วันนี้จะมาชวนทำความรู้จักกับประเทศอิตาลีให้มากขึ้นอีกนิด ว่าในรองเท้าบูตยักษ์นี้มีประเทศอื่นแทรกอยู่ด้วย และไม่ใช่แค่ประเทศเดียว หากแต่มีถึงสอง

ไม่แค่นั้น อิตาลีเอง ยังมีดินแดนที่ไปแทรกอยู่ในประเทศอื่นอีกด้วย

ใครรู้แล้ว ข้ามคอลัมน์นี้ไปได้เลยนะ 555 ไม่มีข้อมูลอะไรใหม่เอี่ยมเลยจริงๆ

พื้นที่มีน้อย เรามารู้จักประเทศแรกกันดีกว่า

นครรัฐวาติกัน  (Vatican City)

อ้าว วาติกัน ก็โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ไง ก็อยู่ในโรมไม่ใช่เหรอ

ใช่ นครรัฐวาติกัน ที่ตั้งสถิตย์อยู่ ณ กลางโรมอย่างที่หลายๆ คนทราบนั้น มิใช่เป็นเพียงเขตวัดเขตโบสถ์แต่อย่างเดียว หากแต่เป็นอีก 1 ประเทศเลย ใครเคยไปทัวร์แกรนด์ยุโรป 7 วัน 8 ประเทศ แล้วนับยังไงก็ไม่ครบหาว่าทัวร์โกง ขอให้กลับไปนับใหม่ว่ารวมวาติกันแล้วหรือยัง

ทำความรู้จักรัฐอื่นในอิตาลี อิตาลีในดินแดนอื่น

ทำไมวาติกันถึงเป็นประเทศ

เราเรียกว่ารัฐอิสระแล้วกันเนอะ จะได้ดูเป็นวิชาการในความไม่เป็นวิชาการขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง นครรัฐวาติกันเพิ่งมาเป็นรัฐอิสระเมื่อ ค.ศ. 1929 นี้เอง แล้วแต่ก่อนเป็นอะไร แล้วทำไมอิตาลีถึงไม่ฮุบ

คำตอบคือ เคยฮุบมาแล้ว เรื่องของเรื่องคือ ย้อนไปก่อนหน้านี้สัก 200 ปีนับขึ้นไปโดยประมาณ คาบสมุทรอิตาลีมีแว่นแคว้นอิสระกระจายไปทั่ว หนึ่งในรัฐอิสระก็คือรัฐของสันตะปาปาด้วย ใหญ่มาก ใหญ่ที่สุดในบรรดารัฐอิสระอื่นๆ เลยล่ะ

จากนั้นก็เริ่มมีผู้คิดที่จะรวมให้แว่นแคว้นต่างๆ นี้กลายเป็นประเทศเดียว การทำเช่นนี้ย่อมทำแปลว่า รัฐของสันตะปาปาอันกว้างใหญ่ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ แล้วสันตะปาปาเองซึ่งเคยเป็นหนึ่งในตองอูก็จะต้องสูญเสียพระราชอำนาจไปจนหมดสิ้น แล้วจะยอมได้อย่างไร

แต่ถึงไม่อยากยอมก็ต้องยอม ในที่สุดอิตาลีก็ค่อยๆ คืบคลานบุกมาถึงโรม แล้วรวบพื้นที่ทั้งหมดของโรมเป็นประเทศทั้งหมด

สันตะปาปาทรงไม่พอพระทัยเป็นอย่างมาก และไม่ยอมรับประเทศอิตาลีที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ท่านทำอย่างไรหรือ นอกจากท่านจะประกาศห้ามชาวคาทอลิกข้องเกี่ยวกับการเมืองของอิตาลีแล้ว สันตะปาปาในตอนนั้นและองค์ต่อๆ มาประท้วงไม่ออกจากเขตกำแพงวาติกันนับแต่นั้นมา

จำเนียรกาลผ่านไปเกือบ 60 ปีแห่งความมาคุ ในที่สุดมุสโสลินีก็ทำสัญญาประนีประนอมขอคืนดีกับศาสนจักร มีข้อแลกเปลี่ยนคร่าวๆ คือ ยกให้วาติกันเป็นรัฐอิสระ และสันตะปาปาจะต้องไม่ข้องเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมืองของอิตาลี 

Deal!

นับแต่นั้นมา วาติกันก็เป็น ‘นครรัฐวาติกัน’ เป็นรัฐอิสระที่มีอาณาเขตเล็กที่สุดในโลก และโดดเด่นเป็นสง่าอยู่กลางโรมเช่นนี้ มีแทบทุกอย่างเป็นของตัวเอง มีไปรษณีย์ มีแสตมป์ มีเหรียญ มีตำรวจ ทหาร เป็นของตนเอง แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปนะ เนื่องจากมีข้อกำหนดว่า สมาชิกของสหภาพจะต้องเป็นประชาธิปไตย ในขณะที่วาติกันปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีสันตะปาปาเป็นประมุขนั่นเอง

การไปวาติกัน

ถ้าคุณอยู่ที่โรมแล้ว คุณก็ไปได้เลยแล้วแต่หนทางจะพาไป ทางที่ผู้คนนิยมมากที่สุดน่าจะเป็นรถไฟใต้ดิน แล้วก็เดินเอาพองาม แต่ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์วาติกันก็จะงามมาก เพราะไกลออกไปกว่านั้นอีก มันไม่ได้อยู่ทางเข้าเดียวกันนะ

ซานมารีโน (San Marino)

ทำความรู้จักรัฐอื่นในอิตาลี อิตาลีในดินแดนอื่น
ภาพ : pixabay.com

ซานมารีโน ขึ้นทำเนียบประเทศที่เล็กที่สุดในโลก ไม่แค่นั้น ยังถือเป็นสาธารณรัฐที่เก่าแก่ที่สุดในโลกด้วย

แต่ก่อนจะไปไหนไกล รัฐน้อยแห่งนี้อยู่ตรงไหนกันหรือ

ซานมารีโนอยู่ภาคเหนือค่อนกลาง กลางค่อนเหนือ แทบจะระนาบเดียวกับฟลอเรนซ์ เพียงแต่อยู่ห่างออกไปทางขวา จะติดทะเลฝั่งนั้นอยู่แล้ว ห่างแค่ราว 30 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

ในรองเท้าบูตยักษ์นี้มีประเทศอื่นแทรกอยู่ด้วย และอิตาลีเองก็มีดินแดนแทรกอยู่ในประเทศอื่นเช่นกัน
ภาพ : commons.wikimedia.org

กลับมาดูกันต่อว่าที่เล็กนั้นเล็กแค่ไหน แล้วเก่าล่ะ เก่าแค่ไหน และที่สำคัญ ทำไมไม่ถูกอิตาลีฮุบไปล่ะ (นี่ไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายไปใช่ไหมว่าหลายคนแอบคิดอย่างนี้อยู่)

เรื่องขนาด ซานมารีโนเล็กเป็นอัน 3 ของยุโรปด้วยพื้นที่ราว 61 ตารางกิโลเมตรนิดๆ ก่อตั้งใน ค.ศ. 301 โดยช่างตัดหินที่ชื่อ Marinus อันเป็นที่มาของชื่อ Marino นั่นเอง

เหตุผลที่ซานมารีโนดำรงตนเป็นรัฐอิสระได้ก็เพราะว่า ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงที่อิตาลีกำลังรวมประเทศนั้น รัฐน้อยๆ แห่งนี้ได้ต้อนรับขับสู้ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่สนับสนุนการก่อร่างสร้างประเทศอิตาลีเป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ นายพลการีบัลดี (Giuseppe Garibaldi) วีรบุรุษของชาวอิตาเลียนด้วย เมื่ออิตาลีรวมประเทศ จึงตอบแทนน้ำใจ ซึ่งอาจจะเป็นคำขอจากชาวซานมารีโนด้วย โดยการปล่อยให้เป็นรัฐอิสระต่อไป ด้วยเหตุดังกล่าว ซานมารีโนจึงยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่เหนือยอดเขาติตาโนได้จนถึงวันนี้

ซานมารีโนมีทุกอย่างเหมือนที่วาติกันมี อาทิ ตำรวจ ทหาร แสตมป์ เหรียญ และสองอย่างหลังนี้เป็นรายได้หลักของประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวปีละราว 3.5 ล้านคนด้วย

การไปซานมารีโน

จะให้เริ่มจากไหนดี เอาเป็นว่า นั่งรถไฟไปให้ถึงรีมีนี (Rimini) ให้ได้ก็แล้วกัน แล้วตรงนั้นก็จะมีรถบัสไปซานมารีโน ไม่ต้องขอวีซ่า ไม่มีการตรวจพาสปอร์ต ไม่มีด่าน เราแทบจะไม่รู้เลยว่าเข้าประเทศไปตอนไหน เพราะมีเพียงซุ้มเรียบง่ายเท่านั้นที่บอกเป็นภาษาอิตาเลียน

คนที่ไปที่นี่ ร้อยทั้งร้อยต้องส่งโปสการ์ด อย่าลืมพกที่อยู่เพื่อนไปด้วยล่ะ ไม่งั้นก็ส่งกลับบ้านอย่างเดียว บางคนก็ซื้อนาฬิกา น้ำหอม เพราะเป็นเมืองปลอดภาษี

ส่วนสิ่งหนึ่งซึ่งฝากคนที่จะไปให้ช่วยดูด้วยคือ เมื่อนานมาแล้ว นิสิตคนหนึ่งทำรายงานมาส่งว่าด้วยเรื่องประเทศซานมารีโน เธอบอกว่าประเทศนี้ไม่มีสัญญาณไฟจราจร เปล่า เธอไม่ได้บอกเอง เธอบอกว่าเธอได้มีโอกาสไปทำงานเป็นล่ามให้นักกีฬาซานมารีโนที่มาแข่งในประเทศไทย แล้วพวกนักกีฬาบอกเธอว่าอย่างนั้น เมื่อครั้งก่อนที่ไปเคร่งเครียดกับการหาไฟเขียวไฟแดงมาก เออแฮะ ไม่เจอจริงๆ แต่ไปแป๊บเดียวเอง เลยฝากคนที่จะไปให้ช่วยดูให้ที ถ้าเจอ ถ่ายรูปมาให้ดูหน่อยนะ 

ประเทศหรือรัฐดังกล่าวที่เล่าไปเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า enclave ราชบัณทิตฯ ก็เหมือนจะแปลถอดเสียงไป แต่ก็มีบางแห่งแปลว่า ‘ดินแดนแทรก’ แต่อิตาลีเองไม่ได้มีแค่ดินแดนแทรกเท่านั้น หากแต่ตัวเองก็ไปแทรกอยู่ในประเทศอื่นด้วย อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ดินแดนส่วนแยก’ (exclave) ซึ่งจะชวนให้รู้จักทั้งที่ตัวเองก็ไม่เคยไปนี่ล่ะ

คัมปิโยเน ดิตาเลีย (Campione d’Italia)

ในรองเท้าบูตยักษ์นี้มีประเทศอื่นแทรกอยู่ด้วย และอิตาลีเองก็มีดินแดนแทรกอยู่ในประเทศอื่นเช่นกัน
ภาพ : commons.wikimedia.org

คัมปิโยเน ดิตาเลีย ฝังตัวอยู่ริมทะเลสาบลูกาโน (Lugano) ในรัฐติชีโน (Ticino) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเมืองที่เรียกว่าหมู่บ้านแทบจะว่าได้ค่าที่มีพื้นที่แค่ 2.6 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น แต่เดี๋ยวก่อน นั่นคือรวมในน้ำที่ยื่นเข้าไปในทะเลสาบด้วยนะ พื้นดินจริงๆ มีแค่ 900 ตารางเมตร บวกลบคูณหารกันแล้ว ใช่ มีที่ในน้ำเยอะกว่าที่บนบกอีก

เหตุผลที่ไปตั้งอยู่ตรงนั้น เล่าง่ายๆ ก็คือ เขาอยู่ของเขาตรงนั้นอยู่แล้ว เมืองคัมปีโยเนไม่เคยไปไหนอยู่แล้วมาแต่โบราณ หากนับจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏชื่อนี้ก็คือ ค.ศ. 777

จากนั้นดินแดนแถบนี้ก็ผลัดกันไปเป็นของประเทศโน้นที ประเทศนี้ที ต้องอย่าลืมว่านี่ไม่ใช่ประเทศนะ นี่คือแค่เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งของแคว้นลอมบาร์ดี (อันมีมิลานเป็นเมืองเอก) เป็นของสวิตเซอร์แลนด์ก็เคย แต่เมื่อทางสวิตฯ ให้เลือกว่าอยากอยู่กับสวิตฯ หรืออยากอยู่กับอิตาลี ชาวเมืองก็บอกว่าอยากอยู่กับอิตาลี สวิตฯ ก็ตามใจ น่ารักตรงนี้

ในรองเท้าบูตยักษ์นี้มีประเทศอื่นแทรกอยู่ด้วย และอิตาลีเองก็มีดินแดนแทรกอยู่ในประเทศอื่นเช่นกัน
ภาพ : commons.wikimedia.org

จนถึงวันนี้ คัมปิโยเน ดิตาเลีย ก็ถือเป็นเมืองหนึ่งที่สังกัดแคว้นลอมบาร์ดีของอิตาลี ห่างจากมิลาน 74 กิโลเมตร ห่างจากจุดชมวิวชายแดนที่ใกล้ที่สุดของอิตาลีที่เรียกว่า ‘ระเบียงอิตาลี’ (Balcone d’Italia) แค่ 1 กิโลเมตรทางอากาศเท่านั้น แต่มีภูเขากั้นลูกเบ้อเร่อ

ไม่ต้องห่วงว่าเขาจะพูดจะจากับคนเมืองรอบๆ ได้ยังไง เพราะแคว้นติชีโนเป็นแคว้นเดียวในสวิตเซอร์แลนด์ที่พูดภาษาอิตาเลียน เงินตราและอะไรก็ใช้ตามสวิตฯ นี่ล่ะ

การไปคัมปีโยเน ดิตาเลีย

ไม่กล้าบอกเลยเพราะไม่เคยไป แต่ถ้าจะไปก็คงต้องนั่งรถไฟต่อรถบัสออกไปจากมิลานนั่นเอง

ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะชวนดูอะไร ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะชวนให้ไปดูบ่อนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แต่ตอนนี้ปิดกิจการไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม วิวทิวทัศน์ที่สวยงามริมทะเลสาบก็ยังรอเราอยู่เสมอ

แต่รอไปก่อนนะ ไม่รู้จะได้ไปเมื่อไหร่เลย แงๆ

ข้อมูลอ้างอิง 

www.comune.campione-d-italia.co.it 

tecnica.me

www.tuttitalia.it

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า