ปลายปีที่แล้ว The Cloud ได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศให้เดินทางไปร่วมงานเลี้ยงรับรองฉลอง 2 ศตวรรษแห่งมิตรภาพ และ 185 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ที่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. 

The Cloud บอกเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์อันงดงามจากงานนั้น ตั้งแต่ระดับประมุขจนถึงระดับประชาชน ไว้ในบทความเรื่อง เปิดเซฟหอสมุดรัฐสภาสหรัฐชมเครื่องดนตรีที่ ร.9 พระราชทาน’

จากการเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในครั้งนั้น ทำให้เราพบความสัมพันธ์อันงดงามระหว่าง 2 ประเทศที่ถูกบันทึกไว้ใน ‘อาคาร’ 3 หลัง

“ไทยกับสหรัฐฯ เป็นมิตรประเทศกันมา 2 ศตวรรษ เราเป็นประเทศแรกในเอเชียที่รับรองสหรัฐฯ ว่าเป็นประเทศ และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการกับเราเมื่อ ค.ศ. 1833” คุณวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เล่าถึงความสัมพันธ์อันยาวนาน และเล่าต่อว่า ในสหรัฐฯ น่าจะมีคนไทยประมาณ 3 แสนคนขึ้นไป การดูแลคนไทยจำนวนมากในประเทศที่มีขนาดใหญ่เท่าทวีปไม่ใช่เรื่องง่าย

อาคารของสถานทูตไทยในสหรัฐฯ จึงมีความน่าสนใจทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ และการเป็นศูนย์ราชการของหน่วยงานจากประเทศไทย ถ้าจะอธิบายอย่างสั้นที่สุด ความน่าสนใจของอาคารทั้ง 3 หลังมีดังนี้

อาคารที่ทำการกงสุล

อายุ 99 ปี เป็นการสร้างอาคารในต่างประเทศเพื่อใช้เป็นสถานเอกอัครราชทูตหลังแรกของประเทศไทย ออกแบบโดยสถาปนิกผู้ออกแบบ Smithsonian Museum of Natural History และเป็นสถานที่ประชุมของเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ทำเนียบเอกอัครราชทูต

อายุ 113 ปี ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังของสหรัฐฯ เคยเป็นบ้านของ Dwight F. Davis อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้เสนอให้จัดแข่งขันเทนนิสระดับนานาชาติรายการ Davis Cup และเป็นอาคารอนุรักษ์ของสหรัฐฯ

อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต

อายุ 30 ปี เป็นอาคารสำนักงานของ 8 หน่วยงาน มีเจ้าหน้าที่ร่วมกว่า 80 คน ถือเป็นสถานเอกอัครราชทูตไทยที่ใหญ่ที่มีจำนวนคนทำงานมากที่สุดในโลก และเคยต้อนรับการมาเยือนของอดีตประธานาธิบดีอย่าง นายจอร์จ บุช, นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และ นายบิล คลินตัน

ประวัติศาสตร์สถานเอกอัคราชทูตในต่างแดน

สถานทูตไทยแห่งแรกในโลกตั้งที่ลอนดอนเมื่อ พ.. 2424 ทูตคนแรกของเราคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (ต้นตระกูลชุมสาย) ไปช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 ประจำที่ลอนดอนแต่ดูแลประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา รวม 12 ประเทศ นานๆ ก็ไปอเมริกาที” คุณวิทยา เวชชาชีวะ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกา และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการตั้งสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงวอชิงตัน

“พ.ศ.2425 รัชกาลที่ 5 รับสั่งว่าเราต้องมีสถานทูตที่ปารีส เพราะเราติดต่อกับฝรั่งเศสเยอะ ทรงย้ายพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จากลอนดอนมาเป็นทูตคนแรกที่ปารีส และให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (ต้นตระกูลกฤดากร) น้องชายของรัชกาลที่ 5 มาเป็นทูตที่ลอนดอนแทน จากนั้นก็ตั้งสถานทูตที่เบอร์ลินและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์”

จุดเริ่มต้นสถานเอกอัครราชทูตในสหรัฐอเมริกา

ด้วยความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกา เราจึงเปิดสถานทูตในสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตันเมื่อ พ.ศ. 2444 เป็นลำดับถัดมา โดยมีพระยาอรรคราชวราทร (ภัสดา บุรณศิริ) เป็นอัครราชทูตสยามคนแรก

Siam Legation หรือสถานทูตสยามในยุคนั้น เช่าพื้นที่ของอาคาร The Arlington เลขที่ 1739 ถนน Corcoran ในเขต Arlington จากนั้นพ.ศ. 2456 ย้ายไปเช่าอาคารเลขที่ 1721 Rhode Island Avenue พ.ศ. 2458 เปลี่ยนไปเช่าอาคารเลขที่ 3145-47 ถนนหมายเลข 16 และ พ.ศ. 2461ก็ย้ายที่ทำการอีกครั้ง ไปเช่าอาคารเลขที่ 2308 Wyoming Avenue

คุณวิทยาเล่าว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2457 ประเทศในทวีปเอเชียที่มีสถานทูตในกรุงวอชิงตันมีเพียงแค่ 3 ประเทศเท่านั้นคือ ญี่ปุ่น จีน และไทย เพราะประเทศอื่นยังไม่มีเอกราช

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงเมื่อ พ.ศ. 2461 รัฐบาลสหรัฐเสนอที่ดินให้สยามสร้างอาคารสถานทูตของตัวเองได้ ซึ่งตรงกับพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 รัฐบาลไทยจึงซื้อที่ดิน 2 แปลง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2462 และ 22 มีนาคม พ.ศ. 2463 ค่าที่ดินและค่าสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งหมด 126,226 ดอลลาร์ฯ วางศิลาฤกษ์โดยพระยาประการกรวงศ์ (ว่อง บุนนาค) อัครราชทูตสยามในขณะนั้น

อาคาร Siamese Legation เลขที่ 2300 ถนน Kalorama เปิดใช้งานเป็นที่ทำการสถานอัครราชทูตและทำเนียบอัครราชทูตในตึกเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2464

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

พิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสถานอัครราชทูตสยาม พ.ศ. 2463 คนในภาพคือ พระยาประการกรวงศ์ (ว่อง บุนนาค) ลูกชาย และเพื่อนชาวอเมริกัน
ภาพ : thaiembdc.org

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

สถานอัครราชทูตสยาม พ.ศ. 2463
ภาพ : thaiembdc.org

งานออกแบบ

อาคาร 4 ชั้นหลังนี้เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์มากมาย

เริ่มต้นจากนี่คืออาคารปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตหลังแรกในต่างประเทศ

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ภาพ : thaiembdc.org

ตัวอาคารออกแบบโดย James Rush Marshall จากบริษัท Hornblower and Marshall ซึ่งมีผลงานออกแบบอาคาร Smithsonian Museum of Natural History เขาตั้งใจออกแบบอาคารให้สอดรับกับภูมิทัศน์และแนวถนน โดยมีลักษณะเป็นทรงเหลี่ยมอันเป็นเอกลักษณ์

ส่วนผนังของอาคารและเสาราวระเบียงเป็นผลงานของ John Joseph Earley จากบริษัท John Earley Studio ซึ่งมีผลงานออกแบบอย่าง Meridian Hill Park ในกรุงวอชิงตัน

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

แต่อาคารหลังนี้ก็มีความเป็นไทยเล็กๆ แฝงอยู่ นั่นก็คือ บนยอดเสาทั้งสี่ต้นหน้าอาคารมีตราครุฑติดอยู่ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าอาคารหลังนี้ใช้เป็นสถานที่ราชการของรัฐบาลไทย (และแก้เคล็ดที่อาคารตั้งอยู่ตรงสามแยกพอดี)

ความสำคัญอีกอย่างคือ อาคารหลังนี้อยู่ในเขต Kalorama Heights ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงวอชิงตัน ถือเป็นสถานเอกอัครราชทูตหลังแรกของย่านนี้ ก่อนจะมีที่ทำการและทำเนียบทูตของประเทศต่างๆ ตามมาอยู่ในย่านนี้

เสรีไทยและที่ทำการแห่งใหม่

“สมัยก่อนทูตอยู่ข้างบนชั้นสามชั้นสี่ ชั้นสองเป็นที่รับแขก ชั้นล่างเป็นออฟฟิศ ทำงานกงสุล สมัยก่อนงานไม่มาก ไม่ต้องการพื้นที่มาก ก็อยู่อย่างนั้นเรื่อยมา จนสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณเสนีย์ ปราโมช (อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น) ก็อยู่ที่นั่น ช่วงพ.ศ. 2487เสรีไทยใช้ที่นี่เป็นที่ประชุม คุณสิทธิ เศวตศิลา ก็มาประชุมกับคุณเสนีย์ที่นี่” คุณวิทยาเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นที่นี่

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ห้องโถงบริเวณชั้นสอง

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ห้องประชุมบริเวณชั้นสอง

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในพ.ศ. 2488 เราก็มีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาแนบแน่นยิ่งขึ้นไปอีก

“ตอนนั้นตำแหน่งทูตของเราเป็นแค่อัครราชทูต เป็นเอกอัครราชทูตไม่ได้ เพราะไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจ พอถึง พ.ศ. 2490 รัฐบาลของทั้งอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ก็ตกลงกันว่าถึงเวลายกระดับให้เรามีเอกอัครราชทูตได้แล้ว” คุณวิทยาเล่าต่อว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันครั้งนี้คือ บรมครูด้านการทูตที่เก่งที่สุดของไทยอย่าง พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งเคยเป็นถึงประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

อีกมุมหนึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา เป็นนายกราชบัณฑิตยสถาน และเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า อัตโนมัติ (Automatic) รัฐธรรมนูญ (Constitution) ประชาธิปไตย (Democracy) โทรทัศน์ (Television) และ วิทยุ (Radio)

กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงเห็นว่าอาคารหลังนี้คับแคบไป เลยขอซื้อที่ทำการใหม่ใน พ.ศ. 2490 เป็นอาคารเลขที่ 2490 Tracy Place ถัดจากอาคารเดิมไปแค่ 2 บล็อก โดยให้อาคารหลังนั้นทำหน้าที่เป็นที่ทำการ และอาคารที่ถนนคาโลรามาทำหน้าที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตอย่างเดียว

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ห้องอาหารบริเวณชั้นสอง

กลุ่มใต้ถุน

อีกหนึ่งความทรงจำของอาคารที่ถนนคาโลรามาก็คือ ชั้นใต้ดิน

“ยุคที่ คุณพจน์ สารสิน เป็นทูต (พ.ศ. 2495 – 2500) มีกลุ่มที่เราเรียกกันว่า กลุ่มใต้ถุน เป็นนักเรียนไทยในอเมริกา วันหยุดก็เดินทางจากเมืองอื่นมากินอยู่กัน 20 – 30 คน อย่างเช่น คุณสวัสดิ์ วัฒนายากร (อดีตองคมนตรี) คุณอภิลาศ โอสถานนท์ (อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์) อาสา สารสิน (อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกาและปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) เภา สารสิน (อดีตอธิบดีกรมตำรวจ) ผมด้วย” คุณวิทยาบอกว่า หลังจากยุคคุณพจน์ก็ยังเก็บชั้นใต้ดินไว้เป็นห้องรับรองอีกหลายปี

ปัจจุบันชั้นใต้ดินทั้งหมดเป็นที่พักของพี่เศวต เจ้าหน้าที่คนเก่าคนแก่ของสถานทูต ห้องที่เหล่านักเรียนไทยใช้ชุมนุมกัน ปัจจุบันเป็นห้องนอนของพี่เศวต โดยที่เขายังคงเก็บชั้นหนังสือรอบห้องไว้เหมือนเดิม

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือน

เหตุการณ์สำคัญอีกอย่างของอาคารหลังนี้ก็คือ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงวอชิงตันและอาคารหลังนี้เมื่อ พ.ศ. 2503

คุณวรพัฒน์ อรรถยุกติ (ลูกของ คุณวิสูตร อรรถยุกติ เอกอัครราชทูตในขณะนั้น) เขียนถึงเหตุการณ์นี้ไว้ในหนังสือเรื่อง 72 ปี วรพัฒน์ อรรถยุกติ ว่า

“…งานเริ่มต้นที่สนามด้านหลังสถานทูตโดยมีข้าราชการไทยพร้อมคู่สมรส 200 คนรับเสด็จ บนห้องรับแขกชั้นสองมีเครื่องดนตรีเตรียมไว้ ประกอบด้วย แกรนด์เปียโน แซกโซโฟน ทรัมเป็ต และกลอง มีนักเรียนไทยเป็นนักดนตรี โดยคุณแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ร่วมอยู่ด้วย

“หลังจากประทับเสวยค็อกเทลอย่างเป็นกันเองในสวนด้านหลังสถานทูต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 จึงเสด็จขึ้นห้องรับแขกชั้น 2 นักดนตรีบรรเลงเพลง สายฝน อาทิตย์อับแสง ลมหนาว ซึ่งล้วนเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ ตลอดเจนเพลงอื่นๆ ข้าพเจ้านั่งอยู่กับพื้นในห้องรับแขก และจำได้ว่ามีนักเรียนไทยออกเต้นรำจังหวะร็อกแอนด์โรลหลายคู่

“… เมื่อเสวยพระกระยาหารเสร็จ ได้รับสั่งให้คนกลับไปนำแคลริเน็ตของพระองค์จากแบล์เฮ้าส์มาถวาย และพระองค์ก็ได้ทรงแคลริเน็ตนั้น ไม่มีผู้ใดออกไปเต้นรำเนื่องจากเพลงที่ทรงดนตรีล้วนเป็นเพลงแจ๊ซ มิใช่เพลงจะเต้นรำได้ พระองค์ทรงเป็นกันเองมาก ทำให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในคืนวันนั้นล้วนปลื้มปิติกันอย่างล้นเหลือ

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

รูปวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงแคลนิเน็ตกับวงดนตรีของนักเรียนไทยที่สหรัฐอเมริกา ณ สถานทูตไทย ถนนคาโลรามา กรุงวอชิงตัน
ภาพ : หนังสือ 72 ปี วรพัฒน์ อรรถยุกติ

ซื้อทำเนียบทูตใหม่

คุณวิทยาเล่าถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งของอาคารหลังนี้ว่า “พ.ศ. 2507 ยุคที่ คุณสุกิต นิมมานเหมินท์ เป็นทูต และ คุณถนัด คอมันตร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านเห็นว่าที่คาโลรามาแคบไปที่จะเป็นบ้านทูต เลยขายที่ทำการเลขที่ 2490 Tracey Place แล้วเอาเงินมาซื้อบ้านทูตใหม่ เลขที่ 3125 cathedral Avenue ส่วนบ้านที่คาโลรามาก็กลับมาใช้เป็นที่ทำการอีกครั้ง”

ย้ายที่ทำการสถานทูต

“ผมเป็นทูตที่อเมริกา พ.ศ. 2531 ก่อนจะหมดวาระ มีนโยบายจะซื้อสถานทูตใหม่ ตอนนั้น คุณเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ท่านมีหลักการว่าอยากให้ทหารมารวมกับพลเรือน ทุกหน่วยงานมาอยู่รวมกันในอาคารเดียว ผมก็รับนโยบายนั้นมาแล้วหาซื้ออาคารใหม่” คุณวิทยาอธิบายถึงเบื้องหลังนโยบายนั้นว่า เป็นเพราะส่วนราชการมีมากขึ้น จึงต้องจ่ายค่าเช่าสถานที่เป็นจำนวนมาก

“เราต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างสถานทูตกับทำเนียบทูตก่อน ทำเนียบทูตใช้เป็นที่รับแขก ควรดูดี แต่สถานทูตอยู่ที่ไหนก็ได้ ย้ายได้ตามความเปลี่ยนแปลงของเมือง เช่น เราเคยอยู่บางลำพูเพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการติดต่อซื้อขาย แต่ตอนนี้เขาย้ายไปสีลม สุขุมวิท หมดแล้ว เราก็ควรย้ายตาม เหมือนที่สถานทูตต่างประเทศในไทยอยู่ตามตึกที่ไปมาสะดวก สถานทูตของเราที่สเปนหรือมะนิลาก็เป็นแบบนั้น

“เราไปดูหลายแห่ง ตรงนี้ (Georgetown) เป็นย่านที่มีถนนใหญ่ ไปมาสะดวก เป็นย่านธุรกิจและการค้า อยู่ใกล้แม่น้ำ เป็นตึกใหม่สูง 5 ชั้น มีที่จอดรถใต้ดิน 2 ชั้น จอดได้เกือบ 50 คัน ซึ่ง 30 ปีที่แล้วในวอชิงตันไม่ได้มีแบบนี้มากนัก ตอนนั้นเหรียญหนึ่ง 20 บาท ถ้าเราซื้อช้าไปอีกนิดเดียวเหรียญหนึ่งจะเป็น 22.50 บาท เราก็เร่งจนจ่ายเงินสำเร็จก่อนอัตราแลกเปลี่ยนจะเปลี่ยน”

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 รัฐบาลมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดซื้ออาคารเลขที่ 1024 Wisconsin Avenue ย่าน Georgetown เป็นที่ทำการ ซื้อขายวันที่ 9 ตุลาคม 2534 ราคา 9,725,000 ดอลลาร์ฯ โดย หม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี เอกอัครราชทูตในขณะนั้น

พ.ศ. 2537 หลังจากปรับปรุงครั้งใหญ่ก็เริ่มใช้งาน ถือเป็นการปิดฉากการใช้งานอาคารที่ถนนคาโลรามาหลังจากใช้งานมานานถึง 73 ปี

ปรับปรุง

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ภาพ : thaiembdc.org

อาคารหลังนี้ถือเป็นอาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้น มีชั้น Ground และมีที่จอดรถยนต์ใต้ดิน 2 ชั้น

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 สร้างเสร็จพ.ศ. 2533 รัฐบาลไทยซื้อ พ.ศ. 2534 เริ่มใช้งาน พ.ศ. 2537

เป็นสถานทูตแห่งเดียวในกรุงวอชิงตันที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในย่านธุรกิจ

หลักการในการปรับปรุงอาคารหลังนี้ก็คือ ทุบผนังให้พื้นที่เชื่อมถึงกัน แล้วแบ่งพื้นที่ใหม่ตามขนาดของสำนักงานต่างๆ มีกระทรวงการต่างประเทศ 1 ชั้น ทูตทหาร 1 ชั้น และทูตพาณิชย์ 1 ชั้น

9 พฤษภาคม 2537 ศ. ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดอาคาร ภายในอาคารประกอบด้วยสถานเอกอัครราชทูต สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและฝ่ายทหารเรือ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ สำนักงานแถลงข่าวไทย สำนักงานพาณิชย์ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง และสำนักงานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ยกเว้นแค่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในสหรัฐอเมริกา (สังกัดสำนักงาน ก.พ.) ซึ่งมีที่ทำการถาวรของตัวเอง

อาคารแห่งนี้เคยต้อนรับอดีตประธานาธิบดีอย่างนายจอร์จ บุช, นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และ นายบิล คลินตัน มาร่วมลงนามไว้อาลัยแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2548

คุยกับทูต

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

“บรรยากาศที่นี่เหมือนศูนย์ราชการ มีกระทรวงต่างๆ เจอกันได้ง่ายๆ จะคุยอะไรก็คุยกันได้เลย ไม่มีช่องว่าง ซึ่งตึกสถานทูตส่วนใหญ่ไม่ใช่แบบนี้ ที่นี่มีคนทำงาน 80 กว่าคน ถือว่ามากที่สุดในโลก อยู่ร่วมกันก็ราบรื่นดีไม่มีปัญหา ที่นี่ยังรับได้อีก 2 สำนักงาน สำหรับหน่วยงานที่จะมาตั้งในอนาคต” ท่านทูตวีรชัยเล่าถึงบรรยากาศของสถานเอกอัครราชทูต

“ความยากของการทำงานที่นี่คือ เราต้องกระจายอำนาจ ในสหรัฐฯ มีสถานกงสุลใหญ่ 3 แห่งที่คนไทยเป็นคนดูแล ที่เหลือกงสุลกิตติมศักดิ์เป็นคนอเมริกัน การคุมคุณภาพการทำงานทั้งหมดให้เป็นแบบเดียวกันไม่ง่าย การเดินทางไปสถานกงสุลแต่ละแห่งก็ใช้เวลา ต้องวางแผนการสื่อสารและการกระจายอำนาจให้ดี

“ยังมีงานให้เราทำอีกเยอะ คนไทยมาลงทุนในสหรัฐฯ ประมาณ 23 รัฐ สร้างงานกว่า 60,000 อัตรา ขณะเดียวกันคนอเมริกันก็ไปสร้างงานให้คนไทยในบ้านเราด้วย เพราะเราเก่งกันคนละอย่าง อย่างเรื่องเกษตร หรือการเลี้ยงกุ้ง เราเก่งกว่าเขา เขาอยากให้เรามาลงทุนเลี้ยงกุ้งแล้วถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเชื่อมกับมหาวิทยาลัยของรัฐ”

ทำเนียบทูตหลังใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

“ในยุคที่คุณพีระพงศ์เป็นทูตและผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ท่านทูตมีความคิดว่าอยากซื้อทำเนียบใหม่ เพราะหลังเก่าทุกอย่างดีหมด อยู่สบายดีมี 7 ห้องนอน แต่ข้างนอกดูไม่สวย ไม่มีบริเวณ จัดงานเลี้ยงรับรองได้แต่ในบ้าน ไม่สง่างาม และเขาเล่าต่อๆ กันมาว่ามันเคยเป็นบาร์โคมแดงมาก่อน” คุณวิทยาเล่าถึงการย้ายบ้านอีกครั้ง

บ้านหลังนี้อยู่ในเขต Kalorama ด้านซ้ายของอาคารเป็น Spanish Steps บันไดทางเดินเชื่อมระหว่างถนน 22 และ Decatur ออกแบบโดยสถาปนิก George Oakley Totten Jr. มีน้ำพุรูปหัวสิงโตด้านบน

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ทำเนียบเอกอัครราชทูตเป็นอาคารสูง 4 ชั้น โครงสร้างกำแพงภายนอกเป็นอิฐแบบ Neo-classic สีแดงเลือดนกสลับขาว ปีกตึกทั้งสองด้านยืดยาว ลานหินตรงหน้าอาคารปูด้วยหินแบบ Herringbone Pattern และมีแนวราวกำแพงแบบ Renaissance

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

อาคารหลังนี้สร้างช่วง พ.ศ. 2449 – 2450 ออกแบบโดยนาย Ogden Codman สถาปนิกที่มีชื่อเสียงของสหรัฐฯ เป็นบ้านของ Martha Codman ญาติที่สืบทอดมรดกจากธุรกิจเดินเรือของครอบครัวในบอสตัน และเป็นนักสะสมภาพวาดศิลปินชาวอเมริกัน

พ.ศ. 2481 มาร์ธา คอดแมน ขายบ้านให้ Dwight F. Davis อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยประธานาธิบดี Hebert Hoover นายเดวิสมีชื่อเสียงในฐานะนักกีฬาเทนนิสและเป็นผู้เสนอความคิดให้มีถ้วยเทนนิสในระดับนานาชาติซึ่งรู้จักในชื่อ Davis Cup

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

พ.ศ. 2520 บ้านหลังนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก National Register of Historic Places, National Park Service, US Department of the Interiorให้เป็นอาคารอนุรักษ์ (National Register of Historic Places) ประเภท II คือมีคุณลักษณะสำคัญด้าน Cultural Heritage และ Visual Beauty ในชื่อบ้านว่า Codman-Davis House

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ลิฟต์ภายในบ้าน

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ห้องรับแขกหลักบริเวณชั้นสอง

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2536 รัฐบาลไทยซื้อบ้านหลังนี้เพื่อเป็นทำเนียบทูต ในยุคที่หม่อมหลวงพีระพงศ์ เกษมศรี ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต และมีการปรับปรุงก่อนจะใช้งานใน พ.ศ. 2537

บ้านหลังนี้มีห้องพัก 12 ห้อง เป็นห้องรับรองแขก 8 ห้อง

ท่านทูตวีรชัยพูดถึงบ้านหลังนี้ว่า “ถ้าเปรียบกับที่เมืองไทย ก็เหมือนบ้านหลังนี้อยู่บนถนนวิทยุ พยายามสร้างแบบยุโรป มีหน้าต่างแบบฝรั่งเศส ซึ่งไม่ค่อยเห็นในวอชิงตัน”

ห้องโปรดของท่านทูตคือ ห้องโถงที่ติดกับห้องกินข้าวชั้นสอง และสวนบริเวณระเบียงซึ่งอยู่ติดกับห้องโถงนั้น

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ห้องโถงที่อยู่ติดกับห้องกินข้าว ชั้นสอง

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

สวนบนระเบียงชั้นสอง

“ทำเนียบนี้ใช้งานบ่อยตามมาตรฐานทำเนียบทูต มีดินเนอร์ใหญ่อย่างน้อยเดือนละ 2 หน ไม่นับอาหารกลางวัน ผมหาความรู้จากทูตคนอื่นๆ ที่นี่ พบว่าคนที่นี่นิยมเลี้ยงอาหารกลางวัน มื้อเย็นไม่ค่อยมี ถ้ามีคือเป็นงานพิเศษจริงๆ และจะเลี้ยงเร็ว มาอยู่ที่นี่ต้องปรับตัวกับงานเลี้ยงกลางวันมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานราชการต่างๆ ของสหรัฐฯ มีสารพัดกระทรวงที่ดูแลงานเกี่ยวกับประเทศไทย แล้วก็เลี้ยงกลุ่มนักธุรกิจ ถ้าเปรียบกับบ้านเราก็คือ กลุ่มสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม

“ถ้าเป็นประเทศอื่นจะเลี้ยงคณะทูตด้วยกันบ่อย แต่ที่นี่ทุกคนยุ่ง ก็มีแต่ทูตอาเซียนที่พบปะสังสรรค์กันตลอด เหมือนเป็นสมาคมลับ” ท่านทูตตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ห้องรับแขกชั้นสอง

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

พระบรมฉายาลักษณ์และลายพระหัตถ์ของ ร.7

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

พระฉายาลักษณ์และลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

คืนชีพอาคารคาโลรามา

คุณภัทรียา วัฒนสิน นักการทูตตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ดูแลงานด้านกงสุลของสถานเอกอัครราชทูต เล่าเรื่องราวภาคต่อของอาคารบนถนนคาโลรามาให้ฟังว่า

“หลังจากซื้อตึกที่ทำการที่จอร์จทาวน์ ที่นี่ก็ปิดร้างไปพักใหญ่ รัฐบาลสหรัฐฯ มีระเบียบว่า ถ้าเรามีตึกที่ไม่ใช้งานต้องเสียภาษี พ.ศ. 2556 เราเลยตัดสินใจซ่อมแซมตึกนี้บางส่วนแล้วใช้เป็นสำนักงานของฝ่ายกงสุล”

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

บางส่วนที่ว่าก็คือ ชั้นล่างใช้เป็นแผนกกงสุล ชั้นสองใช้เป็นห้องทำงาน ส่วนชั้นสามและสี่ใช้เป็นที่เก็บเอกสาร

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

สำนักงานกงสุลชั้นล่าง

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ห้องเก็บของชั้นสี่

“ในอนาคตกำลังจะปรับปรุงครั้งใหญ่ ผู้ใหญ่จากกระทรวงกำลังจะมาตรวจสอบ เพราะตึกนี้มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ตอนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้ตึกนี้เอียงและมีรอยร้าว เรากำลังจัดสรรงบมาบูรณะครั้งใหญ่ให้เป็นคล้ายๆ Thai House แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย โครงสร้างภายนอกจะเหมือนเดิมเพราะเป็นอาคารอนุรักษ์ ชั้นสองเป็นชั้นที่เพดานสูงจะปรับให้เหมาะสำหรับการจัดงานเลี้ยง ชั้นล่างซึ่งเป็นแผนกวีซ่าก็จะปรับให้กว้างขึ้น มีห้องทำงานมากขึ้น รองรับคนมาใช้บริการได้มากขึ้น ส่วนชั้นสามและสี่จะปรับปรุงให้เป็นที่ทำงาน”

คุณภัทรียาทิ้งท้ายว่า กำลังจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาปรับปรุงเร็วๆ นี้

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

สถานเอกอัครราชทูตในปัจจุบัน

คุณช่อมณี ม่วงมงคล ผู้ช่วยฝ่ายสารนิเทศและวัฒนธรรม เล่าว่า อาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้เป็นที่รู้จักของชาววอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องจากองค์กร Cultural Tourism DC มีการจัดกิจกรรมชวนสถานทูตต่างๆ มารวมตัวกันเปิดสถานทูตให้คนเข้าไปเยี่ยมชม พร้อมกันในวันเสาร์แรกของเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นงานที่จัดต่อเนื่องมา 11 ปีแล้ว สถานเอกอัครราชทูตของเราเข้าร่วมตั้งแต่ปีที่ 2 แถมในปีนั้นยังให้ใช้สถานที่เป็นที่จัดงานแถลงข่าว

ในปีแรกที่เราเปิดบ้าน มีผู้มาเยือนถึงสามพันกว่าคนในวันเดียว ในสถานทูตมีกิจกรรมให้ความรู้ พาชมอาคาร นวดไทย ขายอาหารไทย โชว์มวยไทย แกะสลักผลไม้ มีดนตรีแจ๊สมาเล่น เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่ครบรสและเต็มที่ไม่แพ้สถานทูตไหน รีวิวดีขนาดนี้ งานนี้ในปีต่อมา คนจึงเข้ามามากกว่าเดิมอีก

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

ภาพ : thaiembdc.org

ปีที่ผ่านมา มีสถานทูตเข้าร่วมประมาณ 40 แห่ง แต่สถานทูตไทยก็ยังเป็นที่ที่คนปักธงว่า ต้องไม่พลาดเช่นเดิม

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตก็ยังมีงาน Thai Festival ภายในอาคาร คล้ายๆ กับงานวันเปิดบ้าน แล้วก็ยังมีงาน Thai Village ที่ไปเช่าพื้นที่ของโบสถ์จัดงาน ลักษณะงานใกล้เคียงกัน แต่อาหารเต็มที่กว่าเยอะ เพราะต้มผัดแกงทอดปรุงกันได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวเรื่องกลิ่น

อีกงานที่น่าสนใจมากก็คือ Thai Talent จัดเดือนละครั้ง เป็นการชวนศิลปินไทยที่ได้รับทุนฟุลไบรท์ด้านศิลปะ (ซึ่งมีไม่มากนัก) มาแสดงงานศิลปะ เช่น การฉายหนังผลงานของตัวเอง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก

คุณช่อมณีทิ้งท้ายว่า งานใหญ่อีกงานที่สถานทูตภูมิใจมาก และใช้เวลาเตรียมงานกันครึ่งค่อนปี ก็คือ งานเลี้ยงรับรองฉลอง 2 ศตวรรษแห่งมิตรภาพ และ 185 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ที่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ นั่นเอง

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกา, วอชิงตัน, วีรชัย พลาศรัย

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป