อินทรีดำปากแดงสยายปีกดุดันอยู่ในกรอบทอง หน้าประตูทางเข้าสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย บนกำแพงยาวเลียบถนนสาทร เจ้านก Bundesadler ตราแผ่นดินเก่าแก่ที่สุดตราหนึ่งของยุโรป จับจ้องชีวิตชีวาของถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ มาตลอด แต่น้อยคนจะได้เห็นเบื้องหลังที่ปีกคู่นั้นปกป้อง

ในวาระครบรอบความสัมพันธ์ 160 ปีระหว่างสองชาติ ประตูสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ เปิดออกให้เราเยี่ยมชม 

แต่ก่อนอื่น มาทำความรู้จักประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์โดยย่อระหว่างไทยและเยอรมนีกันเสียหน่อย

สัมพันธ์ไทย-เยอรมัน

พ่อค้าวาณิชชาวเยอรมันมีความสัมพันธ์ทางการค้าทางเรือกับสยามมาเนิ่นนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ชาวเยอรมันบางคนมาบุกเบิกอยุธยาในศตวรรษที่ 18 ทำงานให้บริษัทอื่น ๆ เช่น ดัตช์อีสต์อินเดีย และบางคนได้เขียนบันทึกถึงอยุธยาเอาไว้ 

เวลาล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 19 หลังการเกิดขึ้นของสนธิสัญญาเบาว์ริง ที่ทำให้การพาณิชย์ระดับนานาชาติเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ชาติยุโรปต่าง ๆ หันมาสนใจสยามอย่างยิ่งยวด จนนำไปสู่การทำสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างสยามและเมืองวาณิชฮานเซ่อ อันประกอบไปด้วยฮัมบวร์ก เบรเมน และลือเบค ในปี 1858 ซึ่งเล็งเห็นว่าบางกอกคือเมืองท่าส่งสินค้าจากเอเชียมาสู่สามเมืองใหญ่ การซื้อขายสินค้าทางเรือนี้ประสบผลสำเร็จดี จนทำให้ราชอาณาจักรปรัสเซีย ณ เวลานั้น ตัดสินใจเดินทางลงทุนในเอเชียตะวันออกอย่างจริงจัง 

เคานท์ฟรีดริช ซู ออยเลนบวร์ก (Count Friedrich zu Eulenburg) หัวหน้าคณะผู้แทนการค้าแห่งปรัสเซียเดินทางสู่หลายเมืองใหญ่ในเอเชีย และได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีการค้าและการเดินเรือ หรือ ‘สนธิสัญญาออยเลนบวร์ก’ (Eulenburg Treaty) ในปี 1862 ที่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยคณะราชทูตในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถือเป็นการวางรากฐานความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดำรงมาจนปัจจุบัน

ในยุคไรช์เยอรมันหรือจักรวรรดิเยอรมัน เกิดการแต่งตั้งกงสุลระหว่างทั้งสองชาติ มีการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างขุนนางระดับสูงทั้งสองฝ่าย จุดเปลี่ยนสำคัญคือการเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี 1897 ไกเซอร์หรือจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะอย่างอบอุ่น เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี 1907 พระองค์ก็เสด็จกลับไปเยือนอีกหลายเมืองในเยอรมนี 

ในรัชสมัยของสมเด็จพระปิยมหาราชผู้ปฏิรูปสยามให้ทันสมัย มีการจ้างชาวต่างชาติหลายร้อยคนในราชสำนัก ขุนนางชาวเยอรมัน 34 คนทำงานให้ราชสำนักสยามในปี 1904 โดยส่วนใหญ่ดูแลการรถไฟ โทรเลข และไปรษณีย์ 

วิศวกรเยอรมันอย่าง Karl Bethge, Hermann Gehrts และ Luis Weiler วางรากฐานรถไฟไทยทั่วประเทศถึงยุคปัจจุบัน การไปรษณีย์ไรช์หรือ Reichspostministerium ช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบโทรเลขและไปรษณีย์ จนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เมืองไทยมีโทรเลขไร้สายและวิทยุโทรเลขใช้ แพทย์ประจำพระองค์หลายคนของรัชกาลที่ 5 ก็เป็นชาวเยอรมัน และสถาปนิกใหญ่ Karl Döhring ออกแบบสถานีรถไฟบางกอกน้อย สถานีรถไฟพิษณุโลก และพระราชวังบ้านปืน

ชุมชนชาวเยอรมันเฟื่องฟูจนมีคลับชาวเยอรมันในกรุงเทพฯ แต่แล้วเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 มาถึง และสยามประกาศตนเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเยอรมนีหยุดชะงักลงฉับพลันในปี 1917 สนธิสัญญาออยเลนบวร์กกลายเป็นโมฆะ จนกระทั่งสงครามโลกยุติ ทั้งสองชาติจึงได้สานสัมพันธไมตรีกันอีกครั้ง และคงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเรื่อยมาในแง่ต่าง ๆ เช่น การทหาร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม จนถึงปัจจุบัน

บ้านเยอรมัน

“ไม่ใช่บ้านเก่าแบบสถานทูตเก่าแก่ แต่ที่นี่ก็มีประวัติศาสตร์ในแบบของตัวเองนะครับ”

เข้าสู่ช่วงสำรวจสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ อย่างทั่วถ้วน เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำเป็นประเทศไทย เกออร์ก ชมิดท์ (Georg Schmidt) เอ่ยขณะพาเดินชมประวัติศาสตร์ของพื้นที่สีเขียวใจกลางถนนสาทรด้วยตนเอง และยังพูดคุยถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างสนุก เป็นกันเอง และตรงไปตรงมา แบบฉบับเยอรมัน

พื้นที่สถานเอกอัครราชทูตขนาดประมาณ 10,000 ตารางเมตร รวมสวนทั้งหมด สันนิษฐานว่าเป็นบ้านพักของผู้บริหารบริษัทบริติชบอร์เนียว ไม่ทราบสถาปนิกผู้ออกแบบ ตามหลักฐานในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีบ้านของบริษัทนี้บนถนนสาทร แต่ถูกระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการสร้างบ้านขึ้นมาบนฐานรากเดิมหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งยังไม่ปรากฏบ้านหลังนี้ในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) จึงสรุปได้ว่าตัวบ้านสร้างหลังจากนั้น สันนิษฐานว่าในช่วง 1940

เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร

แรกเริ่มเดิมทีในสมัยรัชกาลที่ 4 สถานกงสุลเยอรมนีอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสและสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส โดยพื้นที่เดิมของเยอรมนีอยู่แถวสะพานพระพุทธยอดฟ้า จากนั้นก็โยกย้ายหลายครั้งตามกาลเวลาและความสัมพันธ์ของสองประเทศ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ย้ายมาที่ถนนสาทรเหนือ (แยกสุรศักดิ์) ต่อมาเมื่อเกิดการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เอกอัครราชทูตเยอรมันมาถึงแดนสยามในปี 1955 และตั้งสถานเอกอัครราชทูตที่ถนนเพชรบุรี จนในที่สุดช่วงปลาย 1960 ซึ่งถนนสาทรยังคงเงียบสงบ สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีตัดสินใจเลือกซื้อพื้นที่กว้างใหญ่นี้ และดำเนินการที่นี่จนถึงปัจจุบัน

“ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดและโชคดีมาก ๆ แล้วพวกเราก็ภูมิใจที่ได้รักษาพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของสาทรเอาไว้ สถานทูตและทำเนียบทูตเป็นสัญลักษณ์ของประเทศซึ่งมีคุณค่าแตกต่างกันไป อย่างที่วอชิงตัน ทำเนียบทูตออกแบบโดยสถาปนิกเยอรมัน ส่วนสถานทูตเยอรมนีที่ปารีสคือ Hôtel Beauharnais ที่สร้างในปี 1714 เราก็เก็บรักษาประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างดี ส่วนสถานทูตที่นี่เราได้จัดการใช้งานอย่างเต็มที่ มาที่นี่คุณอาจไม่ได้เจอสัญลักษณ์เยอรมันจ๋า แต่เป็นการผสมผสานความเป็นไปได้ระหว่างทูตและสิ่งที่มีอยู่เดิม อะไรควรเก็บและอะไรควรปรับเปลี่ยน สิ่งที่สำคัญคือจิตวิญญาณของสถานที่ ซึ่งคือการทำงานร่วมกัน”

ท่านทูตชมิดท์อธิบาย ขณะผายมือไปที่งานศิลปะโดดเด่นบนสนามหญ้าหน้าสถานเอกอัครราชทูต

กำแพงเบอร์ลิน

เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร
เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร

ในปี 2018 นักธุรกิจชาวเยอรมัน อักเซล เบราเออร์ (Axel Brauer) ผู้ใช้ชีวิตวัยเด็กท่ามกลางสงคราม ตัดสินใจยกของขวัญชิ้นประวัติศาสตร์จากเยอรมนีให้คนไทย ในวันเปิดตัว เขาเอ่ยติดตลกว่าของขวัญของเขาชิ้นใหญ่เกินกว่าจะใส่มาในกระเป๋าเดินทาง แต่มันคือชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้ร่วมกัน นั่นคือกำแพงเบอร์ลิน 2 ชิ้นที่แบ่งประเทศเป็นสองส่วนตั้งแต่ปี 1961 – 1989 และปัจจุบันตั้งตระหง่านกลางสวนด้านหน้าของสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กำแพง 4 ด้านตกแต่งด้วยศิลปินสตรีทอาร์ต 3 คน ได้แก่ Julia Benz จากเยอรมนี Kashink จากฝรั่งเศส และศิลปินไทย มือบอน และอีกด้านหนึ่ง พวกเขาสามคนลงมือทำร่วมกัน 

เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร

นอกจากกำแพงของจริง ท่านทูตยังทำโครงการศิลปะ มอบกำแพงเบอร์ลินจำลองอันจิ๋ว ๆ เป็นโจทย์ให้ศิลปินไทยเพนต์และตกแต่งตามชอบ แล้วส่งมาให้สถานเอกอัครราชทูตจัดนิทรรศการ

“ไอเดียคือให้ศิลปินไทยถ่ายทอดว่าเสรีภาพ สันติภาพ มีความหมายกับพวกเขาอย่างไร กำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี 1989 มากกกว่า 30 ปีมาแล้ว เหตุการณ์นั้นมีความหมายกับคนไทยรุ่นใหม่ในปัจจุบันอย่างไร งานนี้เป็นโครงการเฉลิมฉลองในปี 2019 เมื่อครบรอบ 30 ปีการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน เราทำนิทรรศการเล็ก ๆ ที่เชียงใหม่ ราชบุรี และที่ BACC กรุงเทพฯ และจัดที่นี่ด้วยครับ ผมผูกพันกับงานนี้มาก เพราะศิลปินไทยมีแนวคิดน่าสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ห่างไกลอย่างเยอรมนีและอดีตอันยาวนาน แล้วเราก็ทำงานกับศิลปินตลอด และเราจะเพนต์กำแพงด้านนอกสถานทูตในวาระครบรอบความสัมพันธ์ 160 ปีไทย-เยอรมนีด้วย”

จากกำแพงที่เป็นสัญลักษณ์แห่งสงครามและการแบ่งแยก ชาวเยอรมันเลือกเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ดำมืด ด้วยการจดจำ ส่งต่อการเรียนรู้สู่อนาคต และใช้ก้อนคอนกรีตส่งต่อมิตรภาพและศิลปะอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด

ยานพาหนะประจำตัว

ท่านทูตเกออร์ก ชมิดท์ มียานพาหนะประจำตัวไม่เหมือนใคร ซึ่งทำให้ใครต่อใครตกอกตกใจกันบ่อย ๆ แทนที่จะเดินทางด้วยรถยนต์ ท่านทูตชอบใช้สกูตเตอร์เดินทางในเมือง เพราะมันสะดวกและเลี้ยวเข้าตรอกซอกซอยต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ได้รวดเร็วมาก 

“เพื่อนร่วมงานคิดว่าผมบ้า แต่ผมชอบใช้มันมาก เดี๋ยวผมโชว์ให้ดูนะ แค่กดปุ่มนี้ แล้วไถเท้าไปนิดหน่อยก็ไปได้แล้ว จากที่นี่ไปศาลพระพรหมเอราวัณ ผมใช้เวลาแค่ 22 นาที 1 นาทีแรกเอาไว้สวดมนต์ก่อน (หัวเราะ) เดินทาง 20 นาที แล้ว 1 นาทีสุดท้ายสำหรับสวดมนต์อีกรอบ”

เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร
เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร

“ที่เยอรมนีผมปั่นจักรยานตลอด แต่ที่นี่ผมต้องรักษาภาพลักษณ์ของทูต สมมติผมปั่นจักรยานจากที่นี่ไปศาลพระพรหมเอราวัณ ผมจะเหงื่อออกเต็มแล้วดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ใช้สกูตเตอร์แล้วเหงื่อไม่ค่อยออกครับ สะดวกมาก แก้ปัญหาเย็นวันศุกร์ที่ถนนสาทรรถติดแบบบ้าคลั่งสุด ๆ ผมเคยต้องใช้เวลา 50 นาทีบนรถยนต์ จากที่นี่ถึงยูเทิร์นตรงสวนลุมพินี”

สกูตเตอร์ไฟฟ้าจากแบรนด์เยอรมันนี้มีใช้ตามโรงแรมต่าง ๆ เป็นไอเดียให้คนแชร์สกูตเตอร์กัน แค่ใช้มือถือลงทะเบียน และคืนสกูตเตอร์ตามจุดที่กำหนดไว้ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สถานทูตหลายคนก็ใช้สกูตเตอร์แบบนี้เดินทางเหมือนกัน

“คนอาจจะคิดว่าแปลกที่สถานทูตทำแบบนี้ แต่ผมคิดว่าเราไม่ต้องการรถคันใหญ่ 300 แรงม้าเพื่อจะเข้าซอยเล็กหรอก ผมขี่สกูตเตอร์ไปซื้อก๋วยเตี๋ยวที่ซอยละลายทรัพย์เองได้” 

ท่านทูตตีวงผ่านประติมากรรมครึ่งสตรีครึ่งสัตว์น้ำโดยศิลปินเยอรมนี โคมไฟหินจากญี่ปุ่น และเซรามิกของวศินบุรี แล้วจอดสกูตเตอร์ที่หน้าบ้านพอดิบพอดีอย่างนุ่มนวล พร้อมเปิดประตูบ้านพาเราเข้าไปสำรวจทำเนียบทูต

เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร

ภายในบ้าน

ทำเนียบสีขาวเป็นบ้านโมเดิร์นผสมลักษณะ Art Deco เล็กน้อยตรงกันสาดและหัวเสาที่เทียบรถ ไม่ถึงขั้นเรียบง่าย เน้นเรขาคณิตแบบบาวเฮาส์ไปเสียหมด และยังผสมผสานกับความ Tropical เมืองร้อน โดยเฉพาะการทำหลังคาปั้นหยาที่ใหญ่โต ทิ้งชายคายาว คิดเรื่องการกันแดดกันฝนอย่างดี

เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในบ้านคอนกรีต สิ่งแรกที่ชวนสะดุดตาคือบันไดไม้สักกลางโถงที่เลี้ยวโค้งขึ้นชั้นสองอย่างอ่อนช้อย เป็นส่วนที่หรูหราโอ่อ่าและสวยงามมากของบ้าน ซึ่งไม่ค่อยเห็นในบ้านยุคใหม่ เพราะบันไดแบบนี้ใช้พื้นที่เยอะ 

“นี่เป็นส่วนประกอบของบ้านที่ผมชอบมาก ทางเดินบันไดยังมีหน้าต่างให้แสงธรรมชาติส่องลงมา ทำให้ผมนึกถึงหนัง Gone with the Wind” ท่านทูตเอ่ยแกมหัวเราะ

เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร
เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร

รอบบ้านมีช่องหน้าต่างเล็ก ๆ ด้านขอบกำแพง เป็นเทคนิคเก่าแก่ของบ้านโบราณที่ทำให้บ้านมีแสงและระบายอากาศ ด้านบนบ้านมีปล่องไฟปลอม เป็นพื้นที่เก็บของใต้หลังคาด้วย

ขวามือตรงข้ามบันไดคือห้องอาหาร ซึ่งใช้เฉพาะช่วงที่มีงานเลี้ยงทางการเท่านั้น มีโต๊ะที่จัดเลี้ยงแขกได้ถึง 20 คน ตกแต่งด้วยภาพถ่ายขนาดใหญ่ของร้านทำผม ฝีมือช่างภาพจากเมืองโคโลญจน์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ท่านทูตโปรดปรานงานศิลปะนี้มาก 

เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร
เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร

“ภาพนี้บอกหลายอย่างเกี่ยวกับประเทศไทย มันแตกต่างจากวัฒนธรรมที่ผมรู้จัก และมีสิ่งที่ผมชื่นชอบเกี่ยวกับประเทศนี้ บอกความหลากหลายในประเทศ มีตัวอักษรจีนและไทย มีเทพเจ้าอินเดีย มีสัญลักษณ์ไทย เป็นที่ทำงาน แต่มีมุมนั่งเล่น แถมยังมีหน้ากากแขวนไว้ด้วย นี่วาดก่อนโควิดอีกนะ ผมว่ามันน่าสนใจมาก 

“ไม่ได้บอกว่านี่คือเอกลักษณ์ประเทศไทยนะครับ เพราะแต่ละประเทศก็มีวัฒนธรรมแตกต่างกันไป แต่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่นี่รุ่มรวยมาก และผมว่านี่แหละคือความเป็นไทยในทางปฏิบัติ ไม่ใช่แค่สัญลักษณ์ไทย ๆ ที่เราคุ้นเคย มันทำให้ผมคิดถึงเยอรมนี ซึ่งก็ประกอบไปด้วยปัจจัยหลากหลายเหมือนกัน ความหลากหลายนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง ร้านทำผมนี้คงหน้าตาเปลี่ยนไปแล้ว เพราะทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ”

เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร

“ของส่วนชิ้นเดียวที่ผมมีในห้องนี้คือนาฬิกาคุกคูจากแบล็กฟอเรสต์ แถบบ้านเกิดผมเอง ผมพกไปตกแต่งบ้านทุกที่ด้วยตลอด เวลาแขกมากินข้าวแล้วนกออกมาร้องคุกคูพอดี ปฏิกิริยาคนน่าสนใจมาก” 

ว่าแล้วท่านทูตลองไขลานนาฬิกาไม้ให้ดู นกตัวจิ๋วออกมาส่งเสียงร้องคุกคูทักทายจากมุมด้านในสุดของห้อง ซึ่งติดกับแพนทรี่อุ่นอาหารจากครัวด้านหลัง

ส่วนต้นคริสต์มาสที่เห็นในภาพด้านบนตั้งในช่วงกลางเดือนธันวาคม ซึ่งจริง ๆ เร็วผิดวิสัยเยอรมัน เพราะคนเยอรมันจะตั้งต้นคริสต์มาสและตกแต่งในวันที่ 24 ธันวาคม และจะตั้งไว้จนถึงวันที่ 6 มกราคม แต่เนื่องจากช่วงปลายปี ทำเนียบทูตมักจัดงานหลายโอกาส ทุกคนอยากถ่ายรูปและฉลองกันก่อน ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ จึงเอามาตั้งก่อนทุกปี

เยี่ยมสถานทูตเยอรมนี สถานทูตเก่าแก่ล้อมด้วยสวนเขียวใจกลางสาทร

เลยกรอบประตูโค้งไปคือส่วนต่อเติมของบ้าน เป็นห้องรับแขกสองห้องยาวต่อกันและระเบียงเชื่อมสวน โถงรับแขกหลักตั้งเปียโนคอนเสิร์ตหลังงามของ Bechstein ไว้ตรงกลาง ห้องนี้ติดวอลล์เปเปอร์ลายญี่ปุ่นสีทอง ฝีมือการตกแต่งของท่านทูตคนก่อน ๆ ที่ชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก แต่ก็เข้ากันดีกับบ้าน ส่วนภาพตกแต่งในห้องนี้เป็นฝีมือศิลปินเยอรมัน

“ทำเนียบทูตเยอรมันส่วนใหญ่มีคอนเสิร์ตเปียโน สะท้อนช่วงเวลาที่ผู้คนร่ำรวยในศตวรรษที่ 17 – 18 เป็นเรื่องปกติที่คนมีเงินจะลงทุนซื้อเปียโน และให้ลูกสาวเรียนเล่นเปียโน แล้วจัดคอนเสิร์ตในบ้าน ดนตรีเป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์เยอรมันครับ ดูสิ มันเป็นทั้งเครื่องดนตรีและเป็นผลงานชั้นยอดทางวิศวกรรมที่สวยงามมาก เปียโนนี้จูนเสียงด้วยมือทั้งหมด เสียงต่างจากเปียโนอิเล็กทรอนิกส์”

ท่านทูตเปิดฝาเปียโนแล้วพรมนิ้วบรรเลงเพลงสั้น ๆ งดงามให้ฟังเป็นตัวอย่าง

“ผมชอบที่ทุกห้องมีบรรยากาศที่แตกต่างกันไป สิ่งแรกที่เราคำนึงถึงคือการใช้งาน ของทุกชิ้นต้องโยกย้ายเพื่อจัดงานเลี้ยงได้ ก่อนโควิด เราจัดงานเลี้ยงที่รองรับคนได้ 50 คนในบ้าน หรือบางทีก็เอาเก้าอี้มาเรียงเวลามีคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ในบ้าน แต่ที่นี่ไม่ใช่มิวเซียม เราเลยไม่มีของตกแต่งจัดแสดงราคาสูงมาก ๆ ที่แตะต้องไม่ได้ ของทุกอย่างเป็นของดีมีราคา แต่ต้องใช้งานได้เป็นสำคัญ” 

 “สำหรับผม บ้านพักทูตคือ House of Encounter เป็นพื้นที่ที่ให้คนได้มาพบปะกัน ไม่ใช่เพื่อความสุขสบายของทูต คือผมก็มีความสุขสบายกับการอยู่ที่นี่นะครับ แต่สิ่งสำคัญคือพื้นที่และการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ เราจะจัดนิทรรศการ หรือเปลี่ยนงานศิลปะบนกำแพงทั้งหมดออกได้ง่าย เราเคยมีนิทรรศการศิลปะจากปัตตานีด้วย ผมชอบมาก มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดงานที่นี่” 

ลึกเข้าไปในโถงด้านใน ผนังประดับด้วยเสื้อฟุตบอลสีแดง ของขวัญจากสโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิกเมื่อชนะแชมเปี้ยนลีกที่ลิสบอน ท่านทูตกล่าวอย่างภูมิใจว่า Oliver Kahn เคยมาที่บ้านนี้ด้วยนะ 

ส่วนลานระเบียงกว้างหลังบ้านที่ยื่นเข้าไปในสวน ท่านทูตใช้จัดงานแถลงข่าว งานเสวนา ประชุม หรือดินเนอร์เล็ก ๆ ยามค่ำคืน มองออกไปเห็นสวนกว้างสีเขียวสุดสายตา เป็นวิวธรรมชาติกลางสาทรที่ท่านทูตภูมิใจเป็นที่สุด 

สวนเขียว

สวนด้านหลังของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีติดกับสถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กและออสเตรีย เป็นพื้นที่เชงเก้นขนาดย่อมที่มีคลองเล็ก ๆ กั้นกลาง ท่ามกลางตึกระฟ้า พื้นที่ในซอยด้านหลังนี้ไม่มีตึกสูงมากนัก บรรยากาศเงียบสงบต่างจากความวุ่นวายด้านนอกของสาทรลิบลับ

“เราเป็นส่วนหนึ่งของคลองสาทร เวลาน้ำท่วมเขาจะแจ้งเตือน เพราะถ้าฝนตกอาจน้ำท่วมได้ เราต้องหาวิธีจัดการและอยู่ร่วมกับน้ำครับ ความฝันของผมคือจัดงานเลี้ยงก๋วยเตี๋ยวเรือระหว่างสถานทูต จำลองบรรยากาศบางกอกยุคก่อน แล้วเราก็แชร์สัตว์ป่าร่วมกัน ทั้งสัตว์อันตรายและไม่อันตราย ทั้งงูหลาม งูจงอาง ตัวเงินตัวทอง ผึ้ง ซึ่งผมอยากให้เราผลิตน้ำผึ้งสถานทูตได้มาก ๆ เลย แต่เราก็ต้องรักษาสมดุลระหว่างดูแลธรรมชาติ และปกป้องแขกของเราให้ปลอดภัยด้วย”

“เราใช้พื้นที่ในสวนจัดงานบ่อย ๆ ในช่วงที่อากาศเย็น จะจัดงานอะไรก็ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของทูตแต่ละคนครับ เวลาเราจัดงาน แขกที่หนีความหนาวจากเยอรมนีชอบนั่งที่ระเบียง ส่วนแขกคนไทยชอบอยู่ในบ้านที่เปิดแอร์เย็นหน่อย เนื่องจากปีนี้เราจะฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 160 ปี ก็เลยอยากจัดงานเลี้ยงในสวน และงานอื่น ๆ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดด้วยครับ”

ชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในสวนนี้คือประตูโลหะเก่าผลิตในลอนดอน ยกมาจากสถานเอกอัครราชทูตเดิมที่สุรศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในสถานเอกอัครราชทูตที่ใหญ่ที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 6 

สวนนี้มีผู้ดูแลสวน 5 คนคอยดูแลพืชพรรณต่างประเภท แต่ยังมีสวนเล็ก ๆ ที่เจ้าหน้าที่คนไทยดูแลกันเอง คือสวนครัวเล็ก ๆ ปลูกกล้วย พริก อัญชัน และมะละกอที่กลายร่างเป็นส้มตำอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจร สวนนี้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่มากในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้ท่านทูตและชาวทำเนียบเห็นความสำคัญของพื้นที่สีเขียวและความยั่งยืนจากผืนดิน 

คุยกับทูต

สำรวจทำเนียบทูตกันทั่วแล้ว ได้เวลานั่งสนทนากับท่านทูตชมิดท์ เพื่อทำความรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านเจ้าบ้าน ผู้ประจำการที่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2018 ชอบกินอาหารไทย พูดและฟังภาษาไทยได้คล่องระดับหนึ่งเลยทีเดียว

ตั้งแต่มีโควิด ทำเนียบทูตไม่ค่อยได้เปิดให้คนเข้ามาใช่ไหม

แน่นอนครับ เราใช้งานทำเนียบทูตน้อยลงมาก แทบไม่มีงานสาธารณะเกิดขึ้นเลย เพราะทุกคนต้องอยู่บ้าน พอมีโควิด-19 เราก็แบ่งกลุ่มทำงานเป็น 2 ทีมอย่างเข้มงวด ถ้าทีมไหนติดเชื้อ สถานทูตก็ยังทำงานต่อได้ เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่ทุกคน และดูแลกลุ่มคนเยอรมันและคนไทยนับหมื่นคนที่ต้องการเอกสารและความช่วยเหลือต่าง ๆ จากกงสุล 

บางทีเราก็ใช้สวนจัดงานกลางแจ้งบ้าง โดยเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่สถานทูต ภายใต้ข้อกำหนดของหน่วยงานการแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อ การมีพื้นที่ของตัวเองเป็นเรื่องดีมากครับ แต่ที่นี่ก็ไม่ได้มีเพื่อแค่เจ้าหน้าที่ เราดูแลรักษาที่นี่ในฐานะหน้าต่างสู่เยอรมนี ซึ่งต้องมีชีวิตชีวา ก่อนโควิดเราจัดงานสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ยังกับธุรกิจร้านอาหารเลยล่ะ 

ต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนเลย

งานส่วนใหญ่เกิดตอนเย็น เป็นทูตแล้วไม่ได้มีเวลาเข้างานแบบปกติ แต่ว่าผมก็ชอบงานของผม เดี๋ยวมีงานนั้น เดี๋ยวมีงานนี้ ทั้งกลางวันกลางคืน เส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานก็ไม่ชัดเจนนัก แทบไม่มีเลยดีกว่า แต่คนที่ทำงานด้านการทูตต่างรู้เรื่องนี้ดี ว่าเราต้องเสียชีวิตส่วนตัวไประดับหนึ่ง 

ชุมชนคนเยอรมันในไทยเป็นอย่างไรบ้าง

เรามีชุมชนคนเยอรมันในไทยราว 13,000 – 15,000 คน ที่ใช้ชีวิตในเมืองไทยครับ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ถ้าไปอีสาน มีคนเยอรมันเยอะมากที่แต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น พวกเขาไม่ใช่คนร่ำรวย แต่ว่าดูแลทั้งครอบครัวในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจ ดังนั้นผมคิดว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวระหว่างไทยและเยอรมนี 

ทุกเรื่องราวต่างกันไป มี Digital Nomad ที่ใช้ชีวิตในเชียงใหม่ มีคนรักทะเลอยู่ทางใต้ มีคนที่ย้ายมาอยู่เมืองไทยเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณกับบำนาญที่มี นอกกรุงเทพฯ มีคนเยอรมันอยู่มากมาย หลายคนตกหลุมรักคนไทย มีคนรักชาวไทย และรู้สึกสบายใจที่จะอยู่ที่นี่ แต่ย้ำอีกครั้ง ทุกเรื่องราวต่างกันไปครับ นอกจากนี้เรายังมีบริษัทเยอรมัน 600 บริษัทในเมืองไทย ซึ่งจ้างงานคนไทยเป็นแสน ๆ คน 

จากประสบการณ์ของคุณ อะไรคือสิ่งแรก ๆ ที่คนไทยคิดถึงเยอรมนี

สเตอริโอไทป์คือคนเยอรมันเป็นคนมีวินัยสุด ๆ เป็นช่างเทคนิค เป็นนักดื่มเบียร์ตัวยง ตรงต่อเวลาเหลือเกิน แล้วก็ไม่ตลกเอาเสียเลย ทุกสเตอริโอไทป์มีเหตุผลเบื้องหลังครับ แล้วก็มีคนที่แตกต่างตรงกันข้ามไปเลย คนเยอรมันเองก็มีสเตอริโอไทป์ต่อคนไทยเหมือนกัน 

ช่วงโควิด คนเยอรมันอยากกลับบ้านหรืออยากอยู่ไทยต่อมากกว่ากัน

มีทั้งสองแบบครับ ช่วงเริ่มแรก เราต้องช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่ติดค้างในเมืองไทย ถ้ายังจำได้ ตอนนั้นสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเยอะมาก หลายคนไม่มีเงินจ่ายค่าตั๋วกลับบ้านและสิ้นหวัง คนเยอรมันติดค้างอยู่ที่ต่าง ๆ ทั่วโลกครับ รัฐบาลเยอรมันเลยจัดการเที่ยวบินกลับบ้านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมี มีไฟล์ตจากเมืองไทยกลับเยอรมันถึง 13 เที่ยวบิน เพื่อพาคนราว 3,500 คนกลับบ้าน มีทั้งทีมงานที่กรุงเทพฯ และภูเก็ต ผมได้เรียนรู้เรื่องสายการบินเยอะมาก และเคารพสิ่งที่พวกเขาจัดการ 

ผมค่อนข้างภูมิใจกับงานนี้ เราไม่ได้ดูแลแค่คนเยอรมัน แต่รวมถึงคนยุโรปอีก 10 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งทั้งหมด เพราะเยอรมนีเป็นประเทศใหญ่ เรามีเที่ยวบินเฉพาะของเราได้ แต่ประเทศเล็ก ๆ นี่เป็นไปไม่ได้ เราเลยพาชาวประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มีเที่ยวบินกลับบ้านไปด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เรานะครับ ฝรั่งเศสก็ทำเหมือนกัน เป็นช่วงเวลาแห่งการร่วมมือร่วมใจของชาวยุโรป นั่นคือช่วง 2 เดือนแรก 

หลังจากนั้นก็มีล็อกดาวน์อีกหลายครั้ง แต่งานก็ไม่เคยหยุด เพราะมีคนต้องการเราตลอดเวลา คนเยอรมันหลายคนเข้าออกเมืองไทยทุก 3 เดือน โดยใช้วิธีข้ามชายแดนแล้วกลับมาใหม่ แต่ทำไม่ได้เพราะพรมแดนปิด เราก็ต้องช่วยเหลือพวกเขา บางคนบินกลับเยอรมนีเพื่อจัดการ แต่บางคนก็ทำไม่ได้ และทำให้เรายุ่งกันมาก 

สถานทูตเราได้ทำงานเรื่องมนุษยธรรม ถึงเป็นแค่หยดน้ำเล็ก ๆ แต่เราก็ทำสิ่งที่เราทำได้ อย่างการช่วยเหลือต่าง ๆ และการบริจาควัคซีน เรื่องวัคซีนนี้เป็นปัญหาใหญ่ เราได้คำสัญญาจากรัฐบาลไทยว่า ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างชาติจะได้รับการแบ่งสรรปันส่วนวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อถึงเวลาหน้างานจริง เราได้รับรายงานว่าหลายครั้งไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราเลยพยายามต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้ชาวเยอรมันได้รับวัคซีนและคลี่คลายปัญหานี้ 

คุณได้กลับบ้านบ้างไหมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้

กลับครั้งหนึ่งครับ ไปเจอพ่อ แต่ตอนกลับนี่ยากหน่อยเพราะต้องกักตัว แล้วตอนนั้นผมยังไม่ได้รับวัคซีนครบ เลยต้องนั่งกักตัว 2 สัปดาห์ แต่ก่อนหน้านั้นพ่อผมมาเยี่ยมที่เมืองไทยช่วงก่อนโควิด ตอนนั้นดีมากเลยครับ โควิดทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะ เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทุกคน 

ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานของคุณ เขาบอกว่าแค่เรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อม สถานเอกอัครราชทูตเยอรมันก็มีโครงการไปแล้ว 13 โครงการในไทย

เราเป็นหนึ่งในพาร์ตเนอร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย เริ่มมากว่า 10 ปีแล้วครับ มีทั้งการแสดงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบเยอรมัน และการแบ่งปันประสบการณ์ให้คนไทยรับรู้ ผมว่าเรามีหลายอย่างคล้ายกัน เป็นสังคมที่ยืนอยู่บนเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรม และเราก็อยากช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของไทย ไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมันยากมากในช่วงเริ่มต้น การสร้างพลังงานจากแหล่งทรัพยากรยั่งยืนเท่านั้น ต้องเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการเดิมที่มีด้วย เช่น ถ้าจะใช้พลังงานไฟฟ้าจากลม แต่พื้นที่นั้นไม่มีลมเลย จะเก็บพลังงานจากที่หนึ่งไปอีกที่อย่างไร 

เราทำผิดพลาดมาเยอะ และจะทำผิดพลาดต่อไป แต่ว่าการแบ่งปันประสบการณ์และความผิดพลาดให้ผู้อื่นเป็นเรื่องดี สิ่งที่ไม่ประสบผลในที่หนึ่ง อาจจะสำเร็จในบริบทอื่นก็ได้ หรืออาจจะกลับกันครับ ยิ่งมี COP26 เรื่องสิ่งแวดล้อมยิ่งได้รับความสนใจ เมืองไทยเองก็เผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างเรื่องปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย

ยกตัวอย่างโครงการสิ่งแวดล้อมให้ฟังได้ไหม

โครงการ Thai Rice NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) เราใช้เทคโนโลยีช่วยชาวนาให้ใช้น้ำในการปลูกข้าวน้อยลง ลดการผลิตก๊าซเรือนกระจก และลดค่าใช้จ่าย พูดง่าย ๆ คือได้เงินมากขึ้นและลดผลเสียที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม การได้เห็นชาวนาได้เข้าถึงเทคโนโลยี โอกาส และรายได้ เปลี่ยนชีวิตเขาได้ นี่เป็นหนึ่งในโครงการที่ผมยินดีมาก และเรายังคงทำงานอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดการกับของเสียทางการเกษตร เราอยากช่วยเรื่องการแยกประเภทของเสีย ซึ่งเราต่างก็รู้ว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมเดิม ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย

เรายังทุ่มเทกับ Cooling Technology ใช้วัตถุดิบ เคมี และพลังงานมากมายเพื่อทำให้อากาศเย็นขึ้น เป็นการแปลเรื่องราวของ COP26 ให้คนทั่วไปเข้าใจในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และเรารู้อย่างชัดเจนว่าเราทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยได้ เช่น เรามีแผงโซลาร์เซลล์ในสถานทูตเพื่อผลิตพลังงานใช้เอง นอกจากนี้ก็มีโครงการแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราเรียนรู้ เช่น พลาสติกและมลพิษในมหาสมุทร 

ในวาระครบรอบความสัมพันธ์ 160 ปี จะมีโครงการความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนีอีกมากครับ โดยเฉพาะเรื่องวิกฤตโลกร้อน เราต่างแชร์ความรับผิดชอบร่วมกันต่อโลกใบนี้ และมีหลายสิ่งที่เราทำอะไรได้อีกมากมายร่วมกัน 

อยู่เมืองไทยมานาน มีอะไรทำให้คุณประหลาดใจได้อีกบ้าง

ผมประหลาดใจทุกวันเลยนะ ผมมาเมืองไทยครั้งแรกช่วงปลาย 1980 มาเที่ยวตอนเป็นนักศึกษาเรียนภาษาจีนที่เมืองจีน เป็นการเปิดหูเปิดตาผมมาก เพราะคนตะวันออกมีวิธีการมองโลกต่างจากคนเยอรมัน พอกลับมาที่เมืองไทยอีกครั้ง ผมประหลาดใจมากที่เมืองไทยเปลี่ยนแปลงมาก ระบบสาธารณูปโภคไทย ระบบสาธารณสุขไทยก็ดีขึ้นมาก ๆ 

ผมคิดว่าในแง่หนึ่ง เมืองไทยประสบความสำเร็จมากในหลาย ๆ ด้าน แต่ไม่ไกลจากที่นี่ มองไปที่คลองเตย เราก็เห็นความจริงอีกรูปแบบ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นกว้างมาก ซึ่งความแตกต่างมันมีเสมอ แต่ตอนนี้ช่องว่างระหว่างชนชั้นใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัญหาสังคมที่ผมคิดว่าเราต้องมอบความหวังและโอกาสให้คนลืมตาอ้าปากได้ 

เรื่องดี ๆ ที่ผมประหลาดใจแต่ประทับใจมากที่เมืองไทยคือเรื่องพลาสติก ตอนผมมาถึงในปี 2018 ไม่มีใครพูดถึงเรื่องพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ทุกคนใช้ถุงพลาสติกกันหมด ประโยคภาษาไทยแรก ๆ ที่ผมเรียนคือ ‘ไม่ต้องใส่ถุง’ แต่แล้วแค่ปีเดียวต่อมาหลัง ASEAN Summit ในกรุงเทพฯ ประเทศไทยก็แบนพลาสติกได้อย่างรวดเร็ว ภาพวาฬที่ตายเพราะพลาสติกก็สะเทือนอารมณ์มาก ผมประทับใจที่สังคมไทยปรับตัวเร็วมากกว่าเยอรมนีอีก

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน เด็กๆ เยอรมันก็ออกมาเดินประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกวันศุกร์เหมือนกัน

ใช่ เป็นเรื่องที่ดีครับ ผมคิดว่าการแสดงออกว่าไม่ต้องการอะไรคือก้าวแรก แต่ผมก็คาดหวังว่าพวกเขาจะไปต่อถึงการแก้ไขปัญหา เพราะการแสดงออกว่าไม่ชอบเป็นเรื่องง่าย แต่การทำอะไรทดแทนต่างหากคือจุดที่ต้องมานั่งคิดร่วมกัน คุณจะบอกคนว่าเลิกใช้รถเถอะก็ไม่ได้ เพราะคนต้องการเคลื่อนที่จากจุด A ไปจุด B ต้องมีทางเลือกใหม่ ๆ ให้คน เช่น รถเมล์ราคาถูก การแชร์รถ หรือยานพาหนะอื่น 

ผมเข้าใจพวกเด็ก ๆ นะ สำหรับคนอายุ 70 อะไรจะเกิดขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้าอาจไม่สำคัญ แต่สำหรับเด็กอายุ 15 มันเป็นเรื่องใหญ่ มันเป็นช่วงเวลาที่เขาอาจจะมีลูกอายุ 10 ขวบ แล้วเด็ก ๆ เหล่านั้นจะเจออะไร เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้า ต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วม ถ้าต้องการความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องรับฟังผู้คน 

อะไรคือสิ่งที่คุณอยากเห็นมากขึ้นในเมืองไทย

ผมคิดว่าเมืองไทยมีศักยภาพมาก ๆ และน่าจะมีสันติภาพในตัวเองได้มากขึ้น ประเทศไทยไม่มีศัตรูโดยตรงเลยนะครับ ห่างไกลสงครามรอบตัว สิ่งที่ผมคาดหวังคือ เมืองไทยน่าจะมีหนทางที่จะปรองดองและขัดแย้งกันโดยสันติ 

ทุกวันนี้ความขัดแย้งเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก

ใช่ เพราะถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับบางเรื่องอย่างแรงกล้า แล้วแสดงออกมา มันก็อาจจะกระทบคนได้ แต่เราต้องหาทางตกลงกันว่าจะไม่เห็นตรงกัน ความขัดแย้งบางอย่างอาจแก้ไม่ได้ แต่ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีสิทธิ์ทุกอย่างเหนือคนส่วนน้อย เราถึงมีรัฐสภาที่มีกฎระเบียบโดยคนส่วนใหญ่ แต่คนส่วนน้อยก็ยังมีสิทธิ์มีเสียง และก็มีสมดุลระมัดระวังระหว่างสองฝ่ายเพื่อให้มีสันติภาพ

ยกตัวอย่างเรื่อง Thai Park ที่เบอร์ลิน เกิดจากคนไทยไปปิกนิกในสวนจนกลายเป็นตลาดขายอาหารไทย ซึ่งตอนแรกผิดกฎหมาย แต่ของกินมันอร่อยมากครับ และคนเยอรมันก็รักที่นั่น เลยเกิดการถกเถียงว่าสวนสาธารณะทำอะไรได้ จนในที่สุดหลังการถกเถียงยาวนานและการประนีประนอม ในที่สุดก็มีข้อกำหนดเรื่องสุขอนามัย ทุกคนยังมาขายของ มานั่งกินข้าวได้ และคนเยอรมันก็รัก Thai Park ของเรา ที่เกิดจากชุมชนคนไทยกลุ่มใหญ่นำความหลากหลาย นำวิถีชีวิตไปเปลี่ยนแปลงเยอรมนี นี่คือการเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ เป็นประโยชน์ต่อสังคม

หรือกรณีวัคซีนโควิดที่เยอรมนี คนขัดแย้งกันมากว่าต้องการฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดวัคซีน เป็นการโต้แย้งที่ดุเดือด ฝ่ายคนส่วนใหญ่บอกว่าคนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนทำให้คนทั้งหมดตกอยู่ในอันตราย แต่ฝ่ายคนส่วนน้อยก็เถียงว่าคนอื่นไม่มีสิทธิ์บังคับการใช้ชีวิตและละเมิดสิทธิ์เหนือร่างกายผู้อื่น เราต้องหาทางคลี่คลายปัญหา และขั้นตอนการคลี่คลายความขัดแย้ง การตัดสินใจของรัฐสภาก็เป็นเรื่องท้าทายเพราะเกี่ยวข้องกับตุลาการ แต่เราก็หาทางของเราจนได้

นั่นคือวิธีการแก้ไขความขัดแย้งแบบเยอรมัน

ขอไม่เรียกว่าแบบเยอรมัน แต่เป็นแบบที่ดีกว่าการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมากครับ เรามีประสบการณ์ที่ขมขื่นเกี่ยวกับการกดขี่คนส่วนน้อย และเราได้สร้างระบบที่ยืดหยุ่นมากพอที่จะรับการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่นการเลือกตั้งในเยอรมนีที่ผ่านมา พรรคกรีนได้คะแนนเสียงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนตอนนี้เราได้รัฐบาลผสม 

ตอนพรรคกรีนเริ่มก่อตั้ง ใคร ๆ ก็มองว่าพวกเขาบ้าคลั่ง ถึงขั้นพูดกันว่าอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เป็นพวกอนาธิปไตยที่จะมาล้มล้างระบอบนิเวศ ระบอบเศรษฐกิจสังคมเยอรมัน แต่พวกเขาก็อดทนที่จะโน้มน้าวสังคม จนระบบเปลี่ยนไปสำเร็จ เยอรมนีเปลี่ยนแปลงไปมาจากเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเปลี่ยน

เพราะไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงรึเปล่า สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีถึงเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่ออกมาต่อต้านสงครามในยูเครนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น

ใช่ คนเยอรมันมีบทเรียนที่เจ็บปวดมากจากสงครามครับ เรามีประสบการณ์ตรงว่าสงครามทำลายทุกอย่าง ไม่มีสงครามที่ขาวสะอาด สงครามทั้งหมดล้วนสกปรก เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องลุกขึ้นมาต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 

อะไรคือสิ่งที่คุณเรียนรู้ที่จะเรียนรู้จากเมืองไทย

ผมหวังว่าผมได้เรียนรู้ที่จะปล่อยวางนะ และบางครั้งก็เรียนรู้ที่จะด้นสดด้วย

ถ้อยคำภาษาไทยที่คุณชอบคือ

จิตใจที่มีความสงบ ผมชอบไอเดียนั้นมาก มันบอกอะไรเยอะมากกว่า สบาย ๆ หรือสนุก ๆ 

คำเยอรมันที่อยากให้คนไทยรู้จักล่ะ

Nachhaltigkeit แปลว่า Sustainability เป็นแนวคิดแบบเจ้าหน้าที่ป่าไม้เยอรมันที่เรียบง่ายมาก คืออย่าตัดต้นไม้เกินกว่าจำนวนที่คุณปลูกได้

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • หนังสือ SAWASDEE 150 years of German-Thai friendship, 50 years of the Deutsch-Thailändische Gesellschaft โดย Andreas Stoffers (Ed.)
  • หนังสือ 150 Jahre Beziehungen Deutschland – Thailand ครบรอบหนึ่งร้อยห้าสิบปี ความสัมพันธ์เยอรมัน-ไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กรุงเทพฯ 
  • หนังสือ German Traces in Bangkok, Thai Traces in Berlin ร่องรอยเยอรมันในกรุงเทพฯ และ ร่องรอยประเทศไทยในเบอร์ลิน โดยสถาบันเกอเธ่
  • ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล