ธุรกิจ : กลุ่มบริษัทเอ็มมีเน้นซ์

ประเภทธุรกิจ :  ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบวงจร

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2514

อายุ : 51 ปี

ผู้ก่อตั้ง : คุณอารินทร์ อัจฉริยสุชา

ทายาทรุ่นสอง : คุณสุชานันท์ อัจฉริยสุชา

โครม! เสียงดังกระหน่ำจากการเขวี้ยงเครื่องกรอฟันดังขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว…

“ออกไปเลย! อย่ากลับมาเหยียบที่นี่อีก!” ลูกค้ารายหนึ่งกล่าวอย่างเกรี้ยวกราด หลังจากที่ทายาทรุ่นสองของกลุ่มบริษัทเอ็มมีเน้นซ์ ผู้ปลอมตัวไปเป็นเซลล์แค่แนะนำตัวอย่างสุภาพว่า เป็นเซลล์คนใหม่ที่จะมาดูแล หลังเริ่มเข้ามาช่วยธุรกิจที่บ้านได้เพียงไม่กี่เดือน

ฟังดูแล้ว บริษัทแห่งนี้คงอยู่ในวิกฤตครั้งใหญ่ไม่ผิดแน่ ทว่าในวันนี้กลับเติบโตเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้รับความไว้วางใจและการยอมรับอย่างกว้างขวาง จากโรงพยาบาล ร้านค้า ไปจนถึงผู้บริโภคปลายน้ำ อีกทั้งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวของแบรนด์ดัง อย่างเครื่องวัดความดัน Citizen ด้ามกรอฟันที่ทันตแพทย์แทบทุกคนต้องรู้จัก อย่าง NSK-Nakanishi แปรงสีฟันจากญี่ปุ่นแบรนด์ Dentalpro หรือแม้กระทั่งการสร้างแบรนด์ของตัวเอง อย่าง Furano เครื่องล้างและเม็ดฟู่แช่รีเทนเนอร์

โบว์-สุชานันท์ อัจฉริยสุชา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทเอ็มมีเน้นซ์ คือทายาทรุ่นสองผู้เข้ามาสานต่อธุรกิจแห่งนี้จนได้รับรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัล SME ดีเด่นและสุดยอด SME แห่งชาติจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) หรือรางวัลบุคคลตัวอย่างในภาคธุรกิจการแพทย์แห่งปี 2020 จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)

ทายาทธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ Eminence กับวิธีกอบกู้ความเชื่อมั่นด้วยการรื้อระบบบริหาร

เราตกใจไม่น้อยตอนที่ได้ยินเรื่องราวของโบว์ว่าถูกลูกค้าปาของใส่และไล่ แต่เป็นที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่าว่า ทายาทคนนี้ทำอย่างไร ถึงกอบกู้ความเชื่อมั่นจากคู่ค้าและทำให้เติบโตถึงปัจจุบันได้ภายในระยะเวลาเพียง 9 ปี แถมยังเปิด House Brand ที่กลายมาเป็นที่นิยมในตลาดอย่างรวดเร็ว

ขอเชิญทุกท่านมาล้อมวงฟังเรื่องราวการสานต่อธุรกิจของครอบครัวนี้กันเลย

จุดเริ่มต้นแห่งคำสัญญา

กลุ่มบริษัทเอ็มมีเน้นซ์ เริ่มต้นจาก คุณพ่ออารินทร์ อัจฉริยสุชา ในสมัยนั้น ตระกูลของคุณพ่อประกอบธุรกิจร้านขายยาเล็ก ๆ ตามประสาคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แต่ด้วยความตั้งใจจริง ทำให้คุณพ่อได้เป็น 1 ใน 5 คนจากหลายร้อย ผู้สามารถสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Hitotsubashi

ในระยะเวลากว่า 8 ปีที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณพ่อได้เห็นและซึมซับมาคือ ‘คุณภาพ’

ด้วยจุดเด่นที่พูดได้ถึง 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีนแมนดาริน จีนแต้จิ๋ว และญี่ปุ่น ประกอบกับได้เห็นความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและคุณภาพของผลิตภัณฑ์สัญชาติญี่ปุ่นในยุคนั้น เขาจึงเกิดความตั้งใจว่าอยากให้คนไทยได้ใช้สินค้าดี ๆ แบบนั้นบ้าง และเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจตัวกลางทางการค้าระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทไทย

“คุณพ่อพูดกรอกหูเราเสมอว่า โบว์ รู้ไหม เวลาทำธุรกิจ มันไม่ใช่แค่ธุรกิจนะ การที่เรานำของที่มีคุณภาพมาให้เขาใช้ ทำให้สุขภาพเขาดีขึ้น คือการสร้างบุญสร้างกุศล” 

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของคำมั่นสัญญาที่จะส่งมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคและสังคมไทย เป็นปรัชญาที่กลุ่มบริษัทเอ็มมีเน้นซ์ ยึดถือมาตลอด 51 ปีที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน

ทายาทธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ Eminence กับวิธีกอบกู้ความเชื่อมั่นด้วยการรื้อระบบบริหาร

สัญญาที่ต้องสานต่อ

ณ ตอนนั้น บริษัทเริ่มต้นจากห้องพักของคุณอารินทร์ มีสินค้าตัวแรกคือ จุกยางปิดขวดยาฉีดสำหรับโรงงานน้ำเกลือ และค่อย ๆ ขยายประเภทสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมาเรื่อย ๆ

จากธุรกิจเล็กๆ เอ็มมีเน้นซ์ค่อย ๆ เติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับลูกสาวคนโตของคุณอารินทร์ โบว์ในวัยเด็กมีสำนักงานแห่งนี้เป็นที่วิ่งเล่น บางวันก็ได้ช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ จนกลายเป็นความผูกพัน

เธอตัดสินใจเรียนต่อสาขาการตลาด ส่วนหนึ่งเพราะมองว่าเป็นสาขาที่ตรงกับตัวเองมากที่สุด อีกส่วนเป็นเพราะความผูกพันที่ทำให้เธอตั้งเป้าหมายว่า สักวันหนึ่ง อยากจะกลับมาสานต่อธุรกิจของที่บ้าน 

ทายาทธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ Eminence กับวิธีกอบกู้ความเชื่อมั่นด้วยการรื้อระบบบริหาร
ทายาทธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ Eminence กับวิธีกอบกู้ความเชื่อมั่นด้วยการรื้อระบบบริหาร

แม้ว่านั่นจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายของเธอ สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นก็ไม่ได้ตรงกับแผนที่วางไว้สักทีเดียว

“ความฝันตอนที่ยังเป็นนิสิต คืออยากทำงานกับบริษัทระดับโลกอย่าง Disney หรือ Coca-Cola เรื่องเงินเป็นเรื่องรอง เราต้องการเรียนรู้ว่าองค์กรแบบนี้ เขาทำงานกันยังไง มีอะไรที่เป็นความลับซ่อนอยู่ ถ้าเราเข้าใจตรงนั้น ถึงเวลาค่อยมาทำเงินก็ไม่สาย

“เรากลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านตอนอายุ 25 ตอนนั้นคุณพ่ออายุ 73 ปี คุณแม่ 61 ปี และด้วยความที่เราเป็นลูกคนโต คุณพ่อคุณแม่จะพูดเสมอว่า อยากให้รีบกลับมาช่วยที่บ้านให้เร็วที่สุด เพราะนับวันเขาก็อายุมากขึ้น วิธีการทำธุรกิจในอดีต บางครั้งอาจทำให้เกิดรอยรั่ว ดูแลระบบได้ไม่ทั่วถึง เลยเหมือนเป็นไฟลต์บังคับ ที่ต้องมาช่วยงานทันที”

ทำไมไม่จ้างมืออาชีพมาบริหารแทนแล้วถือหุ้นอย่างเดียว – เราถามด้วยความสงสัย ว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เธอต้องละทิ้งความฝันที่จะทำงานในบริษัทอื่นอย่างเร่งด่วน และคำตอบก็คือ ‘คำมั่นสัญญาแห่งสุขภาพ’

“ธุรกิจนี้คือสิ่งที่ทำให้เรามีทุกวันนี้ ธุรกิจนี้เป็นเสมือนลูกคนหนึ่งของคุณพ่อคุณแม่ เขาหวงแหน มันมีคุณค่ามาก ๆ ที่เราต้องมาทำเอง ทำไมเราถึงไม่จ้างมืออาชีพเข้ามาบริหารแทน เพราะเชื่อว่าถ้ายังไม่เข้าใจบริบทของธุรกิจ แล้วเราจะจ้างมืออาชีพที่ตอบโจทย์ได้อย่างไร”

เธอตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้าน เพราะรู้ว่าตัวเองโชคดีที่มีธุรกิจครอบครัวให้สานต่อ ซึ่งเป็นทางลัดให้เธอเรียนรู้ทุกอย่างในเวลาอันสั้น ได้ลองทำทุกหน้าที่ ได้ทำงานกับทุกคน และเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว จนในวันนี้เอ็มมีเน้นซ์กลายเป็นบริษัทที่เน้นผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพอย่างเต็มตัว มีพนักงานกว่า 130 คน

ทายาทธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ Eminence กับวิธีกอบกู้ความเชื่อมั่นด้วยการรื้อระบบบริหาร

ตรวจสอบสัญญา

เมื่อต้องเรียนรู้ขั้นตอนต่าง ๆ ในบริษัทด้วยตัวเอง ทำให้โบว์ค้นพบปัญหาที่ถูกซ่อนเอาไว้

“ช่วงแรกที่เข้ามาช่วย ไม่ได้คิดว่าจะหนักหน่วงขนาดนี้ พบปัญหาการทุจริต ความไม่โปร่งใสในหลายจุด ผู้จัดการที่คุมการขายหลักเกือบทั้งหมดในบริษัท มีการเอื้อประโยชน์กับลูกน้องบางกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ใครที่ไม่ใช่พวกก็จะบีบออก”

เธอจึงตัดสินใจเริ่มต้นเส้นทางสืบทอดกิจการนี้ด้วยตำแหน่งเซลล์ เพราะเชื่อว่าตำแหน่งนี้จะทำให้ใกล้ชิดลูกค้ามากที่สุด ได้ลงพื้นที่ไปพบลูกค้าด้วยตัวเอง จะได้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริง และพบว่าแท้จริงแล้วชื่อเสียงของบริษัทในตลาดกลับไม่ดีเอาเสียเลย 

“พนักงานไม่รักษาคำพูดที่ให้กับลูกค้า ทิ้งงาน จนลูกค้าขาดความเชื่อมั่น หยุดการสั่งซื้อ” และโกรธบริษัทมากจนถึงขั้นปาของใส่อย่างที่เล่าไปตอนต้น

แต่โบว์ไม่ยอมแพ้ แม้ว่าจะโดนไล่ไม่ให้กลับมาเหยียบที่นั่นอีก วันถัดมาโบว์ยังกลับไปหาลูกค้าคนเดิมเพราะต้องทำให้เขาเห็นว่า บริษัทตั้งใจอยากดูแลเขาจริง ๆ

“สุดท้ายเขาก็ยอมคุยด้วยและระบายปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟัง ปัญหาทั้งหมดเกิดจาก 2 เรื่องหลัก ๆ คือระบบและคน 

“เราไม่มีระบบการทำงานที่ดีพอ เน้นใช้หลักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ไม่มีการตรวจสอบที่รัดกุม ไม่มีคนที่เป็นหลักและไว้วางใจได้ การทำงานยังเป็นรูปแบบบริหารแบบเถ้าแก่เป็นศูนย์รวม (Centralized) ไม่ใช่การทำงานแบบทีม เป็นการพึ่งพิงกับตัวบุคคลเพียงไม่กี่คน ดังนั้น ภารกิจนี้จึงไม่ใช่การเริ่มต้นจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบเลยก็ว่าได้ เพราะต้องกอบกู้ความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับมาด้วย”

โบว์จึงเริ่มต้นด้วยการยกเครื่องกระบวนการทำงานของบริษัทใหม่เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตัดเนื้อร้ายที่ทุจริตออกไป ปรับโฟกัสผลิตภัณฑ์โดยตัดสินค้าที่ไม่ใช่จุดแข็งและฉีกจากทิศทางของบริษัทออกไป จนกระทั่งปรับเปลี่ยนการทำงานให้เกิดการกระจายอำนาจ (Decentralized) มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปได้

ทายาทธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ Eminence กับวิธีกอบกู้ความเชื่อมั่นด้วยการรื้อระบบบริหาร
ทายาทธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ Eminence กับวิธีกอบกู้ความเชื่อมั่นด้วยการรื้อระบบบริหาร

เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน วิธีเปลี่ยน แต่สัญญาไม่เปลี่ยน

“หลังจากนั้น เราก็สร้างทีมใหม่ที่แข็งแกร่งขึ้นมา โดยคัดเลือกคนที่ไว้วางใจได้ และสรรหาคนที่ใช่ในตำแหน่งที่ใช่ เพราะธุรกิจต้องขยับขยาย ไม่มีทางที่เราจะมองได้รอบและทำงานได้ทันกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน รวมถึงการทำงานลักษณะนี้ ไม่ได้เป็นการฝึกให้พนักงานกล้าคิดกล้าทำเลย เราจึงปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Decentralized ให้อำนาจการบริหารและตัดสินใจกับแต่ละหน่วยงาน โดยที่เราเป็นคนกำหนดทิศทาง”

ระบบที่โบว์สร้างขึ้นมาแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือฝั่ง Front Line ประกอบไปด้วย 6 ทีม ได้แก่ ทีม Business Strategy, ทีม Business Development, ทีม Marketing, ทีม Sales, ทีม Product Specialist และทีม Service Engineer ทั้ง 6 ทีมนี้คอยเติมเต็มในส่วนที่บริษัทขาดในยุคก่อนหน้า เช่น การสรรหาคู่ค้าเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ครบวงจร การคิดกลยุทธ์ การหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดเป็นต้น

อีกส่วนคือฝั่ง Back Office ผู้ช่วยสนับสนุนทีม Front Line ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำระบบและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) เข้ามาเพื่อจัดการข้อมูลให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น

ทีมต่าง ๆ เหล่านี้ผสมผสานไปด้วยพนักงานทั้งรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์และรุ่นใหม่ที่มีไฟ ทำให้เกิดการเติมเต็มซึ่งกันและกัน

การปรับปรุงระบบเช่นนี้ทำให้ทุกทีมประสานงานและร่วมมือกันได้ดียิ่งขึ้น และมองเห็นเป้าหมายในการเติบโตไปพร้อม ๆ กัน จนเกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ภายในบริษัท

ยกตัวอย่างเช่น ทีม Front Line ที่พยายามสรรหา Solution ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ ก่อนพัฒนาเป็นนโยบายที่ทำให้กลุ่มบริษัทเอ็มมีเน้นซ์ก้าวออกมาจากหลังม่าน เพื่อทำสินค้า House Brand ของตัวเอง อย่างการทำ Furano แบรนด์เครื่องล้างและเม็ดฟู่สำหรับแช่รีเทนเนอร์ ไปจนถึงการขยายช่องทางการขายให้ครอบคลุมทั้งในออฟไลน์และออนไลน์

พัฒนาคำมั่นสัญญา

เมื่อวิธีการทำงานภายในองค์กรเป็นระบบแล้ว โบว์ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เธอเริ่มค่อย ๆ ขยายโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่มบริษัท ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

“หลังสร้าง House Brand ขั้นตอนต่อไปคือทำสัญญาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ จากยุคคุณพ่อที่เราเป็นเพียงตัวกลาง ตอนนี้เรามี House Brand ของตัวเอง และขั้นตอนต่อไป เราจะมีนวัตกรรมของตัวเอง

“เรากำลังจะทำตึกใหม่ที่เป็น Experience Center เพราะมองว่าการที่ลูกค้าเลือกสินค้าจากแคตตาล็อก เขาไม่ได้ประสบการณ์ และเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจมีมูลค่าสูง การจะตัดสินใจได้ต้องได้มาลองก่อนถึงจะมีความเชื่อมั่น 

“Experience Center จะเป็นพื้นที่ที่ลูกค้าได้มาลอง และมองออกเลยว่าผลิตภัณฑ์นี้จะเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ผู้คนได้อย่างไร”

ไม่เพียงเท่านี้ สินค้าที่ดีต้องมาพร้อมความรู้ที่เหมาะสม การทำ Knowledge Management ภายในองค์กร จึงเป็นเรื่องที่เธอให้ความสำคัญอีกเช่นกัน

“ปัจจุบัน เรามี Session ให้ได้แชร์กันในที่ประชุม มีเวทีมอบรางวัลด้านต่าง ๆ และการอบรมภายใน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนต่อยอดความรู้ และแปลงไปสู่ความรู้ที่จับต้องได้ โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงความรู้ เพื่อมาแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และนำไปสู่การปฏิบัติ”

การนำเทคโนโลยีมาสร้างระบบบริหารจัดการองค์ความรู้และ Database จะทำให้บริษัทถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ที่พนักงานคนหนึ่งสะสมมาไปยังพนักงานคนอื่นและบุคลากรรุ่นต่อ ๆ ไปได้

ดูแลสัญญา

เมื่อบริษัทมีระบบที่มั่นคงและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้แล้ว การกลับมาดูแลพนักงาน ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรักษาสัญญาทั้งหมดนี้คือสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะหากบริษัทดูแลพนักงานไม่ดี การส่งต่อความรู้สึกดี ๆ ไปสู่คู่ค้าและลูกค้าก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

“เราสร้างความสุขให้กับพนักงานผ่านบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้น่าทำงาน เราเป็นองค์กรด้านการแพทย์ที่มุ่งเน้นสุขภาพ จึงต้องเริ่มจากคนของตัวเองก่อน 

“เรามี Health Station ให้พนักงานจดบันทึกสุขภาพตัวเอง มีสมุดสุขภาพประจำตัวให้กับพนักงานแต่ละคนไว้เช็กค่าความดัน น้ำหนัก มีการเต้นออกกำลังกายสั้น ๆ ตอนบ่าย 3 โมง เพื่อแก้ Office Syndrome มีการจัด Sport Day เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายทุกคนให้แข็งแรง เป็นต้น”

นอกจากดูแลพนักงานให้ดีแล้ว โบว์ยังเพิ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ให้พนักงาน เช่น มอบรางวัลให้พนักงานที่มีผลงานดีหรืออยู่กับองค์กรมานาน ไปจนถึงการริเริ่มสิ่งที่เรียกว่า Quick Win Project และ CSR ซึ่งเปิดโอกาสและสนับสนุนให้พนักงานได้แสดงศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ออกมาเพื่อพัฒนาองค์กร และเป็นกิจกรรมที่ผู้บริหารจะได้ฟังเสียงจากพนักงานอย่างตรงไปตรงมา

โปรเจกต์ที่ชนะเลิศในปีที่ผ่านมา คือโครงการของแผนกบัญชีการเงิน ชื่อว่า ‘ปลาทูโปรเจกต์’

“ตอนแรกเราก็งงว่าปลาทูโปรเจกต์คืออะไร ทำไมถึงตั้งชื่อแบบนี้ เขาบอกว่าทีมบัญชีการเงินได้รับฟีดแบ็กจากเพื่อนร่วมงานว่าเป็นปลาทู คือ หน้างอ คอหัก เขาเลยบอกว่าโปรเจกต์ Quick Win ของเขาก็คือการทำให้ทีมไม่เป็นปลาทู โดยเสริมสร้าง Service Mind ให้คนในทีม ทำวิดีโอว่าเวลามีคนมาติดต่อทีมของเขา เขาควรมีปฏิสัมพันธ์ยังไง ส่งยิ้มยังไง เป็นต้น”

ส่วนตัวอย่าง CSR ที่เกิดขึ้นจริงจากโครงการนี้ เช่น การบริจาคและสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับองค์กรต่าง ๆ อย่างบ้านพักคนชรา พร้อมบริการตรวจเช็กสุขภาพ และถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพให้พวกเขาเหล่านั้นด้วยเพื่อสร้างอิมแพคในระยะยาว

สัญญาที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

โบว์ยังเชื่อมั่นว่าการทำให้กลุ่มบริษัทเอ็มมีเน้นซ์เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ มีโซลูชันครบวงจร และเป็น Top of Mind ของลูกค้าได้ คือการรักษาสัญญาที่จะส่งมอบสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันที่ทำให้เธอกอบกู้ชื่อเสียงของธุรกิจ และผลักดันให้เติบโตมาได้ในเวลาเพียง 9 ปี

สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจของทายาทรุ่นสองคนนี้ คือ การรู้จักตัวเอง รู้จักการพัฒนาตัวเอง และมีการเรียนรู้อยู่เสมอ พร้อมยอมรับที่จะปรับปรุงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพราะผู้นำที่ดีต้อง Kind but firm แข็งแกร่งแต่ไม่แข็งกร้าว ขณะเดียวกันก็ต้องมีการวางแผนที่แน่ชัดเหมือนเข็มทิศ คอยนำทัพไม่ให้หลงทาง

เธอทิ้งท้ายว่าการได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ แม้ว่าจะมีความผิดพลาดบ้าง แต่ความผิดพลาดนั้นเป็นบทเรียนสำคัญ ที่ทำให้เธอไม่พลาดเหมือนในอดีต “อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำดูและรู้ว่ามันไม่ใช่ มากกว่าการที่ยังไม่ได้เริ่มทำ”

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ