เห็นตรามงกุฎ 3 ดวงใต้มงกุฎแดงอันใหญ่หน้าอาคารสูงย่านนานา เรามั่นใจแล้วว่ามาถึง Sveriges Ambassad หรือสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

หลังจากพาไปเยือนทำเนียบเอกอัครราชทูตและสถานเอกอัครราชทูตเก่าแก่มานักต่อไป คอลัมน์ The Embassy ขอพามาชมสถานทูตร่วมสมัยสไตล์นอร์ดิกที่เพิ่งปรับปรุงใหม่มาเพียงปีเดียว พร้อมเข้าไปนั่งสนทนากับเอกอัครราชทูตสวีเดน ท่านทูตยูน ออสเตริม เกรินดาห์ล (Jon Åström Gröndahl) อย่างเต็มอิ่ม

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

กดลิฟต์ขึ้นไปชั้น 8 แล้วไปทำความรู้จักสถานทูตสีเขียวที่เคยได้รางวัล Green Embassy อันดับ 1 จากสถานทูตสวีเดนทั่วโลก และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเมืองไทย และประเทศสแกนดิเนเวียนี้ได้โดยพลัน

สัมพันธ์สวีดิช-ไทย

ไทยและสวีเดนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศได้ทำสนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (The Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) ในปี 1868 และในปี 1882 ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง โดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนคนแรก และปีถัดมาก็มีการตั้งสถานกงสุลในสวีเดน 

ต่อมาในปี 1888 สวีเดนก็เปิดสถานกงสุลในกรุงเทพฯ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จเยือนสวีเดนในปี 1897 ความสัมพันธ์ระหว่างแดนไกลเริ่มแนบชิดกันมากขึ้นผ่านนวัตกรรมในศตวรรษที่ 20 เช่น การติดตั้งระบบโทรศัพท์ของ Ericsson ในกรุงเทพฯ รถพยาบาลคันแรกของไทยขนส่งโดยบริษัทขนส่ง Scania 

ช่วงระหว่างปี 1931 – 1959 สวีเดนแต่งตั้งให้ทูตสวีเดนในญี่ปุ่นและเมืองจีนดูแลความสัมพันธ์กับเมืองไทยด้วย ในปี 1944 ไทยได้เปิดสถานอัครราชทูตประจำกรุงสตอกโฮล์มขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมา เมื่อปี 1954 ไทยได้ปิดสถานอัครราชทูตฯ และให้อัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดน ในที่สุดในปี 1959 ไทยและสวีเดนได้ยกฐานะความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต โดยท่านทูต Tord Hagen เป็นเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยคนแรก และไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อปี 1963 โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศฟินแลนด์และเอสโตเนียด้วย ต่อมาเมื่อปี 2002 ไทยได้เปิดสำนักงานการท่องเที่ยว (ททท.) ประจำกรุงสตอกโฮล์ม และได้เปิดสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน (BOI) ณ กรุงสตอกโฮล์ม ในปี 2009

ปัจจุบันคนไทยในสวีเดนมีจำนวนราว 3 หมื่นคน และไทยยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวสวีเดนอย่างสม่ำเสมอ

สถานทูตสไตล์นอร์ดิก

ในช่วง 1960s สถานทูตสวีเดนอยู่ที่สาทรใต้ 1970s ย้ายมาที่สีลม ก่อนย้ายมาอยู่อาคาร One Pacific Place ชั้น 20 ราว ๆ 30 ปี และปี 2021 ค่อยย้ายลงมาครอบครองชั้น 8 ทั้งชั้นในอาคารเดิม โดยรวบรวมหน่วยงานต่าง ๆ ที่เคยอยู่กระจัดกระจายในออฟฟิศ 3 แห่ง อยู่ในที่เดียว เช่น Migration, Consular Affairs, Development Cooperation, police liaison office และ military attaché ซึ่งลดทั้งการเดินทางและค่าใช้จ่ายของสถานทูต

ออฟฟิศของสถานทูตสวีเดนซอยพื้นที่อย่างชาญฉลาดและซับซ้อน ดูคล้ายเขาวงกตสำหรับผู้มาใหม่ครั้งแรก แต่ก็ออกแบบอย่างลงตัว ใช้สีอ่อน ๆ แบบ Nordic Light ไม่ใช้สีมืด ๆ ตามความนิยมของประเทศนอร์ดิก โทนสีได้แรงบันดาลใจจากหมู่เกาะ (archipelagos) สวีเดน ดูผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง ไม่แน่นอึดอัด และแสงธรรมชาติเข้าถึง ทำให้ผู้คนได้ทั้งปฏิสัมพันธ์กัน และมีมุมสงบส่วนตัวให้นั่งทำงานเงียบ ๆ ได้ 

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท
เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท
เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

“ดีไซน์แบบสวีดิชเน้นความงามที่เรียบง่าย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เน้นประโยชน์ใช้สอย และเราให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมายาวนาน นอกจากนี้กระบวนการยังต้องโปร่งใส เปิดเผยว่าวัสดุทำจากอะไร และมีกระบวนการผลิตอย่างไร” ท่านทูตยูน ออสเตริม เกรินดาห์ล อธิบายขณะพาชมสถานทูต

พื้นที่จำนวนมากเป็นออฟฟิศแบบ Open Space ห้องประชุมหลากหลายขนาดที่ตั้งชื่อตามเมืองต่าง ๆ ในสวีเดน และเมืองในอาเซียนที่สถานทูตมีเขตอาณาครอบคลุม เช่น ห้องหัวหิน ห้องเชียงใหม่ ห้องพนมเปญ นอกจากนี้ยังมีห้องเล็ก ๆ จำนวนมากให้ใคร ๆ เดินหยิบคอมพิวเตอร์เข้ามานั่งทำงานได้อย่างอิสระ มีห้องนอนเล็กสำหรับพักผ่อน เวิ้งนั่งทำงาน และมุมให้นั่งคุยพบปะเป็นจุด ๆ แต่ละมุมตกแต่งด้วยภาพวาดและงานศิลปะต่าง ๆ จากสวีเดน

“ห้องประชุมเราจะแปลงโฉมเป็นห้องขายของมือสองปีละ 2-3 ครั้ง เพื่อนร่วมงานจะได้ขายของใช้ที่เคยรัก แล้วของเหล่านี้ก็จะได้เจอบ้านใหม่และไม่ต้องโยนทิ้งไป และเราก็เชื่อมั่นเรื่องการดูแลคนทำงาน ห้องนอนมีไว้สำหรับสตาฟฟ์ที่รู้สึกเหนื่อยล้าระหว่างวัน ก็มานอนพักได้ ซึ่งผมได้ยินมาว่าเป็นเรื่องค่อนข้างแปลกในเมืองไทย สถานทูตอื่น ๆ อาจจะมีมุมกีฬาหรือสันทนาการสำหรับเจ้าหน้าที่ ส่วนเรามีงบประมาณสำหรับกิจกรรมกีฬาและสันทนาการให้แต่ละคนเลือกตามความสนใจ เราตั้งใจโปรโมทเรื่อง work-life balance ว่าเป็นเรื่องจับต้องได้” 

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

ห้องโปรดของท่านทูตยูน คือ ห้อง The Golden Triangle เป็นห้องนั่งรับประทานอาหารกลางวันและดื่มกาแฟ ที่ได้ชื่อว่าสามเหลี่ยมทองคำ เพราะห้องนี้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมและพื้นสีเหลือง ซึ่งครัวกลางเล็ก ๆ ในนี้มีระบบจัดการแยกขยะอย่างละเอียดจริงจัง 

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท
เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

“เราอยากลด Environmental footprint ให้ได้มากที่สุด คุณอาจจะเคยได้ยินมาแล้วว่าเรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อเป็นประเทศแรกในโลกที่ปลอดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2045” 

ชาวสถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก จนได้รับรางวัลที่ 1 ของ The Green Embassy Award ในปี 2020 เป็นป้ายรูปมงกุฎสีเขียวจากกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดน 

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

“เรามีชมรมสีเขียวที่ทำงานด้านความยั่งยืนกับสถานทูต เราคุยเรื่องนโยบาย การแก้ปัญหา และกิจกรรมที่ทำให้ที่ทำงานเราดีต่อโลกมากที่สุด เช่น การวัดจำนวนกระดาษที่ใช้ในออฟฟิศ การสนับสนุนให้เดินทางมาทำงานด้วยรถไฟฟ้า โดยมีบัตรแรบบิทให้ยืมใช้ฟรี การใช้สถานที่ที่เป็นมิตรต่อแวดล้อมจัดกิจกรรม นอกจากนี้เรายังเชิญคนหรือหน่วยงานที่น่าสนใจมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทางสถานทูต และจัดทัศนศึกษาให้ไปเยี่ยมชมและเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตยั่งยืน” ท่านทูตเอ่ยอย่างภาคภูมิใจถึงความทุ่มเทของพนักงานสถานทูต จนได้มงกุฎสีเขียวมาครอบครอง

สุดท้าย เรามาหยุดอยู่ที่ห้องทำงานขนาดกะทัดรัดของท่านทูต ห้องสีไม้เบิร์ชอ่อน ๆ ตกแต่งด้วยภาพวาด โคมไฟ พรม และของตกแต่งจากสวีเดน ที่เห็นว่าดูไม่โอ่โถงมากนัก เพราะท่านทูตคนก่อนหน้าตัดสินใจเลือกห้องนี้เป็นห้องทำงาน แล้วเปลี่ยนห้องใหญ่ข้าง ๆ เป็นห้องประชุมที่ใช้งานได้หลายคนแทน 

“ผมก็ไม่ได้ต้องการพื้นที่ใหญ่กว่านี้นะ ห้องนี้เพียงพอสำหรับรับรองคนราว ๆ 6-7 คน ถ้ามีแขกมากกว่านี้ก็ย้ายไปใช้ห้องประชุมแทน นี่เป็นห้องทำงานขนาด lagom ไม่ใหญ่เกินไป ไม่เล็กเกินไป”

สิ่งสะดุดตาคือหมอนลายช้าง ซึ่งเราเอ่ยปากตั้งแต่แรกเห็นว่าน่าจะเป็นของไทยแน่ ๆ แต่ท่านทูตยูนเฉลยว่ามาจากแบรนด์สวีเดนเก่าแก่อายุเกือบร้อยปีชื่อ Svenskt Tenn และลาย Elefantmönster นี้ก็เป็นลายไอคอนิกที่ออกแบบในยุคสามศูนย์ วางเคียงคู่ผ้าห่มฝ้ายทอมือนุ่ม ๆ สีขาวลายลูกแก้ว ซึ่งท่านทูตซื้อมาใช้ห่มเวลาแอร์ในห้องชักจะหนาวเกินไป โดยบอกว่าสวยมากและอุ่นมาก 

คุยกับทูต

ได้เวลาที่รอคอย ท่านทูตยูนนั่งลงบนโซฟา พร้อมสนทนาแบบเต็ม ๆ ในห้องทำงานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ถึงความเป็นสวีดิชที่คนไทยควรรู้จัก ตั้งแต่อารมณ์ขันแบบนอร์ดิก ชื่อแบรนด์ IKEA อ่านว่าอะไร คอนเซปต์ของ LAGOM ไปจนถึงสวัสดิการสุดเจ๋ง และแนวคิดการพัฒนาประเทศแบบสวีเดน

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

ห้องทำงานนี้น่ารักอบอุ่นมาก ท่านทูตได้ตกแต่งห้องนี้เพิ่มเติมด้วยรึเปล่า

ไม่ครับ ที่นี่เราไม่นิยมตกแต่งหรือเปลี่ยนแปลงห้องทำงานตามรสนิยมส่วนตัวมากจนเกินไป เพื่อเคารพไอเดียเบื้องต้นของการออกแบบของสถาปนิก ผมแค่ติดรูปภาพเล็กน้อย และวางธงของ 4 ประเทศที่ดูแล นอกจากไทยแล้วก็ยังมีลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ 

ผมได้ไปลาวและกัมพูชาแล้ว แต่ยังไม่ได้เมียนมาด้วยสถานการณ์ที่ยากลำบากตอนนี้ คนเมียนมาน่าเห็นใจมาก เรามีออฟฟิศที่ย่างกุ้งซึ่งมีพนักงาน 11 คน พวกเขาทำงานได้ยอดเยี่ยมในสถานการณ์ที่บีบคั้น มีคนสวีดิชอยู่ใน 3 ประเทศนี้ไม่มากนักครับ ลาวและเมียนมาร์ใกล้เคียงกัน ที่กัมพูชามากกว่านิดหน่อย ที่ไทยมีมากที่สุด

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

สถานทูตสวีเดนในประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไร

เรามีสถานทูตหลายรูปแบบในหลาย ๆ ประเทศ บางครั้งประเทศนอร์ดิกอยู่รวมตัวกัน อย่างที่เบอร์ลิน เรามี Nordic House ที่สถานทูตเราอยู่รวมกับฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ หรือย่างกุ้งก็คล้าย ๆ กัน แค่ไม่มีไอซ์แลนด์ บางครั้งเราก็ทำงานร่วมกันในออฟฟิศ บางทีทำเนียบทูตก็อยู่ร่วมกับสถานทูตเลยในอาคารหลังใหญ่ อย่างที่เมืองออสโล นอร์เวย์ แต่ส่วนใหญ่แล้วสถานทูตมักอยู่ในอาคารออฟฟิศ และทำเนียบอยู่แยกออกไปครับ 

ความสัมพันธ์ระหว่างสถานทูตนอร์ดิกค่อนข้างใกล้ชิดกันใช่ไหม เห็นว่าเทศกาลหนังนอร์ดิกก็ฉายที่ทำเนียบทูตเดนมาร์ก 

ใช่ครับ นั่นเป็นหนึ่งในตัวอย่างการทำงานร่วมกัน เราพยายามทำงานร่วมกันเสมอ ผมมักจะเดินทางกับทูตนอร์ดิกคนอื่น ๆ และเชิญพวกเขามาร่วมงานวาระต่าง ๆ เรามีโครงการที่ร่วมกันทำกับรัฐบาลไทย การทำงานร่วมกันสำคัญมาก ๆ สำหรับประเทศนอร์ดิก ส่วนหนึ่งเพราะเราต่างเป็นประเทศเล็ก การอยู่ร่วมกันแบบนี้ในทั่วโลกทำให้เราสู้ไปด้วยกันได้ 

ไม่ค่อยแข่งขันกัน

ไม่เลย ถึงเราจะอยู่คนละประเทศ และบริษัทของพวกเราจะแข่งขันกันเองในตลาดบ้าง แต่พวกเราอยากเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน เรามีระบบการปกครองที่คล้ายกัน และเมื่อนานมาแล้วประเทศนอร์ดิกก็ตกลงกันว่าเราจะเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะใช้ชีวิต ทำงาน เรียนหนังสือ ก็เลือกได้หมดว่าจะอยู่ที่ไหน 

นักการเมืองของเราทั่วประเทศเชื่อว่าเรื่องนี้สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แล้วภาษาของพวกเราก็คล้าย ๆ กันด้วย ยกเว้นฟินนิชที่ต่างมากน้อย แต่ภาษาสวีดิชเป็นหนึ่งในภาษาทางการของฟินแลนด์ เราเลยเข้าใจกันได้ง่าย และในแง่การพัฒนาการเมือง เราก็มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาหลายปี 

สถานทูตสวีเดนเป็นที่รู้จักจากเพจ Facebook ที่เป็นมิตรและเนื้อหาสนุกมาก ๆ ทีมงานของท่านทูตทำได้อย่างไร และทำไมสถานทูตถึงต้องมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ

ผมโชคดีมากที่ได้ทำงานกับกลุ่มคนที่ทำงานได้ยอดเยี่ยมมาก ๆ ครับ อารมณ์ขันเป็นจุดเด่นของเพจเฟซบุ๊กของเรา ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องยอมให้มีการเล่นเกิดขึ้นได้บ้าง หลายคนคิดว่าสถานทูตและทูตต้องเป็นคนจริงจังมาก ๆ หลายอย่างที่เราทำก็เป็นเรื่องจริงจังมากนะครับ แต่ขณะเดียวกันเราก็เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ นี่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของเรา และผมก็คิดว่ามันแสดงออกว่าแท้จริงเราเป็นยังไง 

การสวมบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพ แต่ผมคิดว่าเราควรได้แสดงออกตัวตนที่นอกเหนือจากงานบ้าง บางอย่างอาจจะคาดไม่ถึงนิดหน่อย แต่เราพยายามทำให้เนื้อหาคละกัน มีทั้งเรื่องจริงจัง ให้ข้อมูลหนัก ๆ และเราก็อยากสื่อสารกับคนไทย พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในขณะนั้น และผลตอบรับก็ดี คนไทยก็ชอบด้วย 

หมายความว่าคนสวีเดนมีอารมณ์ขันมากรึเปล่า

(หัวเราะ) คนสวีดิชมีชื่อเสียงว่าเราซีเรียสมาก แต่เราก็ไม่ต่างจากมนุษย์ชาติอื่นหรอกครับ คนเรามีความคล้ายกันมากกว่าความต่าง เรามีปูมหลังคนละแบบ วัฒนธรรมที่แตกต่าง แต่เราต่างเป็นสัตว์สังคมเหมือนกัน ในยุคสมัยเช่นนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ ที่เราต้องปล่อยให้เราได้สนุก ได้หัวเราะบ้าง มีเรื่องไม่ดีหลายอย่างในโลก ทั้งสงครามในที่ต่าง ๆ มีความขัดแย้ง มีผู้อพยพ หลาย ๆ สถานการณ์ยากลำบากมากมาย ซึ่งเราควรตระหนักถึงและจริงจัง นั่นยิ่งทำให้เราต้องการเสียงหัวเราะและความสนุกในชีวิต

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

ปีหน้าจะครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สวีดิช 155 ปี ท่านทูตอยากเห็นอะไรต่อไปในความสัมพันธ์ที่ยาวนานนี้

ผมอยากเห็นความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีเยี่ยมอีกอย่างน้อย ๆ 155 ปี เรามีประวัติศาสตร์อันยาวนานร่วมกัน มีความสัมพันธ์มากมายที่ได้เริ่มต้นแล้วและน่าพัฒนาต่อ อย่างความสัมพันธ์ระหว่างกิจการไทยและสวีเดน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

ในบรรดาโครงการของสถานทูต โครงการไหนที่คุณตื่นเต้น ภูมิใจ และเล่าให้เราฟังได้บ้าง

มีหลายอย่างเลยครับที่สถานทูตนี้ทำได้ดี ถ้าต้องเลือกสักหนึ่งโครงการระหว่างที่ผมอยู่ที่นี่มาสองปีครึ่ง ราวเจ็ดเดือนที่แล้วเราได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทไทย-สวีดิชเรื่องสิทธิ์ Paternity Leave (การลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้เป็นพ่อ) อย่างน้อย 1 เดือนเต็ม โดยได้เงินเดือนเต็ม ผลตอบรับเป็นบวกมาก ๆ เป็นเรื่องน่าสนับสนุนว่าบริษัทเหล่านี้จะจัดการกับระบบนี้อย่างไร ผมหวังว่าเรื่องนี้สวีเดนจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้เมืองไทยได้บ้าง 

ที่สวีเดน ทุกคนได้รับสิทธิ์ Paternity Leave ใช่ไหม

ใช่ครับ เป็นสิทธิ์ Parental Leave ที่ผู้ปกครองทั้งคู่เลือกใช้สิทธิ์รวมกันได้ถึง 480 วัน โดยได้รับเงินเดือนเต็ม และใช้วันลาได้อย่างยืดหยุ่นจนกระทั่งลูกอายุ 8 ขวบ ตอนลูกสาวผมเกิด ผมก็ลาดูแลลูกหกเดือน และภรรยาของผมก็ลาเก้าเดือน สวีเดนเป็นประเทศแรกในโลกที่ริเริ่มให้มีการลาเพื่อเลี้ยงดูลูกโดยยังได้รับค่าจ้างทั้งพ่อและแม่มาตั้งแต่ปี 1974 พ่อของผมเป็นหนึ่งในพ่อชาวสวีดิชกลุ่มแรก ๆ ที่ใช้สิทธิ์นี้ในปี 1975 เขาใช้เวลาหกเดือนกับผม ซึ่งตอนนั้นมีผู้ชายใช้สิทธิ์นี้น้อยมาก ช่วงแรก ๆ ผู้ชายหลายคนลังเล ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ผมก็เห็นว่ามันค่อย ๆ เปลี่ยนไปนะ 

ตอนนี้ผมไม่มีผลสถิติที่แน่ชัด แต่ราว ๆ สามสิบเปอร์เซ็นต์ของชายสวีดิชใช้สิทธิ์นี้ ซึ่งแปลว่ายังพัฒนาได้อีก อาจจะไม่ถึง 50/50 แต่ผู้ชายมากขึ้นเรื่อย ๆ ตระหนักได้ว่านี่เป็นสิ่งที่ดีต่อพวกเขา ไม่ใช่แค่สำหรับสังคมนะครับ ผมเชื่อว่านี่คือ win-win-win situation การได้ใช้เวลากับลูก ๆ สร้างสายใยความผูกพันระหว่างผู้ปกครองกับลูก เป็นสิ่งเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนตอนลูก ๆ โตแล้ว มันสายไปแล้ว และผมคิดว่ามันทำให้รู้สึกว่าเราทันสมัยด้วย 

สิทธิ์ Parental Leave นี้ใช้ได้กับคู่แต่งงานเพศเดียวกันด้วย การช่วยเหลือคู่ครองของเราเป็นเรื่องที่ดี และช่วยให้สังคมเท่าเทียมกันมากขึ้น ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ต่อสังคม

คุณสมชาติ สุชีเพ็ชร พนักงานขับรถยนต์ซึ่งทำงานกับสถานทูตมาเกือบ 30 ปี ใช้สิทธิ์ลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้เป็นพ่อเป็นเวลา 6 เดือน โดยยังได้รับค่าจ้าง

แล้วสถานทูตมีโครงการอื่นๆ ที่พอจะเล่าให้เราฟังได้ไหม

มีโครงการอีกเยอะแยะเลย อย่าง Webinar เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งเราจริงจังกับเรื่องนี้มาก ก่อนเราเจอกันวันนี้ ผมเพิ่งทานข้าวกลางวันกับเพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศส เราคุยกับเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่สำหรับเมืองไทย และประเทศอื่น ๆ ด้วย คนจำนวนมากเกินไปได้รับผลกระทบจากอันตรายบนถนน เราหวังว่าจะช่วยเหลือเมืองไทย และรณรงค์ลดอุบัติเหตุได้

นอกจากนี้เรายังรณรงค์เรื่องยุติการลงโทษเด็ก ๆ ด้วยการทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาวนานและน่าภูมิใจนะครับสำหรับสวีเดน ตอนผมยังเด็ก ไม่มีการห้ามตีลูกหลาน แต่ตอนนี้การที่เด็กถูกทำร้ายร่างกายเป็นกรณีหายากมาก ๆ ผมเรียนจบทางกฎหมายมา ผมเชื่อมั่นในการใช้กฎหมายและข้อบังคับ ถ้าบัญญัติข้อห้ามแล้ว พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไปด้วย แล้วผลลัพธ์คือบรรทัดฐานสังคมก็จะเปลี่ยนด้วยเหมือนกัน นอกจากความจริงที่ว่าการไม่ลงโทษทางกายคือสิ่งที่ถูกต้อง และการตีเด็กไม่ควรได้รับการยอมรับในสังคมไหน ๆ 

ตอนได้รับตำแหน่งที่เมืองไทยในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงโควิดพอดี คุณจินตนาการถึงเมืองไทยไว้อย่างไร แล้วสิ่งที่ได้เจอตรงกับสิ่งที่คิดไว้ไหม 

ตอบค่อนข้างยากครับ ผมมีความสุขมากและดีใจที่ได้โอกาสทำงานในประเทศไทยที่สวยงาม ผมไม่เคยมาอยู่เมืองไทย นอกจากมาทริปทำงานช่วงสั้น ๆ เลยไม่แน่ใจว่าจะได้พบเจออะไร และช่วงโควิดก็เป็นปีที่แปลกประหลาดสำหรับทุกคน ผมเลยเดินทางไม่ได้มากอย่างที่ต้องการ ตอนนี้ก็ดีขึ้นนิดหน่อย ผมได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติที่สวยงามและผู้คนที่เป็นมิตร และทั้งหมดนี้ก็เป็นความจริงครับ   

สิ่งที่ผมเห็นว่าควรสังเกตและระมัดระวังคือเรื่องศาสนา ศาสนาพุธมีบทบาทในสังคมไทยมาก ซึ่งผมเคารพเรื่องนี้มาก แต่ตอนแรก ๆ ผมไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้มากนัก หลายคนอาจไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้มากพอ เพราะสวีเดนเป็น Secular State (รัฐโลกวิสัย/รัฐฆราวาส) ไม่ใช่ประเทศที่เคร่งศาสนาเลย ชาวสวีดิชที่เคร่งศาสนาก็มีนะครับ แต่ศาสนาไม่ได้มีบทบาทเข้มแข็งในสังคมอย่างที่นี่

เยี่ยมสถานทูตสวีเดน ออฟฟิศสไตล์สแกนดิเนเวียนใหม่เอี่ยมบนถนนสุขุมวิท

อะไรคือสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากเมืองไทย

ผมประทับใจที่คนไทยดูแลกันและกัน ทั้งคนในครอบครัว เพื่อน และคนนอกครอบครัว อย่างในช่วงโควิด คนไทยก็ดูแลกันเองอย่างเหนียวแน่น ในช่วงที่เศรษฐกิจยากลำบาก นี่เป็นสิ่งที่คนสวีดิชเรียนรู้จากคนไทยได้

แล้วที่สวีเดนไม่เป็นแบบนั้นหรือ

ก็ใช่ครับ แต่เราพึ่งพารัฐให้ดูแลพวกเรามากกว่าพึ่งพากันเอง สวีเดนเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง ซึ่งก็ดีมาก แต่เพราะทุกคนพึ่งพารัฐทั้งหมด มีความมั่นคงในชีวิตมาก ชีวิตที่สวีเดนคุณล้มแล้วตั้งตัวใหม่ได้ ไม่ต้องพึ่งไอเดียธุรกิจแรกสุดเสมอไป มีเวลา มีความช่วยเหลือเพียงพอ แต่บางครั้งเราก็ลืมด้านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนไปบ้าง บางครั้งก็สูญเสียบางอย่าง เช่น สายสัมพันธ์ในครอบครัว หรือความผูกพันระหว่างบุคคลกับสังคม 

คนไทยหลายคนนิยมไปเรียนหรือทำงานที่สวีเดน ตอนนี้น้องสาวของฉันก็เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยลุนด์ ทำไมสวีเดนถึงเป็นจุดหมายยอดนิยมด้านการศึกษาของคนทั่วโลก

ผมก็เป็นศิษย์เก่าลุนด์เหมือนกัน สวีเดนน่าจะเป็นจุดหมายยอดนิยมในการเรียนหรือทำงานเพราะสังคมมีประสิทธิภาพแม้จะมีความท้าทาย ผมหวังว่าคนที่ไปสวีเดนทุกคนจะรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับ ได้เจอระบบการศึกษาที่ดี ได้พบว่ามหาวิทยาลัยของเราดีเพียงพอ 

การอยู่ที่สวีเดนไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปนะครับ ภาษาเรายาก แม้ว่าคนสวีดิชจะพูดภาษาอังกฤษได้ดี และบางครั้งเราก็จับกลุ่มกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ค่อยเปิดกว้างกับคนนอก ผมหวังว่านักศึกษาไทยที่มหาวิทยาลัยในสวีเดนจะได้พบเพื่อนใหม่ ๆ และได้พบกับความเป็นมิตรของคนสวีดิชครับ 

สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย สถานทูตรักษ์โลกที่เคยได้รางวัล Green Embassy อันดับ 1 จากสถานทูตสวีเดนทั่วโลก

อะไรทำให้การศึกษาที่สวีเดนโดดเด่น

ผมคิดว่าคือ Critical Thinking เราสนับสนุนให้นักเรียนกล้าออกความเห็น โต้วาที ถกเถียงกันเองและกับครูอาจารย์ บางทีก็มากไปหน่อย (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่ความรู้ตามประมวลรายวิชา แต่คือการเรียนรู้และทำงานร่วมกันระหว่างครูและศิษย์ในห้องเรียน การสนับสนุนให้เยาวชนมี Critical Thinking เป็นสิ่งที่สร้างนวัตกรรม

IKEA อ่านว่า อิเกีย หรือ ไอเกีย กันแน่

ไอเกีย แต่จริง ๆ ก็อ่านได้ทั้งสองแบบครับ

นอกจากไอเกีย ซึ่งคนไทยชื่นชอบมาก มีธุรกิจหรือแบรนด์สวีเดนไหนที่คุณอยากให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้น

บริษัทสวีเดนใหญ่ ๆ ที่เก่าแก่มีมาก นี่ผมต้องระวังมากเลยนะเนี่ยในการพูดชื่อแบรนด์ (หัวเราะ) และเราก็มีบริษัทใหม่ ๆ มากมายเช่นกันที่ทำงานด้านเทคโนโลยี อย่าง Storytel เป็นหนังสือเสียง Spotify ก็เป็นของสวีเดน บริษัทที่มีนวัตกรรมและทันสมัยเหล่านี้เล่าเรื่องราวของสังคมสวีเดนที่ร่วมสมัยและสร้างสรรค์ ซึ่งผมอยากให้คนได้เห็นมากขึ้นในอนาคต 

ส่วนเรื่องเฟอร์นิเจอร์ จริง ๆ มีแบรนด์และช่างเฟอร์นิเจอร์อีกมากนอกเหนือจากไอเกีย แต่ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดเดียวกับแหล่งกำเนิด Småland ทางตอนใต้ของสวีเดน ซึ่งแถบนั้นเรียกได้ว่าอาณาจักรแห่งเฟอร์นิเจอร์ 

(ท่านทูตยูนไม่ได้เอ่ยชื่อแบรนด์สวีเดนมากนัก แต่ในคลิปสั้น ๆ ที่ท่านทูตรับบทแสดงตั้งแต่ตื่นนอน ไปทำงาน จนกลับเข้านอนอีกครั้ง เล่าหมดเลยว่าของใช้ในบ้านและนวัตกรรมที่เราใช้กันมีอะไรบ้างมาจากสวีเดน ตั้งแต่เสื้อผ้า น้ำหอม ไปจนถึงล็อกประตูบ้าน เครื่องดูดฝุ่น รถยนต์ และเกม Minecraft) 

คุณชอบที่ไหนในเมืองไทยเป็นพิเศษ

ผมไปมาหลายที่แล้ว ล่าสุดคือไปเกาะสมุย ดีมาก ๆ ครับ แต่ที่ ๆ อยากกลับไปอีกคือเชียงใหม่ ผมไปแค่ครั้งเดียวแต่โชคร้ายที่ช่วงที่ไปมีมลพิษทางอากาศ ก็เลยมองไม่เห็นยอดดอย ผมอยากกลับไปเพราะรู้ว่ามันสวยมาก ๆ บรรยากาศในเมืองก็ดีสุด ๆ เห็นร้านอาหารและร้านรวงต่าง ๆ แล้วชอบ อีกที่ ๆ อยากไปคือสุราษฏร์ธานี เพราะผมได้ยินมาว่าบริเวณแถวนั้นสวยงาม

แล้วย่านรอบ ๆ ทำเนียบทูตเป็นอย่างไรบ้าง

ผมอยู่ที่นางลิ้นจี่ เป็นย่านที่ดีและเป็นมิตร แต่หวังว่าจะมีขนส่งสาธารณะมากกว่านี้ บางครั้งการเดินทางไปและกลับก็ยาวนานเหลือเกิน

เวลาเดินทางนานที่สุดจากทำเนียบมาสถานทูต ใช้เวลาเท่าไหร่

ผมเคยติดอยู่สองชั่วโมง แต่ปกติก็ 30-40 นาทีครับ เพื่อนร่วมงานผมหลายคนเดินทางไกลกว่านี้มาก ดังนั้นผมก็ไม่ควรบ่นมากเกินไป แต่คงจะดีมากถ้าแถวนั้นมี MRT หรือ BTS 

คนสวีเดนชอบพบปะสังสรรค์ ใช้เวลาอยู่ที่จุดไหนของกรุงเทพฯ 

ผมเจอหลายคนที่สุขุมวิท แต่ไม่รู้ว่ามีจุดไหนที่ชอบไปกันเป็นพิเศษ ผมรู้จักชุมชนนอกกรุงเทพฯ มากกว่า อย่างเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต หัวหิน พัทยา เรามีกงสุลอยู่ที่นั่น เวลาไปต่างจังหวัด ผมจะไปหากลุ่มคนเหล่านี้ เรามี Fika (Coffee Break) จิบกาแฟและกินเค้กกัน ตามธรรมเนียมสวีเดนครับ ผมเพิ่งไปหัวหินมา เจอคนสวีดิชเยอะมากมายไปเที่ยวนะ

ก่อนช่วงโควิด มีคนสวีดิชอยู่อาศัยในเมืองไทยราว ๆ 12000 – 15000 คน แต่หลังจากโควิด อาจจะ 5000-7000 คน ที่อาศัยอยู่ถาวร ยากจะเก็บข้อมูลเพราะบางคนยังลงทะเบียนบ้านว่าอยู่สวีเดน แต่มาอยู่เมืองไทยปีละ 3-5 เดือนตามฤดูกาล ถือว่าเยอะอยู่ แต่ประเทศอื่นในยุโรปเยอะกว่านี้อีกครับ

คุณช่วยอธิบายคำว่า Lagom ได้ไหมว่าแปลว่าอะไร

(หัวเราะ) เป็นคำที่สวีดิชมาก ๆ แปลว่า ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป เป็นจำนวนที่อยู่ตรงกลาง ลากอมเป็นคำที่แปลกมาครับ แต่ความหมายดีนะ อย่างน้ำในแก้วนี้ (ชี้ระดับน้ำที่มีอยู่ค่อนแก้ว) นี่คือลากอม ถ้ามากกว่านี้คือมากไป น้อยกว่านี้ก็น้อยเกินไป ปริมาณน้ำที่เหมาะสมกับแก้วคือลากอม เราใช้คำนี้บ่อย ๆ ในการอธิบายจำนวน ปริมาณ ความยาว หรือความทุ่มเทที่ถูกต้อง สมบูรณ์แบบ ใช้ในหลายบริบทมาก

สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย สถานทูตรักษ์โลกที่เคยได้รางวัล Green Embassy อันดับ 1 จากสถานทูตสวีเดนทั่วโลก

ทำไมแนวคิดนี้ถึงอยู่ในชีวิตคนสวีเดน

(หัวเราะ) ผมก็ไม่รู้ นั่นสิ แต่นี่เป็นสิ่งที่เราเรียนกันตั้งแต่เด็ก ๆ คำว่าลากอมของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน สิ่งที่มากไปสำหรับผม อาจจะไม่ได้มากไปสำหรับคุณ ลากอมไม่ใช่สิ่งที่ระบุจำนวนชี้ชัดได้ แต่เราพอจะตกลงกันได้ว่า ประมาณนี้แหละ นี่คือลากอมที่ทุกคนยอมรับ นิยามก็ยาก อธิบายยาก แต่คนสวีดิชทุกคนเข้าใจเรื่องนี้อย่างดี 

แปลว่าคนสวีดิชตามหา ‘ลากอม’ ในทุกสิ่งรึเปล่า

ไม่นะ (หยุดคิด) อืม แต่คนชอบบอกว่าคนสวีดิชไม่ชอบความเสี่ยง พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง บางทีอาจจะเกี่ยวข้องกันก็ได้ครับ เราแสวงหาจุดลงตัวหรือลากอม ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน

ฟังแล้วนึกถึงทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ของศาสนาพุทธเหมือนกัน

นั่นเป็นคำนิยามลากอมที่ดีที่เดียว น่าสนใจมากครับ

คำศัพท์ภาษาไทยคำไหนที่คุณชอบ และศัพท์สวีเดนคำไหนที่คุณอยากให้คนไทยรู้จัก

(ถอดแว่น) คำที่ผมชอบคือ ‘ค่ะ’ ผมได้ยินตลอดเวลา ดูมีประโยชน์มาก ๆ ในหลายสถานการณ์

คำสวีเดนที่อยากให้คนไทยรู้จักค่อนข้างยากนิดหน่อยครับ คือคำว่า Kollektivavtal (Collective Agreement) เราพยายามโปรโมทเรื่องนี้ เวลาสหภาพร้องเรียนอะไร ไม่ว่ารัฐบาลเป็นใคร ก็ต้องหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ เป็นศัพท์กฎหมายที่ใช้เป็นหลักในการทำงาน เมื่อพนักงานและบริษัทเจรจาต่อรองกันถึงสิทธิประโยชน์ อย่างรายได้ขั้นต่ำ ประกัน ฯลฯ เป็นเรื่องที่คนสวีดิชให้ความสำคัญมาก เดี๋ยวผมจดคำนี้ให้ เพราะถ้าคุณไปกูเกิลเอง รับรองว่าเจอคำศัพท์น่าเบื่ออีกเยอะ แต่ผมชอบคำนี้ 

ช่วงเวลาไหนในเมืองไทยที่ประทับใจคุณมากที่สุด

ตอนที่ไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากในเดือนเมษายนปีที่แล้ว แล้วผมก็ได้เจอคนไทยมากมายที่น่ารัก ยากมากที่จะเลือกแค่เหตุการณ์เดียวครับ พูดจริง ๆ ไม่ได้ยอนะ ประเทศไทยเป็นมิตร คนนิสัยดีมาก ๆ 

ช่วงนี้เป็นเทศกาลคริสต์มาส พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่าคริสต์มาสที่สวีเดนเป็นอย่างไร

เป็นธรรมเนียมเฉลิมฉลองที่แข็งแรงเหมือนในประเทศอื่น ๆ ครับ ผมเห็นที่เมืองไทยก็ฉลองยิ่งใหญ่เหมือนกัน ที่สวีเดนเป็นวันหยุดที่ครอบครัวมารวมตัวกัน เราอาจจะอยู่กันต่างเมือง ต่างประเทศ แต่ก็กลับมาหาครอบครัว ปีนี้ผมก็กลับบ้าน

คริสต์มาสไม่ค่อยผูกกับศาสนามากเหมือนสมัยก่อน หลายคนอาจจะไม่ได้คิดถึงพระเยซูคริสต์ แต่มันเป็นช่วงเวลาแห่งครอบครัว ซึ่งเราไม่ค่อยได้มีช่วงเวลาแบบนี้มากนัก เพราะคนสวีดิชเราต่างอยู่แยกกันอย่างสันโดษ ยกเว้นช่วงวันหยุดคริสต์มาส ช่วงเวลานี้เลยสำคัญมากครับ ส่วนธรรมเนียมก็เหมือนทั่วไป มีการตกแต่งต้นคริสต์มาส การแจกของขวัญให้เด็ก ๆ เฉลิมฉลองและกินอาหารร่วมกันหลายวัน กินมีตบอล แซลมอน แฮร์ริ่ง ต้องกินอาหารเยอะมาก ๆ เลยครับ ผมจะน้ำหนักขึ้นมากแน่นอน 

จะคิดถึงอากาศร้อนเมืองไทยไหม

แน่นอนครับ ผมชอบอากาศอุ่น แต่ที่สวีเดนหนาวมาก แม่ผมอยู่เมืองใกล้ ๆ ลุนด์ ส่งภาพถ่ายมา หิมะสูงมาก ปีนี้หนาวกว่าปีอื่น ๆ เพราะวิกฤติสิ่งแวดล้อม ช่วงเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม เป็นหน้าท่องเที่ยวที่คนสวีเดนจะหนีหนาวมาเที่ยวเมืองไทย ซึ่งผมเข้าใจดีเลยล่ะ 

สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย สถานทูตรักษ์โลกที่เคยได้รางวัล Green Embassy อันดับ 1 จากสถานทูตสวีเดนทั่วโลก

ข้อมูลบางส่วนจาก 

https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2115e39c306000a1cb

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล