Enabling Village หรือ EV หมู่บ้านที่แปลตามพจนานุกรมได้ว่า หมู่บ้านแห่งความสามารถ ความเป็นไปได้

Enabling Village เป็นโครงการของกระทรวงสังคมและการพัฒนาครอบครัว (Ministry of Social and Family Development) ร่วมมือกับองค์กรอิสระ SG Enable Ltd. และบริษัทสถาปนิกชื่อดังอย่าง WOHA ชุบชีวิตโรงเรียนเก่าบนพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความสนุก ความสุข และความหวัง ของกลุ่มบุคคลที่บ้านเราเรียกว่าคนพิการ  

ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนบ้านโดยรัฐบาล HDB Flat (Housing Development Board Flat) ใกล้ๆ สถานี MRT Redhill ซึ่งคนไทยรู้จักในชื่อสถานีสีชมพู ถ้านั่งรถเมล์มาจากย่านออร์ชาร์ดก็ใช้เวลาราว 20 นาที 

โครงการนี้ กวาดรางวัลจากการออกแบบมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น16th SIA (Singapore Institute of Architects) Architectural Design Awards 2016, President’s Design Award 2016, LEAF Awards 2016 (Landscape Excellence Assessment Framework Certification) – Outstanding Project และ 2016 BCA (Building and Construction Authority) Universal Design Mark Award-Platinum Award

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ
Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

วันนี้เราได้รับเกียรติจากคุณคริสต์ (Christopher Ng) ผู้จัดการประจำหมู่บ้านแห่งนี้ มาเป็นไกด์ส่วนตัว ช่วยแนะนำ พร้อมทั้งอธิบายความเป็นมาของโครงการน่ารักๆ แห่งนี้

Nest

คุณคริสต์นัดเราให้มาเริ่มต้นทัวร์ที่บริเวณตึกแรกใกล้กับจุดจอดรถคนพิเศษ ตึกแห่งนี้อยู่ในโซนที่เรียกว่า Nest เพื่อรวมตัวกับผู้ร่วมทริปอีกสี่ท่านจากกระทรวงศึกษาธิการ MOE (Ministry of Education) และองค์กรที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุในสิงคโปร์ จุดนัดพบนี้เปรียบเหมือนเวลาเราเดินเข้าหมู่บ้านจัดสรร แล้วเจอสโมสรหมู่บ้านเป็นส่วนแรก จุดนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมข้อมูลโครงการ แผนที่ และให้คำแนะนำต่างๆ แก่ลูกบ้าน  

ด้านหน้าเป็นลานจอดรถกว้างสำหรับผู้พิการและผู้ที่มีร่างกายปกติ จอดรถฟรีชั่วโมงแรก เพื่อดึงดูดให้คนขับรถมาแวะซื้อกาแฟ และอาจเดินดูส่วนอื่นๆ ของโครงการต่อได้แบบง่ายๆ

ก่อนออกเดินคุณคริสต์เล่าว่า พื้นที่ผืนนี้เคยเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาบูกิตเมรา (Bukit Merah Vocational Institute) เนื่องด้วยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ดำเนินการตาม Master Plan ระยะ 5 ปี ซึ่งสิงคโปร์ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการขององค์การสหประชาชาติ (UN Convention on the Rights of Persons with Disabilities) ว่ารัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนคนพิการอย่างจริงจัง และสนับสนุนงบประมาณพัฒนาพื้นที่ภายในประเทศให้ใช้อุปกรณ์ที่เป็น Universal Design ซึ่งรองรับทุกสภาพร่างกาย ทำให้เกิดการ Repurpose พื้นที่แห่งนี้ขึ้น

WOHA เข้ามาออกแบบปรับปรุงโดยใช้งบประมาณราว 25 ล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ และเวลา 22 เดือน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ Enabling Village กลายเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนคนพิเศษ คุณคริสต์เล่าว่า เมื่อส่วนกลางรู้ว่าตัวเองไม่ถนัดส่วนไหนก็ไม่ดื้อรั้นดันทุรัง แต่ไปหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันบริหารให้โครงการแห่งนี้เกิดขึ้นจริงแบบจีรังยั่งยืน รวมถึงระดมความคิด ฟังความเห็น จากหลายองค์กรที่ทำงานด้านคนพิการ (ปัจจุบันมาอาศัยอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านแห่งนี้) และตัวผู้พิการเอง 

รวมถึงยังนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการมากขึ้น เช่น ระบบ Induction Loop Hearing หรือการออกแบบพื้นที่ให้รองรับการกระจายสนามแม่เหล็กกับอุปกรณ์การได้ยินแบบมี Telecoil จึงได้ยินเสียงดังและชัดเหมือนมีเครื่องขยายเสียง และตัดเสียงรบกวนโดยรอบออก และการมีอักษรเบรลล์ที่ราวบันไดและห้องน้ำ

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

 จุดประสงค์ในการสร้างพื้นของชุมชนคนพิการขึ้นมาก็เพื่อเชื่อมโยงให้คนพิการได้ฝึกปรับตัวอยู่ร่วมกับคนร่างกายปกติในสังคมอย่างมีความสุข และนี่คือที่มาของการที่หมู่บ้านแห่งนี้ประกอบไปด้วยหน่วยงานอื่นๆ หลายส่วน เช่น ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก และศูนย์ฝึกงานคล้ายคลึงกับศูนย์ศิลปาชีพบางไทร คุณคริสต์บอกอย่างภูมิใจว่า ที่นี่เป็นที่แรกในสิงคโปร์ที่เป็น One-stop Service บริการให้คนพิเศษทุกลักษณะ โดยที่แต่ละคนไม่ต้องเดินทางติดต่อธุระทั่วเกาะ แต่มาเดินเรื่องทางราชการที่ Enabling Village เพียงแห่งเดียวครบถ้วน

Playground

ส่วนที่ 2 ของโครงการที่คุณคริสต์พามาชม เป็นส่วนที่ชื่อ Playground เป็นตึกที่เคยเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาบูกิตเมราซึ่งมีอายุเกือบ 50 ปี จึงมีหน้าตาและโครงสร้างคล้ายโรงเรียนรัฐบาลของไทย และดูไม่ค่อยต้อนรับคนแปลกหน้านัก 

อาคารแห่งนี้ประกอบไปด้วยศูนย์ดูแลเด็กเล็ก คลินิกสำหรับดูแลผู้ป่วยพิเศษ (Mount Alvernia Outreach Medical Clinic) ศูนย์บำบัดผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke Support Station Wellness centre) ยิม (Active SG) สำนักงานกระทรวงสังคมและการพัฒนาครอบครัว (Ministry of Social and Family Development) และสำนักงานของนักจิตวิทยาสำหรับบุคคลที่มีอาการออทิสซึ่ม (Community Psychology Hub)

ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก (18 เดือน ถึง 6 ขวบ) บริหารงานโดยองค์กรที่ทำด้านด้านสังคมอย่าง AWWA มีเด็กพิเศษอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 30 ตอนแรกก็อดเป็นห่วงว่าพ่อแม่เมืองทุนนิยมจะมีปฏิกิริยาแบบไหน เมื่อลูกตัวเองจะได้ใช้ชีวิตและเติบโตร่วมกับเด็กพิเศษ (Autism) แต่คุณคริสต์บอกว่า คิวของเด็กที่จะเข้าเรียนที่นี่ต้องรอยาวถึง 9 เดือนเลยทีเดียว ฟังแล้วก็อมอดยิ้มไม่ได้ เพราะการที่ลูกได้เรียนรู้ว่าโลกนี้มีคนที่แตกต่างจากเรา และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่สิ่งที่เงินจะซื้อได้ แถมชุดนักเรียนที่นี่ก็น่ารักด้วยนะ เป็นสีกากีเหมือนชุดลูกเสือบ้านเรา ใครสนใจก็ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ
ภาพ : www.kindlegarden.com.sg

คุณคริสต์เดินพาเราแฉลบผ่านวอลล์อาร์ตรูปนกแก้วลงไปพบคลินิกสำหรับดูแลผู้ป่วยพิเศษ (Mount Alvernia Outreach Medical Clinic) ซึ่งให้บริการในราคาย่อมเยา ตรงข้ามคลินิกมีการนำแนวคิดของการ Repurpose มาใช้ คือนำท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดแตกต่างกันมาวางตกแต่ง เพิ่มไฟ และดัดแปลงให้เป็นที่นั่งพัก เป็นการเพิ่มลูกเล่น ลดความจริงจังของสถานที่ราชการ และเชื้อชวนให้ผู้อยู่อาศัยโดยรอบ เข้ามาใช้พื้นที่ Community Space แห่งนี้มากขึ้น  

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ
Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

ห้องติดกันเป็นศูนย์บำบัดผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตก ฝั่งตรงข้ามเป็นยิม (Active SG) ที่มีเครื่องออกกำลังทั้งแบบมาตรฐาน และแบบใช้แรงไฮโดรลิก ซึ่งใช้งานง่าย เหมาะสำหรับผู้ป่วย Stroke ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ยิมแบรนด์นี้เปิดสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่ต้องเป็นคนสิงคโปร์ก็ใช้บริการได้

ถ้าไม่ชอบออกกำลังกายในห้องแอร์ ก็มีพื้นที่ด้านนอกอาคารใกล้ๆ กันให้เลือกขยับแข้งขยับขาได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ บุคคลธรรมดา และบุคคลที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ
Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

เดินเลยมาสักนิดก็จะเห็นว่าท่อระบายน้ำเก๋ๆ เมื่อสักครู่ถูกวางอยู่ใต้อัฒจันทร์ไม้ (Amphitheatre) ที่เป็นไฮไลต์ของหมู่บ้านนี้ ซึ่งรถเข็นวีลแชร์เคลื่อนที่ผ่านได้สบายๆ ลานระเบียงไม้แห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ซึ่งถูกละเลยด้วยความชันต่างระดับ จึงไม่สามารถใช้งานได้สมัยที่เป็นโรงเรียน แต่ WOHA ได้ปรับปรุงลานลาดชันแห่งนี้เป็นลานอเนกประสงค์ที่ใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย 

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

ออกซิเจนสดชื่นถูกปล่อยออกมาเหนือระเบียงไม้อัฒจันทร์ผ่านต้นชมพูพันธ์ทิพย์ (Trumpet Tree) ต้นใหญ่ และต้นลีลาวดีที่อยู่ด้านล่าง ส่วนลำโพงหน้าตาประหลาดนั้นเอาไว้ให้เด็กๆ เล่นส่งเสียงเป็นโทรโข่งแบบยุคศตวรรษที่ 20

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

ระหว่างเดินเราพบคุณลุงผู้พิการทางสายตาทำงานที่นี่ คอยเดินถามไถ่และรักษาความปลอดภัยประจำจุด ให้ความรู้สึกว่า Enabling Village พยายามจะค่อยๆ ให้ความรู้กับชุมชนที่อาศัยโดยรอบว่า แม้คนเราสภาพทางร่างกายแตกต่างกัน แต่มันไม่ได้ทำให้มนุษย์เรามีค่าแตกต่างกันเลย 

นอกเหนือจากเป็นพื้นที่สำหรับมนุษย์แล้ว หมู่บ้านนี้ยังเป็นพื้นที่สำหรับต้นไม้และพืชพรรณต่างๆ มากกว่า 140 ชนิด ซึ่งพึ่งพาอาศัยกันและกัน ตั้งแต่หญ้าหนวดแมว ทองหลางบ้าน มะกล่ำตาช้าง สำรอง พลัม จิกทะเล จิกน้ำและ แคขาว ที่เจริญเติบโตท่ามกลางระบบนิเวศ ให้ธรรมชาติดูแลกันเอง

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ
Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

พืชในบ่อน้ำเล็กจะคอยดูแลให้น้ำสะอาดเหมาะกับปลาที่ว่ายเวียนอยู่ ส่วนต้นไม้นานาพรรณจะเรียกนกมาช่วยผสมพันธุ์ และรักษาสมดุลต่อเนื่องไป เหมือนกับที่หมู่บ้านแห่งนี้สร้างมาเพื่อให้ลูกบ้านพึ่งพาดูแลตัวเองได้ในสังคมจริง

Academy

  ส่วนที่ 3 ที่คุณคริสต์แนะนำเรียกว่า โซนอะคาเดมี่ (Academy) ประกอบด้วยสถานที่ฝึกงานในครัว (Samsui Kitchen) สถานที่ฝึกงานโรงแรม (Housekeeping Training Room) และซุปเปอร์มาร์เก็ต (User Friendly NTUC Fairprice Supermarket) ที่สร้างมาด้วยความเข้าใจถึงความลำบากในการจับจ่ายสำหรับผู้ใช้รถวีลแชร์ ตั้งแต่ขนาดตัวอักษรที่ใหญ่เป็นพิเศษ มีแว่นขยายติดไว้ตามจุดต่างๆ มีรถเข็นสินค้าที่ปรับให้ติดกับรถเข็นผู้พิเศษได้ และมีระบบไฮโดรลิกช่วยยกตะกร้าขึ้นวางบนแคชเชียร์ชำระเงินให้

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ
Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

HUB (UOB Ability Hub) 

อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่า หมู่บ้านพิเศษแห่งนี้ต้องการเป็นสื่อกลางให้คนทั่วไปยอมรับบุคคลพิเศษมากขึ้น จึงได้มีการเพิ่มส่วนที่ 4HUB (UOB Ability Hub) ที่เป็นห้องจัดสัมมนาทั่วไป เปิดให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาใช้เพื่อการอบรม หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

 Village Green 

ส่วนที่ 5 มีชื่อว่า Village Green ประกอบไปด้วยออฟฟิศ SG Enable เป็นศูนย์กลางข้อมูลและประสานงานส่งตรงให้หน่วยงานเฉพาะดูแลอีกทอด ครบทุกช่วงอายุ ตั้งแต่กลุ่มกระตุ้นพัฒนาการ Early Intervention (0 – 6 ปี) วัยรุ่น (7 – 18 ปี) และผู้ใหญ่ (18 ปีขึ้นไป) หน่วยงานที่รับช่วงดูแลต่อมีทั้งโรงเรียนระบบสามัญ และโรงเรียนพิเศษสำหรับอาการปานกลางถึงรุนแรง (MINDS-Movement for the Intellectually Disabled of Singapore)

โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

สำนักงาน Singtel Enabling Innovation Centre และสำนักงาน ST Engineering Enabling Technology Centre (ทั้งสองส่วนอยู่ในช่วงปรับปรุง) โดยปกติแล้ว เทคโนโลยีล่าสุดที่มีไว้เพื่อช่วยเหลือคนพิการจะรวมไว้ที่นี่ เช่น ไม้เท้าที่ใช้ระบบอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจสอบสิ่งกีดขวาง เป็นต้น

Hive

ก่อนจะไปถึงจุดที่เป็นไฮไลท์อย่างร้าน The Art Faculty by Pathlight เราจะต้องได้เดินผ่านส่วนที่ 5 ไฮฟ์ (Hive) ประกอบด้วย E2C (Employability & Employment center) เป็นส่วนงานที่เน้นการหางานให้ผู้ที่มีอาการออทิสซึ่ม (Autism บุคคลที่มีความผิดปกติทางการสื่อสารและอารมณ์) รวมถึงผู้พิเศษด้านอื่นๆ เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน ทางสายตา และพิการซ้ำซ้อน 

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

จากข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พบว่า อัตราการจ้างงานผู้พิการในสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 4.9 เท่านั้น ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดังที่คุณ Ku Geok Boon ซีอีโอของ SG Enable แสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่า อยากให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และอยากให้สิงคโปร์เป็นสังคมแห่งการยอมรับความแตกต่าง

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ
โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

เราค่อยๆ เดินผ่านห้องกระจก ที่มองเข้าไปจะเห็นการทำงานของน้องๆ ด้านในแบ่งเป็นสัดส่วน มีป้ายแสดงขั้นตอนของกิจกรรมอย่างชัดเจนทีละขั้น น้องๆ ทุกคนในห้อง ดูจดจ่อและมีสมาธิมากกับงานที่อยู่ตรงหน้า ดูภายนอกปกติเหมือนเราๆ แต่ต่างกันแค่การสื่อสาร การแสดงอารมณ์ของน้องๆ ที่จะชัดเจน ตรงๆ และอาจจะไม่ได้พัฒนาไปตามอายุที่มากขึ้นนัก ซึ่งอาจทำให้คนที่ไม่รู้จักอาการนี้ตกใจ และเผลอคิดว่าน้องๆ ก้าวร้าวหรือน่ากลัว 

คุณคริสต์บอกว่า ลักษณะพิเศษของเด็กที่เป็นออทิสติกคือมีความสามารถในแยกแยะความแตกต่างของชิ้นส่วนขนาดเล็กที่ตาของเรามักจะมองข้ามไป ถ้าเราเทลูกปัด 1 กระสอบ แล้วแข่งแยกสีและรูปร่างลูกปัดกับน้องๆ เราจะแพ้อย่างราบคาบ 

น้องๆ จึงถือเป็นบุคคลากรสำคัญในการผลิตผลงานศิลปะต่างๆ ที่ขายอยู่ที่ The Art Faculty by Pathlight ได้แก่ งานกระเป๋าผ้าดิบ งานสร้อยคอ สร้อยข้อมือทำมือ งานเพนต์แก้วน้ำ จนกระทั่งถึงงานเพนต์ภาพต่างๆ เราเดินชมและอุดหนุนงานน้องๆ ได้ที่ The Art Faculty by Pathlight ที่ติดอยู่กัน หรือสั่งซื้อได้ที่ www.theartfaculty.sg 

โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ
Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

แล้วทัวร์ของเราก็มาจบที่ร้านกาแฟ Art Bar แห่งนี้ ซึ่งบาริสต้าเป็นเด็กออทิสติกที่ได้รับการฝึกงานจากสตาร์บัค บรรจงปรุงกาแฟให้เราอย่างตั้งใจทุกขั้นตอน และขนมปังที่ขายที่นี่ก็ทำโดยเบเกอร์ออทิสติกเช่นกัน (ร้านขนมปังชื่อดังทงบารุเบเกอรี่ก็ผลิตขนมปังบางส่วนที่นี่)

Enabling Village โครงการเปลี่ยน ร.ร. เก่ากลางสิงคโปร์ให้เป็นชุมชนเฉพาะสำหรับผู้พิการ

คุณคริสต์จบการเดินชมหมู่บ้านจัดสรรเพื่อผู้พิเศษแห่งนี้ว่าที่นี่มีพร้อมทุกอย่างที่คนพิเศษต้องการในการเติบโตและดำรงชีวิต ตั้งแต่เรียนหนังสือ อบรมทักษะอาชีพต่างๆ พัฒนาตัวเอง จนกระทั่งออกมาทำงานจริงๆ ทั้งหมดนี้ดำเนินปะปนกันไปกับบุคคลร่างกายปกติที่ไม่ว่าจะทำงานอยู่ในออฟฟิศ คนที่มาใช้บริการยิม Active SG คุณแม่ที่แวะมาซื้อของใช้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเด็กน้อยที่วิ่งซนขึ้นลงไปมาที่ลานไม้อเนกประสงค์ 

การที่ค่อยๆ แทรกการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข และไม่ตัดสินจากความผิดปกติที่เห็นได้ และเห็นไม่ได้ด้วยตา น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่สวยงามของผู้มีความพิเศษทุกคน

ที่ Enabling village แห่งนี้แม้ไม่ได้พลุกพล่านเหมือนห้างสรรพสินค้า หรือหวือหวาเหมือนจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ในสิงคโปร์ที่ทุกคนเคยรู้จัก 

แต่รับรองว่าถ่ายรูปสวย เดินทางง่าย เป็นมิตรกับผู้ใช้วีลแชร์ และอบอวลไปด้วยความอบอุ่น สุขใจท่วมท้นแน่นอน

 ข้อมุูลเพิ่มเติม

  1. ทางหมู่บ้านก็มีบริการรถรับส่งจันทร์-ศุกร์ ระหว่างสถานีกับหมู่บ้านตั้งแต่ 08.15 – 18.15 น. ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง รายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่
  2. ไกด์ทัวร์จะมีทุกวันศุกร์ ถ้าใครอยากเดินชมแบบมีไกด์ส่วนตัวแบบเรา ติดต่อหาคุณคริสต์ผ่านอีเมล [email protected]
  3. ที่อยู่ 20 Lengkok Bahru Singapore 159053 Plus Codes : 7RP7+QM Singapore (เดินจากสถานี Redhill ประมาณ 10 นาที)
  4. เวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 07.00 – 22.30 น., เสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ 07.00 – 21.00 น.
  5. Enabling Village เปิดใช้งานเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2558 และปัจจุบันผู้ที่มาร่วมทัวร์ส่วนตัวมักจะเป็นบุคคลจากกระทรวงศึกษาธิการ) 

ข้อมูลอ้างอิง

http://woha.net/images/project_images/149023634443/pdf/Enabling%20Village.pdf

https://www.sgenable.sg/Pages/Home.aspx

https://www.archdaily.com/801850/enabling-village-woha

https://www.ncss.gov.sg/Press-Room/Publications/Detail-Page?id=Understanding-Persons-with-Disabilities

https://www.straitstimes.com/singapore/just-5-in-100-persons-here-with-disabilities-have-jobs

https://www.straitstimes.com/singapore/disabled-doesnt-mean-unable

https://www.designsingapore.org/presidents-design-award/award-recipients/2016/enabling-village

https://www.nparks.gov.sg/-/media/cuge/ebook/citygreen/cg14/cg14_09.pdf

https://www.bca.gov.sg/data/ImgCont/439/03_Induction%20Loop%20System.pdf

https://www.ncss.gov.sg/Press-Room/Publications/Detail-Page?id=Understanding-Persons-with-Disabilities

https://www.straitstimes.com/business/job-redesign-guide-aims-to-help-firms-be-more-inclusive

https://www.myactivesg.com/Facilities/activesg-gym-enabling-village

https://enablingvillage.sg/2016/03/09/6-inclusive-businesses-you-should-support/

https://www.homeanddecor.com.sg/articles/84929-enabling-village-lush-greenery-unique-community-space-designed-woha/ev3–slide-3

Writer & Photographer

Avatar

ส้มฉุน มะลิกุล

สาวโสดชาวไทยผู้จับพลัดจับผลูมาทำงานติดเกาะสิงคโปร์ เคยตั้งใจจะรีบทำงานเก็บเงินกลับบ้าน แต่หลังจาก 7 ปีก็เปลี่ยนเป็นเที่ยวให้รู้ กินให้สุข และลิ้มโกปี๊ (ดื่มกาแฟ) ก่อนที่เข่าและข้อเท้าจะไม่อำนวยให้ออกเดินทาง เย่!