ลำพังชื่อของ CJ WORX ดิิจิทัลเอเจนซี่ไทยที่พ่วงดีกรีรางวัล Grand Prix จากเทศกาลโฆษณาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Cannes Lions จากปีที่แล้ว แถมรางวัลอื่นๆ แทนความเจ๋งจากหลากหลายเวทีอีกเต็มออฟฟิศ แต่ละวันพวกเขาก็มีโจทย์ใหม่ๆ ให้ได้ระดมสมองและสร้างสรรค์กันไม่เว้นแต่ละวัน

สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม และ จิณณ์ เผ่าประไพ สองผู้ก่อตั้งเอเจนซี่อิสระที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘เอเจนซี่อันดับหนึ่งของประเทศไทย’ ยังไม่หยุดตัวเองไว้แค่นั้น วันนี้พวกเขากำลังจะจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวบริษัทใหม่ ร่วมกับ Joris Groen และ Olaf Igesz จาก Buyerminds ผู้เชี่ยวชาญในการนำจิตวิทยาและการออกแบบพฤติกรรมผู้บริโภค มาใช้ในการพัฒนาและดีไซน์เว็บไซต์ แอพพลิเคชัน อีเมล และช่องทางสื่อสารอื่นๆ ที่การันตีการเพิ่มยอดขาย

เมืิ่อดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง + ความครีเอทีฟ + หลักจิตวิทยาที่ ‘รู้ใจ’ ผู้ใช้ เรื่องสนุกตอนใหม่ในวงการดิจิทัลไทยจึงกำลังจะเริ่มขึ้น

CJ / BUYERMINDS

THE COLLABORATION

CJ / BUYERMINDS เป็นชื่อยูนิตใหม่ที่เกิดจากร่วมทุนและรวมความเชี่ยวชาญของทั้งฝั่งไทยและเนเธอร์แลนด์เข้าไว้ด้วยกัน Buyerminds ใช้ ‘การออกแบบเพื่อโน้มน้าวใจ’ (Persuasive Design) มาใช้พัฒนา ปรับปรุง UX  (User Experience) หรือประสบการณ์ผู้ใช้บนเว็บไซต์ และช่องทางอื่นๆ บนพื้นฐานจิตวิทยาการชักจูง การเข้าใจกระบวนการคิดและพฤติกรรมผู้บริโภค เทคนิคที่มีอิทธิพลต่อการซื้อ ในขณะที่ดิิจิทัลเอเจนซี่สัญชาติไทยก็ไม่แพ้ใครในแง่ความคิดสร้างสรรค์และผลงานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“ตอนนั้นเรากำลังมองหาตลาดใหม่ๆ ที่จะขยายเพิ่ม เรารู้ว่าเมืองไทยมีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตในอันดับต้นๆ ของโลก ตลาดอีคอมเมิร์สที่นี่ก็บูมมาก เรารู้จัก CJ WORX ผ่านเครือข่ายธุรกิจ ตอน CJ WORX ได้รับรางวัลใหญ่ที่คานส์ เราก็รู้สึกว่าพวกเขาเป็นเอเจนซี่ที่น่าร่วมงานด้วย การที่เราเป็นเอเจนซี่อิสระทั้งคู่ ยิ่งทำให้เคมีตรงกัน พอได้คุยกันทุกอย่างก็ลงตัว การเซ็ตอัพทุกอย่างจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” Joris ผู้มีแบ็กกราวนด์เป็นนักจิตวิทยา เล่าย้อนไปเมื่อ 6 เดือนก่อน

สหรัฐเล่าต่อว่า เพราะเอเยนซี่ต้องปรับตัวและอัพเดตให้เท่าทันพฤติกรรมผุู้บริโภคตลอดเวลา สิ่งที่ CJ WORX มองหาคือ เครื่องมือใดๆ ก็ตามที่จะช่วยปรับปรุงพัฒนาการทำงาน สร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า หน้าที่หนึ่งของเอเจนซี่ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการช่วยให้ลูกค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น

การทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในเชิงจิตวิทยา จึงเป็นสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์วงการดิจิทัลในเมืองไทย เพราะผู้เล่นทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ต่างลงมาเล่นในสมรภูมิออนไลน์ และต้องการใช้สนามนี้ในการสร้าง Conversion

CJ BUYERMINDS จิณณ์ เผ่าประไพ สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม Joris Groen Olaf Igesz

THE EXPERTISE

ชื่อของ BJ Fogg ถูกเอ่ยถึงในการสนทนา เพราะทฤษฎีด้านพฤติกรรมของนักจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Persuasive Technology Lab แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดผู้นี้ ถูกนำมาใช้เป็นหัวใจในการออกแบบทุกกระบวนการที่สินค้าหรือบริการบนโลกดิจิทัลมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้

B = MAT
Behavior = Motivation, Ability, Trigger

สมการความสำเร็จเมื่อ 3 องค์ประกอบ แรงจูงใจ (Motivation) ความสามารถ (Ability) และ ตัวกระตุ้น (Trigger) เกิดขึ้นพร้อมกันปุ๊บ พฤติกรรมที่ต้องการ (Behavior) ก็เกิดขึ้นได้ปั๊บ

“เรานำ Fogg Behavior Model มาใช้เพราะเป็นรูปแบบที่เรียบง่าย ตอนเราเริ่มต้นเมื่อ 6 ปีก่อน ก็ยังไม่มีใครนำโมเดลนี้มาใช้ในการออกแบบฝั่งดิจิทัลอย่างจริงจัง ทั้งสามองค์ประกอบนี้ทำให้เราสามารถอธิบายพฤติกรรมผู้ใช้ได้อย่างเป็นระบบ ทำให้รู้สาเหตุของปัญหาและแก้ไขได้ถูกจุด ไม่ใช่การเดา การคาดหวัง หรือการพยายามจะทำอะไรที่คิดว่าสร้างสรรค์แต่ไม่ได้ตอบโจทย์”

ทั้ง CJ WORX และ Buyerminds มีเป้าหมายเดียวกันคือ การสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายทำอะไรบางอย่าง เช่น การคลิก การซื้อ การลงทะเบียน ในขณะที่ฝั่งครีเอทีฟเอเจนซี่มองสิ่งเหล่านี้จากมุมนักโฆษณา ผ่านการสื่อสารที่สร้างสรรค์ แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ Buyerminds ใช้เลนส์ของนักจิตวิทยาในการทำความเข้าใจพฤติกรรมและกระบวนการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมาย การนำศิลป์และศาสตร์จากสองขั้วมาเจอกันจึงสามารถ ‘ออกแบบพฤติกรรม’ ของลูกค้าบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้

เมื่อโจทย์คือการออกแบบพฤติกรรม — ไม่ใช่การออกแบบเว็บไซต์ มุมมองในการออกแบบทุกช่องทางที่ใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภคจึงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้เกิดจากการวิจัย ฐานข้อมูล ความเข้าใจจิตวิทยาในเชิงลึก ที่นำมาวิเคราะห์ ก่อนจะสามารถออกแบบสื่อการตลาดออนไลน์เพื่อให้ได้มาซึ่งพฤติกรรมที่ต้องการได้ รู้อย่างนี้แล้ว การที่เราทำอะไรบนโลกเสมือนจริงจึงอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะทุกส่วนประกอบที่ได้รับการตอบสนองผ่านการดีไซน์มาอย่างถี่ถ้วนแล้ว

จิณณ์ เผ่าประไพ Olaf Igesz สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม Joris Groen

Joris ยกตัวอย่างข้อผิดพลาดที่มักพบเป็นประจำในการออกแบบเว็บไซต์คือ ขั้นตอนที่ซับซ้อนวุ่นวาย ปุ่ม Call-to-Action ที่กระตุ้นให้เกิดการลงมือทำอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจมีไม่ต่ำกว่า 10 ขั้นตอน “ก็เหมือนกับคุณเดินเข้าไปในห้อง แล้วมีคน 10 คนเรียกให้คุณเข้าไปหาแล้วสั่งให้คุณทำอะไรบางอย่าง กว่าจะครบ 10 คน คุณก็เดินหนีออกจากห้องไปแล้ว”

สิ่งที่การออกแบบพฤติกรรมทำกับเว็บไซต์ แอพ หรืออีเมล คือการเปลี่ยนทุกรายละเอียดที่สื่อสารกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูป ก๊อปปี้ การตัดคำที่ไม่จำเป็น การเลือกใช้คำที่มีอิมแพค การลดตัวเลือกและขั้นตอนต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้กระบวนการการตัดสินใจลื่นไหล ไม่สะดุด จบสมบูรณ์ได้ในเวลาอันสั้น รู้อย่างนี้แล้ว ที่เราคลิกๆ กดๆ จองตั๋วเครื่องบิน หรือช็อปเดรสสวยไปเพลินๆ นี่เขาออกแบบมาแล้วนะ!

ในบรรดาเคสที่ผ่านมาในเนเธอร์แลนด์ ที่ Olaf มักใช้เป็นตัวอย่าง คือยอดคนลงทะเบียนมาทดลองขับรถ ที่เพิ่มขึ้นจาก 0.04% เป็น 7% หลังปรับปรุงเว็บไซต์ให้ลูกค้าซึ่งเป็นรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง

Joris Groen Olaf Igesz

THE INSIGHTS

Buyerminds มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อัมสเตอร์ดัม และมีกิ่งก้านจากการร่วมทุนในเบลเยียม จีน และล่าสุด ประเทศไทย จะว่าไปโมเดลทั้งหลายที่เวิร์กในฟากตะวันตก ก็อาจจะไม่เวิร์กในอีกซีกโลก ด้วยความต่างทางวัฒนธรรม ยิ่งเรื่องพฤติกรรม รสนิยม จริตแบบไทยๆ ที่สาย ฝ อาจยังไม่ค่อยเก็ต 

Joris บอกว่า จิตวิทยาจะเป็นเรื่องสากล ถ้าเข้าไปดูสมองของคนชาติไหนๆ ก็ไม่ต่างกัน แต่วัฒนธรรมมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมพฤติกรรมบางอย่าง ทุกครั้งที่เข้าไปถางทางในตลาดใหม่ เขาให้ความสำคัญการทำวิจัยกับกลุ่มเป้าหมายในประเทศนั้นๆ มากเป็นพิเศษ เพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภคกลุ่มใหม่ให้ถ่องแท้

“เราใช้หลายเทคนิคในการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย การสำรวจความเห็น ฐานข้อมูลทั้งหมดที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ เพื่อทำความเข้าใจกระบวนความคิด การตัดสินใจในเชิงลึก เหตุผลในการกระทำต่างๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมไปถึงการฟังบทสนทนา คำติชมจากลูกค้าที่มีกับคอลเซ็นเตอร์ หรือวิเคราะห์ข้อความตอบโต้บนช่องทางการแชตของแบรนด์” Olaf เสริม

ในช่วงเช็ตอัพจึงมีการแท็กทีมของนักจิตวิทยาและนักวิจัยจากฝั่งอัมสเตอร์ดัม กับนักวิจัยและนักออกแบบ UX จาก CJ WORX เพื่อแลกเปลี่ยนอินไซต์จากทั้งสองมุม แม้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์สไตล์ไทยซึ่งเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ

“การตัดสินใจของคนไทยมักขึ้นอยู่กับสังคมแวดล้อม ความเห็นจากเพื่อนหรือคนรอบข้างมีความสำคัญมาก คนไทยติดนิสัยชอบถามเพื่อน ต้องโทรปรึกษาหรือถามความเห็นใครสักคนก่อนตัดสินใจอะไรบางอย่าง ซึ่งต่างจากตะวันตกที่มีความเป็นปัจเจกมากกว่า” นักจิตวิทยาจากซีกโลกตะวันตกจึงมองว่า เป็นโจทย์ใหญ่ที่พวกเขาต้องนำมาประยุกต์ในการออกแบบ Customer Journey สำหรับตลาดนี้

สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม จิณณ์ เผ่าประไพ

THE OPPORTUNITIES

ในแวดวงการตลาดและโฆษณา Engagement เป็นเรื่องของอดีตไปนานแล้ว ถ้ามัวแต่ดีใจกับยอดคอมเมนต์ ไลก์ แชร์ ก็เหมือนยังไม่เลิกใช้คำสรรพนามบุรุษที่สองว่า ‘ออเจ้า’ นั่นแหละ เพราะ Conversion ต่างหากที่สำคัญ

การคลิกโฆษณา การสั่งซื้อหรือจองสินค้า การโทร การกรอกแบบฟอร์ม การดาวน์โหลดแอพ การสมัครรับจดหมายข่าว การเดินทางไปโชว์รูมหรือสำนักงานขาย เหล่านี้คือกิจกรรมที่วัดผลได้และเป็นยอดปรารถนาของเจ้าของธุรกิจและแบรนด์

“ปิดการขาย” สหรัฐเรียกจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญชิ้นสุดท้ายนี้ที่หายไป ซึ่งเป็นกระบวนการสุดท้ายที่จะทำให้ Customer Journey จบบริบูรณ์แบบ Happy Ending

จิณณ์ให้ข้อสังเกตว่า เมืองไทยมองเว็บไซต์เหมือนโบรชัวร์แผ่นหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้ว เว็บไซต์เป็นช่องทางสำคัญที่ก่อให้เกิดรายได้ได้ “เท่าที่ผ่านมา เราสร้างทราฟฟิก เราสร้างการตระหนักรู้ เราพาลูกค้าไปจุดใดจุดหนึ่ง แต่มันจบแค่นั้น มันไม่ได้สร้างรายได้หรือเกิดการซื้อขายจริง มองในมุมเจ้าของธุรกิจ เราคิดว่ามันไม่มีประโยชน์”

นอกจาก CJ / BUYERMINDS จะนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับวงการดิจิทัลไทย ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากรและเรียนรู้สิ่งใหม่ร่วมกัน พวกเขายังนำเสนอโมเดลธุรกิจใหม่ที่คิดเงินลูกค้าอย่างแฟร์ๆ ด้วยการขายผลลัพธ์ เพราะเอเจนซี่จะได้รับผลตอบแทนจากความสำเร็จของลูกค้า เรียกว่าถ้าลูกค้าขายของได้ถึงได้เงิน

“มันทำให้เราพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ มันเป็นความท้าทายที่เรากล้าเสี่ยง นับเป็นการสร้างบทใหม่ในการชาร์จเงินลูกค้าเลยก็ว่าได้”

CJ BUYERMINDS CJ / BUYERMINDS

THE THOUGHT LEADER

วันนี้มีลูกค้าในเมืองไทยที่เริ่มใช้เครื่องมือนี้กับ CJ / BUYERMINDS แล้ว เมื่อได้ชื่อว่าเป็นนักทดลองรายแรก CJ WORX มองว่านี่คือสิ่งใหม่ที่น่าตื่นเต้น พวกเขาพร้อมที่จะเป็นผู้ริเริ่ม เพราะในเอเชียมีแค่ประเทศจีนที่นำการออกแบบพฤติกรรมมาใช้ในวงการดิจิทัล 

เพราะเป้าหมายใหญ่ คือความเข้าใจผู้บริโภคคนไทย การค้นพบว่าอะไรที่เวิร์กในตลาดบ้านเรา — จากมุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์

“ตั้งแต่ผมทำงานในเมืองไทย ผมได้ยินมาตลอดว่าดิจิทัลไม่มีประสิทธิภาพ เรากำลังพิสูจน์ให้เห็น ว่าแพลตฟอร์มนี้สามารถสร้างรายได้ให้คุณได้ตลอดเวลา และเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด” จิณณ์ สรุป “เรากำลังสร้างมาตรฐานใหม่ สร้างวิธีใหม่ในการสื่อสาร เป็นสิ่งใหม่ที่จะเขย่าวงการ ทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล”

CJ WORX

THE RULES

CJ WORX
  1. ทำสิ่งใหม่ทุกปี มีเป้าหมายใหญ่ในแต่ละปีที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะถ้าคุณยังทำอะไรเดิมๆ ก็เท่ากับว่า คุณไม่ได้สร้างอะไรแปลกใหม่
  2. ปรับปรุงจากข้อผิดพลาด แม้ว่าการลองสิ่งใหม่ อาจจะทำให้เราล้มเหลว แต่นั่นคือโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
  3. ทำงานเพื่อผลอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จทางธุรกิจหรือรางวัล

 

Buyerminds
  1. หาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถมาร่วมทีมด้วย เพื่อเปิดรับมุมมองและความคิดใหม่ๆ จากพวกเขา
  2. ตั้งมาตรฐานใหม่ในการทำงานแต่ละโปรเจกต์
  3. อ่านหนังสือ ติดตามข่าวสาร องค์ความรู้ วิจัยใหม่ๆ เพื่ออัพเดตตัวเองอยู่เสมอ

Writer

Avatar

พิมชนก พึ่งบุญ ณ อยุธยา

อินโทรเวิร์ด ที่ชอบ 'คุย' กับคน เพื่อสำรวจความคิดและถ่ายทอดเรื่องราวบันดาลใจ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล