่วยมาก เป็นตัวที่แบบโอน้อยออกแล้วยังต้องเป่ายิ้งฉุบเพื่อรับผมไปเป็นตัวแถม สเก็ตบอร์ดก็ไม่รอด ทำอะไรไม่เก่งนอกจากเล่นดนตรี ทำให้คิดว่าตัวเองต้องหาอะไรบางอย่าง เพื่อดิ้นจากสิ่งที่มี ตรงนี้แหละ จุดสนุกเลย เมื่อเรารู้ว่าเรื่องนั้นมีกรอบอยู่ แล้วเราก็จะคิดหาความสนุกที่อยู่ในกรอบไม่กระโดดออกจากกรอบเพราะนั่นมันง่ายเกินไป

Rompboy School

Rompboy School

ได้ยินแบบนี้ ทำให้อยากรู้เลยว่าตอนเด็กๆ คุณเป็นนักเรียนมัธยมแบบไหน

สมัยนั้นผมตัดผมทรงหนึ่งที่เข้ากับ Curve ของหัวผมพอดี ซึ่งอาศัยเวลาในการดีไซน์กว่าจะลงตัวเหมือนกัน โชคดีที่แม่เป็นช่างตัดผมอยู่แล้วก็เลยจะคุยเรื่องนี้กันบ่อย ตรงนี้ยังไม่ลงตัว ขอแก้ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย จนเจอทรงผมที่ใช่ พอไปโรงเรียน กลายเป็นว่าเด็กในโรงเรียนตัดทรงนี้ตามกันเต็มเลย ตอนนั้นก็คิดนะว่าเรามีความเป็น Trend Setter อยู่นี่หว่า ก็เริ่มสนุกขึ้น เริ่มประดิดประดอยเสื้อนักเรียน สมัยก่อนมีเทรนด์ Nu Metal แต่งตัวแบบกางเกงหลุดตูด ผมก็ขบถด้วยการใส่เสื้อผ้าพอดีตัว กางเกงสั้นเหนือเข่า ยุคนั้นไม่มีใครใส่เลยนะ ถุงเท้าเขาใส่ย่นๆ กัน เราก็ดึงให้ตึงขึ้นมาถึงครึ่งแข้ง

จะเห็นว่าเวลาเราดิ้นกับเรื่องใหญ่ๆ ไม่ได้ เราก็จะดิ้นกับดีเทลที่ซ่อนอยู่ จะว่าไปมันเป็นการเก็บทดความคิดแล้วนำกลับมาใช้อีกครั้งในวันที่เรามีทุนทรัพย์ที่จะทำรองเท้าขึ้นมา อย่างวันนี้ นี่แหละ มันไม่ได้ผิดระเบียบเลย แต่มันสวยด้วยความแตกต่างนิดๆ หน่อยๆ ดังนั้นใครจะว่ารองเท้าผมไม่สวย ผมไม่ว่านะ แต่อย่าว่ารองเท้าผมว่าเหมือนแบรนด์อื่นๆ

สูตรที่เคยใช้แล้วประสบความสำเร็จใน Rompboy Shoes และ Rompboy อื่นๆ มาใช้กับแบรนด์รองเท้านักเรียนได้มั้ย

ช่วงปีแรกของ Rompboy School ผมพยายามคิดเผื่อเด็กมากเกินไป เราต้องการเล่าว่ารองเท้าถูกระเบียบแน่นอน อยู่กับชุดนักเรียนได้อย่างไม่เคอะเขิน เราก็พยายามจะเล่าเรื่องชีวิตในโรงเรียน จนกระทั้งรู้สึกว่าตัวเองตีโจทย์ผิด เราคิดแทนเด็ก คิดว่าตอนที่เราเป็นเขา เราคิดอะไรอยู่ เข้าใจว่าทุกอย่างยังเป็นแอนาล็อกจีบกันซึ่งๆ หน้า ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่แล้ว เด็กยุคนี้เขาก็มีไลฟ์สไตล์เหมือนเราทุกอย่าง เขาเล่นเฟซบุ๊ก จีบสาวกันผ่านอินบ็อกซ์ ผ่านอินสตาแกรม ฟังเพลงดูคอนเสิร์ตหรือเที่ยวกลางคืนเหมือนเรา กินของตามรีวิวเหมือนกับเรา สิ่งที่แตกต่างคือวุฒิภาวะ การยับยั้งชั่งอารมณ์ หรือการตกผลึก การนึกคิดและตัดสินใจเท่านั้น  เมื่อเราเองตีโจทย์ผิด ยอดขายปีแรกจึงสวนทางกับกระแสตอบรับอย่างฟ้ากับเหว

คุณเรียนรู้อะไรจาก Rompboy School เทอมแรกบ้าง

สิ่งที่ผิดพลาดในตอนนั้นคือ หนึ่ง ผมโปรโมตผิดช่วงเวลา คนอื่นเขา Back to School กันไปตั้งนานแล้ว ซึ่งรองเท้านักเรียนควรจะเริ่มโปรโมตขายตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ถึงก่อนช่วงสงกรานต์ ไม่เช่นนั้นกำลังซื้อจะหายหมด

สองคือ สื่อโฆษณาที่เราส่งออกไปนั้น เราเข้าใจเด็กผิด

สามคือ ราคา ตอนแรกผมมองว่านี่มันถึงยุคใหม่แล้ว เด็กสมัยนี้ใส่รองเท้าราคา 5 – 6 พันเป็นเรื่องปกติ ผมก็ประกาศราคาที่ 990 บาท เด็กตกใจ ไม่เคยเห็นราคานี้ หนึ่ง ราคาสูงเกินไปขอพ่อแม่ซื้อไม่ได้ และสอง กลัวหายในโรงเรียน มันสุ่มเสี่ยงมากเมื่อต้องถอดรองเท้าเข้าห้องเรียนวิชาพระพุทธศาสนา และคาบอื่นๆ ที่จำเป็นต้องถอดรองเท้าเข้าห้องเรียน

Rompboy School

Rompboy

ข้อมูลที่ผิดพลาดทำให้ได้ข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจยังไงบ้าง

มีข้อมูลที่น่าสนใจมาก จริงๆ แล้วเด็กไม่ได้ต้องการที่จะแตกต่างจากเพื่อนในโรงเรียนหรอก เขาแค่ต้องการไปโรงเรียน ทำตัวให้กลมกลืนกับเพื่อนๆ ไม่โดนล้อ ไม่เป็นที่สนใจกับใครก็พอแล้ว ผมก็รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมสิ่งที่ผมคิดอยู่มันย้อนแย้งกับเด็กรุ่นนี้ เขาอาจจะแค่ต้องการแต่งตัวเที่ยวอย่างสุดตีน แต่ในที่โรงเรียนเป็นเด็กที่จ๋อยๆ คนหนึ่ง แค่ไปเรียนหนังสือ ผมก็คิดว่าถ้าเราเปลี่ยนความเชื่อตรงนี้ของเด็กไม่ได้ เราก็คงไม่อาจทะลวงแบรนดิ้งวงการเครื่องแบบนักเรียนได้แน่

 

จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณสนใจกลุ่ม Influencer ที่เป็นเด็กหลังห้องใช่ไหม

จริงๆ แล้ว กลุ่มเป้าหมายของ Rompboy School คือ เด็กที่อยากเปรี้ยวในโรงเรียน แต่ยังคงถูกระเบียบอยู่ กลุ่มพวกที่เรียนศิลปะ ติวศิลปะเข้ามหาวิทยาลัย เด็กที่ชอบฟังเพลงอินดี้ ชอบเดินสวนจตุจักร และต่อให้ข้อมูลจากเด็กๆ บอกว่าพวกเขาไม่อยากโดดเด่น อยากเป็นแค่คนที่กลมกลืนในโรงเรียนไปวัน ผมเชื่อว่ายังมีเด็กที่ต้องการสร้างความเป็นตัวเองขึ้นมา ไม่ว่าจากวิธีการโพสต์รูปลงโซเชียล วิธีการแต่งตัว

เรามองว่าตอนที่เราเรียนหนังสือ ที่เราตัดผมทรงทุยๆ แล้วมีเด็กมาตามจนกลายเป็นทรงผมฮิต นี่แหละคือตัวอย่างของเด็กที่มีพลังในโรงเรียน เราไม่ได้จะชมตัวเองนะ แต่เรามองว่าถ้ามีเด็กประเภทเราอยู่ในโรงเรียน แค่คนเดียวแล้วจุดประกายเพื่อนนักเรียนได้ก็คงจะดี คนก็จะมองว่านี่เป็นแมสในโรงเรียนแล้ว

 

ฟังแล้วตลาดรองเท้านักเรียนกลายเป็นโรงเรียนสอนการตลาดของคุณไปด้วย

เป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ที่ผมเคยทำมา ถ้าผมขายหมดก็ใช่ว่าจะได้กำไรด้วย ขายยังไงก็ติดลบ เพราะเราคิดว่าทำทั้งทีเราอยากจะเปลี่ยนแปลงวงการเครื่องแบบนักเรียนไทย ดังนั้นเราเลือกใช้วัสดุที่ดีที่สุด พื้นรองเท้านุ่มที่สุด ยอมให้ค่าแรงการประกอบงานรองเท้าแพงที่สุด แม้กำไรที่จะเกิดขึ้นจะไม่มากมาย เพราะราคาขายที่ตั้งไม่ให้สูงกว่าท้องตลาดเกินไป รวมถึงต้นทุนมหาศาลจากกระบวนการผลิตและการตลาด ไหนจะเรื่องสต็อกที่เป็นความรู้ใหม่ ขายไปขายมา ติดลบ ไม่มีทางรวยเลย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะไม่มีแบรนด์ทางเลือกเกิดใหม่ให้วงการนี้คึกคักอย่างที่เคยสงสัย

Rompboy School Rompboy School

รองเท้านักเรียนเป็นของที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ คนที่ซื้อคือพ่อแม่ เมื่อเห็นโฆษณาตัวล่าสุด เราก็แอบคิดว่า Rompboy School สนุกจังที่เปลี่ยนวิธีโปรโมตมาสื่อสารกับพ่อแม่

ผมไม่ได้คิดเรื่องนั้นเลย อย่างที่บอกว่ากลุ่มเป้าหมายเรายังคงเป็นเด็กที่เรียนศิลปะ เด็กที่ฟังเพลงอินดี้ กลุ่มที่ทำตัวแตกต่างจากเพื่อน เป็นเด็กเท่ๆ ในโรงเรียน ซึ่งสิ่งที่ต้องการสื่อสารหลักๆ ในโฆษณาตัวนี้คือ ‘คู่เดียวอยู่’ โดยตัวละครแม่เป็นเพียงกิมมิกที่ช่วยดำเนินเรื่อง เล่าเหตุการณ์จริงวันนี้ว่าเด็กสมัยนี้ซื้อรองเท้าแพง ซื้อมาแล้วโกหกแม่ จนแม่ขนไปขาย เราต้องคุยกันอย่างปัจจุบันนี่แหละ ไม่ต้องย้อนอดีตวัยเรียนแล้ว คิดแบบเราโดยที่เด็กเองก็เข้าใจโลกเหมือนเรา สุดท้ายกลายเป็นผลพลอยได้ที่ทำให้ผู้ปกครองอินบ็อกซ์เข้ามาสั่งรองเท้าเหมือนกัน

คุณรู้มั้ยว่าอยู่ดีๆ คุณก็ทำให้พวกเรามองรองเท้านักเรียนเปลี่ยนไป

ใครหลายคนอาจจะมีภาพจำว่ารองเท้าสีดำล้วนคือรองเท้านักเรียน แต่สำหรับเรา เรามองว่ารองเท้านักเรียนเป็นอะไรที่โคตรสวยเลย คู่สีคือดำล้วน สวยจนอยากให้มองว่ามันเป็นรองเท้าที่ใส่ไปโรงเรียนได้ ไปเล่นสเก็ตบอร์ดได้ ใส่ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนได้ ใส่ไปเดตกับสาวก็ได้ หรือแม้รองเท้านักเรียนหญิงสีขาวล้วน

รองเท้านักเรียนต้องไม่ได้เป็นแค่รองเท้านักเรียน เราก็หยิบไอเดียนี้มาเล่นเรื่องความคุ้มค่า คู่เดียวอยู่ และราคาแม่โอเคด้วย ด้วยราคาที่ไม่แพงเกินไป แต่ใส่แล้วเท่ นี่คือโจทย์ของเรา และเมื่อเป็นรองเท้าที่สามารถใส่ทุกที่ ดังนั้น คนที่มาซื้อส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนที่ซื้อ Rompboy อยู่ดี ถามว่ากลุ่มนักเรียนซื้อเยอะขึ้นมั้ย ก็ซื้อเยอะขึ้น

ที่ผ่านมา Rompboy ไม่มีนโยบายลดราคามาก่อน ยอมรับเลยว่าเห็นราคา Rompboy School ช่วงนี้แล้วจิตใจสั่นไหว

ครั้งนี้เป็นแคมเปญพิเศษ เป็นเรื่องที่ผมต้องยอม ความรู้สึกมันเหมือน ‘มา เรามาทำความรู้จักกัน’ เพื่อให้รู้จักกันมากขึ้น ผมอยากให้เกิดการบอกต่อ ใครที่เคยคิดว่ารองเท้าผมแพงมาก เมื่อเจอราคานี้แล้วอาจจะซื้อเลยและใส่ อย่างน้อยเปิดเทอมปีนี้ผมจะเห็นน้องๆ ใส่รองเท้านักเรียน Rompboy School มากกว่าปีที่แล้ว และอย่างที่บอก คนพันธ์ุเดียวกับผมมองปราดเดียวจะรู้เลยว่าสิ่งนี้แหละแตกต่างจากชาวบ้านเขา มันเท่กว่ายังไง มันเรียวกว่าสวยกว่ายังไง นี่จึงเป็นการลดราคาเพื่อโปรโมตตัวเองมากกว่าจะหวังยอดขาย

จากที่เคยมีช่องทางจำหน่ายหลักคือออนไลน์ เมื่อต้องร่วมแคมเปญจัดโปรโมชันต้อนรับเปิดเทอมทำให้ทำงานยากขึ้นยังไงบ้าง

โชคดีที่ทำงานร่วมกับนันยาง ผมต้องขอบคุณพี่จั๊ก-จักรพล จันทวิมล ทายาทรุ่นที่ 3 ของรองเท้านันยาง ที่เข้ามาชวนให้ร่วมลงแคมเปญ Back to School เพราะพี่จั๊กเองก็ชอบ Rompboy และชอบโปรเจกต์นี้ของเรา บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะนำรองเท้าไปขายหน้าร้าน

ได้คิดเล่นๆ ไหมว่า Rompboys School จะต่อยอดไปเป็นอะไรในอนาคตได้บ้าง

วันหนึ่งเราอยากทำร้านเครื่องแบบนักเรียนเลย ไม่ใช่แค่การจัดหน้าร้านแบบสมัยก่อน แต่มันคือร้านเครื่องแบบนักเรียนของวัยรุ่นร้านหนึ่งที่ขายเครื่องแบบนักเรียนไทยทั้งหมด รวมถึงมีโต๊ะนั่งตัดผมทรงนักเรียนที่คำนึงถึงรูปทรงของหัวเด็กจริงๆ ผมรู้สึกว่าทุกคนมีธรรมชาติของผมและรูปทรงของหัวที่แตกต่างกัน

ผมชอบเครื่องแบบนักเรียนไทยมาก ชอบทรงผมนักเรียนมาก สำหรับผมมันเท่มาก

ถ้าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นจริง มันสำคัญกับคุณยังไง

จะไม่มีใครเดินมาบอกเราว่าทรงผมนักเรียนไม่น่าตัดอีกต่อไป และเด็กจะภูมิใจกับทรงนักเรียนมากๆ เลย

จริงค่ะ เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบผมบ๊อบเสมอติ่งหูมาก

ใช่ ที่ไม่โอเคเพราะเขาตัดไม่สวย

Rompboy School

Rompboy School

คุณมักจะบอกเสมอว่าคุณอาศัยสัญชาตญาณ และการทำก่อนค่อยคิด จากประสบการณ์ของ Rompboy School ยังทำให้คุณยังเชื่อแบบนี้อยู่มั้ย

เรื่องคิดก่อนทำ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ เวลาจะทำอะไรผมก็มีการทำรีเสิร์ชนะ แต่เรารู้ว่าพลังจากรีเสิร์ชไม่มากเท่าพลังที่เราอยากทำ ผลของรีเสิร์ชจะเป็นยังไง เราก็ฟัง แต่เราจะทำสิ่งที่เราเชื่อและอยากทำอยู่ดี อย่างปีนี้เราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ตรงนี้ควรหรือไม่ควรทำ เราใช้เงินทุนไปกับสิ่งนี้มากไปหรือเปล่า แต่อย่างน้อยสิ่งที่เปลี่ยนไปคือเราเริ่มอัพเลเวลมากขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่เป็นไร แต่ก็โชคดีที่ปีนี้แบรนด์ Rompboy หลักโอเคดีทุกอย่าง

ส่วนเรื่องสัญชาตญาณ อันนั้นเป็นมาตลอดอยู่แล้ว ถ้าเราไม่อยากใส่ ไม่กรี๊ดมัน เราก็ไม่อยากทำอยู่แล้ว จริงๆ ผมเป็นพวกไม่ยอมแพ้ด้วย เช่น ปลายปีที่แล้วผมทำหมวกทรงตกปลา ตอนแรกที่ทำออกมาคนก็ล้อกับหมวกไหมพรมของพระ เราก็ไม่โกรธนะ ซึ่งพอขายไปเรื่อยๆ ตอนนี้กลายเป็นไอเทมที่คนถามหาทุกวัน เราก็คิดว่าถ้ามันเป็นสัญชาตญาณที่เราอินกับมันมากๆ เราชอบไอเทมนี้มากๆ ยังไงเราก็ต้องทำให้คนเข้าใจและซื้อมันให้ได้ จะเห็นว่าเราใส่ออกสื่ออยู่นั่นแหละ คนอื่นไม่เข้าใจไม่เป็นเรา เราจะส่งพลังบอกเองว่าสิ่งนี้ดีนะ หรือช่วงนี้ที่ผมใส่กางเกงทรงใหญ่ๆ แรกๆ คนก็ไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้กลายเป็นอีกไอเทมที่คนรอคอยมาก ทำออกมากี่ทีก็หมด กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่อยากคิดอะไรเยอะแล้ว คิดว่าอินอะไรทำเลย อะไรที่ชาวบ้านเห็นว่าไม่ดีก็ทำเลย เดี๋ยวชาวบ้านจะว่าดีเอง

อย่างต้นปีที่ผ่านมาแตะแบรนด์ผู้หญิง แต่เดี๋ยวจะแยกออกมาเป็น Rompboy Girlfriend แล้ว เป็นโปรเจกต์ที่เห็นข้อมูลว่าที่ผ่านมาเรามีลูกค้าเป็นผู้หญิงเยอะมาก ก็รู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีแบรนด์ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิง ซึ่งคอนเซปต์ก็คือ ผู้หญิงที่แต่งตัวสไตล์บอยๆ รวมถึงผู้หญิงที่เป็นแฟนของคนที่ใส่ Rompboy และหลังจากจบช่วงขาย Rompboy School ปีนี้ Rompboy จะมีรองเท้าออกกำลังกาย ซึ่งช่วงนี้อยู่ระหว่างพัฒนาแบบ

Rompboy School

Rompboy School

อะไรทำให้คุณมีพลังคิดทำอะไรได้มากมายขนาดนี้

ผมเป็นพวกกลัวตัวเองไม่พัฒนา อย่างน้อยอยากทำอะไรที่ท้าทายตัวเอง พยายามหาสิ่งใหม่ๆ ถ้าทำอะไรแล้วยังอยู่กับที่มันจะผิดกับคาแรกเตอร์เรา เรามองว่าการทำเสื้อผ้าของเราเหมือนการทำอัลบั้ม เราก็อยากให้ Slur มีพัฒนาการ และทุกๆ ปีของ Rompboy มีการเติบโตอยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องยอดขายแต่โตในเรื่องการสร้าง Scene หรือบรรยากาศใหม่ๆ ให้วงการเสื้อผ้า แต่ทุกอย่างมันต้องใช้งานจริงได้นะ ไม่อวองต์การ์ดขนาดนั้น

ผมจะดีใจมากเลยถ้าวันหนึ่งผมเห็นเด็กๆ เพื่อนของลูกที่ใส่ Rompboy School เหยียบส้นถอดทิ้งไว้เต็มหน้าบ้านผม นี่คือเส้นชัยของผมเลย

คิดยังไงเวลาคนบอกว่าคุณโชคดี ทำอะไรก็ขายดีไปหมด

อยากจะบอกว่าจริงๆ แล้วกว่าจะโชคดีแบบทุกวันนี้ ผมก็เคยขายเสื้อผ้าแบกะดินตามตลาดนัด ผมก็เคยลองผิดลองถูก ทำเสื้อผ้าออกมาหลายตัวแต่ขายได้หลักหน่วยหลักสิบมาแล้ว จริงๆ ตัวเฟลเลย เพื่อนเรียกผมว่า The King of Failure ด้วยซ้ำ เคยมีเพื่อนแซวว่า Rompboy มาจากล้มบ่อยหรือเปล่า

ฉากหน้าที่คนมองเห็นในวันนี้ จริงๆ ก็ผ่านอะไรมาเยอะ เจ็บมาเยอะ อย่างที่ทุกคนไม่รู้ว่า Rompboy School ใช้ทุนมหาศาลแค่ไหน และหลายๆ ไอเทมของ Rompboy ผมตั้งใจทำ ตัดเย็บใกล้เคียงกับแบรนด์ที่ขายราคาเป็นหมื่น ผมเลือกใช้ช่างฝีมือที่ราคาแพงกว่าแบรนด์ทั่วไป ซึ่งอาจจะขายแพงกว่าร้านออนไลน์ทั่วไป แต่มันเป็นราคาที่ถ้าคุณรู้ว่าต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือเท่าไหร่ คุณจะมีความสุขมากๆ ที่ได้เป็นเจ้าของ ราคาที่เกิดขึ้นคือราคาที่เราเองก็กล้าซื้อ เพราะเราก็ไม่อยากซื้อของแพง ดังนั้น อย่ามองว่าโชคดีดีกว่า ผมก็แค่คนที่ผ่านโชคร้ายมาอย่างโชกโชน

คุณเรียนรู้อะไรจากการทำ Rompboy School บ้าง

ผมเรียนรู้ว่าการจะเข้าใจตลาดแมสอาจจะต้องเป็นคนแมสๆ เราเป็นคนอินดี้ เราเลือกหนังดูมากๆ กินข้าวไม่เหมือนชาวบ้านเขา แต่เรากำลังจะขายของให้คนทั่วประเทศยอมรับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราคิดว่ามันจะดี หรือสัญชาตญาณของเรานั้นมันอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับกลุ่มแมสก็ได้ ทุกวันนี้เราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจการใส่ไอเทมที่เหมือนกันทั้งประเทศ หรือเห็นว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบกันมันสวยตรงไหน หรืออาจจะผิดที่ราคา ถ้าขายราคาเดียวกันกับที่มีในตลาดก็คงจบ แต่ความคิดด้าน niche ของเรามันไม่ยอม ใครจะบอกว่ารองเท้าแบบไหนก็เหมือนกันนั่นแหละ เราไม่เชื่อ เพราะลึกๆ แล้วเรารู้สึกว่าสิ่งนี้จะต้องสำแดงฤทธิ์ในวันข้างหน้าให้จงได้

สำคัญคือที่เราทำ Rompboy School เราอยากทำสิ่งที่เราเชื่อว่าสิ่งนี้ดี เราไม่ได้จะเอาตัวเลขกำไรมหาศาล เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น มันง่ายมาก เราก็แค่ทำทุกอย่างให้เหมือนแบรนด์เจ้าใหญ่ ผลิตมากๆ และขายในราคาต่ำกว่า จบเลย แต่เราไม่ต้องการอย่างนั้น เราต้องการมีรองเท้าในแบบที่เป็นของเราเอง เรากลับมาถามตัวเองว่า ถ้าวันนี้เราจะเป็นแมสแบบนั้นจริงๆ เราจะทำ Rompboy School ทำไมวะ ทำแล้วเราได้อะไร

บู้ ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ บู้ Slur

ภาพ: Rompboy School

The Rule

1. เราต้องซื้อรองเท้าทุกเดือน ฟังดูเป็นข้ออ้าง แต่เพื่อศึกษาข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับรองเท้า ดูรายละเอียด วัสดุ การตัดเย็บประกอบงาน เราศึกษาคุ้มนะ แต่จริงๆ แล้วก็ซื้อมาสะสมนั่นแหละ เราไม่เชื่อว่าใครจะมีเงินเข้าอย่างเดียว มันต้องมีเงินออกบ้าง และเงินก็ควรออกไปกับอะไรที่เราชอบ

2. มื้อเช้าแสนสำคัญ ช่วงหลังมานี้เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก กินมื้อเช้าเยอะที่สุด สำหรับเราถ้าเริ่มต้นด้วยมื้อเช้าที่ดี มันก็จะดีไปตลอดทั้งวันเลยนะ มีพลังด้วยและได้นอนตรงเวลาด้วย เพราะจะตื่นเช้ามากินอัตโนมัติเลย

3. ต่อสู้กับความชอบของตัวเองทุกวัน ไม่นานมานี้เราเริ่มมีโจทย์ให้ตัวเองค่อยๆ ลดสิ่งที่เราเคยชอบทำ จริงๆ เรียนรู้จากช่วงที่ไปบวช สำหรับเรามันทำให้ความคิดหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไป ส่งผลต่อสุขภาพและอื่นๆ ในชีวิตด้วย เรื่องนี้จึงกลายเป็นแนวคิดที่เราใช้มาตลอด

https://www.facebook.com/rompboyschool/

 

ขอบคุณสถานที่

ร้าน Town Tree Garden & Restaurant

เกษตร-นวมินทร์

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล