Emily in Paris (2020)

Genre : Drama, Comedy, Romance

Country : United States of America

Director/Writer : Darren Star

Actor/Actress : Lily Collins

Season : 1

Episode : 10

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์*

Emily in Paris : Culture Shock ของสาวอเมริกันในปารีสที่จุดให้คนถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมข้ามทวีป

ผ่านไปกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว ที่ Emily in Paris ซีรีส์สั้น 10 ตอนออกฉายบน Netflix และก็ขึ้นอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ซีรีส์เบาสมองกับแฟชั่นชิคๆ ที่เล่าถึงหญิงสาวอเมริกัน เอมิลี่ คูเปอร์ รับบทโดย ลิลลี่ คอลลินส์ (Lily Collins) ผู้ตัดสินใจย้ายมารับตำแหน่งงานใหม่เกี่ยวกับการตลาดและใช้ชีวิตในกรุงปารีส กำกับโดย ดาร์เรน สตาร์ (Darren Star) จาก Sex and the City

เส้นเรื่องของ Emily in Paris อาจจะดูธรรมดา แต่ละตอนยาวเพียง 20 นาทีเพื่อบอกเล่าเรื่องราวในแต่ละวันของเอมิลี่ ตั้งแต่การตื่นมาวิ่งในสวนสาธารณะตอนเช้า ซื้อขนมปัง เข้าออฟฟิศ เผชิญกับการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงปัญหาหัวใจกับหนุ่มหล่อในอพาร์ตเมนต์เดียวกัน 

เรื่องราวของเธอดำเนินไปเรื่อยๆ ทว่ารายละเอียดภายใต้ชีวิตของสาวอเมริกันที่มาอยู่ในเมืองแห่งความภาคภูมิใจทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ และเป็นเอกลักษณ์โดยไม่รู้ทั้งภาษาและวัฒนธรรมของผู้คนนี่ต่างหาก ที่ทำให้แทบจะทุกช็อตของ Emily in Paris ดูผ่านเพลินๆ ไม่ได้ การมาอยู่ปารีสของเอมิลี่ไม่ได้สร้างแค่บทสนทนาแห่งความอึดอัดให้กับเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่จุดไฟการถกเถียงระหว่างความเป็นฝรั่งเศส ความเป็นอเมริกัน ความเป็นคนนอก คนใน เหยียดเพศ หรือแค่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมออกมานอกจอในระดับสากลข้ามทวีปกันเลยทีเดียว

Emily in Paris : Culture Shock ของสาวอเมริกันในปารีสที่จุดให้คนถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมข้ามทวีป

Bonjour, bonjour!

เอมิลี่ผู้น่าสงสารไม่รู้เลยว่าเพียงการไม่ทัก “บงชูร์ – สวัสดี” เป็นภาษาฝรั่งเศสกับแม่บ้านอพาร์ตเมนต์ในตอนแรกของซีรีส์นั้น สำหรับคนฝรั่งเศสแล้วถือเป็นพฤติกรรมไร้มารยาทและดูหมิ่นขนาดไหน (ซึ่งนำมาสู่ความอินังขังขอบที่จะให้การช่วยเหลือใดๆ ต่อเธอเกือบจะตลอดเรื่อง) และคุณเธอยังยืนหยัดที่จะทำงานกับเพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศสให้จงได้ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพและความทุ่มเทต่องานของเธอ ทั้งที่ความสามารถอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการอยู่ร่วมกับผู้คนในบริบทวัฒนธรรมอื่น

“งานทำให้ฉันมีความสุข” เอมิลี่ว่าไว้อย่างนั้น

“บางทีเธออาจจะไม่รู้ว่ามีความสุขจริงๆ มันเป็นยังไง”

“บางทีสิ่งที่คุณพูด มันอาจจะผยองไปหน่อยนะ”

“เฮอะ เธอมาอยู่ปารีสทั้งที่ไม่พูดภาษาฝรั่งเศส นั่นต่างหากความผยอง” 

บทสนทนาระหว่างเอมิลี่กับเพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศสข้างต้นในตอนแรกของซีรีส์ค่อยๆ เปิดให้เอมิลี่ขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการตั้งคำถามของคนดูว่า “การพูดภาษาท้องถิ่นจำเป็นแค่ไหน เมื่อภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาสากลอยู่แล้ว” เอมิลี่จึงเป็นเสมือนตัวแทนแห่งการคลี่คลายและขยี้ปมแห่งวัฒนธรรมระหว่างอเมริกันกับฝรั่งเศสออกมาในหลายมิติ อย่างการที่คนอเมริกันที่ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา เรียกว่างานคือชีวิต ในขณะที่คนฝรั่งเศสอยู่เพื่อใช้ชีวิตและไม่ยกเรื่องงานมาคุยบนโต๊ะอาหารเด็ดขาด 

สำหรับเอมิลี่-ตัวแทนแห่งอเมริกันมองว่า การดูหนังคือการหลุดออกจากชีวิตจริงไปพบความบันเทิง แต่เพื่อนชาวฝรั่งเศสของเธอกลับมองว่าทุกเรื่องคือชีวิต เราหนีชีวิตและความจริงไปไม่ได้ อันเป็นคำตอบหนึ่งว่าทำไมภาพยนตร์ฝรั่งเศสจึงได้ดาร์กเทาและเต็มไปด้วยสัญญะมากมายขนาดนั้น 

Emily in Paris : Culture Shock ของสาวอเมริกันในปารีสที่จุดให้คนถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมข้ามทวีป

The French

Emily in Paris : Culture Shock ของสาวอเมริกันในปารีสที่จุดให้คนถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมข้ามทวีป

ตลอดทั้งเรื่อง เอมิลี่ คูเปอร์ รู้จริงในงานที่เธอทำ นั่นคือการใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมหรือทวิตเตอร์ ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของแบรนด์ตามวิถีทางมาร์เก็ตติ้งแบบอเมริกัน ซึ่งที่จริงก็นั่นแหละที่ลูกค้าต้องการ 

ตอนสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือตอนที่เอมิลี่ต้องแสดงความเห็นปะทะคารมกับอองตวน ลูกค้าของเธอ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ธุรกิจน้ำหอมที่ถ่ายทำโฆษณานำเสนอสินค้าโดยให้นางแบบเดินเปลือยกายล่อนจ้อนผ่านหนุ่มหล่อใส่สูทสี่ห้าคนบนสะพานใจกลางกรุงปารีส ‘เซ็กซี่หรือเหยียดเพศ’ (Sexy or Sexist?) กลายเป็นหัวข้อวิวาทระหว่างเธอกับผู้ชายที่เป็นลูกค้าคนสำคัญของบริษัท เอมิลี่ใช้ความเป็นมืออาชีพในการอธิบายให้เห็นว่า หากต้องการจับกลุ่มลูกค้าชาวอเมริกันที่ให้ความสำคัญกับการไม่เหยียดเพศ โฆษณาชิ้นนี้สุ่มเสี่ยงจะถูกตีความว่าดูหมิ่น (Politically Incorrect) และเราควรจะละเอียดอ่อนกับความรู้สึกของผู้หญิงในยุคสมัยนี้ ส่วนลูกค้ากลับมองว่า การใช้มุมมองแบบนี้ก็ไม่ต่างจากตำรวจศีลธรรม (Morality Police) ที่คอยตรวจสอบและเซนเซอร์ความถูกต้องดีงามตลอดเวลา 

Emily in Paris : Culture Shock ของสาวอเมริกันในปารีสที่จุดให้คนถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมข้ามทวีป

เนื้อหาในการถกเถียงนั้นน่าสนใจ หากแต่ใครก็หาอ่านหาฟังข้อถกเถียงแห่งยุคสมัยแบบนี้ได้ในบทความออนไลน์หรือเวทีเสวนาเชิงวิชาการทั่วไป ความน่าสนใจที่แท้จริงของฉากนี้จึงอยู่ที่การที่ลูกค้าเจ้าของแบรนด์ใหญ่อย่างอองตวนยอมหยุดการถ่ายทำโฆษณา และเปิดไวน์นั่งคุยอย่างจริงจังกับเอมิลี่ สาวอเมริกันหน้าใหม่ เพื่ออภิปรายเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยไม่ได้ใช้อำนาจของความเป็นผู้ชาย ผู้อาวุโส หรือลูกค้า มาตีตกความเห็นของเอมิลี่ 

ในสภาพสังคมที่ ‘ชาย (ยังคง) เป็นใหญ่’ หรือ การใช้ ‘อำนาจนิยม’ เกิดขึ้นในทุกมิติของการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ชมอย่างเราอดไม่ได้ที่จะเดาไปว่าฉากต่างๆ ในตอนนี้ เอมิลี่น่าจะถูกบอสตัดบทให้หยุดพูดและพาตัวออกไป พร้อมขอโทษขอโพยลูกค้า โดยมีลูกค้าหันมามองแรงว่าช่างกล้าดีอย่างไรจึงมาตำหนิว่ามุมมองทางศิลปะของเราใช้ไม่ได้ หรือหากร้ายไปกว่านั้น เอมิลี่อาจจะถูกกดดันจนต้องลาออกจากบริษัทเองในภายหลัง 

Emily in Paris : Culture Shock ของสาวอเมริกันในปารีสที่จุดให้คนถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมข้ามทวีป

หากเรามองเอมิลี่เป็นตัวแทนของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มีความคิดนอกกรอบ แถมยังกล้าหาญชาญชัยที่จะมา ‘ท้าทายขนบ’ ทางความคิดและมุมมองทางศิลปะของคนในประเทศอื่นด้วย ‘เจตนาดี’ พฤติกรรมของเอมิลี่นี่ช่างไม่รู้กาลเทศะและขวางหูขวางตาคนที่ ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ เสียจริงๆ 

แต่เพราะคนที่เอมิลี่คุยด้วยคืออองตวน ตัวแทนของคนฝรั่งเศสที่เติบโตมาในห้องเรียนที่เปิดพื้นที่ให้นักเรียนถกเถียงวิเคราะห์ตัวละครในวิชาวรรณคดีศึกษาร่วมกับครูได้ คนฝรั่งเศสที่ยินดีใช้เวลาเป็นชั่วโมงอธิบายกับคนแปลกหน้าที่บังเอิญยืนสูบบุหรี่ด้วยกันหลังบาร์ ว่าทำไมเขาจึงไม่เห็นด้วยกับการสวมหน้ากากอนามัย คนฝรั่งเศสที่มีภูมิรับมือความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายอย่างเข้มแข็ง อันเนื่องมาจากสังคมพหุวัฒนธรรมที่เขาต้องใช้พื้นที่ร่วมกับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย เจ้าของร้านเฝอแสนอร่อยจากเวียดนาม วัยรุ่นขาแรปเชื้อชาติแอฟริกา และนักศึกษาการละครจากบราซิล 

Paris is not France.

แน่นอนว่า คนปารีสในเรื่องไม่ใช่ภาพแทนของคนฝรั่งเศสทั้งหมด และบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรมในแต่ละเมืองก็แตกต่างกันไป หากแต่บริบททางวัฒนธรรมเหล่านี้หล่อหลอมให้คนอย่างอองตวนหรือเพื่อนร่วมงานของเอมิลี่ที่ปากร้ายและดูช่างไม่มีความเกรงอกเกรงใจคนอื่นเอาเสียเลย กลับสามารถรับฟังและอดทนต่อความเห็นที่ไม่ถูกใจไปพร้อมๆ กัน หรือพูดได้อีกอย่างว่า สำหรับคนฝรั่งเศสแล้ว การได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่างไม่ว่าในเรื่องเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ปานใด คือจิตวิญญาณของคนฝรั่งเศส เป็นจิตวิญญาณที่คนฝรั่งเศสจะไม่ยอมถูกปิดปาก และในขณะเดียวกันก็จะไม่ไปปิดปากคนอื่นเสียเอง 

Emily in Paris : Culture Shock ของสาวอเมริกันในปารีสที่จุดให้คนถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมข้ามทวีป

ชาวฝรั่งเศสมากมายที่ได้ดูซีรีส์นี้ออกมาโวยวายที่เอมิลี่ทำภาพลักษณ์คนปารีสให้ดูย่ำแย่ เย่อหยิ่ง อวดดี เสียหนักหน่วง ผ่านบทความวิพากษ์วิจารณ์มากมายทางสื่อโซเชียล ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ยังมีคนฝรั่งเศสอีกจำนวนไม่น้อยออกมาทำปากเบะ ยักไหล่ เอ่ยด้วยถ้อยคำประมาณว่า “C’est normal – เรื่องธรรมดา” เราก็เป็นกันแบบนี้จริงๆ แหละ แล้วไง ใครแคร์ สำหรับคนปารีสที่ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมอันยาวนานของประเทศตนเอง สาวอเมริกันจ๋าอย่างเอมิลี่ก็คงไม่ต่างไปจากชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ที่ “มาปารีสเหมือนมาเที่ยวสวนสนุก เอ็นจอยอาหาร ไวน์ เซ็กส์ สักหนึ่งปีแล้วก็จากไป โดยไม่แคร์ภาษาหรือวัฒนธรรมอันใด” 

นี่แหละ ความเป็นคนฝรั่งเศสที่แสดงความไม่พอใจอย่างตรงไปตรงมา 

Emily in Paris : Culture Shock ของสาวอเมริกันในปารีสที่จุดให้คนถกเถียงเรื่องวัฒนธรรมข้ามทวีป

10 ตอนในซีรีส์จบไปแล้ว แต่เรื่องราวของเอมิลี่ยังอยู่ และไปเป็นหัวข้อสนทนาจริงจังในเครือข่ายคนต่างชาติที่ใช้ชีวิตอยู่ในปารีส ที่คิดตอนต่อไปของซีรีส์ให้เอมิลี่เรียบร้อย (โรงเรียนฝรั่งเศส) ไม่ว่าจะเป็นเอมิลี่ต่อวีซ่าที่ใช้เวลาดำเนินเรื่องเอกสารยาวนานปวดหัวจนอาจจะไม่จบในตอนเดียว เอมิลี่ทำกุญแจหาย อันนำไปสู่ค่างัดประตูและติดตั้งกุญแจใหม่ราคามหาโหด เอมิลี่หลงในสถานีรถไฟใต้ดินที่ซับซ้อนเป็นเขาวงกต ไปจนถึงเอมิลี่โดนล้วงกระเป๋า!!! 

เพราะสำหรับคนต่างชาติเหล่านี้แล้ว เอมิลี่คือพวกเขา และพวกเขาคือเอมิลี่ การดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาในการทำงานแต่ละวันของเอมิลี่สร้างข้อถกเถียงทั้งในจอและนอกจอ แต่จนถึงตอนนี้ เราพบว่าท่ามกลางถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ (“สิ่งที่เกิดในเรื่องมันเป็นการเหมารวม และไม่ให้เกียรติวัฒนธรรมฝรั่งเศสเลย”) และบทความตำหนิติเตียน (“มันใช่เวลาไหม ที่จะเอาซีรีส์ฟรุ้งฟริ้งแบบนี้มาออกรายการในภาวะหนักหน่วงของ COVID-19 ระบาดและเศรษฐกิจย่ำแย่”) ไม่มีสักคนที่จะลุกขึ้นมาโวยวายว่า Netflix ควรเอาซีรีส์นี้ออก หรือคนที่เห็นด้วยกับซีรีส์นี้ควรออกไปจากประเทศฝรั่งเศสเสีย

นั่นก็เพราะสำหรับคนฝรั่งเศสแล้ว มนุษย์ทุกคน รวมทั้งเอมิลี่ มีเสรีภาพเต็มที่ที่จะแสดงความคิดเห็น หรือเสียดสีจิกกัดแม้แต่ชนชาติเขาเองผ่านศิลปะแขนงต่างๆ ได้ และนั่นเองที่ทำให้เอมิลี่ยังคงใช้ชีวิตต่อในปารีส พูดในสิ่งที่รู้สึกนึกคิดได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนอุ้มหายหรือลอบทำร้าย และมีแนวโน้มจะมีซีซั่น 2 ตามมาอีกด้วย

Writer

Avatar

ศักดิ์สินี เอมะศิริ

พลเมืองโลกธรรมดาที่รู้สึกลงแดงถ้าไม่ได้ออกเดินทาง อาชีพฟรีแลนซ์รับจ้างทั่วไป ยกเว้นรับจ้างขับรถเพราะขับไม่เป็น