หนังสือนำเที่ยวที่คุณคุ้นเคยเป็นอย่างไร

ส่วนใหญ่แล้วเนื้อหาคงเป็นการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ หรือไม่ก็ร้านอาหารอร่อยๆ และโรงแรมที่น่าเข้าพัก

แต่ใน Engeki Quest คุณจะได้อ่านเรื่องป้ายบอกทาง คุณลุงช่างพูด และแมว

Engeki Quest Engeki Quest

นี่คือซีรีส์หนังสือนำเที่ยวที่เป็นทั้งบทละคร เป็นเกม หรือจะใช้เป็นวรรณกรรมให้อ่านเอาสนุกก็ได้

หนังสือแต่ละเล่มในชุดจะอิงอยู่กับชุมชน ตั้งแต่โยโกฮาม่าในญี่ปุ่น มะนิลาในฟิลิปปินส์ ดุสเซลดอร์ฟในเยอรมนี และอีกมากมาย เมื่อใครหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน เขาก็จะกลายเป็น ‘ผู้เล่น’ ที่เดินสำรวจย่านผ่านคำอธิบาย คำแนะนำ และข้อสังเกตต่างๆ ในหนังสือ

Engeki Quest Engeki Quest

วิธีการ ‘เล่น’ อันแสนแปลกของหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้เล่นเข้าใจชุมชนลึกซึ้งกว่าแค่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพราะจะได้มองเห็นชุมชนอย่างที่เป็นจริงๆ ทั้งเสน่ห์ตามข้างทาง สภาพวิถีชีวิต และปัญหา

หนังสือเล่มบางๆ ทรงพลังขนาดนี้ได้อย่างไร

ผู้อยู่เบื้องหลังวรรณกรรณแผนที่ชุมชนชุดนี้คือ จิคาระ ฟุจิวาระ (Chikara Fujiwara) และ มิโนริ สุมิโยชิยามะ (Minori Sumiyoshiyama) ศิลปินชาวญี่ปุ่น พวกเขากำลังเขียน Engeki Quest เล่มใหม่ ที่มีฉากหลังเป็นย่านกะดีจีน-คลองสานแห่งกรุงเทพฯ นี่เอง

พวกเขาเดินลัดเลาะในตรอกซอกซอยของย่านเก่าประจำกรุง เลือกหยุดดู ถ่ายรูป และจดบันทึก ในมุมแปลกๆ ที่ไม่มีชาวต่างชาติคนไหนทำกัน ราวกับมองเห็นบางอย่างที่คนทั่วไปอย่างเราๆ มองไม่เห็น

Engeki Quest Engeki Quest

ท่องเที่ยวให้เหมือนเล่นละคร

คำว่า Engeki แปลว่า ละคร

ชิการะมีพื้นเพเป็นนักวิจารณ์ละครเวที เขาเริ่มต้นโปรเจกต์นี้จากข้อสงสัยว่า จะเป็นไปได้หรือไม่หากละครไม่ได้เล่นอยู่แค่บนเวทีในห้องมืดๆ สี่เหลี่ยม แต่ออกไปโลดแล่นอยู่บนท้องถนน เชื่อมโยงกับชีวิตคนจริงๆ ในโลกข้างนอก

เขาจึงเขียนหนังสือนำเที่ยวที่เป็นบทละครขึ้นมา

วิธีการเล่นคือ ให้ผู้ร่วมผจญภัยอ่านคำแนะนำทีละข้อ แล้วเดินตามเรื่องราวในหนังสือไปเรื่อยๆ พร้อมทำความเข้าใจชุมชนไปด้วย

สนุก ง่าย ไม่ซับซ้อน

หากไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้คล้าย ‘การแสดง’ อย่างไร มิโนริ ศิลปินผู้ร่วมงานช่วยอธิบายเพิ่มเติมจากมุมของเธอว่า เมื่อผู้เล่นถือหนังสือเล่มนี้แล้วเดินผจญภัยไปในชุมชน คนที่อยู่ในชุมชนก็จะมองเห็นและคอยดูว่าคนคนนี้มาทำอะไร เหมือนว่ากำลังดูคนเล่นตามบทละครอยู่นั่นเอง

Engeki Quest

มองชุมชนในมุมใหม่

ไม่ใช่แค่วิธีเขียนที่พิเศษ เนื้อหาก็พิเศษด้วย

ชิการะเปิดคอมพิวเตอร์ให้เราดูบันทึกจากการลงพื้นที่ บนแผนที่เต็มไปด้วยการปักหมุด ระบุถึงสิ่งที่เขาและมิโนริคิดว่าน่าสนใจ แบ่งตามหมวดหมู่ด้วยสีและสัญลักษณ์อย่างเป็นระเบียบ

Engeki Quest

เมื่ออ่านชื่อของแต่ละหมุดแล้วก็อดขำไม่ได้ เพราะมีทั้ง Speaking Bird ระบุถึงนกขุนทองพูดได้ที่เขาเดินผ่าน Jimmy, Funny Man ชายผู้ยืนอยู่ที่สี่แยกตลอดเวลา โดยบอกว่าตัวเอง ‘เหมือนเซเว่น’ และ Crocodile! หมายถึงตัวเงินตัวทองขนาดยักษ์

ชัดเจนว่าหนังสือเล่มนี้ชวนให้เราดูชุมชนในมุมที่ไม่ธรรมดา

เมื่อถามว่าปกติแล้วเขาจะมองหาอะไรในชุมชนต่างๆ ทั้งชิการะและมิโนริต่างทำหน้าไม่แน่ใจ ด้วยความที่มีกระบวนการคล้ายงานศิลปะ จึงใช้ใจเลือกมากกว่าสมอง

แต่เมื่อพูดถึงชุมชนกะดีจีน-คลองสานแล้ว ชิการะพูดออกมาได้อย่างชัดเจนว่า ตัวเองคอยสังเกตแมว ส่วนหนึ่งเพราะมันน่ารัก (แน่นอนอยู่แล้ว) และอีกส่วนคือ เพราะแมวเป็นสัตว์ตัวเล็กที่ซอกแซกไปตามมุมต่างๆ ของย่านได้ และนั่นคือพื้นที่ที่พวกเขาสนใจ

นี่คือหนังสือนำเที่ยวที่ไม่เน้นเรื่องสถานที่ แต่ใส่ใจคน สัตว์ สิ่งของ ที่จะช่วยทำให้รู้จักพื้นที่เหล่านั้นมากขึ้น

Engeki Quest Engeki Quest

เชื่อมโยงเส้นทางผจญภัยให้ลื่นไหล

แม้เป็นงานศิลปะ แต่ในขั้นตอนเรียบเรียงก็ต้องคิดคำนวณอย่างดี

เพราะอยากให้บทละครในเล่มลื่นไหลไปอย่างเป็นธรรมชาติ แปลว่าผู้เล่นไม่ต้องเดินวนไปวนมา และใช้เส้นทางปกติที่คนในชุมชนใช้

หลังจากเห็นไฟล์แผนที่แล้ว มิโนริก็เปิดอีกไฟล์หนึ่งในไอแพดให้เราดู นั่นคือแผนผังขนาดใหญ่ที่นำเอาจุดต่างๆ มาเชื่อมโยงเข้าหากัน และมีลูกศรระบุว่าเป็นการเชื่อมโยงแบบกลับไปมาได้ หรือเชื่อมโยงทางเดียว ทั้งหมดเพื่อวางแผนว่า ‘การผจญภัย’ จะดำเนินไปในทิศทางอย่างไรได้บ้าง

พวกเขาใช้เวลาเก็บข้อมูลอยู่ร่วมเดือน โดยระหว่างนั้นก็ทำแผนผังเชื่อมโยงไปด้วย แล้วจึงค่อยนำไปเรียบเรียงเพื่อเขียน รวมกระบวนการทั้งหมดแล้วก็เกือบ 3 เดือน

ทั้งหมดนี้ ทำเพื่อให้ผู้ร่วมเล่นได้ลิ้มรสความเป็นชุมชนอย่างสมจริงที่สุด

Engeki Quest Engeki Quest

เริ่มด้วยหนังสือ จบด้วยประสบการณ์

มาถึงตรงนี้ คุณคงเริ่มสงสัยว่า แล้วสิ่งต่างๆ ที่บันทึกไว้ จะอยู่ตรงนั้นอีกนานแค่ไหนกัน

ใช่ รายละเอียดหลายอย่างใน Engeki Quest หายไปในเวลาไม่นาน

มิโนริยกตัวอย่างให้ฟังผ่านครั้งแรกที่เธอเล่น Engeki Quest ฉบับโยโกฮาม่า ซึ่งเธอไปเล่น 3 ปีให้หลังจากหนังสือตีพิมพ์ และได้พบว่าหลายสัญลักษณ์ที่มีให้สังเกต หลายเส้นทางที่ชวนให้เดิน หายไปแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เธออยากวางหนังสือแล้วเดินต่อเอง

เธออธิบายว่า ดูเหมือนรายละเอียดต่างๆ จะทำงานในระดับความรู้สึก ทำให้เธอเงยหน้าขึ้นมาสำรวจดูสิ่งรอบตัวอย่างละเอียด จนอยากไปต่อด้วยความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น มากกว่าการเดินตามคำบอกไปเฉยๆ

ชิการะเล่าเสริมว่า เคยมีครั้งหนึ่งที่มะนิลา เขาตั้งใจให้ผู้เล่นทุกคนเดินทางไปจบที่จุดเดียวกัน แล้วนั่งพูดคุยกันถึงประสบการณ์ที่ได้รับ แต่ระหว่างการผจญภัยฝนกลับตกลงมาหนักมาก ทำให้หนังสือเปียกจนอ่านไม่ได้ เมื่อมาถึงจุดปลายทาง ทุกคนจึงนั่งคุยกันโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยัน มีเพียงประสบการณ์ส่วนบุคคลที่หลงเหลืออยู่

กลายเป็นว่า การมองเห็นตามหนังสือไม่สำคัญเท่าการมองเห็นความเปลี่ยนแปลง

นั่นคือสาเหตุที่ทำไมในหนังสือมีส่วนที่เป็นเรื่องแต่งด้วย เพราะชิการะและมิโนริมองว่าสิ่งของในเชิงประจักษ์เป็นเพียงเครื่องมือ ช่วยกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ การคิด และจะนำไปสู่การทำความเข้าใจในที่สุด

หนังสือนำเที่ยวเล่มนี้จึงไม่ใช่คำตอบ เป็นเพียงกุญแจเท่านั้น

Engeki Quest

เรียนรู้ความแตกต่างเหมือนกัน

แล้วกุญแจดอกนี้จะไขประตูบานไหนได้บ้าง

“เวลาเข้าไปในชุมชนหนึ่งๆ เรามักจะพบว่ามีกำแพงที่มองไม่เห็นคอยแบ่งแยกคนในชุมชนออกจากกัน ซึ่งถ้าเราใช้โปรเจกต์นี้ทำลายกำแพงนั้นได้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี” ชายหนุ่มบอกด้วยความหวัง

เขายกตัวอย่างจากครั้งที่ทำ Engeki Quest ภาคอันซาน (Ansan) เมืองในเกาหลีใต้ ที่แบ่งเป็นเขตตะวันออกกับตะวันตกอย่างชัดเจน ฝั่งตะวันออกมีความศิวิไลซ์ บ้านเมืองทันสมัยสะอาดเรียบร้อย ในขณะที่ฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้อพยพ ทำให้คนที่อยู่ทางตะวันออกคิดว่าฝั่งตะวันตกอันตราย และไม่ยอมเดินทางไปฝั่งนั้นเลย ทั้งๆ ที่เมื่อเข้าไปทำงาน ชิการะกลับเห็นว่าทั้งสองฝั่งปลอดภัยไม่ต่างกัน

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเดินทางไปทำงานในหลายๆ เมือง เขาได้พบว่าเส้นแบ่งประเทศเองก็เป็นกำแพงที่มองไม่เห็น ซึ่งแบ่งแยกคนชนชาติต่างๆ ออกจากกัน จากวันที่เขาเคยคิดว่าต้องทำประโยชน์ให้คนญี่ปุ่น ตอนนี้เขามองเห็นเปลี่ยนไปว่า เขาจะทำประโยชน์ให้ประชากรโลกคนไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะทุกคนมีเอกลักษณ์ต่างกัน แต่มีคุณค่าเหมือนกัน

เขาจึงพยายามเล่าความแตกต่างที่ไม่แตกต่างกันออกมาในหนังสือเหล่านี้

ในโลกยุคที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยก การสื่อสารแนวคิดเช่นนี้ให้ผู้เดินทางได้เห็น เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าตึกรามบ้านช่องอันสวยงามหรือประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่เลย

ชิการะเชื่อว่า เวลาเราดูชีวิตของผู้คนในพื้นที่หนึ่ง มันจะต้องมีประเด็นเรื่องความคิดทางการเมือง ประวัติศาสตร์ สังคม มาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว ทำให้ไม่อาจเล่าเรื่องผู้คนโดยที่ไม่ไปสัมผัสเรื่องเหล่านี้เลยไม่ได้ สิ่งที่อยู่ใน Engeki Quest จึงซุกซ่อนไปด้วยสิ่งเหล่านี้ รอคอยให้มามองเห็น

“แต่ละชุมชนจะมีประเด็นทางสังคมของเขาเอง ซึ่งศิลปะไม่ได้ให้คำตอบได้โดยตรงหรอก แต่มันทำให้เราเกิดคำถาม เกิดการพูดคุยกันเกี่ยวกับประเด็นนั้นได้ ดังนั้น แม้เราจะทำโปรเจกต์เสร็จแล้วกลับไปที่ญี่ปุ่น แต่หวังว่างานศิลปะที่เราทิ้งไว้จะช่วยให้ทุกคนได้ร่วมกันคิดต่อ แล้วนำผลผลิตจากการคิดนั้นไปแก้ปัญหาต่อไปได้” ศิลปินชาวญี่ปุ่นบอกด้วยความหวัง

หากคุณอยากเป็นส่วนหนึ่งของการผจญภัย ขอมาร่วมเล่น Engeki Quest ฉบับชุมชนกะดีจีน-คลองสาน ภายใต้ชื่อ ‘แมวธนฯ ผู้ไร้นาม (No Name Cats in Thonburi)’ ได้ที่ Low Fat Art Fes ช่วงวันที่ 8-17 กุมภาพันธ์ 2562 ติดตามเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย

Engeki Quest

สถานที่ Dilokchan Hostel Cafe

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan