16 พฤศจิกายน 2017
3 K

เราเคยได้ยินเรื่องสวนหน้าบ้านและสวนหลังบ้านแล้ว

แต่คุณเคยได้ยินเรื่องสวน ‘ใน’ บ้านบ้างไหม

ไม่ใช่แค่ในบ้าน อย่างการปลูกพืชอวบน้ำในกระถางเล็กๆ บนโต๊ะทำงาน หรือลิ้นมังกรที่ริมหน้าต่าง แต่เป็นใน ‘ตู้’ ขนาดเท่าชั้นหนังสือ ที่ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ในมุมไหนก็ได้ของบ้าน เป็นทั้งสิ่งประดับตกแต่งสบายตา และนำพืชพรรณออกมาทำอาหารได้ ที่สำคัญคือ เจ้าของตู้แทบจะไม่ต้องดูแลอะไรเลย

นี่คือเรื่องของ Farmshelf บริษัทสตาร์ทอัพจากนิวยอร์ก ที่มีแนวคิดว่าอยากให้ใครก็ได้ ปลูกอาหารที่ไหนก็ได้ เพื่อช่วยให้ผักสดเข้าถึงมือคนง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวเมืองที่ไม่มีแม้แต่เวลาดูแลอาหารการกินของตัวเอง และอาจขยายไปจนถึงพื้นที่ห่างไกลความเจริญที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้ทำเกษตรกรรม

ท่ามกลางความครึกครื้นของงานแถลงข่าววันที่ 8 – 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แสนสิริเปิดตัวการลงทุนระลอกใหม่ใน 6 บริษัทสตาร์ทอัพนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่แบรนด์สิ่งพิมพ์ชื่อดังอย่าง Monocle, ธุรกิจบูติกโฮเทลสายแหวกแนวอย่าง Standard International, แอพพลิเคชัน One Night ของบริษัทสแตนดาร์ด ที่ช่วยให้การจองโรงแรมสะดวกง่ายดายขึ้น, JustCo โคเวิร์กกิ้งสเปซสายอาเซียน และ Hostmaker ธุรกิจเปลี่ยนบ้านให้เป็น Airbnb การลงทุนในครั้งนี้ แสนสิริตั้งใจจะมุ่งเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ จากการเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ให้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ทุกด้านอย่างทั่วถึง

ในกลุ่มคนที่ทำเรื่องน่าตื่นเต้นมากมาย ฉันมีโอกาสได้สนทนาสั้นๆ กับหนึ่งในนั้น คือ แอนดริว เชียเรอร์ (Andrew Shearer) หนุ่มอเมริกันอายุ 27 ผู้เป็นซีอีโอของ Farmshelf เราคุยกันถึงสิ่งประดิษฐ์ที่เขาตั้งใจสร้าง และผลประโยชน์ที่มันจะนำมาให้โลก

ต่อไปนี้ เป็นเรื่องของชั้นปลูกต้นไม้ที่ทำได้มากกว่าแค่ประดับบ้าน

Let Food Grow

อันดับแรก เรามาเข้าใจความพิเศษของเทคโนโลยีสุดเจ๋งนี้กันก่อน

Farmshelf คือชั้นปลูกต้นไม้ที่ไม่ต้องเสียเวลาดูแลเอาใจใส่ใดๆ เพียงแค่ตั้งไว้ ระบบของตู้จะจัดการให้ทั้งหมด เราทำเพียงแค่ ใส่เมล็ดและวัตถุดิบตามกำหนด แล้วก็รอให้ถึงวันเก็บเกี่ยว ด้วยแนวคิดที่คล้ายกับเป็น ‘ขั้นกว่า’ ของการปลูกพืชไร้ดิน (Hydroponic Farming) และการปลูกพืชแนวตั้ง (Vertical Farming) ถามว่าขั้นกว่าอย่างไร ก็ตรงที่ในระบบปลูกพืชทั้งสองแบบ เราเป็นคนคิดว่าจะต้องทำอะไรกับพืช แต่ในตู้ของ Farmshelf เราไม่ต้องคิดอะไรเลย!

แล้วตู้รู้ได้อย่างไรว่าต้นไม้แต่ละต้นต้องการอะไร? เชียเรอร์อธิบายว่า “ตู้เก็บข้อมูลด้วยระบบเซนเซอร์พิเศษที่คอยตรวจสภาพดิน น้ำ อากาศ และคอยสังเกตอัตราการสังเคราะห์แสง บวกกับภาพถ่าย time lapse ของต้นไม้ แล้วปัญญาประดิษฐ์จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลเพื่อหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดให้กับพืชผัก”

แปลว่า ยิ่งปลูกต้นไม้มากเท่าไร Farmshelf ก็ยิ่งฉลาดมากขึ้นเท่านั้น นั่นเอง

เจ้าของก็เฝ้าติดตามการเติบโตน้อยๆ ในตู้ได้ผ่านแอพพลิเคชันที่จะคอยบอกทั้งระดับความเป็นกรดด่าง ระดับสารอาหาร พร้อมกับมีภาพ time lapse ให้แอบดูเหล่าพืชผักอย่างใกล้ชิดด้วย เมื่อถึงวันที่พร้อมเก็บเกี่ยว แอพจะแจ้งให้เรารับรู้อย่างทันท่วงที เพื่อให้เราได้กินอาหารในจังหวะที่รสชาติดีที่สุด

เมื่อฉันถามว่า แล้วแบบนี้ไม่เหมือนกับการสร้าง ‘ต้นไม้หุ่นยนต์’ เพราะไม่ปล่อยให้ต้นไม้ได้โตตามธรรมชาติเหรอ เขามองหน้าฉันด้วยความไม่เข้าใจ ก่อนจะชี้ว่า “สิ่งที่ FarmShelf ทำเป็นเหมือนการ ‘เพิ่มประสิทธิภาพในการเติบโต’ ให้ต้นไม้ แบบเดียวกับที่เราอยากให้คนอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดีที่สุดนั่นแหละ ถ้าไม่นับว่านั่นเป็นการทำกับคนเหมือนหุ่นยนต์ ผมก็ไม่คิดว่าเราทำกับต้นไม้เหมือนหุ่นยนต์นะ”

Fresh Fast Food

ข้อดีของตู้นี้ ประกอบไปด้วย 2 ด้านหลักๆ คือ เวลาและคุณภาพ

ในแง่ของเวลา Farmshelf จะช่วยร่นระยะเวลาเดินทางของพืชผักจากไร่สวนมาถึงมือเรา บางครั้งอาจนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ด้วยตู้นี้ เวลาเดินทางจะเหลือเพียงแค่ไม่กี่วินาที ข้อดีคือลดปัญหาการขนส่ง ปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลาง และสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับคนในเมืองใหญ่ที่แทบไม่มีบริเวณให้ปลูกพืชผัก ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าชั้นปลูกต้นไม้ไฮเทคยังสร้างผลผลิตได้รวดเร็วกว่าการปลูกในธรรมชาติด้วย

ส่วนในแง่ของคุณภาพ ตู้เล็กๆ หลังนี้ใช้ทรัพยากรประหยัดกว่าการปลูกแบบอื่นๆ เพราะมีโปรแกรมเข้ามาช่วยคิดคำนวณว่า ต้นอ่อนต้องการสารอาหารใดมากแค่ไหน ทำให้ทรัพยากรที่ต้องลงทุนแต่ละต้นอยู่ในปริมาณคุ้มค่า ไม่มากไปหรือน้อยไป และที่สำคัญคือ ด้วยวิธีการคิดเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดนี้ ทำให้รสชาติของผักอร่อยขึ้นด้วย

เสน่ห์อีกอย่างของการปลูกผักเองแบบนี้ คือการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้เห็นกระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ตอนลงเมล็ดจนถึงสุกงอมในระดับที่กินได้ เป็นการให้ความรู้ ให้ความรู้สึกใกล้ชิดผูกพัน และช่วยให้ไว้วางใจกับอาหารที่เลือกกินได้มากขึ้นด้วย

ในระยะยาว เชียเรอร์คาดหวังให้ Farmshelf เป็นทางออกหนึ่งในการช่วยลดปัญหาความอดอยาก โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารอื่นๆ ที่ปลูกพืชผักได้ยาก “ผมคาดหวังว่ามันจะช่วยแก้เรื่องความช่วยเหลือทางอาหาร (Food Aid) ของ UN ได้ ถ้ามีชั้นนี้ตั้งอยู่ ก็น่าจะเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ห่างไกลได้กินผักผลไม้เยอะกว่าเดิมมากทีเดียว”

อย่างไรก็ตาม Farmshelf เพิ่งมีอายุเพียงแค่ปีกว่าๆ เท่านั้น จึงคงต้องคอยตามดูไปเรื่อยๆ ว่าวันไหนที่ความฝันของเชียเรอร์จะกลายเป็นความจริง

Thai Food… Coming Soon!

คำถามสำคัญซึ่งฉันต้องการจะมาถาม คือเรื่องของการนำเจ้าตู้แสนล้ำยุคมาใช้ในประเทศไทย ประเทศที่อุดมไปด้วยเมนูผัก โดยเฉพาะในเมืองหลวงซึ่งมีร้านอาหารอยู่ทั่วทุกหย่อมหญ้า แต่แทบไม่มีผักผลไม้ที่ปลูกสดๆ เลย

เชียเรอร์อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ Farmshelf เน้นมุ่งเป้าไปที่ลูกค้ากลุ่มร้านอาหารและร้านกาแฟเป็นหลัก เช่น นำตู้ไปตั้งอยู่ที่ Great Northen Food Hall ที่สถานีรถไฟใหญ่ของนิวยอร์ก, ร้าน Norman และโรงแรม Ace Hotel ฯลฯ แต่พวกเขาก็มองว่าที่พักอาศัยก็เป็นกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจอีกกลุ่ม เมื่อเข้ามาร่วมมือกับแสนสิริ จึงยิ่งทำให้เชียเรอร์หันมาใส่ใจกับการใช้งานในครัวเรือนมากขึ้น โดยจะเริ่มจากโครงการ oka HAUS ของแสนสิริ ที่จะมี Farmshelf ติดตั้งอยู่ในบริเวณ Co-Kitchen ให้โอกาสลูกบ้านแสนสิริได้ลองใช้เป็นกลุ่มแรกๆ 

แต่ในแง่ที่ว่าจะต้องปรับให้เข้ากับความเป็นเมืองไทยหรือไม่ เขากลับบอกว่า “แนวความคิดเรื่องการปลูกผักแบบนี้มีทั่วไปอยู่แล้ว การปลูกพืชไร้ดินที่คล้ายๆ กันก็มีอยู่ทั่วโลก ดังนั้นเราไม่น่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรมากมาย แต่แน่นอนว่าก็มีเรื่องที่ต้องคิดเพิ่ม เช่น เรื่องผู้เชี่ยวชาญด้านพืชพรรณ และข้อจำกัดของเมืองที่แตกต่างจากในสหรัฐอเมริกา”

เชียเรอร์เสริมให้เห็นข้อดีของ Farmshelf อีกข้อคือ มันเป็นโอกาสให้ชาวไทยได้ลองชิมผักพันธุ์แปลกๆ โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หากอยากรู้ว่าตอนนี้เขาปลูกอะไรได้บ้าง ก็มีตั้งแต่ผักสลัดสไตล์ฝรั่ง ไปจนถึงผักกาด โหระพา ผักชี มะเขือเทศ และสตรอว์เบอร์รี่ แต่เมื่อได้พัฒนาต่อร่วมกับแสนสิริ จากนี้จะมีผักอะไรงอกเพิ่มขึ้นมาบ้าง คงต้องคอยดู

ภายในปี 2018 เราน่าจะได้เห็นชั้นปลูกต้นไม้สุดคูลตั้งอยู่ตามอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของแสนสิริ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกบ้านของแสนสิริ และอาจจะข้ามไปโผล่ตามผลงานของอีก 5 บริษัทที่แสนสิริร่วมลงทุนในคราวนี้ด้วยก็ได้ ใครจะไปรู้

ฉันขอบคุณเชียเรอร์ ก่อนที่เราจะแยกย้ายกันไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ทางงานจัดไว้ให้ ระหว่างที่ตักผักสลัดอยู่ฉันก็คิดขึ้นมาว่า ผักเหล่านี้เดินทางมาไกลแค่ไหน และหากเราร่นระยะทางนั้นลง จะสร้างผลดีอะไรได้อีกมากมาย

ชักอยากลองชิมดูเสียแล้วสิ ว่าความอร่อยใกล้มือที่ว่ามันรสชาติอย่างไร

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ