20 กุมภาพันธ์ 2018
4 K

จินคือ JINUMO JINUMO คือจิน’

เป็นคำนิยามแสนไว้ตัวที่ จิน ธรรมโชติ เจ้าของแบรนด์ JINUMO บอก เมื่อเราถามถึงแบรนด์แฟชั่นสุดเท่ของเขา

เขาเพิ่งได้รับเชิญไปแสดงในโชว์รูมที่เทศกาลแฟชั่นระดับโลกอย่าง Paris Fashion Week ถึง 2 ครั้ง เมื่อปีที่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ความเท่ของดีไซน์ คือที่มาที่ไปของตัวตนและแนวคิดการทำแบรนด์จากตัวตนของเขาจนเป็นที่ยอมรับ และมีลูกค้าอยู่ทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดเอเชีย

ก่อนอื่นเรามาแนะนำตัวละครกันก่อน

จินคือใคร

จากแวบแรกที่เห็น เราคิดว่าเขาเป็นคนเงียบขรึมและไว้ตัว

แต่พอนั่งคุยกัน เราได้เรียนรู้ว่าไม่ควรตัดสินคนเพียงแค่แรกเห็น จินเป็นคนคุยสนุกมาก เล่าเรื่องราวได้อย่างมีรายละเอียด มีมุกแพรวพราว จนทำให้เราใช้เวลาสนทนาเกินโควต้าที่ขอไว้ไปเท่าตัว

จิน ธรรมโชติ เกิดและเติบโตที่หาดใหญ่ เขาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่นั่น ก่อนจะเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ในคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จินหลงใหลการทำเสื้อผ้ามาตั้งแต่เด็ก คุณแม่ของเขาเป็นช่างเย็บผ้า เขาจึงเติบโตมาท่ามกลางเสียงจักร เข็ม ด้าย และเส้นใยแบบต่างๆ

นี่คือจิน

JINUMO เป็นยังไง

จากแวบแรกที่เห็น เราคิดว่าทำไมต้องแพงขนาดนี้

แล้วก็เป็นอีกครั้งที่ต้องหยิกตัวเองแรงๆ ว่าทำไมถึงไม่ตัดสินอะไรตามเนื้อผ้า เพราะเนื้อผ้านี่แหละที่ทำให้ JINUMO ไม่เหมือนใคร วัสดุ สี การวางตัวของเส้นใย การสะท้อนแสงไฟ การทิ้งน้ำหนัก ล้วนเป็นที่มาของไอเดียสนุกๆ ในการออกแบบเสื้อผ้า JINUMO

JINUMO เป็นแฟชั่นสไตล์ดาร์กแวร์สัญชาติไทย ใช้สีเบสิกอย่างขาว เทา ดำ มีดีไซน์จัดจ้าน แต่ไม่โฉ่งฉ่าง จึงมีคาแรกเตอร์เงียบขรึมและไว้ตัว แม้รายละเอียดจะดูรกๆ เปรอะๆ แต่สายตาของผู้เชี่ยวชาญด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าจะเห็นว่าได้รับการออกแบบมาอย่างดี วัสดุที่เลือกใช้มีลูกเล่น หาไม่ได้ทั่วไป และเสื้อผ้าทุกชิ้นตัดเย็บเนี้ยบมาก

นั่นคือ JINUMO

และต่อไปนี้คือเรื่องราวการ collaborate กันอย่างลงตัวของทักษะส่วนตัวและความหลงไหลในแฟชั่นของเขา จนได้พางานออกแบบเสื้อผ้าของตัวเองไปแสดงในต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นความใฝ่ฝันของดีไซเนอร์ทุกคน

เราพบจินที่สตูดิโอของเขาที่ย่านอารีย์ในบ่ายวันเสาร์ เขาเปิดเพลงคลอระหว่างการสนทนา เล่าถึงเรื่องราวเมื่อมองย้อนไปดูการต่อจุดของเขา

เริ่มต้นจากความอยากและลูกบ้า

ใบเบิกทางเข้าสู่วงการแฟชั่นของจินคือ การประกวด Young Designer Award เมื่อเขาเรียนอยู่ปี 3 เป็นการประกวดของสหพัฒห์กรุ๊ปซึ่งจัดปีแรก และจินได้รางวัลชนะเลิศ ตอนนั้นเขาไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับทฤษฎีแฟชั่นเลย มีแต่ความอยากและลูกบ้าเท่านั้น

แล้วตอนนั้นจินเอาอะไรไปสู้กับเขา

“การเรียนนิเทศทำให้เราเก่งเรื่องการนำเสนอ เราก็ใช้สิ่งนั้นเอาตัวรอด โจทย์ให้ออกแบบ 3 ชุด คือ work wear, casual wear และ fashion wear ด้วยความที่เราไม่รู้อะไรเลย ทุกชุดของเราเลยเป็นเหมือนกันหมด แปลกหมด แล้วใช้วิธีพรีเซนต์ให้เข้ากับคอนเซปต์แทน”

คอนเซปต์คืออะไร

มิกซ์แอนด์แมตช์”

ปลอดภัยมาก

ใช่ ปลอดภัยที่สุด กรรมการจะยิงอะไร เราก็บอกว่ามิกซ์แอนด์แมตช์”

เป็นวิธีคิดที่ฉลาดมาก…

นอกจากความสามารถในการตั้งชื่อคอนเซปต์ให้ครอบคลุมแล้ว เขายังมีความสามารถในการมิกซ์แอนด์แมทต์ทักษะและความคิดต่างๆ ให้คอลเลกชันแรกของเขาด้วย

“เราเอาผ้ามาเผาไฟ พอผ้าแต่ละอย่างโดนไฟจะให้ texture ที่ไม่เหมือนกัน เราก็เอามาทำเป็นเสื้อผ้า เราชวนรุ่นน้องที่คณะมาเป็นนางแบบ น้องเขามีทักษะแอ็กติ้ง เราเลยให้ทำอะไรแปลกๆ อย่างเช่นให้ต่อขาเดิน”

ความมั่วอย่างมีหลักการและความไม่รู้กลายเป็นข้อได้เปรียบเพราะมันไม่มีกรอบ และมันทำให้เขาเค้นทุกอย่างที่เขารู้ออกมา เพื่อแสดงผลงานตามแบบที่ตัวเองต้องการ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความตามใจตัวเองขั้นสุดจนกรรมการยอมใจ และเป็นหลักคิดของเขามาจนถึงทุกวันนี้

การเรียนรู้จากมืออาชีพ

หลังจากชนะการประกวด จินได้เข้าไปฝึกงานออกแบบที่บริษัทในเครือสหพัฒน์ แม้ว่าเสื้อผ้าที่ชนะการประกวดของเขาจะแปลก แหวกแนว แต่การฝึกงานที่สหพัฒน์คือการหัดขั้นตอนพื้นฐานที่สุดของงานออกแบบ คือการทำงานตอบโจทย์

“มันคือความเป็นมืออาชีพ เวลาออกแบบเราต้องรู้ว่าเราจะออกแบบให้ใคร และเรากำลังเล่นบทอะไร ถึงเราจะชอบแฟชั่นที่มีกิมมิก แต่ถ้าต้องออกแบบสิ่งที่เบสิก เราก็ต้องทำได้ เพราะเป็นหน้าที่ของนักออกแบบ”

การทำงานที่สหพัฒน์ยังทำให้เขาต่อยอดความรู้หลายๆ ด้านเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ การสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ การทำการตลาด รวมไปถึงการเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับวัสดุสิ่งทอต่างๆ ซึ่งกลายมาเป็นไม้เด็ดในการทำแบรนด์ JINUMO ในเวลาต่อมา

ครั้งแรกอาจไม่ใช่ แต่ก็ยังได้เรียนรู้จากมัน

JINUMO เปิดตัวเบาๆ ครั้งแรกที่ตลาดนัดสวนจตุจักร การเลือกเปิดร้านที่จตุจักรของจินไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่าเหตุผลที่ว่าวันธรรมดาทำงานประจำ ว่างแค่เสาร์-อาทิตย์ จตุจักรเลยเหมาะแก่การดีบิวต์ JINUMO ฉะนั้น JINUMO จึงแทบไม่มีอะไรเข้ากับจตุจักรเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเสื้อผ้าที่ไม่ใช่แบบสมัยนิยม หรือราคาที่แพงกว่าทุกร้านรอบข้าง แต่อย่างหนึ่งที่จินได้เรียนรู้จากการเปิดร้านที่จตุจักรคือ เขาไปเฝ้าร้านเอง ได้พบลูกค้า และ Buyer จนทำให้รู้จักตลาดที่แท้จริงของ JINUMO และทำให้เขาย้ายมาเปิดร้านที่ Siam Center ในเวลาต่อมา

Siam Center เป็นแหล่งช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยว แต่ก็ยังเข้าถึงคนไทยรายได้สูงได้ด้วย การมีหน้าร้านใน Siam Center ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ยิ่งชัดเจน แล้วก็ทำให้ลูกค้าคาดหวังคุณภาพและราคาได้แบบไม่ผิดหวัง

ความใส่ใจในเรื่องเล็กๆ เป็นคุณสมบัติที่ยิ่งใหญ่ของนักสร้างสรรค์

หนึ่งในคุณสมบัติของนักสร้างสรรค์ที่จินทำได้ดีมากคือ การเป็นนักสังเกต ดีไซน์ของ JINUMO ดูจะจับกลุ่มตลาดค่อนข้างเล็ก เราเลยอดสงสัยไม่ได้ว่าจินรู้ได้อย่างไรว่าเสื้อผ้าแบบแปลกๆ ที่ทำออกมาจะมีคนซื้อ

“เราไม่รู้หรอกว่าคนที่จะซื้อเรามีเยอะแค่ไหน แต่เรารู้ว่าใครที่จะซื้อของของเรา”

ใคร

“คนที่มี DNA เหมือนเรา”

เป็นคำตอบที่ใช้ศัพท์วิทยาศาสตร์ แต่มีความนามธรรมสูงมาก

จินเล่าว่าเวลาเขาไปที่ Gin&Milk ร้านเสื้อผ้ามัลติแบรนด์ที่มี JINUMO วางขาย ที่ Siam Center ถ้าคนที่เดินเข้ามาในร้านเป็นนักท่องเที่ยวชาวเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงค์โปร์ เขามั่นใจว่าจะต้องซื้อเสื้อผ้าของเขาติดมือไปค่อนข้างจะแน่นอน เว้นแต่ว่าจะโดนแฟนหรือภรรยาห้ามไว้

กลุ่มนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของ JINUMO ก็คือ

“ชาวอาหรับ เขาซื้อทีละเยอะมาก เขากล้าแต่งตัว ไม่กลัวดีไซน์และมีกำลังซื้อ” จินเล่าให้ฟังอย่างรู้จริง เขาบอกว่าจุดเชื่อมของลูกค้ากลุ่มต่างๆ ของเขาคือ คนที่ไวต่องานดีไซน์ และเป็นคนที่อยู่ในประเทศที่ใส่งานดีไซน์จัดจ้านแบบนี้ในชีวิตประจำวันได้ ลูกค้าชาวไทยก็มีซื้อบ้าง แต่คงเพราะมีโอกาสใส่น้อยกว่า เลยไม่มีลูกค้าชาวไทยมากเท่าชาวต่างชาติ

นอกจากจินจะใช้ความช่างสังเกตในการทำความเข้าใจลูกค้าของแบรนด์ตัวเองแล้ว เขายังสังเกตวิธีการบริการลูกค้าของแบรนด์อื่นๆ อีกด้วย

ความมี passion ใน fashion

จินถึงกับนั่งหลังตรง และเล่าให้ฟังอย่างตาเป็นประกายว่า

“เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เราชอบมากเวลาเจอพนักงานขายเสื้อผ้าที่ชอบพูดคุยกับเราเหมือนเราไม่ใช่ลูกค้า”

ยังไง

“เราเคยไปซื้อรองเท้าคู่หนึ่งที่ปารีส ไปร้านแรกไม่มีไซส์ พนักงานบอกให้ไปอีกสาขาหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาที่เราไปมาแล้ว พอเดินเข้าร้าน พนักงานก็พูดเลยว่า ‘Hi, welcome back.’ นางจำได้ เราตกใจมาก แล้วนางก็ผายมือไปแล้วถามว่า ‘Are you looking for this?’ มันคือรองเท้าที่เรามาหาในไซส์ที่ถูกต้อง เฮ้ย คือประทับใจมาก”

แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น

“พอจะลองรองเท้า นางก็หยิบเสื้อหยิบกางเกงตัวนั้นตัวนี้มาให้เราลอง เราก็ลองนะ เรารู้สึกสนุกที่ได้เจอคนที่สนุกกับแฟชั่นเหมือนกัน มันข้ามผ่านความกลัวว่าเขาจะยัดเยียดให้ซื้อของเพิ่มไปเลย แค่ซื้อรองเท้าคู่เดียวนี่เราเปลี่ยนเสื้อผ้าลองทั้งชุด”

ยังไม่พอ

“วันนั้นเราไปซื้อกางเกง เลือก 2 ตัวระหว่างตัวที่ใส่ได้บ่อยหน่อยกับตัวที่ดีไซน์จัดมากๆ เราถามพนักงานขาย นางก็แนะนำว่าเอาตัวที่ใส่ได้บ่อยดีกว่า มัน timeless แล้วถ้ายูไม่ซื้อนะไอจะซื้อเอาไว้เอง เราก็เลยซื้อมา ก่อนออกจากร้านนางยังส่งท้ายให้อีกว่า ‘Wear it, you will feel like a prince.’”

เขารวบยอดประสบการณ์เหล่านี้ว่าเป็น passion ของผู้ขายที่ไม่ใช่แค่ให้ความประทับใจกับลูกค้าแต่ยังสามารถเพิ่มยอดขายได้ด้วย เขาพูดอย่างชื่นชมว่า

“พอเจอคนที่มี passion เหมือนกัน เขาทำอะไรออกมาเราก็ซื้อ เสื้อผ้าหลายตัวเราชอบมากถึงรู้ว่าไม่ได้ใส่ก็ซื้อมา เราชอบดีไซน์ อารมณ์แม่บ้านที่ซื้อจานสวยๆ แล้วไม่ใช้ JINUMO ก็ทำ มีบางตัวเราว่าดีไซน์มันล้ำมาก พอรู้ว่ามีคนซื้อนี่อยากรู้จักเลยว่าเป็นคนยังไง” จินหัวเราะแบบเขินๆ

ความเปิดโอกาสให้ตัวเองอยู่เสมอ

กว่าจะหาประสบการณ์จากคนต่างชาติต่างภาษาได้ขนาดนี้ จินบอกว่าเขาเป็นคนเรียนภาษาอังกฤษไม่เก่งเลย จนถึงระดับมหาวิทยาลัยผลการเรียนภาษาอังกฤษก็อยู่ในเกณฑ์เกือบแย่มาตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่เขาชอบคือ เพลงสากล สิ่งที่ช่วยให้เขาใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วคือ การคุยกับลูกค้าชาวต่างชาติ

“เราไม่ปิดกั้นตัวเอง ทุกโอกาสที่เข้ามาคือโอกาสในการเรียนรู้ เราโชคดีที่มีคนมาให้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษบ่อยๆ พอใช้ทำงานนานเข้าทักษะทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เอง”

ไม่หยุดที่จะไปสู่สิ่งที่ดีที่สุด

การไปปารีสแฟชั่นวีก 2 ครั้งของ JINUMO ไปในบทบาทที่แตกต่างกัน

ครั้งแรกเขาได้รับเชิญจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้ไปร่วมจัดโชว์ใน Bangkok Showroom เขาเล่าว่า “ใน Bangkok Showroom มีแบรนด์อื่นๆ จากประเทศไทยด้วย ซึ่ง JINUMO เป็นสไตล์ที่ไม่เหมือนของคนอื่น Buyer ที่เข้ามาอาจจะไม่ได้เตรียมตัวจะมาซื้อสไตล์แบบนี้ แต่ก็ทำให้คนเริ่มรู้จักเรา คนสนใจเยอะมาก ก็เริ่มมี Buyer ติดต่อมาขอซื้องาน”

เมื่อได้รู้แบบนี้ จินก็ไม่รอช้าที่จะพา JINUMO ไปให้ไกลกว่าเดิมอีกสักหน่อย จึงติดต่อไปร่วมโชว์ในโชว์รูมแสดงเสื้อผ้าสไตล์ดาร์กแวร์ ซึ่งเข้ากับ JINUMO มากกว่า ในซีซั่นถัดมา การไปรอบนี้ JINUMO ได้แสดงร่วมกับดีไซเนอร์หลายประเทศ ทั้งยุโรปและเอเชีย ทำให้ JINUMO from Thailand กลายมาเป็น JINUMO By Jin Thammachote ที่โลกแฟชั่นได้รู้จักในวันนี้

เรารู้ว่าเขาคงไม่หยุดอยู่แค่ความฝันนี้ เลยแอบถามถึงโปรเจกต์ต่อไป เขาให้ความรู้ว่าช่วงนี้เป็นขาลงของดาร์กแวร์ ในขณะที่สตรีทแวร์กำลังได้รับความนิยม ฉะนั้น คอลเลกชันหน้าเราน่าจะได้เห็น JINUMO ในแนวที่เป็นสตรีทแวร์มากขึ้น

หมายถึงใส่ง่ายขึ้น

“เปล่า” เขาตอบอย่างคนมีสไตล์

Facebook | jinumo
JINUMO at Gin&Milk Store 1st fl., Siam Center

The Rule

1. การบริหารโอกาส

“ต้องหาโอกาสให้ตัวเอง พอหาได้แล้ว บางทีก็ขึ้นกับปัจจัยภายนอกหรือสังคมว่าจะยอมรับหรือให้โอกาสเราต่อไหม ปัจจัยเหล่านั้นเราควบคุมไม่ได้เลย ฉะนั้น จงรู้จักตัวเอง ทำตัวเองให้ดี ตามคาแรกเตอร์ของตัวเอง ไม่ต้องตามใคร เพราะคาแรกเตอร์ตัวเองจะอยู่กับเราและไม่กลวง ถ้าคิดดีแล้วก็ทำออกมา ตลาดจะให้ฟีดแบ็กเองว่ามันดีไหม ถ้าไม่ดีก็ลองดูว่าจะปรับยังไง”

2. การบริหารต้นทุน

“ต้องดูว่าเรามีอะไรอยู่กับตัว เรามีเงินหรือมีความสามารถ หรือมีทั้งสองอย่าง หรือไม่มีเลย เราทำ JINUMO เราไม่ได้มีเงิน แต่มีความสามารถ เราก็ใช้ความสามารถหาเงินมา พร้อมกับออกแบบ JINUMO ไปด้วย จนทุกอย่างพร้อม ก็ลงตัว การทำเสื้อผ้าใช้เงินเยอะมาก ต้องมีเงินก้อนด้วย ได้เงินปีละ 2 ครั้ง เหมือนทำนา เพราะ Buyer เขาจะซื้อล่วงหน้าทีละ 2 ซีซั่น เพื่อเอาไปผลิตและวางขายให้ทัน”

3. การบริหารการทำงาน

“การทำงานต้องยิ่งทำยิ่งสบาย เราต้องบริหาร เมื่อก่อนเราทำเองหมด ไปเลือกผ้าแบกผ้าเอง วิ่งวัดตัวเอง เดินสายทุกวันไม่ต่างกับจินตหรา (พูนลาภ) เดี๋ยวนี้ไม่ทำแล้ว ทำงานให้มันง่ายขึ้น ก็มีความสุขมากขึ้น”

Writer & Photographer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น