“To lead a better life, I need my love to be here…”

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อยู่ๆ เพลง Here, There and Everywhere ของ The Beatles ก็บรรเลงขึ้นมา

‘แหม โรแมนติก’ เราคิดในใจคนเดียว

คงจะมีแต่ความรักที่ผลักดันชีวิตใครสักคนให้เริ่มต้นได้ มีคนหนึ่งคนที่เรารู้จัก และอยากแนะนำให้คุณรู้จัก เขาก็คือ คุณเอท-ณัทธร รักษ์ชนะ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Karmakamet และ Everyday Karmakamet ที่ใครหลายคนรัก ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจก็คือ การขยับขยายแบรนด์จากการเป็นแบรนด์สินค้าคุณภาพ สู่การเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ในแบบที่หลายๆ แบรนด์ชื่อดังในโลกกำลังทำอยู่

ล่าสุด Everyday Karmakamet กำลังจะเปิดเสื้อผ้าคอลเลกชันแรก ‘Everyday Wear’ นั่นแปลว่า แบรนด์ไลฟ์สไตล์น้องใหม่แบรนด์นี้กำลังพูดถึงชีวิตที่ครบถ้วนปัจจัยทั้งสี่ ได้แก่ เสื้อผ้า ที่กำลังจะเปิดตัวด้วยคอลเลกชันนี้กลางเดือนมิถุนายน ก่อนจะเปิดตัวคอลเลกชันเสื้อผ้าของ Karmakamet (คามาคาเมต) ในช่วงต้นปีหน้า ยารักษาโรค ซึ่งก็คือเครื่องหอมทั้งจาก Karmakamet และ Everyday Karmakamet อาหาร ซึ่งได้แก่ ร้าน Karmakamet Diner ที่สุขุมวิท 24 และปัจจัยสุดท้าย ที่อยู่อาศัย โดยจะเปิดตัวสินค้าของแต่งบ้านที่เราขอรับรองเลยว่าคุณต้องปฏิเสธไม่ลง

อ่านถึงตรงนี้ แล้วถ้าใครอยากจะ pause ไว้ก่อน เพื่อนั่งรถไฟฟ้าไปสาขาใดสาขาหนึ่งของ Karmakamet และ Everyday Karmakamet ก็ทำได้เลย เรารอได้นะ

“เวลาคนถามเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ เรามักจะผงะ (หัวเราะ) เพราะเราเคยเชื่อว่าโลกธุรกิจจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น มีข้าวกิน มีบ้านหลังใหญ่ แต่ไม่มีผู้คนรอบข้าง เหมือนเราชกมวยให้ตาย ชนะก็จริง แต่ก็ทายาคนเดียว ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเลย จากที่เคยคิดว่าชีวิตที่สมบูรณ์นั้นต้องแยกระหว่างธุรกิจและเรื่องส่วนตัว เรากลับพบว่า ไม่ใช่  ทั้งหมดคือหนึ่งเดียว เราเรียกทั้งหมดนี้ว่าชีวิต”

Karmakamet, เอท-ณัทธร รักษ์ชนะ
Karmakamet, เอท-ณัทธร รักษ์ชนะ

The Edge of Glory

จากเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งผู้หลงใหลในศิลปะและอ่านนิตยสาร Vogue ของแม่มาตั้งแต่เด็ก

เรียนรู้และเข้าใจข้อตกลงที่เรียกว่าความสวยงามแบบสากลมาโดยตลอด

ก่อนจะเข้าสู่โลกการทำงานจริงในตำแหน่งนักออกแบบตกแต่งภายในและพบว่าสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเขามีมากเกินกว่าสิ่งที่ใครบอกให้เขาทำ จากนั้นก็มีโอกาสทำงานออกแบบเครื่องแต่งกายให้ภาพยนตร์เรื่อง องคุลีมาล (พ.ศ. 2546) จนได้รับรางวัลและเงินจำนวนหนึ่งซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเครื่องหอม

“หลังจากได้รับเงินรางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายในตอนนั้น เราตั้งใจจะหนีไปอยู่กับเพื่อนที่ดาร์จีลิง (ประเทศอินเดีย) สักพักนะ วางแผนทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว แต่ก่อนไป เพื่อนของเราอีกคนหนึ่งที่ทำหนังมาด้วยกันไปเจอร้านที่ตลาดนัดจตุจักร เขาถามเราว่าเราจะหนีไปไหน เราหนีไป เราก็ต้องกลับมาสู้ ทำไมไม่สู้เลยตอนนี้ จากที่จะไปดาร์จีลิงเลยตัดสินใจกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด ได้เจอกระดานชนวนที่เอาไว้คลึงธูป เพราะบ้านเราทำธูปมาก่อน เลยได้ความคิดว่าหรือทำธูปขายดีไหม ตอนนั้นกระแส Aromatherapy กำลังมา มันเป็นช่วงที่เราไม่มีอะไรต้องเสีย เรามีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือกลับไปอยู่ในระบบแล้วโดนเขาเขย่าหัว หรือสร้างโลกของเราขึ้นมาเอง ดังนั้นชีวิตการทำธุรกิจของเราช่วงแรกจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการเอาตัวรอด ทำอย่างไรก็ได้ให้ร้านเราอยู่ได้โดยไม่ต้องคิดถึงธุรกิจ ในที่สุดได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญ ผลลัพธ์จากการดำเนินการที่ล้มเหลวในครั้งนั้นสร้างความกลัวในใจจนเราเฆี่ยนตีทุกคนโดยไม่รู้ตัวเพื่อทำให้เราได้สิ่งที่เราอยากได้ นั่นคือคำว่าธุรกิจที่เราในอดีตรู้จัก

“จนวันหนึ่งเรารู้สึกไม่โอเค ธุรกิจใหญ่ขึ้นจริง แกร่งขึ้นจริง มีคนชื่นชมมากขึ้นจริง แต่ไม่ได้ประสิทธิผลอะไรนะ ไม่ได้ส่งผลใดๆ ในเชิงจิตวิญญาณ ในวันนั้นหันไปก็ไม่เหลือใครแล้ว เหลือแต่ตัวเราคนเดียว เราก็เริ่มพิจารณาตัวเองว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในที่สุดเราก็เปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่หมด จากเดิมที่เราทำทุกอย่างในองค์กร ทุกวันนี้เราเป็น Creative Director เต็มตัว งานของเราคือการไม่อยู่กับพื้นที่ปัจจุบัน แต่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ให้กับองค์กรและชีวิตทุกคนในทีมของเรา”

Karmakamet, เอท-ณัทธร รักษ์ชนะ

Born This Way

“สิ่งหนึ่งที่เราทำมาตลอด คือเราไม่เคยเดินตามใคร ถ้าเป็นมวย ถ้าน้ำหนักเราไม่ถึง เราก็ไม่สนใจนะ เราชกมวยเป็น เราก็ชกอยู่ริมสังเวียนนั่นแหละ คือไม่เล่นสังเวียนคนอื่น ใครอยากแข่งให้เขาลงมาแข่งกับเรา ต่อให้บนเวทีเขาชกกันสนุกสนานแค่ไหน ถ้าเวทีมวยวัดของเราดีจริงคนก็หันมาดูเวทีเราเอง (หัวเราะ) เราเป็นพวกสร้างเวทีตัวเอง อยู่ในความเชื่อตัวเอง แล้วมันก็พิสูจน์ได้นะ

“ก่อนหน้านี้แบรนด์เครื่องหอมทุกแบรนด์ในบ้านเรามีวิธีการสื่อสารเหมือนกันๆ ซึ่งได้ผลในโลกยุคหนึ่ง เราวิเคราะห์สิ่งนี้ตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ เราแทบจะไม่มีโฆษณาลงสื่อสิ่งพิมพ์เลย เราใช้วิธีเชื่อมต่อและสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าของเราโดยตรง นั่นคือรูป รส กลิ่น เสียง ในร้าน Karmakamet เราไม่เคยเปิดบูท เราเป็นร้านเลย เพราะเราเชื่อมั่นในพลังของอายตนะทั้ง 5 เราทำแบบนี้ตั้งแต่วันแรก ลูกค้าที่เข้าร้านมาอย่างน้อยต้องเลือกหยิบสินค้าสักชิ้นแน่ๆ แค่นั้นเลย”

Karmakamet

Nothing at All

“สิ่งที่ Karmakamet ทำ เราเชื่อในจุดประสงค์และที่ว่าง เชื่อว่าชีวิตมีแค่นั้น ชีวิตไม่มีอะไรเลย nothing at all และบทพิสูจน์ก็คือ เราอยู่ได้ อาจไม่ทะลุเป้าแต่เราก็มีความสุข เราอาจยังบอกไม่ได้นะว่า เราจะพาแบรนด์นี้ไปสู่จุดไหน ทั้งหมดที่เกี่ยวกับธุรกิจของเราในตอนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโลกภายนอกเลย เราต้องการทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตผู้คนของเรามีความเป็นไปได้สูงสุด ความเป็นไปได้ในชีวิตเขาจะสร้างความเป็นไปได้ให้แก่องค์กรอีกทอดหนึ่งอย่างยั่งยืน แต่แน่ละความยั่งยืนนั้นๆ มันก็มาจากการเป็นส่วนหนึ่งคือการรักในสิ่งที่ทำของทีมงานด้วย”

I Love My Life

ในขณะที่แบรนด์ Everyday Karmakamet พูดถึงเรื่องตัวเรากับโลกข้างนอกและการเชื่อมต่อกันด้วยความรัก ไม่ตัดสิน ไม่แบ่งแยก อนุญาตให้เขาเป็นในแบบที่เขาเป็น อนุญาตให้โลกเป็นแบบที่โลกเป็น ซึ่งในที่สุดแล้วทั้งสอง แบรนด์นี้พูดถึงความเชื่อเดียวกัน คือการไปสู่จุดประสงค์ชีวิตอย่างการสงบสุข

“เราตั้งใจให้แบรนด์ Everyday Karmakamet เชื่อมต่อคนรุ่นใหม่ให้เข้าสู่ Karmakamet ในอนาคต ความเชื่อของ Everyday Karmakamet คือ I love my life หรือ ‘ชีวิตที่ฉันรัก’ ซึ่งก็คือผู้คน เราเชื่อมต่อเขาด้วยหัวใจและความซื่อตรงต่อกัน ก่อนจะมาถึงจุดที่ชวนตั้งคำถามว่า ‘แล้วชีวิตคืออะไร’ ซึ่งแบรนด์ Karmakamet จะตอบคำถามนี้ได้ว่าชีวิตไม่คืออะไรเลย”

Karmakamet

To Lead A Better Life, I Need My Love to Be Here

“โดยทั่วไปเวลาแบรนด์ใดๆ จะสร้างสไตล์ของเสื้อผ้า เขาจะกำหนดแนวทางชัดเจนเพื่อจำแนกกลุ่มเป้าหมายไปในตัว ว่าผู้คนแบบนี้เป็นฉัน ผู้คนแบบนี้ไม่ใช่ และฉันจะไม่ยอมรับผู้คนแบบอื่น แต่เราไม่เป็นอย่างนั้น Everyday Karmakamet เชื่อมต่อผู้คนด้วยเสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยพลังของการชื่นชมชีวิตไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดๆ นั่นหมายความว่า คนทุกรูปแบบสามารถเป็น Everyday Karmakamet และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบแนวสตรีท แนวฮิปฮอป แนวมินิมอล หรือแนวทางใดๆ เนื่องจากโลกเราชอบจำแนก ชอบเปรียบเปรย สิ่งต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้คนไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน แต่เสื้อผ้าของ Everyday Karmakamet ไม่ได้บอกว่าเราคือใคร เพียงแต่ทุกตัวมีกลิ่นอายของความรักชีวิต เต็มไปด้วยการมองโลกในแง่บวก

“แฟนๆ Everyday Karmakamet รู้ดีว่าเรามีสัญลักษณ์ประจำ 3 – 4 แบบ ได้แก่ ‘หน้ายิ้ม’ แทนการมองโลกในแง่บวก ‘I love my life’ แทนชีวิตที่ฉันรัก ‘หัวใจ’ แทนการเต็มไปด้วยความรัก และไอคอนสุดท้ายเป็นใหม่ล่าสุด ‘สายรุ้ง 6 สี’ แทนเรื่องความเท่าเทียม ในขณะที่ตัวรูปแบบเสื้อผ้าจะมี 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม DNA เป็นสินค้าจากลายจากสัญลักษณ์ กลุ่ม Collection นำเสนอเรื่องราวตามแต่ละวาระโอกาส ซึ่งครั้งนี้เราจะพูดเรื่อง make love not war ที่มีใจความสำคัญเรื่องชีวิตไม่ใช่สงคราม ชีวิตคือความรัก และกลุ่มสินค้า Basic เรียบง่าย และใครที่ชอบกระเป๋า pantone ครั้งนี้จะออกมาอีก 20 สี 20 อาชีพ เป็นผ้ากันน้ำด้วย”

Karmakamet

Anything You Can Do

เขาบอกเราว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดนี้เกิดจากการเรียนรู้อย่างหนักและใช้เวลา “เราใช้เวลาที่ตื่นมาตอนเช้าไปจนถึงเที่ยงวันอ่านสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง มีคนจำนวนมากที่อยากเติบโตเร็วๆ แต่วันหนึ่งเขาใช้เวลากับการสะสมข้อมูลในตัวเองน้อยมาก วิธีคิด มุมมอง ก็แตกต่างกันแล้ว เราจึงบอกเสมอถ้าใครทำงานกับเราแล้วอยากชนะเรา คุณต้องใช้เวลาสะสมข้อมูลในแต่ละวันให้มากกว่า

“ธุรกิจนี้ทำให้เราค้นพบความหมายของการมีชีวิตมีคุณค่า สำหรับเราคือการให้พลังกับคนอื่นแล้วพลังก็กลับมาสู่ชีวิตเรา ข้อนี้แหละเป็นสิ่งที่ประทับใจที่สุดจากการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้น เราถึงบอกว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่ธุรกิจแต่เป็นชีวิตของเรา

“ศึกษา ตั้งคำถาม และทำงานให้หนัก ผลของการทำงานหนักจะพาให้เราจะหลุดจากกรอบโลกที่เราอาศัยอยู่ไปสู่โลกใหม่ๆ ลองสังเกตคนที่ยอดเยี่ยมในโลกนี้ เขาไม่อยู่ภายใต้กรอบที่โลกเป็น คนพวกนี้ทำงานหนัก ทุ่มเทอยู่ในโลกที่เหนือออกไป และความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มาจากพื้นที่รกๆ นะ แต่มาจากพื้นที่ว่างเปล่าและสิ้นข้อสงสัย ถ้าเราไม่สามารถปรับชีวิตเรา ปรับความคิดเราให้ว่างเปล่า ยอมรับโลกที่มันเป็นในแบบที่มันเป็น และมัวแต่โทษสิ่งต่างๆ ไม่ยอมอภัย ถือไว้ เราก็ไม่ว่างเปล่าและสิ่งใหม่ก็เกิดไม่ได้” เขาไม่ลืมที่จะทิ้งท้ายคำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจด้วยความรัก

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่บทความนี้เขียนขึ้นขณะอยู่ในร้าน Everyday Karmakamet ที่สาขาสีลม

 

The Rules: All of Nothing at All

1. ศึกษาพระพุทธศาสนาให้เข้าถึง
2. ทำงานให้หนัก
3. เมื่อค้นพบสิ่งที่ยอดเยี่ยมในชีวิตแล้วให้สร้างโครงสร้างที่สอดคล้องนี้ในชีวิต

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล