แสงแดดอุ่นส่องลอดหน้าต่างกระจกเข้ามาในร้านขนาดกะทัดรัดย่านวัดเกตุ ขณะที่ถ้วยใบเล็กใส่น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งถูกบรรจงวางบนเคาน์เตอร์หินอ่อนภายในร้าน เมื่อฉันยกขึ้นจิบ ก็ได้ลิ้มรสหวานผสานกับกลิ่นละมุนของอบเชยที่ผสมอยู่ในน้ำผึ้งนั้น

นี่ไม่ใช่เครื่องดื่มดื่มเล่นให้ชื่นใจ แต่คือยามีฤทธิ์เยียวยาร่างกาย

สินค้าสุขภาพ
Botanic Pantry สินค้า สุขภาพ

ถ้าลองหันหลังกลับไป บนหน้าต่างกระจกบานนั้นมีตัวอักษรสีขาวเขียนไว้ว่า  ‘Botanic Pantry’

Botanic Pantry, สินค้าเพื่อสุขภาพ

ที่นี่คือร้านขายสินค้าเพื่อสุขภาพ คือสถานที่อบอวลด้วยพลังธรรมชาติ คือสิ่งที่เกิดจากความเชื่อในทางเลือกสู่ชีวิตที่ดีที่ไม่ใช่โรงพยาบาลของ นิจ-สรวีย์ เอื้อผดุงเลิศ หญิงสาวชาวกรุงเทพฯ ผู้ขึ้นมาหยั่งรากที่เชียงใหม่

ไม่ต่างจากใครหลายคน-นิจเริ่มสนใจดูแลตัวเองด้วยวิถีธรรมชาติเพราะโรครุมเร้า     

“ที่จริงเราไม่สบายมาตลอดนะ” นิจบอกฉัน “เราทำงานโฆษณาตั้งแต่เรียนจบ ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตก ฉะนั้น เรื่องงานก็ต้องอดทนและทำงานหนักมาก ภายใน 2 ปีเราก็พัง ป่วยเป็นโรคเยอะมาก ที่จริงที่บ้านมีความรู้เรื่องแพทย์ทางเลือกอยู่แล้ว เราก็รักษาตัวเองด้วยวิธีทางเลือกอยู่ แต่ก็จะเป็นแนวดื้อๆ อยากกบฏ ก็ไปหาหมอด้วย”

จากภูมิแพ้ที่รักษาไม่หาย จนถึงหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่ถูกสั่งให้เข้าห้องผ่าตัด ทำให้นิจตัดสินใจลองหันเข้าหาวิถีทางเลือกเต็มตัว

“คุณพ่อพูดคำหนึ่งขึ้นมาว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าไปตัดไปผ่าอะไรออกจากร่างกายเรา ตอนนั้นเรายังไม่มีความรู้อะไรเลย แต่ฟังคำนี้แล้วรู้สึกว่าต้องเชื่อพ่อ ร่างกายพ่อแม่ให้มา เราต้องเชื่อเขา ก็เลยไม่ทำ”

Botanic Pantry, สินค้าเพื่อสุขภาพ
Botanic Pantry : แบรนด์ที่ชวนผู้คนดูแลชีวิตให้ดีด้วยธรรมชาติและภูมิปัญญาล้ำค่า

หญิงสาวลองเรียนโยคะ แล้วก็พัฒนาสู่การดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลดีกับตัวเธอ นิจยังชอบใช้วันลาพักร้อนไปเชียงใหม่คนเดียวเพื่อเข้าคอร์สเยียวยาร่างกายแบบต่างๆ จนเริ่มหลงรักเชียงใหม่ อยากอยู่ในที่ที่มีความเป็นเมืองผสมผสานกับธรรมชาติ เมื่อสามีชวนให้ย้ายไปตั้งรกรากที่นี่ หญิงสาวจึงตอบตกลงง่ายดาย ก่อนจะพบว่าเชียงใหม่ช่วยให้เธอได้กินอาหารเมือง รู้จักสมุนไพร เปิดประตูสู่การหาความรู้ด้านสมุนไพรที่เลยไปยังการค้นคว้าศาสตร์เก่าแก่ต่างๆ เช่น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน และอายุรเวชซึ่งเป็นศาสตร์การดูแลตัวเองเก่าแก่ของอินเดีย ที่สุดแล้ว เธอจึงได้เรียนรู้ในวิถีทางเลือกที่สนใจ และก็ได้ลองนำสิ่งที่ค้นพบมาปรับใช้จริงเป็นของกิน ของใช้ในชีวิตประจำวัน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนึกอยากมีอาชีพที่เชียงใหม่และอยากแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกไป นิจจึงตัดสินใจเปิดร้านขายผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ทีแรกเธอตั้งใจให้ร้านขายของออร์แกนิกแบบคัดสรร แต่คิดอีกที หญิงสาวก็อยากให้ความสนใจของร้านเฉพาะทางกว่านั้น

“เราลองมองย้อนชีวิตตัวเองกลับไป การที่ร่างกายดีขึ้นไม่ได้อยู่แค่ว่าเรากินอะไร ถ้าเราอยากให้คนสุขภาพดีขึ้นจริงๆ ต้องให้ความรู้แบบองค์รวม เราเลยเปลี่ยนจากร้านออร์แกนิกมาเป็นเรื่อง Wellness เพราะคำว่า Wellness ต้องรวมทุกอย่าง การออกกำลังกาย การเลือกกิน การใช้ชีวิตทั้งหมด รวมถึงเรื่องจิตใจ เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ขณะที่ตอนนี้ตลาดแยกเป็น 2 ทาง คือออร์แกนิกกับ quick fix ซึ่งคือกิน Supplement เพื่อความผอม ลดไขมันเร็วๆ สินค้าเราจะเป็นของที่ต้องประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันไปเลย”

ร้าน Botanic Pantry จึงเกิดขึ้น นอกจากโฟกัสในสิ่งที่ใหม่และต่างจากแบรนด์เพื่อสุขภาพอื่น ยังอาจเรียกได้ว่าเป็นร้านที่เน้นเรื่องชีวิตดีแบบองค์รวมหนึ่งเดียวในเชียงใหม่ (ชื่อร้านได้มาจากตอนเริ่มต้นที่ทุกอย่างทำขึ้นในครัวของนิจซึ่งเต็มล้นด้วยสมุนไพร) เมื่อก้าวเข้าร้าน จะพบผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมหลักจากธรรมชาติ ครอบคลุมทั้งของกินของใช้ เช่น น้ำผึ้งผสมสมุนไพรที่มีหลายสูตร เยียวยาร่างกายได้หลายแบบ จนถึงเบาะสำหรับเล่นโยคะ ทั้งหมดนี้แบ่งเป็นแบรนด์ของนิจคือ Botanic Pantry Ayur (เน้นสินค้าด้านความงาม) และแบรนด์อื่นๆ ที่เธอเลือกเข้าร้าน  

Botanic Pantry : แบรนด์ที่ชวนผู้คนดูแลชีวิตให้ดีด้วยธรรมชาติและภูมิปัญญาล้ำค่า
Botanic Pantry : แบรนด์ที่ชวนผู้คนดูแลชีวิตให้ดีด้วยธรรมชาติและภูมิปัญญาล้ำค่า

นิจพิถีพิถันเลือกส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ ทดสอบอยู่นานนับปี พยายามใช้ของออร์แกนิกมากที่สุดเท่าที่ทำได้ สินค้าเซ็ตแรกของเธอจึงปลอดสารเคมีรวมถึงไม่ใส่สารกันเสีย (เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีขนาดเล็กเพราะควรใช้ให้หมดภายใน 4 – 6 เดือน) นอกจากนี้ หญิงสาวยังอยู่ในระหว่างร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้พัฒนาสินค้าให้ดีอย่างใจ โดยปรับจากสูตรเก่าแก่ที่ศึกษามา

เมื่อถึงเวลาขาย หญิงสาวก็ยืนยันว่าเธอจะเริ่มขายจากแบบออฟไลน์เพียงอย่างเดียว และต้องพบลูกค้าเอง วิธีนี้ช่วยให้เธอได้แนะนำพวกเขาโดยตรง ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ได้ทดสอบสินค้า ที่สำคัญคือ ได้ทดสอบว่าทางที่กำลังมุ่งไปถูกหรือไม่

Botanic Pantry : แบรนด์ที่ชวนผู้คนดูแลชีวิตให้ดีด้วยธรรมชาติและภูมิปัญญาล้ำค่า

“เรารู้สึกว่าตัวเองค่อนข้างฮาร์ดคอร์ในการดูแลตัวเอง แต่ว่าคนข้างนอกใช้ชีวิตอีกแบบ แล้วเราจะหาจุดกึ่งกลางกันยังไง” นิจอธิบาย ก่อนจะบอกว่าลูกค้าที่เข้ามาในร้านนั้นเป็นลูกค้าที่น่าพอใจ “เราทำเคาน์เตอร์บาร์ มีเก้าอี้ให้นั่ง เพราะต้องการให้คนมานั่งแล้วคุยกันจริงๆ ซึ่งการมีหน้าร้านเชียงใหม่เป็นสิ่งดี มันเป็นหน้าร้านของโลก เราได้คนจากหลายประเทศ และถนนเส้นที่อยู่ก็ค่อนข้างได้ลูกค้าที่โอเคด้วย คือคนที่เข้ามาจะโดนกรองด้วยสารหน้าร้านประมาณหนึ่ง บางคนเข้ามาถ่ายรูปอย่างเดียวก็มีนะ แต่บางคนพอเห็นสารแล้วคลิกก็เข้ามา เราเองก็ไม่ใช่ว่าเข็นขายของอย่างเดียว ก็จะคุยก่อนว่าเป็นมายังไง มาอยู่กี่วัน สังเกตจากท่าเดินว่าเขามีปัญหาอะไรบ้างหรือเปล่า ท้องอืดไหม ให้ลองชิมสินค้า

“ตอนแรกเลยที่เปิดร้านตั้งใจจะโฟกัสที่ aging target แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ทันแล้ว ของแบบนี้กลุ่มลูกค้าต้องเด็กกว่านั้น เรามองว่าสัก 30 ต้นๆ จนถึง 45 เป็นกลุ่มเป้าหลัก กลุ่มกลางๆ นี่แหละที่ต้องใช้ เขาทำงานหนัก ใช้ชีวิตคนเมือง มีความไม่สมดุลหลายอย่างเลย สิ่งเหล่านี้มันน่าจะมาปรับชีวิตเขานิดหนึ่งให้สมดุล”

สินค้าเพื่อสุขภาพ
Botanic Pantry : แบรนด์ที่ชวนผู้คนดูแลชีวิตให้ดีด้วยธรรมชาติและภูมิปัญญาล้ำค่า

ตอนนี้ Botanicl Pantry อาจยังเป็นเพียงร้านขายสินค้าสุขภาพร้านหนึ่ง แต่ในอนาคต นิจตั้งใจจะพาสิ่งที่เธอรักไปไกลกว่านั้น นั่นคือเป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ เช่น ริเริ่มจัดเวิร์กช็อปสอนผู้คนดูแลตัวเองในแบบที่เธอเชื่อ โดย ณ ปัจจุบันก็มีคนจากหลายประเทศสนใจมาร่วมแบ่งปันความรู้ให้

ขณะที่เมื่อหันมองผลตอบรับและผลประกอบการ นิจบอกว่าตอนนี้สินค้าเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้ ร้านที่เปิดมาประมาณครึ่งปีเลี้ยงตัวเองแบบอยู่ได้และยังคงต้องก้าวต่อไป

“การจะทำให้ Botanic Pantry อยู่รอดอย่างยั่งยืนคงต้องทำหลายอย่างไปด้วยกัน ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์ เรื่องการให้ประสบการณ์ ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ทำให้คนเข้าร้านมาแล้วได้เรียนรู้สินค้าและเรื่องการดูแลตัวเองไปพร้อมกัน ส่วนเรื่องทำการตลาดออนไลน์เราก็ไม่ทิ้ง เป็นสิ่งที่เราอยากทำจริงจัง กระแสการใช้สื่อเป็นยังไง เราต้องทำและทิ้งไม่ได้เลย”

อาจพูดได้ว่าธุรกิจของหญิงสาวเพิ่งเริ่มต้นและมีงานรออยู่ข้างหน้าอีกมาก แต่ถ้าถามว่าวันนี้ วินาทีนี้ เธอรู้สึกกับชีวิตตัวเองอย่างไร

“ตอนนี้มีความสุขกับชีวิตมาก” นิจลากเสียงยาวในคำสุดท้าย แต่ที่จริงคำพูดอาจไม่จำเป็นอะไร

เพราะแค่เห็นสีหน้าและแววตาเป็นประกายของเธอ เราก็รู้

Botanic Pantry : แบรนด์ที่ชวนผู้คนดูแลชีวิตให้ดีด้วยธรรมชาติและภูมิปัญญาล้ำค่า
The Rules
  1. สร้างสรรค์สินค้าจากวัตถุดิบที่ดีที่สุด
  2. ทำงานแบบรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
  3. มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน แต่พร้อมรับและปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงระหว่างทาง
  4. ถามตัวเองว่าสิ่งที่ทำช่วยให้เกิดความสุขสบายใจหรือไม่ และจะช่วยเปลี่ยนชีวิตคนอื่นให้ดีขึ้นไหม หากคำตอบคือใช่ทั้งสองข้อ สิ่งนี้คืองานที่โลกได้เลือกแล้วที่จะมอบให้แก่คุณ จงวางใจสบายๆ แล้วทำให้เต็มที่
facebook.com/botanicpantry
 

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล